ThaiPublica > Sustainability > Headline > ถอดบทเรียน ‘สังคมคาร์บอนต่ำ’ ชูกลไกเปิดเผยข้อมูล-วิเคราะห์ความเสี่ยง จากงาน EGCO Group Forum 2022: Carbon Neutral Pathway

ถอดบทเรียน ‘สังคมคาร์บอนต่ำ’ ชูกลไกเปิดเผยข้อมูล-วิเคราะห์ความเสี่ยง จากงาน EGCO Group Forum 2022: Carbon Neutral Pathway

2 ธันวาคม 2022


เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ได้จัดงาน “EGCO Group Forum 2022 : Carbon Neutral Pathway ปฏิบัติการสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” เพื่อร่วมกันระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิจาก ภาคส่วนต่าง ๆ ในการหาแนวทางลดคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรมไฟฟ้าและพลังงาน โดยมีวิทยากรจากบริษัท อีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด ร่วมพูดคุยและเสนอข้อมูลในเวทีเสวนาหัวข้อ “Transition to Low Carbon Society” เพื่อถอดบทเรียนและบอกเล่าวิธีการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

เพลิงเทพ จามิกรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด และ ผกาพร สุขอนันต์ ที่ปรึกษาหลักด้านความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริษัท อีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด

  • “กุลิศ สมบัติศิริ” ยกเครื่องแผนพลังงานชาติ ขับเคลื่อนไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน
  • จากเวที COP27 ถึงพลังงานสะอาด หนุนกลไกเปลี่ยนผ่านสู่ Low Carbon Society

    “เพลิงเทพ จามิกรณ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด กล่าวว่า จากเวที COP26 ที่มีการกำหนดประเด็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ.2593) ทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องดำเนินการมาตรการที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีประเด็นสำคัญ อาทิ (1) เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 45% ภายในปี 2030 โดยเทียบกับปีฐาน 2010 (2) ลดการใช้ถ่านหิน และสร้างหลักประกันว่าจะยุติการใช้ถ่านหินภายในปี 2040 (3) ลดการปล่อยก๊าซมีเทน 30% (4) เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด ฯลฯ

    ปัจจัยสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคือ ภาคอุตสาหกรรมพลังงานและไฟฟ้า โดย เพลิงเทพ ให้ข้อมูลว่าธุรกิจพลังงานไฟฟ้ามีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นสัดส่วน 40% (อ้างอิงจาก WBCSD สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน) ซึ่งพลังงานไฟฟ้าล้วนมาจากถ่านหิน อย่างไรก็ตาม หลายประเทศก็คาดหวังว่าในเวที COP27 จะทำให้ภาครัฐออกกฎระเบียบและเพิ่มความเข้มข้นในส่วนนี้ เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและ ‘เปลี่ยนผ่าน’ ไปสู่พลังงานสะอาด โดยตัวอย่างการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีที่เห็นได้ชัดคือ รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านจากน้ำมันซึ่งเป็นหนึ่งในเชื้อเพลิงฟอสซิล

    วิธีการสำคัญของเป้าหมาย Net Zero คือ ‘เทคโนโลยี’ โดยปัจจุบันมีเทคโนโลยี 2 กลุ่มที่จะเป็น ‘สปอตไลท์’ คือ 1) CCS : Carbon Capture and Storage เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน และ 2) พลังงานไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) กับอีกวิธีคือการเพิ่มพื้นที่ธรรมชาติ (Natural Capital Solution) โดย เพลิงเทพ กล่าวต่อว่า อีก 8 ปีข้างหน้า หรือปี 2030 ความคุ้มทุนของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับก๊าซเรือนกระจกจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิด economy of scale ได้ และคนเข้าถึงได้มากขึ้น

    “เทคโนโลยีจะกลายเป็น business of opportunity เพราะเป้าหมาย Net Zero หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) มันหนีไม่พ้น CCS หรือ CCUS หมายความว่าอีก 8 ถึง 20 ปีข้างหน้า ทุกคนต้องการทางเลือกนี้หมด และอาจกลายเป็นรายได้ของภาครัฐหรือธุรกิจพลังงาน เทคโนโลยีต้องการความร่วมมือและการช่วยเหลือกันทุกภาคส่วน” เพลิงเทพ กล่าว

