ThaiPublica > Native Ad > โออาร์ เติมเติมโอกาสเปิดตัวสตาร์ทอัพ “Hungry Hub” แพลตฟอร์มจองโต๊ะ-เจาะร้านอาหารชั้นนำ ต่อยอด-เสริมความแกร่งร่วมกัน

โออาร์ เติมเติมโอกาสเปิดตัวสตาร์ทอัพ “Hungry Hub” แพลตฟอร์มจองโต๊ะ-เจาะร้านอาหารชั้นนำ ต่อยอด-เสริมความแกร่งร่วมกัน

26 พฤศจิกายน 2022


นายสุรสิทธิ์ สัจจะเดว์ CEO Hungry Hub

แนวทางการเติบโตในรูปแบบ Inclusive Growth ของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จํากัด (มหาชน) หรือ โออาร์ ที่มุ่งเน้นให้โอกาสเพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืนผ่านการลงทุนในบริษัทและสตาร์ทอัพภายในประเทศ และใช้จุดแข็งของ โออาร์ และบริษัทที่เข้าไปลงทุนในการต่อยอดความแข็งแกร่งและขยายไปสู่ต่างประเทศ

หนึ่งในโอกาสที่ โออาร์ เล็งเห็นคือ สตาร์ทอัพ ‘แพลตฟอร์มร้านอาหารและโรงแรมชั้นนำ’ อย่าง “Hungry Hub” (ฮังกรี้ฮับ) ซึ่งมีโมเดลธุรกิจที่พิเศษและไม่เหมือนใคร

Hungry Hub เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 แต่ในครั้งนั้นธุรกิจยังไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งช่วง ล็อกดาวน์จากการแพร่ระบาดโควิด-19 “สุรสิทธิ์ สัจจะเดว์” CEO Hungry Hub ค้นพบโอกาสใหม่ในตลาดเดลิเวอรี่ และกลับมาดำเนินธุรกิจอีกครั้ง ปัจจุบัน Hungry Hub มีร้านอาหารและโรงแรม เข้าร่วมแล้วกว่า 1,000 ร้าน กระจายใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต หัวหิน พัทยา เชียงใหม่ และเกาะสมุย ให้บริการไปแล้วมากกว่า 2 ล้านที่นั่ง มียอดใช้จ่ายต่อบิลมากกว่า 1,000 บาท เจาะกลุ่มที่มองหาร้านอาหารในโอกาสพิเศษ โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง

นายสุรสิทธิ์ กล่าวถึงจุดแข็งของธุรกิจว่า Hungry Hub ช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้าอย่างตรงจุด ลูกค้าสามารถรู้ราคาก่อนจองร้านอาหารระดับบน และคุมงบได้ พร้อมสิทธิพิเศษต่างๆ ที่ไม่เน้นการลดราคา แต่ยังสามารถเพิ่มยอดขายให้ร้านอาหารอย่างยั่งยืน

นายสุรสิทธิ์ เล่าเพนพ้อยธุรกิจว่า ระบบจองโต๊ะร้านอาหารไม่ค่อยมีความจำเป็นในประเทศไทย เนื่องจากร้านอาหารที่ต้องจองโต๊ะได้มีประมาณหลักร้อยเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ร้านอาหารที่ได้รับรางวัลมิชลิน หรือร้านประเภท Fine Dining ขณะที่ร้านอาหารในไทยมีมากกว่า 1 แสนร้าน นับว่าตลาดร้านอาหารมีขนาดค่อนข้างเล็ก อีกทั้งทางร้านก็ไม่ได้รู้สึกว่าระบบจองทำให้ร้านสะดวกมากขึ้นหรือมีลูกค้ามากขึ้น ผิดกับตลาดร้านอาหารต่างประเทศที่ต้องมีระบบจอง เพราะร้านอาหารขึ้นชื่อจะเต็มเกือบทั้งเมือง ตั้งแต่วันศุกร์ เสาร์ บางร้านต้องจองก่อนอย่างน้อย 3-5 วัน หรืออย่างมากก็หนึ่งสัปดาห์

นายสุรสิทธิ์ อธิบายว่า ข้อแตกต่างของตลาดร้านอาหารต่างประเทศกับไทยคือ ความเข้าใจของลูกค้าและร้านอาหาร เพราะช่วงเริ่มต้นที่เข้าไปคุยกับร้านอาหาร ทางร้านคิดว่า Hungry Hub จะสามารถหาลูกค้าเพิ่มได้ ทั้งที่ร้านเสียค่าแพลตฟอร์มให้ บริษัทจึงต้องหาจุดแข็งให้ธุรกิจเดินต่อไปได้

