ThaiPublica > เกาะกระแส > ปฏิบัติการนิยาม “พลเมืองครู” คือผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง พลเมืองหน้าใหม่

ปฏิบัติการนิยาม “พลเมืองครู” คือผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง พลเมืองหน้าใหม่

5 ธันวาคม 2022


เสวนาฉากทัศน์การศึกษาไทย ครั้งที่ 2 “ปฏิบัติการนิยามความเป็นพลเมืองและความเป็นครูในพื้นที่ความรู้ศึกษาศาสตร์” ระบุครูต้องเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลง สร้างนิยามพลเมืองใหม่ที่มีจิตวิญญาณเสรี มองความเป็นมนุษย์ เท่าเทียม กับการเป็นพลเมืองในสังคมไทยสมัยใหม่

การสร้างพลเมืองหน้าใหม่ที่มีหัวใจ จิตวิญญาณเสรี มีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมและมีความรับผิดชอบกับสังคม ต้องมีการปฏิบัติการอย่างไร งาน เสวนาออนไลน์ # ฉากทัศน์การศึกษาไทย ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “ปฏิบัติการนิยามความเป็นพลเมืองและความเป็นครูในพื้นที่ความรู้ศึกษาศาสตร์” เพื่อร่วมผลักดันแนวคิดและเสนอทิศทางการปฏิรูปการศึกษาในสังคมไทยสู่ทางเลือกที่เป็นไปได้ใหม่ โดยร่วมสร้างฉากทัศน์การบริหารจัดการความรู้ในอาณาบริเวณการสร้างโจทย์วิจัยของประเทศ และขับเคลื่อนความรู้ที่อยู่ในสถานะชายขอบสู่ศูนย์กลางในพื้นที่ทางการศึกษา

การเสวนาฉากทัศน์การศึกษาไทย ครั้งที่ 2 เริ่มการพูดคุยจากการเปิดผลการศึกษา เครือข่ายผู้ปฏิบัติการหน้าใหม่ในพื้นที่ความรู้ศึกษาศาสตร์ และจิตวิทยาการศึกษาในสังคมไทยสมัยใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1. เพื่อศึกษาการก่อรูปและบริบทเงื่อนไขที่นำไปสู่การก่อรูปของชุมชนนักปฏิบัติทางการศึกษาในแพลตฟอร์มต่างๆ 2. เพื่อศึกษาประเด็นความรู้ การสร้าง และกระจายความรู้ผู้ผลิตและบริโภคความรู้ของชุมชนนักปฏิบัติทางการศึกษาในแพลตฟอร์มต่างๆ 3. เพื่อค้นหาแนวทางในการพัฒนาระบบบริหารความรู้เชิงวิพากษ์ เพื่อสร้างประชาคมเป็นชุมชนนักปฏิบัติทางการศึกษาศาสตร์ในลักษณะข้ามศาสตร์ มีพลวัต และยั่งยืน

Thai Civic สร้างพลเมืองการเมืองสู่พลเมืองวัฒนธรรม

ผลการศึกษาวิจัยการก่อรูปของมูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย หรือ Thai Civic Education ซึ่ง ดร.วสันต์ สรรพสุข วิทยาลัยการศึกษา มหาวิทยาลัยพะเยา ได้นำเสนองานวิจัยที่ศึกษาการก่อรูปของ มูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย หรือ Thai Civic Education ชุมชนนักปฏิบัติการด้านการศึกษาที่เป็นแพลตฟอร์ม โดยเชื่อมโยงการขยายประเด็นความรู้จากการเป็นพลเมืองทางการเมือง สู่การเป็นพลเมืองทางวัฒนธรรม

ทั้งนี้การก่อรูปของ Thai Civic Education เริ่มในปี 2550 ซึ่งมีการประกาศใช้ยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง 2553-2561 และเกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤติการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างเสื้อเหลืองกับเสื้อแดง จึงเกิดการรวมตัวของคนที่รู้จักมักคุ้นและเห็นหน้าค่าตากัน เช่น สถาบันสังคมศึกษา มูลนิธิฟรีดิค เอแบร์ท สถาบันนโยบายศึกษา สภาพัฒนาการเมือง สถาบันพระปกเกล้า คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไทยพีบีเอส และ กสทช. เพื่อรวมกันตั้งคำถามต่อการศึกษา และการสร้างพลเมือง

