ThaiPublica > Sustainability > Headline > Climate Action: สมาชิก GCNT ภาคพลังงานแชร์ทางออกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Climate Action: สมาชิก GCNT ภาคพลังงานแชร์ทางออกจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

15 ตุลาคม 2021


    วันที่ 11 ตุลาคม 2564 สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศ (GCNT — Global Compact Network Thailand) ร่วมกับสหประชาชาติในประเทศไทย ได้จัดงานประชุมสุดยอดผู้นำความยั่งยืนประจำปี GCNT Forum: Thailand’s Climate Leadership Summit 2021 ภายใต้แนวคิด A New Era of Accelerated Actions ระดมพลังสมาชิก ภาคธุรกิจ ภาครัฐ และสหประชาชาติ ยกระดับความมุ่งมั่น กำหนดทางออก และค้นหาโอกาสในการรับมือกับวิกฤติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรสมาชิก GCNT 74 องค์กรในประเทศไทยจากภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม เข้าร่วมงานทางแพลตฟอร์มออนไลน์

  • Climate Action (1) : “พลิกโฉมประเทศ” มุ่งสู่ความเป็น กลางทางคาร์บอน ปี 2065
  • GCNT Forum (จบ) เปิดแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก 25% สู่สังคมคาร์บอนต่ำ
  • ภายในงานมีการเสวนาในหัวข้อ “Solutions to Address Climate Change by Relevant Business Sectors” ของภาคพลังงาน มีผู้เข้าร่วมเสวนาได้แก่ นายวรพงษ์ นาคฉัตรีย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), นายบัณฑิต สะเพียรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน), ศาตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล กรรมการบริหาร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และนางสาวภราไดย สืบมา กรรมการบริหาร บริษัท อิมแพค อิเลคตรอนส์ สยาม จำกัด โดยมีนายบุญรอด เยาวพฤกษ์ กรรมการ บริษัท เดอะ ครีเอจี้ จำกัด เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

    การเสวนาชี้ให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาไม่ได้หมายถึงการต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบพลังงาน หรือการใช้เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีปัจจัยอื่นๆ มาเกี่ยวข้องด้วย รวมไปถึงความร่วมมือจากทุกคน

    ก่อนเข้าสู่การเสวนา นายบุญรอดให้ภาพรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกว่า มีประมาณ 50,000 ล้านตันต่อปี โดยที่ 70% หรือประมาณ 35,000 ล้านตันมาจากภาคพลังงาน สำหรับประเทศมีการล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 350 ล้านตันต่อปีและสัดส่วน 70% หรือ 250 ล้านตันก็มาจากภาคพลังงานเช่นกัน ซึ่งมาจากการผลิตไฟฟ้าและความร้อน 100 ล้านตัน คมนาคมขนส่ง 66 ล้านตัน และการใช้พลังงานในอุตสาหกรรมต่างๆ อีก 48 ล้านตัน

    ปตท. มุ่งพลังงานแห่งอนาคต

    นายวรพงษ์ นาคฉัตรีย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
    นายวรพงษ์ นาคฉัตรีย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารความยั่งยืน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแผนของบริษัทในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาก๊าซเรือนกระจกว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนที่มีผลกระทบทั่วโลก และเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ ทิศทางและแนวโน้มของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ปตท. เองได้มีการระดมสมองทั่วองค์กรทั้งจากระดับบนลงล่างและระดับล่างขึ้นบน ผู้บริหารและพนักงานได้ร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ของ ปตท. ขึ้นคือ “Powering Life with Future Energy and Beyond” ขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต

    “Powering Life จะเป็นจุดมุ่งหมายหลักขององค์กร ส่วน Future Energy เป็นทิศทางในการเติบโตของ ปตท.” รวมทั้งเป็นการสร้างพลังในการขับเคลื่อนทุกชีวิต การพัฒนาคุณภาพชีวิต ของทั้งผู้คนสังคมและสิ่งแวดล้อม ให้สังคมสิ่งแวดล้อม คน เจริญเติบโตไปพร้อมกัน

    สำหรับ Future Energy นายวรพงษ์กล่าวว่า ในภาคพลังงาน ปตท. ปัจจุบันมีการดำเนินธุรกิจตามปกติอยู่แล้ว แต่กำลังจะมุ่งสรรสร้างพลังงานแห่งอนาคต ทั้งพลังงานหมุนเวียน การกักเก็บพลังงาน (energy storage) รวมไปถึงห่วงโซ่ยานยนต์ไฟฟ้าและไฮโดรเจน ซึ่งจะมุ่งเน้นพลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