“เรารู้ว่าร้านอาหารไม่อยากได้ส่วนลดเยอะๆ เพราะก่อนหน้านี้แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่เน้นแต่เรื่องการลดราคา แล้วแพลตฟอร์มพวกนี้มาเร็ว ไปเร็วมาก โดยให้ส่วนลด 30% ถึง 50% มันไม่ยั่งยืน แต่เรามาด้วยวิธีการคุมเงิน และเพิ่มยอดขายให้ร้านอาหาร หมายความว่าเราเพิ่ม ticket size สมมติร้านนี้บอกว่าค่าเฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 400 บาท แต่ผมหาลูกค้าเพิ่มให้คุณในราคาตั้งแต่ 500 600 700 บาท เขาได้กำไรมากกว่าหาลูกค้า 400 บาทแล้วลดราคา”

ดังนั้น ผู้บริโภคกลุ่มนี้คือกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง โดยสามารถใช้จ่ายได้หลักพันต่อการกินในแต่ละมื้อ นอกจากนี้แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ยังไม่สามารถเข้ามาแข่งขันในตลาดนี้ได้ เพราะส่วนใหญ่เน้นที่ส่วนลดในราคาไม่แพง

“ร้านใหญ่ ราคาสูง ไปลดแข่งกับกะเพรา 50 บาทไม่ได้ เพราะต้นทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น วัตถุดิบ เชฟ เงินเดือน มันไม่มีทางสู้ต้นทุนได้ วิธีที่เราทำคือ set package ที่คุ้มค่าในราคา 1,000 1,500 2,000 3,000 บาท สำหรับมื้อพิเศษที่คนไม่สามารถออกไปกินข้างนอกได้ แต่สั่งกินที่บ้านหรือส่งอาหารให้พนักงานแบบ privileged แล้วส่งอาหารให้ลูกค้ามื้อพิเศษที่บ้าน และไม่ใช่สั่งแบบ a la carte แต่สั่งเป็นเซ็ทคุ้มค่า พอซื้อเป็นเซ็ทก็ได้ส่วนลด ถ้าซื้อในเดลิเวอรี่ก็ลดนิดเดียว สมมติสั่ง 1,000 ได้ลด 50 บาท มันไม่มีอะไร แต่กับเราได้ลด 200 ถึง 300 บาท วิธีนี้ดีกว่าร้านไปลดราคาจาก 200 เหลือ 50 บาท แต่ถ้าลดจาก 1,000 เป็น 700 แปลว่าลด 30% มันสมเหตุสมผลกว่า”

นายสุรสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ลูกค้าที่ใช้บริการ Hungry Hub คือกลุ่มองค์กร บริษัทต่างๆ ที่ต้องการจัดมื้อพิเศษราคาสูงให้พนักงานจำนวนมาก และที่ผ่านมามีบริษัทใหญ่ใช้บริการของ Hungry Hub โดยให้พนักงานเลือกในเซ็ทได้ตามใจชอบว่าต้องการรับประทานอะไร จากนั้นจะมีรถไปส่งอาหารให้ถึงที่

ทั้งนี้ นายสุรสิทธิ์ บอกว่าเคยทำยอดส่งอาหารมากถึง 500 เซ็ท ด้วยรถ 500 คัน ภายในระยะเวลา 3-4 ชั่วโมงเท่านั้นบริการของ Hungry Hub ได้รับความนิยมอย่างมาก แม้ช่วงล็อกดาวน์โควิด-19 ครั้งแรก รายได้จะลดลงถึง 70% แต่เมื่อบริษัทปรับตัวได้จนมาสู่ล็อกดาวน์ครั้งที่ 2 รายได้กลับเติบโตขึ้น และในช่วงล็อกดาวน์ครั้งสุดท้ายในปี 2564 รายได้เพิ่มขึ้น 60%-70% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19
นอกจากนี้ Hungry Hub ยังมีบริการอื่นๆ คือ (1) Dine-in Offers แพ็กเกจ All You Can Eat และ Party Pack สำหรับร้านอาหาร (2) Experience แพ็คเกจกิจกรรม และ vacation (3) FREE / PAID Reservation System ระบบจอง และ (4) Set Menu Delivery เดลิเวอรี่แบบเซ็ตเมนูจากร้านชั้นนำ

