ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ สั่ง ปปง.-ปปส.-สพก.ยึดทรัพย์พ่อค้ายาฯ–มติ ครม.รับทราบการบินไทยเพิ่มทุน 3 หมื่นล้านหุ้น วอนคลังช่วยซื้อหุ้น

นายกฯ สั่ง ปปง.-ปปส.-สพก.ยึดทรัพย์พ่อค้ายาฯ–มติ ครม.รับทราบการบินไทยเพิ่มทุน 3 หมื่นล้านหุ้น วอนคลังช่วยซื้อหุ้น

29 พฤศจิกายน 2022


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

นายกฯ สั่ง ปปง.-ปปส.-สพก. ลุยยึดทรัพย์พ่อค้ายาเสพติด – จี้หน่วยงานรัฐลดขั้นตอนออกใบอนุญาต – มติ ครม. จัดงบฯ 6,258 ล้าน เยียวยาน้ำท่วมสูงสุด 9,000 บาท/ครัวเรือน-รับทราบการบินไทยเพิ่มทุน 31,500 ล้านหุ้น วอนคลังช่วยซื้อหุ้น

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

สั่ง ปปง.-ปปส.-สพก. ลุยยึดทรัพย์พ่อค้ายาเสพติด

นายอนุชา กล่าวถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเรื่องการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดว่า ประเด็นยาเสพติดเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีได้มีโอกาสไปให้นโยบายตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอแผนงานเร่งด่วน โดยเน้นเรื่องการป้องกัน ปราบปราม และรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ซึ่งเป็นการทำงานเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ขอให้มีการบูรณาการการทำงานอย่างเข้มงวด เพราะเป็นวาระที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน โดยเบื้องต้นได้วางแนวทางไว้ 7 ด้าน ดังนี้

1. ด้านการป้องกัน นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สร้างกลไกเฝ้าระวังยาเสพติด เพื่อให้สถานศึกษาเป็นพื้นที่สีขาว และให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สร้างความเข้มแข็งให้ครอบครัว

2. ด้านการสกัดกั้น นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงกลาโหม เฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าและส่งออกยาเสพติดตามแนวบริเวณชายแดน

3. ด้านการปราบปราม นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการเชิงรุกในการปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่

4. ด้านการอายัดหรือการยึดทรัพย์สิน นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) กรมสรรพากร (สพก.) และกระทรวงการคลัง ร่วมกันขยายผลในคดีที่ผู้ค้านำเงินจากยาเสพติดไปฟอกเงิน

5. ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้กลไกในการดำเนินงานสกัดกั้นยาเสพติดทางท่าอากาศยานสากล

6. ด้านการบำบัด รักษาและฟื้นฟู นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งจัดทำกฎหมายลำดับรองสำหรับใช้การบำบัด รักษาและคัดกรองผู้ติดยาเสพติด และนำเข้าสู่กระบวนการอย่างเหมาะสม และมอบหมายให้กระทรวงแรงงาน ส่งเสริมการบำบัดฟื้นฟูให้มีทักษะความรู้ในสาขาวิชาชีพ

7. ด้านการสนับสนุน นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย สนับสนุนการปฏิบัติงานในทุกมิติ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีความมั่นคงและเป็นสังคมปลอดยาเสพติด

จี้หน่วยงานรัฐลดขั้นตอนออกใบอนุญาต

นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี พูดถึงการให้ส่วนราชการพิจารณาขั้นตอนการขออนุมัติ-อนุญาต ด้วยระยะเวลาที่สั้นลง โดยหาแนวทางลดขั้นตอนต่างๆ ให้สอดคล้องกับการก้าวสู่การเป็นบริการ digital government เช่น พ.ร.บ.ปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วและ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2566

“ในอนาคตการติดต่อราชการทุกแห่ง สามารถทำได้ด้วยออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องทำด้วยตนเอง แต่ยังมีงาน 5 ประเภท ต้องทำด้วยตัวเอง” นายอนุชา กล่าว

นายอนุชา กล่าวต่อว่า รัฐบาลจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนโดยการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติราชการของภาครัฐ และรองรับสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมการดำเนินชีวิตของประชาชนในปัจจุบัน โดยประชาชนจะได้รับความสะดวกในการติดต่อราชการในการยื่นขอรับสวัสดิการและเอกสารได้ตลอด 24 ชั่วโมงผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และขอให้เจ้าหน้าที่แจ้ง หรือ ส่งใบอนุญาตให้ทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ต้องไปรับด้วยตัวเอง

รับฟัง ป.ย.ป.เสนอต้นแบบการพัฒนาผู้บริหารระดับสูง

นายอนุชา รายงานว่า นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการรับฟังผลการพัฒนาต้นแบบนโยบายภายใต้โครงการพัฒนานักบริหารระดับสูง (หลักสูตร ป.ย.ป.) เรื่องการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ประกอบด้วย 3 เรื่อง ดังนี้

1. การพัฒนาศักยภาพของประเทศไทยให้พร้อมเผชิญภัยคุกคามต่อความมั่นคง เป็นการนำเสนอต้นแบบนโยบายกลไกการสร้างพื้นที่แพลตฟอร์มการเสริมสร้างความสามัคคีปรองดอง เพื่อการพัฒนาประเทศ

2. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการลดความเสี่ยงจากอุทกภัย เป็นการนำเสนอต้นแบบนโยบายการสร้างนโยบายและการขยายผลการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

3. การพัฒนาสมรรถนะทุนมนุษย์ เพื่อรองรับการพัฒนาในอนาคต เป็นการนำเสนอต้นแบบนโยบายการสร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาทักษะสำคัญในอนาคต และเป็นแนวปฏิบัติในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ ถือเป็นการสร้างและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติที่เน้นการทำงานเชิงบูรณาการให้มีผลลัพธ์เป็นรูปธรรมผ่านการปฏิบัติงานจริง และเป็นการพัฒนาทักษะและสมรรถนะข้าราชการให้เป็นข้าราชการแห่งศตวรรษที่ 21

“นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาและกำหนดนโยบายต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติจริงให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการร่วมมือระหว่างกระทรวง การลดการทำงานแนวดิ่ง หรือ การทำงานแบบไซโล เพิ่มการทำงานแนวราบ และขับเคลื่อนร่วมกันทั้งองคาพยพ ซึ่งเป็นหัวใจการทำงานในปัจจุบันที่ต้องปรับตัว และปรับรูปแบบการทำงานให้มีความยืดหยุ่น เพื่อเผชิญความผันผวนไม่แน่นอน และการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ไม่ว่าปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และการเมือง และปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและโรคอุบัติใหม่” นายอนุชา กล่าว

