ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯปลื้มทูต 30 ประเทศ ชื่นชมไทยเดินหน้าสู่เป้าหมาย ศก. BCG – มติ ครม.ลดภาษีดีเซล 5 บาท/ลิตร 2 เดือน

นายกฯปลื้มทูต 30 ประเทศ ชื่นชมไทยเดินหน้าสู่เป้าหมาย ศก. BCG – มติ ครม.ลดภาษีดีเซล 5 บาท/ลิตร 2 เดือน

15 พฤศจิกายน 2022


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

นายกฯเยียวยาเหยื่อโศกนาฎกรรมหนองบัวลำภูแล้ว 46 ราย 43 ล้าน-ปลื้มทูต 30 ประเทศ ชื่นชมไทยเดินหน้าสู่เป้าหมาย ศก. BCG – เชื่ออาเซียนเป็นแสงสว่าง-ความหวัง ดึงเศรษฐกิจโลกฟื้น-มติ ครม.ลดภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท ต่ออีก 2 เดือน-เคาะงบฯประกันรายได้ 18,700 ล้าน แจกไร่ละพัน 55,083 ล้านบาท-ลดค่าวีซ่ารักษาพยาบาล หนุนท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ-ตั้ง “พาตีเมาะ สะดียามู” เป็น ผวจ.ผู้หญิงคนแรกที่ปัตตานี

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ ได้มอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

เชื่ออาเซียนเป็นแสงสว่าง-ความหวัง ดึงเศรษฐกิจโลกฟื้น

นายอนุชา กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. นายกฯ ได้กล่าวถึงความสำเร็จของการร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (10-12 พฤศจิกายน 2565) ที่กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามวัตถุประสงค์ และได้รับผลสำเร็จ โดยวาระการประชุมมีทั้งการประชุมที่เกี่ยวข้องกับกรอบอาเซียน และการประชุมทวิภาคีที่นายกฯ ซึ่งนายกฯ ได้มีโอกาสพูดคุยและปรึกษากับประเทศอื่นๆ และองค์กรระหว่างประเทศ

“ต้องบอกว่าหลายประเทศได้พูดว่า ท่ามกลางสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจของโลกที่ถดถอย แต่ในส่วนของอาเซียนถือว่าเป็นความหวัง เป็นแสงสว่างที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกสามารถกระเตื้องขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสของไทยในฐานะที่เรามีความสามารถในการแข่งขันหลายส่วนที่ได้พัฒนามากขึ้น และสามารถควบคุมและรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ได้เป็นอย่างดี สำคัญที่สุด คือ ในฐานะแหล่งผู้ผลิตอาหารของโลก ซึ่งถือว่าความมั่นคงทางอาหาร หรือ Food Security เป็นสิ่งที่ทั่วโลกพูดถึงเป็นอย่างยิ่ง” นายอนุชา กล่าว

นายอนุชา กล่าวต่อว่า “อุปสรรคหลายอย่างที่อาเซียนพบ รวมถึงไทย คือต้นทุนการผลิตของเกษตรกร โดยเฉพาะปัญหาปุ๋ยแพง ราคาสูง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงไปด้วย ซึ่งเป็นปัญหาไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย หรือ อาเซียนเท่านั้น จึงต้องมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่อง โดยตอนนี้เป็นการพูดคุยที่อินโดนีเซีย ในส่วน G20 ต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่องว่าหลังจากการประชุมอาเซียนจะมีการพูดเพิ่มเติมในส่วนใดได้บ้าง”

ปลื้มทูต 30 ประเทศ ชื่นชมไทยเดินหน้าสู่เป้าหมาย ศก. BCG

นายอนุชา กล่าวต่อว่า ในที่ประชุม ครม. นายกฯ กล่าวขอบคุณรองนายกฯ และรัฐมนตรีทุกคนที่ร่วมกันทำงานเตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC ที่จะเกิดขึ้นสัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2565 โดยเฉพาะมาตรการการรักษาความปลอดภัย ตลอดช่วงการประชุม และมั่นใจว่าการประชุมส่วนเนื้อหาสาระจะเป็นไปตามหัวข้อ หรือ Theme ที่กำหนดคือ “Open Connect Balance” หรือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล”

นายอนุชา กล่าวต่อว่า สัปดาห์การประชุมเอเปคได้เริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่เมื่อวานนี้ (14 พฤศจิกายน 2565) ที่นายกฯ ได้ต้อนรับคณะผู้แทนเยาวชนจากเขตเศรษฐกิจเอเปค ในโครงการ “APEC Voices of The Future” และเข้าเยี่ยมนายกฯ ที่ทำเนียบ รัฐบาล ถัดมาช่วงบ่าย นายกฯ ได้เปิดนิทรรศการ BCG ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ โดยผู้เข้าร่วมเป็นเอกอัครราชทูตมากกว่า 30 ประเทศ รวมถึงผู้แทนประเทศต่างๆ เกือบ 50 ประเทศ ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมงานกล่าวแสดงความชื่นชมในสิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการ ผลักดันเป้าหมายเศรษฐกิจ BCG ของกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว

“นายกฯ กล่าวว่าการประชุมเอเปคครั้งนี้ถือเป็นหน้าตาของคนไทยทั้งประเทศ ซึ่งผลลัพธ์ที่จะได้คือโอกาสประเทศไทยในการสร้างความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และความร่วมมือด้านต่างๆ ที่จะเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะประชาสัมพันธ์ศักยภาพทุกด้าน ท่านขอให้คนไทยทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าภาพต้อนรับผู้นำและผุ้เดินทางเข้าร่วมการประชุม” นายอนุชา กล่าว