หลังจากนั้น ได้แสวงหาวิสัยทัศน์ในการเป็นพลเมือง โดยเลือกแบบพลเมืองของ Joel Westheimer ไปสู่ justice-oriented citizen คือการสร้างแบบพลเมือง 1. พลเมืองที่มีความรับผิดชอบ (personally responsible citizen) 2. พลเมืองที่มีส่วนร่วม (participatory citizen) 3. พลเมืองที่มุ่งเน้นความเป็นธรรมต่อสังคม (justice-oriented citizen

เมื่อได้วิสัยทัศน์ร่วมกันก็เริ่มถักทอเครือข่าย สร้างเครื่องมือ และพัฒนาอัตลักษณ์ร่วมกัน โดยการถักทอเครือข่าย สร้างเครื่องมือ และพัฒนาอัตลักษณ์ จากเครือข่ายนักวิชาการ อาจารย์ สื่อสารคนทำงานด้านพลเมือง คุยกันรู้เรื่อง เชื่อมผ่าน 3 รูปแบบ 1. ความสัมพันธ์เชิงปัจเจก 2. ความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ทำงาน 3. ความสัมพันธ์ในเชิงประเด็น

ทั้งนี้ กรอบแนวคิดทางการศึกษาคือหลักสูตรการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยผ่านการอบรม โดยเครือข่ายจะสร้าง node ในแต่ละพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างกันในการขยับประเด็น โดยในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อสร้างอัตลักษณ์ ด้วยการศึกษากับสังคมการเมือง ที่ขยับมาทางซ้ายมากขึ้นหรือเน้นการวิพากษ์วิจารณ์ กรุงเทพฯ ปริมณฑล เน้นเรื่องของความเป็นพลเมือง ปัตตานีจะเป็นเรื่องของพหุวัฒนธรรม ความขัดแย้ง อิสลามศึกษาเชิงวิพากษ์ ครู อีสาน มีกลุ่มพลเมืองล้านช้าง

อย่างไรก็ตาม ความรู้ในฐานะนักปฏิบัติการของเครือข่าย Thai Civic Education ต่อการผลิตความรู้ การกระจายความรู้ และการใช้ความรู้ด้านพลเมือง ด้านแนวคิดความเป็นพลเมือง และการศึกษาพลเมือง ยกกรอบแนวคิดหลักสูตรการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยไทย คุณลักษณะพลเมือง 4 แบบ คือ พลเมืองเข้มแข็ง พลเมืองเป็นผู้ที่มีความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่เพียงพอ พลเมืองที่มีทักษะพื้นฐานประชาธิปไตย และพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

ที่มาภาพ : ก่อการครู

การสร้างพลเมืองดังกล่าวเพื่อหลักการ 3 ด้านคือ การบูรณาการข้ามศาสตร์โดยมุ่งสร้างพลเมืองผ่านพื้นที่การศึกษา การเสริมพลังอำนาจของครู นักศึกษาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเหล่านี้ให้ผ่านกระบวนการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมไปด้วยกัน และสุดท้าย คือการพยายามเชื่อมพลังอำนาจของครู นักการศึกษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเหล่านี้ เพื่อมีบทบาทในการสร้างความเป็นพลเมืองรุ่นใหม่

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษา ดร.วสันต์ ระบุว่า การสร้างพลเมืองตามแนวคิดของ Westheimer จะทำให้เกิดการปะทะเสียดทานกับแนวคิดพลเมืองแบบเดิม จึงต้องช่วงชิงในการตีความในพื้นที่เชิงปฏิบัติการ

ความรู้ในฐานะนักปฏิบัติการของเครือข่าย TCE ด้านข้อมูลสารสนเทศ เพื่อการเรียนรู้เชิงพื้นที่และวัฒนธรรม การสร้างความเป็นพลเมืองประชาธิปไตยระดับพื้นที่ ผ่านสารสนเทศเชิงพื้นที่และวัฒนธรรม กองทุนความรู้ท้องถิ่น สารสนเทศทางสังคมที่ตั้ง ตำแหน่งแห่งที่ในท้องถิ่นและแผนที่ชุมชนที่ระบุแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม นอกจากนี้ ความรู้ที่จะเสริมอำนาจหรือสะท้อนเสียงของผู้คนในท้องถิ่น สร้างเครือมือเรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลายและความแตกต่างทางวัฒนธรรรม สร้างพื้นที่นำเสนอความจริงร่วมสมัย เพื่อสร้างความทรงจำใหม่ซ้อนทับบนประวัติศาสตร์ชุดเดิม