    พร้อมกล่าวต่อว่า “ส่วน natural capital solution ก็สำคัญ บางทีเทคโนโลยีช่วยดูดซับไม่พอ เราก็เอาง่าย ๆ คืนสู่สามัญ คือมีพื้นที่สีเขียว มี waste land ทำให้เกิด ecosystem มีระบบป้องกัน ไม่ว่า ทะเล น้ำ ชายฝั่งต่าง ๆ ป่าโกงกาง และลดการทำลายป่าไม้ เหมือนทุกอย่างในการแก้ไขปัญหาคือธรรมชาติเข้ามามีส่วนร่วม”

    สำหรับภาคเอกชน โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานก็ต้องปรับตัวขนานใหญ่ ตัวอย่างเช่น

    • เอ็กโก กรุ๊ป ตั้งเป้าไปสู่การบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2050 รวมถึงลงทุนในพลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen Power) เพื่อเป็นพลังงานอนาคต
    • ORSTED ธุรกิจพลังงานที่มีเริ่มหยุดการลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน และใช้เวลากว่า 10 ปีในการเปลี่ยนผ่านมาสู่พลังงานลม
    • CLP Power ตั้งเป้าไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) และประกาศยุติการใช้ถ่านหินภายในปี 2040 ที่สำคัญคือปัจจุบัน CLP Power เป็นบริษัทที่จ่ายพลังงานมากกว่า 80% ให้ฮ่องกง

    เพลิงเทพ ย้ำว่า “ประมาณ 7-8 ปีที่แล้ว พอร์ตของ CLP มีทุกอย่าง สมัยก่อนมีถ่านหิน (coal asset) เยอะมาก และเขาใช้ก๊าซธรรมชาติ (natural gas) ไปสู่การเปลี่ยนผ่าน ตอนนี้มีพลังงานนิวเคลียร์และโซลาร์ ในช่วง 3 ถึง 5 ปีที่ผ่านมา เขาทำตลาดกับครัวเรือน ทั้งระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ จนเป็นผู้ให้บริการพลังงานไฟฟ้า และทำแอปพลิเคชัน เพื่อหาดีมานด์ในภาคอุตสาหกรรม และเชื่อมกับผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้วย”

    นอกจากประเด็นการเพิ่มสัดส่วนพลังงานทางเลือกแล้ว ยังมีประเด็นจากเกณฑ์ SBTi (Science Base Target Initiative) ซึ่งจะช่วยให้องค์กรมีเกณฑ์ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยมี 3 ขั้นตอน ในที่นี้เรียกว่า ‘Scope’ โดย Scope1 คือกิจกรรมในองค์กร Scope2 คือไฟฟ้า และ Scope3 คือซัพพลายเชน โดยสำคัญที่สุดคือสโคป 3 เพราะจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการไปสู่ Net Zero อย่างแท้จริง

    เพลิงเทพ แนะนำให้จับตาดูเวที COP27 เนื่องจากมีการพูดคุยตั้งแต่เรื่องการยับยั้งและบรรเทาสถานการณ์ ตลอดจนกฎระเบียบและนโยบายที่เข้มแข็ง (Mitigation) การปรับตัว (Adaptation) การสนับสนุนทางการเงิน (Finance) และความร่วมมือจากทุกภาคส่วน (Collaboration)

    “ผลกระทบจาก climate changes ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วม เฮอริเคน และคลื่นความร้อนในยุโรป (heat wave) ดังนั้นการปรับตัวจึงมีความสำคัญ ทั้งเทคโนโลยี การเงิน และข้อกำหนดต่าง ๆ รวมถึงหลายบริษัท ถ้าจะเข้าใจจริง ๆ ต้อง เข้าใจความเสี่ยงและโอกาส เชื่อมกับธุรกิจ ก็จะผ่านไปได้ ส่วนการเงินและความร่วมมือเป็นตัวช่วย สองสิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้า mitigation และ adaptation ไม่เกิดขึ้น” เพลิงเทพ กล่าว

    ใน COP27 มีกระทั่งการจัดให้นักพัฒนาเทคโนโลยีมาเจอกับนักลงทุน แล้วทำอย่างไรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้น และผู้นำทุกประเทศไปร่วมกัน โดยเฉพาะการโฟกัสไปที่เงินทุนของประเทศพัฒนาแล้วมาที่ประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้มีความจำเป็นในการ transition สู่ low carbon economy

    ประเมินความเสี่ยงและเปิดเผยข้อมูล

    ผกาพร สุขอนันต์ ที่ปรึกษาหลักด้านความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บริษัท อีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด เสริมเรื่องการขับเคลื่อนสู่ low carbon economy และตัวขับเคลื่อน 4 กลุ่มสู่การแก้ปัญหาโลกรวน คือ