เยียวยาเหยื่อโศกนาฎกรรมหนองบัวลำภูแล้ว 46 ราย 43 ล้าน

นายอนุชา รายงานว่า ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รายงานผลการประชุมคณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้เสียหาย กรณีเหตุการณ์ร้ายแรงในจังหวัดหนองบัวลำภู โดยคณะกรรมการกองทุนฯ ได้อนุมัติเงินกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยให้ผู้เสียชีวิตจำนวน 36 ราย และผู้บาดเจ็บ 10 ราย โดยไม่รวมกับเงินที่ได้บริจาคเข้ากองทุนเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม

นายอนุชา ให้ข้อมูลว่า กรณีเสียชีวิตได้รับ 1,000,000 บาทต่อราย กรณีทุพพลภาพ 700,000 บาทต่อราย กรณีบาดเจ็บสาหัส 200,000 บาทต่อราย กรณีบาดเจ็บไม่สาหัสหรือบาดเจ็บเล็กน้อย 100,000 บาทต่อราย

นอกจากนี้มีการอนุมัติเงินกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยในส่วนสำนักนายกฯ ให้ผู้เสียชีวิตที่มีการตั้งครรภ์ 8 เดือน เพิ่มเติมอีก 200,000 บาทเป็นกรณีพิเศษ โดยพิจารณาตามหลักมนุษยธรรมและข้อเท็จจริง

นายอนุชา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติเงินที่มี ‘ผู้บริจาค’ เพื่อช่วยเหลือเหตุการณ์เฉพาะในจังหวัดหนองบัวลำภู โดยกรณีเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสจะได้รับเพิ่ม 147,000 บาทต่อราย กรณีบาดเจ็บเล็กน้อยได้รับ 10,000 บาทต่อราย

ทั้งนี้ มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวมทั้งหมด 46 ราย ได้รับความช่วยเหลือทั้งสิ้น 43,214,000 บาท แบ่งเป็น ผู้เสียชีวิตความ 35 ราย ได้รับทั้งส่วนกองทุนฯ และส่วนบริจาคทั้งสิ้น 40,415,000 บาท กรณีผู้เสียชีวิตเป็นหญิงตั้งครรภ์ 8 เดือน ได้รับทั้งส่วนกองทุนฯ และส่วนบริจาคทั้งสิ้น 1,347,000 บาท กรณีบาดเจ็บสาหัส 6 ราย ได้รับทั้งส่วนกองทุนฯ และส่วนบริจาคทั้งสิ้น 1,482,000 บาท และกรณีไม่สาหัส 4 ราย ได้รับทั้งส่วนกองทุนฯ และส่วนบริจาคทั้งสิ้น 240,000 บาท

มติ ครม. มีดังนี้

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน , นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกฯ และนางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล (ซ้ายไปขวา)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

เคาะงบฯประกันรายได้ 18,700 ล้าน แจกไร่ละพัน 55,083 ล้านบาท

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว พร้อมมาตรการคู่ขนาน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/2566 และอนุมัติกรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 81,265.91 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้จากการจำหน่ายข้าวเปลือกในราคาที่เหมาะสมกับต้นทุนการผลิต ป้องกันความเสี่ยงในการจำหน่ายผลผลิต รวมทั้งมีมาตรการคู่ขนานเพื่อการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำควบคู่กัน ซึ่งรายละเอียดการดำเนินการเช่นเดียวกันกับโครงการฯ ในปีผลิตที่ผ่านมา ประกอบด้วย

1. โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 เป้าหมายเกษตรกร 4.68 ล้านครัวเรือน โดยเป็นการจ่ายส่วนต่างระหว่างราคาเกณท์กลางอ้างอิง (ราคาตลาด) และราคาประกันรายได้ (10,000 -15,000 บาทต่อตัน ตามชนิดข้าว) วงเงินรวม 18,700.13 ล้านบาท

2. มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 ประกอบด้วย 3 โครงการ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำ วงเงินรวม 7,482.69 ล้านบาท ได้แก่

    2.1 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2565/66 วงเงิน 7,107.69 ล้านบาท เป็นการจ่ายสินเชื่อเพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร จำนวน 2.5 ล้านตันข้าวเปลือก รวมทั้งค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวในอัตรา 1,500 บาทต่อตัน

    2.2 โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร เป็นการสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหการณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูปวงเงิน 375 ล้านบาท

    2.3 โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก เป็นการเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการให้เก็บสต็อกในรูปแบบข้าวเปลือกและข้าวสาร เป้าหมายเพื่อดูดซับ 4 ล้านข้าวเปลือก เก็บสต็อกไว้อย่างน้อย 60-180 วัน (2-6 เดือน) นับตั้งแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ใช้จ่ายจากงบปกติของกรมการค้าภายใน หรือ เงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

3.โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการ และพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 เป้าหมาย 4.68 ล้านครัวเรือน ซึ่งจะจ่ายเงินตรงให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือ ครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท วงเงินรวม 55,083.09 ล้านบาท

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การจัดสรรวงเงินงบประมาณ เบื้องต้นเป็นไปตามกรอบมาตรา 28 ของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 โดยโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมาตรการคู่ขนานและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 ได้ดำเนินการเช่นเดียวกับการดำเนินการตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังได้กล่าวในที่ประชุม ครม. ว่า เป้าหมายการส่งออกข้าวไทยในปีนี้จะสูงถึง 7.5 ล้านตันด้วย

