ThaiPublica > คอลัมน์ > วิเคราะห์ระเบียบโลกหลังสงครามยูเครน

วิเคราะห์ระเบียบโลกหลังสงครามยูเครน

8 มีนาคม 2022


กวี จงกิจถาวร

ที่มาภาพ : https://twitter.com/Ukraine/status/1500060788115087362/photo/1

ปรากฏการณ์หลายประเด็นที่ส่อให้เห็นว่าระเบียบโลกใหม่กำลังจะฟอร์มตัวขึ้นมาแทนระเบียบโลกที่เป็นผลลัพธ์มาจากสงครามโลกสองครั้งก่อน อาจจะต้องใช้เวลาหน่อยที่จะเห็นชัด แต่คร่าวๆก็พอวิเคราะห์และสะท้อนถึงแนวโน้มใหม่ด้านภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ในโลกใบนี้อย่างไม่เคยมีมากก่อน

ประเด็นแรกคือบทบาทความมั่นคงและการทูตของอเมริกากับยุโรปจะเพิ่มขึ้น เพื่อต้านนโยบายอันกร้าวร้าวของรัสเซีย ถึงแม้ว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต้องแก้ปัญหาภายในประเทศ ได้ประสบมรสุมหลายลูกไม่ว่าจะเป็นเรื่องการต้านโรคโควิด-19หรือสภาวะเศรษฐกิจที่ต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันและสินค้าบริโภคแพง ผลต่อเนื่องจากการถอนทหารอเมริกันจากอัฟกานิสถานโดยฉับพลันที่ไม่ได้ปรึกษากับพันธมิตร ซึ่งได้ทำลายความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ของสหรัฐอเมริกาอย่างหมดเปลือก

นอกจากนั้นการเมืองภายในสหรัฐอเมริกามีการแบ่งขั้วอย่างรุนแรงเหมือนเดิม ถึงแม้ว่านายโดนัล ทรัมป์ไม่ได้เป็นประธานาธิบดีแล้วก็ตาม แต่ยังมีอิทธิพลสูงมากต่อลูกพรรคริพับลิกัน การสอบสวนเรื่องจลาจลในสภาคองเกรสวันที่ 6 มกราคมปีที่แล้ว มีความคืบหน้าไม่มากเพราะมีผู้ใหญ่ในพรรคริพับลิกันพยายามขัดขวางและอยากให้เรื่องนี้จบๆไปโดยเร็ว ไม่มีการลงโทษทรัมปส์โดยตรง

นี่ถือว่าเป็นหนึ่งปัจจัยใหญ่ที่ทำให้ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดีเมียร์ ปูติน ย่ามใจและในที่สุดตัดสินใจรุกรานยูเครน โดยที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าสหรัฐอเมริกาในยามนี้และยุโรปที่แตกแยกจะร่วมมือร่วมใจกันได้ขนาดนี้ในการต้านรัสเซีย ปูตินเชื่อว่าไบเดนมีปัญหาภายในมากมายคงไม่อยากจะเข้ายุ่งเรื่องความมั่นคงในยุโรป

แต่ปรากฏว่าคาดการณ์ผิดอย่างหนัก เพราะทั้งสองฝ่ายร่วมมือกันได้ดี ถึงขนาดคว่ำบาตรเศรษฐกิจต่อรัสเซีย บรรดาเพื่อนโลกตะวันตกและประเทศพันธมิตรต้องทำตาม

การคว่ำบาตรครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นของประชาคมโลกก็ว่าได้ เป็นสงครามเศรษฐกิจขั้นรุนแรงที่สุด มีการตัดรัสเซียออกจากระบบสากลส่งเงินตราประเทศทั่วโลก 157 สมาชิก ทำให้การค้าขายทั้งในและนอกประเทศต้องหยุดชะงักงัน ฝ่ายโลกตะวันตกต้องการตัดท่อน้ำเลี้ยงของปูตินที่จะมาทำสงครามในยูเครน

ถ้ารัสเซียยังไม่ยุติ อาจจะต้องใช้ไม้ตายคือหยุดการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ถ้าทำจริงงานนี้เจ็บทั้งคู่ จะส่งผลกระทบกระเทือนมหาศาลต่อชีวิตประจำวันของคนยุโรป 550 กว่าล้านคน