มติ ครม. มีดังนี้

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกฯ, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกฯ และนางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล (ซ้ายไปขวา)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

จัดงบฯ 6,258 ล้าน เยียวยาน้ำท่วมสูงสุด 9,000 บาท/ครัวเรือน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. เห็นชอบหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2565 พร้อมอนุมัติกรอบวงเงิน 6,258.54 ล้านบาท สำหรับจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจำนวน 1,046,460 ครัวเรือน ซึ่งเป็นจำนวนครัวเรือนจากการสำรวจเบื้องต้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและ 66 จังหวัด ที่อยู่ในพื้นที่ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยหรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉินในกรณีใด กรณีหนึ่งใน 3 กรณี ดังนี้

(1) กรณีที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันตั้งแต่ 1วัน (24 ชั่วโมง) แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขังเกินกว่า 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 5,000 บาท

(2) กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 7,000 บาท

(3) กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 60 วัน ขึ้นไป ให้ความช่วยเหลือครัวเรือนละ 9,000 บาท

สำหรับหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2565 ดังนี้

หลักเกณฑ์ (1) ต้องเป็นกรณีอุทกภัยที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยในช่วงฤดูฝนปี 2565 ตั้งแต่ 13 พฤษภาคม ถึง 28 ตุลาคม 2565 ทั้งกรณีน้ำท่วมโดยฉับพลัน น้ำไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง รวมถึงการระบายน้ำจนส่งผลกระทบทำให้ไม่สามารถดำรงชีวิตได้ และ (2) ต้องเป็นที่อยู่ที่ประสบอุทกภัยตามที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประกาศเป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยหรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน ซึ่งได้รับผลกระทบกรณีใดกรณีหนึ่ง คือ ที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขัง ตั้งแต่ 1 วัน (24 ชั่วโมง) แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขัง เกินกว่า 7 วันขึ้นไป

เงื่อนไข (1) ต้องเป็นบ้านที่อยู่อาศัยประจำในพื้นที่ที่ได้ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยและหรือประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยมีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกให้ และต้องผ่านการประชาคมหมู่บ้านของแต่ละพื้นที่ประสบสาธารณภัย และผ่านการตรวจสอบและยืนยันช้อมูลจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ และคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด สำหรับกรุงเทพมหานครต้องผ่านการตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจากสำนักงานเขตและกรุงเทพมหานคร (2) กรณีที่ประสบภัยหลายครั้ง ให้ได้รับความช่วยเหลือเพียงครั้งเดียว

การจ่ายเงินช่วยเหลือ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะเป็นจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยผ่านธนาคารออมสิน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงมหาดไทยรายงานว่า ขณะนี้ ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ มหาสารคาม อุบลราชธานี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และนครปฐม โดยยังมีครัวเรือนที่ได้รับความเสียหายอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการเร่งสำรวจจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบต่อไป

อนุมัติแผนลงทุน-ขยายสนามบินดอนเมือง เฟส 3 กว่า 3 หมื่นล้าน

นายอนุชา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. อนุมัติโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) วงเงินลงทุน 36,829.499 ล้านบาท เพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับปริมาณผู้โดยสาร พัฒนาคุณภาพการให้บริการ ทั้งระบบขนถ่ายผู้โดยสารทางอากาศและทางภาคพื้น มีประสิทธิภาพและลดความแออัดระบบจราจรภายใน ท่าอากาศยาน รองรับปริมาณจราจรทางอากาศและผู้โดยสาร รวมทั้งกิจกรรมทางด้านการบินรวมทั้งสามารถเชื่อมต่อระบบขนส่ง ทางราง ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยแนวทางดำเนินการ ประกอบด้วย 6 กลุ่มงาน ดังนี้

กลุ่มงานที่ 1: งานพัฒนาด้านทิศใต้ เช่น งานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารอาคาร 3 พร้อมอาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 6 และงานปรับปรุงอาคารจอดรถยนต์ 7 ชั้น เป็นชานชาลาจอด รับ – ส่งผู้โดยสาร

กลุ่มงานที่ 2 งานพัฒนาพื้นที่ด้านทิศเหนือ เช่น งานปรับปรุงหลุมจอดอากาศยานด้านทิศเหนือ และงาน ก่อสร้างขยายอาคารเทียบเครื่องบินด้านทิศเหนือ / อาคาร สานักงานสายการบิน / อาคารรับรองพิเศษ VVIP

กลุ่มงานที่ 3: งานก่อสร้างในพื้นที่เขตปฏิบัติการการบิน เช่น งานก่อสร้างลานจอดอากาศยานด้านทิศเหนือพร้อมทางขับเชื่อม

กลุ่มงานที่ 4 : งานปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 อาคารเทียบเครื่องบินด้านทิศเหนือ เช่น งานปรับปรุง อาคารผู้โดยสาร อาคาร 1 อาคารเทียบเครื่องบิน หมายเลข 2 – 4

กลุ่มงานที่ 5 : งานสนับสนุนโครงการพัฒนา ได้แก่ งานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค

กลุ่มงานที่ 6 : งานสิ่งแวดล้อม ได้แก่ งานจ้างติดตาม ตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระยะ การปรับปรุงและฟื้นฟูสิ่งอำนวยความสะดวกโครงการฯ วงเงินลงทุน 36,829.499 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนจากภายใน คือ เงินรายได้ของ ทอท. เป็นอันดับแรก และหากสภาพคล่องจากการดำเนินงานไม่เพียงพอสำหรับโครงการลงทุนต่างๆ จึงจะจัดหาแหล่งเงินทุนจากภายนอกมาชดเชย แผนการดำเนินการ แบ่งออกเป็น (1) งานออกแบบ ปีงบฯ 2564 – 2566 (2) งานก่อสร้าง ปีงบฯ 2566 – 2572

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันท่าอากาศยานดอนเมืองมีอาคารผู้โดยสารจำนวน 2 อาคาร และมี ขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารรวม 30 ล้านคนต่อปี ซึ่ง ทอท. มองว่า โครงการฯ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถเดิมของท่าอากาศยานดอนเมืองและพัฒนาให้เต็มศักยภาพของพื้นที่เพื่อให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 40 ล้านคนต่อปี ซึ่งเป็นระดับจำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศและภายในประเทศท่ีท่าอากาศยานดอนเมืองให้บริการอยู่ในปี 2562 ก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 รองรับปริมาณจราจรทางอากาศและผู้โดยสาร

