บันทึกภาคประชาชน “วิโรจน์ นวลแข” ตั้งคำถามถึงหน่วยงานตลาดทุนไทย บังคับใช้กฎหมายอย่างไรให้นักลงทุนไทยเท่าเทียม เป็นธรรม (1)
“วิโรจน์ นวลแข” ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่คร่ำหวอดในวงการตลาดทุนมาเป็นเวลากว่า 30 ปี เคยเป็นทั้งผู้ปลุกปั้นตลาดทุนและบริหารบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ จนกลายเป็นโบรกเกอร์ชั้นนำทั้งในด้านงานวิจัยและวาณิชธนกิจของตลาดทุนในยุคก่อนวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ต่อมาเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจตัดสินใจคืนใบอนุญาตเงินทุนเป็นบริษัทแรก เคยเป็นประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แล้วลาออกหลังได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ต.ล.) ยุคก่อตั้งปีพ.ศ 2535 และมีส่วนร่วมในฐานะกรรมการร่างกฎหมาย ก.ล.ต. ร่วมกับทีมนายสุธี สิงห์เสน่ห์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รวมถึงนายเอกกมล คีรีวัฒน์ เลขาธิการก.ล.ต. คนแรก
“วิโรจน์” เล่าว่า หลังจากจบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซินในปี 2515 กลับประเทศไทย ด้วยความตั้งใจที่จะไม่รับราชการ พอดีมีผู้แนะนำให้ไปทำงานที่ธนาคารกสิกรไทย ทำงานได้ปีเศษๆ ธนาคารกสิกรไทยได้ใบอนุญาตบริษัทเงินทุน จึงส่ง “วิโรจน์” ไปจัดตั้งและบริหารบริษัทเงินทุนภัทรธนกิจในปี 2516 ทำธุรกิจเช่าซื้อเป็นหลัก
“ตอนตั้งภัทร มีผมไปคนเดียว มีเลขาคน สมุห์บัญชีคน ช่วงแรกทำแต่เงินทุน เพราะตอนนั้นไม่มีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(เริ่มมีตลาดหลักทรัพย์ฯ ครั้งแรก 30 เมษายน 2518) ทำธุรกิจ hire purchase หรือเช่าซื้อเป็นหลัก ซึ่งให้กู้ยืมได้น้อยมาก เพราะอัตราดอกเบี้ยสูง ในช่วงนั้นเกือบจะไม่มีบริษัทเงินทุนใหญ่ๆ และการจะให้กู้เอสเอ็มอีก็ลำบาก เพราะตอนนั้นนิยมว่า การให้กู้ต้องมีหลักทรัพย์มาจำนอง ยิ่งคลีนโลน (clean loan) นี่ลืมไปเลย ขณะที่ให้เช่าซื้อยังมีรถ”
“ช่วงทำธุรกิจใหม่ๆ มีความเสียหายเยอะ ที่ได้ไม่ค่อยมี การให้เช่าซื้อรถนี่ อย่างเก่งก็ทำได้ในบริเวณที่บริษัทตั้งอยู่ ให้กู้เกินพันล้านบาทก็เหนื่อยแล้ว ความเสียหายจะมากกว่าสิ่งที่ได้ ฉะนั้น ขนาดที่เหมาะสมที่สุดของธุรกิจเช่าซื้อสมัยนั้นอยู่ที่ประมาณ 500-700 ล้านบาท ถ้าเกินนั้นบริษัทเดียวรับไม่ไหว ตอนนั้นทางการไม่ให้มีสาขา ยิ่งไปไกลเท่าไหร่ค่าโสหุ้ยยิ่งแพง เวลาไปตามตัวยากมาก เพราะทะเบียนบ้านชื่ออยู่กรุงเทพฯ แต่ตัวอยู่สงขลา อยู่อุดรธานี จะไปฟ้องหรือปิดหมายที่อุดรฯ ต้นทุนจะสูงมาก”
ปี 2518 ประเทศไทยมีการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พร้อมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดให้ใบอนุญาตประกอบหลักทรัพย์ บริษัทเงินทุนภัทรธนกิจก็ได้ใบอนุญาตหลักทรัพย์ กลายเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ
“ได้ใบอนุญาตบริษัทหลักทรัพย์มาใหม่ๆ ตอนแรกไม่เข้าใจว่า ให้ใบอนุญาตอะไรมา ก็ศึกษาจนเข้าใจ เช่น ธุรกิจให้คำปรึกษา การประกันการจำหน่ายและจำหน่ายหลักทรัพย์ (underwriter) การลงทุนในหลักทรัพย์ การทำบทวิจัยต่างๆ พวกนี้เก็บค่าธรรมเนียมได้ ผมก็ส่งเด็กไปเรียน รุ่นนั้นมีเม้ง (นายวีรวัฒน์ ชุติเชษฐพงศ์), เตา (นายบรรยง พงษ์พานิช), เผือก (นายสุวิทย์ มาไพศาลสิน) บอก “กูไม่รู้เรื่องนี้ แต่พวกมึงต้องไปเรียนมา แล้วมาทำ…พวกนี้จึงเป็นหัวหอกไปเรียนรู้มา”
ความคร่ำหวอดในวงการหุ้น ตลาดหุ้น มานาน ประกอบกับประสบการณ์ที่สั่งสมมา ทำให้ “วิโรจน์” มีคำถามมากมายต่อการทำงานทของหน่วยงานต่างๆ ให้ตรงกับเจตนารมณ์การก่อตั้งตลาดหุ้น รวมไปทั้งการกำกับตรวจสอบ โดยเฉพาะการคุ้มครองผู้ลงทุนรายย่อย เพื่อให้ได้ข่าวสารที่ครบถ้วน เพียงพอในการตัดสินใจซื้อขายหุ้น การปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย ไม่ให้เกิดสถานการณ์ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” ซี่งเป็นสัญญาณอันตรายต่อการพัฒนาตลาดทุนของไทย
ล่าสุดกรณีข่าวการทำธุรกรรมของหุ้นบริษัท มอร์รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ “MORE” ที่มีการสั่งซื้อสั่งขายหุ้นจำนวนมาก จนกลายเป็นประเด็นว่า “ปล้นกลางแดด” ที่หน่วยงานกำกับดูแลกำลังตรวจสอบพฤติกรรมอยู่ ก็เป็นอีกกรณีล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังบทสัมภาษณ์นี้
“ตลาดหลักทรัพย์ ตอนแรกที่เปิดมาเกือบจะไม่มีไอเดียอะไรเลย เราลอกกติกามาจากเมืองนอกหมด ทั้งที่เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ซึ่งถือว่าเป็นกติกาที่สมบูรณ์แบบ แต่เวลาจะบังคับใช้กฎหมายไม่เหมือนกัน เพราะเราไม่เข้าใจ ไม่มีประสบการณ์ สมัยแรกจึงมีการปั่นหุ้นกันมากมายแล้วจับไม่ได้ ถึงตอนนี้ก็ยังปั่นหุ้นกันอยู่ แล้วก็จับไม่ได้”
คำถามแรกของ “วิโรจน์ นวลแข” เกี่ยวกับการกำกับตรวจสอบตลาดหุ้น ต่อกรณีปล่อยให้เกิดความไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใส่ของธุรกรรมการเทรดหุ้นที่เกิดขึ้น คือการปล่อยให้มี insider trading โดยไม่มีการดำเนินการแก้ไข หรือตรวจสอบอย่างจริงจัง ทำให้จนถึงขณะนี้ยังบังคับใช้กฎหมายเพื่อดำเนินคดีกรณีการปั่นหุ้นไม่ได้
“ตอนนี้ตลาดหุ้นซื้อขายแบบ electronic trading คุณต้องจับได้ เพราะพอทุกคนโพสต์อินเข้ามา จะรู้เลยว่าเจ้าของหุ้นตัวนี้โพสต์เพื่อปั่นราคาขึ้น เพราะจะมีการอัตราคาซื้อเป็นล้านๆ หุ้น ดูพฤติกรรมการซื้อขายแป๊บเดียวก็รู้ว่าปั่นหุ้น ตลาดหลักทรัพย์และ ก.ล.ต. ต้องลงมาดูหมด การเป็นelectronic trading ทำให้พฤติกรรมเหล่านี้ถูกตรวจจับได้หมด มี surveillance unit แต่ไม่ทำ”
