ThaiPublica > คอลัมน์ > โจ ไบเดน จะเข้าไปปฏิวัติอิหร่าน?

โจ ไบเดน จะเข้าไปปฏิวัติอิหร่าน?

18 พฤศจิกายน 2022


ดร. นพ.มโน เลาหวณิช อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต

อายาโตเลาะห์ โคไมนี ที่มาภาพ : https://twitter.com/khamenei_ir/status/1593376923207376896/photo/1

ในคืนวันเพ็ญเดือน 12 วันอังคารที่ผ่านมานี้ ในขณะที่คนไทยกำลังเฉลิมฉลองวันลอยกระทง พร้อมกับการชมจันทรุปราคา สหรัฐอเมริกามีกิจกรรมทางการเมืองที่สำคัญคือ “การเลือกตั้งกลางเทอม” ซึ่งเป็นการประจันหน้ากันครั้งใหญ่ระหว่างสองพรรคการเมือง คือ พรรครีพับลิกันกับพรรคเดโมแครต ซึ่งมีการวัดผลการบริหารงานบ้านงานเมืองของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในระยะสองปีแรก ซึ่งอดีตประธานาธิบดีโอบามาและคลินตันได้ออกโรงช่วยกันปราศรัยให้เห็นความสำคัญที่พรรคเดโมแครตจะแพ้ไม่ได้ แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ เศรษฐกิจในอเมริกาฝืดเคือง ค่าพลังงานแพง อาชญากรรมสูงขึ้นมาก ฯลฯ

ในขณะที่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ออกโรงโจมตีรัฐบาลชุดนี้ว่ากำลังนำประเทศชาติไปสู่ความฉิบหาย จะทำให้ศีลธรรมอันดีงามตกต่ำลง และจะนำการทำแท้งเสรีกลับมาอีก และยังขู่อีกกว่าประชาชนอเมริกันจะออกมาเลือกตัวแทนพรรครีพับลิกันราวกับสึนามิสีแดง (สีประจำพรรครีพลับลิกัน)

ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน พูดออกมาประโยคหนึ่ง ซึ่งทำให้นักรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศตกใจ เพราะเป็นนโยบายที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับสหรัฐอเมริกาเลย นั่นคือ “เราจะปลอดปล่อยอิหร่านให้เป็นอิสระ” (We will free Iran!)

ทั้งนี้สหรัฐอเมริกากับอิหร่านนั้นไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกันเลยนับตั้งแต่การปฏิวัติอิสลาม (Islamic Revolution) เมื่อพระเจ้าชาห์แห่งอิหร่านถูกขับออกมาเมื่อ 43 ปีที่แล้ว ทำให้ราชวงศ์ปาลาวีซึ่งครองราชย์ติดต่อกันมานานถึง 2,500 ปีต้องสิ้นสุดลง ภายใต้การนำของอายาโตเลาะห์ โคไมนี (Ayatollah Khomeini) ซึ่งทั่วโลกยอมรับกันว่าเป็นบิดาแห่งสาธารณรัฐอิสลาม (Islamic Republic of Iran)

ยุคของพระเจ้าชาห์นั้นเป็นยุคสงครามเย็น อิหร่านนั้นเป็นแหล่งน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก พระบิดาของพระเจ้าชาห์นั้นสนับสนุนฝ่ายอักษะ จึงถูกมหาอำนาจเช่นอเมริกาและอังกฤษบีบให้สละราชสมบัติเพื่อให้อิหร่านเป็นทางผ่านของยุทธปัจจัยให้แก่สหภาพโซเวียดต่อสู้กับนาซี พระเจ้าชาห์จึงขึ้นครองราชเมื่อยังทรงพระเยาว์ และเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลงแล้วก็ทรงเจริญสัมพันธไมตรีใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาและกลุ่มยุโรปตะวันตก และพยายามพัฒนาอิหร่านให้ทันสมัยในทุกทาง ทรงทะนุบำรุงศาสนาอิสลามอย่างมาก ทรงสร้างสุเหร่าขนาดใหญ่หลายต่อหลายแห่ง ทรงเสด็จไป “ฮัจญ์” ที่นครเมกะและเมืองสำคัญๆ ของนิกายชีอะห์หลายครั้ง และส่งเสริมอิสลามศึกษาอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ทรงสนับสนุนให้ประชาชนทำตามคำสอนของศาสนาอิสลามเพราะทรงเห็นว่าศาสนาเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่กระนั้นเอง พระราชพิธีต่างๆ ในวังทรงให้ดำเนินการทำตามแบบตะวันตกทั้งสิ้น ทรงเป็นกษัตริย์นักบิน (ทรงขับเฮลิคอปเตอร์ด้วยพระองค์เอง เพื่อตรวจโครงการในพระราชดำริในที่ต่างๆ)