ความรู้ของนักปฏิบัติการ ต้องมีกระบวนการพัฒนาศักยภาพของทีมแกนนำเยาวชน พลเมืองในพื้นที่ปฏิบัติการที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์และสำนึกของผู้คนต่อท้องถิ่น และการเรียนรู้ปรากฏการณ์และอิงท้องถิ่น

ความรู้เชิงอารมณ์ ความรู้สึก ทัศนคติ ในการสร้างความเป็นพลเมือง โดยอารมณ์ความรู้สึก และทัศนคติมีผลต่อการจัดวางตำแหน่งรนะหว่างผู้ปฏิบัติการ ครู กระบวนการ กับผู้เรียน หรือการสร้างความเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียม

การศึกษายังพบว่า การขยายประเด็นจาการเรียนรู้พลเมืองการเมืองไปสู่พลเมืองทางวัฒนธรรมต้องอาศัยบทบาทความเป็นครู ผู้นำการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากมีความท้าทายในการสร้างความเป็นพลเมืองในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีความเป็นการเมือง สังคม และวัฒนธรรมของผู้คนต่างกันไป การศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองต้องมีความยืดหยุ่น เข้าใจพลเมืองหน้าใหม่

โดยกรณีกลุ่มแม่สาย ได้ปฏิบัติการสร้างความเป็นพลเมืองผ่านแนวคิด Inclusive City และ MIDL ในการสร้างทักษะของพลเมืองเพื่อการสื่อสารอัตลักษณ์ชุมชน สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อเมืองที่พวกเขาอาศัยและเติบโต สร้างสำนึกร่วมของความเป็นเจ้าของวัฒนธรรม และการสร้างบทบาทการเป็นผู้กระทำการร่วมในการแก้ปัญหาสังคม เพื่อสร้างพลเมืองทางการเมืองไปสู่พลเมืองวัฒนธรรม

รศ. ดร.สมชัย ภัทรธนานันท์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า การสร้างพลเมืองหน้าใหม่มีทักษะในเรื่องของประชาธิปไตย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว แบบเรียนในห้องเรียนก็ต่อต้านความเป็นพลเมืองในนิยามดังกล่าว ซึ่งต้องเข้าใจและมีกระบวนการในการโต้แย้ง และรับฟังอย่างไร เราจะทำอย่างไรให้การสอนในเชิงวิพากษ์เป็นเรื่องของการเปิดความรู้ใหม่ และมีกระบวนการรับฟัง ซึ่งครูมีบทบาทสำคัญในการสร้างการเรียนรู้ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม รศ. ดร.สมชัย กล่าวว่า การสร้างพลเมืองหน้าใหม่ ต้องมีกระบวนการผ่าน social movement โดยทำให้เกิดการปฏิบัติการที่ทำให้มีการขยายมุมมองความคิดในความเป็นพลเมืองดังกล่าวที่มีคุณค่ากับชีวิตตัวเองด้วย

กลู่มก่อการครู “ครู” คือผู้นำความเปลี่ยนแปลง

ผศ. ดร.ออมสิน จตุพร คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปฏิบัติการนิยามความเป็นพลเมืองและความเป็นครู ในพื้นที่ความรู้ศึกษาศาสตร์ กรณีกลุ่ม “ก่อการครู” โดยให้นิยาม ครูคือผู้นำการเปลี่ยนแปลง จากการช่วงชิงนิยามความเป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง จากกรอบแนวคิดดังต่อไปนี้ 1) ครูกล้าสอน – กล้าที่จะสอน (The courage to teach) Parker J. Palmer 2) การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง – จิตตปัญญาศึกษา (Transformative learning & Contemplative education) Jack Mezirow 3) ครูในฐานะผู้ทำงานวัฒนธรรม – ครูนักปฏิบัติการทางการเมืองวัฒนธรรม (Teachers as cultural workers) Paulo Freir

การช่วงชิงนิยามความเป็นครู 1) แนวอนุรักษนิยม/ขนบธรรมเนียมเดิม (traditionalism) การสอน คือ การสั่งสอน การปลุกปั้น หรือการฟูมฟักอุ้มชู (ประหนึ่งพ่อแม่ดูแลลูก) (Teaching as a craft/Teacher as craftperson)

2) แนวเทคนิคกลไก/ตรรกะของเหตุผลเชิงวัตถุ (rationalism) การสอน คือ การส่งผ่านแนวคิดแบบปฏิฐานนิยม หรือมุมมองเชิงเทคนิควิธีการ (Teaching as applied science/Teacher as technician)

3) แนวรื้อถอน/วิพากษ์/ท้าทาย (radicalism) การสอน คือ ปฏิบัติการทางการเมืองวัฒนธรรม หรือ การสอนในฐานะการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงต้องเป็น

1) ครูในฐานะผู้กระทำการ

2) อัตวิสัย (subjectivity)

3) ตำแหน่งแห่งที่ของปัจเจกบุคคล (positionality)

4) โลกชีวิต (lived world)

5) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างระดับมหาภาค เช่น สังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ และโครงสร้างระดับจุลภาค เช่น จุดยืนทางการเมืองของผู้อำนวยการโรงเรียน กลุ่มครู วัฒนธรรมโรงเรียน บริบทการทำงานในชีวิตประจำวัน และบริบทชุมชน

6) ปฏิบัติการทางวัฒนธรรม (cultural practices) การต่อรอง ปะทะ ประสาน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรม ความรู้ และอำนาจ

ที่มาภาพ : ก่อการครู

ความรู้ในฐานะปฏิบัติการด้านข้อมูลสารสนเทศสำหรับการเรียนรู้เชิงพื้นที่ชุมชนและวัฒนธรรม เพื่อการสร้างความเป็นครูและวิชาชีพครู หลักสูตรในฐานะวาทกรรม/ตัวบท (curriculum as discourse/text) พื้นที่เปิด/การตีความ/การต่อรอง (มาตรฐานและตัวชี้วัด) หลักสูตรในฐานะปฏิบัติการจริง (curriculum as practices/praxis) ความรู้แบบเฉพาะที่/เฉพาะสถานการณ์ (situated knowledges) หรือความรู้ในสถานการณ์ 3) ความรู้เชิงอารมณ์ความรู้สึก/ทัศนคติ และผัสสะประสบการณ์เพื่อการสร้างความเป็นครูและวิชาชีพครู

1) ฐานคิด (head) ฐานใจ (heart) และฐานกาย (hand/body) : ต้นทุนของการเรียนรู้และการสอนเพื่อการปลดปล่อย (body politics/body as politics)

2) การศึกษาและการเรียนการสอนที่ให้ความสำคัญกับการสอดประสานเป็นเนื้อเดียวกันระหว่างความรู้ จิตใจ และร่างกาย

3) ความรักคือรากฐานของความเป็นมนุษย์ ครูคือมนุษย์ ความรักจะเป็นจุดเริ่มต้นของความเป็นครูที่เข้าใจความเป็นมนุษย์ โอบกอดความรัก ความเกลียดชัง ความโหดร้าย และความสิ้นหวัง พร้อมที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงจากฐานของการศึกษาและการเรียนรู้ด้วยความรัก

การศึกษาเชิงวิพากษ์ (critical pedagogy) โดยมี ข้อวิจารณ์ที่แข็งกร้าว ชายเป็นใหญ่ ขาดความเข้าใจในความหลากหลายของมิติความเป็นมนุษย์ที่ซับซ้อน

1) จาก การศึกษาเชิงวิพากษ์ – critical pedagogy (วาทกรรม) ไปสู่ การไตร่ตรองเชิงวิพากษ์ – critical reflexivity (ปฏิบัติการจริง)

– การไตร่ตรองระดับเนื้อหา (content reflection)

– การไตร่ตรองระดับกระบวนการ (process reflection)

– การไตร่ตรองเชิงวิพากษ์ (critical reflection)

2) จาก การไตร่ตรองเชิงวิพากษ์ (critical reflection) ไปสู่ การไตร่ตรองอารมณ์ความรู้สึกเชิงวิพากษ์ (critical emotional reflexivity)