      (1) การประเมินผลกระทบด้านกายภาพ (Physical Climatic Change) ทั้งแบบฉับพลัน และระยะยาว
      (2) การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Transition to Low Carbon Economy) โดยเน้นนโยบายที่สอดคล้องกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือสนับสนุนการพัฒนาพลังงานทางเลือก เทคโนโลยีใหม่ ๆ และด้านการตลาด
      (3) ข้อกำหนด กฎหมาย (Legal Liability) เช่น ภาษีคาร์บอน หรือกลไกซื้อขายสิทธิในการปล่อย
      (4) ภาพลักษณ์ ชื่อเสียง ผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ (Reputation) เพราะถ้าบริษัทใดสามารถรับมือประเด็นนี้ได้ดี ถือเป็นการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และโอกาสลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ ๆ หรือเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ในทางกลับกันหากมีชื่อเสียงไม่ดีจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นหรือรายได้ของภาคธุรกิจ

    ผกาพร กล่าวต่อว่า จากปัญหาและวิธีการขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ทำให้นักลงทุนและสถาบันการเงินจากประเทศอังกฤษ ร่วมมือกันจัดทำกรอบการรายงาน Climate Change ในชื่อ TCFD ย่อมาจาก Task force on climate related Financial Disclosures โดยเน้นไปที่ข้อกำหนดให้บริษัทเปิดเผยข้อมูล และผลกระทบด้านการเงินทั้งเชิงบวกและลบ และคำนึงถึงกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders)

    TCFD ทำเพื่อให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลมาตรฐานเดียวกัน สามารถเทียบเคียงกันได้ โดยแบ่งเป็น 4 ประเด็น ได้แก่
    1.คณะกรรมการบริษัทมีการกำกับดูแลเรื่อง climate change อย่างไร
    2.กลยุทธ์หลังจากกำกับดูแล บริษัทประเมินความเสี่ยง-โอกาส และนำข้อมูลจัดทำเป็นกลยุทธ์ธุรกิจหรือไม่ อย่างไร
    3.การจัดการความเสี่ยง โดยมีข้อกำหนดให้บริษัทเปิดเผยขั้นตอน กระบวนการต่าง ๆ ว่าได้ระบุ-ประเมิน และจัดการความเสี่ยงอย่างไร
    4.บริษัทตั้งเป้าหมายเพื่อลดความความเสี่ยงหรือไม่ อย่างไร หรือเป้าหมายใช้โอกาสที่ตอบสนองเป้าหมายเหล่านั้นอย่างไร

    ผกาพร กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญคือการประเมินความเสี่ยงต่อองค์กร โดยความเสี่ยงมี 2 ประเภทคือความเสี่ยงทางกายภาพ (Physical Risk) เช่น ภัยพิบัติ อาจส่งผลทางอ้อมให้ซัพพลายเออร์ส่งวัตถุดิบไม่ได้หรือสินทรัพย์เสียหาย และความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนผ่าน (Transition Risk) เช่น ความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคาร์บอนต่ำ

    ผกาพร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบันมี 68 ประเทศทั่วโลกเริ่มประกาศใช้ carbon tax หรือมีแผนชัดเจนว่าจะใช้กลไก emission trading schemes และ 990 บริษัททั่วโลกประกาศเหมือนว่าองค์กรจะใช้ internal carbon price หรือราคาคาร์บอนภายในในการบริหารจัดการ เช่น ประเมินการลงทุนและคุ้มทุนต่าง ๆ หรือใช้เป็นแรงผลักดันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”

    “ภูมิภาคเอเชียหลายประเทศตั้งข้อกำหนดและข้อบังคับ เช่น ประเทศญี่ปุ่นประกาศ Net Zero แล้วโฟกัสการพัฒนานวัตกรรม รวมถึงการลงทุนที่จะส่งเสริมพลังงานทางเลือก หรือสิงคโปร์มีการกำหนดใช้ carbon tax หลายปี ล่าสุดสิงคโปร์ประกาศว่าปี 2024 อัตรา carbon tax จะเพิ่มขึ้น 5 เท่าจากปัจจุบัน นอกจากนั้นตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ประกาศแล้วว่าทุกบริษัทอุตสาหกรรมต้องเปิดเผยข้อมูลด้าน climate changes ภายในปี 2023 โดยเริ่มจากภาคการเงิน พลังงาน อาหาร และการเกษตรก่อน” ผกาพรกล่าวทิ้งท้าย