ThaiPublica > คอลัมน์ > ผลของความเสี่ยงทางการเมืองต่อการตัดสินใจลงทุนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ผลของความเสี่ยงทางการเมืองต่อการตัดสินใจลงทุนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

31 มกราคม 2023


ผศ.ดร.สุธาวัลย์ พฤกษ์อำไพ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,รศ.ดร.ยุทธนา เศรษฐปราโมทย์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาศาสตร์

การลงทุนของภาคธุรกิจเอกชน โดยเฉพาะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เนื่องจากมีผลต่อการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศส่งเสริมการจ้างงาน และเพิ่มรายได้ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การส่งเสริมลงทุนของภาคธุรกิจเป็นนโยบายสำคัญที่ทุกรัฐบาลพยายามผลักดัน แต่ยังคงมีประสิทธิผลไม่มากนัก ซึ่งมีสาเหตุจากปัญหาหลายประการ เช่น ปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ รวมถึงความเสี่ยงทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นต้น

ในบรรดาความเสี่ยงทางเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ ที่มีผลต่อการลงทุนของภาคธุรกิจ ความไม่แน่นอนทางการเมืองเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่สำคัญ เนื่องจากอาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบหรือนโยบายที่สำคัญ อาทิ การแก้ไขกฎหมาย การปรับเปลี่ยนอัตราภาษี ซึ่งแนวโน้มส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจที่สำคัญของภาคธุรกิจ เช่น การตัดสินใจลงทุนของกิจการดังที่มีการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา (Gulen and Ion, 2016; Julio and Yook, 2012)

นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2566) ประเทศไทยเผชิญกับเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหารถึง 13 ครั้ง การยุบสภา 13 ครั้ง การเลือกตั้ง 28 ครั้ง การบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 20 ฉบับซึ่งมีการแก้ไขทั้งหมด 22 ครั้ง รวมถึงเหตุการณ์ประท้วงและจลาจลอีกหลายครั้ง โดยเฉพาะในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทั้งที่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย และการกระทำรัฐประหารโดยกลุ่มอำนาจทหาร ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งและการต่อสู้ของภาคประชาชน มาถึงปัจจุบันซึ่งกำลังจะมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในปี 2566 นี้

ดังนั้น จึงมีงานวิจัยซึ่งพยายามวิเคราะห์ผลกระทบของปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง โดยหนึ่งในงานวิจัยที่สำคัญได้แก่ พงษ์ศักดิ์ เหลืองอร่ามและยุทธนา เศรษฐปราโมทย์ (2561) ซึ่งจัดทำดัชนีความไม่แน่นอนทางการเมืองไทย (Political uncertainty index: PUI) ขึ้นเพื่อสะท้อนระดับความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงเวลาต่าง ๆ ทำให้สามารถนำไปอ้างอิงในการศึกษาผลกระทบของความไม่แน่นอนทางเมืองในประเทศไทยต่อเศรษฐกิจในมิติต่าง ๆ เช่น ผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรงและการลงทุนในหลักทรัพย์จากต่างประเทศ (Luangaram and Sethapramote, 2021) โครงสร้างเงินทุนของกิจการ (พัศวีย์ เจียมสุชน, 2562) เป็นต้น

ในส่วนของผลที่มีต่อการลงทุนของภาคธุรกิจ จากการศึกษาล่าสุดโดยผู้เขียน ซึ่งวิเคราะห์ผลกระทบของความไม่แน่นอนทางการเมืองต่อการตัดสินใจลงทุนและผลการดำเนินงานของกิจการ โดยใช้ข้อมูลจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2545 ถึง 2564 ผ่านตัวแปรดัชนีความไม่แน่นอนทางการเมืองพบว่า ระดับความไม่แน่นอนทางการเมืองนอกจากจะมีผลเชิงลบต่อการตัดสินใจลงทุนของกิจการแล้ว ยังมีผลเชิงลบต่อผลการดำเนินงานของกิจการด้วย นอกจากนี้ยังพบว่า ปัจจัยเฉพาะของกิจการได้แก่ สภาพคล่องที่วัดด้วยกระแสเงินสดของกิจการ โอกาสในการเติบโตที่วัดจากอัตราการเปลี่ยนแปลงของยอดขายในช่วงเวลาเดียวกันและ Tobin Q มีผลเชิงบวกต่อการตัดสินใจลงทุนของกิจการอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ปัจจัยเชิงเศรษฐกิจมหภาค เช่น การเติบโตของผลผลิตมวลรวม (GDP) ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของกิจการที่ไม่ชัดเจนนัก

ผลการศึกษานี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของความเสี่ยงทางการเมืองไทย ว่าเป็นปัจจัยสำคัญในเชิงมหภาคที่มีผลต่อการตัดสินใจของบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ลดหรือชะลอการลงทุน มีหลายเหตุผลที่อธิบายผลกระทบนี้ เช่น Bernanke (1983) ใช้ทฤษฎีทางเลือกแฝง (Real option theory) ในการอธิบายผลของความไม่แน่นอนที่มีต่อการตัดสินใจลงทุนที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ (Irreversible investment) กล่าวคือ ในสถานการณ์ที่กิจการคาดการณ์ว่าความไม่แน่นอนจะส่งผลเชิงลบต่อกิจการหรือกิจการไม่แน่ใจว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใดเกิดขึ้น การเลือกรอคอย (Option to wait) จะมีมูลค่ามากขึ้น โดยกิจการจะชะลอหรือลดการลงทุนจนกระทั่งความไม่แน่นอนเหล่านั้นคลี่คลายไป ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ความน่าจะเป็นที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายจะมีมากกว่าช่วงปกติ Rodrik (1991) ได้พัฒนาแบบจำลองในการอธิบายผลของการปฏิรูปนโยบาย (Policy reform) ที่มีต่อการตัดสินใจลงทุนของกิจการ แม้ว่าการเปลี่ยนแปลงอาจนำมาสู่สิ่งที่ดีขึ้น แต่ก็มีความเสี่ยงที่จะส่งผลเสียหรือเพิ่มต้นทุนให้แก่กิจการ ดังนั้น กิจการจึงเลือกจะชะลอการลงทุนไปจนกว่าจะมีความชัดเจนในการเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้น

นอกจากนี้ การศึกษาของ Ming and Liu (2021) ยังพบว่า การดำเนินนโยบายต่อต้านการคอรัปชันในประเทศจีนได้ส่งผลกระทบเชิงลบต่อผลการดำเนินงานของธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวแบบหรูหรา โดยงานวิจัยอธิบายให้เห็นว่า ผลการดำเนินงานของกิจการลดลงเนื่องมาจากการลดลงของอุปทานของผู้บริโภคมากกว่าการเพิ่มขึ้นของต้นทุน เช่นเดียวกับงานวิจัยของ Trakarnsirinont et al. (2023) ที่พบว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยที่มาจากการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญส่งผลเชิงลบต่ออัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ของกิจการ และความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยที่มาจากการเลือกตั้งและการรัฐประหารยังส่งผลให้มูลค่ากิจการลดลง

นัยยะสำคัญที่ได้จากการศึกษานี้แสดงถึงต้นทุนของความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่เกิดขึ้นจากอดีตถึงปัจจุบัน ในมิติของภาคธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งแสดงถึงความสำคัญของความเสี่ยงทางการเมืองว่าเป็นปัจจัยมหภาคที่ชัดเจนที่สุดที่มีผลต่อปัญหาการลงทุนของภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีความเสี่ยงต่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ดังนั้น ผู้เกี่ยวข้องทั้งภาคการเมือง ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน ควรร่วมมือกันในการลดความขัดแย้ง และความเสี่ยงทางการเมือง เพื่อช่วยส่งเสริมการลงทุนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

หมายเหตุ: เนื้อหาบางส่วนของบทความนี้อ้างอิงจากรายงาน “ความไม่แน่นอนทางการเมือง การตัดสินใจลงทุนและผลการดำเนินงานของกิจการ: หลักฐานเชิงประจักษ์จากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” โดย สุธาวัลย์ พฤกษ์อำไพ, ยุทธนา เศรษฐปราโมทย์ และ พงศ์ศักดิ์ เหลืองอร่าม (2566)