“วิโรจน์ นวลแข” ยกตัวอย่างการใช้ inside information เพื่อการปั่นหุ้นที่มีอยู่ดาษดื่นในขณะนี้ เช่น บริษัทจดทะเบียน (บจ.) แห่งหนึ่ง มีแผนจะเทกโอเวอร์บริษัทหนึ่ง แต่ก่อนจะประกาศเทกโอเวอร์ราคาหุ้นได้กระโดดสูงขึ้นผิดปกติ หรือธนาคารบางแห่งเตรียมประกาศแผนงานใหม่ แต่ราคาหุ้นก่อนหน้านั้นขยับสูงขึ้นมาก โดยมี บจ. หลายแห่งที่เกิดเหตุการณ์ที่ว่านี้ แต่ตลาดหลักทรัพย์และ ก.ล.ต. ไม่มีท่าทีใดๆ ต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาดังกล่าว
“วิโรจน์” บอกว่า การตรวจสอบเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยากในยุคที่เป็นการซื้อขายแบบอิเล็กทรอนิกส์ หากเห็นราคาหุ้นตัวใดราคาขยับสูงขึ้นผิดปกติ ขณะที่ “ปัจจัยพื้นฐาน” ของบริษัทไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เจ้าหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์และ ก.ล.ต. ต้องเข้าไปดูทันที
“กรณีแบบนี้เกิดขึ้นบ่อย หุ้นกลุ่มนี้ก่อนจะมีการประกาศเทกโอเวอร์หรือมีแผนงานอะไรใหม่ ราคาจะเคลื่อนไหวก่อน มันขึ้นมาได้อย่างไร ในเมื่อปัจจัยพื้นฐานไม่เปลี่ยน ฉะนั้น เจ้าหน้าที่ต้องเบรก พอรู้ว่าหุ้นตัวนี้มันขึ้นผิดปกติปั๊บ ต้องเข้าไปตรวจสอบว่าราคาขึ้นเพราะอะไร ถ้าปัจจัยพื้นฐานไม่เปลี่ยนแล้วมีข่าวอะไร ถ้าบริษัทแจ้งว่ากำลังทำเรื่องนั้นเรื่องนี้อยู่ ก็จะสั่งให้เขียนจดหมายแจ้งมาเดี๋ยวนี้ แล้วขอให้หยุดเทรด จนกว่าจะดีลเรื่องนั้นๆ ให้จบ”
กรณีแบบนี้กฎหมายให้อำนาจอยู่แล้ว เรื่องการเปิดเผยข้อมูล เป็นการบังคับใช้กฎหมายให้เป็นธรรมกับประชาชนว่าบริษัทกำลังทำเรื่องนี้ ให้รายย่อยได้ย่อยข่าว แล้วตัดสินใจว่า ถือหรือขายหุ้น แต่ไม่ใช่ปล่อยให้ราคาหุ้นกระโดด
“แต่ถ้าผู้บริหาร บจ. บอกว่าไม่เกี่ยวกับเขา เป็นเรื่องนักลงทุนภายนอกซื้อขายหุ้นกันเอง ไม่เกี่ยวกับบริษัท ผมจะบอกว่า ผมจะจับตาดูบริษัทคุณเป็นเวลา 3 เดือนนะ แล้วเล็งไปที่นักลงทุน ไปถามคนที่ซื้อมากขายมาก ว่าทำเพราะอะไร ต้องรู้ว่า หุ้นไม่ใช่เสื้อผ้า ไม่ใช่แฟชั่น การซื้อต้องมีเป้าหมายบางอย่าง เพราะนี่เป็นตลาดแห่งผลประโยชน์ ถ้าไม่มีผลประโยชน์จะซื้อหุ้นไปทำอะไร นักลงทุนจะตอบอะไรก็ได้ แต่มันฟังขึ้นหรือไม่ เรารู้รายได้ของนักลงทุนว่ามีเท่าไหร่ แต่การซื้อหุ้นที 20-30 ล้านบาท และไปกู้มาซื้อด้วย ฟังไม่ขึ้นว่าจะซื้อเล่นๆ ถ้าเอาเงินสดมาซื้อยังฟังขึ้น แต่ผมจับจ้องอยู่นะ
“ฉะนั้น ทุกอย่างมันมีเหตุมีผล ถ้าไม่มีเหตุ แล้วทำอย่างที่นักปั่นหุ้นทำ แล้วไปหลอกคนอื่น ในฐานะเจ้าหน้าที่กำกับดูแล ต้องหลอกไม่ได้ เจ้าหน้าที่ต้องบลัฟกลับเลย เรื่องอย่างนี้มันหนูจับแมว ถ้าต้อนเขาไม่จน ถึงบอกว่ารายละเอียดมันมี ถ้าดูคร่าวๆ มันไม่มีอะไร แต่ถ้าดูรายละเอียดลึกๆ ดูถึงหนี้ ถึงการใช้ชีวิตเขา เอาเงินจากไหนมาซื้อหุ้นเยอะแยะ ต้องเอาเงินมาจากที่ไหนสักแห่งใช่มั้ย”
