ทุกวันนี้เรามีข้อมูล งานวิจัย ตลอดจนบทความตามสำนักข่าวออนไลน์เกี่ยวกับประชากรเจเนอเรชันแห่งยุคสมัยเต็มไปหมด แต่อะไรคือปัญหาที่เขาเหล่านี้กำลังเผชิญอยู่ในโลกปัจจุบันกันแน่ หากไม่ได้มองวัยรุ่นเป็นเพียงจำนวนนับทางสถิติแล้ว ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ผมมีโอกาสได้คลุกคลีกับโปรเจกต์เล็กๆ ในชื่อ Living in Generation บนการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เพื่อสำรวจปัญหาที่ว่าผ่านเรื่องเล่าและบทสัมภาษณ์วัยรุ่นไทยจำนวนหลายคน และหนึ่งในปัญหานั้นคือที่มาของบทความนี้
ผู้ให้สัมภาษณ์ตัดสินใจปลีกตัวเองจากโซเชียลมีเดีย ไม่โพสต์ ไม่ไลก์ และไม่แจ้งให้ใครรับรู้มาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว หลังจากได้ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น ก็เกิดคำถามว่า “เราเคยมีตัวตนจริงๆ สำหรับคนรอบข้างหรือเปล่า” “ถ้าเราหายไปจะมีใครแคร์ไหม” ความคิดนี้ไม่ใช่ความคิดที่จะฆ่าตัวตาย เพียงแต่คิดว่า ถ้าใครสักคนหายไปจากโซเชียลมีเดีย ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับคนรอบข้างจะเป็นเช่นไร
“เรามีเพื่อนในโซเชียลมีเดีย 105 คน ถ้าเราโพสต์ก็จะมีคนมากดไลก์ แล้วถ้าเราไม่โพสต์อีกเลยล่ะ ถ้าวันหนึ่งเราหายไปจริงๆ และไม่เล่นโซเชียลมีเดียอีกเลย จะยังมีใครสนใจเราอยู่ไหม”
ผู้ให้สัมภาษณ์ยังคงติดต่อทางแชทกับแค่เพื่อนสนิทสามคน พอเดือนหนึ่งผ่านไป ปีหนึ่งผ่านไป สองปีผ่านไป ก็พบว่า จนถึงทุกวันนี้ เพื่อน 105 คน ทุกคนยังโพสต์และแชร์บนฟีดกันปกติ แต่ไม่มีสักคนที่ทักมาหาเพราะเห็นเราเงียบหายไป
ถึงเราจะมีตัวตนบนโลกออนไลน์ ก็ไม่ได้หมายความว่าเรามีตัวตนจริงๆ สำหรับคนอื่น การโพสต์อะไรซักอย่างแล้วมีคนมากดไลก์ในทุกวันนี้ เลยคล้ายกับการมีตัวตนปลอมๆ พอคนหยุดมากดไลก์และต้องการที่จะมีตัวตนอีก ก็ต้องหาอะไรมาโพสต์
หากเราเล่นเฟซบุ๊ก อาจจะพบว่า 2-3 ปีมานี้ มีเพื่อนที่หายไปจากเฟซบุ๊กเยอะขึ้นเรื่อยๆ ไม่นับประเภทโดนบล็อก หรือโดนลบ แต่นับคนที่จู่ๆ ก็ไม่โพสต์อะไรเลย ทั้งที่เดิมโพสต์บ่อยๆ เหตุใดหลายคนจึงเลือกที่จะหายไป ตั้งแต่โพสต์น้อยลง โพสต์แล้วลบ จนกระทั่งไม่โพสต์อะไรเลย มีศัพท์คำหนึ่งที่ใช้เรียกภาวะนี้ คือ ghosting หรือการหายไปในโลกออนไลน์
ในทางความสัมพันธ์ คำว่า ghosting หมายถึงอยู่ๆ ก็หายไป เหมือนเป็นผี ทั้งที่เมื่อก่อนเคยพูดคุยกัน หรืออาจสนิทสนมกันเสียด้วยซ้ำ จนฝ่ายถูกทิ้งรู้สึกว่า ฉันทำอะไรผิดไป บางคนที่มีประสบการณ์ ghosting อาจเลือกจะตัดสินใจเช่นนั้นเพราะภาระงานมากเกินไป ไม่อยากถลำลึกเข้าไปในความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนเข้มข้น ไม่กล้าเผชิญหน้ากับความจริงบางประการ ตลอดจนเบื่อหน่ายจึงหนีหายไป
