ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ตามหน้าสื่อต่างๆที่สนใจนำเสนอเรื่องราวในดินแดนสุวรรณภูมิ มักปรากฏข่าวหนึ่งออกมาเป็นประจำแทบทุกปี นั่นคือข่าวที่ว่า “หิมะตกแล้วในเมียนมา”
เป็นเวลานานนับศตวรรษแล้ว ที่หลายพื้นที่ในภาคเหนือของเมียนมามีหลายจุดที่ถูกปกคลุมด้วยหิมะ บางจุดมีตลอดทั้งปี โดยเฉพาะตามเทือกเขาสูงชันในรัฐคะฉิ่น ที่ถูกใช้เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างเมียนมา-จีน กับเมียนมา-อินเดีย แต่จุดที่คนไทยคุ้นหู มักเป็นยอดเขา “คากาโบราซี” และเมือง “ปูตาโอ”

ยอดเขา“คากาโบราซี”อยู่บริเวณเหนือสุดของรัฐคะฉิ่น ขึ้นกับจังหวัด“ปูตาโอ” ได้ชื่อว่าเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 5,881 เมตร หรือ 19,295 ฟุต เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยทางด้านตะวันออก ฝั่งตรงข้ามทางทิศเหนือและทิศตะวันตกของยอดเขาเป็นเขตปกครองตนเองทิเบต ของจีน และรัฐอรุณาจัลประเทศ ของอินเดีย
จังหวัด “ปูตาโอ” ประกอบด้วย 6 อำเภอ จากการทำสำมะโนประชากรของรัฐบาลเมียนมาครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 ประชากรรวมในจังหวัดปูตาโอมี 91,257 คน
เมือง “ปูตาโอ” เป็นอำเภอหลักของจังหวัดปูตาโอ อยู่ลงมาทางทิศใต้ของยอดเขาคากาโบราซี(ดูแผนที่ประกอบ)

แม้เป็นชื่อหนึ่งที่คนมักนึกถึงเวลาพูดถึงหิมะในเมียนมา แต่ในตัวอำเภอปูตาโอเองไม่มีหิมะ ความโดดเด่นของเมืองปูตาโออยู่ตรงตำแหน่งที่ตั้ง ซึ่งเป็นจุดที่สามารถมองเห็นหิมะบนยอดเขาคากาโบราซีได้ชัดเจนและสวยงามที่สุด
ปูตาโอเป็นเมืองของชาว “ไตคำตี่” ชนชาติพันธุ์ไตกลุ่มหนึ่งที่เคยตั้งถิ่นฐานอยู่กับคนไตกลุ่มอื่นๆในเมืองมาวโหลง ซึ่งทุกวันนี้ เป็นเขตปกครองตนเองชนชาติไตและจิ่งพัว เต๋อหง มณฑลยูนนาน ของจีน
ต่อมาชาวไตคำตี่ได้เคลื่อนย้ายมาตั้งเป็นชุมชนกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ทางตอนกลางถึงตอนเหนือของรัฐคะฉิ่น บางส่วนของรัฐฉาน และภาคสะกายของเมียนมาในปัจจุบัน
ราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 ชาวไตคำตี่บางส่วนได้โยกย้ายไปหาแหล่งทำกินใหม่ โดยเดินทางข้ามเทือกเขาปาดไก่ เพื่อไปตั้งรกรากอยู่ร่วมกับกลุ่มคนไตอาหมที่อพยพไปก่อนหน้าในแถบลุ่มแม่น้ำพรหมบุตร ซึ่งปัจจุบันเป็นรัฐอัสสัมของอินเดีย และอีกส่วนหนึ่งได้ไปตั้งเป็นชุมชนอยู่ตามหุบเขาในลุ่มแม่น้ำโลหิต ที่อยู่เหนือขึ้นไป ซึ่งเป็นรัฐอรุณาจัลประเทศของอินเดียในปัจจุบัน
ชาวไตคำตี่นับถือศาสนาพุทธ หาเลี้ยงชีพด้วยการทำเกษตรกรรม และทำนา ไตคำตี่มีความสามารถพิเศษในการเลี้ยงช้าง จุดเด่นของชาวไตคำตี่สมัยก่อนคือการขี่ช้างไถนา และใช้ช้างกรุยทางเพื่อบุกเบิกพื้นที่ทำกินใหม่ๆในช่วงเริ่มสร้างชุมชน
สมัยที่ดินแดนแถบนี้ยังมีการให้สัมปทานทำป่าไม้แก่ชาวอังกฤษ ชาวไตคำตี่ได้เข้าไปมีบทบาทในอุตสาหกรรมป่าไม้ โดยเป็นผู้ฝึกฝนและควบคุมช้างในการทำหน้าที่ชักลากไม้
เมืองปูตาโอ มีชื่อเดิมว่าเมือง “คำตี่โหลง” หรือ “คำตี่หลวง” เพราะเคยเป็นเมืองที่พำนักของเจ้าฟ้าไตคำตี่ นอกจากนี้ยังมีชื่อภาษาบาลีว่าเมือง “เวสาลี” ตามคติการตั้งชื่อเมืองในสุวรรณภูมิ ล้อตามชื่อเมืองหรือดินแดนแว่นแคว้นในชมพูทวีป สมัยพุทธกาล

