ThaiPublica > ประเด็นร้อน > บันทึกภาคประชาชน > บันทึกภาคประชาชน : “วิโรจน์ นวลแข” ตั้งคำถามถึงหน่วยงานตลาดทุน บังคับใช้กม.อย่างไรให้นักลงทุนไทยเท่าเทียมเป็นธรรม (จบ)

บันทึกภาคประชาชน : “วิโรจน์ นวลแข” ตั้งคำถามถึงหน่วยงานตลาดทุน บังคับใช้กม.อย่างไรให้นักลงทุนไทยเท่าเทียมเป็นธรรม (จบ)

14 พฤศจิกายน 2022


บันทึกภาคประชาชน “วิโรจน์ นวลแข” ตั้งคำถามถึงหน่วยงานตลาดทุนไทย บังคับใช้กฎหมายอย่างไรให้นักลงทุนไทยเท่าเทียม เป็นธรรม (จบ)

ต่อจากตอนที่ 1

หลังจากที่ “วิโรจน์ นวลแข” ตั้งคำถามถึงหน่วยงานตลาดทุนไทย เรื่องการทำความเข้าใจคอนเซปต์ของกฎหมายเพื่อนำไปสู่การบังคับใช้ที่ให้ผลทางปฏิบัติ เพื่อสร้างความเท่าเทียม เป็นธรรมในด้านข่าวสารข้อมูลให้กับผู้ถือหุ้น โดยเฉพาะผู้ถือหุ้นรายย่อยแล้ว ยังมีข้อเสนอเกี่ยวกับการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ไทย ให้เป็นไปตามปรัชญาที่ว่า เป็นตลาดที่จัดสรรทรัพยากรให้เป็นธรรมและทั่วถึงอย่างแท้จริง

“วิโรจน์” บอกว่า แนวคิดดังกล่าวจะทำได้ต้องให้ตลาดหลักทรัพย์ เป็นตลาดที่ open for all ที่รวมถึงการเปิดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาถือครองหุ้นได้อย่างเสรี ซึ่งทั้งรัฐวิสาหกิจและบริษัทจดทะเบียน(บจ.) หลายแห่งยังไม่เข้าใจแนวคิดนี้ และไม่ยอมให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนที่สูงขึ้น

การเปิดตลาดทุน ต้องมีความเสรีในการเคลื่อนไหวในเข้าออกของเงินทุน แต่ไทยมีกติกาเยอะ บริษัทไทยหลายแห่งไม่ยอมให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในสัดส่วนสูง ทั้งที่การลงทุนต้องใกล้เสรีมากที่สุด ไม่เช่นนั้นมันไม่ใหญ่พอ ไม่ professional เมื่อไทยจะเปิดตัวเองสู่โลกแล้ว ก็ต้องเปิดเสรีพอสมควร

“ต้องเข้าใจว่า การที่ต่างชาติมาลงทุนใน บจ. ไทย แต่ทรัพย์สินของ บจ. ยังอยู่ในเมืองไทย การบริหารอยู่ในมือคนไทย นักลงทุนเมืองนอกนั้น นอกจากบริษัทที่เขาเทกโอเวอร์แล้ว เขาจะไม่แตะต้องเรื่องการบริหาร ซึ่งเป็นมารยาทที่สำคัญ เพราะต่างชาติเขาถือว่าเขาเก่งเรื่องการลงทุน แต่ไม่ได้เก่งเรื่องธุรกิจไฟฟ้า ธุรกิจแบงก์ แต่พอไปบล็อกการถือหุ้น บจ. ตลาดหุ้นก็ไม่มีสมดุลในตัวมันเอง ทำให้นักลงทุนกลุ่มหนึ่งมีอภิสิทธิ์ ต่างชาติถือหุ้นเหลือสัดส่วน 10% เขาก็ไม่มาลงทุน เพราะหุ้นมันใหญ่ไม่พอ”

“วิโรจน์” มองว่า การไม่เปิดเสรีให้มีต่างชาติเข้ามาถือหุ้น เท่ากับไม่เปิดโอกาสให้ตลาดหลักทรัพย์ไทยเกิดการแข่งขันกันอย่างเสรี และทำให้ บจ. ขนาดใหญ่สามารถใช้ตลาดหลักทรัพย์ในการสร้างตัวให้เติบใหญ่ขึ้น ขณะที่ บจ. ขนาดเล็ก ไม่สามารถเติบโตได้ และถูก บจ.ขนาดใหญ่ไม่กี่บริษัทเข้าซื้อกิจการ ทั้งเพื่อให้ขนาดของบริษัทใหญ่ขึ้น เติบโตมากขึ้น หรือซื้อกิจการเพียงเพื่อจะกำจัดคู่แข่ง ซื้อมาฆ่าปล่อยให้แห้งตาย ซึ่งเป็น “สัญญาณอันตราย” อย่างยิ่ง ต่อการพัฒนาตลาดทุนที่มีเป้าหมายเพื่อการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรม

