ยุทธการ ยุทธนาวุธพิทักษ์
ย้อนอดีตไปเมื่อช่วงต้นปี พ.ศ. 2553 ความขัดแย้งทางการเมืองคุกรุ่นจนร้อนแรงที่ยิ่งทียิ่งเติบโตและเข้มข้นขึ้นทำให้ความคิดเห็นและอุดมการณ์ทางการเมืองเกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอย่างชัดเจน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในหมู่เพื่อนฝูงผู้คนที่เดิมทีมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมา ทั้งการใช้งานเฟซบุ๊กช่วยขับเน้นความแตกต่างนั้นให้เห็นเด่นชัดมากขึ้น ผ่านการเผยแพร่ข่าวสาร การแสดงความคิดเห็นต่อข่าวสาร การแสดงความคิดเห็นโต้ตอบกันไปมา
กระทั่งในที่สุด ความขัดแย้งอันเนื่องจากทัศนคติทางการเมืองก็เริ่มกินพื้นที่เข้ามาในความสัมพันธ์ส่วนบุคคล จากปะทะกันแต่เพียงในเฟซบุ๊ก ก็ลามเลยไปจนถึงไม่อยากพบหน้าค่าตากันข้างนอก ทั้งที่เคยเป็นคนรู้จักมักคุ้น หรือถึงขั้นเป็นเพื่อนสนิทคบหากันมาหลายปี
กอปรกับในช่วงเวลาอันร้อนแรงดังกล่าว มีการถือกำเนิดขึ้นของหน้าเฟซบุ๊กที่จัดทำขึ้นเพื่อทำการ “ล่าแม่มด-เสียบประจาน” นำข้อมูลส่วนตัวของผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นประวัติส่วนตัว รูปถ่าย ชื่อบัญชีเฟซบุ๊ก อีเมล์ เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ ตามแต่จะขุดค้นมาได้ ไปเผยแพร่ในเพจ เป็นผลให้สมาชิกเพจทำการ “ลงทัณฑ์” ในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่แสดงความเห็นที่ใช้ถ้อยคำแสดงความเหยียดหยาม ลดทอนความเป็นมนุษย์ กระทั่งถึงอาฆาตมาดร้าย โทรศัพท์ ส่งจดหมายทั้งในโลกออฟไลน์และแบบอิเล็กทรอนิกไปข่มขู่
การกระทำในลักษณะ “เสียบประจาน” ดังกล่าว ก็ยังดำเนินมาถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2555) และแพร่หลายจนกลายเป็นวัฒนธรรมหนึ่งในโลกออนไลน์ ซึ่งก็ดังเช่นเคยกระทำกันในโลกออฟไลน์ หากโลกออนไลน์ในกระแสการเติบโตของโซเชียลมีเดียนั้น ทำให้อาณาเขตแห่งการรับรู้ถึงการเสียบประจานเป็นไปได้อย่างว่องไวและกว้างขวางกว่า
เหล่านั้นล้วนทำให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กหลายราย โดยเฉพาะที่ไม่ได้เป็น “บุคคลสาธารณะ” ในด้านต่างๆ หรือไม่พร้อมที่จะรับแรงปะทะอันเป็นผลมาจากความเห็นต่างทางการเมือง ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้าง “พื้นที่ส่วนตัว” เพื่อปิดกั้นตัวเองจากปัญหาทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น หรืออาจกล่าวได้ว่า เพื่อกำหนดพื้นที่ที่จะทำให้ตัวเองสบายใจ และรู้สึกปลอดภัยที่จะแสดงอะไรออกไปนั่นเอง
ในตอนนั้น (และจนกระทั่งถึงตอนนี้) การจัดสรรพื้นที่ความเป็นส่วนตัวให้กับตัวเองของผู้ใช้เฟซบุ๊ก ล้วนกระทำผ่านองค์ประกอบการใช้งานต่างๆ ที่มีไว้ให้ในเฟซบุ๊ก โดยมีตั้งแต่
1. ลบเพื่อน (unfriend)