สงครามยูเครนครั้งนี้ทำให้ภูมิรัฐศาสตร์ในโลกโดยเฉพาะในยุโรป มีการปรับโฉมใหม่

เรื่องแรกเกี่ยวกับท่าทีด้านความมั่นคงของเยอรมันนีที่ได้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือไปแล้ว ตอนนี้เยอรมันนีได้ยกเลิกข้อปฏิบัติในอดีตที่จะไม่ช่วยเหลือต่างประเทศทางด้านอาวุธร้ายแรง เนื่องจากมีอดีตที่ด่างพร้อยและกร้าวร้าวเป็นผลพวงสงครามโลกครั้งที่สอง ขณะนี้เยอรมันนีได้เพิ่มงบประมาณการป้องกันประเทศอย่างเร่งด่วนถึงหนึ่งหมื่นล้านยูโร

นอกจากนั้นสงครามยูเครนยังทำให้สมาชิกสหภาพยุโรปเพิ่มความสามัคคีมากขึ้น เพราะก่อนนี้มีปัญหาภายในเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นโรคโควิด-19 ปัญหาผู้ลี้ภัย ฯลฯ อาจจะเห็นแนวโน้มใหม่ที่ประเทศในยุโรปจะร่วมตัวทางด้านความร่วมมือด้านความมั่นคงที่เหนียวแน่นกว่าเดิม คือจัดตั้งกองกำลังของยุโรปเพิ่มขึ้นมาอีก ตามข้อเสนอของรัฐบาลฝรั่งเศส ส่วนองค์การนาโต้อาจจะรับสมาชิกเพิ่ม ฟินแลนด์ และสวีเดน ได้สนใจเข้าร่วมหลังจากที่เห็นรัสเซียรุกรานยูเครน

ที่มาภาพ : https://twitter.com/Ukraine/status/1499158989388632075/photo/1

ที่น่าสนใจคืออนาคตรัสเซียจะเป็นอย่างไร ปูตินยังสามารถรักษาตำแหน่งประธานาธิบดีได้ต่อไปหรือไม่ ที่ผ่านมา 20 ปี ไม่มีนักการเมืองหน้าไหนกล้ามาท้าทายปูติน รัสเซียถือตัวเองเป็นประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้ง(ที่จัดตั้ง)และไม่ได้ถือประเทศตัวเองเป็นคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ปี 1990

ในกรณีที่ปูตินสามารถเข้ายึดเมืองหลวงเคียฟได้โดยไม่ยืดเยื้อหรือสร้างความเสียหายให้เหล่านักรบของตัวเองมากนัก พร้อมกับความยินยอมของยูเครนที่จะเป็นประเทศกันชนคือไม่เข้าองค์การนาโตและยอมรับเขตแบ่งดินแดนคอนบาสต์ นั่นอาจจะพลิกเกมทำให้ปูตินเป็นวีรชนก็ได้ ที่ได้พยายามฟื้นฟูอดีตอันเกรียงไกรของสหภาพโซเวียตกลับคืนมา

ถ้าปูตินพ่ายแพ้ อาจจะต้องถูกขับไล่หรือมีการหักหลังกันเองในหมู่ผู้นำรัสเซียเอง เฉกเช่นตอนที่มีการปฏิวัติแบบเงียบ ๆ ขับไล่อดีตประธานาธิบดีมิกาเอล โกบาชอฟ ออกจากตำแหน่ง มีผู้ใหญ่หลายคนในรัสเซียไม่เห็นด้วยกับสงครามยูเครน ถ้าคนรัสเซียต้องประสบปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบากมากขึ้นอาจจะมีการเดินขบวนครั้งใหญ่ขับไล่ปูตินก็เป็นได้

ระเบียบโลกใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นไม่มีแนวโน้มชัดเจน รู้อย่างเดียวว่าประเทศต่าง ๆ จะแข่งขันเรื่องสะสมอาวุธ ทำให้ปัญหาท้าทายร่วมกัน เช่น โลกร้อน การกำจัดสินค้าและของใช้พลาสติกก็จะถูกละเลย

อีกแนวโน้มหนึ่งคือระเบียบโลกใหม่ที่จะมีประเทศในเอเซียเป็นตัวชี้นำ มีทั้ง จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี ซึ่งมีปรัชญา ความคิด วัฒนธรรม ที่ต่างจากโลกตะวันตก ต้องติดตามดูอย่างชิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของโลกในยุคของโซเชียลมีเดีย