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

ถามว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 ตั้งวงเงินในการจ่ายชดเชยชาวนาน้อยกว่าปีก่อนเป็นจำนวนมาก
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ในแต่ละปีราคาข้าวเปลือกจะไม่เท่ากัน อย่างปีที่แล้วเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ประเทศไทยส่งออกข้าวไม่ได้ ราคาข้าวในตลาดจึงต่ำกว่าราคาประกัน ทำให้รัฐบาลต้องจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้กับเกษตรกรไป 86,000 ล้านบาท แต่หลังจากสถานการณ์โควิดฯคลี่คลาย หลายประเทศทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหาร จึงมีการสั่งซื้อข้าวจากประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปีนี้กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายส่งออกข้าวไว้ที่ 7.5 ล้านตัน นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 กันยายน 2565 มีการส่งออกข้าวไปแล้ว 5,400,000 ตัน ประกอบกับมาตรการทั้งหมดที่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ในวันนี้ โดยเฉพาะมาตรการที่สนับสนุนให้เกษตรกรเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉางจะช่วยสกัดไม่ให้ผลผลิตข้าวไหลเข้าสู่ตลาดในปริมาณที่มากเกินไป ปีนี้กระทรวงพาณิชย์ คาดว่าจะจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวน้อยกว่าปีที่แล้ว

ถามต่อว่า ธ.ก.ส.จะจะเริ่มโอนเงินประกันรายได้เข้าบัญชีเกษตรกรได้เมื่อไหร่ นายวัฒนศักย์ กล่าวว่าหลังจากที่ประชุม ครม.เห็นชอบในหลักการแล้ว ก็จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการดำเนินการภายในสัปดาห์หน้า โดยจะเริ่มจ่ายเงินให้กับเกษตรกรที่เก็บเกี่ยวข้าวก่อนวันที่ 15 ตุลาคม 2565 เป็นกลุ่มแรกก่อน จากนั้นก็นำเสนอที่ประชุมบอร์ดของ ธ.ก.ส.พิจารณาอนุมัติ คาดว่าเกษตรกรกลุ่มแรกจะได้รับเงินประกันรายได้โอนเข้าบัญชีในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 สำหรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินประกันรายได้จะมีรายละเอียดดังนี้

    1.ข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้นไม่เกิน 15% ราคาประกันรายได้อยู่ที่ 15,000 บาท/ตัน ชดเชยให้ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน

    2.ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ความชื้นไม่เกิน 15% ราคาประกันรายได้ 14,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

    3.ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ความชื้นไม่เกิน 15% ราคาประกันรายได้ 11,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน

    4.ข้าวเปลือกเจ้า ความชื้นไม่เกิน 15% ราคาประกันรายได้ 10,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน

    5.ข้าวเปลือกเหนียว ความชื้นไม่เกิน 15% ราคาประกันรายได้ 12,000 บาท/ตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน

  • ข้าวแพง! ชาวนายิ้ม ครม.ตั้งงบประกันรายได้ปี’65/66 แค่ 18,700 ล้าน – แจกไร่ละพัน 20,000 บาท/ครัวเรือน
  • ลดภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท ต่ออีก 2 เดือน

    นายอนุชา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ขยายระยะเวลาการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลและน้ำมันอื่นๆที่คล้ายกัน ปรับลดประมาณ 5 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 2 เดือนตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 จนถึงวันที่ 20 มกราคม 2566

    โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้จัดประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ จากการจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ลดลงประมาณ 10,000 ล้านบาท/เดือน โดยการดำเนินการมาตรการภาษีในครั้งนี้เป็นระยะเวลาประมาณ 2 เดือนจึงคาดว่ารัฐจะสูญเสียรายได้ประมาณ 20,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จะเป็นการช่วยรักษาระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจนกระทบต่อค่าของชีพของประชาชนซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศได้

    เห็นชอบผลประชุม รมต. – ผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC

    นายอนุชา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบต่อร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 33 และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 เน้นประเด็นสำคัญ 3 ด้าน ประกอบด้วย (1) การเปิดเสรีและการอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน (2) การส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติ (3) การก้าวไปสู่การเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม โดยแต่ละด้าน ครอบคลุมรายละเอียด ดังนี้

    1) การเปิดเสรีและการอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน ได้แก่ การเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน ทบทวนการหารือเรื่องเขตการค้าเสรี FTAAP และการส่งเสริมสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา

    2) การส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติ ได้แก่ พัฒนาและการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนรัฐกับเอกชน เสริมสร้างความเชื่อมโยงด้านดิจิทัล การค้าไร้กระดาษและการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์การอำนวยความสะดวกการเดินทางข้ามพรมแดน ใช้ใบรับรองวัคซีน โควิด-19 อิเล็กทรอนิกส์

    3) การก้าวไปสู่การเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม ได้แก่ สนับสนุนการรับมือกับความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมอย่างครอบคลุม ฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม/เพิ่มจำนวนสินค้าสิ่งแวดล้อมเอเปค เปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด เพิ่มศักยภาพและการมีส่วนร่วมของกลุ่มคนที่ยังไม่ได้แสดงศักยภาพ เช่น MSME สตรี ชนพื้นเมือง ส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างหลักประกันการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 อย่างเท่าเทียมในราคาที่เข้าถึงได้ พัฒนาระบบการเกษตรอัจฉริยะเพื่อรับมือกับสภาพภูมิอากาศ สร้างความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน ส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงพื้นที่ที่ยั่งยืน เสนอให้ผู้นำเอเปครับรองเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว

    ทั้งนี้ ร่างเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว เป็นเอกสารผลลัพธ์ระดับผู้นำ ที่ไทยมุ่งจะผลักดันให้มีการรับรองในที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 เพื่อให้ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เจริญเติบโตอย่างเข้มแข็ง สมดุล มั่นคง และยั่งยืน ผ่านความร่วมมือ 4 ด้าน ได้แก่ (1) การจัดการกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าชเรือนกระจกเป็นศูนย์ (2) การส่งเสริมการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืนและครอบคลุม (3) การอนุรักษ์ บริหารจัดการ และการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และ (4) การบริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