    Beyond ปตท. มีวิสัยทัศน์นำธุรกิจไปให้ไกลกว่าธุรกิจพลังงานที่ดำเนินการอยู่ เพื่อสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน โดยครอบคลุมทั้งเรื่องไลฟ์สไตล์ การสัญจร (mobility) โลจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐาน AI

    นายวรพงษ์กล่าวว่า จากวิสัยทัศน์ใหม่ ปตท. ได้กำหนดทิศทางกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนด้วย โดยบูรณาการความยั่งยืนให้เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ มีการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แนวคิดเรื่อง ESG (Environment, Social, และ Governance) รวมไปถึงตัวชี้วัดด้านความยั่งยืนของ DJSI (Dow Jones Sustainability Index) และเป้าหมายการพัฒนายั่งยืน SDGs เป็นพื้นฐานและกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน โดยแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ

    1) สิ่งแวดล้อม ที่นอกจากการปลูกป่าแล้วยังดูแลความหลากหลายทางชีวภาพ วิสัยทัศน์ของ ปตท. คือการมุ่งสู่การเป็นธุรกิจคาร์บอนต่ำและการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า
    2) สังคม ปตท. เน้นการสร้างโอกาส พัฒนาอาชีพให้ชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
    3) ด้านบรรษัทภิบาล นอกจากเน้นการดำเนินการที่เป็นเลิศและให้ผลตอบแทนอย่างเป็นธรรมแล้ว ยังเน้นความโปร่งใส

    แนวทางการแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของ ปตท. ได้กำหนดแนวทางการจัดการก๊าซเรือนกระจกที่ ปตท. มีส่วนในการปล่อยไว้ 3 แนวทาง คือ

    แนวทางแรก การควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ปตท. ในกระบวนการทางธุรกิจ (in process) ปตท. ได้ควบคุมการผลิตให้มีประสิทธภาพมากขึ้น รวมทั้งนำก๊าซที่เผาทิ้งออกกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น รวมทั้งลดการรั่วไหลของมีเทนให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้รวมทั้งนำกลไกคาร์บอนเครดิตมาใช้ประกอบการตัดสินใจการลงทุนของ ปตท.

    แนวทางที่สองการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่นอกเหนือจากการดำเนินธุรกิจ (after process) สิ่งที่ดำเนินการอยู่แล้วคือการปลูกป่า 1 ล้านไร่ การจัดทำโครงการร่วมกับชุมชน เช่น โครงการก๊าซชีวภาพจากฟาร์มหมู การช่วยเหลือชุมชนด้วยการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ให้ใช้ไฟฟ้าได้ในพื้นที่ห่างไกล

    แนวทางที่สาม Decarbonization เป็นการลงทุนในโครงการต่างๆ เพื่อช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งจากกระบวนการผลิตของ ปตท. และที่อยู่ในอากาศ ให้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ที่สามารถควบคุมได้ ซึ่งได้แก่ Carbon Capture Storage and utilization (CCS&CCU) ที่ได้เริ่มศึกษาและนำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจแล้ว รวมไปถึงการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น แทนการใช้พลังงานจากฟอสซิลอย่างเดียว และการลงทุนใน EV (พาหนะพลังงานไฟฟ้า)

    ในระยะยาว ปตท. ได้กำหนดเป้าหมายปี 2030 ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ใหม่ โดยตั้งเป้ารายได้จาก Future Energy and Beyond มากกว่า 30% ตั้งเป้าการทำธุรกิจ LNG ให้ได้ 9 ล้านตันต่อปี ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 12,000 เมกะวัตต์ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 15% เทียบกับปี 2020 ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 39 ล้านตัน

    นอกจากนี้ ปตท. ร่วมทุนกับฟ็อกซ์คอนน์ เตรียมจัดตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรเพื่อผลักดันไทยสู่ศูนย์กลางอาเซียน และยังได้ร่วมบริษัทในกลุ่มติดตั้งและเปิดให้บริการใช้งาน EV station สถานีอัดประจุสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ตามจุดเดินทาง รวมถึงในอาคาร ห้างสรรพสินค้า ซึ่งคาดว่าน่าจะติดตั้งไป 100 จุด และได้พัฒนาหัวชาร์จแบบใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีทำให้ชาร์จได้เร็ว และยังพัฒนา EV charger ขึ้นเองด้วย

