ThaiPublica > Native Ad > Advertorial > “สตาร์ทอัพ” สไตล์ ธนินท์ เจียรวนนท์

“สตาร์ทอัพ” สไตล์ ธนินท์ เจียรวนนท์

8 สิงหาคม 2017


ไม่มีใครจะประสบความสำเร็จและเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และยั่งยืน แต่เพียงลำพังคนเดียว มหาเศรษฐีและผู้นำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จหลายๆ ท่านล้วนแล้วแต่เป็นผู้ที่รู้จักแสวงหาโอกาสและสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถ เพื่อมาเสริมสร้างไอเดียใหม่ๆ เพื่อรังสรรค์ธุรกิจและกิจการให้แตกตัวและขยายออกไปอย่างกว้างขวาง

“สหพัฒน์โตแล้วแตกและแตกแล้วโต” (เขียนโดยคุณ สมใจ วิริยะบัณฑิตกุล) เป็นตัวอย่างของหนังสือเล่มหนึ่งที่เขียนถึงกรณีศึกษาของนายห้างเทียม โชควัฒนา ผู้ก่อตั้งกลุ่มสหพัฒน์ โดยใช้กลยุทธ์ในการเปิดโอกาสให้ผู้บริหารในแต่ละองค์กรมีอิสระในการทำงานและขยายอาณาจักรไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งทำให้กรุ๊ปในภาพรวมสามารถเจริญเติบใหญ่จนเป็นองค์กรชั้นนำระดับประเทศในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

อีกตัวอย่างหนึ่งของผู้ประสบความสำเร็จจากกลยุทธ์การบริหารงานในรูปแบบนี้คือ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้ซึ่งได้เรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตและการทำงานจากการที่ได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ ที่ให้รับผิดชอบบริหารองค์กรตั้งแต่อายุน้อย จนเป็นแรงดลใจให้เขากลายเป็นคนที่ชอบที่จะให้โอกาสคนหนุ่มคนสาวเช่นกัน เมื่อได้ก้าวขึ้นมาบริหารกิจการของตัวเอง

จากบทสัมภาษณ์ “My Personal History” โดยนิตยสาร Nikkei Asian Review ธนินท์ได้รับการมอบหมายจาก ดร.ชำนาญ ยุวบูรณ์ ซี่งในขณะนั้นเป็นอธิบดีกรมการปกครองและประธานสหพันธ์สหกรณ์ค้าไข่แห่งประเทศไทย ให้เป็นผู้จัดการสหกรณ์ฯ ตั้งแต่อายุเพียง 20 ปี เนื่องจากเห็นแววและเชื่อมั่นเด็กหนุ่มคนนี้ว่าจะทุ่มเทและมีความสามารถนำพาสหกรณ์ฯ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในด้านการส่งออกให้ก้าวหน้าและประสบความสำเร็จได้

ธนินท์ได้เรียนรู้หลักการบริหารงานบริหารคนจาก ดร.ชำนาญ ผู้ซึ่งจบการศึกษาในระดับปริญญาเอกด้านกฎหมายจากฝรั่งเศสเป็นอย่างดี จนมีผู้เล่าว่าในขณะนั้นหนุ่มน้อยวัยเพียง 20 ปีสามารถบริหารกิจการสหกรณ์ฯ ให้เจริญรุดหน้าไปด้วยดี โดยมีผู้อาวุโสวัย 50 ที่ ดร.ชำนาญเป็นผู้แต่งตั้งให้เข้ามาเป็นผู้ช่วย

ด้วยเหตุนี้ทำให้บุคคลผู้ใกล้ชิดธนินท์เปิดเผยว่า ประสบการณ์นี้เองทำให้ธนินท์เป็นผู้ที่ชอบที่จะให้โอกาสคนรุ่นใหม่เสมอในการเข้ามาเสนอความคิด และจะคอยดูแลแนะนำช่วยเหลือด้านต่างๆ รวมทั้งเงินทุนและความรู้หลักคิดในการบริหารจัดการต่างๆ

การที่ธนินท์เปิดเวทีให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงฝีมือนี่เองเป็นหนึ่งในเบื้องหลังความสำเร็จของเครือซีพีในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ที่ทำให้เครือฯ สามารถแตกไลน์ธุรกิจออกไปมากมาย โดยกิจการไก่ย่างห้าดาว หรือข้าวกล่องในร้านเซเว่น เป็นหนึ่งในตัวอย่างของธุรกิจใหม่ที่เกิดจากไอเดียของคนรุ่นใหม่ที่ธนินท์ได้รับฟังและให้โอกาสได้ “ปล่อยของ” แสดงฝีมือจนประสบความสำเร็จ

วิธีคิดและวิธีการทำงานแบบนี้ของธนินท์ ซึ่งได้กลายมาเป็นวัฒนธรรมองค์กรของเครือซีพี ช่วยให้เครือได้แตกไลน์ธุรกิจออกไปอย่างมากมายและกว้างขวาง และอาจมีส่วนที่ทำให้มีผู้เข้าใจผิดและครหานินทาซีพีว่าทำไปหมด ทำไปเสียทุกอย่าง ก็มาจากการที่ธนินท์เปิดกว้างให้พนักงานและผู้บริหารมีอิสระสามารถครีเอทธุรกิจใหม่ได้อย่างไม่มีข้อจำกัดนั่นเอง

ก่อนที่โลกจะรู้จัก กระทิง รุ่งเรือง พูนผล หรือคำว่า สตาร์ทอัป หรือ แองเจิล อินเวสเตอร์ ซึ่งหมายถึงผู้ฟูมฟัก อุ้มชูสตาร์ทอัพ แต่ในหลายทศวรรษที่แล้วมี ธนินท์ เจียรวนนท์ เด็กหนุ่มผู้เคยได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ให้เข้ามาทำงานสำคัญ เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จด้วยโมเดลธุรกิจแบบแองเจิล อินเวสเตอร์ ด้วยการเปิดเวทีให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามา “แตกและโต” ด้วยเช่นกัน

แต่สิ่งที่ธนินท์หรือนายห้างเทียมแตกต่างจากผู้ฟูมฟักสตาร์ทอัพในยุคนี้คือการคงธุรกิจที่แตกใหม่เหล่านี้ไว้เป็นส่วนหนึ่งของเครือ ในขณะที่แองเจิลอินเวสเตอร์มักจะเป็นการลงทุนในระยะสั้นเพื่อช่วยตั้งไข่ ก่อนที่จะขายหุ้นออกไปเมื่อสตาร์ทอัพสามารถยืนบนขาของตัวเองได้แล้วหรือมีผู้ลงทุนใหม่