อิหร่านในยุคพระเจ้าชาห์จึงเป็นประเทศที่ทันสมัย สตรีชาวอิหร่านแต่งตัวเหมือนหญิงอเมริกัน ไม่ต้องสวมผ้าคลุมศีรษะ สาวๆ สามารถใส่กระโปรงสั้นเดินไปไหนมาไหนได้โดยสะดวก โรงภาพยนตร์ สถานบันเทิงต่างๆ เปิดทั่วกรุงเตหะราน ในยุคของพระเจ้าชาห์จึงไม่ต่างไปจากมหานครลอนดอน ปารีส ชิคาโก หรือนิวยอร์กเลย แต่เนื่องจากเป็นยุคสงครามเย็น พระเจ้าชาห์จึงเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกาเป็นพิเศษตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง โดยได้รับการต้อนรับอย่างดีจากประธานาธิบดีทรูแมน และทรงเหลีกเลี่ยงที่จะมีความสำพันธ์กับจีนและสหภาพโซเวียตอย่างเด็ดขาด สหรัฐฯ ก็เห็นว่าอิหร่านเป็นแหล่งน้ำมันดิบขนาดใหญ่ มีประชากรจำนวนมาก เป็นตลาดขายอาวุธที่ดีของตนและยังได้ซื้อน้ำมันดิบราคาถูกอีกด้วย ขณะนั้นอิหร่านมีพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีสมาชิกมากและสามารถออกกฎหมายขับไล่บริษัทค้าน้ำมันของอังกฤษในอิหร่านและยึดกลับมาเป็นสมบัติของชาติได้ พระเจ้าชาห์ทรงเรียกการพัฒนาประเทศของพระองค์ว่า “การปฏิวัติสีขาว” (The White Revolution)

ประธานาธิบดีเคนเนดี เป็นผู้ที่ให้ความคิดพระเจ้าชาห์ในการปกครองโดยใช้องค์กรสืบราชการลับชื่อซาบัก (Sabak) แบบเดียวหน่วยซีไอเอหรือเกสตาโปของเยอรมนีในยุคนาซี สายลับเหล่านี้จะจับกุมผู้ที่ต้องสงสัยว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของราชวงศ์ ผู้ที่ถูกจับจะถูกนำตัวไปสถานที่ลับแห่งหนึ่งซึ่งถูกสร้างสมัยนาซี หลายคนถูกทรมานหลายคนถูกสังหาร เป็นที่ประมาณว่าในสมัยพระเจ้าชาห์นั้นผู้ที่ถูกจับถูกทรมานและถูกฆ่าไปนั้นมีจำนวนถึง 4,000 คน (แต่ฝ่ายต่อต้านกษัตริย์นั้นปั่นตัวเลขขึ้นไปเป็นหลักแสน)

นโยบายสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของพระเจ้าชาห์คือการสนับสนุนบริษัทใหญ่ๆ ทำให้เกิดตึกสูงจนเตหะรานกลายเป็นป่าคอนกรีต ในขณะที่ในต่างจังหวัดประชาชนยังอยู่ด้วยความแร้นแค้น อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และทรงละเลยการพัฒนาพ่อค้าคนกลางในระดับชุมชนฐานราก ยิ่งเศรษฐกิจของประเทศโตมากขึ้นเท่าใด คนเหล่านี้ยิ่งยากจนลงเท่านั้น เมื่ออพยพเข้ามาหางานในเมืองใหญ่ๆ ก็ต้องเข้าไปพึ่งสุเหร่าต่างๆ ซึ่งมีอิหม่ามสอนอิสลามตามความเชื่อของนิกายชีอะห์ การปฏิวัติขาวของพระองค์จึงเป็นการบ่มเพาะศัตรูต่อราชบัลลังก์จากผู้นำศาสนาซึ่งพระองค์คิดว่าจะเป็นกำแพงป้องกันลัทธิคอมมิวนิสต์ได้นั่นเอง