    ปตท. ยังร่วมกับโออาร์เปิดตัว Swap & Go สถานีสลับแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า แบบไม่ต้องรอชาร์จ รองรับการขยายตัวของผู้ใช้งานมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

    “การใช้พลังงานหมุนเวียนและลดการใช้พลังงานฟอสซิล น่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มาก”

    บีซีพีจีเดินหน้าสู่ Zero Carbon ใน 10 ปี

    นายบัณฑิต สะเพียรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน)
    นายบัณฑิต สะเพียรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า บีซีพีจีอยู่ในกลุ่มบางจากมีภาระกิจหลักคือพัฒนาพลังงานสะอาดเท่านั้น ทั้งโซลาร์ พลังงงานลม พลังงานความร้อนใต้พื้นพิภพ (geothermal energy) โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไม่มีโรงไฟฟ้าที่ใช้ฟอสซิลเลย และเอกลักษณ์การเป็นธุรกิจสีเขียวได้ส่งต่อมายังพนักงานทุกคน นอกจากการทำธุรกิจที่คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้วยังดูแลโลกด้วย

    ในทุกที่ที่บริษัทเข้าไปพัฒนาโรงไฟฟ้า ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ไม่ได้เน้นเฉพาะการพัฒนาโรงไฟฟ้าและขายไฟฟ้าด้านเดียว แต่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคมรอบโรงไฟฟ้าด้วย

    “รูปแบบที่เราทำในประเทศ ได้แก่ โครงการโซลาร์สหกรณ์ที่มีเกษตรกรเป็นสมาชิกมาร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทฯ โดยให้สหกรณ์มาลงทุนโรงไฟฟ้าร่วมกัน และแบ่งรายได้กลับคืนไป และแนวคิดของเราก็ต้องการให้ผู้คนไม่ใช่เป็นเพียงผู้ใช้ไฟ แต่เป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าด้วย เป็นเจ้าของพลังงานที่ถูกลงและสะอาดด้วย”

    สำหรับรูปแบบในญี่ปุ่น โรงไฟฟ้าที่บริษัทฯ พัฒนาได้ให้เกษตรกรทำการเกษตรภายใต้แผงโซลาร์ฟาร์มของบริษัทฯ เป็นการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างเกษตรกรรมและการพัฒนาโรงไฟฟ้า

    ในประเทศกลุ่มบางจากโดยมีบีซีพีจีเป็นแกนนำได้จัดตั้ง Carbon Market Club ขึ้น นับเป็นแพลตฟอร์มแรกของไทยที่ได้รวบรวมองค์กรที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ทั้งธนาคารขนาดใหญ่ องค์กรธุรกิจชั้นนำ เพื่อให้แลกเปลี่ยนซื้อขายคาร์บอนในประเทศได้

    “เป็นความริเริ่มของเราที่ทำให้เกิดความเข้าใจและรู้ว่าคาร์บอนเครดิตของไทยควรเดินในทิศทางไหน เป็นจุดเริ่มต้น”

    บีซีพีจีเป็นบริษัทที่จัดว่าเป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน เนื่องจากโรงไฟฟ้าทั้งหมดมีคาร์บอนเครดิต แม้มีคาร์บอนฟุตพรินต์จากการทำงานตามปกติ เช่น พนักงานบางส่วนที่ยังใช้รถยนต์ที่มีเครื่องยนต์แบบเดิม มีการทิ้งขยะที่ปล่อยก๊าซ จึงมีนโยบายที่จะทำให้พนักงานทุกคนลดคาร์บอนจากการทำงานตามปกติและการใช้ชีวิตประจำวันก่อน เพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ส่วนที่เหลือจะไปหักออกจากคาร์บอนเครดิตที่มี

    ปัจจุบันบีซีพีจีมีคาร์บอนเครดิตประมาณ 700,000 ตัน มี Renewable Energy Certificate (REC) หรือใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน 300,000 หน่วย ซึ่งมากพอที่จะแบ่งปันหรือนำเข้าสู่แพลตฟอร์ม Carbon Credit Market Club ได้

