ThaiPublica > คอลัมน์ > การลงทุนเพื่อความยั่งยืน: กองทุนรวมกับการคำนึงถึงESG

การลงทุนเพื่อความยั่งยืน: กองทุนรวมกับการคำนึงถึงESG

1 พฤศจิกายน 2022


รศ.ดร.ยุทธนา เศรษฐปราโมทย์
คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาศาสตร์
ผศ.ดร.สุธาวัลย์ พฤกษ์อำไพ
คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ปัจจุบัน แนวคิดเกี่ยวกับการกับดูแลกิจการที่ดีและการลงทุนอย่างยั่งยืนได้รับการยอมรับเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากตลาดทุน จากการสำรวจนักลงทุนในสหรัฐอเมริกาจำนวน 800 คนโดย Morgan Stanley: Institute of sustainable investing ในปี 2564 พบว่า ร้อยละ 79 ของกลุ่มตัวอย่างให้ความสำคัญอย่างมากกับการลงทุนแบบยั่งยืน แม้ว่าในสถานการณ์ COVID-19 ที่ผลตอบแทนจากการลงทุนจะลดลงก็ตาม โดยประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate change) นับเป็นหัวข้อที่สำคัญที่สุดที่กลุ่มตัวอย่างให้ความสนใจ นอกจากนี้ จากการสำรวจอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2558 ยังพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีการจัดสรรเงินลงทุนไปยังการลงทุนเพื่อความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ (Millennials) ดังรูปที่ 1

จากกระแสความนิยมข้างต้น ทำให้ธุรกิจกองทุนรวม (Mutual fund) มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเพื่อความยั่งยืน โดยทั่วไปกองทุนรวมเป็นเครื่องมือทางการลงทุนประเภทหนึ่งที่มีจุดเด่นคือ นักลงทุนไม่จำเป็นต้องมีเงินลงทุนจำนวนมากก็สามารถลงทุนหรือสร้างพอร์ตการลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสม อีกทั้งยังเหมาะกับนักลงทุนที่มีข้อจำกัดด้านเวลาหรือความเชี่ยวชาญในการลงทุน เนื่องจากมีผู้จัดการกองทุนทำหน้าที่บริหารพอร์ตลงทุนให้ โดยกองทุนรวมจะมีผลตอบแทนและความเสี่ยงที่แตกต่างกันตามประเภทสินทรัพย์ที่กองทุนไปลงทุน ซึ่งนักลงทุนสามารถเลือกกองทุนให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การลงทุนและระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

ในปี 2559 Morningstar ได้นำเสนอดัชนี Morningstar Sustainability RatingTM ขึ้น เพื่อช่วยนักลงทุนในการประเมินความเสี่ยงของการลงทุนในกองทุนรวมในอีกมิติหนึ่ง ซึ่งจะพิจารณาจากหลักทรัพย์ที่พอร์ตลงทุนถือครองว่ามีการดำเนินงานในแง่ของการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ที่ดีมากน้อยเพียงใด โดย Morningstar Sustainability RatingTM จะแสดงในรูปแบบของจำนวนลูกโลก (Globe) ตั้งแต่ 1 – 5 ลูกโลก

โดยการให้คะแนนจะมาจากการเปรียบเทียบกับกองทุนใน Morningstar Global Category เดียวกัน ซึ่งกองทุนที่ได้ 5 ลูกโลกนั้นจะมีความเสี่ยงด้าน ESG ที่ต่ำกว่ากองทุนที่มีจำนวนลูกโลกที่น้อยกว่าภายในกลุ่มเดียวกัน โดย Morningstar ได้แบ่งประเภทของกองทุนแบบยั่งยืนเป็น 3 กลุ่มได้แก่ (1) ESG fund ซึ่งเป็นกองทุนที่คัดเลือกตราสารลงทุนโดยใช้ ESG เป็นเกณฑ์ (2) Impact Fund ซึ่งเป็นกองลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนต่อประเด็นต่าง ๆ อาทิ Low Carbon หรือ Fossil-Fuel Free และ (3) กองทุนที่ลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม (Environment Sector Fund) เช่น ลงทุนใน Renewable Energy

สำหรับในประเทศไทย แม้ว่าแนวคิดเกี่ยวกับการลงทุนในหุ้นยั่งยืนจะเพิ่งมีมาไม่นาน แต่จากสถิติของจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในรายชื่อ “หุ้นยั่งยืนยืน” หรือ Thailand Sustainability Investment (THSI) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 51 กิจการในปี 2558 เป็น 170 กิจการในปี 2565

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จัดทำดัชนีความยั่งยืนหรือ “SET THSI Index” เพื่อเป็นดัชนีเทียบเคียงผลการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์กลุ่มนี้เทียบกับดัชนีที่แทนหลักทรัพย์กลุ่มอื่น ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้เกิดความตื่นตัวในกระแสการลงทุนเพื่อความยั่งยืนเพิ่มขึ้น แม้ว่า Morningstar Sustainability RatingTM อาจไม่ใช่เครื่องยืนยันว่ากองทุนนั้นมีนโยบายการลงทุนอย่างยั่งยืน แต่ก็เป็นการให้ข้อมูลเบื้องต้นที่สะท้อนว่าหลักทรัพย์ที่กองทุนถืออยู่นั้นมีความเสี่ยงด้าน ESG มากน้อยเพียงใด