ผ่านแผนต้านทุจริตฯ ปี’66 ตั้งเป้าดัน CPI ไทย ติด 1 ใน 53 ของโลก

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระยะที่ 2 (พ.ศ.2566 – 2570) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) เสนอ เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และภาคเอกชน ในการแปลงแนวทางการพัฒนาของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 21 ประเด็น การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ (พ.ศ.2561 – 2580) ไปสู่การปฏิบัติ สำหรับแผนปฏิบัติฉบับนี้ มีเป้าหมาย 2 ระดับ คือ

1. เป้าหมายภาพรวม คือ กำหนด “ประเทศไทยปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ” โดยรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริต หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส อัตราการเกิดคดีทุจริตมีแนวโน้มลดลง ประชาชนมีทัศนคติที่ไม่ยอมรับการทุจริต และมีผลการประเมินคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index : CPI) ที่สูงขึ้น โดยมีตัวชี้วัดภาพรวมที่กำหนดไว้ดังนี้ ปี 2566 CPI ของประเทศไทย อยู่ในอับดันดับ 1 ใน 53 และ/หรือได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 51 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน โดยมีหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 84 และในปีต่อๆ ไป ตั้งเป้าไว้ คือ ปี 2567 CPI ติดอันดับ 1 ใน 51 และหรือคะแนนไม่ต่ำกว่า 53 คะแนน ปี 2568 CPI ติดอันดับ 1 ใน 48 และหรือคะแนนไม่ต่ำกว่า 55 คะแนน ปี 2569 ติดอับดันดับ 1 ใน 45 และหรือคะแนนไม่ต่ำกว่า 56 คะแนน และปี 2570 CPI ติดอับดับ 1 ใน 43 และหรือคะแนนไม่ต่ำกว่า 57 คะแนน ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนเป้าหมายภาพรวม อาทิ การผลักดันเพื่อยกระดับคะแนน CPI และนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในทุกขั้นตอนของการอนุญาต

2. เป้าหมายย่อย ประกอบด้วย 3 เป้าหมาย มี 9 ตัวชี้วัด ดังนี้ 1.แผนย่อยการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ มี 2 เป้าหมาย ได้แก่ 1) ประชาชนมีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต และ 2) คดีทุจริตและประพฤติมิชอบลดลง มี 7 ตัวชี้วัด อาทิ ร้อยละของเด็กและเยาวชนไทยมีพฤติกรรมที่ยึดมั่นความซื่อสัตย์สุจริต เช่น ปี66 ร้อยละ 80 ร้อยละของหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์การประเมิน ITA เช่น ปี 66 ร้อยละ 84 และจำนวนคดีทุจริตในภาพรวมลดลง เช่น ปี 66 ร้อยละ 10 2.แผนย่อยการปราบปรามการทุจริต มีเป้าหมาย คือ การดำเนินคดีทุจริตมีความรวดเร็ว เป็นธรรม โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ มี 2 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1) กระบวนการดำเนินคดีทุจริตที่จำเป็นต้องขอขยายระยะเวลาเกินกว่ากรอบเวลาปกติที่กฎหมายกาหนด ไม่เกินร้อยละ 20 และ 2) จำนวนคดีอาญาที่หน่วยงานไต่สวนคดีทุจริตถูกฟ้องกลับ ไม่เกินร้อยละ 3 ของจำนวนคดีที่ส่งฟ้อง ส่วนการขับเคลื่อนเป้าหมายย่อย เช่น 1) ปลูกฝังวิธีคิด ปลุกจิตสานึก ให้มีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต 2) ป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ และ 3) ปราบปรามการทุจริต

ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า โครงการภายใต้แผนปฏิบัติการฉบับนี้ มีจำนวน 605 โครงการ วงเงิน 3,748.70 ล้านบาท แบ่งตามเป้าหมายดังนี้ เป้าหมายที่ 1 ประชาชนมีวัฒนธรรมและพฤติกรรมซื่อสัตย์สุจริต จำนวน 331 โครงการ วงเงิน 2,752.01 ล้านบาท เป้าหมายที่ 2 คดีทุจริตและประพฤติมิชอบลดลง จำนวน 162 โครงการ วงเงิน 684.84 ล้านบาท และเป้าหมายที่ 3 การดำเนินคดีทุจริตมีความรวดเร็ว เป็นธรรม โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ จำนวน 112 โครงการ วงเงิน 311.85 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณภายใต้แผนงงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ งบกองทุนป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และงบดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน

รับทราบหนี้สาธารณะต่อ GDP ปี’65 มีสัดส่วน 60.41%

ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. รับทราบระดับสัดส่วนหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2565 กล่าวคือ สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นจริง ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 ยังคงอยู่ภายใต้กรอบในการบริหารหนี้สาธารณะตามมาตรา 50 ที่กฎหมายกำหนด โดยมีรายละเอียดดังนี้

    1. สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่เกิดขึ้นจริง ร้อยละ 60.41 ไม่เกินร้อยละ 70 ตามกรอบที่กฎหมายกำหนด

    2. สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณที่เกิดขึ้นจริง ร้อยละ 29.27 ไม่เกินร้อยละ 35 ตามกรอบที่กฎหมายกำหนด

    3. สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมดที่เกิดขึ้นจริง ร้อยละ 1.71 ไม่เกินร้อยละ 10 ตามกรอบที่กฎหมายกำหนด

    4. สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการที่เกิดขึ้นจริง ร้อยละ 0.06 ไม่เกินร้อยละ 5 ตามกรอบที่กฎหมายกำหนด

หนี้สาธารณะคงค้าง มีจำนวน 10.37 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 60.41 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ส่วนใหญ่เป็นหนี้ในประเทศ ร้อยละ 98.29 ทั้งนี้ สถานะทางการคลัง ยังมีความมั่นคงและอยู่ภายใต้กรอบในการบริหารหนี้สาธารณะ

ตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นำร่อง 538 โรงเรียน

ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในกรุงเทพมหานคร และ 10 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย แม่ฮ่องสอน กระบี่ ตราด สระแก้ว จันทบุรี ภูเก็ต สงขลา สุราษฎร์ธานี และอุบลราชธานี มีสถานศึกษานำร่องรวมทั้งสิ้น 538 โรงเรียน พื้นที่นวัตกรรมการศึกษานี้ เป็นพื้นที่การปฏิรูปการบริหารและการจัดการศึกษา เพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมการศึกษาในพื้นที่ระดับจังหวัด ซึ่งสถานศึกษานำร่องสามารถจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น สำหรับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อ 1) คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้ เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน 2) ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา 3) กระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษานำร่อง และ 4) สร้างและพัฒนากลไกในการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคมในพื้นที่

ส่วนเกณฑ์การคัดเลือกจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พิจารณาจากความเหมาะสมและความพร้อมของจังหวัด การมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องและโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ ซึ่งมีกรุงเทพมหานคร และ 10 จังหวัด ที่ผ่านการคัดเลือกดังนี้

    1. กรุงเทพมหานคร รวม 54 โรงเรียน มีการกำหนดแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจน เช่น 1) การคิดค้นและพัฒนานวัตกรรม เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ โดยปรับกรอบหลักสูตร อบรมพัฒนาครู เพิ่มทักษะ การใช้นวัตกรรมรูปแบบต่างๆ 2) การให้อิสระกับสถานศึกษาในการวางแนวทางการบริหารบุคลากรและงบประมาณ 3) มีการจัดตั้งภาคีเครือข่ายด้านการศึกษาเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของเด็ก กทม.

    2. สุโขทัย รวม 20 โรงเรียน มีการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยมุ่งเน้นไปที่เด็กด้อยโอกาส

    3. แม่ฮ่องสอน รวม 19 โรงเรียน มีการรวมกลุ่มเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา แก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูและผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสและผู้เรียนหลากหลายชาติพันธุ์

    4. กระบี่ รวม 38 โรงเรียน ส่งเสริมให้ผู้เรียนเข้าใจตนเองและเลือกการศึกษาต่อตามความถนัดและความสนใจ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่

    5. ตราด รวม 22 โรงเรียน มีสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพด้านจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ

    6. สระแก้ว รวม 30 โรงเรียน ให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรของสถานศึกษา พัฒนาคุณภาพผู้เรียนทั้งด้านวิชาการ ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในพื้นที่

    7. จันทบุรี รวม 28 โรงเรียน ปลดล็อกกฎระเบียบต่างๆ และมุ่งเน้นที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ส่งเสริมให้สถานศึกษาจัดการศึกษาด้วยตนเองโดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

    8. ภูเก็ต รวม 32 โรงเรียน สร้างระบบการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาของพื้นที่และความต้องการของประชาชน เช่น มุ่งเน้นให้เด็กภูเก็ตทุกคนต้องพูดได้มากกว่า 2 ภาษา และแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ

    9. สงขลา รวม 13 โรงเรียน มีสถานศึกษาที่มีผลลัพธ์การเรียนรู้ของเด็กอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากเข้าร่วมโครงการโรงเรียนพัฒนาตนเองของ กสศ.

    10. สุราษฎร์ธานี รวม 21 โรงเรียน ยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและมุ่งเน้นให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยมีการศึกษาอย่างเท่าเทียม ช่วยเหลือเด็กตกหล่นและเด็กที่มีปัญหา ให้ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างเสมอภาค

    11. อุบลราชธานี รวม 261 โรง จัดหลักสูตรที่ทันสมัยตอบโจทย์ความต้องการของผู้เรียนตามสมรรถนะและบริบทของพื้นที่

ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า การจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเกิดขึ้นมาตั้งปี 2561 โดยในปีนั้นกระทรวงศึกษาได้กำหนดให้ 6 พื้นที่ 8 จังหวัด เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประกอบด้วย สตูล ระยอง ศรีสะเกษ กาญจนบุรี เชียงใหม่ และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส รวม 539 โรงเรียน และมีผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา อาทิ 1) นราธิวาส มีการพัฒนาหลักสูตรอิสลามศึกษาเพื่อจัดการศึกษาบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม และลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงการศึกษา 2) สตูล มีการคิดค้นพัฒนานวัตกรรมโครงงานบนฐานวิจัย 14 ขั้นตอน ช่วยให้เด็กมีความสามารถด้านการคิด การสื่อสาร และนำความรู้ไปถ่ายทอดต่อ ให้ชุมชนได้ 3) ระยอง มีการจัดตั้งสถาบันการเรียนรู้ของคนทุกวัย (Rayong Inclusive Learning Academy : RILA) เพื่อเป็นกลไกการบริหารจัดการเพื่อการขับเคลื่อนระบบนิเวศการเรียนรู้ของจังหวัด

โพล DES ชี้ ปชช.วอนรัฐช่วยลดค่าครองชีพ – หารายได้เสริม

นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบรับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการวางแผนในอนาคต พ.ศ. 2565 ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ ซึ่งเป็นผลสำรวจโดยจัดเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ประชาชน 46,600 ราย ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน – 12 กรกฎาคม 2565 ในประเด็นที่เกี่ยวกับการวางแผนในอนาคต 7 ด้าน โดยสรุปผลสำรวจได้ดังนี้

    1. การวางแผนด้านการเงิน พบว่า ประชาชนร้อยละ 73.2 มีวิธีการวางแผน 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ฝากธนาคาร/สถาบันการเงินอื่น 2. เก็บเป็นเงินสด และ 3. เป็นสมาชิกฌาปนกิจสงเคราะห์ต่างๆ ขณะที่ร้อยละ 26.8 ระบุว่าไม่มีการวางแผนด้านการเงินเนื่องจากไม่มีเงินเพียงพอ โดยกลุ่มอายุ 20-59 ปี จะมีการวางแผนด้านการเงินในสัดส่วนที่สูงที่สุด

    2. การวางแผนด้านการทำงาน/อาชีพ พบว่า ประชาชนร้อยละ 74 มีวิธีการวางแผน 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ทำงานหรือประกอบอาชีพเดิมต่อไปเนื่องจากมีความมั่นคงสูง 2. หาแหล่งรายได้เสริม เช่น ทำงานล่วงเวลาและทำอาชีพเสริม และ 3. ประกอบธุรกิจส่วนตัว ขณะที่ร้อยละ 26 ระบุว่าไม่มีการวางแผนด้านการทำงาน/อาชีพ เนื่องจากไม่มีความรู้ในการวางแผน โดยกลุ่มอายุ 20-59 ปี จะมีการวางแผนด้านการทำงาน/อาชีพในสัดส่วนที่สูงที่สุด

