ThaiPublica > คอลัมน์ > ไทยกับประชุมผู้นำประชาธิปไตยโลก

ไทยกับประชุมผู้นำประชาธิปไตยโลก

19 กันยายน 2021


กวี จงกิจถาวร

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ลั่นวาจาก่อนเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาเมื่อปลายปีที่แล้วว่า สหรัฐอเมริกาจะจัดการประชุมสุดยอด เพื่อส่งเสริมการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ประเทศตนเป็นหัวเรือใหญ่ (The Summit for Democracy)

หลังจากนั้นเหตุการณ์การเมืองที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนก็เกิดขึ้นที่จุดศูนย์กลางประชาธิปไตยโลก คือ มีพรรคพวกฝ่ายขวาจัดที่สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้บุกโจมตีตึกรัฐสภาคองเกรสในวันที่ 6 มกราคม 2564 ทำให้วงการเมืองในสหรัฐอเมริกาและนานาประเทศต้องกลับตาลปัตรไปหมด

ตอนนี้รัฐบาลไบเดนตั้งหลักได้แล้ว เขาได้พยายามเข้าหาผู้นำประเทศอื่นๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่าสหรัฐอเมริกาได้คืนสู่สังเวียนโลกในเรื่องการจัดระเบียบโลกที่เคยมีมาก่อน น่าเสียดายที่เขาให้ความสนใจแต่ประเทศโลกตะวันตกด้วยกัน มุ่งความสนใจไปที่ประเทศที่เห็นจีนในฐานะคู่แข่งตัวยงในทุกมิติที่สหรัฐอเมริกาตอกย้ำเสมอว่าต้องสู้กับจีน แพ้ไม่ได้

เมื่อเร็วๆ นี้ทางทำเนียบขาวจึงได้ประกาศว่าการประชุมผู้นำประชาธิปไตยโลกทางวิดีทัศน์จะมีขึ้นในวันที่ 9-10 ธันวาคม 2564 แหล่งข่าวในรัฐบาลไทยเล่าให้ฟังว่า ไบเดนได้เชิญนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียบร้อยแล้ว ตอนนี้รัฐบาลไทยกำลังพิจารณาคำเชิญอยู่

ประเด็นเรื่องสหรัฐอเมริกาจะเชิญผู้นำประเทศไหนมาประชุมซัมมิตครั้งนี้ กำลังจะเป็นไฟสุมขอนสร้างความแตกแยกในหมู่ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย เพราะเท่ากับว่าสหรัฐอเมริกาจะเชิญประเทศที่ทางกรุงวอชิงตันพิจารณาว่าเป็นประเทศประชาธิปไตยหรือไม่เท่านั้น ในกรณีนี้ สหรัฐอเมริกาจะไม่เชิญประเทศจีนเด็ดขาด เพราะต้องการโดดเดี่ยวจีน

แต่ถ้าไบเดนเชิญไต้หวันมาร่วมงาน ก็อาจจะสร้างความร้าวฉานในภูมิภาคมากขึ้นอีก ที่ผ่านมาแปดเดือนสัมพันธ์จีนกับสหรัฐอเมริกาเลวลงมาก โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องความเป็นไปได้ของสงครามในช่องแคบไต้หวัน ถ้าเป็นเช่นนั้นประเทศในเอเชียโดยเฉพาะในสมาชิกสมาคมอาเซียนที่ถูกเชิญ อาจจะลังเลใจไม่ไปก็ได้

ลึกๆ แล้ว จีนเป็นกังวลมากที่สหรัฐอเมริกาพยายามใช้เวทีแบบนี้หาสมัครพรรคพวกโดยผ่านวิถีการส่งเสริมประชาธิปไตยโดยเฉพาะในช่วงนี้ เป็นที่รู้กันว่ารัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกได้ใช้มาตรการเข้มข้นในการป้องกันและจัดการโรคโควิด-19 จนเป็นโจษจันกันว่า รัฐบาลเหล่านี้รวมทั้งของไทยเป็นเผด็จการที่อาศัยโรคระบาดครั้งนี้มาเป็นปัจจัยจำกัดเสรีภาพการแสดงออกรวมทั้งการชุมนุมประท้วงทางการเมือง น่าสังเกตว่าบางประเทศในยุโรปได้ใช้มาตรการแบบเดียวกันแต่ไม่ถูกติติง

ในที่สุดรัฐบาลไทยคงตอบรับคำเชิญ เพราะเราอยากได้การยอมรับว่าเราเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยเหมือนกันจากประเทศที่เป็นเจ้าพ่อประชาธิปไตยเช่นกัน แน่นอนว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ มีข้อบกพร่องมากมายที่ต้องแก้ไข ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

ไทยถือได้ว่าเป็นประเทศของสมาชิกที่มีประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม บังเอิญประเทศไทยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาสอบตก เลยถูกตราหน้าจากคนหนุ่มคนสาวว่าเป็นเผด็จการ โดยเฉพาะเรื่องเสรีภาพทางความคิดและการเดินขบวน

ตามจริงแล้ว ไทยกำลังติวเข้มเพื่อสอบให้ผ่านหลักการและค่านิยมเป็นสังคมประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมโดยสมบูรณ์สักทีหนึ่ง ล่าสุดคือรัฐสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ด้วยเสียงเห็นชอบ 368 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง โดยไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย

เกือบสิบปีที่ไทยได้ลงนามสองอนุสัญญาทั้งเรื่องการต่อต้านการซ้อมทรมานและการคุ้มครองบุคคลจากการหายสาบสูญ พูดตามภาษาชาวบ้านคือการอุ้มนั่นเอง อีกหน่อยคนในชุดสีกากีทรมานผู้ต้องหาก็มีสิทธิติดคุกเหมือนกัน

ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้เช็คบิลกับพวกลักพามนุษย์ที่มีอดีตทหารรวมอยู่ด้วย รวมทั้งการจัดระเบียบป้องกันการทำประมงที่ผิดกฎหมาย สอบผ่านแต่เกรดไม่ค่อยดี

ไทยยังมีชนักติดหลังอยู่เพราะยังมีคนไทยบางส่วนคิดว่ารัฐบาลไทยยังไม่เป็นประชาธิปไตย ที่เห็นกันอยู่ก็เป็นรัฐบาลทรราชย์ที่มีการเลี้ยงต้อยกันมาในระบอบอุปถัมภ์การเมืองแบบไทยๆ ตั้งแต่การยึดอำนาจในปี 2514

อย่างไรก็ดี การที่สหรัฐอเมริกาเชิญไทยเท่ากับยอมรับว่าประเทศเรานี้มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเข้ามาร่วมเสวนากับประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ ได้ จะเป็นภาพสะท้อนอีกแง่มุมหนึ่งที่มีพลวัตต่อสังคมไทย