โดยกองทุนเปิดตราสารทุนของไทยจำนวน 1,537 กองทุน ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2565 พบว่า มีเพียง 152 กองทุนที่ไม่มีคะแนน Morningstar Sustainability RatingTM (ร้อยละ 9.9) โดยส่วนใหญ่เป็นกองทุนที่เปิดใหม่ในปี 2565 ดังนั้นจึงแสดงให้เห็นว่า กองทุนเปิดตราสารทุนของไทยส่วนใหญ่มีการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีการคำนึงถึง ESG จากรูปที่ 3 จะพบว่า กองทุนเปิดตราสารทุนส่วนใหญ่ได้คะแนน 4 ลูกโลก (ร้อยละ 35.3) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีความเสี่ยงด้าน ESG ที่ต่ำ และเมื่อรวมจำนวนกองทุนที่ได้คะแนน 4 และ 5 ลูกโลกจะพบว่ามีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 51.2

และหากพิจารณาลงไปในรายละเอียดจะพบว่า กองทุนเปิดตราสารทุนที่ได้คะแนน 5 ลูกโลกส่วนใหญ่เป็นกองทุนที่ลงทุนต่างประเทศ เช่น Global equity, US equity และ Greater China ในขณะที่กองทุนยั่งยืนที่ลงทุนในประเทศยังคงเป็นสัดส่วนที่น้อย ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากกระแสการลงทุนอย่างยั่งยืนได้เริ่มมานานแล้วในยุโรปและอเมริกา รวมถึงประเทศจีนที่ช่วงหลังเน้นการลงทุนในพลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้น

เมื่อนำคะแนน Morningstar Sustainability Rating มาพิจารณาควบคู่ไปกับคะแนน Morningstar Rating ซึ่งแสดงถึงผลตอบแทนที่ปรับความเสี่ยงของกองทุนในระดับต่าง ๆ โดยกองทุนที่มีผลการดำเนินงานที่ดีที่สุดจะได้คะแนน 5 ดาว ในขณะที่กองทุนที่มีผลการดำเนินงานด้อยที่สุดจะได้รับคะแนน 1 ดาว ซึ่งจากตารางที่ 1 จะพบว่ากองทุนที่ได้ Morningstar Rating 4 – 5 ดาว เป็นกองทุนที่ได้ Morningstar Sustainability Rating ในระดับ 3 ลูกโลกขึ้นไปรวมประมาณร้อยละ 11.1 ในขณะที่กองทุนที่ได้ Morningstar Rating 1 ดาว เป็นกองทุนที่ได้ Morningstar Sustainability Rating ในระดับ 1 – 2 ลูกโลกรวมประมาณร้อยละ 1.9

แม้ว่าแนวคิดเกี่ยวกับ ESG จะได้รับการยอมรับในการจำแนกประเภทกองทุนรวมจาก Morningstar แต่ในแง่ของนักลงทุน ผลการดำเนินงานของกองทุนรวมจะเป็นหัวใจสำคัญในการตัดสินใจของนักลงทุนในการเลือกลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งที่ผ่านมาการศึกษาเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของกองทุนรวมที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ESG ยังคงมีอยู่อย่างจำกัดเทียบกับการลงทุนในกองทุนรวมประเภทอื่น โดยการศึกษาที่ผ่านมาในต่างประเทศ ส่วนใหญ่อ้างอิงการจัดกลุ่มกองทุนรวมของ Morningstar ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการข้อมูลและบทวิเคราะห์สำหรับการลงทุนในกองทุนรวมที่ใหญ่ที่สุด

โดยตั้งแต่ปี 2015 Morningstar ได้เริ่มมีการจัดกลุ่มกองทุน Social Responsible Mutual Fund (SRMF) ในตลาดประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้แก่ สหรัฐฯ และ ยุโรป และมีการให้คะแนน ESG ของกองทุนเหล่านี้ ทำให้มีการวิเคราะห์ถึงผลการดำเนินงานของกองทุน เช่น Das et al. (2018) พบว่า กองทุน SRMF ที่มีคะแนน ESG ที่สูงจะมีผลการดำเนินงานที่ดีกว่ากองทุนที่มีคะแนน ESG น้อยในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับ Tiago Gonçalves et al (2021) ซึ่งใช้ข้อมูลจากประเทศยุโรป และพบว่า กองทุน ที่เน้นความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (Green fund) มีผลการดำเนินงานที่วัดจากผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยงจากแบบจำลองหลายปัจจัยที่ดีในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ แต่มีผลการดำเนินงานที่ไม่แตกต่างจากกองทุนประเทศอื่นๆ ในช่วงเศรษฐกิจปกติ

นอกจากนี้ Pablo Durán-Santomi พบว่ากองทุนที่มีค่า ESG ที่ดี จะได้รับความสนใจลงทุน โดยจะมีเงินทุนเข้ามาในกองทุนเหล่านี้มากกว่ากองทุนปกติ นอกจากนี้ยังพบว่า มีความเสี่ยงในการลงทุนที่วัดจากค่ามูลค่าความเสี่ยง (Value at Risk) ที่ต่ำกว่ากองทุนปกติ สำหรับในกรณีประเทศไทย ผู้เขียนอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของกองทุนรวมที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ESG ซึ่งในโอกาสต่อไป จะนำเสนอผลการศึกษาว่า กองทุนรวมที่จัดอยู่ในกลุ่ม ESG นี้ จะมีผลการดำเนินงานที่ดีเมื่อเทียบกับกองทุนรวมประเภทอื่นหรือไม่ และกองทุนรวมใดบ้างที่มีผลการดำเนินงานที่ดีที่น่าลงทุน เพื่อเป็นข้อมูลทางเลือกหนึ่งให้กับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในกองทุนรวมประเภทนี้ต่อไป