ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เรื่องวุ่น ๆปมจัดซื้อ “บอดี้สแกน” จาก AOT ถึงกรมศุลฯ

เรื่องวุ่น ๆปมจัดซื้อ “บอดี้สแกน” จาก AOT ถึงกรมศุลฯ

18 ธันวาคม 2022


ปมจัดซื้อ “บอดี้สแกน” กรมศุลฯ 30 ตัว วงเงินเกือบ 400 ล้านบาท ส่อเค้าล่ม? ผ่านไป 6 เดือน ยังไม่ประกาศชื่อผู้ชนะคะแนนสูงสุด หลังตรวจพบผู้ประมูลยื่นข้อเสนอเฉียดราคากลาง – TOR หลวมไม่กำหนดให้ทำ POC ทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานในภาคสนาม หวั่นตรวจรับแล้วอาจมีปัญหา

เรื่องการจัดหาเครื่องตรวจสอบวัตถุตามร่างกายผู้โดยสาร หรือ เครื่อง “Body Scanner” ที่เคยเป็นข่าวใหญ่เมื่อ 4 ปีก่อน โดยมีเอกชนรายหนึ่งเข้ารับสัญญาเช่าจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “AOT” อย่างต่อเนื่องมา ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน โดยการจัดหาเครื่อง Body Scanner รุ่น L-3 ซึ่งตอนนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวที่ผ่านการรับรองจาก Transportation Security Administration (TSA) จำนวน 28 ตัว ไปติดตั้งตามท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ AOT เพื่อใช้ตรวจวัตถุตามร่างกายของผู้โดยสาร โดยมีสัญญาเช่า 5 ปี ช่วง 3 ปีแรก คิดค่าเช่าเครื่องละ 650,000 บาท/เดือน ต่อมามีการเจรจาต่อรองค่าเช่าลงมาได้ 20% ช่วง 2 ปีหลัง คิดค่าเช่าเครื่องละ 510,000 บาท/เดือน รวมสัญญา 5 ปี (60 เดือน) จ่ายค่าเช่าเครื่องไปเกือบพันล้านบาท หรือ เฉลี่ยตัวละ 35.64 ล้านบาท

ขณะที่เครื่องรุ่นดังกล่าวนี้ในประเทศสหรัฐอเมริกามีราคาซื้อ – ขายอยู่ที่ 171,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเครื่องละประมาณ 5.6 ล้านบาท ตามที่ปรากฏในฐานข้อมูลราคา หรือ “Price List” ของ General Services Administration Schedules (GSA) ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลกลาง ประเทศสหรัฐอเมริกา เรื่องนี้จึงกลายเป็นข่าวขึ้นมาในช่วงนั้น ทำให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าไปตรวจสอบประเด็นความคุ้มค่า ระหว่างการเช่าเครื่องมือดังกล่าวนี้ แพงกว่าซื้อหรือไม่ ทำให้ AOT ต้องออกมาชี้แจง ว่าราคาเครื่อง 5.6 ล้านบาท ตามที่ปรากฏใน Price List ของ GSA นั้น ไม่ใช่ราคาซื้อ-ขายทั่วไป แต่เป็นราคาที่ขายให้ เฉพาะหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ซึ่งเป็นราคาเฉพาะค่าอุปกรณ์ ยังไม่รวมค่าภาษี ค่าติดตั้งอุปกรณ์ ค่าบริการหลังการขาย ค่าบำรุงรักษาแบบรวมอะไหล่ ค่าขนส่ง ค่าความเสี่ยงทางด้านการเงินที่เกี่ยวกับการให้บริการ และจากการสืบราคาเครื่องรุ่นนี้มีราคาเริ่มต้นที่ 19 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมค่าประกันภัย และค่าบำรุงรักษาแบบรวมอะไหล่ทั้งหมด จากนั้นเรื่องก็เงียบหายไป

ล่าสุด เรื่อง Body scanner ก็มาเกิดขึ้นที่กรมศุลกากร จัดประกวดราคาซื้อโครงการจัดหาระบบตรวจสอบสิ่งของ สัมภาระที่ซุกซ่อน หรือ ติดตัวผู้โดยสาร ซึ่งเดินทางเข้า – ออกระหว่างประเทศ โดยไม่มีการสัมผัสร่างกาย (Non-Intrusive Body Inspection System) โดยใช้วิธีประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) จำนวน 30 เครื่อง วงเงิน 385 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคากลางที่ได้มาจากการสืบราคาจากผู้ประกอบการ 3 ราย คือ 1. บริษัท เอ็ม โซลูชั่น จำกัด , 2. บริษัท สามารถคอมมิวนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด และบริษัท เอเชียน มารีน เซอร์วิสส์ จำกัด (มหาชน) และ 3. บริษัท อรัญ (2019) จำกัด โดยการคัดเลือกครั้งนี้พิจารณาให้คะแนนจากข้อเสนอด้านราคาให้น้ำหนัก 40% , ข้อเสนอด้านเทคนิค และอื่นๆ 35% , มาตรฐานของสินค้าหรือบริการ 15% และบริการหลังการขายมีน้ำหนัก 10% เป็นต้น