เป็นที่ทราบกันดีว่า อายาโตเลาะห์ โคไมนี นั้นคือศัตรูตัวฉกาจของพระเจ้าชาห์ เขาเป็นลูกชายคนสุดท้องในครอบครัวที่เคร่งครัดศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ พ่อของเขาถูกสังหารตั้งแต่โคไมนีเป็นเด็ก และเขาเชื่อว่าพ่อของพระเจ้าชาห์เป็นคนสั่งให้มือปืนมาปลิดชีพพ่อของเขา ในขณะที่เด็กๆ คนอื่นวิ่งเล่นสนุกตามประสาเด็ก โคไมนีเป็นคนที่เคร่งขรึม เอาจริงเอาจังกับศาสนา เขาเป็นอิหม่ามผู้นำที่เขียนจดหมายไปถึงพระเจ้าชาห์แสดงความไม่เห็นด้วยต่อนโยบายการพัฒนาประเทศแบบตะวันตก การให้สิทธิแก่สตรี การแบ่งแยกศาสนาจากการเมือง และพระเจ้าชาห์ก็ทรงมีพระราชสารตอบกลับมา ภาษาที่คนทั้งสองใช้โต้ตอบกันนั้นรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ

สิ่งที่โคไมนีต่อต้านยอมไม่ได้คือการพัฒนาประเทศแบบตะวันตก ศาสนาและการเมืองต้องหลอมเข้าเป็นชิ้นเดียวกัน และการให้สิทธิสตรีเป็นสิ่งที่เขายอมไม่ได้ แต่เดิมแม้อิหร่านมีการปกครองแบบประชาธิปไตย มีรัฐสภาแต่สตรีอิหร่านไม่เคยได้รับสิทธิในการหย่อนบัตร พระเจ้าชาห์ให้สิทธิสตรีในการเลือกตั้งและเป็นนักการเมืองเข้าไปนั่งในสภาผู้แทนราษฎรได้ สิ่งเหล่านี้โคไมนีเห็นต่างอย่างรุนแรง ในทัศนะของโคไมนีสตรีมุสลิมต้องสวมผ้าคลุมผมเมื่อออกจากบ้านและสตรีต้องไม่มีสิทธิใดๆ ไม่สามารถขับรถได้ และต้องมีผู้ชายที่เป็นสามีหรือญาติติดตามไปด้วยเท่านั้น

ในที่สุดโคไมนีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมและได้รับโทษให้ประหารชีวิต ต่อมาได้รับอภัยโทษและถูกเนรเทศไปใช้ชีวิตสันโดษของตนในเมืองนาจัฟในอิรัก หนังสือที่โคไมนีเขียนเป็นหนังสือต้องห้ามในอิหร่าน และต่อมาถูกกดดันให้ต้องลี้ภัยอีกครั้งหนึ่งไปยังประเทศฝรั่งเศส ตลอดระยะเวลา 14 ปีที่โคไมนีลี้ภัยอยู่ เขาครุ่นคิดทฤษฎีรัฐอิสลามออกมาอย่างเป็นรูปธรรม และเผยแผ่เฉพาะสาวกที่ใกล้ชิดเท่านั้น แต่การลี้ภัยในฝรั่งเศสทำให้ชื่อเสียงของโคไมนีเพิ่มขึ้น เขากลายเป็นวีรบุรุษผู้ลุกขึ้นต่อสู้กับกษัตริย์เผด็จการที่ร่ำรวยและบีบคั้นคนยากจน คนนับพันหลั่งไหลเข้ามาฟังเขาพูดและเขาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในฝรั่งเศสถึง 110 ครั้ง แต่ละครั้งเขาจะพูดถึงความโหดร้ายของพระเจ้าชาห์ การเอารัดเอาเปรียบประชาชน การเล่นพักเล่นพวกของราชวงศ์ การละเมิดสิทธิมนุษยชนของตำรวจลับของพระเจ้าชาห์ ทำให้ผู้ที่มีชื่อเสียงในฝรั่งเศสเช่น นายฌาคส์ แดร์ริดา (Jacques Derrida) นายปอล-มีแชล ฟูโก (Paul-Michel Foucault) และประธานาธิบดีฝรั่งเศส ต้องแวะมาเสวนาด้วยถึงที่พัก แต่โคไมนีไม่เคยเอ่ยถึงสาระของหนังสือที่เขาเขียนเลย จึงไม่มีประเด็นใดๆ ที่สื่อมวลชนจะสามารถหยิบยกขึ้นมาสัมภาษณ์หรือเป็นที่ถกเถียงกันได้