“การไม่เปิดโอกาสให้คนมาแข่งขันกันจริง คุณจะรวยล้ำฟ้าไม่ว่าอะไรกัน แต่การได้มาเพราะการบังคับกฎหมายที่ไม่แน่นอน รวมทั้งโอกาสทำการค้าเกี่ยวพันกับผู้มีอำนาจเพื่อให้เติบโตได้ หากปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ บริษัทใหญ่เหล่านี้ก็จะซื้อคนจากบริษัทที่ทำธุรกิจเหมือนกัน บริษัทที่ดีถูกเทกโอเวอร์ให้อยู่ในอำนาจของคนไม่กี่กลุ่ม ในบ่อมีแต่ปลาใหญ่เจริญไปเรื่อย แล้วปลาใหญ่ก็กินปลาเล็ก แทนที่จะสร้างปลาเล็กให้เป็นปลาขนาดกลางเต็มบ่อ

นี่เป็นอันตรายของประเทศ เป็นอะไรที่น่ากลัว เพราะพัมตลาดทุนพัฒนาไปในทิศทางเดียวกับระบบธนาคารมากขึ้นทุกที คือ คนรวยมีโอกาสใช้ แต่คนจนไม่มีโอกาส ทำให้ปลาใหญ่โตไปเรื่อยๆ อำนาจเงินที่แบงก์ให้กับกลุ่มบริษัทใหญ่ หรือให้เงินมาเทกโอเวอร์บริษัทคู่แข่ง ไม่ให้แข่งขันได้ จะทำให้เกิดการผูกขาดไปเรื่อย การผูกขาดจะทำให้ประชาชนกินอยู่แพงขึ้นแน่นอน

คอนเซปต์ตลาดทุนที่ว่า เป็นตลาดที่จัดสรรทรัพยากรให้เป็นธรรม ทั่วถึง จึงไม่ใช่มาตั้งแต่ต้น เพราะเริ่มมีการบล็อก โดยเฉพาะการบล็อกคนต่างชาติ ก็เลยแย่ พอตลาดไม่เสรี หุ้นก็ไม่เสรี เพราะมันมีจุดบอดในตัวมันเอง

“วิโรจน์” บอกว่า เรื่องการเปิดเสรีในด้านต่างๆ นั้น มีแนวคิดมาไม่ต่ำกว่า 50 ปี นับตั้งแต่มีการนำเสนอให้คำว่า “รัฐชาติ” ต้องหายไป และเปลี่ยนคอนเซปต์มาเป็น economic zone แต่ปัญหาคือ นักการเมืองไม่อยากให้รัฐชาติหายไป ต้องการความเป็นไทยสมบูรณ์แบบ ซึ่งขัดความเจริญ ไม่สามารถ breakthrough ได้ อย่างกลุ่มประเทศในยุโรป ที่พอ breakthrough แล้ว กลายเป็น Euro Zone ประชาชนเดินทางไปมาได้อย่างเสรี แม้จะพูดกันคนละภาษา แต่อยู่ร่วมกันได้ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด

ฉะนั้น economic zone จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะทำให้ประชาชนกินอยู่ด้วยราคาที่ถูกลง แล้วถ้ายังบล็อกตัวเอง ก็ไปไม่ได้ ทำให้คนไทยมีสภาพรับเงินเดือนไทย ใช้ของฝรั่ง

อย่างไรก็ตาม “วิโรจน์” บอกว่า ก่อนที่จะเปิดเสรีได้ ต้องให้การศึกษากับคนไทย ยกฐานะประชาชนให้เท่าเทียมกัน พัฒนาคนไทยให้เป็นคนของประชาคมโลกที่เหนือค่าเฉลี่ยถึงจะอยู่รอดได้ ถ้าไม่พัฒนาการศึกษา คนไทยจะเป็นได้แค่คนรับจ้างทำของอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ขายได้อย่างเดียวคือแรงงาน เพราะรัฐไม่สร้างให้ ไม่ลงทุนให้