“วิโรจน์” ย้ำว่า “มันจับได้หมด แต่ไม่จับ สาเหตุที่ไม่จับ ผมว่า เพราะไม่รู้เรื่องว่ามันคือการปั่นหุ้น และในฐานะตลาดหลักทรัพย์ enjoy ที่เห็น index (ดัชนีตลาดหลักทรัพย์) มันขึ้นไปเรื่อยๆ คิดว่ามีความมั่นคง แต่มันไม่มั่นคง จะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมา index ไทยมันสวิงมาก เคยขึ้นไป 1600 จุด แล้วลงมาเหลือ 700-800 จุด มันน่าเป็นห่วงนะ เพราะการซื้อขายไม่ได้มาจากพื้นฐานข้อเท็จจริง”
แต่กลับ enjoy ว่า ให้คนเข้ามาซื้อขายแบบว่าสนุก การลงทุนเป็นเรื่องสนุก มันไม่ใช่ การลงทุนต้องอยู่บนพื้นฐานว่ามาลงทุนแล้วได้สิ่งที่เขาลงทุน มีผลตอบแทน ตอนนี้เหมือนฝากเงินแล้วแบงก์เจ๊ง ตลาดหลักทรัพย์เหมือนกัน เข้ามาเล่นหุ้นมันต้องมีแต่บวกกับบวก ไม่ใช่ high risk ซื้อวันนี้ 3 บาท แต่ต่อมาเหลือ 1 สตางค์ เป็นไปไม่ได้
“ฉะนั้น การแก้เรื่อง inside คือ ต้องทำให้คนได้รับรู้ข่าวสารทั่วถึงกันก่อนที่จะมีการซื้อขายหุ้น เพื่อให้เขาตัดสินใจได้ แต่นี่ไม่สนใจเลย เดี๋ยวนี้ก็ไม่สนใจ หุ้นหลายตัวราคากระโดดก่อนประกาศเทกโอเวอร์ หรือมีแผนงานใหม่บางอย่างโดยไม่ fully disclosure ไม่มีใครสนใจ ปล่อยให้เทรดกันไป เจ้าหน้าที่ในฐานะผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ ทั้งตลาดหลักทรัพย์ก็ไม่ห้าม ก.ล.ต. ก็ไม่ห้าม”
คำถามของ “วิโรจน์” ต่อมาคือ takeover code หรือหลักเกณฑ์ในการเทกโอเวอร์ เป้าหมายหลักของการออกกฎเกณฑ์ คือ การเทกโอเวอร์ทำได้ แต่ต้องแฟร์กับผู้ถือหุ้น ในต่างประเทศจึงมีการป้องกันว่า การซื้อหุ้นในกรณีเทกโอเวอร์ ซื้อจากผู้ถือหุ้นใหญ่ในราคาเท่าไหร่ ต้องยืนราคานั้นจนกว่าผู้ถือหุ้นรายย่อยจะตัดสินใจว่าไม่ขาย ไม่ใช่เทกโอเวอร์แล้วทิ้งผู้ถือหุ้นรายย่อย ขณะเดียวกัน ผู้ถือหุ้นใหม่ที่เข้าไปเทกโอเวอร์ ต้องปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้บริษัทดำเนินงานต่อไปได้
“คอนเซปต์พวกนี้พอไม่แน่น ก็ทำให้หลายบริษัทถูกซื้อแล้วปล่อยให้แห้งตาย คือ เข้าไปฆ่าให้แห้งตาย ซึ่งคุณจะใช้เวลากี่ปีในการฆ่าให้แห้งตายก็ตาม ต้องเอารายย่อยออกมาให้หมด ต้องแฟร์ เพราะซื้อจากรายใหญ่ไปแล้ว รายย่อยก็ต้องได้รับการดูแลเหมือนกัน ถ้าจะเทกโอเวอร์ก็ต้องรับซื้อหุ้นหมด แต่ถ้ารายย่อยไม่ขายก็เรื่องของเขา เพราะถือว่าได้รับข่าวสารข้อมูลแล้ว”
“วิโรจน์” เห็นว่า การไม่บังคับใช้กฎหมายเพื่อดูแลผู้ถือหุ้น แสดงว่าเจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจกฎหมาย เป็นการลอกกฎหมายมาใช้โดยไม่เข้าใจคอนเซปต์ของแต่ละเรื่อง รวมทั้งไม่พยายามที่จะเข้าใจคอนเซปต์อีกต่างหาก และไม่พยายามอบรมให้เกิดความเข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.) แต่ไม่ได้พูดถึงคอนเซปต์ของการตั้งตลาดหลักทรัพย์ มีการตั้งสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) แต่ก็ไม่เข้าใจคอนเซปต์ ไม่มีการเรียนรู้ว่าคอนเซปต์แต่ละเรื่องคืออะไร ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ เช่น inside information ออกมาเพื่อให้นักลงทุนทุกคนได้รู้ข่าวสารที่เท่าเทียมกันก่อนจะมีการซื้อขายหลักทรัพย์ ไม่ให้มีความแตกต่างในการรับรู้ข่าวสาร
ฉะนั้น ต้องถาม ก.ล.ต. ถึงเจตนารมณ์กฎหมายแต่ละข้อ ต้องให้อธิบายให้ชัด ที่ผ่านมาไม่มีใครสนใจว่า ออกกฎหมายมาเพื่ออะไร เจตจำนงเพื่ออะไร เพราะลอกเขามาแต่ไม่ทำอะไรเลย ตั้งแต่สมัยที่ผมเป็นกรรมการร่างกฎหมายจัดตั้ง ก.ล.ต. รวมถึงการเป็นกรรมการ ก.ล.ต. ยุคก่อตั้ง มีการตั้งคำถามในที่ประชุมว่าคอนเซปต์ของกฎหมายคืออะไร จะบังคับใช้อยางไร
“ข้อกฎหมายทุกข้อมีทั้งนั้น คอนเซปต์มีเหตุผลอธิบายได้ว่ากฎหมายนี้ออกมาเพื่ออะไร คนบังคับใช้ต้องตีความเจตนาของกฎหมายให้ออกก่อนจะบังคับใช้ ไม่เช่นนั้นจะมีการบังคับใช้แตกต่างกัน และทำให้รายย่อยเสียหาย ตายกันหมด”
“อย่างโบรกเกอร์ คอนเซปต์ของการเป็นโบรกเกอร์คือการหาข้อมูลที่ดีในการลงทุนให้ผู้ลงทุน พอโบรกเกอร์ไม่เข้าใจคอนเซปต์นี้ จึงมีการตัดราคากัน จนอยู่กันไม่ได้เพราะไม่เข้าใจคอนเซปต์ ตอนนี้มีแต่ว่า วันนี้หุ้นตัวนั้นน่าจะขึ้น หุ้นตัวนั้นน่าจะลง ซึ่งไม่ใช่ โบรกเกอร์ต้องหาข้อมูลที่ดีมาให้กับผู้ลงทุน พอไม่เข้าใจคอนเซปต์นี้ ตลาดหลักทรัพย์ก็เหลือแต่โบรกเกอร์ที่ตัดราคากัน พอตัดราคาไม่ได้ คุณภาพไม่ได้ ทีนี้ก็มีแต่ข่าวเสี่ยนั่นซื้อ เสี่ยนี่ซื้อ ตลาดมีแต่ข่าวประเภทนี้ กับข่าว insider trading (การใช้ข้อมูลภายในเพื่อซื้อหุ้น) เท่านั้น”
นอกจาก การเข้าใจคอนเซปต์ของกฎหมายเพื่อนำไปสู่การบังคับใช้อย่างได้ผลแล้ว ยังมีปัญหากฎหมายบางมาตราที่ออกมาแล้วแต่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริงอีกด้วย
“ตอนร่างกฎหมายตลาดหลักทรัพย์และ ก.ล.ต. ผมเป็นกรรมการร่างกฎหมายด้วย ไม่มีการเอาผู้มีประสบการณ์ตลาดทุนสมัยนั้น เขาไม่เอามาเป็นกรรมการ ผมเองให้อ่านมากขนาดไหนก็ไม่เข้าใจ เถียงอะไรกับฝ่ายรัฐไม่ขึ้นเลย เถียงกับอาจารย์สุธี (นายสุธี สิงห์เสน่ห์ อดีตรัฐมนตรีคลัง) คุณเอกกมล (นายเอกกมล คีรีวัฒน์ อดีตเลขาธิการ ก.ล.ต.) ตลอดว่า บางเรื่องไม่จำเป็นต้องร่างในกฎหมาย หลายข้อเขียนไป บังคับใช้ไม่ได้ พยายามเอาเรื่อง good governance มาใส่ ผมยังบอกอาจารย์สังเวียน (นายสังเวียน อินทรวิชัย) ว่า คำนี้ดูดีแต่ใช้งานไม่ได้ เพราะว่าอะไรที่ไม่ได้บรรจุเป็นกฎหมาย สำหรับบ้านเรามันใช้ไม่ได้”
บ้านเราเป็น civil code ต่างประเทศเป็น common law อย่างประเทศจีน เขาใช้หลักคุณธรรม ใครทำผิดคุณธรรมเขาเอา common law จัดการได้ ขณะที่ฝรั่งเอาหลักฐานเป็นหลัก คือหลักฐานชี้ว่ามีการเอาเปรียบก็จัดการได้ แต่ของเรา เอาข้อสันนิษฐานเป็นหลัก ฉะนั้น common law ของเขาใช้ ethics code หรือจริยธรรม มาอ้างได้ แต่บ้านเราใช้ ethics code กลายเป็นฟังไม่ขึ้น ใช้ในพฤติกรรมไม่ได้ ต้องใช้ข้อเท็จจริงที่เกิดเท่านั้น
