สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT : Global Compact Network Thailand) ร่วมกับสหประชาชาติในประเทศไทยจัดงานประชุมผู้นำความยั่งยืนประจำปี GCNT Forum 2022 ขับเคลื่อนแนวคิด Accelerating Business Solutions to Tackle Climate & Biodiversity Challenges รวมพลังสมาชิกภาคธุรกิจ 110 องค์กร รวมทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งไทยและต่างประเทศ เร่งเพิ่มมาตรการรับมือวิกฤติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ
นางสาวธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย หรือ GCNT (Global Compact Network Thailand) เปิดเผยว่า การประชุม GCNT Forum เป็นงานสำคัญประจำปี ที่มุ่งเน้นนำองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนมาถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบการภาคธุรกิจ ซึ่งการประชุมผู้นำความยั่งยืนประจำปี GCNT Forum 2022 นี้จะจัดขึ้น ภายใต้แนวคิด Accelerating Business Solutions to Tackle Climate & Biodiversity Challenge หรือการเร่งหาทางออกภาคธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนและความหลากหลายทางชีวภาพ
“การเร่งหาทางออกของภาคธุรกิจหมายถึงว่า เรามองเป็นโอกาสในการต่อยอดให้บริษัทมาลงทุน เวลาพูดถึง opportunity บางบริษัทเขาจะมองว่าต้องได้รีเทิร์นเป็นเงิน แต่ความหมายของเราจะเป็นการหาทางออกที่ให้เป็นโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งการรีเทิร์นมีมูลค่าเพิ่มมากกว่าเงิน จุดเด่นตรงนี้คือแนวคิด ถ้าสามารถที่จะให้ฟอรัมแต่ละปีได้แนวคิดใหม่ๆขึ้นมาก็จะช่วยจุดประกายขึ้นได้” นางสาวธันยพรกล่าว
นางสาวธันยพร กล่าวต่อว่า ภาคเอกชนจะเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนที่สำคัญในการร่วมบรรเทาและแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งขณะนี้ถือเป็นหนึ่งในวิกฤติที่สำคัญของโลก ในการประชุมปีนี้สมาชิก GCNT ร่วมกับทุกภาคส่วน จึงเร่งเพิ่มมาตรการรับมือกับวิกฤติดังกล่าว รวมทั้งเตรียมประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม วัดผล และขยายผลได้เพื่อนำไปสู่ทางออกระดับประเทศและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเป้าหมายของประเทศไทยในเรื่องนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญและการแสดงความมุ่งมั่นของผู้นำทั่วโลกในงาน COP27 และ COP15 ที่จะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้
สำหรับสาระสำคัญหรือความท้าทายใหม่ในเวทีฟอรัมปีนี้ อันดับแรก จะมีการนำเสนอเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ(Climate Change)เพื่อให้สมาชิกได้มีความเข้าใจรับมือด้านนี้ เพราะการแก้ไขเรื่อง climate change ยังไม่สำเร็จ ในขณะที่มีความท้าทายใหม่เข้ามา ดังนั้นการที่ให้ภาคองค์กรธุรกิจมารวมตัวกัน ก็จะเป็นเวทีให้ประกาศเจตนารมย์ของความร่วมมือที่จะเป็นรูปธรรมว่า ภาคธุรกิจไทยสามารถที่จะเห็นความสำคัญของการรับมือกับสภาพภูมิอากาศ และเรื่องการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างไร
“ในปีที่ผ่านมา โกลบอลคอมแพคได้ประกาศเรื่องของความร่วมมือมุ่งหน้าสู่ Carbon Neutrality ความเป็นกลางทางคาร์บอนโดยภาคธุรกิจรวมพลังการขับเคลื่อนเพื่อให้ได้ Carbon Neutrality ในปี 2050 และ Net Zero ปี 2065 เป็นการขับเคลื่อนทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม ก่อนที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมการประชุม Cop26 ที่กลาสโกว์ ทำให้เร่งนำแผนของชาติให้สู่เป้าหมายมากขึ้น”นางสาวธันยพรกล่าว
ผลจากการขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าวในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ปรากฏว่า ปัจจุบันมีจำนวนบริษัทที่ประกาศตัวมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon Neutral)ทั้งที่เป็นสมาชิกและกลุ่มคู่ค้าธุรกิจแล้วถึง 48 บริษัท ซึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจเคมีภัณฑ์ กลุ่มผลิตอาหาร จากเดิมที่ปีก่อนมีเพียง 5 บริษัทเท่านั้น โดยเฉลี่ยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ราว 8 ล้านตันคาร์บอนต่อปี ด้วยวิธีการเปลี่ยนผ่านพลังงาน เช่น การใช้พลังงานโซลาร์ ใช้พลังงานลม หรือพลังงานหมุนเวียน(renewable energy)ได้ง่ายขึ้น
“ถัดจากนี้ไปจะเริ่มยากขึ้นแล้วเพราะที่ง่ายๆทำไปแล้วเพราะฉะนั้นการที่จะลดลงไปเรื่อยๆ ปีต่อปีมันอาจจะมีตัวเลขไม่เท่ากัน โดยเฉพาะของประเทศ ถ้าประเทศทำสิ่งที่ง่ายไปแล้วในปีแรกๆ ในปีหลังๆ จะลดให้ได้ 8 ล้านตันต่อปี 10 ล้านตันต่อปีมันยากขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องหาไอเดียใหม่ๆ” นางสาวธันยพรกล่าว
นางสาวธันยพร กล่าวอีกว่า การที่จะลดก๊าซเรือนกระจกและก้าวสู่องค์กร Carbon Neutral จะมี 2 เรื่อง ด้วยกันคือ 1.การถ่ายทอดเทคโนโลยี 2.เงินทุนในการที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยหรือทำโครงการต่างๆ ดังนั้นในเวทีโกลบอลคอมแพค จะมีสถาบันการเงินและเครือข่ายด้านตลาดทุนการลงทุน ซึ่งได้แก่สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเข้าร่วมงานประชุมครั้งนี้ด้วย เพื่อนำเสนอบทบาทที่สำคัญของทั้ง 2 องค์กร โดยเฉพาะการเร่งส่งเสริมการจัดหาเงินทุน เช่น การออกพันธบัตร ขณะเดียว GCNT ก็จะมีพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศด้านความริเริ่มทางการเงินจากสหประชาชาติ UNEP จะข้าร่วมด้วยเช่นกัน ตลอดจนจะมีการหารือร่วมกันกับผู้ประกอบการภาคธนาคาร
สำหรับประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพที่นำเข้าสู่การประชุมในปีนี้ นางสาวธันยพรกล่าวว่า ความหลากหลายทางชีวภาพมีผลกระทบต่อหลายภาคธุรกิจหลายภาคอุตสาหกรรม ทั้งด้านการท่องเที่ยว การเกษตรกรรม เพราะความหลากหลายทางชีวภาพเสื่อมโทรมลง ถ้าไม่เร่งฟื้นฟู เศรษฐกิจก็จะไม่ยั่งยืน
โลกปัจจุบันประสบกับวิกฤติอาหารแล้ว หากไม่เร่งแก้ไข ในอีก 8 ปี หรือปี 2030 ก็จะยิ่งเกิดวิกฤติอาหารจากสาเหตุความหลากหลายทางชีวภาพที่ลดลงมากขึ้น และจะส่งผลกระทบกลับมาที่ธุรกิจ ทั้งกลุ่มธุรกิจที่ทำเกี่ยวกับส่งออกอาหารรวมถึงขายภายในประเทศ กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว ที่อาจจะไม่สามารถเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อีกต่อไป
ในภาคเกษตร ประเทศไทยมีประชาชนซึ่งรวมถึงผู้ที่ทำด้านกสิกรรมอยู่ถึง 30 ล้านคน เกิน 1 ใน 3 ของประเทศ ส่วนที่เหลืออีกราว 13 ล้านคนอยู่ใน ภาคบริการ ทั้งสองภาคธรกิจนี้มีประชากรรวม 48 ล้านคนหรือเกือนค่อนประเทศแล้ว
“คนไทยส่วนใหญ่อาศัยระบบต้นทุนธรรมชาติเราดี ในน้ำมีปลาในนามีข้าว แต่วิกฤติที่เกิดขึ้นสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติที่เกิดจากภาวะโลกร้อนรวมถึงวิกฤติความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เราไม่รู้ตัว และหลายภาคธุรกิจบางองค์กรยังไม่รู้ตัวว่าทำหรือใช้ทรัพยากรเกินความจำเป็นไป” นางสาวธันยพรกล่าว
ความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ จะย้อนกลับมากระทบต่อเศรษฐกิจ 2 เรื่อง คือ 1.ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ ซึ่งผลกระทบต่อความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศคือต้นทุนทางธรรมชาติ(Natural Capital)
“ระบบนิเวศคือต้นทุนธรรมชาติ Natural Capital เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจ เช่น ทำธุรกิจเครื่องดื่มต้องอาศัยน้ำธรรมชาติ ทำธุรกิจจับปลา จับกุ้ง ส่งออกก็ใช้ต้นทุนที่อยู่ในทะเลเพราะฉะนั้นธรรมชาติ เรามองบก ทะเลเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของระบบนิเวศ วิกฤติแรกที่จะเจอผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้ มาจากระบบนิเวศน์ที่เสื่อมโทรมลง” นางสาวธันยพรกล่าว
ส่วนเรื่องที่ 2 คือ เรื่องความมั่นคงทางอาหารคนยังคิดอยู่ในเรื่องของโพรดักทิวิตี้ แต่โกลบอลคอมแพคมองมากกว่านั้นสิ่งที่มากกว่าโพรดักส์ทิวิตี้ก็คือความหลากหลายทางด้านอาหาร พืชพันธ์ สัตว์หลายชนิดมีบทบาทต่อเศรษฐกิจโดยที่คนส่วนใหญ่คาดไม่ถึง และเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เช่น ผึ้ง ต่อ แตน จากรายงานพบว่าลดลงไป 40% จากการถูกกำจัดด้วยการใช้ยาปราบศัตรูพืชยาฆ่าแมลงทั้งหลาย ในประเทศไทยเอง พืชเศรษฐกิจหลายประเภทเช่น ทุเรียน มังคุด ที่ต้องพึ่งพาสัตว์ที่หลากหลาย ในการผสมเกษร
นางสาวธันยพร กล่าวว่า มีรายงานสถานการณ์โลกจาก WWF ที่ทำการสำรวจพบว่า ปริมาณของความหลากหลายทางชีวภาพได้ลดลงอย่างมหาศาล หรือปัจจุบันลดลงไปแล้วกว่า 18% ซึ่งประกอบด้วยสัตว์น้อยใหญ่ กุ้ง หอย ปู ปลา สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลานสะเทินน้ำสะเทินบกลดลงไป 68% คือ 2 ใน 3 ของในทวีปเอเชียแปซิฟิก ส่วนที่เหลือก็อยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์แข็งแรง
ฟื้นฟูธรรมชาติด้วยวิถีธรรมชาติ nature-based solution
นางสาวธันยพรกล่าว่า ถึงแนวทางการแก้ไขว่า ภาคธุรกิจรับรู้แล้วว่า มีความเสี่ยงจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ผ่านมาได้มีการหยุดตัดไม้หยุดถางป่า ซึ่งเป็นการแก้ไขโดยตรง แต่ต้องอาศัยระบบนิเวศที่มีอยู่มาช่วยดูแลทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งทางอ้อมคือ การฟื้นฟู ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ กรณี อ่าวมาหยาที่สูญเสียทางธุรกิจต้องปิดไปหลายปีมาก เพิ่งเปิดกลับมาเมื่อตอนต้นปีนี้ หลังจากเปิด เศรษฐกิจฟื้นฟูกลับมามากมาย โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ดังนั้นการอนุรักษ์และการฟื้นฟูต้องอยู่ในแผนเศรษฐกิจหลัก เช่น การกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยว ระยะเวลาที่จะเข้าเยี่มชมได้
“การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ถ้าเราอิงธรรมชาติกับจำนวนการใช้ทรัพยากร ในลักษณะเดียวกับ Cap and Trade กลไกที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายในตลาดคาร์บอน เครดิต โดยกำหนดว่าใช้ได้เท่าไรและต้องฟื้นฟูเท่าไร ในการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและการฟื้นฟู ซึ่งโกลบอลคอมแพคจะนำเสนอแนวคิดนี้ต่อที่ประชุม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในวันนี้และความเสี่ยงในอนาคต” นางสาวธันยพรกล่าว