“กว่า 40 ปี ของการตั้งตลาดทุน ถ้าไม่พัฒนาการศึกษา ตลาดทุนก็พัฒนาลำบาก เป็นปลาใหญ่กินปลาเล็ก จะเห็นได้ว่าสายที่เกี่ยวข้องกับอำนาจ จะนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์สูงสุด เพราะผู้ซื้อรายใหญ่ของไทย ยังคงเป็นรัฐ การได้ใบอนุญาตเพราะคนมีอำนาจให้มา พอได้ใบอนุญาตมา ใบอนุญาตนั้นก็เป็นทุนดึงดูดให้คนอื่นๆ มาลงทุนด้วย พ่อค้ารายใหญ่ทุกคน ถ้าไม่ซื้อขายกับรัฐ จะอยู่ไม่ได้ ที่ใหญ่โตร่ำรวยตอนนี้ อาศัยรัฐ ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกของรัฐทั้งนั้น บริษัทใหญ่ซื้อขายกับประชาชนน้อยมาก

ปรากฏการณ์นี้ทำให้พื้นฐานการลงทุนไม่ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์จริงๆ และไปตรวจสอบดูได้เลยว่า บจ. รุ่นหลังแทบไม่มีเลยที่เข้ามาโดยมีเทคโนโลยีของตัวเอง นับจำนวนได้เลย พิสูจน์เลยว่าตลาดทุนโตจริงหรือไม่

กลายเป็นว่า มีแต่ บจ. ที่ทำธุรกิจพื้นๆ ได้เข้ามาเพราะความใหญ่ แต่ไม่เคยมีข่าวฮือฮาเลยว่า บจ. ที่เข้ามา เพราะค้นพบเทคโนโลยีใหม่ๆ เหมือน Apple เหมือน Facebook คำถามคือ ตลาดทุนไทยสร้างผลิตภัณฑ์ สร้างงานในประเทศจริงหรือ หรือเป็นบริษัทที่สร้างสินค้าที่เพิ่มมูลค่าได้

ฉะนั้น หากเทียบกับตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศจะเห็นว่า เป็นตลาดที่มีการเติบโต เพราะมีปัจจัยพื้นฐานที่ดี อย่างตลาดหุ้นนิวยอร์ก ที่แม้ดัชนีดาวโจนส์ จะสวิงบ้าง แต่ บจ. ในตลาดนิวยอร์กจะมีกลุ่มอุตสาหกรรม (sector) ที่มั่นคงรวมทั้งมี sector ที่ความเสี่ยงสูงด้วย แต่ไม่ใช่ความเสี่ยงสูงทั้งกระดานอย่างตลาดหลักทรัพย์ไทย

“ตัวอย่างเช่น ถ้าดูไส้ในแต่ละแบงก์ไทยจะเห็นว่า perform ต่างกัน แต่ถ้ามีหุ้นแบงก์ไหนขึ้น แบงก์อื่นขึ้นด้วย ขณะที่ดาวโจนส์ความเสี่ยงสูงในกลุ่มซอฟต์แวร์ อิเล็กทรอนิกส์ อย่าง Apple ที่สตีฟ จอบส์ ทำกับบิลล์ เกตส์ ถ้าทำไม่ได้ก็ม้วยไปเลย ถูกเขาเทกโอเวอร์ แต่นักลงทุนอ่านออกว่ายอมขาดทุนเพื่อกำไรในที่สุด ไม่เหมือนของไทย ที่บาง บจ. ลงทุนในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ มีการใช้แอลซีปลอม เยอะแยะไปหมด โดยเจ้าหน้าที่ไม่รู้เลย”

หลังจดทะเบียนในตลาดแล้ว มีมั้ยที่ตลาดหลักทรัพย์ ก.ล.ต. จะจับตาดูต่อเนื่องไปอีกกี่ปี ก่อนจะปลดให้เขา perform โดยที่ไม่ต้องเฝ้าระวัง แต่…ไม่มี ปล่อย เข้าแล้ว จะไปโกงอย่างไรก็ได้ ให้กฎหมายอื่นบังคับแทน คือ ไม่ได้ประคองตลาดหลักทรัพย์ในส่วนของนักลงทุนเลย

ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ไต้หวัน ถูกสร้างมาอีกอย่าง จนถูกเรียกว่าเป็นตลาดการพนัน เพราะไม่เข้าใจคอนเซปต์เหมือนกัน คอนเซปต์การตั้งตลาดหลักทรัพย์ถูกสร้างในยุโรปเพื่อให้มาร่วมกันลงทุน แต่พอมาถึงเอเชีย ไม่เข้าใจลึกซึ้งในคอนเซปต์นี้ กลายเป็นเพื่อแสวงหาผลกำไร วันนี้…คนไม่ได้ถามหาว่าหุ้นไหนน่าลงทุนให้มั่นคง มีแต่… หุ้นอะไรจะขึ้น ซื้อแล้วรีบออกเร็วๆ มันไม่ใช่

ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์ในอเมริกา พื้นฐานมาจากการลงทุนของนักลงทุนสถาบัน 90% กว่า รายย่อยแค่ 6-7% ของไทยพอคอนเซปต์มันพลิกไปเรื่อยๆ ไปโปรโมตรายย่อยมากขึ้น อีกหน่อยก็ฉิบ… เพราะรายย่อยสู้มืออาชีพไม่ได้ ไม่ว่ากีฬาประเภทไหนก็ตาม ถ้าเทียบตลาดหลักทรัพย์เป็น electronic sport และไม่เคยหลับนอน แต่ถ้าคุณนอน สมมติว่า นิวยอร์กเลิก 5 โมงเย็น ผมจะทรานส์เฟอร์เงินไปแอลเอ ซานฟรานซิสโก ตลาดเปิดที่นั่น ยังเทรดได้อยู่ พอซานฟรานซิสโกเลิกก็ทรานส์เฟอร์ไปโตเกียว เซี่ยงไฮ้ จากนั้นก็ทรานส์เฟอร์ไปฮ่องกง สิงคโปร์ พอสิงคโปร์เลิก ก็ทรานส์เฟอร์ไปบาห์เรน ตะวันออกกลาง แล้วไปอังกฤษ กลับมานิวยอร์ก มันไม่นอน แต่คุณหลับ คุณใช้ 8 ชั่วโมง เสร็จแล้ว มันไม่เสร็จ โยกย้ายเงินเข้าออกได้ตลอด”

ฉะนั้น ถ้าดู performance ของกองทุนของต่างประเทศจะเห็นว่า ผลตอบแทนจะเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลตอบแทนรายย่อยเพิ่มต่ำมาก สมมติตลาด perform ที่ 20% กองทุนจะได้ 17-18% ส่วนรายย่อยจะได้แค่ 3-4% บางคนก็ต้องถอยออกจากตลาดหุ้นไป ขาดทุน ไม่เหมือนการฝากเงินที่นิ่ง แต่ตลาดหุ้นเคลื่อนไหวตลอด เสียแล้วเสียเลย

แล้วเวลานักลงทุนต่างประเทศมา เขาไม่ดูแค่ราคาในตลาดหลักทรัพย์ แต่ดูอย่างอื่นประกอบด้วย อาทิ อัตราแลกเปลี่ยน แนวโน้มเศรษฐกิจทั่วโลก ถ้าที่จีนขึ้น เขาเอาเงินจากไทยไปลงจีน เขายอมขาดทุนที่ไทยไปทำกำไรที่จีน แต่นักลงทุนก็ไม่รู้ว่าทำไมเขาทำอย่างนั้น แต่ละคนมีเหตุผลไม่เหมือนกัน รายย่อยก็เสร็จ แพ้เขา

ถ้าไทยยังไม่พยายามผลักดันคอนเซปต์เรื่องการลงทุนให้แพร่หลาย ก็ยาก เพราะกองทุนทั่วโลกมีความคล่องตัวสูง แต่กองทุนไทยยังอยู่ที่ตลาดไทยที่เดียว

การเปิดให้กองทุนไปลงทุนในต่างประเทศ ต้องเปิดให้ลงทุนโดยเสรีได้ทั่วโลก และต้องมีขนาดพอสมควร แต่กองทุนของไทยที่เปิดให้ลงทุนในต่างประเทศเล็กนิดเดียว อย่างมากแค่ 2,000 ล้านบาท เอา 30 บาทต่อเหรียญสหรัฐหารแล้วได้เท่าไหร่ ขณะที่ต่างประเทศกองทุนเขามีขนาด 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เราเอาไม่อยู่หรอก แล้วต้องไม่ปล่อยให้แต่ละบริษัท เปิดได้หลายกองทุน เพราะจะมีปัญหาเรื่องบริหารกองทุน

“วิโรจน์ นวลแข” จบการสนทนาด้วยประโยคที่ว่า การพัฒนาตลาดทุน ทิศทางต้องเพื่อ “ความผาสุกของประชาชนเป็นหลัก” อะไรที่เป็นอันตรายต่อตลาดหลักทรัพย์ ไม่ว่า insider trading การเทคโอเวอร์ ในรูปแบบปลาใหญ่กินปลากเล็ก เจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปตรวจ โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจคอนเซปต์ของกฎหมาย และบังคับใช้ให้ได้ ไม่เช่นนั้น ตลาดทุนจะมีความซับซ้อน ลงทุนได้ยาก และเป็นสนามแห่งผู้แพ้ของนักลงทุนรายย่อย