ส่วนในอิหร่าน ประชาชนออกมาเดินขบวนประท้วงพระเจ้าชาห์ ในระยะแรกเป็นการประท้วงด้วยความสงบในเมืองบ้านเกิดของโคไมนี สาเหตุเพราะมีหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งโจมตีโคไมนีอย่างรุนแรง แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรง ยิงสังหารประชาชนด้วยกระสุนจริง ทำให้การประท้วงขยายวงกว้างขึ้น นักการเมืองฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับพระเจ้าชาห์ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ส่วนที่ไม่กล้าก็สงบปากสงบคำ ประชาชนออกมาตะโกนตามท้องถนน “ชาห์ต้องตาย” (Death to Shah) อันที่จริงกองทัพพร้อมที่จะเข้าดำเนินการสลายการชุมนุมในขณะนั้นพอดี แต่พระเจ้าชาห์เองกำลังประชวรด้วยโรคมะเร็ง ทรงออกโทรทัศน์พูดกับประชาชน “ให้โอกาสอีกครั้งแก่ข้าพเจ้า” หลายครั้งที่พระองค์อ่านออกเสียงผิดๆ ถูกๆ ทำให้การถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ครั้งนั้นเป็นผลร้าย ประชาชนทั้งประเทศเห็นว่ากษัตริย์อ่อนแอ ทำให้ทหารล่าถอยกลับเข้ากรมกอง ประชาชนยื่นดอกไม้ให้ทหารพร้อมรูปถ่ายโคไมนี

ที่สำคัญที่สุดคือประธานาธิบดีฝรั่งเศสเชิญผู้นำอังกฤษ เยอรมนี และสหรัฐฯ ประชุมด่วนเรื่องสถานการณ์ในอิหร่าน และประกาศยุติการสนับสนุนพระเจ้าชาห์ ทำให้พระองค์ต้องเสด็จออกจากอิหร่านในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2522 และสองสัปดาห์ต่อมา ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ อายาโตเลาะห์ โคไมนี เดินทางกลับมากรุงเตหะรานอย่างผู้มีชัย ชาวอิหร่านนับล้านออกมารับเขาในฐานะวีรบุรุษของชาติ เป็นการปฏิวัติอิสลามทำให้อิหร่านกลับเข้าสู่การปกครองระบบเทวนิยม (Theocracy) อย่างสมบูรณ์แบบ

อายาโตเลาะห์ โคไมนี ที่มาภาพ : https://twitter.com/khamenei_ir/status/1576869762545905665/photo/1

อายาโตเลาะห์ โคไมนี สถาปนาตนเองขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของอิหร่าน เป็นผู้ที่ทรงอำนาจที่สุดทั้งฝ่ายบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ แม้ว่าอิหร่านมีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรก็ตาม แต่ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องได้รับการคัดกรองของผู้นำสูงสุดก่อนเท่านั้น กฎหมายจริยาถูกบังคับใช้ในสังคมอิหร่านอย่างเต็มที่ มีตำรวจศีลธรรมของติดตามและจับคุมผู้ที่ละเมิดกฎหมายอันศักดิ์สิทธิ์