“ตัวอย่าง เช่น ผมมานั่งคุยกับนักลงทุนในโรงแรม แล้วเขาออกไปซื้อขายหุ้น มีคนไปบอกว่าพวกนี้มานั่งกินข้าวกัน ผมก็บอกแล้วไง ก็ไม่ได้คุยอะไร แต่กรณีแบบนี้ฝรั่งเอาผิดได้ ว่ามานั่งสุมหัวกันที่โรงแรมนี้ แล้วออกไปซื้อขายหุ้นเมื่อวันที่เท่านั้น เท่านี้ มันโค้ดได้ แต่เรายาก เพราะไม่มีหลักฐานว่ามาคุยกันเรื่องหุ้นหรือเปล่า แต่พฤติกรรมมันส่อ ของเราเรียกว่าเป็นหลักฐานอ้อมๆ หลักฐานข้างเคียง ไม่ใช่หลักฐานหลัก แต่ฝรั่งคือหลักฐานหลัก เพราะพฤติกรรมมันเป็นอย่างนั้น”
“วิโรจน์” บอกว่า ด้วยเหตุนี้ การกำหนด ethics code จึงทำอะไรในแง่กฎหมายไม่ได้ เอาผิดไม่ได้ การเขียนไว้ในกฎหมายจึงไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าเป็นเรื่องที่รุนแรง ก็เขียนเป็นกฎข้อบังคับที่กรรมการพึงปฏิบัติ แทนที่จะเขียนเป็น code ที่ไม่สามารถบังคับใช้ได้ และจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีการนำมาบังคับใช้
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (Stock Exchange of Thailand หรือ SET) จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 เปิดทำการซื้อขายขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันที่ 30 เมษายน 2518 โดยมีบทบัญญัติการคุ้มครองผลประโยน์ของผู้ลงทุน ประกอบด้วย การกำกับดูแลการเปิดเผยข้อมูลสำคัญของบริษัทจดทะเบียน การกำกับดูแลและตรวจสอบการซื้อขายหลักทรัพย์ การดูแลการปฏิบัติงานของบริษัทสมาชิก
ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เป็นองค์กรของรัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนไทยให้เป็นแหล่งระดมทุนและแหล่งลงทุนที่มีประสิทธิภาพของทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
โดยรายงานประจำปี 2535-2537 ระบุว่า ก.ล.ต. มีการจัดตั้งฝ่ายตรวจสอบตลาดทุน หน้าที่หนึ่ง คือ ตรวจสอบการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ รวมทั้งพิจารณาเรื่องร้องเรียน และตรวจสอบการกระทำอื่นที่เข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมาย ก.ล.ต.
การกระทำอันไม่ชอบธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ และการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ การซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นการลงทุนโดยอาศัยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลงราคาของหลักทรัพย์ ผู้ลงทุนจำเป็นต้องได้รับข่าวสารที่ถูกต้อง รวดเร็ว และชัดเจน เพื่อใช้ในการตัดสินใจ
ปรัชญาในการกำกับดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ นอกจากดำเนินการให้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารอย่างเพียงพอและเท่าเทียมกันแล้ว ยังต้องกำกับดูแลให้การซื้อขายเป็นไปโดยชอบธรรม ปราศจากการฉ้อฉล เอารัดเอาเปรียบ หรือมีการกระทำให้หลงผิดเกี่ยวกับปริมาณ ราคา หรือสภาพการซื้อขายใดๆ
ทั้งนี้ สาระสำคัญของบทบัญญัติดังกล่าวถูกกำหนดไว้ใน พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มาตรา 238, 239, 241-244, 246-259