ชื่อ “ปูตาโอ” มาจากเสียงคำเรียกขานของชาวไตคำตี่สมัยก่อน ที่เรียกเมืองนี้ว่าเมือง “ปู่เฒ่า” ความหมายของชื่อนี้ตรงตามตัวอักษร
เดือนมกราคม 2563 สำนักข่าว Tai TV Online เคยรายงานไว้ว่า เดิมในเมืองปูตาโอเคยมีชาวไตคำตี่อาศัยอยู่มากกว่า 1 แสนคน มีหมู่บ้านของชาวไตคำตี่มากถึง 88 หมู่บ้าน
แต่สถานการณ์ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์และความยากลำบากในการทำมาหากินในเมียนมา กดดันชาวไตคำตี่จำนวนมากให้ต้องอพยพโยกย้ายออกไปอยู่เมืองอื่น ส่วนหนึ่งอพยพข้ามมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยแถบจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ตามข้อมูลของ Tai TV Online ณ เดือนมกราคม 2563 ในเมืองปูตาโอมีประชากรที่เป็นชาวไตคำตี่เหลืออยู่เพียง 4,000 กว่าคน มีหมู่บ้านชาวไตคำตี่เหลืออยู่เพียง 18 หมู่บ้าน
เมืองปูตาโอมีแม่น้ำ “มัลลิคะ” ไหลผ่าน แม่น้ำสายนี้มีจุดกำเนิดจากเทือกเขาหิมาลัย ไหลงมาทางทิศใต้ สู่เมืองปูตาโอ จากนั้นแม่น้ำมัลลิคะไหลต่อลงไปรวมกับแม่น้ำอีกสายหนึ่งที่ชื่อ “เมคะ” ในพื้นที่ซึ่งเรียกว่า “มิตโส่ง” อยู่เหนือขึ้นมาจากมิตจีน่า เมืองหลวงของรัฐคะฉิ่นประมาณ 28 ไมล์ จุดที่แม่น้ำทั้ง 2 สายไหลมารวมกัน เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำอิรวดี และเป็นจุดที่มีบริษัทจากจีนวางแผนจะสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ คือเขื่อน “มิตโส่ง” เพื่อส่งไฟฟ้าป้อนเข้าไปใช้ในจีน

ริมแม่น้ำมัลลิคะในเมืองปูตาโอ เป็นที่ตั้งของเจดีย์เก่าแก่องค์หนึ่ง ชาวไตคำตี่เรียกว่ากองมูโหลงหรือเจดีย์หลวง “พระเจ้าตึงคำ” จากข่าวของ Tai TV Online เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2563 อ้างข้อมูลที่ชาวไตคำตี่ในเมืองปูตาโอเคยบันทึกไว้ ระบุว่ากองมูโหลงพระเจ้าตึงคำมีอายุมากกว่า 2 พันปีแล้ว
ก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จะมีพิธีทำบุญกองมูโหลงพระเจ้าตึงคำ และระหว่างวันที่ 5-8 กุมภาพันธ์ 2563 ชาวไตคำตี่ในเมืองปูตาโอ ได้จัดงานใหญ่ขึ้นเป็นพิเศษ เพราะเป็นปีเฉลิมฉลองกองมูโหลงพระเจ้าตึงคำ ซึ่งมีอายุครบ 2,320 ปี
ภายในงาน นอกจากพิธีกรรมทางศาสนา ยังมีการนิมนต์พระเถระผู้ใหญ่ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของของชาวไตทุกกลุ่มที่อยู่ในเมียนมา เช่น พระเกตุมมาลา จากวัดเวียงเสือ(ภาษาพม่าอ่านว่าวุนโต่) ภาคสะกาย เจ้าสุขะมินต๊ะ หรือเจ้าสุคำ เจ้าอาวาสวัดดอยตึงคำ เมืองหมู่เจ้ รัฐฉานเหนือ พระปัญญานันทะ จากเมืองดอยแหลม รัฐฉานใต้ ฯลฯ มาแสดงธรรมเทศนา