การปฏิวัติอิสลามในครั้งนี้อยู่เหนือความคาดหมายของชาติตะวันตก โดยเฉพาะรัฐบาลของประธานาธิบดีจิมมี คาร์เตอร์ ในฐานะผู้นำสูงสุดโคไมนีเรียกร้องให้อเมริกานำตัวพระเจ้าชาห์กลับสู่อิหร่านเพื่อรับโทษประหาร ส่วนพระเจ้าชาห์ซึ่งป่วยด้วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายได้ขอลี้ภัยในสหรัฐอเมริกาเพื่อรับการรักษา คาร์เตอร์จึงปฏิเสธ โคไมนีจึงเรียกสหรัฐอเมริกาว่า “ซาตานผู้ยิ่งใหญ่” โคไมนีได้กำจัดนายกรัฐมนตรีของชาห์ทันที และแทนที่ด้วยคนของเขาทั้งหมด หลายคนในจำนวนนั้นเคยเป็นนักโทษการเมืองซึ่งถูกตำรวจลับของพระเจ้าชาห์กักขังไว้

ขณะเดียวกัน นักศึกษาอิหร่านกลุ่มหนึ่งโกรธแค้นอเมริกาและได้บุกเข้ายึดสถานทูตอเมริกันในกรุงเตหะราน และจับตัวนักการทูตอเมริกัน 52 คนเป็นตัวประกัน สหรัฐฯ โต้ตอบด้วยการส่งหน่วยคอมมานโดเข้าช่วยเหลือแต่การปฏิบัติการครั้งนั้นล้มเหลว สหรัฐฯ สูญเสียทหารหลายนาย และต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าตัวประกันชาวอเมริกันจะได้รับการปล่อยตัว รัฐบาลกรุงวอชิงตันสั่งอายัดทรัพย์สินของรัฐบาลอิหร่านทั้งหมดเป็นทรัพย์สินมีมูลค่าประมาณ 12,000 ล้านเหรียญ และคว่ำบาตรทางการค้ากับอิหร่าน ตั้งแต่นั้นมาอิหร่านจึงเป็นแกะดำและมิตรประเทศที่ค้าขายกับสหรัฐฯ ไม่อาจซื้อน้ำมันจากอิหร่านได้อีก ความร้าวฉานระหว่างอเมริกากับอิหร่านระลอกแล้วระลอกเล่าเกิดขึ้นอย่างไม่จบสิ้น

โคไมนีปกครองอิหร่านได้ 10 ปีในทิศทางที่เขาต้องการ อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ได้ขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดคนที่สอง แต่เขาก็ต้องพบกับปัญหามากมาย ความพยายามที่จะสานสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และชาติตะวันตกดูจะริบหรี่เต็มที อิหร่านยังถูกคว่ำบาตรแม้เมื่อเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ประเทศที่เข้ามาช่วยคือรัสเซียและจีน ไม่มีชาติตะวันตกใดๆ ให้ความช่วยเหลือเลย การพัฒนาโรงไฟฟ้าปรมาณูถูกชาติมหาอำนาจขัดขวาง แม้อิหร่านยืนยันว่าอิหร่านไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างระเบิดปรมาณูเลย แต่ในเวทีโลกเป็นที่ทราบกันดีว่าอิหร่านมีศัตรูที่ทรงพลังและมีหน่วยสืบราชการลับที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกอีกประเทศหนึ่ง—อิสราเอล

กระนั้น อิหร่านเองมิได้หยุดในการพัฒนาศักยภาพทางทหารของตน และมีโรงงานผลิตโดรนรุ่นต่างๆ มากมายเพื่อใช้ในสงคราม และถูกชาติตะวันตกกล่าวหาว่าอิหร่านขายโดรนของตนแก่รัสเซียเพื่อใช้ใน “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ในประเทศยูเครน

ท่ามกลางสภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ และการขาดแคลนทางอาหาร ปัญหาใหม่ที่ใหญ่กว่าได้ปะทุขึ้น นั่นคือ เกิดการประท้วงอย่างต่อเนื่องและความไม่สงบต่อรัฐบาลอิหร่านเริ่มขึ้นในกรุงเตหะรานเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2565 เพื่อตอบสนองต่อการเสียชีวิตของนางสาวมาห์ซา อามินี วัย 22 ปี ซึ่งถูกจับกุมโดยตำรวจศีลธรรมของอิหร่านด้วยข้อหาว่า “สวมฮิญาบไม่เหมาะสม” — ละเมิดกฎหมายบังคับฮิญาบของอิหร่าน — ขณะเยือนกรุงเตหะรานจากเมืองซัคเกซ ตามคำให้การของพยาน นางสาวอามินีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจศีลธรรมทุบตีอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นคำยืนยันที่ทางการอิหร่านปฏิเสธและประกาศว่าเธอเสียชีวิตเพราะหัวใจล้มเหลว ซึ่งทางครอบครัวออกมายืนยันว่าบุตรสาวของตนมีสุขภาพดีทุกประการ ไม่เคยมีประวัติเป็นโรคหัวใจเลย