2. ยังเป็นเพื่อนกันในเฟซบุ๊ก แต่ทำการซ่อนโพสต์ (hide post) ของคนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง เพื่อไม่ต้องเห็นสิ่งที่คนเหล่านั้นแชร์ในเฟซบุ๊กอีกต่อไป (เลือกได้ว่าจะซ่อนเพียงเฉพาะโพสต์ใดหนึ่ง หรือทุกโพสต์)
3. จัดทำกลุ่มรายชื่อเพื่อน (friend lists) เพื่อเอาไว้ใช้กำหนดว่าจะให้มีเพื่อนคนไหนได้เห็นสิ่งที่ตนเองแชร์บ้าง1
4. การรวมตัวกันในกลุ่มลับ (secret group) ที่จะไม่ปรากฏแก่สายตาผู้ใด นอกจากสมาชิกในกลุ่มเท่านั้น
และ 5. สร้างบัญชีล็อกอินเฟซบุ๊กขึ้นมาใหม่อีกบัญชีหนึ่งเป็นอย่างน้อย โดยจะไม่ใช้ชื่อจริงในโลกออฟไลน์หรือกระทั่งชื่อที่ระบุถึงตัวตนเดิมในโลกออนไลน์อีกต่อไป ใช้บัญชีใหม่นี้บรรเลงเรื่องการเมืองเพียงอย่างเดียว ส่วนบัญชีเดิมนั้น อาจเก็บไว้ใช้หรือลบทิ้งไปเลยก็ได้ (deactivate account)
ทั้งนี้ การจัดสรรพื้นที่ความเป็นส่วนตัวทั้ง 5 แบบนั้น อาจไม่ได้แยกจากกันโดยสิ้นเชิง หากทับซ้อนกันได้ เช่น บางคนก็ทำเพียงวิธีใดวิธีหนึ่ง บางคนทำมากกว่าหนึ่งวิธี หรือบางคนก็ใช้ทั้ง 5 วิธีประกอบกัน
สิ่งที่เกิดขึ้นในการสร้างพื้นที่ส่วนตัวดังกล่าวก็คือ การจำต้องสยบยอมต่อความ “เป็นใหญ่” ของวาทกรรมต่างๆ ที่คอยกำกับการแสดงออกในพื้นที่สาธารณะ (เช่น เห็นด้วยกับเสื้อแดง=ล้มเจ้า, ไม่เห็นด้วยกับเสื้อแดง=เผด็จการ, เห็นด้วยกับการเยียวผู้ได้รับผลกระทบ=ยอมรับการเผาบ้านเผาเมือง, ไม่เห็นด้วยกับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ=ไม่เห็นค่าความเป็นมนุษย์ เป็นต้น) แล้วหันมากั้นคอกกำหนดอาณาเขตส่วนตัวให้ตัวเอง กำหนดระเบียบวินัยในการแสดงออกให้กับตัวเอง ซึ่งก็แฝงนัยยะของการกำหนดระเบียบวินัยในการแสดงออกของผู้อื่นไว้ด้วย การแสดงออกตามแบบที่ตนเองยอมรับได้จะถูกรวมเข้ามาในพื้นที่ส่วนตัวที่ถูกสร้างขึ้น ในขณะที่การแสดงออกในแบบที่ยอมรับไม่ได้จะถูกกีดกันออกไป เป็นการควบคุมการแสดงออกทั้งของตนเองและผู้อื่นให้สอดประสานกับเครื่องมือ ซึ่งก็คือองค์ประกอบการใช้งานต่างๆ ที่มีอยู่ในเฟซบุ๊ก ที่แต่ละคนเลือกมาใช้สร้างเส้นแบ่งระหว่างพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ โดยทั้งหมดทั้งมวลนั้นเป็นไปเพื่อดำรงไว้ซึ่งอำนาจในการแสดงออกของตัวเอง
อนึ่ง ผู้เขียนเห็นว่า การสร้างพื้นที่ส่วนตัวในเฟซบุ๊กดังกล่าว (ยกเว้นวิธีที่ 5 ในกรณีที่ใช้ชื่อปลอมแต่มีการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวเป็น “สาธารณะ”) ไม่เอื้อต่อการสร้างสรรค์บรรยากาศที่เหมาะสม ต่อการสร้างพัฒนาการทางการเมือง ที่วางอยู่บนพื้นฐานของความเป็นประชาธิปไตย เนื่องด้วยการเมืองเป็นเรื่องสาธารณะ เป็นพื้นที่สาธารณะว่าด้วยปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพลเมือง เป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องได้รับผลกระทบเหมือนกันหมดไม่ว่าจะทางได้หรือทางเสีย ดังนั้น ในทางปฏิบัติอันเอื้อต่อสังคมประชาธิปไตยแล้ว ทัศนคติที่เกี่ยวข้องกับการเมืองสมควรได้รับการนำเข้าสู่พื้นที่สาธารณะ ซึ่งเป็นพื้นที่ของทุกคน เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถถกเถียงพูดคุย หาข้อตกลงร่วมกัน ในการสร้างบรรทัดฐานในมิติต่างๆ ของสังคม