มีการจัดนิทรรศการแสดงประวัติ ข้าวของเครื่องใช้ในอดีตของชาวไตคำตี่ มีการแสดงทางวัฒนธรรม เช่น การทอจีวรถวายพระแบบจุลกฐิน การก่อเจดีย์ทราย มีการเชิญตัวแทนชาวไตคำตี่จากรัฐอรุณาจัลประเทศ รัฐอัสสัม ของอินเดีย และจากรัฐฉาน มาโชว์การฟ้อนไตคำตี่ดั้งเดิม มีการไหลเรือไฟ รวมถึงสันทนาการ เช่น การแข่งขันขี่ช้าง ขี่ม้า พายเรือ ปืนเสาน้ำมัน
จุดเด่นของงาน คือการแสดงขี่ช้างไถนา อันเป็นเอกลักษณ์ของชาวไตคำตี่
……

“ปูตาโอ” ไม่ได้มีความโดดเด่นในเชิงประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม เท่านั้น แต่ในด้านเศรษฐกิจ พื้นที่แห่งนี้ ล้วนอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติหลากหลายชนิดที่มีมูลค่า หายาก และมีตลาดขนาดใหญ่ที่รองรับชัดเจน
เดือนธันวาคม 2563 สำนักข่าว Eternally Peace News Network : EPN เคยนำเสนอภาพชุด การร่อนทองในแม่น้ำมัลลิคะ ที่ชาวปูตาโอมักทำหลังเสร็จสิ้นการเก็บเกี่ยวพืชผล ถือเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้จำนวนมากให้กับชาวปูตาโอต่อเนื่องมาหลายปี
นอกจากการร่อนทองแล้ว ตามแนวลำน้ำมัลลิคะ ยังเป็นแหล่งหากินของแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่ง ซึ่งในภาษาพม่าเรียกว่า “เจ้าก์จาโป”
แปลตามคำศัพท์ “เจ้าก์จาโป” หมายถึง “ด้วงหิน” แต่ผู้ที่เห็นภาพเจ้าก์จาโปแล้ว บอกว่าเป็นแมลงชนิดเดียวกับ “แมงแคง” ในภาคอิสานของไทย หรือที่ภาคกลางเรียก “มวนลำไย”

ในปูตาโอจะเริ่มพบเจ้าก์จาโปออกมาหากินเป็นจำนวนมากตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนของทุกปี และเมื่อเข้าสู่เดือนมกราคมของปีถัดไป เจ้าก์จาโปก็จะหายไปจากท้องฟ้า และกลับมาให้เห็นอีกครั้งในเดือนตุลาคมปีนั้น
แต่ละปี เมื่อสิ้นสุดฤดูฝน ช่วงท้องฟ้าโพล้เพล้ในตอนเย็นของแต่ละวัน ต้องได้เห็นชาวปูตาโอจำนวนมาก พากันถือสวิงขนาดใหญ่ ด้ามยาว 2-2.5 เมตร ออกเดินไปตามริมแม่น้ำมัลลิคะ คอยดักจับเจ้าก์จาโปที่บินออกมาหากิน
สำหรับเด็กๆแล้ว การไล่จับเจ้าก์จาโปอาจเป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน แต่สำหรับผู้ใหญ่ เจ้าก์จาโปเป็นแหล่งรายได้ชั้นเลิศ เพราะมีตลาดขนาดใหญ่รองรับอยู่ในประเทศจีน
คนจีนนิยมนำเจ้าก์จาโปไปทำเป็นอาหารรับประทาน แบบเดียวกับที่คนไทยนิยมกินแมงแคง
ปี 2562 เริ่มมีพ่อค้าจีนเริ่มเข้ามาหาซื้อเจ้าก์จาโปในเมืองปูตาโอ โดยเสนอราคาช่วงแรกๆ เจ้าก์จาโปขนาด 1กระป๋องนมข้น รับซื้อในราคา 500 จัต แต่ต่อมาเมื่อมีพ่อค้าเข้ามาหาซื้อเจ้าก์จาโปมากขึ้น ราคาเจ้าก์จาโปก็เริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 Eleven Media Group มีรายงานว่า ราคาเจ้าก์จาโปปีนี้ดีกว่าทุกปี พ่อค้าจีนที่เข้ามารับซื้อให้ราคาถึง 10,000-15,000 จัต ต่อ 1 กระป๋องนมข้น หรือประมาณ 150-180 บาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน เทียบกับราคาเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่กระป๋องนมข้นละ 5,000-7,000 จัต หรือประมาณ 70-100 บาท ราคาเจ้าก์จาโปปีนี้เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า…
ปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม 2565 สื่อเมียนมา โดยเฉพาะสื่อของรัฐคะฉิ่น มีรายงานเรื่องราวของสมุนไพรหายากชนิดหนึ่ง ซึ่งถูกพบอยู่บนดอยสูงที่ปกคลุมไปด้วยหิมะในพื้นที่จังหวัดปูตาโอ