    3. การวางแผนชีวิตครอบครัว พบว่า ประชาชนร้อยละ 72.7 มีวิธีการวางแผน 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ครอบครัว 2. ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นและ/หรือวางแผนการศึกษาให้บุตรและคนในครอบครัว และ 3.ทำประกันชีวิต ขณะที่ร้อยละ 27.3 ระบุว่าไม่มีการวางแผนชีวิตครอบครัวเนื่องจากคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว/เป็นเรื่องของอนาคต

    4. การดูแลสุขภาพตนเอง พบว่า ประชาชนร้อยละ 89.4 มีวิธีการดูแลสุขภาพตนเอง 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 2. ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ และ 3. เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น มังสวิรัติ วิตามิน และคอลลาเจน ขณะที่ร้อยละ 10.5 ระบุว่าไม่มีการดูแลสุขภาพตนเองเนื่องจากคิดว่าร่างกายแข็งแรงไม่จำเป็นต้องดูแลสุขภาพและไม่มีเวลา โดยกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีการดูแลสุขภาพในสัดส่วนที่สูงที่สุด

    5. การวางแผน เพื่อสภาพความเป็นอยู่ที่ดี พบว่า ประชาชนร้อยละ 76.5 มีวิธีการวางแผน 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ปรับปรุงที่อยู่อาศัย เช่น ปลูกต้นไม้เพื่อสร้างความร่มรื่น 2. เลือกที่อยู่อาศัยที่ไม่แออัด และ 3. เลือกที่อยู่อาศัยที่สะดวกต่อการเดินทาง ขณะที่ร้อยละ 23.5 ระบุว่าไม่มีการวางแผนเพื่อสภาพความเป็นอยู่ที่ดีเนื่องจากคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว/เป็นเรื่องของอนาคต โดยกลุ่มอายุ 20-59 ปี จะมีการวางแผน เพื่อสภาพความเป็นอยู่ที่ดีในสัดส่วนที่สูงที่สุด

    6. ความพึงพอใจต่อสภาพความเป็นอยู่ในชุมชน/หมู่บ้าน พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ระบบสาธารณูปโภค เช่น น้าดื่ม ไฟฟ้า และอาหาร (ร้อยละ 76) 2. ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน (ร้อยละ 72.9) และ 3. ความช่วยเหลือจากคนในสังคม เช่น เพื่อนบ้านและคนในชุมชน/หมู่บ้าน (ร้อยละ 61.1)

    7. เรื่องที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ พบว่า 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ควรลดค่าครองชีพ (ร้อยละ 65.5) 2. ควรส่งเสริมให้ประชาชนมีอาชีพเสริม (ร้อยละ 54.7) และ 3. ควรจัดหาอาชีพสำหรับผู้ด้อยโอกาส/ผู้สูงอายุ (ร้อยละ 48.3)

นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 5 ข้อ คือ 1. ควรให้ความช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับประชาชนอย่างเร่งด่วน เช่น การลดค่าครองชีพ การสร้างอาชีพเสริมให้ประชาชนและจัดหาแหล่งเงินทุน/เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ 2. ควรส่งเสริมให้ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนในอนาคตด้านต่างๆ เช่น ด้านการเงินและด้านการทำงาน/อาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุน้อย กลุ่มนักเรียน/นักศึกษา และกลุ่มที่มีรายได้น้อย เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 3. ควรส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นของประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนในการมีรายได้จากการประกอบอาชีพ รวมทั้งการรู้จักวางแผนการออม 4. ควรส่งเสริมให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้คนในชุมชน/หมู่บ้าน เช่น เพิ่มสถานที่จำหน่ายสินค้าของชุมชนและส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยจะทำให้ชุมชนและระบบเศรษฐกิจของประเทศเกิดความเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน และ 5. ควรเพิ่มช่องทางการสื่อสารในการแจ้งข่าวสารต่างๆ ให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึง

“ข้อมูลผลสำรวจดังกล่าวจะนำไปใช้ในการติดตาม ประเมินผล และวางแผนกำหนดนโยบาย หรือ มาตรการในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการจัดการตนเอง และเตรียมความพร้อมของประชาชน ทั้งในมิติสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มุ่งมั่นให้ประชาชนทุกคนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในทุกๆ ด้าน ตามนโยบาย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ที่ทุกคนจะต้องพัฒนาเจริญก้าวหน้าไปด้วยกัน จึงได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์เป็นรูปธรรม” นางสาวทิพานัน กล่าว

ที่ประชุม รมต.เอเปค หนุน “BCG” ช่วย SMEs รองรับการเปลี่ยนผ่าน

นางสาวทิพานัน กล่าวต่อว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค ครั้งที่ 28 เมื่อวันที่ 9-10 กันยายน 2565 ที่จังหวัดภูเก็ต ตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เสนอ โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม มีผู้เข้าร่วมจาก 20 เขตเศรษฐกิจ โดยที่ประชุมมีการหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ใน 5 ประเด็นสำคัญ คือ 1. การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) 2. การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลอย่างครอบคลุม 3. การรับมือกับตลาดที่กาลังพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป 4. การจัดหาเงินทุนและการปรับโครงสร้างหนี้ และ 5. ประเด็นอื่นๆ โดยมีสาระสำคัญในการหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเด็นดังกล่าว ดังนี้

    1. การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) นั้น ญี่ปุ่นได้ส่งเสริมให้เกิด “ตลาดสินค้าสีเขียว” คือตลาดสำหรับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่รักษ์โลกหรือลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน เช่น ถุงผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเสนอให้ภูมิภาคเอเปคสร้างและพัฒนาตลาด “สินค้าสีเขียว” ให้แก่ SMEs และสิงคโปร์ส่งเสริมให้มีการพัฒนาการรับรองมาตรฐานสินค้าสีเขียวให้แก่ SMEs เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