แต่ในทางสังคมออนไลน์แล้วนั้น ภาวะ ghosting เกิดขึ้นจนเป็นปรากฏการณ์ทั่วโลก ที่ใครซักคนจู่ๆ ก็เฟซบุ๊กร้าง ไม่โพสต์อะไร อาจถึงขั้นไม่ไลก์ ไม่คอมเมนต์ โพสต์วันเกิดให้ก็ไม่ตอบ แม้จะยังเห็นขึ้นสถานะออนไลน์อยู่ อะไรทำให้คนคนหนึ่งเลือกจะ ghosting ต่อชุมชนออนไลน์กัน
“เราพิมพ์แล้วลบบ่อยมาก จนท้ายที่สุดก็ไม่โพสต์อะไรเลย” “เวลาแชร์โพสต์ส่วนใหญ่ ก็เอาไว้ดูเอง ตั้ง only me บางทีไปเมนต์คนอื่น พอเมนต์เสร็จก็ตัดสินใจกดลบ” “เคยส่งข้อความถึงเพื่อนที่หลังๆ มานี้ไม่โพสต์อะไรเลย เค้าตอบว่า
เบื่อเฟซบุ๊กเพราะมีแต่โฆษณา ส่วนเพื่อนอีกคน นับตั้งแต่เค้าป่วยเป็นมะเร็ง ก็ไม่โพสต์อะไร ปิดบังเรื่องป่วยกับญาติและคนรู้จัก มีเฟซบุ๊กไว้รับรู้ แต่ไม่แสดงออก ไม่กดไลก์อะไร” บางส่วนของความคิดเห็นจะเห็นได้ว่า การปฏิสัมพันธ์บนโซเชียลมีเดียในปัจจุบันโดยเฉพาะเฟซบุ๊กนั้น เปลี่ยนจากความสัมพันธ์แบบไปกลับ เช่น ความสัมพันธ์ทั่วไป คือถามมาตอบไป คุยมาคุยกลับ เป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนขึ้น โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กเป็นผู้กำหนดตัวตนผ่านหน้าวอลว่าจะให้เพื่อนหรือคนในรายชื่อเพื่อนมองเห็น ตัดสิน และมีวิธีปฏิสัมพันธ์อย่างไรกับตนเอง หน้าวอลจึงเปลี่ยนความหมายของรูปลักษณ์ภายนอกที่ไม่ได้แสดงออกผ่านการแต่งกายหรือรูปร่างหน้าตาเช่นเดียวกับสมัยก่อน สู่ความหมายที่ครอบคลุมถึงไลฟ์สไตล์ สถานะทางสังคม ความชอบ และความสนใจด้วย
ดูเหมือนเครื่องมือที่เดิมเราเข้าใจว่าจะช่วยให้คนปฏิสัมพันธ์กันง่ายและมากขึ้น กลับมีผลลัพธ์ที่ตรงข้าม “เราเป็นคนนึงที่โพสต์น้อยลงมาก จนบางช่วงหายไปเลย เพราะไม่คิดว่าจะมีใครเข้าใจเรา แถมบางทีเหมือนถูกตัดสินว่าเป็นคนแบบนั้นแบบนี้ เลยไม่โพสต์ดีกว่า”
การ ghosting จึงกินความหมายรวมถึงการกระทำเพื่อยุติการสื่อสารทั้งหมดและหยุดการติดต่อกับบุคคลอื่นๆ โดยไม่มีคำเตือนหรือเหตุผลที่ชัดเจนแจ้งล่วงหน้า รวมทั้งเพิกเฉยต่อความพยายามในการติดต่อสื่อสารจากบุคคลอื่นๆ ด้วย
คำนี้มีต้นกำเนิดในช่วงต้นทศวรรษ 2000 โดยทั่วไปหมายถึงการออกเดทและความสัมพันธ์โรแมนติก แต่ในทศวรรษต่อมา มีการรายงานผ่านสื่อมากขึ้นว่า การ ghosting มีผลมาจากการใช้โซเชียลมีเดียและแอปหาคู่ออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น คำนี้ยังขยายครอบคลุมไปถึงการยุติการติดต่อในหมู่เพื่อน สมาชิกครอบครัว นายจ้าง และบริษัทห้างร้าน
สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการ ghosting ในความสัมพันธ์ส่วนตัวคือการหลีกเลี่ยงความรู้สึกไม่สบายใจในความสัมพันธ์ บุคคลที่เป็นผู้หลอกหลอนมักไม่ค่อยรับรู้ว่าพฤติกรรมบางอย่างกำลังทำให้อีกฝ่ายรู้สึกอย่างไร อาการหลอนที่ว่านี้ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต บางคนยังนิยามว่า เป็นการล่วงละเมิดทางอารมณ์หรือการทารุณกรรมทางอารมณ์ รวมทั้งมีข้อยืนยันว่า เหตุผลที่คนจำนวนนึงเลือกที่จะไม่โพสต์อะไร หรือ หายไปจากเฟซบุ๊ก เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย เลย ghosting เพื่อปกป้องความรู้สึกตนเอง
แต่ในปัจจุบัน การ ghosting กลับกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญมากขึ้น รวมทั้งการใช้ชีวิตผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้การตัดสิน ghosting นั้นทำได้ง่ายขึ้นอีกด้วย แต่ยิ่งพฤติกรรม ghosting กลายเป็นเรื่องธรรมดามากเท่าไร สังคมก็ยิ่งคิดว่า ไม่จำเป็นต้องช่วยเหลือหรือทำอะไรกับคนที่ ghosting ไปมากขึ้นเท่านั้น
ในแง่หนึ่ง สังคมโซเชียลมีเดียก็อาจถูกนับว่าไม่ปลอดภัยจริงๆ ด้วยเพราะจำนวนเพื่อนที่มากเกินความเป็นจริง หรือหากอธิบายให้ถูกต้องคือ คนรู้จักห่างๆ, คนรู้จักใกล้ๆ, ญาติ, เพื่อนสนิท ความสัมพันธ์ทุกระดับถูกจัดให้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน บวกกับ privacy awareness หรือความตื่นตัวเรื่องความเป็นส่วนตัวที่เริ่มมีมากขึ้นในช่วงหลังมานี้ ทำให้เราอาจรู้สึกว่า การโพสต์คือการใช้ชีวิตให้คนจำนวน 800 คน 2,500 คน หรือ 4,999 คน ดูอย่างอิสระ เหมือนใช้การชีวิตในตู้โชว์ แต่จะอพยพไปที่อื่นยากเย็นหน่อย เพราะเราต่างตั้งรกรากกันในเฟซบุ๊ก (หรือแพลตฟอร์มใดแพลตฟอร์มหนึ่ง) หมดแล้ว เราชินกับอากาศที่นี่ ธุรกรรมต่างๆ ก็อยู่ที่นี่ เฟซบุ๊กจึงกลายเป็น comfort zone ที่ uncomfortable ซึ่งก็หมายถึง toxic นั่นเอง
หลายปีมานี้ เราเริ่มเห็นคนกลับไปทำงานในชุมชนตนเองให้กลายเป็นชุมชนน่าอยู่-ชุมชนเข้มแข็งมากขึ้น ถ้าหากมองเฟซบุ๊กในฐานะชุมชน คนในเฟซบุ๊กก็ควรจะมีความรับผิดชอบต่อการที่ใครสักคน ghosting ด้วยการทักไปถามไถ่บ้าง เพราะปัจจุบัน คนในชุมชนเฟซบุ๊กมักมีปฏิสัมพันธ์แค่กับคนที่ posting (โพสต์) แต่ left behind หรือกำลังทอดทิ้งคนที่ ghosting
กลายเป็นว่า I post, therefore I am เพราะฉันโพสต์ถึง ฉันจึงมีตัวตนไป ในขณะที่คนที่หายไปกลับไม่มีใครแสดงความใส่ใจ ชุมชนน่าอยู่ที่เราไม่จำเป็นต้องกลับบ้านพัฒนา แต่สามารถเริ่มได้วันนี้เลยคือชุมชนโซเชียลมีเดีย