การประท้วงแพร่กระจายอย่างรวดเร็วจากเมืองซักเกซอันเป็นบ้านเกิดของอามินี ไปยังเมืองอื่นๆ ในจังหวัดกุร์ดิสถาน และจังหวัดอื่นๆ ในอิหร่าน เพื่อเป็นการตอบสนองต่อการประท้วงเหล่านี้ ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน รัฐบาลอิหร่านได้ดำเนินการปิดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในระดับภูมิภาค เมื่อการประท้วงขยายตัวขึ้น อินเทอร์เน็ตก็ดับเป็นวงกว้างพร้อมกับการจำกัดสื่อสังคมออนไลน์ทั่วประเทศและกระจายไปทั่วโลก คนหนุ่มสาวในเมืองใหญ่ๆ ในยุโรปและสหรัฐอเมริกาออกมาเดินขบวนประท้วงกฎระเบียบของอิหร่าน โดยเฉพาะเรื่องสิทธิสตรี

จนในที่สุดผู้นำสูงสุด อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ออกมาปฏิเสธเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางนี้ เป็นแต่เพียง “การจลาจล” เท่านั้น และเป็น “สงครามลูกผสม” ที่เกิดจากรัฐต่างประเทศและผู้เห็นต่างในต่างประเทศเข้าแทรกแซง

ที่มาภาพ : การประท้วงในอิหร่าน

ผู้หญิงรวมถึงเด็กนักเรียนมีบทบาทสำคัญในการประท้วง ในขณะที่การประท้วงใหญ่ก่อนหน้านี้ ซึ่งถูกปราบปรามอย่างรุนแรงโดยรัฐบาลอิหร่าน โดยเน้นไปที่ผลการเลือกตั้งหรือปัญหาทางเศรษฐกิจ การประท้วงในปี พ.ศ. 2565 นอกจากการเพิ่มสิทธิให้สตรีแล้ว ยังมีข้อเรียกร้องหลักประการหนึ่ง นั่นคือ การโค่นล้มสาธารณรัฐอิสลาม การประท้วงเป็นภัยคุกคามต่อรัฐบาลครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามในปี พ.ศ. 2522 ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน (The Guardian) ของอังกฤษ ซึ่งระบุว่าแตกต่างจากการประท้วงในปี พ.ศ.2562-2563 การประท้วงในปี พ.ศ. 2565 เป็น “ทั่วประเทศ กระจายไปตามชนชั้นทางสังคม มหาวิทยาลัย ท้องถนนและโรงเรียน”

จากข้อมูลขององค์กรไม่แสวงหากำไรชื่อ Iran Human Rights ณ วันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ มีคนอย่างน้อย 326 คนรวมถึงเด็ก 43 คนถูกสังหารอันเป็นผลมาจากการแทรกแซงของรัฐบาลในการประท้วง ซึ่งเกี่ยวข้องกับแก๊สน้ำตาและเสียงปืน ทำให้การประท้วงที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดนับตั้งแต่มี การประท้วงในปี 2562–2563 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,500 คน การตอบสนองต่อการประท้วงนี้ถูกประณามอย่างกว้างขวาง

ปัจจุบันการประท้วงในอิหร่านได้แพร่กระจายไปทุกหย่อมหญ้า ประชาชนออกมาตะโกน “ผู้นำสูงสุดต้องตาย” (Death to the Supreme Leader) ประธานาธิบดีต้องตาย (Death to the President) วาทกรรมเก่าที่คนอิหร่านเคยนำมาใช้กับพระเจ้าชาห์ถูกหยิบยกกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง การพูดหาเสียงของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ว่า “เราจะปลดปล่อยอิหร่าน” นั้นย่อมมีความหมายที่ลึกซึ้งไปจากที่ชาวโลกกำลังจับตาอยู่ในขณะนี้เป็นแน่!!!