    2. การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลอย่างครอบคลุม รัสเซียร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการเชื่อมโยงข้อมูลทางธุรกิจของผู้ประกอบการเพื่อให้ธนาคารเครือข่ายใช้เป็นข้อมูลปล่อยกู้และแบบรายการยื่นภาษีอัตโนมัติ และสามารถส่งเอกสารขอยื่นกู้ธนาคารไปยังธนาคารเครือข่ายได้ ส่วนเวียดนามมีการพัฒนาหน่วยบริการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลครบ 100 หน่วยงาน ภายในปี 2568 และผู้ประกอบการ 100,000 รายจะได้รับการอบรมและเข้าถึงบริการด้านการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล ในขณะที่อินโดนีเซียมีแผนดำเนินการส่งเสริมให้ SMEs เปลี่ยนผ่านสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการอย่างน้อย 30 ล้านรายภายในปี 2567 และเกาหลีใต้ได้ให้มีนโยบายนำร่องเพื่อช่วยเหลือด้านดิจิทัลให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs)

    3. การรับมือกับตลาดที่กาลังพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป สหรัฐฯ มุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่การค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนโดยเฉพาะผู้ประกอบการสตรี โดยมีหลักสูตรการประเมินศักยภาพของผู้ประกอบการและการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งจัดให้มีการเข้าถึงแพลตฟอร์มในการโอนเงิน

    4. การจัดหาเงินทุนและการปรับโครงสร้างหนี้ แคนาดาได้จัดให้มีสินเชื่อโดยไม่หวังกำไรและกองทุนร่วมลงทุนให้ผู้ประกอบการสตรี ในขณะที่จีนจัดให้มีการค้ำประกันสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ

สำหรับประเด็นสุดท้ายในเรื่องอื่นๆ นั้น มาเลเซียได้จัดกิจกรรม SME National Champion โดยคัดเลือกจากธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตทางรายได้สูง และรัฐบาลจะให้การสนับสนุนใน 3 มิติ คือ การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีสู่ 4.0 การปฏิรูปองค์การให้มีสมรรถนะสูง และการพัฒนากลยุทธ์การตลาดสู่สากล ส่วนจีนได้ยกเลิกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของ SMEs มากกว่า 1,000 รายการ

รับทราบการบินไทยเพิ่มทุน 31,500 ล้านหุ้น วอนคลังช่วยซื้อหุ้น

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหา บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ซึ่งมีแนวโน้มการดำเนินที่ดีขึ้นต่อเนื่องภายหลังการคลี่คลายของโควิด-19 โดยสามารถเพิ่มความถี่เที่ยวบินใน 6 เดือนแรกของปี 2565 และกลับไปทำการบินในเส้นทางเดิมก่อนการเกิดโรคระบาด

ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 3/2565 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีกำไรจากการดำเนินงาน 3,920 ล้านบาท เทียบกับที่ขาดทุน 5,310 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2564 และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย(EBIDA) 6,181 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 ที่ขาดทุน 3,100 ล้านบาท

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ใน เดือนตุลาคม 2565 การบินไทยและสายการบินไทยสมายล์มีผู้โดยสารต่างประเทศเฉลี่ยต่อวัน 21,558 คน คิดเป็นร้อยละ 30 ของผู้โดยสารต่างประเทศที่ผ่านเข้า-ออก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีส่วนแบ่งการขนส่งสินค้าคิดเป็นร้อยละ 28 ของปริมาณการขนส่งสินค้าเข้า-ออก ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนในเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ก็มีอัตราการสำรองที่นั่งล่วงหน้าระดับสูงต่อเนื่อง ซึ่งแนวโน้มการเติบโตดังกล่าว ทำให้ ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 บริษัทฯ มีเงินสดคงเหลือ 32,031 ล้านบาท

ทั้งนี้ ด้วยสถานะการดำเนินงานที่ดีขึ้น ทำให้ความต้องการใช้สินเชื่อใหม่ของบริษัทฯ ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการได้ปรับลดจาก 50,000 ล้านบาท เหลือ 25,000 ล้านบาท ซึ่งแยกเป็นความต้องการสินเชื่อระยะยาวและสินเชื่อหมุนเวียนระยะสั้นประเภทละ 12,500 ล้านบาท

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ปรับปรุงประสิทธิภาพฝูงบินและปรับลดต้นทุนอากาศยานอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 มีอากาศยานที่อยู่ในการปฏิบัติการบินรวม 61 ลำ ซึ่งด้วยการเติบโตของปริมาณความต้องการเดินทาง จึงมีการนำอากาศยานที่อยู่ในฝูงบินกลับมาให้บริการใหม่รวม 5 ลำ ได้แก่ โบอิ้ง 777-200ER จำนวน 2 ลำ และแอร์บัส 330-300 จำนวน 3 ลำ

นอกจากนี้ บริษัท ยังได้ลงนามในสัญญาเช่าอากาศยาน แบบแอร์บัส 350-900 แล้วจำนวน 2 ลำ และได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงในการเช่าอากาศยานแบบแอร์บัส 350-900 อีก 2 ลำ อยู่ระหว่างการขออนุญาตเข้าประจำการในฝูงบินต่อสำนักงานการบินพลเรือนและกระทรวงคมนาคม โดยคาดว่าอากาศยานทั้ง 4 ลำ จะเริ่มเข้าให้บริการได้ตั้งแต่ไตรมาสที่2/66 ซึ่งจะทำให้ในปี 66 บริษัทฯ จะมีอากาศยานที่นำมาบริการรวม 70 ลำ

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า บริษัทฯ มีแผนงานที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างทุน โดยการบินไทยจะมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนไม่เกิน 31,500 ล้านหุ้น เพื่อให้ส่วนทุนเป็นบวก สร้างความมั่นคงทางการเงิน และให้หุ้นของบริษัทฯ สามารถกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยแบ่งเป็นการออกหุ้นเสนอขายแก่กลุ่มต่างๆ 5 กลุ่ม ได้แก่

    1) หุ้นจำนวน 4,911 หุ้น สำหรับการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Share Option) ของผู้สนับสนุนสินเชื่อใหม่ เฉพาะผู้ให้สินเชื่อระยะยาว ในจำนวนเดียวกับจำนวนหนี้ที่เบิกใช้จริง หรือการเลือกชำระค่าหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยแปลงหนี้เงินต้นเดิมตามแผนเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น

    2) หุ้นจำนวน 5,040 ล้านหุ้น สำหรับการแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน เพื่อชำระหนี้เงินต้นคงค้างของเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 (กระทรวงการคลัง) ในสัดส่วนร้อยละ 100 ของภาระหนี้เงินต้นคงค้าง(ประมาณ 12,827 ล้านบาท) ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น

