ThaiPublica > คอลัมน์ > ภาคธุรกิจเอกชนไทยตอบสนองต่อความเสี่ยงทางการเมืองเช่นไร

ภาคธุรกิจเอกชนไทยตอบสนองต่อความเสี่ยงทางการเมืองเช่นไร

8 สิงหาคม 2023


รศ. ดร.ยุทธนา เศรษฐปราโมทย์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาศาสตร์, รศ. ดร.สุธาวัลย์ พฤกษ์อำไพ
คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา คงไม่มีประเด็นข่าวใดที่ถูกจับตาจากสาธารณชนมากเท่ากับประเด็นด้านความไม่แน่นอนทางการเมือง ดังจะเห็นจากข่าวการหาเสียงและนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ

ก่อนการเลือกตั้งในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ข่าวผลการเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ตลอดจนข่าวความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาล ปัญหาความขัดแย้งในการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาล ที่ยังไม่มีข้อสรุปจนถึงปัจจุบัน

ความไม่แน่นอนทางการเมืองเหล่านี้ ส่งผลต่อการบริหารงานของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งอยู่ภายใต้การรักษาการของรัฐบาลที่ครบวาระไป โดยที่ยังไม่ทราบทิศทางและนโยบายของรัฐบาลใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นในอนาคต ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้แล้ว ความไม่แน่นอนดังกล่าวยังเป็นปัจจัยที่มีผลต่อภาคธุรกิจเอกชนด้วยเช่นกัน โดยวันนี้ผู้เขียนจะนำเสนอการวิเคราะห์ผลของความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่มีต่อการตัดสินใจของภาคธุรกิจเอกชน ในมิติที่เพิ่มเติมจากบทความก่อนในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งผู้เขียนได้อธิบายอิทธิพลของความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่ส่งผลให้ภาคธุรกิจเอกชนลดการลงทุนลง

โดยครั้งนี้ จะนำเสนอผลการตอบสนองในมิติของความขัดแย้งทางการเมืองที่หลากหลาย และผลที่แตกต่างกันในแต่ละสาขาธุรกิจ จากการวิเคราะห์ข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2545 ถึง 2564 ครอบคลุมบริษัทจำนวน 449 บริษัท และใช้ดัชนีความไม่แน่นอนทางการเมืองที่พัฒนาโดย Luangaram and Sethapramote (2018) พบว่าธุรกิจเอกชนมีแนวโน้มจะลดการลงทุนลงเมื่อความไม่แน่นอนทางการเมืองเพิ่มสูงขึ้น โดยผลกระทบจะเกิดขึ้น 1 ถึง 3 ไตรมาสหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ระดับความไม่แน่นอนทางการเมืองเพิ่มสูงขึ้น นั่นอาจแปลได้ว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จะมีผลให้ภาคธุรกิจเอกชนลดการลงทุนอย่างต่อเนื่องจนถึงช่วงกลางปี พ.ศ. 2567

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณามิติต่างๆ ของความไม่แน่นอนทางการเมืองพบว่า ผลจากการเลือกตั้ง การปฏิรูป และการรัฐประหาร จะส่งผลเชิงลบอย่างรุนแรงต่อการลงทุนของภาคธุรกิจเอกชน ในขณะที่มิติด้านการประท้วงและการประกาศภาวะฉุกเฉิน ไม่มีผลต่อการลงทุนของธุรกิจเอกชนอย่างมีนัย เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองส่งผลให้การเลือกที่จะรอ (wait and see) มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจนกว่ากิจการจะมีข้อมูลเพิ่มมากขึ้น หรือจนกว่าจะมีความชัดเจนในแง่ของทิศทางการดำเนินนโยบาย โดยผลการวิเคราะห์การตอบสนองของการลงทุนรายสาขาธุรกิจพบว่า สาขาที่เกี่ยวข้องกับโครงการลงทุนภาครัฐ ได้แก่ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง มีการตอบสนองเชิงลบที่ชัดเจนเช่นเดียวกับสาขาที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาล เช่น ธุรกิจการเกษตร อาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจยานยนต์ ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์

ผลการศึกษายังพบว่า ในกลุ่มธุรกิจที่มีการลงทุนสูง (capital intensive) หรือการลงทุนนั้นเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกได้ยาก (irreversible investment) เช่น ธุรกิจวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร ธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ล้วนแต่มีแนวโน้มลดการลงทุนลงในช่วงที่ความไม่แน่นอนทางการเมืองเพิ่มสูงขึ้น

ในขณะที่บางสาขาที่มีการแข่งขันสูง และกิจการจำเป็นต้องรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขัน ทั้งจากคู่แข่งภายในประเทศ และภายนอกประเทศในกรณีที่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก เช่น ธุรกิจกลุ่มพาณิชย์ กลุ่มการแพทย์ และธุรกิจกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กลับไม่พบแนวโน้มลดการลงทุนลง

นอกจากมิติที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจเอกชน ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังส่งผลเชิงลบต่อผลการดำเนินงาน ทั้งที่วัดด้วยอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) และอัตรากำไรจากการดำเนินงาน (operating profit margins) โดยเฉพาะเมื่อเกิดความขัดแย้งในมิติของการเลือกตั้ง การปฏิรูป และรัฐประหาร อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์และอัตรากำไรจากการดำเนินงาน จะได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างชัดเจนในธุรกิจกลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง และกลุ่มแฟชั่น

ผลการศึกษาข้างต้น แสดงถึงต้นทุนที่เกิดขึ้นจากความเสี่ยงทางการเมืองไทยที่มีต่อเศรษฐกิจมหภาค ผ่านการการลดการลงทุนของภาคธุรกิจเอกชน และการปรับตัวลดลงของผลประกอบการของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

นอกจากนี้ ผลการศึกษาอื่นๆ ที่ผ่านมาพบว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังส่งผลต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งการลงทุนทางตรง (FDI) และการลงทุนในสินทรัพย์ (FPI) (Luangaram and Sethapramote, 2020) มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ (Apitan et al., 2022) ความผันผวนของการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ (Prukumpai et al., 2022) อีกด้วย ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ผลต่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยในอนาคต

ดังนั้น ผู้เขียนจึงหวังว่าผลการวิจัยข้างต้นจะสร้างความตื่นตัวต่อสาธารณะ ถึงผลที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งและความไม่แน่นอนทางการเมืองไทย ที่มีต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม

หมายเหตุ : เนื้อหาบางส่วนของบทความนี้อ้างอิงจากบทความ “How Do Firms Respond to Political
Uncertainty? Evidence from Listed Companies on the Stock Exchange of Thailand” โดย
Yuthana Sethapramote, Suthawan Prukumpai and Pongsak Luangaram (August, 2023)