ที่มาภาพ : China Electronics Technology Group Corporation : CETC

แหล่งข่าวจากกรมศุลกากร กล่าวถึงความคืบหน้าของการประมูลเครื่อง Body Scan ของกรมศุลกากรว่า ขณะนี้ได้บริษัทผู้ชนะที่ได้คะแนนสูงสุดแล้ว คาดว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์จากประเทศจีนได้คะแนนมากกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงจากยุโรป แต่ยังไม่ประกาศชื่อผู้ชนะที่ได้คะแนนสูงสุด เนื่องจากทางผู้บริหารกรมศุลกากรวิตกกังวลเรื่องข้อเสนอด้านราคา หากเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ของจีนกับยุโรปเสนอราคาแตกต่างกันน้อยมาก และยังใกล้เคียงกับราคากลาง หรือ วงเงินงบประมาณที่ตั้งไว้ ทำให้ผู้บริหารกรมศุลกากรยังไม่กล้าปล่อยผ่านการพิจารณา และมีข้อสังเกตการประกวดราคาครั้งนี้ อาจมีการกระทำที่เข้าลักษณะของผู้ยื่นข้อเสนอที่ชนะ หรือ ที่ได้รับการคัดเลือก อาจมีผลประโยชน์ร่วมกัน มีส่วนได้เสีย หรือ สมยอมกันกับผู้ยื่นข้อเสนอรายอื่น ตามหลักเกณฑ์ของกรมบัญชีกลาง หรือไม่?

“ปกติในการซื้อของที่มีมูลค่าสูง และเป็นระบบที่ไม่เคยใช้งานมาก่อน สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องการกำหนดไว้ใน TOR ให้มีการนำเครื่องมาทดสอบ หรือ พิสูจน์ประสิทธิภาพการใช้งานจริง หรือที่เรียกว่า “Proof Of Concept : POC ” เพื่อทดสอบการตรวจจับสิ่งที่ซุกซ่อนมาตามร่างกายของผู้โดยสาร เช่น การพกเงินตราต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือ ของต้องห้าม/ต้องกำกัด ของหนีภาษีที่มีราคาแพงอย่างนาฬิกาหรูมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท เป็นต้น รวมทั้งการรับรองมาตรฐานสินค้าจากองค์กรสากลระหว่างประเทศที่น่าเชื่อถือ ก็ไม่ได้ปรากฎในการประกวดราคาครั้งนี้ ทำให้ผู้บริหารกรมศุลกากรเป็นห่วง เกรงว่า หากปล่อยผ่าน รับมอบงานและจ่ายเงินตามขั้นตอนมาแล้ว อาจมีปัญหาในเรื่องประสิทธิภาพการตรวจจับวัตถุที่ซุกซ่อนมากับผู้โดยสารได้หรือไม่” แหล่งข่าวจากกรมศุลกากร กล่าว

อนึ่ง ที่ผ่านมากรมศุลกากรได้นำเครื่อง X-Ray มาใช้การตรวจสอบสินค้าทั้งขาเข้า – ขาออกมาตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน อาทิ ระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่อง X-Ray แบบเคลื่อนที่ได้ (Mobile) , แบบถอดประกอบได้ (Relocatable) , แบบใช้งานประจำที่ (Fixed) , แบบตรวจสอบขบวนรถไฟ (Railway) , และแบบขับผ่าน (Fast Scan) รวมถึงระบบตรวจสอบด้วยเครื่อง X-Ray แบบคร่อมสายพาน (Conveyor) เพื่อใช้ในการตรวจสอบสัมภาระของผู้โดยสาร

แต่ระบบ X-Ray ไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการตรวจสอบสิ่งของ หรือ วัตถุที่ติดตัวมากับผู้โดยสาร เนื่องจากรังสี X-Ray อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้โดยสาร ที่ผ่านมาจึงใช้วิธีการสุ่มตรวจค้นตามร่างกายของผู้โดยสารเฉพาะกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัย ซึ่งอาจเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และไม่สอดคล้องกับการทำงานภายใต้ “ชีวิตวิถีใหม่” หรือ New Normal ในลักษณะ Social Distancing กรมศุลกากรจึงทำการศึกษา พบว่า หน่วยงานป้องกันชายแดน และ ศุลกากรประเทศสหรัฐ และฮ่องกง นำเทคโนโลยีของคลื่นเทราเฮิร์ต (Terahertz) มาใช้ในการตรวจสอบสิ่งของ สัมภาระที่ซุกซ่อน หรือ ติดตัวผู้โดยสารที่เดินทางเข้า – อออกระหว่างประเทศ เช่น อาวุธ ยาเสพติด ของมีค่า เงินตราต่างประเทศ โดยไม่มีการสัมผัสร่างกาย (Non- Intrusive Body Inspection systems) ดังนั้น เพื่อเสริมสร้างความโปรงใสในการทำงานของเจ้าหน้าที่ หลังทำการศึกษาเสร็จเรียบร้อย จึงออกประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมประกวดราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2565 กำหนดยื่นซองประกวดราคาในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีการประกาศรายชื่อผู้ชนะการประมูล แต่อย่างใด