    3) หุ้นจำนวน 9,822 ล้านหุ้น สำหรับการแปลงหนี้เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อชำระหนี้เงินต้นคงค้างแก่เจ้าหนี้กลุ่มที่5 (เจ้าหนี้สถาบันการเงินที่มีสิทธิตามสัญญาโอนสิทธิในการได้รับเงินจากการขายเครื่องบิน) เจ้าหนี้กลุ่มที่6 (เจ้าหนี้สถาบันการเงินไม่มีประกัน) และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18-31 (เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้) ในสัดส่วนร้อยละ 24.50 ของภาระหนี้เงินต้นคงค้าง

    4) หุ้นจำนวน 1,904 ล้านหุ้น สำหรับการใช้สิทธิแปลงหนี้ดอกเบี้ยใหม่ตั้งพักเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนของเจ้าหนี้กลุ่มที่4-6 และเจ้าหนี้กลุ่มที่ 18-31 ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น

    5) หุ้นจำนวน 9,822 ล้านหุ้น สำหรับการจัดสรรและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้นเดิม โดยไม่จัดสรรและเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้บริษัทมีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ (Preferential Public Offering) ที่ราคาไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น โดยในกรณีที่ผู้ถือหุ้นเดิมใช้สิทธิไม่เต็มจำนวน จะนำหุ้นไปเสนอขายแก่พนักงานบริษัท การบินไทยฯ และเสนอขายแก่บุคคลในวงจำกัด(Private Placement) ตามลำดับ

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ภายใต้การดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทยได้ขอรับการสนับสนุนจากกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ให้พิจารณาใช้สิทธิการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนตามสัดส่วนที่ บริษัทฯ จะออกเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม เพื่อให้บริษัทฯ มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในการกลับมาซื้อขายหุ้นในตลาดได้ตามปกติ ซึ่งผลจากการใช้สิทธิในการซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าวจะส่งผลให้กระทรวงการคลังมีสัดส่วนการถือหุ้นประมาณร้อยละ 32.7 และหากรวมการถือหุ้นของธนาคารของรัฐอื่นๆ อีกร้อย 10.4 จะทำให้เป็นไปตามแผนการฟื้นฟูกิจการที่ต้องการให้ให้รัฐถือหุ้นในการบินไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 40

เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานวิ่งเทรลนานาชาติ 2 รายการ

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบในหลักการให้ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันวิ่งเทรลระดับนานาชาติ รายการ Thailand by UTMB 2 รายการ ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ พร้อมเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณเพื่อสมทบค่าลิขสิทธิ์การจัดการแข่งขันทั้ง 2 รายการในอัตราร้อยละ 50 ของค่าลิขสิทธิ์ รวม 65.55 ล้านบาท และเห็นชอบกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดการแข่งขันรวม 409.56 ล้านบาท

สำหรับการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพทั้ง 2 รายการนั้น รายการแรก Doi Inthanon Thailand by UTMB ประจำปี 2566-68 โดยจัดการแข่งขันที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตลอด 3 ปี จะใช้งบประมาณรวม 199.30 ล้านบาท (เฉลี่ยปีละ 66.43 ล้านบาท) ประกอบด้วยค่าลิขสิทธิ์ที่ภาครัฐและเอกชนออกฝ่ายละ 25.65 ล้านบาท รวม 51.30 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการแข่งขันซึ่งให้จัดสรรจากงบประมาณประจำปีของการกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) หากไม่เพียงพอก็ให้จัดสรรจากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ 148 ล้านบาท

ทั้งนี้ ระหว่างปี 2563-64 กกท. ได้จัดการแข่งขันวิ่งเทรลฯ รายการ Thailand by UTMB ที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์มาแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งมีนักกีฬาและผู้ติดตามเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกครั้ง และในวันที่ 8-11 ธ.ค. 65 ที่จะถึงนี้ จะจัดเป็นครั้งที่4 โดยรายการในครั้งนี้เป็นการแข่งขันระดับ Major ของทวีปเอเชีย-โอเชียเนีย และได้รับการประกาศเป็นสนาม UTMB® World Series ระดับ Major ด้วย

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ส่วนรายการที่ 2 Amazean Jungle Thailand by UTMB ประจำปี 2566-71 จัดการแข่งขันที่ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ตลอด 6 ปี จะใช้งบประมาณรวม 341.36 ล้านบาท (เฉลี่ยปีละ 56.89 ล้านบาท) ประกอบด้วยค่าลิขสิทธิ์ภาครัฐและเอกชนออกฝ่ายละ 39.90 ล้านบาท รวม 79.80 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการแข่งขันจากประมาณประจำปีของ กกท.หากไม่เพียงพอก็ให้จัดสรรจากกองทุนพัฒนากีฬาแห่งชาติ 261.56 ล้านบาท

โดยที่ผ่านมา กกท. ได้ร่วมกับ ศอ.บต.จัดการแข่งขันสนามอำเภอเบตง ใน Zero Edition หรือการทดสอบสนามมาแล้ว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 6-8 พฤษภาคม 2565 มีผู้เข้าร่วมแข่งขันจาก 13 ประเทศรวม 823 คน สามารถสร้างเงินหมุนเวียนภายในงานและการท่องเที่ยวต่อเนื่องรวม 127.59 ล้านบาท และรายการนี้ก็ได้รับการบรรจุเป็นหนึ่งใน 25 สนามของ UTMB World Series ระดับ Event และมีกำหนดจัด First Edition ระหว่างวันที่ 17-19 กุมภาพันธ์ 2566 นี้ด้วย

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันวิ่งเทรลระดับโลกทั้ง 2 รายการ จะส่งผลบวกต่อประเทศในหลายด้าน ทั้งการนำรายได้เข้าประเทศจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการจัดงาน การสร้างภาพลักษณ์ให้นานาชาติเห็นว่าไทยมีศักยภาพในการจัดการแข่งขันระดับโลก (World Event) ผ่านการถ่ายทอดสดไปทั่วโลกโดยสถานีโทรทัศน์ช่องกีฬาที่มีมาตรฐานสากล ซึ่งจากการจัดงานของไทยใน 3 ปีที่ผ่านมามีนักกีฬาเข้าร่วมกว่า 5,500 คน และการจัดงานยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มีการจัดการแข่งขันและจังหวัดใกล้เคียง เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน ตลอดจนพัฒนากิจการที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นด้วย

จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 100 ปี บช.น.