    ลดค่าวีซ่ารักษาพยาบาล หนุนท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

    นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ว่า ครม. มีมติเห็นชอบทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ในการกำหนดค่าธรรมเนียมในการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาล ระยะเวลา 1 ปี (Medical Treatment Visa) รหัส Non-MT ให้ใช้อัตราใหม่คือรายละ 5,000 บาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ โดยปรับค่าธรรมเนียมจากเดิมรายละ 6,000 บาท สำหรับประเภท VISA เพื่อการรักษาพยาบาลได้สอดรับกับระยะเวลาและกระบวนการรักษาพยาบาลในปัจจุบัน ผู้ป่วยชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้าออกในไทยได้หลายครั้ง (Multiple Entry) ครั้งละไม่เกิน 90 วันในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ระบบวีซาประเภทนี้ในวันที่ 1 มกราคม 2566

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ตามนโยบายรัฐบาลด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) (พ.ศ. 2560 – 2569) และให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างรายได้และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ครม.จึงมีมติวันนี้ให้พิจารณากำหนดค่าธรรมเนียมในการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาล ระยะเวลา 1 ปีสำหรับผู้ป่วยชาวต่างชาติที่ได้มีการนัดหมายล่วงหน้ากับสถานพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล ในอัตรารายละ 5,000 บาท ให้เป็นไปตามกฎกระทรวง (พ.ศ. 2523) ออกตามความใน พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2546) ออกตามความในพ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 28 (พ.ศ. 2549) ออกความตามในพ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องและประชาสัมพันธ์ให้ชาวต่างชาติทราบอย่างทั่วถึงต่อไป

    “การขอรับการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาล ระยะเวลา 1 ปี เมื่อครบกำหนด 1 ปีแล้ว ไม่สามารถขยายอายุต่อได้ หรือ Medical Treatment Visa รหัส Non-MT ที่จะต้องรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ทุก 90 วัน ผู้ขอจะต้องมีการยื่นเอกสารการนัดหมายกับสถานพยาบาล (Confirmation Letter) หลักฐานการเงินที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายภายในประเทศเป็นเงินสดไม่น้อยกว่า 800,000 บาท หลักฐานการเงินที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เอกสารแสดงประกันภัยกรณีอุบัติเหตุและการช่วยเหลือฉุกเฉินรวมความคุ้มครองการรักษาโควิด-19 ในประเทศไทย และการขออยู่ต่อจะต้องแสดงใบรับรองแพทย์ที่ออกโดยโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน และสถาบันทางการแพทย์ภาครัฐเท่านั้น” นางสาวทิพานัน กล่าว

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า กลุ่มโรคที่อนุญาตให้เข้ารับการขอรับการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาล เฉพาะผู้ที่มารับบริการในกลุ่มโรคหรือหัตถการที่มีระยะเวลารักษาต่อเนื่องที่ต้องใช้เวลามากกว่า 90 วัน โดยสถานพยาบาลต้องมีแผนการรักษา (Doctor Plan) และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน อาทิ เวชศาสตร์ชะลอวัยและการฟื้นฟูสุขภาพ การแพทย์ทางเลือก โรคระบบหัวใจหลอดเลือด โรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ทันตกรรม เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันทางการแพทย์ โรคมะเร็ง ศัลยกรรมเสริมความงาม จักษุ การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลโดยรับรองเป็นรายกรณี โดยกระทรวงสาธารณสุขจัดทำเอกสารกลุ่มโรคและหัตถการเพื่อการรับรอง

    อนุรักษ์ “กุยบุรี-เขาสามร้อยยอด-ปากน้ำปราณบุรี” เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางชีวภาพ

    นางสาวทิพานัน กล่าวต่อว่าที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบและอนุมัติโครงการบูรณาการการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Mainstreaming Biodiversity – based Tourism in Thailand to Support Sustainable Tourism Development) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ เพื่อบูรณาการการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเข้ากับการพัฒนา และการดำเนินงานด้านการท่องเที่ยว ทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ให้ประเทศจากการท่องเที่ยว ในขณะที่มีการส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพของชุมชน และที่สำคัญที่สุดคือจะเป็นการนำร่องโครงการที่จะส่งเสริมให้มีการเพิ่มการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวไปสู่ชุมชนให้เหมาะสมเพิ่มมากขึ้น สร้างประโยชน์โดยตรงให้ทั้งสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ เป็นการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จึงทำให้กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility : GEF) ให้การสนับสนุนงบประมาณบางส่วนวงเงินจำนวน 2,639,726 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 97.67 ล้านบาท) สำหรับการดำเนินโครงการตามที่สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme : UNDP) ประเทศไทยพัฒนาโครงการดังกล่าว

    “ความมุ่งหมายของโครงการดังกล่าว เพื่อให้มีการพัฒนากรอบนโยบายด้านการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพที่มุ่งส่งเสริมการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนและชุมชนได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง โดยที่เป็นการท่องเที่ยวที่หลีกเลี่ยงการสร้างผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมาย (นำร่อง) 3 พื้นที่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่มีแหล่งภูมิทัศน์ที่สวยงามและความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญระดับโลก มีระบบนิเวศที่หลากหลาย มีพื้นที่แนวชายฝั่งที่เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด ได้แก่ พื้นที่เป้าหมายหลัก 2 พื้นที่ คือ อุทยานแห่งชาติกุยบุรีและอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดโดยมีพื้นที่ทางบกและทางทะเลคิดเป็น 721,039.93 ไร่ และพื้นที่ทำงานข้างเคียง 1 แห่ง ได้แก่ บริเวณปากน้ำปราณบุรี ที่เป็นพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลและพื้นที่ชุมน้ำสามร้อยยอดคิดเป็น 107,553.75 ไร่” นางสาวทิพานัน กล่าว

    นางสาว ทิพานัน กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2565 – 2569 และเมื่อดำเนินโครงการเรียบร้อยแล้ว ผลสำเร็จที่ได้จะประกอบด้วย 3 ประการได้แก่

    1. กรอบนโยบาย มีกรอบนโยบายระดับชาติและกลไกการประสานงานที่มีการบูรณาการและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น การพัฒนากลยุทธ์การท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพในระดับชาติ และวิธีการประเมินผลกระทบจากการท่องเที่ยวต่อสังคม เศรษฐกิจ และระบบนิเวศ ที่น่าเชื่อถือและสามารถนำไปปฏิบัติได้ เป็นต้น

    2. สร้างต้นแบบในระดับจังหวัด มีต้นแบบของแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโดยที่ความหลากหลายทางชีวภาพได้รับการอนุรักษ์และมีกลไกการเงินสนับสนุนการดำเนินการในพื้นที่ เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจระดับชุมชนท้องถิ่น เป็นต้น

    3. ขยายผลให้มีองค์ความรู้ที่สร้างจิตสำนึกในคุณค่าและความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพและกระบวนการที่จะนำไปสู่การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน เช่น การจัดการองค์ความรู้ การสร้างความตระหนักรู้ และการติดตามและประเมินผล สนับสนุนการสร้างจิตสำนึกให้กับนักท่องเที่ยว ชุมชนท้องถิ่น สมาคมการท่องเที่ยว ให้เห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพ โดยจะนำความสำเร็จในการดำเนินโครงการไปแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practices) ในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ เพื่อขยายผลการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

    “รัฐบาลมีนโยบายหลักที่ต้องการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะเอื้อประโยชน์ให้คนในชุมชนอย่างยั่งยืน รายได้จากภาคการท่องเที่ยวมีส่วนสำคัญที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงส่งเสริมโครงการบูรณาการการท่องเที่ยวกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพจึงเป็นโครงการต้นแบบที่จะสร้างสมดุลให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่มีการพัฒนาทั้ง 3 ด้านไปด้วยกัน คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม และ ด้านสังคม” นางสาวทิพานัน กล่าว

    วางระบบกำกับดูแลการคลังท้องถิ่น

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ และ อปท. รูปแบบทั่วไปเป็นหน่วยรับงบประมาณตามกฎหมายงบประมาณและได้รับงบประมาณอุดหนุนจากรัฐสูง แต่ยังขาดเครื่องมือในการตรวจสอบสถานะด้านการคลังและงบประมาณท้องถิ่น ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบและอนุมัติแนวทางเสริมสร้างศักยภาพการคลังท้องถิ่น (แบบประเมินสุขภาพการคลังท้องถิ่น) ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ เพื่อสร้างเครื่องมือในการตรวจสอบสถานะด้านการคลังและงบประมาณท้องถิ่นให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป 7,850 แห่ง นำไปใช้เพื่อปรับปรุงระบบการกำกับดูแลด้านการเงินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

    แบบประเมินนี้ จะมีการตรวจสอบภายใน การควบคุมภายใน และการบริหารจัดการความเสี่ยงตามมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และพัฒนาให้มีการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนตรวจสอบได้ เพื่อให้ อปท. มีความเข้มแข็งสามารถให้บริการประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า แบบประเมินสุขภาพการคลังท้องถิ่นจะมีการประเมิน ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566 โดยใช้ข้อมูลผลการปฏิบัติงานของปีงบประมาณ 2565 จะมีการชี้วัดในด้านต่างๆ 8 ด้าน

      1. ด้านรายได้ ประเมินประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ของ อปท. รวมทั้งการใช้นวัตกรรมในการจัดเก็บรายได้

      2. ด้านการเงิน ประเมินประสิทธิภาพในการชำระเงินที่ผ่านหลายช่องทาง สะดวก รวดเร็ว

      3. ด้านงบประมาณรายจ่าย ประเมินความสอดคล้องการจัดทำคำของบประมาณประจำปีกับแผนพัฒนาท้องถิ่น ความพร้อมในการดำเนินโครงการ และความสามารถในการก่อหนี้ผูกพัน

      4. ด้านการจัดซื้อจัดจ้าง ประเมินความสามารถในการปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐได้อย่างถูกต้องตามระยะเวลา ขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด มีความโปร่งใส และมีการดำเนินการตามข้อตกลงคุณธรรม

      5. ด้านการบัญชีและสินทรัพย์ จัดทำรายงานบัญชีและสินทรัพย์ตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐและรายงานต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน

      6. ด้านการกำกับดูแลตนเอง ประเมินการควบคุมภายใน การตรวจสอบภายใน จัดทำรายงานการตรวจสอบภายใน และการจัดทำแผนบริหารจัดการความเสี่ยง

      7. ด้านการก่อหนี้ระยะยาว ประเมินความคุ้มค่าของโครงการที่ก่อหนี้ระยะยาวหรือโครงการที่ใช้เงินกู้ว่าสอดคล้องกับวิสัยทัศน์การพัฒนาท้องถิ่น และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

      8. ด้านเงินสะสม ประเมินประสิทธิผลของการใช้เงินสะสมตามวัตถุประสงค์ และรักษาระดับของเงินสะสมเพื่อเสถียรภาพทางการคลัง