แต่การสร้างพื้นที่ส่วนตัวผ่านองค์ประกอบการใช้งานของเฟซบุ๊กดังกล่าวมานั้น เป็นการปิดกั้นข้อมูลจากการรับรู้ของสาธารณะ รวมทั้งเป็นการปิดกั้นจากการรับรู้ของรัฐ ทำให้ไม่เกิดโอกาสที่จะทำให้เกิดการถกเถียงกันด้วยความคิดที่แตกต่าง อันเป็นรากฐานหนึ่งของสังคมประชาธิปไตย ในรายละเอียดว่าด้วยการให้ความสำคัญ กับการแสดงออกซึ่งความแตกต่างทางความคิดในระดับปัจเจกบุคคลในพื้นที่สาธารณะ
แต่ในขณะเดียวกัน การจะถกเถียงกันได้ดังกล่าวเป็นเรื่องตบมือข้างเดียวไม่ดัง ในเมื่อประสบการณ์จากพื้นที่สาธารณะ และต่อการดำเนินการของรัฐ ไม่สามารถสร้างความมั่นใจว่าเอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนได้ กับทั้งวาทกรรมต่างๆ ดังกล่าวเกริ่นไปเบื้องต้นก็ถูกสร้างขึ้นและนำมาใช้สำทับให้ยิ่งเชื่อในความไม่เอื้อตรงนั้น
ดังนั้น เมื่อเห็นว่าไม่มี “การคิดอย่างมีวิจารณญาณ” (ซึ่งก็เป็นวาทกรรมหนึ่ง) กำกับในพื้นที่สาธารณะ หรือกระทั่งรัฐ ปัจเจกชนก็ย่อมหาทางแสดงออกซึ่งความคิดทางการเมืองของตัวอย่างปลอดภัยในพื้นที่ส่วนตัวที่ตัวเองสร้างขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยง “การคุกคาม” (ตามที่ตนรู้สึก) จากสาธารณะและรัฐในที่สุด และเป็นเหตุให้การสร้างพื้นที่ส่วนตัวในเฟซบุ๊กด้วยวิธีต่างๆ ยังคงดำรงมาอยู่จนทุกวันนี้
ในขณะที่การสร้างพื้นที่ส่วนตัวในเฟซบุ๊ก เป็นการทำให้พื้นที่สาธารณะไม่ปรากฏ ทว่า การไม่ปรากฏดังกล่าวที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการใช้งานเฟซบุ๊กที่ถูกกั้นคอกอาณาเขตเป็นพื้นที่ส่วนตัว กลับยิ่งสำทับว่าแท้จริงแล้วพื้นที่สาธารณะอันไม่พึงปรารถนายังมีอยู่ และชุดวาทกรรมอันเป็นเหตุให้ผู้คนหลีกหนีจากมันยังคงทำงานอยู่อย่างเข้มข้น
ท่ามกลางความขัดแย้ง ที่โดยผิวเผินเหมือนจะมี “ประชาธิปไตย” เป็นศูนย์กลาง ที่ต่างฝ่ายต่างก็พยายามช่วงชิงอำนาจในการกำหนดความหมายของประชาธิปไตยในทัศนะของตน ทั้งที่เฟซบุ๊กน่าจะเป็นเครื่องมือที่ดีในการนำ “การเมือง” อันควรจะเป็นเรื่องที่นำมาพูดคุยถกเถียงกันในพื้นที่สาธารณะด้วยเหตุผลดังกล่าวไปแล้ว แต่สภาพแวดล้อมทางวาทกรรมกลับไม่เอื้อ เป็นผลให้เรื่องอันควรเป็นสาธารณะถูกนำไปพูดคุยในพื้นที่ส่วนตัว ที่เป็นที่รวมของ “ความเหมือน” ในขณะที่ “ความต่าง” ถูกกันไว้นอกพื้นที่แห่งความเหมือนอันเป็นส่วนตัวนั้น การพูดคุยเรื่องการเมืองในบางมิติกลับกลายเป็นเรื่อง “พิเศษ” เป็น “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” จะกล่าวกันได้ก็แต่ในหมู่ผู้ที่สมาทานความคิดเชื่อแบบเดียวกัน ผลที่เกิดขึ้นก็คือ แทนที่ความหมายของประชาธิปไตยจะได้รับการถกเถียงในวงกว้าง นำมาซึ่งการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ ปรับปรุงแก้ไข จนนำไปสู่การแสวงหาจุดสมดุลที่ยอมรับได้มากที่สุดสำหรับทุกฝ่าย กลับกลายเป็นว่า ความหมายของแต่ละฝ่ายกลับไปเติบโตอยู่ในพื้นที่ที่มีแต่พวกเดียวกันเอง
แต่กระนั้น ในเฟซบุ๊กก็ใช่ว่าจะไม่มีพื้นที่สาธารณะที่ใช้คุยเรื่องการเมืองเลย ทว่า พื้นที่ถกเถียงดังกล่าวกลับไปอยู่ในมือของผู้นำความคิดทางการเมืองของแต่ละฝ่ายเพียงไม่กี่คน ที่เปิดเฟซบุ๊กตัวเองเป็นพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะโดยรูปแบบของการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวหรือการเปิดเป็นเพจ ให้ใครก็ตามเข้ามาแสดงความคิดเห็นได้ แต่กระนั้น นอกเหนือไปจากการที่บรรยากาศของวาทกรรมดังกล่าวมาแล้ว ยังตามไปสำแดงอิทธิฤทธิ์อยู่ในพื้นที่ของการแสดงความคิดเห็นที่บุคคลเหล่านั้นเปิดให้ และทำให้หลายคนหลีกเลี่ยงจะไปแสดงความคิดเห็นในพื้นที่เหล่านั้น หรือหากมีความคิดอะไร ก็ทำการแชร์สเตตัสหรือโพสต์ต่างๆ จากในพื้นที่เหล่านั้นลงในพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองแล้วแสดงความเห็น การที่มีแต่พื้นที่สาธารณะแบบนั้นเพียงไม่กี่ที่ และเป็นที่ที่เจ้าของพื้นที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถผลิตความลึกซึ้ง คมคาย แห่งความหมายของประชาธิปไตยออกมา นั่นก็ยิ่งตอกย้ำว่า ในไทยนั้น ความรู้ในเรื่องความหมายและรายละเอียดประชาธิปไตยยังเป็น “ของวิเศษ” อยู่ มีเพียงไม่กี่คนที่สามารถปลุกเสกมันขึ้นมาใช้ได้ ไม่ใช่ของที่ใครต่อใครก็ใช้ได้อย่างห้องน้ำสาธารณะ
ในทัศนะของผู้เขียน ปัญหาใหญ่ที่พูดได้ในความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยาน 2549 มาคือเรื่องของการกำหนดหลักพื้นฐาน ความหมาย และรายละเอียด ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข อีกไม่ถึงยี่สิบปีก็จะครบหนึ่งศตวรรษที่ “สยาม” กระทั่งถึง “ประเทศไทย” มีประชาธิปไตยมา แต่คนไทยเรายังเถียงกันว่า รัฐประหารครั้งล่าสุดที่ผ่านมานั้นสมควรหรือไม่อยู่เลย
หมายเหตุ
1ปัจจุบันการตั้งค่าในส่วนนี้ได้พัฒนามาเป็นองค์ประกอบการใช้งานที่มีชื่อว่า “audience selector” (อยู่ข้างปุ่ม “post”) โดยค่าความเป็นส่วนตัวที่เฟซบุ๊กกำหนดไว้ให้เลือกใช้นั้นแบ่งเป็น 1. ให้รู้ (เห็น) เฉพาะ “เพื่อน/friend”, 2. ให้ “เพื่อนของเพื่อน (friends of friends)” รู้ (เห็น) ได้ด้วย, 3. “กำหนดบุคคลหรือรายการ (specific people or lists)” เฉพาะบุคคลหรือกลุ่มที่อยากให้รู้ (เห็น) ซึ่งการใช้งาน friend lists ยังอยู่ในส่วนการกำหนดค่านี้, 4. ให้รู้ (เห็น) เฉพาะ “แค่ฉัน (only me)”, 5. หรือกระทั่ง “ซ่อนสิ่งนี้จาก (hide this from)” บุคคลที่ผู้ใช้ไม่อยากให้รู้ (เห็น) และ 6. แบบที่เปิดเผยที่สุดคือ “สาธารณะ (public)” อันจะทำให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กคนไหนก็สามารถรู้ (เห็น) ได้