ThaiPublica > เกาะกระแส > รองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส “สหรัฐ จะไม่ห่างหายไปจากอินโดแปซิฟิก”

รองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส “สหรัฐ จะไม่ห่างหายไปจากอินโดแปซิฟิก”

18 พฤศจิกายน 2022


นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ปาฐกถาในเวที APEC CEO Summit 2022

วันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวปาฐกถาในการประชุมผู้นำภาคธุรกิจเอเปค
APEC CEO Summit โดยย้ำถึงพันธสัญญาของสหรัฐฯ ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และความเป็นหุ้นส่วนอย่างทั่วถึงในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

นางแฮร์ริส เริ่มด้วยการกล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินโดแปซิฟิกมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อสหรัฐฯทั้งในด้านความมั่นคงและความรุ่งเรือง

“ในการเยือนครั้งนี้ ข้าพเจ้าได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า สหรัฐอเมริกาเป็น proud pacific power และเราได้ประโยชน์อย่างมากในการส่งเสริมภูมิภาคที่เปิดกว้างเชื่อมโยงระหว่างกัน มีความมั่งคั่ง มั่นคงและมีความสามารถในการปรับตัว”

ในช่วงเกือบสองปีนับตั้งแต่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนและข้าพเจ้าเข้ารับตำแหน่ง เราได้กระชับความเป็นพันธมิตรและความร่วมมือของเราในอินโดแปซิฟิก

“เราได้เสริมสร้างความมุ่งมั่นในการป้องกันและการป้องปรามตลอดจนการรักษาความมั่นคง และเป็นความมั่นคงที่ยาวนานซึ่งช่วยให้ภูมิภาคนี้พัฒนาและเจริญรุ่งเรืองมากว่า 70 ปี”

รัฐบาลประธานาธิบดีไบเดนยังได้ร่วมกับพันธมิตร ในการคงไว้ซึ่งกฎกติกาและบรรทัดฐานระหว่างประเทศ และที่สำคัญ ฝ่ายบริหารของเราก็มีความคืบหน้าอย่างมากในวาระเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นและเป็นที่ยอมรับในภูมิภาค ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายด้านที่ส่งผลต่อระดับบุคคล ชุมชนและเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว

“จุดยืนของเราชัดเจน สหรัฐอเมริกามีพันธสัญญาทางเศรษฐกิจที่ยืนยงต่อภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ที่จะคงอยู่ยาวนานไม่เพียงแค่หลายปี แต่อยู่เป็นทศวรรษและหลายชั่วอายุคน และไม่มีพันธมิตรทางเศรษฐกิจใดที่ดีต่อภูมิภาคนี้มากไปกว่าสหรัฐอเมริกา”

คณะบริหารของประธานาธิบดีไบเดน-แฮร์ริสได้พิสูจน์ให้เห็นครั้งแล้วครั้งเล่าผ่านการกระทำของเรา การลงทุนของเรา และหลักการที่เรายึดมั่นในแต่ละวันและทุกๆวัน ภายใต้รัฐบาลชุดนี้ สหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศหนึ่ง มีส่วนร่วมกับอินโดแปซิฟิกมากกว่าที่เคยเป็นมา เรามีพลังและความเป็นผู้นำที่ไม่มีใครเทียบได้ในเครือข่ายพันธมิตรและหุ้นส่วนระดับโลก

ภายใต้การนำของประธานาธิบดีไบเดน เราได้เห็นการขยายความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และอาเซียนอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ได้มีการให้ความช่วยเหลือที่มีมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ และความคิดริเริ่มใหม่ๆ ในการประชุมสุดยอดผู้นำ 3 ครั้งรวมถึงสัปดาห์ที่แล้วในกัมพูชา

ในหมู่เกาะแปซิฟิก เรามุ่งมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือหลายพันล้านดอลลาร์ เราได้ขยายคงอยู่ของเราในพื้นที่และยกระดับการมีส่วนร่วมไปสู่ระดับผู้นำ

ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมเวทีแปซิฟิกตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปีนี้ และประธานาธิบดีไบเดนได้จัดประชุมเวทีแปซิฟิกที่วอชิงตันในเดือนกันยายน
ปีนี้ ซึ่งเป็นการประชุมสุดยอดครั้งแรก

การมีส่วนร่วมของเราในอินโดแปซิฟิกยังรวมถึงการริเริ่มสิ่งใหม่ เช่น การจัดตั้งกลุ่ม QUAD(ภาคี 4 ประเทศ หรือ The Quad ประกอบด้วย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย) สมาชิก QUAD ได้ร่วมกันบริจาคเงิน 5 พันล้านดอลลาร์ให้กับโครงการ covax และบริจาควัคซีนป้องกันโควิดรวมมูลค่า 265 ล้านดอลลาร์ ให้กับอินโดแปซิฟิก ซึ่งช่วยชีวิตคน ทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ และฟื้นตัวจากโรคระบาดได้เร็วขึ้น

จากการเป็นพันธมิตรนี้ เราได้นำทรัพยากรที่สำคัญมาสู่ภูมิภาค ในหลายด้านเช่น รถยนต์ไฟฟ้า โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา และการเป็นผู้ประกอบการ

เมื่อปีที่แล้วในสิงคโปร์ ข้าพเจ้าได้ประกาศว่าสหรัฐอเมริกาเสนอตัวที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในปี 2566

ในช่วงปีที่เราเป็นเจ้าภาพ เราจะต่อยอดจากรากฐานที่แข็งแกร่งต่อจากที่ประเทศไทยได้สร้างไว้ ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ต้อนรับทุกท่านในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และจะแสดงให้เห็นถึงความคงมั่นและความมุ่งมั่นทางเศรษฐกิจของเราต่อไป

รัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดน ได้ริเริ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่จะเสริมสร้างความมีอยู่ทางเศรษฐกิจ(economic footprint) ของเราในระยะยาว ตัวอย่างเช่น ในโตเกียวเมื่อต้นปีนี้ ประธานาธิบดีไบเดนได้เปิดตัวกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacifุic Economic Framework for Prosperity) หรือที่รู้จักในชื่อ IPEF ซึ่งเป็นประชาคมเศรษฐกิจที่มีขนาดถึง 40% ของ GDP โลก ให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งมาตรฐานด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมที่สูง

สมาชิกของ IPEF มุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อบรรลุข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการค้าที่เป็นธรรม ห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น พลังงานสะอาด และการต่อต้านการทุจริต

ภายใต้ IPEF ฝ่ายบริหารของเรากำลังดำเนินการเพื่อจัดทำข้อตกลงการค้าดิจิทัล เพื่อเป็นกฎและบรรทัดฐานสากล ในด้านการไหลเวียนของข้อมูล ความเป็นส่วนตัว และอี-คอมเมิร์ซ

เราเชื่อว่าสิ่งนี้จะสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนและจะช่วยดึงการลงทุนจากสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคนี้มากยิ่งขึ้น

พันธสัญญาทางเศรษฐกิจที่ยืนยงของเรายังครอบคลุม ความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความเป็นพันธมิตรกับภาคเอกชน ในขณะที่เราสร้างรูปแบบความร่วมมือใหม่

ภาคเอกชนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของเรา เป็นตัวอย่างสำคัญของการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั่วโลก

พร้อมกับกลุ่มประเทศ G7 เราตั้งใจที่จะระดมทุน 600,000 ล้านดอลลาร์ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งจะมีมาตรฐานสูง โปร่งใส เป็นมิตรต่อสภาพอากาศ และจะไม่สร้างภาระหนี้สินมหาศาลให้กับประเทศต่างๆ

ในบาหลี ประธานาธิบดีไบเดนได้ประกาศว่า ด้วยการเป็นหุ้นส่วนสามารถระดมเงินได้มากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานใหม่ให้กับอินโดนีเซีย

นอกจากนี้ยังร่วมกับออสเตรเลีย ญี่ปุ่น จัดหาเงินทุนให้กับเครือข่ายโทรคมนาคมใหม่ในแปซิฟิก และเรากำลังดำเนินการระดมเงิน 2 พันล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการ Southeast Asia Smart Power Program เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนและระบบเหล่านั้นทั่วภูมิภาค

ข้าพเจ้าเชื่อว่าภาคเอกชนจะมีบทบาทสำคัญในทั้งหมดนี้ เพื่อลดความแตกต่างด้านโครงสร้างพื้นฐานในอินโดแปซิฟิก เราต้องการความเชี่ยวชาญภาคธุรกิจ เราต้องทำงานร่วมกับภาคธุรกิจ และเงินทุนที่นำมาลงในโครงการเหล่านี้ และเราต้องการนวัตกรรมของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นเรื่องของพลังงานสะอาดและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล

พูดง่ายๆ ก็คือ รัฐบาลไม่สามารถทำสิ่งนี้ได้โดยลำพัง และตระหนักถึงผลของบริษัทต่อเศรษฐกิจระดับโลก ฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีไบเดน กำลังสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคง โดยกำลังทำงานร่วมกับ IPEF กลุ่ม QUAD และผ่านความสัมพันธ์แบบทวิภาคี ซึ่งรวมถึงการบรรลุข้อตกลงด้านห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญกับประเทศไทยเมื่อไม่กี่เดือนก่อน

ในปีที่แล้ว ข้าพเจ้าได้ร่วมประชุมกับผู้นำทางธุรกิจในสิงคโปร์ ในกรุงโตเกียว ในสหรัฐอเมริกา เพื่อผลักดันงานด้านซัพพลายเชน และรู้ว่าภาคธุรกิจเห็นด้วยว่า ภาครัฐและเอกชนต้องทำงานร่วมกันในเรื่องนี้และผลที่เกิดขึ้นก็ชัดเจน

ในความร่วมมือทางธุรกิจ ฝ่ายบริหารของเราเป็นผู้นำในการทำงานทั่วทั้งภูมิภาคเพื่อพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้าและซัพพลายเออร์ที่หลากหลายในฐานะพันธมิตรที่แข็งแกร่งในเศรษฐกิจและบริษัทต่างๆ ในอินโดแปซิฟิก