    “การมีแบบประเมินนี้ ก็เพื่อการบริการเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ต้องสามารถเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนตรวจสอบได้ พร้อมกับสามารถนำไปปรับปรุงระบบการกำกับดูแลตนเองได้” นางสาวทิพานัน กล่าว

    MOU “ไทย – ซาอุฯ” ยกเว้นวีซ่าผู้ถือหนังสือเดินทางทูต-ข้าราชการ

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ว่า ครม.เห็นชอบการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียว่าด้วยการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูต หนังสือเดินทางราชการ และหนังสือเดินทางพิเศษ โดยจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของมกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย วันที่ 18 – 19 พฤศจิกายน 2565 โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซาอุดิอาระเบียเป็นผู้แทนรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย

    สาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ กำหนดให้ประชาชนของประเทศคู่ภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ถือหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางราชการที่มีผลใช้ได้ของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางพิเศษที่มีผลใช้ได้ของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย จะต้องเดินทางผ่าน พำนัก และเดินทางออกจากดินแดนของภาคีอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่ต้องรับการตรวจลงตราเป็นระยะเวลารวมกันไม่เกินกว่า 90 วัน ในช่วงระยะเวลา 180 วัน นับจากวันแรกที่เดินทางเข้า โดยมีเงื่อนไขว่า บุคคลเหล่านั้นจะไม่ทำงานใด ไม่ว่าการทำงานนั้นจะเป็นการดำเนินกิจการของตนเอง หรือกิจกรรมเชิงพาณิชย์ส่วนตัวใด

    ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า การจัดทำบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัน ภายหลังการปรับความสัมพันธ์ระหว่างสองราชอาณาจักรให้เป็นปกติโดยสมบูรณ์ ซึ่งมีแนวโน้มที่การติดต่อระหว่างหน่วยงานราชการและนักธุรกิจจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับซาอุดิอาระเบียแล้ว ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานราชการต่าง ๆ หรือภาคเอกชนจำนวนมากที่เป็นราชวงศ์ มักจะถือหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางพิเศษ อีกทั้ง การทำบันทึกความเข้าใจดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อราชการระหว่างหน่วยงานของทั้งสองประเทศได้เป็นอย่างมาก

    ดร.รัชดา กล่าวต่อไปว่า นอกจากร่างบันทึกความเข้าใจข้างต้น รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย พร้อมลงนามร่างบันทึกความเข้าใจฯ ระหว่างวันที่ 18 – 19 พฤศจิกายน 2565 อีก 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับแรก คือ ร่างบันทึกความเข้าในว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการท่องเที่ยวแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เพื่อพัฒนาความร่วมมือระดับทวิภาคในสาขาท่องเที่ยว ภายใต้ขอบเขตความร่วมมือ เช่น 1)ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวระหว่างกันมากขึ้น 2)แลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและพัฒนาบุคลากรในภาคการท่องเที่ยวและบริการ 3)ส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยว เช่น การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงมรดกวัฒนธรรม เป็นต้น ส่วนฉบับที่สอง คือ ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างกระทรวงพลังงานแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงพลังงานแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งกรอบความร่วมมือระหว่างคู่ภาคีในสาขาพลังงาน ภายใต้สาขาความร่วมมือ เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนและเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ การส่งเสริมการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลและนวัตกรรมด้านพลังงาน การเสริมสร้างขีดความสามารถบุคลากรผ่านการฝึกอบรมและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน การขับเคลื่อนของคู่ภาคีมีหน้าที่ เช่น จัดตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำข้อเสนอที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจนี้ แต่ละภาคีจะรับผิดชอบต้นทุนทางการเงินตามความตกลงนี้

    ผ่านแผนปฏิบัติการหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่นฯ

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น ในระยะ 5 ปี และร่างถ้อยแถลงร่วมระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น เรื่อง การยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน โดยทั้งสองประเทศจะมีการลงนามรับรองเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ระหว่างวันที่ 16 – 19 พ.ย. 2565 ร่างเอกสารแต่ละฉบับ มีสาระสำคัญ อาทิ

    ฉบับแรก คือ ร่างแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น ในระยะ 5 ปี เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของทั้งสองประเทศในการดำเนินความร่วมมือด้านเศรษฐกิจในห้วงปี 2565 – 2569 โดยมีความร่วมมือ 3 ด้านหลัก ดังนี้

    ความร่วมมือหลักด้านที่ 1 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การปรับปรุงกฎระเบียบ และนวัตกรรม ประกอบด้วย

      1.1 การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและการส่งเสริมการลงทุน อาทิ ส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจการลงทุนจากญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย เช่น เครื่องจักรระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ ยานยนต์สมัยใหม่ ยา อุปกรณ์การแพทย์และด้านสุขภาพ เป็นต้น ส่งเสริมกิจการของบริษัทญี่ปุ่นที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาของไทย โดยเฉพาะโครงการหลักในเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทย เช่น EEC

      1.2 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการศึกษาขั้นสูงในอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ (1)การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดย JICA เช่น ส่งเสริมนโยบายประเทศไทย 4.0 ขยายเครือข่ายการศึกษาระดับสูงในอาเชียนและภูมิภาคอื่น กำหนดหลักสูตรโคเซ็นของญี่ปุ่นให้เหมาะสม และสนับสนุนความเชื่อมโยงระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับสถาบันไทยโคเซ็น

      1.3 การส่งเสริมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และ Start – up อาทิ ส่งเสริมการลงทุนและการเพิ่มจำนวน Start – up โดยร่วมมือระหว่าง SMEs และ Start – up ของไทยและญี่ปุ่นในภาคอุตสาหกรรมสาขาต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมอัจฉริยะ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอุปกรณ์ทางการแพทย์ หุ่นยนต์ ยานยนต์ไฟฟ้า