ในเวทีฟอรัมปีนี้จะเน้นแนวคิดเรื่องการฟื้นฟูให้กับสมาชิกด้วย โดยอาจไม่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก และต้องปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นตัวด้วยตัวเองในระยะเวลาที่เหมาะสม
ตัวอย่างเช่น การปลูกป่า ปัจจุบันการปลูกป่าใช้เกณฑ์รอบอายุ 15 ปี เพราะหลังจาก 15 ปี ต้นไม้ไม่สามารถดูดซับคาร์บอนได้มากแล้ว แต่โกลบอลคอมแพคกำลังศึกษาแนวทางที่จะปรับระยะเวลาการปลูกที่เหมาะสมและสมดุลเป็น 10 ปี ซึ่งเมื่อครบกำหนด 10 ปีก็จะสามารถปรับเปลี่ยนป่า คือ สามารถที่จะตัดเอาไม้ไปใช้ประโยชน์และปลูกใหม่ได้ ส่วนป่าที่อยู่ในวัย 10-15ปี จะมีการดูดซับกักเก็บคาร์บอนได้มาก
“การศึกษากับศูนย์ และนักวิทยาศาสตร์ปลูกป่า พบว่า มีความเป็นไปได้ที่จะมีการจัดสรรว่าป่าประเภทไหนที่เราต้องการปลูกใหม่ทุกๆ 15 ปี เกิดการใช้ประโยชน์เมื่อครบอายุ 15 ปีก็เหมือนกับการเวนคืนป่า เพื่อจะได้ป่าอายุน้อย แต่จะมีวิธีการสลับสับเปลี่ยนเป็นเปอร์เซนต์ของพื้นที่ ไม่ให้มีการทำลายถางทั้งหมด เพราะต้องการดักจับคาร์บอน เรามีรายงานด้วยว่าป่าประเภทไหน พันธ์ไหนดูดซับกักเก็บคาร์บอนได้เท่าไรต่อตันต่อไร่ ทำให้วางแผนได้ง่ายเป็นองค์ความรู้ ที่เราไม่ต้องการให้ฟื้นฟูแบบเดิมๆ การทำแบบเดิมๆแล้วทำไม่ถูกทำให้เกิดความเสียหาย เช่น การใช้วิถี CSR กันมาหลายสิบปีก็ไปปลูกป่าชายเลนตามที่เดิม ใช้พืชเชิงเดี่ยวป่าโกงกาง ทำให้ป่าทึบ นกไม่สามารถบินมาหากินที่ป่าชายเลนได้ ปลาตีน หรือว่า หอย ก็รากไม้ เพราะฉะนั้นความไม่รู้ในการปลูกเชิงปริมาณก็ไม่ทำให้การฟื้นฟูเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม” นางสาวธันยพรกล่าว
การฟื้นฟูธรรมชาติก็ต้องทำด้วยวิถีธรรมชาติหรือ nature-based solution
โดยมีเป้าหมายหลักของการฟื้นฟู คือการปกป้องคุ้มครอง ซึ่งการปกป้องอาจจะไม่ต้องไปลงทุนฟื้นฟูทางวิทยาศาสตร์ ปกป้องแค่ไม่ไปตัดป่าเรียกว่าไม่ทำลาย แต่การคุ้มครองพื้นที่มีทั้งป่าชุมชน ป่าเสื่อมโทรม ป่าอนุรักษ์ประเทศไทยมีประมาณ 3 ป่า ไม่รวมป่าเศรษฐกิจ ที่ได้รับการคุ้มครองอยู่แล้วเดิม ถ้ามันเสื่อมก็ต้องฟื้นฟู ส่วนที่ไม่เสื่อมโทรมก็ต้องคุ้มครอง
นางสาวธันยพรกล่าวว่า โกลบอลคอมแพคมองว่า ไทยต้องแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการอนุรักษ์และบริหารความหลากหลายทางชีวภาพ ที่มุ่งไปกับเป้าเดียวของโลก ที่เรียกว่า เป้า 30×30 คือ ความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมาย 30×30 คือ การฟื้นฟูบกและทะเลให้ได้อย่างน้อย 30% ภายในปี 2030
โลกจะมีการประชุมใหญ่ที่เรียกว่า High Ambition Coalition(HAC)for Nature and People กลุ่มนี้จะเป็นพันธมิตรกับประเทศต่างๆ และมีการร่วมลงนามเพื่อให้เกิดการอนุรักษ์แล้วเมื่อต้นเดือนตุลาคม ซึ่งรัฐบาลไทยได้ออกมาประกาศจุดยืนเดียวกัน ว่าจะเข้าร่วมกับประชาคมโลกในการให้คำมั่นสัญญาที่จะบรรลุเป้าหมายโลก ด้วยหลังจากที่กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้มีการประชุมคณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ และได้มีการหารือครั้งแรก
เป้าหมายหลักจากของไทยมี 3 เรื่อง คือ แนวทางแรก การปกป้องคุ้มครองพื้นที่ทางบกและทะเลให้ได้อย่างน้อย 30% ของพื้นที่ของโลก ภายในปี 2030 ตอนนี้พื้นที่ทางบกไทยคุ้มครองได้ 20% เพราะฉะนั้นยังขาดอีก 10% ส่วนทะเลไทยยังอยู่แค่ 5-7% ยังขาดอยู่อีกมากถึงจะไปที่ 30%ได้
แนวทางที่สอง คือ เป้าหมายในการส่งเสริมการแก้ปัญหาโดยใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน Nature-based Solutions จะเป็นคำที่จะบอกว่า การแก้ไขธรรมชาติ ไม่ใช้ด้านวิศวกรรมอย่างเดียว หรือถ้าเกิดต้องการแก้ปัญหาน้ำท่วม การกัดเซาะของชายฝั่งไม่ใช่การสร้างเขื่อน การสร้างฝายอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นการทำให้ธรรมชาติมาดูแลซึ่งกันและกัน เช่น การไประดมปลูกป่าให้เหมาะสมให้มีคุณภาพป่าชายเลนให้ช่วยป้องกันการกัดเซาะของชายฝั่งและการน้ำที่จะท่วมเข้ามาที่ชายฝั่ง เป็นต้น
เป้าหมายหลักเรื่องสาม จะมีกรอบการทำงานตามแผนโรดแมปความหลากหลายทางชีวภาพของโลก ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีการจัดทำแผนนี้ คาดว่ากระทรวงทรัพย์ฯจะทำแผนโรดแมปได้ภายในกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งการจัดประชุมใหญ่ในวันทื่ 2 พฤศจิกายนี้ จะเป็นแจ้งว่าไทยมีความคิดที่จะมุ่งสู่คุณค่าทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้นแล้ว และเป็นทิศทางที่ต้องไป
“ประเทศไทยเรากำลังร่างแผนยุทธศาสตร์ความหลากหลายทางชีวภาพนั้นอยู่เพราะฉะนั้นเอกชนไทยก็เป็นผู้เริ่มทิศทางนี้ อันที่สองเอกชนไทยเริ่มมีความคิดที่จะมุ่งสู่เห็นคุณค่าของทรัพยากรในพื้นที่ แล้วเราก็เห็นด้วยว่าจะมีทิศทางของข้อเสนอเป้าหมาย30×30 ด้านยุทธศาสตร์ของประเทศ ซึ่งด้านยุทธศาสตร์ของประเทศจะเป็นอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของสหประชาชาติ เราก็เป็นพันธมิตรกันกับการจัดงานนี้กับสหประชาชาติในไทยเพื่อที่จะนำเป้าหมายมาสู่ภาคธุรกิจไทยให้ได้” นางสาวธันยพรกล่าว
แนวทางสำคัญในการจัดงานนี้ นอกจากเรื่องการจัดเก็บคาร์บอนก็ยังมีประเด็นอื่นๆอีก เช่น การป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดในอนาคต หรือการส่งเสริมเติบโตทางเศรษฐกิจ เพิ่มพูนผลผลิตทางด้านเกษตร ทางการประมง เพราะประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ ยกระดับความหลากหลายทางชีวภาพและสามารถทำให้การท่องเที่ยวของประเทศไทยเกิดขึ้นได้
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่อยู่ในแผนงานด้วย คือ การวัดมูลค่าทางเศรษฐกิจ ของความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทาง จากเดิมที่วัดจากผลที่เกิดขึ้นกับสังคม หรือ Social Return of Investment เพราะนอกจากสร้างคุณค่าทางสังคม คุณค่าทางสิ่งแวดล้อม แล้วยังสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นด้วย
การประชุมผู้นำอย่างไรความยั่งยืนประจำปี GCNT Forum 2022 มีขึ้นในวันที่ 2 พ.ย.ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติตามรูปแบบการประชุมอย่างยั่งยืน (Sustainable Event) โดยสอดคล้องกับแนวทางของสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. (Thailand Convention & Exhibition Bureau หรือ TCEB) โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิดงาน และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม กล่าวปาฐกถาพิเศษด้วย และมีผู้เข้าร่วมอื่นๆด้วย ได้แก่ นายศุภชัย เจียรวนนท์ นายกสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทยและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ นางกีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และผู้นำจากองค์กรธุรกิจชั้นนำ