นายสุรสิทธิ์ กล่าวต่อว่า การที่ โออาร์ เข้ามาลงทุนช่วยเสริมความแข็งแกร่ง และต่อยอดให้ Hungry Hub เป็น ‘International Company’ โดยระยะแรกมีแผนขยายไปยังประเทศสิงคโปร์และอินโดนีเซีย ซึ่งอาศัยจุดแข็งของ โออาร์ เข้ามาผสาน เพื่อสร้างฐานลูกค้าและจำนวนร้านอาหารที่มากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็น

1.Physical Platform ที่มีเครือข่ายสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น กว่า 2,000 แห่ง ทั่วประเทศ หรือร้าน Café Amazon กว่า 3,900 สาขา และกลุ่มลูกค้าพาณิชย์ของ โออาร์ กว่า 2,600 ราย

2.Digital Platform จากจำนวนสมาชิกบัตร Blue Card กว่า 7,500,000 ราย

“มากกว่าเงิน คือฐานลูกค้า ในหนึ่งวัน โออาร์ มีลูกค้ากว่า 3 ล้านคนที่เข้าใช้บริการต่างๆ ทำอย่างไรให้ลูกค้ากลุ่มนี้หันมาใช้ Hungry Hub บ่อยขึ้น ตัวอย่างเช่น โออาร์ มีฐานลูกค้าที่เป็นเจ้าของรถยนต์แล้วใช้บัตร Blue Card เวลาเติมน้ำมัน แน่นอนว่าลูกค้ากลุ่มนี้เป็น segment เดียวกับที่เราเชื่อมได้ หรือถ้า โออาร์ อยากดูว่าเทรนด์ร้านอาหารไหนดี ก็เอาดาต้า-อินไซท์มาแชร์ด้วยกัน ทำให้รู้ว่าร้านอาหารนี้กำลังขยาย หรือพื้นที่ไหนเป็นโอกาส”

นายสุรสิทธิ์ ทิ้งท้ายว่า สิ่งสำคัญหลังจากที่ โออาร์ เข้ามาลงทุนคือ การได้วางกลยุทธ์ร่วมกันแบบ Strategic Investor ซึ่งทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี ทำให้ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย และเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน

“ความตั้งใจของเราคือต้องการให้คนมาใช้จ่ายร้านอาหารแล้วแฮปปี้ เดินออกมาแล้วได้ประสบการณ์ที่ดี หลายคนไม่ใช่ ไม่มีอำนาจในการจ่าย ร้านแบบ Fine Dining โอมากาเสะหรือร้านหรูๆ แต่แค่กลัวว่าเข้าร้านแล้วจะบาดเจ็บหรือกระเป๋าฉีกหรือเปล่า ทำให้คนไม่กล้าไป แต่เราให้คนเปิดโอกาสไปลองอะไรใหม่ๆ ที่คนไม่เคยลองด้วยโมเดล Hungry Hub”

อย่างไรก็ตาม Hungry Hub เป็นหนึ่งในสามเป้าหมายของการเติบโตร่วมกันนั่นคือด้านเศรษฐกิจ (Economic Prosperity) ของ โออาร์ ในการสร้างการเติบโต อาชีพ และกระจายความมั่งคั่งสู่คู่ค้า ผู้ถือหุ้น ผู้ประกอบการขนาดย่อม พนักงาน และชุมชน ที่ผ่านมาได้ร่วมสร้างไปกว่า 1,000,000 ราย

นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายด้านการสร้างชุมชนน่าอยู่ (Living Community) โออาร์ ได้ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนมากกว่า 15,000 ชุมชน หรือมากกว่า 12 ล้านคน ครอบคลุมทั้งในพื้นที่ธุรกิจและชุมชนรอบพื้นที่ธุรกิจ

ขณะที่เป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ (Healthy Environment) โดยสร้างความยั่งยืนในมิติ net zero สิ่งที่ โออาร์ ทำ ไม่ว่าจะเป็น เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เพิ่มการใช้พลังงานสะอาดในสถานประกอบการ และลดปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจทั้งหมดตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงการสร้างมูลค่าเพิ่ม

แม้การลงทุนครั้งนี้จะเป็นการลงทุนที่ได้ประโยชน์ร่วมกัน หรือวิน-วิน แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ ‘โอกาส’ และการมอบโอกาสคือจุดยืนของ โออาร์ ตามวิสัยทัศน์ “Empowering All toward Inclusive Growth” หรือ “เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโต ร่วมกัน” พร้อมจะเป็นองค์กรที่ยืนเคียงข้างผู้คน สังคม ชุมชน และภาคธุรกิจ ตลอดจนสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี