ThaiPublica > คอลัมน์ > น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง? ความพยายามของแอฟริกาใต้ในการแก้ปัญหาอุทกภัยอย่างยั่งยืน

น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง? ความพยายามของแอฟริกาใต้ในการแก้ปัญหาอุทกภัยอย่างยั่งยืน

18 ธันวาคม 2022


ปิติคุณ นิลถนอม

น้ำท่วมหาดใหญ่ จ.สงขลา วันที่ 18 ธันวาคม 2565

เมื่อปีที่แล้วผู้เขียนได้ชวนท่านผู้อ่านคิดผ่านบทความเรื่อง “ตาบอดคลำช้าง อุทกภัย กับการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน?” ว่าการแก้ปัญหาน้ำท่วมให้ตรงจุดควรจะเป็นอย่างไร และสิ่งสำคัญที่น่าจะทำได้คือการหลีกเลี่ยงการทำงานแบบตาบอดคลำช้าง คือต่างคนต่างทำโดยไม่ใช้ข้อมูลร่วมกัน ซึ่งจะทำให้การทำงานของหน่วยงานหนึ่งก่อให้เกิดผลเชิงลบต่อการทำงานของอีกหน่วยงานหนึ่ง (trade off) และเกิดปัญหา ลักลั่น ซ้ำซ้อน ย้อนแย้ง ได้แก่ สภาวะ “ทับซ้อน”(Overlap) ที่หน่วยงานหลายหน่วยมีเป้าหมายเดียวกัน สภาวะ “ซ้ำซ้อน” (Duplication) ที่หลายหน่วยงานมีเป้าหมายเดียวกันและทำงานแบบเดียวกันอีก

สภาวะ “ฟันหลอ” (Gap) คือสถานการณ์ที่เกิดจุดเกรงใจที่เป็นช่องว่างเพราะต่างคนต่างคิดว่ามีคนอื่นทำอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงไม่มีหน่วยงานใดทำเลย และสภาวะ “เบี้ยหัวแตก” (Fragmentation) คือหลายหน่วยทำหน้าที่เดียวกัน แต่ไม่วางระบบการทำหน้าที่ร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งแนวทางการร่วมมือกันแบบองค์รวมทั้งภาครัฐและสังคม (whole of government approach และ Whole of Society approach) ที่เป็นการร่วมกันของราชการส่วนกลาง ภูมิภาค และองค์กรปกครองท้องถิ่น รวมถึงภาคประชาชน และภาคประชาคม จะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะส่งผลให้เกิดการแก้ไขปัญหาต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ

หนึ่งปีถัดมาบ้านเราก็ประสบพบเจอกับปัญหาเดิมๆ ที่ดูเหมือนจะแก้ไม่ได้เสียที โดยเฉพาะปีนี้ค่อนข้างหนักหน่วง

ที่น่าตกใจคือมีบางพื้นที่ที่อาจจะอยู่ในที่ห่างไกลและตกหล่น ทำให้ความช่วยเหลือเข้าไปถึงอย่างล่าช้า และถูก “ทิ้งไว้ข้างหลัง” บางแห่งไม่มีแม้น้ำสะอาดดื่ม จำเป็นต้องใช้น้ำที่ท่วมมาแกว่งสารส้มเพื่อใช้อุปโภค ซ้ำร้ายมีข่าวปรากฏในสื่อว่าผู้ประสบภัยครั้งก่อนที่ได้รับความเสียหาย ได้รับค่าชดเชยเพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนเป็นเงินจำนวนน้อยกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง หนำซ้ำมีขั้นตอนที่ยุ่งยากทั้งการกรอกเอกสาร การถ่ายรูปและปริ้นออกมาเป็นภาพถ่าย เพื่อยื่นกับเจ้าหน้าที่ และรอเวลานานมากกว่าจะได้รับความช่วยเหลืออันน้อยนิด

ผู้เขียนจึงอยากชวนทุกท่านไปดูว่าในต่างประเทศมีกรณีใดที่เกิดขึ้นทำนองเดียวกับบ้านเราหรือไม่ และเราสามารถเรียนรู้เรื่องใดได้บ้าง

จากการสำรวจพบว่า เมื่อเดือนเมษายน 2565 ประเทศต่างทวีปอย่างแอฟริกาใต้ก็ประสบปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในเขตจังหวัด KwaZulu Natal และ Eastern Cape เหตุการณ์ดังกล่าวพรากชีวิตผู้คนมากกว่า 300 คน และก่อให้เกิดความทุกข์ระทมไปทั่วทั้งผืนน้ำที่ปกคลุมอาคารบ้านเรือนของพวกเขา ซึ่งปรากฏกรณีที่คล้ายคลึงกับประเทศไทยคือในบางพื้นที่ตกสำรวจ หรือเข้าถึงยาก จนทำให้ไม่ได้รับความช่วยเหลือ หรือได้รับความช่วยเหลือที่ช้ามาก

ภาพข่าวน้ำท่วมครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในเขตจังหวัด KwaZulu Natal และ
Eastern Cape ที่มาภาพ : https://www.agsa.co.za/Reporting/SpecialAuditReports/Real-TimeAudit.aspx

หลังเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น องค์กรตรวจเงินแผ่นดินแห่งแอฟริกาใต้ หรือ The Auditor-General of South Africa (AGSA) ต้องทำงานเชิงรุกเพื่อตรวจสอบผลการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น เพื่อให้แก้ไขปัญหาและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างทันท่วงที แบบ real time audit คือตรวจสอบไปพร้อมกับการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมให้ข้อเสนอแนะเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาแบบทันกาล ไม่เกิดความเสียหาย เพื่อให้เม็ดเงินและความช่วยเหลือไปถึงประชาชนผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ

การตรวจสอบแบบนี้จำเป็นที่จะต้องได้ข้อมูลจากประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นสำคัญ AGSA จึงได้เปิดช่องทางรับฟังประชาชนเพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการทำงาน โดยรับประกันว่าจะเก็บข้อมูลไว้เป็นความลับอย่างเคร่งครัด ซึ่งนอกจากจะนำข้อมูลไปประกอบการทำงานและเสนอแนะให้มีการแก้ไขอย่างทันท่วงทีแล้ว ยังสอดคล้องกับหลักการฟังเสียงจากทุกคนในสังคมแบบ Inclusive society ที่เน้นการเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เพื่อที่จะ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

Ms. Tsakani Maluleke ผู้ว่าการ AGSA ได้มีแถลงการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบต่อสาธารณะเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ซึ่งมีส่วนที่น่าสนใจ เช่น มีหลักฐานที่ได้รับจากการตรวจสอบพบว่ารัฐบาลตอบสนองต่อเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่นี้ไม่ดีพอ ซึ่งเกิดจากการขาดสมรรถนะในการทำหน้าที่ ขาดการบริหารจัดการโครงการที่ดี ไม่มีการประเมินผลกระทบก่อนรับมือกับภัยพิบัติ

ในเรื่องนี้มีตัวอย่างสำคัญ เช่น หลังจากน้ำลด สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดได้ประเมินว่ามีห้องเรียนที่โรงเรียน Brettenwood เสียหายจากน้ำท่วม 13 ห้อง จึงได้จัดทำห้องเรียนชั่วคราวจำนวน 13 ห้อง รองรับนักเรียนได้จำนวน 550 คน เพื่อทดแทน ทั้ง ๆ ที่หากสำรวจจริง ๆ แล้วจะเห็นได้ชัดว่า 13 ห้องที่เสียหายเป็นห้องที่อยู่ในชั้น 1 ของอาคาร 3 ชั้น ที่ถูกมวลน้ำขนาดใหญ่ไหลผ่านจนร้าวถึงโครงสร้างตึก และย่อมใช้งานไม่ได้ทั้ง 3 ชั้น เพราะจะเกิดความไม่ปลอดภัย ทำให้กระทบต่อนักเรียนทั้งหมด 3 ชั้นจำนวน 880 คน เมื่อศึกษาธิการจังหวัดได้จัดทำห้องเรียนชั่วคราวเพื่อทดแทนเพียง 13 ห้อง ทำให้นักเรียนไม่มีห้องเรียนเพียงพอส่งผลกระทบต่อการเรียนโดยตรง

ภาพถ่ายอาคารโรงเรียนที่เสียหายถึงโครงสร้างอาคารทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ทั้งหลัง ที่มาภาพ : https://www.agsa.co.za/Reporting/SpecialAuditReports/Real-TimeAudit.aspx

นอกจากนี้ยังพบว่าการสร้างที่พักชั่วคราวให้ผู้ประสบภัยมีความล่าช้ามาก กล่าวคือ จากจำนวน 4,983 ครัวเรือน มีครอบครัวที่ได้รับการประเมินจากภาครัฐในเวลาอันเหมาะสมเพียง 1,197 ครัวเรือน และมีเพียง 894 ครัวเรือนที่เป็นผู้มีสิทธิ์ได้รับการช่วยเหลือ ในระหว่างเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน

เรื่องน้ำสะอาดก็มีความสำคัญอย่างมากแต่ก็ปรากฏว่า แทงค์น้ำที่ภาครัฐได้จัดหา ซึ่งมีจำนวน 131 แทงค์มีถึงร้อยละ 31 ที่อยู่ในระหว่างซ่อมแซม มีอีกร้อยละ 7 ที่ไม่พบในระบบ และแทงค์ที่มีอยู่ร้อยละ 62 นั้นปรากฏว่ามีอัตราการใช้ประโยชน์เพียงร้อยละ 55 เท่านั้น
จากการตรวจสอบได้พบหลักฐานว่าไม่มีการวางระบบที่ดี จึงทำให้มีคำร้องขอของประชาชนที่เดือดร้อนไม่ได้รับการตอบสนอง นอกจากนี้ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ที่ดูแลจุดส่งน้ำ จึงทำให้เกิดกรณีน้ำรั่วไหลจากถังทำให้เกิดความสูญเปล่า รวมถึงกรณีที่ไม่ได้ตรวจสอบคุณภาพน้ำที่นำไปส่งให้ประชาชน ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่าในบางจุดน้ำมีคุณภาพต่ำมาก ไม่สามารถใช้บริโภคได้ ยังพบข้อเท็จจริงสำคัญว่าร้อยละ 57 ของชุมชนที่ลงพื้นที่ตรวจสอบ ไม่ได้รับน้ำสะอาดมาแล้วถึง 3 วัน ที่หนักไปกว่านั้นคือบ้านพักคนชราที่ถนน Plane Street ไม่มีน้ำสะอาดใช้มาแล้วถึง 45 วันตั้งแต่วันที่ 11 เมษายนจนถึง 25 พฤษภาคม

ภาพแสดงระยะเวลาที่ประชาชนอยู่โดยไม่มีน้ำสะอาดใช้ ที่หนักสุดคือถนน Plane Street ที่ไม่มีน้ำสะอาดใช้เป็นเวลาถึง 45 วัน ที่มาภาพ : https://www.agsa.co.za/Reporting/SpecialAuditReports/Real-TimeAudit.aspx

ในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้างก็พบปัญหา เช่น ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงเพราะต้องจัดซื้อจัดจ้างแบบเร่งด่วน แต่กลับไม่มีการวางมาตรการป้องกันการทุจริตที่เพียงพอ ยังพบอีกว่ามีการจัดซื้อจัดจ้างราคาแพงกว่าท้องตลาด และการตรวจรับงานจ้างของเจ้าหน้าที่มีความบกพร่อง ทำให้ได้รับของที่ไม่มีคุณภาพ

การบังคับใช้กฎหมายฉบับสำคัญเช่นรัฐบัญญัติว่าด้วยการประปา และรัฐบัญญัติว่าด้วยการบริหารจัดการที่ดินและผังเมือง ก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลสำคัญให้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่นี้ เพราะการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนต่างๆไม่เป็นระบบ ทำให้บางแห่งอยู่ในพื้นที่รับน้ำหรือขวางทางน้ำ เป็นต้น

ข้อตรวจพบสำคัญอีกประการคือการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลร้ายต่อการให้บริการประชาชนที่ประสบภัย ซึ่งรายงานระบุว่าแม้จะมีแผนการทำงานที่ดีเพียงใดหากปราศจากการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพ ผลร้ายก็ยังจะเกิดขึ้นอยู่วันยังค่ำ จึงจำเป็นต้องแก้ไขโดยด่วน

รายงานระบุว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาส่งผลโดยตรงให้ประชาชนและภาคธุรกิจ ได้รับความเสียหายในวงกว้างและยังคงต้องทนทุกข์ มากกว่า 3 เดือนหลังจากน้ำท่วมโดยได้รับความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

จึงได้เสนอแนะให้ภาครัฐแก้ไขและดำเนินการในหลายประการด้วยกันได้แก่ ให้รัฐบาลกลาง ส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองท้องถิ่น ต้องสร้างระบบการร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อช่วยเหลือ ฟื้นฟู และเยียวยา ประชาชน อย่างเร่งด่วน ทั้งนี้จะต้องสร้างระบบที่ทำให้ทุกหน่วยงานรู้ว่ามีบทบาทแค่ไหนเพียงไร และเกี่ยวข้องอย่างไร รวมถึงส่งผลกระทบระหว่างกันอย่างไร เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาการทำงานแบบ ลักลั่น ซ้ำซ้อน ย้อนแย้ง ลง

นอกจากนี้ยังเสนอให้เร่งพัฒนาสมรรถนะและศักยภาพขององค์กรและเจ้าหน้าที่ในการบริหารจัดการภัยพิบัติให้เป็นระบบ การวางระบบควบคุมเพื่อป้องกันความเสียหายในการเบิกจ่ายเงินอย่างเหมาะสมเพื่อให้เบิกจ่ายเงินได้อย่างรวดเร็วและได้ของที่มีคุณภาพ

ข้อเสนอแนะสำคัญอีกประการ คือการส่ง “คีย์เมสเสจ” แบบมอง “ข้ามช็อต” ว่าจะต้องแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในระยะยาว ไม่ใช่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าแค่ปีนี้ปีเดียว โดยอรรธาธิบายว่าภาวะโลกร้อนเป็นสาเหตุประการสำคัญที่ทำให้ต้องเจอปัญหาเช่นนี้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ไร้พรมแดนที่ต้องแก้ไขร่วมกันในภาพรวมของประชาคมโลก ทั้งนี้ ในปัจจุบันเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติก็ได้กำหนดในเรื่องนี้ไว้ในเป้าหมายที่ 13 นอกจากนี้ยังมีการจัดประชุม COP 27 ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ที่ประเทศอียิปต์ซึ่งผู้นำโลกจะร่วมกันประชุมและผลักดันมาตรการต่างๆออกมา แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ความพยายามดังกล่าวไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยง่ายและไม่เห็นผลในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน AGSA จึงชี้ให้ภาครัฐตระหนักว่าประชาชนจะต้องพบเจอปัญหานี้ทุกปี จึงเร่งให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง มิใช่เพียงแค่เยียวยาแบบลูบหน้าปะจมูก เพราะผ่านปีนี้ไปปีหน้าก็ต้องเจอหนังม้วนเก่าม้วนเดิมนี้อีก หากปราศจากการวางแผนและจัดการที่ดีแล้ว ประชาชนผู้เสียภาษีตาดำๆ ก็คงได้แต่นั่งมองตาปริบๆ ว่าเงินที่เสียไปไม่ได้ถูกนำมาใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ แต่กลับมาในรูปของการเยียวยาที่ไม่เคยครอบคลุมความเสียหายที่แท้จริงแต่อย่างใดเลย ทั้งชีวิต สุขภาพ ทรัพย์สิน มิพักรวมถึงความเสียหายจากการเสียโอกาสในการเรียน การทำงาน รวมถึงเศรษฐกิจปากท้องที่เอาเข้าจริงยากแท้ที่จะประเมินความเสียหายได้

ท้ายข้อเสนอแนะดังกล่าวระบุว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับทราบข้อเสนอแนะแล้ว และรับปากที่จะปฏิบัติตาม นอกจากนี้ยังระบุว่าได้รับการยืนยันจากผู้นำรัฐบาลว่าจะเตรียมความพร้อมอย่างเป็นระบบเพื่อรับมือกับภัยพิบัติในระยะยาว

รายงานยังกล่าวปิดท้ายว่าจะยังคงจับตาดูการทำงานของภาครัฐทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการติดตามผลว่าแก้ไขปรับปรุงการทำงานให้เป็นไปตามข้อแนะนำของ AGSA หรือไม่ เรียกได้ว่าเป็นการทำงานแบบ “กัดไม่ปล่อย” เพื่อสร้างความมั่นใจแก่สาธารณชนว่ารายงานการตรวจสอบข้างต้นจะไม่เป็นเพียงแค่กระดาษหรือไฟล์ PDF เท่านั้น ทั้งนี้จะมีการเผยแพร่รายงานอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ ว่าสิ่งที่บอกให้แก้ไขได้มีการปฏิบัติตามมากน้อยเพียงไรและปัญหายังคงมีอยู่หรือไม่

เอกสารประกอบการเขียน

https://www.youtube.com/watch?v=wusKtQM-37g

https://floodlist.com/africa/south-africa-kwazulu-natal-floods-april-2022

https://www.agsa.co.za/Contact/FloodReliefReal-TimeAudits.aspx

https://www.agsa.co.za/Reporting/SpecialAuditReports/Real-TimeAudit.aspx