สมุนไพรชนิดนี้ มีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า “เบชี” เป็นไม้หัวอยู่ใต้ดิน ลักษณะคล้ายหัวหอมแดง จะพบได้บนพื้นที่ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเล 8,000 ฟุตขึ้นไป
ตั้งแต่ปี 2564 เบชีได้กลายเป็นสมุนไพรซึ่งเป็นที่ต้องการในจีน มีพ่อค้าจีนเข้าหาซื้อโดยให้ราคาที่สูงมาก
ก่อนหน้าปี 2564 ราคาเบชีอยู่ที่ 40,000 จัตต่อ 1 viss(ประมาณ 1.6 กิโลกรัม) แต่ในปี 2564 มีพ่อค้าจีนได้เข้ามาหาซื้อโดยให้ราคาสูงถึง viss ละ 200,000 จัต และเพิ่มราคาขึ้นอีกเรื่อยๆ ล่าสุด ราคาเบชีในปี 2565 ขึ้นไปถึง 1 ล้านจัต หรือประมาณ 15,000 บาท ต่อ 1 viss
ราคาที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ดึงดูดให้ชาวปูตาโอ ยอมเสี่ยงตายปีนเขาสูงขึ้นไปเสาะหาเบชี
เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2565 Eleven Media Group มีรายงานว่า 2 ปีมานี้ มีชาวปูตาโอประมาณ 30 คน ที่ต้องเสียชีวิตเพราะตกเขาขณะปีนขึ้นไปเสาะหาเบชี ในนี้มีผู้หญิงที่กำลังตั้งท้องรวมอยู่ด้วย 1 คน…

บนดอยสูงที่อากาศหนาวเย็นเพราะเต็มไปด้วยหิมะในปูตาโอ ไม่ได้มีเพียงสมุนไพรหายากอย่างเบชีเท่านั้น ยอดเขาสูงหลายแห่งยังเป็นแหล่ง “ถั่งเช่า” ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งแพทย์แผนจีนนิยมนำไปเข้าตำรับยา จึงมีพ่อค้าจากจีนเข้ามาหาซื้อโดยให้ราคาสูง
ภาษาพม่าเรียกถั่งเช่าว่า “ชีปะดี” เป็นสมุนไพรที่เกิดจากเชื้อราซึ่งเติบโตจากหนอนผีเสื้อกลางคืนแถบที่ราบสูงทิเบต และตามแนวเทือกเขาหิมาลัย ที่จำศีลอยู่ใต้ดินในฤดูหนาว เมื่อเชื้อราเติบโตเต็มที่จะโผล่ขึ้นมาเหนือดิน มีลักษณะเป็นแท่ง แพทย์จีนใช้ถั่งเช่าเป็นยาสำหรับบำรุงไตและปอด รวมถึงใช้ห้ามเลือดและแก้เสมหะ
สำนักข่าว Kachin Waves มีรายงานเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2565 ว่า ราคาถั่งเช่าปีนี้ สูงขึ้นจากปี 2564 ถึงเกือบ 3 เท่า โดยในปี 2564 พ่อค้าจีนรับซื้อถั่งเช่าในราคาตัวละ 2,000 จัต แต่ปีนี้ ราคาขึ้นไปถึง 4,000-6,000 จัต หรือเกือบ 80 บาท ต่อถั่งเช่า 1 ตัว
……
ปูตาโอนับเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยเสน่ห์อันหลากหลาย น่าสนใจ
แต่น่าเสียดายที่สถานการณ์ของเมียนมาในปัจจุบัน การจะเดินทางขึ้นไปยังเมือง“ปู่เฒ่า”ทุกวันนี้ น่าจะทำได้ลำบาก