3) การเคลื่อนไหวอย่างสันติ (implicit activism) ในระดับโรงเรียน ไปสู่ การเคลื่อนไหวทางสังคมแนวใหม่เพื่อการปฏิรูปการศึกษา

4) ความรู้เชิงทักษะเพื่อการปฏิบัติในกระบวนการสร้างครู การศึกษาและการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยผ่านการละคร/บทบาทสมมติ/สถานการณ์จำลอง/กระบวนการกลุ่ม/สานเสวนา

ขณะที่ประเด็นว่าด้วยความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม การถูกกดขี่ ความหลากหลายในมิติความเป็นมนุษย์ จิตวิญญาณ ตัวตน และการแสวงหาความเป็นไปได้ในการสร้างสังคมที่เปิดกว้าง เคารพซึ่งกันและกัน ไม่ด่วนตัดสิน และอยู่ร่วมกันได้บนความแตกต่าง ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง การขยายเครือข่าย และการสร้างความเป็นครูและวิชาชีพครูผู้นำการเปลี่ยนแปลง

– ทั้งนี้ นำเสนอวิธีการต่อสู้ทางการเมืองวัฒนธรรมที่มุ่งสร้างตำแหน่งแห่งที่ในพื้นที่สาธารณะเพื่อให้เกิดการยอมรับ (recognition) โน้มน้าวชักจูง (advocacy) และตอบสนอง (responsive) ข้อเรียกร้องจากฝ่ายรัฐ ตลอดจนผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสร้างพื้นที่ความรู้และการเรียนรู้ให้แก่คนรุ่นใหม่ ในการเข้ามาปฏิรูปการศึกษาไปพร้อมๆ กัน

อย่างไรก็ตาม การสร้างอัตลักษณ์ความเป็นนักปฏิรูปการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่เครือข่ายกลุ่มก่อการครูใช้ในการเคลื่อนไหวทางสังคม ยุทธศาสตร์ในการต่อสู้และต่อรองไม่ได้อยู่บนความรู้เชิงวิพากษ์เพียงอย่างเดียว แต่ความรู้ของกลุ่มก่อการครูจะวางอยู่บนเหตุผลเชิงซ้อน หรือการผสมผสานชุดความรู้อย่างหลากหลายในการเคลื่อนไหว

ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า หากปฏิรูปการศึกษาในสังคมไทย นัยของการเปลี่ยนผ่านนวัตกรรมการพัฒนาวิชาชีพครูประจำการอย่างเป็นระบบการพลิกระบบการศึกษา (flip the system) โดยเห็นว่ากลุ่มก่อการครูเป็นความหวังในการปฏิรูปวิชาชีพครู

รศ. ดร.อนุชาติ พวงสำลี ตัวแทนกลุ่มก่อการครู

ครูต้องมีหัวใจ ความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน

รศ. ดร.อนุชาติ พวงสำลี ตัวแทนกลุ่มก่อการครู บอกว่า การศึกษาวิจัยกลุ่มก่อการครูทำให้เห็นว่าในทุกพื้นที่มีปัญหาในเรื่องของการผลิตครูที่จะสร้างพลเมืองหน้าใหม่ โดยเฉพาะในการเรียนการสอนในห้องเรียนปัจจุบัน ยังเป็นเรียนการสอนที่ตอบสนองความมั่นคงของภาครัฐ มากกว่าการสร้างการเรียนรู้ที่นำไปสู่การเป็นพลเมืองที่มีวิญญาณเสรี และความเป็นประชาธิปไตย ดังนั้น กลุ่มก่อการครูเห็นว่า ครูคือหัวใจในการขับเคลื่อนการเรียนรู้ โดยต้องมีความเป็นมนุษย์ และต้องการเห็นความเท่าเทียม

ส่วนการสร้างการเรียนรู้เพื่อให้เกิดพลเมืองหน้าใหม่ จะต้องรวมกันสร้าเครือข่ายในกลุ่มต่างๆ เพื่อให้มีพลังในการต่อสู้ความคิดความเป็นพลเมืองแบบเก่า เพราะหากไม่มีเครือข่าย รวมกลุ่ม อาจจะไม่มีพลังเพียงพอในการต่อสู้วิธีคิดแบบเก่า