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงลักษณะของเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 100 ปี กองบัญชาการตำรวจนครบาล พ.ศ…. เพื่อเป็นที่ระลึกที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล(บช.น.) จะครบรอบ 100 ปี ในวันที่ 24 ธันวาคม 2565 นี้

โดยเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกจะเป็นโลหะสีขาว (ทองแดงผสมนิกเกิล) ชนิดราคา 20 บาท ซึ่ง บช.น. ได้ขอความร่วมมือกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังในการจัดทำ วัตถุประสงค์เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณของทั้งสองพระองค์ให้แผ่ไพศาลไปทั้งภายในประเทศและนานาประเทศ เป็นที่ระลึกการครบรอบ 100 ปี บช.น. และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของ บช.น.

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกดังกล่าว และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดทำเหรียญตามแบบที่ทูลเกล้าฯ ถวายแล้ว โดยค่าใช้จ่ายในการจัดทำทั้งหมดมาจากเงินทุนหมุนเวียนการบริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ ทรัพย์สินมีค่าของรัฐและการทำของ ประจำปีงบประมาณ 2566

สำหรับแบบเหรียญกษาปณ์ ด้านหน้า กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ผินพระพักตร์ทางเบื้องซ้าย ทรงสายสะพายและสายสร้อยแห่งขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมวงศ์ และพระรูปสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาพัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ผินพระพักตร์ทางเบื้องซ้าย ทรงกุณฑล ทรงฉลองพระองค์ชุดไทยทรงสายสร้อย พระอังสาเบื้องซ้ายประดับดวงตราปฐมจุลจอมเกล้า เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่9 ชั้นที่1 และเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 ชั้นที่ 1 ภายในขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความ “พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” และ ข้อความว่า “สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี”

ด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปเครื่องหมายราชการของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ภายในวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า “๑๐๐ ปี กองบัญชาการตำรวจนครบาล” เบื้องล่างมีข้อความ “๒๔ ธันวาคม ๒๕๖๕ ประเทศไทย”ด้านขวามีเลขบอกราคาว่า “๒๐” ด้านซ้ายมีข้อความว่า “บาท”

ปชช.เข้าร่วมโครงการจิตอาสาพระราชทานกว่า 6.9 ล้านคน

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 รับทราบความคืบหน้าการดำเนินโครงการจิตอาสาพระราชทาน ประจำเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2565

สปน. ระบุว่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 มีประชาชนลงทะเบียนเป็นจิตอาสาพระราชทานแล้ว 6,977,577 คน โดยเป็นประชาชน ในกรุงเทพฯ 457,466 คน และส่วนภูมิภาค 6,520,111 คน ซึ่งในเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2565 มี 16 หน่วยงาน ดำเนินกิจกรรมจิตอาสาพระราชทานรวม 19,949 ครั้ง ใน 4 กิจกรรมหลัก ได้แก่

    1) จิตอาสาพัฒนา รวม 19,152 ครั้ง โดยดำเนินการการปรับปรุงภูมิทัศน์และทำความสะอาดศาสนสถาน โรงเรียน สถานที่ราชการ อำนวยความสะดวกประชาชน บำเพ็ญประโยชน์ส่วนรวม บริจาคโลหิตและหน่วยบริการทางการแพทย์เคลื่อนที่ การคัดกรองเชิงรุกป้องกันโควิด19 มอบสิ่งของให้แก่ผู้ยากไร้ ปลูกต้นไม้ พัฒนาแหล่งน้ำ อบรมหลักสูตรการพัฒนาชีวิตขั้นพื้นฐาน

    2) จิตอาสาภัยพิบัติ รวม 473 ครั้ง โดยดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัย วาตภัย และอัคคีภัย อบรมป้องกันและระงับอัคคีภัย

    3) จิตอาสาเฉพาะกิจ โดยการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเข้าร่วมรับเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ จัดเตรียมสถานที่และร่วมพิธีเนื่องในวันสำคัญ บริจาคโลหิตถวายเป็นพระราชกุศล และ

    4) วิทยากรจิตอาสา 904 ในการบรรยายความรู้ในหลักสูตรจิตอาสา ความรู้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์กับประเทศไทย และความรู้เกี่ยวกับโครงการจิตอาสาพระราชทานตามพระราชดำริ

สำหรับ 16 หน่วยงาน ซึ่งดำเนินกิจกรรมจิตอาสาพระราชทานในรอบเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2565ประกอบด้วย กระทรวงกลาโหม, กระทรวงการคลัง, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงยุติธรรม, กระทรวงแรงงาน, กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงสาธารณสุข, กองอำนวยการรักษาความมั่งคงภายในราชอาณาจักร, กรมประชาสัมพันธ์, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

ตั้ง “นิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ” ขึ้นผู้ว่าฯ พัทลุง

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ/เห็นชอบ ในเรื่องแต่งตั้ง วันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ดังนี้

1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงสาธารณสุข)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ดังนี้

    1. นายสุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

    2. นายภูวเดช สุระโคตร ผู้ช่วยปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

2. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นายปิยวัฒน์ ศิวรักษ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการเงินการคลัง) ในคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่ขอลาออก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป โดยผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทน อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งตนแทน

3. แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ดังนี้

1. ประธานกรรมการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ได้แก่ ศาสตราจารย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา

2. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ได้แก่

    (1) ศาสตราจารย์จิรประภา อัครบวร
    (2) รองศาสตราจารย์จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์
    (3) รองศาสตราจารย์อภิชาติ จิระวุฒิพงศ์
    (4) นางกฤษดา แสวงดี
    (5) นายก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์
    (6) นายธีรพล โตพันธานนท์
    (7) นายพีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป

4. การแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง กระทรวงมหาดไทย

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง จำนวน 1 ราย ดังนี้ ให้นางนิศากร วิศิษฏ์สรอรรถ พ้นจากตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดพัทลุง สำนักงานปลัดกระทรวง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

5. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงคมนาคม)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง จำนวน 3 ราย ดังนี้

    1. นายมนตรี เดชาสกุลสม รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมทางหลวง ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง

    2. นายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดี (นักบริหารระดับต้น) กรมเจ้าท่า ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง

    3. นางสาวรัชนีพร ธิติทรัพย์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวง (นักบริหารระดับต้น) สำนักงานปลัดกระทรวง ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวงระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

6. แต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอแต่งตั้ง นางสาวสุนีย์ ศรีสง่าตระกูลเลิศ รองอธิบดี (นักบริหาร) กรมกิจการเด็กและเยาวชน ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565เพิ่มเติม