    นอกจากนี้ บีซีพีจีกำลังอยู่ระหว่างการให้มีการตรวจสอบและรับรองคาร์บอนหรือ carbon assurance ซึ่งในอีกไม่กี่เดือนบีซีพีจีก็จะสามารถประกาศได้ว่าเป็นบริษัทที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน และจะทำการตรวจสอบและรับรองคาร์บอนในทุกประเทศที่เข้าไปทำธุรกิจ

    “การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์หรือ net zero บริษัทก็ตั้งใจที่จะบรรลุเป้าหมายภายใน 10 ปี”

    นายบัณฑิตกล่าวว่า ความท้าทายของการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีหรือหลักเกณฑ์ของภาครัฐ แต่อยู่ที่แนวคิด โดยเห็นได้จากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทำให้ค่าใช้จ่ายพลังงานโซลาร์ลดลงเมื่อเทียบกับ 5 ปีก่อน และส่งผลให้ประชาชนตระหนักถึงความคุ้มค่าของการใช้พลังงานโซลาร์มากขึ้น

    กฟผ. ขับเคลื่อนกลไก TIME

    ศาตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล กรรมการบริหาร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

    ศาตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล กรรมการบริหาร การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กฟผ. มีแนวทางการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยแนวคิด EGAT Air TIME ซึ่ง Air หมายถึงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งอากาศโดยทั่วไป ส่วน TIME แบ่งออกได้ 4 ด้านด้วยกัน คือ

    T — Tree ได้แก่ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่ออากาศบริสุทธิ์ผ่าน EGAT Green Forest Project
    I — Innovation หมายถึง พัฒนานวัตกรรม เพื่อดูแล ลดปัญหา และจัดการคุณภาพอากาศ การก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนตองใช้นวัตกรรม
    M — Monitoring การตรวจวัดและแสดงผลคุณภาพอากาศ สร้างความตระหนักและนำไปสู่การปรับพฤติกรรม
    E — Education สื่อสารองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องและสร้างการมีส่วนร่วม ที่ผ่านมา กฟผ. มีความร่วมมือกับหลายภาคส่วนและมีศูนย์เรียนรู้เรื่องพลังงานและความยั่งยืนกระจายในหลายจังหวัดทั่วประเทศ โดยการขยายความรู้นั้นได้ทำควบคู่ไปกับการสร้างการมีส่วนร่วม เพราะการมีส่วนร่วมจะเป็นการเชื่อมโยงตัวอื่นให้เกิดผลได้

    การดำเนินการทั้งหมดเพื่อตอบโจทย์ EGAT for All ร่วมด้วยช่วยกันทุกคน โดย TIME จะเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

    “ในเร็วๆ นี้เรา จะมี TIME LAB เกิดขึ้น เป็นการบูรณาการภาคีเครือข่ายที่ทำงานใน 3 ด้าน คือ 1) Data Management เพราะข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ 2) Knowledge Management เพื่อจัดการข้อมูลที่สามารถนำสเนอออกเป็นนโยบายสาธารณะได้ 3) Research Development and Innovation

    ศ. ดร.พิสุทธิ์กล่าวว่า บทบาทของ กฟผ. ต้องมี 3 มิติด้วยกัน
    ด้านแรก คือ มิติความมั่นคงพลังงาน ซึ่งมีความท้าทาย เพราะรูปแบบของพลังงานหมุนเวียน
    มิติที่สอง คือ การเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศในปี 2065 ซึ่งเชื่อมโยงกับพลังงานหมุนเวียนตามนโยบายกระทรวงพลังงาน ที่เกี่ยวข้องกับ การลงทุน การวิจัยและพัฒนา เช่น เทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน และ
    มิติที่สาม คือ โอกาสและความท้าทาย การผลิตไฟฟ้าเพื่อทุกภาคส่วน ForAll กฟผ. ในฐานะรัฐวิสาหกิจต้องสร้างสมดุลระหว่างสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศกับคนทั้งประเทศ ให้ได้ใช้พลังงานในรูปแบบใหม่ได้ในราคาที่เหมาะสมและเข้าถึง

    “การเดินหน้าเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2065 ค่อนข้างท้าทาย แต่การบริโภคพลังงานที่ยั่งยืนก็จะช่วยเสริมการผลิตที่ยั่งยืนได้”