      1.4 การพัฒนาด้านอวกาศ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม อาทิ ใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียม แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

      1.5 การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทย และ EEC อาทิ (1)ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น สุขภาพ ดิจิทัล เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ โลจิสติกส์ การวิจัยและพัฒนา (2)ส่งเสริมการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่กำลังดำเนินการร่วมกับญี่ปุ่นใน EEC เช่น เมืองอัจฉริยะ เขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โครงการวิจัยด้านสุขภาพจีโนมิกส์ประเทศไทย และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก

    ความร่วมมือหลักด้านที่ 2 เศรษฐกิจชีวภาพ เศษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green (BCG) Economy) ประกอบด้วย 2.1อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมหมุนเวียน และอุตสาหกรรมสีเขียว อาทิ ส่งเสริมการขยายการลงทุนและธุรกิจใหม่ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ร่วมมือเพื่อส่งเสริมแนวคิด 3Rs (Reduce, Reuse and Recycle) 2.2สิ่งแวดล้อมและพลังงานเพื่อเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน อาทิ ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและระบบการจัดการพลังงานแบบรัฐต่อรัฐ 2.3การเกษตรอัจฉริยะและการแปรรูปอาหาร อาทิ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐ เสริมสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจสำหรับบริษัทญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับอาหาร 2.4การพัฒนาอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ อาทิ ปรับปรุงการบริหารการเงินของระบบประกันสุขภาพสาธารณะในไทย การเข้าถึงนวัตกรรมด้านเภสัชกรรมและอุปกรณ์การแพทย์ของญี่ปุ่นในไทย แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับยาและอุปกรณ์การแพทย์ 2.5การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ อาทิ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพโดยแบ่งปันข้อมูลเชิงลึก

    ความร่วมมือหลักด้านที่ 3 โครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย 3.1การคมนาคมและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยง อาทิ ร่วมมือและการลงทุนในด้านการวิจัยและนวัตกรรม 3.2 การค้าดิจิทัลและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) อาทิ แบ่งปันองค์ความรู้ สร้างธุรกิจการบริการที่เชื่อถือได้และพัฒนาสภาพแวดล้อมการแข่งขันที่เป็นธรรม 3.3โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (การสื่อสาร) อาทิ ยกระดับเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐาน จับคู่สถาบันวิจัยกับบริษัทที่เกี่ยวข้อง พัฒนาขีดความสามารถด้านความมั่นคงปลอดภัยไชเบอร์ 3.4เมืองอัจฉริยะ อาทิ แบ่งปันองค์ความรู้ด้านนโยบายเมืองอัจฉริยะระหว่างสองประเทศ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา(R&D) การลงทุนร่วมในสาขาเทคโนโลยีดิจิทัล 3.5การพัฒนาเมือง อาทิ แบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับตลาดอสังหาริมทรัพย์

    ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า ฉบับที่สอง คือ ร่างถ้อยแถลงร่วมระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น เรื่อง การยกระดับความสัมพันธ์เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน เป็นการประกาศเจตนารมณ์ทางการเมืองระหว่างรัฐบาลไทยกับญี่ปุ่นในการยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” ผ่านร่างแผนปฏิบัติการร่วม เพื่อให้นำร่างแผนปฏิบัติการร่วมไปสู่การปฏิบัติจนเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม อันจะนำไปสู่ความก้าวหน้าและความมั่งคั่งร่วมกันของทั้งสองประเทศ

    ตั้ง “พาตีเมาะ สะดียามู” เป็น ผวจ.ผู้หญิงคนแรกที่ปัตตานี

    ดร.รัชดา กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้งข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้

    1. อนุมัติตามที่สำนักข่าวกรองแห่งชาติเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

      1. นายธรรมรัตน์ รัตนมณี ผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการระดับสูง) สำนัก 10 สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ (นักการข่าวทรงคุณวุฒิ) กลุ่มงานที่ปรึกษา สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2565

      2. นางสาวชลดา โชติสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนัก (ผู้อำนวยการระดับสูง) สำนัก 8 สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการดำเนินงานข่าวกรองในต่างประเทศ (นักการข่าวทรงคุณวุฒิ) กลุ่มงานที่ปรึกษา สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. เห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอแต่งตั้งว่าที่ร้อยเอก มนตรี มั่นคง เป็นข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป

    3. อนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งรองประธานกรรมการและกรรมการในคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส) ดังนี้

      1. นายประยูร อินสกุล รองประธานกรรมการ

      2. นายชาญวิทย์ นาคบุรี กรรมการ

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป และให้ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

    4. เห็นชอบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอแต่งตั้ง นายชูเกียรติ มาลินีรัตน์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการรักษาผลประโยชน์ของชาติ) ในคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่ขอลาออก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป โดยผู้ที่ได้รับแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างนั้นดำรงตำแหน่งได้เท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งตนแทน

    5. อนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้ง พลโท นิธิ จึงเจริญ เป็นกรรมการในคณะกรรมการการไฟฟ้านครหลวง แทน นายสราวุธ เบญจกุล กรรมการเดิมที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากขอลาออก เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2565 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป โดยผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการ ซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

    6. อนุมัติตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างและสับเปลี่ยนหมุนเวียน รวมจำนวน 2 ราย ดังนี้

      1. แต่งตั้ง นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ

      2. แต่งตั้ง นายกันตพงศ์ รังษีสว่าง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป

    ดร.รัชดา กล่าวต่อว่านอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังมีมติอนุมัติแต่งตั้งข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง จำนวน 37 ราย ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ ดังนี้