แนวทางของอเมริกาต่อความสัมพันธ์นี้อยู่บนรากฐานความร่วมมือ ความยั่งยืน ความโปร่งใส และความเป็นธรรม และจะยังคงรักษาและเสริมสร้างกฎและบรรทัดฐานทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่ปกป้องตลาดเสรี และสร้างความสามารถในการคาดการณ์และเสถียรภาพ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งสำคัญในการปกป้องบริษัทจากการใช้อำนาจโดยพลการ การแทรกแซง ปกป้องประเทศจากการบีบบังคับทางเศรษฐกิจ และปกป้องสิทธิของคนงาน

นอกจากนี้ เรายืนหยัดต่อต้านการบิดเบือนตลาดและความได้เปรียบในการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม และเราให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม

“เศรษฐกิจจะพัฒนาได้เต็มศักยภาพก็ต่อเมื่อทุกภาคส่วนในสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ สหรัฐอเมริกายึดมั่นในคุณค่านี้และหลักการนี้ ไม่เพียงเพราะเราเชื่อว่าเป็นหลักการที่ถูกต้องที่พึงกระทำสิ่ง แต่ยังทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นไปอย่างเหมาะสม”

ในด้านวิกฤติสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นวิกฤติสำหรับเราทุกคน สหรัฐอเมริกากำลังดำเนินการในส่วนของเราและเป็นผู้นำในการดำเนินการ เมื่อเร็ว ๆ นี้ฝ่ายบริหารของเราได้ลงทุนด้านสภาพอากาศครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเราผ่าน Inflation Reduction Act ในด้านห่วงโซ่อุปทานแบตเตอรี่ และพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ไฮโดรเจน ซึ่งทำให้สหรัฐอเมริกาอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องในการลดการปล่อยมลพิษลงอย่างน้อย 50% ภายในปี 2573 และก้าวสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ Net Zero ภายในปี 2593

เรามุ่งมั่นที่จะเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินด้านสภาพอากาศให้มากกว่า 11 พันล้านดอลลาร์ต่อปี และการลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ของเราเพื่อช่วยให้ชุมชนปรับตัวเข้ากับโลกที่ร้อนขึ้นได้ ในขณะที่เราดำเนินการเพื่อป้องกันภัยคุกคามและปกป้องโลกของเรา

นอกจากนี้ เราจะขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะที่เร่งการเปลี่ยนแปลงของพลังงาน เราจะสร้างงานใหม่ ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรม และส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่

อเมริกาเป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งของเขตเศรษฐกิจและบริษัทต่างๆ ในภูมิภาคนี้ เพราะอเมริกาเป็นและจะยังคงเป็นกลไกสำคัญของการเติบโตทั่วโลก …ด้วยแรงเสริมจากแนวทางการบริหารของเราซึ่งได้สร้างงานที่สำคัญและฟื้นฟูภาคการผลิต ภาคส่วนพลังงานสะอาดที่กำลังเติบโต การใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ฟื้นตัว และการสร้างธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่เคยมีมาก่อน

“เราเชื่อว่าเมื่อเราประสบความสำเร็จในประเทศ ภูมิภาคอินโดแปซิฟิกทั้งหมดจะได้รับประโยชน์”

ปัจจุบันการส่งออกในสัดส่วน 30% ของการส่งออกโดยรวมตรงไปที่อินโดแปซิฟิก และปัจจุบันบริษัทอเมริกันลงทุนประมาณล้านล้านดอลลาร์ต่อปีในภูมิภาคนี้

เราจะทำงานร่วมกับพันธมิตรของเราในภูมิภาคนี้ต่อไป เพื่อเพิ่มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เพิ่มการไหลเวียนของเงินทุนอย่างเสรี และเพิ่มการไหลเวียนสินค้าและบริการระหว่างสหรัฐอเมริกาและอินโดแปซิฟิกที่อยู่ในระดับสูงอยู่แล้วให้เพิ่มขึ้นอีก

“ในฐานะหนึ่งในสมาชิกของอินโดแปซิฟิก อเมริกามีผลประโยชน์ร่วมกันอย่างลึกซึ้งต่ออนาคตของภูมิภาคนี้”

เรามีความมุ่งมั่นร่วมกันต่ออินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง และสหรัฐอเมริกามีความผูกพันทางประวัติศาสตร์ที่มีคุณค่าร่วมกันกับประเทศ ประชาชนในภูมิภาคนี้ และทั้งหมดทั้งปวงนี้…

“สหรัฐจะไม่ห่างหายไปจากที่นี่ และกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของเราในภูมิภาคนี้ และร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดสำหรับสหรัฐอเมริกา ในขณะที่เราก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน บริษัทและเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้จะพบว่าสหรัฐอเมริกานำมาซึ่งโอกาสในการเติบโตอย่างก้าวกระโดด สหรัฐที่ผดุงไว้ซึ่งหลักนิติธรรม และ สหรัฐที่จะช่วยให้สร้างความรุ่งเรืองให้กับทุกคน”