    แก้ไขโลกร้อนด้วยแผนทำทันที

    นางสาวภราไดย สืบมา กรรมการบริหาร บริษัท อิมแพค อิเลคตรอนส์ สยาม จำกัด
    นางสาวภราไดย สืบมา กรรมการบริหาร บริษัท อิมแพค อิเลคตรอนส์ สยาม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่ได้บุกเบิกพลังงานสะอาดมาร่วมสิบปี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทว่า บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดโลกร้อนและพลังงานสะอาดที่ยั่งยืนตั้งแต่ปี 2011 เริ่มจากโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 84 เมกะวัตต์ซึ่งถือว่าเป็นโครงการโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่แห่งแรกของประเทศ จากนั้นได้พัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังงานลมกำลังการผลิต 120 เมกะวัตต์ในประเทศ

    ต่อมาได้มีโอกาสพัฒนาโครงการโซลาร์ที่ญี่ปุ่น Mega Solar ที่ฮิโรชิมา ญี่ปุ่น นับว่าเป็นนักลงทุนและผู้พัฒนารายแรกที่พัฒนาโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นได้สำเร็จ

    ปัจจุบันมีโครงการพัฒนาพลังงานลมที่ สปป.ลาว ขนาด 600 เมกะวัตต์ ขณะนี้เตรียมที่จะจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังเวียดนาม โครงการนี้เป็นโครงการพลังงานลมแห่งแรกของ สปป.ลาว และเป็นโครงการพลังงานลมที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

    นอกจากนี้ยังมีโครงการที่บริษัทเป็นผู้ริเริ่มรายแรก คือ สัญญาซื้อขายไฟฟ้าเอกชน Corporate PTA ในไทย ปัจจุบันมีลูกค้า 100 ราย มีกำลังการผลิตมากกว่า 130 เมกะวัตต์

    กลุ่มบริษัทลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มาก 40 ล้านตันผ่านโครงการที่พัฒนา คิดเป็น 20% ของปริมาณการปล่อยก๊าซของประเทศ 350 ล้านตัน

    “เราคิดว่าจุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการกำหนดอนาคตของพลังงานไทยและอาเซียนเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงพลังงานสะอาดได้ในราคาที่ไม่สูงมากเกินไป”

    บริษัทฯ เป็นผู้ริเริ่มการพัฒนาพลังงานสะอาด ดังนั้นหลายโครงการเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการประกาศใช้หลกเกณฑ์หรือแนวทางจากภาครัฐ อย่างไรก็ตามการแข่งขันที่ยุติธรรมและเปิดกว้าง คือ ปัจจัยหลัก ที่จะมีประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้บริโภค

    การเปิดให้ใช้สายส่งของบุคคลที่สาม หรือ ข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติ และสถานีแอลเอ็นจีแก่บุคคลที่สาม (Third Party Access Code หรือ TPA Code) เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคทุกคนและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพลังงานสะอาดไปอีกระดับ

    นโยบายนี้จะทำให้ไทยก้าวไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ส่งเสริมประสิทธิภาพและความมั่นคงของระบบไฟฟ้า รัฐต้องผลักดันนโยบายนี้เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดโลกร้อนและการใช้พลังงานสะอาดที่ยั่งยืน เพราะเป็นการทำให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม

    “การที่เราจะไปให้ถึงเป้าหมายได้ เราไม่ต้องมองว่า ต้องมีแผนระยะสั้น ระยะยาว ในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่เราควรมีแผนที่ต้องทำทันที และคำนึงถึง 3 หลักการที่สำคัญ คือ การเข้าถึง ราคาที่เหมาะสม และความยั่งยืน เราต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อใหบรรลุเป้าหมายด้าน climate change”

    นางสาวภราไดยขยายความว่า การเข้าถึง หมายถึงการเข้าถึงพลังงานสะอาด ที่ไม่เฉพาะการเป็นผู้บริโภคในภาคครัวเรือน แต่เป็นผู้ผลิตในภาคครัวเรือนได้ด้วย, ราคาที่เหมาะสม หมายถึง ราคาที่ถูกลง พลังงานหมุนเวียนปัจจุบันมีราคาถูกลงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่วนความยั่งยืน รัฐควรสร้างเครือข่ายเพื่อการเติบโตของพลังงานทดแทน ซึ่งจะมาเร็วกว่าที่คิด

    “การแก้ไขปัญหาโลกร้อน ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไข การแก้ไขนั้นจะต้องไม่มีคำว่าเดี๋ยว แต่มีคำว่าเดี๋ยวนี้”