      1. ให้นายภาสกร บุญญลักษม์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดเชียงราย สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดกระบี่ สำนักงานปลัดกระทรวง

      2. ให้นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดกระบี่ สำนักงานปลัดกระทรวง และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดเชียงราย สำนักงานปลัดกระทรวง

      3. ให้นายคมสัน เจริญอาจ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับต้น) จังหวัดนครปฐม สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชกรกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง

      4. ให้นายธนิศร์ วงศ์ปิยะสถิตย์ รองอธิบดี (นักบริหาร ระดับต้น) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง

      5. ให้นายปรีชา เดชพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับต้น) จังหวัดนครสวรรค์ สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง

      6. ให้นายปรีชา ทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับต้น) จังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง

      7. ให้นายพิเชษฐ์ ปาณะพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับต้น) จังหวัดภูเก็ต สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง

      8. ให้นายพิริยะ ฉันทดิลก รองอธิบดี (นักบริหาร ระดับต้น) กรมการปกครอง ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง

      9. ให้นายสมภพ สมิตะสิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับต้น) จังหวัดสระบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง

      10. ให้นางสาวสิริมา วัฒโน รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับต้น) จังหวัดหนองคาย สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง

      11. ให้นายสุภกิณห์ แวงชิน รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับต้น) จังหวัดลพบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง

      12. ให้นายอนุพงศ์ สุขสมนิตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับต้น) จังหวัดบุรีรัมย์ สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง

      13. ให้นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับต้น) จังหวัดสงขลา สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (ผู้ตรวจราชการกระทรวง ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง

      14. ให้นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับต้น) จังหวัดกาฬสินธุ์ สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดกาฬสินธุ์ สำนักงานปลัดกระทรวง

      15. ให้นายนที มนตริวัต รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับต้น) จังหวัดชัยนาท สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดชัยนาท สำนักงานปลัดกระทรวง

      16. ให้นายบัญชา เชาวรินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับต้น) จังหวัดเชียงราย สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดนครนายก สำนักงานปลัดกระทรวง

      17. ให้นายวันชัย จันทร์พร รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับต้น) จังหวัดอุดรธานี สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดนครพนม สำนักงานปลัดกระทรวง

      18. ให้นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับต้น) จังหวัดบึงกาฬ สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดบึงกาฬ สำนักงานปลัดกระทรวง

      19. ให้นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับต้น) จังหวัดบุรีรัมย์ สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดบุรีรัมย์ สำนักงานปลัดกระทรวง

      20. ให้นายรณรงค์ นครจินดา รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับต้น) จังหวัดพิษณุโลก สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดปราจีนบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง

      21. ให้นางพาตีเมาะ สะดียามู รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับต้น) จังหวัดนราธิวาส สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดปัตตานี สำนักงานปลัดกระทรวง

      22. ให้นายพยนต์ อัศวพิชยนต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับต้น) จังหวัดพิจิตร สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดพิจิตร สำนักงานปลัดกระทรวง

      23. ให้นายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันติ์ ตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับต้น) จังหวัดสระแก้ว สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดเพชรบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง

      24. ให้นายชุติเดช มีจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับต้น) จังหวัดพะเยา สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดแพร่ สำนักงานปลัดกระทรวง

      25. ให้นายวรญาณ บุญณราช รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับต้น) จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดมุกดาหาร สำนักงานปลัดกระทรวง

      26. ให้นายวิรุจ วิชัยบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับต้น) จังหวัดอุบลราชธานี สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดยโสธร สำนักงานปลัดกระทรวง

      27. ให้นายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับต้น) จังหวัดสตูล สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดยะลา สำนักงานปลัดกระทรวง

      28. ให้นายศักระ กปิลกาญจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับต้น) จังหวัดพังงา สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดระนอง สำนักงานปลัดกระทรวง

      29. ให้นายทวี เสริมภักดีกุล รองอธิบดี (นักบริหาร ระดับต้น) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดเลย สำนักงานปลัดกระทรวง

      30. ให้นายสำรวย เกษกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับต้น) จังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดศรีสะเกษ สำนักงานปลัดกระทรวง

      31. ให้นายศุภมิตร ชิณศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับต้น) จังหวัดสมุทรปราการ สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดสมุทรปราการ สำนักงานปลัดกระทรวง

      32. ให้นายสมนึก พรหมเขียว รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับต้น) จังหวัดปัตตานี สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดสมุทรสงคราม สำนักงานปลัดกระทรวง

      33. ให้นายสุชาติ ทีคะสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับต้น) จังหวัดสุโขทัย สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดสุโขทัย สำนักงานปลัดกระทรวง

      34. ให้นายราชันย์ ชุ้นหั้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับต้น) จังหวัดนนทบุรี สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดหนองคาย สำนักงานปลัดกระทรวง

      35. ให้นายสุวิทย์ จันทร์หวร รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับต้น) จังหวัดหนองบัวลำภู สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดหนองบัวลำภู สำนักงานปลัดกระทรวง

      36. ให้นายชนาส ชัชวาลวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับต้น) จังหวัดร้อยเอ็ด สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดอำนาจเจริญ สำนักงานปลัดกระทรวง

      37. ให้นายธีรพัฒน์ คัชมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับต้น) จังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด (นักปกครอง ระดับสูง) จังหวัดอุทัยธานี สำนักงานปลัดกระทรวง

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 เพิ่มเติม