ThaiPublica > คอลัมน์ > ว่าด้วยเรื่อง APEC กับ G20

ว่าด้วยเรื่อง APEC กับ G20

11 พฤศจิกายน 2022


จันทวรรณ สุจริตกุล

ในสัปดาห์หน้า ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอด APEC 2022 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นใกล้เคียงกับการประชุมกลุ่ม G20 ที่ประเทศอินโดเนเซียเป็นเจ้าภาพ ณ เกาะบาหลี นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายปีที่สมาชิกอาเซียนสองประเทศได้รับโอกาสในการเป็นเจ้าภาพการประชุมใหญ่ถึง 2 การประชุมของโลกในเวลาใกล้เคียงกัน และแน่นอนที่สุด ย่อมเกิดการเปรียบเทียบว่าการประชุมเวทีไหนจะได้รับความสนใจจากประเทศมหาอำนาจมากกว่ากัน

ผู้เขียนเคยมีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมระดับเจ้าหน้าอาวุโสทางการเงินของทั้งสองเวที ซึ่งมีความน่าสนใจและเป็นสิ่งที่วงการการเงินโลกติดตาม อาจจะไม่ได้มีสีสันเป็นหัวข้อข่าวเท่ากับการประชุมสุดยอดของผู้นำ แต่ก็เป็นการทำงานที่มุ่งเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจและการเงินให้กับสมาชิกและประชาคมโลกในที่สุด

ก่อนอื่นต้องขอเท้าความว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม G20 เพราะแรกเริ่มก่อตั้งกลุ่มนี้ต้องการสมาชิกที่เป็นประเทศมหาอำนวจทางเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของโลก โดยไม่ได้สนใจความเป็นภูมิภาคหรือที่ตั้งของประเทศ ต่างจากเวทีการประชุมอื่นๆ เช่น ASEM (Asia Europe Meeting) หรือ Asia Pacific Economic Cooperation (APEC) ซึ่งเน้นความร่วมมือระหว่างสมาชิกในภูมิภาคนั้นๆ และโดยที่ G20 เน้นบทบาททางเศรษฐกิจการเงินเป็นสำคัญ จึงมีจุดเริ่มต้นจากการประชุมในระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกับผู้ว่าการธนาคารกลางเป็นสำคัญ เพิ่งมาระยะหลังที่มีการยกระดับการประชุม G20 ไปถึงระดับผู้นำเมื่อปี 2008 ท่ามกลางวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นศูนย์กลาง และโดยที่ G20 เน้นขนาดของประเทศ ในกลุ่มอาเซียนของเราจึงมีประเทศอินโดเนเซียที่ได้รับเชิญให้เป็นสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งแต่เริ่มแรก แต่การประชุม G20 ในทุกๆ ปีก็จะมีการเชิญตัวแทนของกลุ่มความร่วมมือต่างๆ ในทุกภูมิภาคของโลกรวมทั้งอาเซียนเข้าร่วมด้วยในฐานะแขกพิเศษ ผ่านประเทศที่ทำหน้าที่เป็นประธานของอาเซียนในปีนั้นๆ ดังนั้น ในปี 2019 ที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียน เราจึงมีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมระดับต่างๆ ของ G20 ตลอดทั้งปี

หากจะเทียบเวทีการประชุมของเอเปคกับเวทีของ G20 คงต้องมองว่า เอเปคถือกำเนิดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1987 หรือกว่าหนึ่งทศวรรษก่อน G20 ที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1999 และโดยที่เวทีเอเปคเน้นความร่วมมือในภูมิภาคของเอเชียและแปซิฟิก เพื่อผลักดันการค้าและการลงทุนระหว่างสมาชิกผ่านการอำนวยความสะดวกทางด้านการค้าและการลงทุน เอเปคจึงเป็นเวทีเดียวที่มีเขตเศรษฐกิจของจีนเข้าร่วมประชุมด้วย คือ ทั้งจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง และจีนไทเป และเรียกสมาชิกว่าเขตเศรษฐกิจ ไม่มีการประดับธงสัญญลักษณ์ใดๆ ในการประชุม การหารือจะเน้นเรื่องการอำนวยความสะดวกทางด้านการเปิดตลาด เห็นได้จาก APEC Travel Card ที่นักธุรกิจและเอกชนได้รับประโยชน์จากการเดินทางระหว่างเขตเศรษฐกิจผ่านช่องการตรวจคนเข้าเมืองที่รวดเร็ว แยกต่างหาก ทำให้ร่นระยะเวลาในการเข้าออกจากสนามบิน การส่งเสริมการเชื่อมโยงด้านการเงิน cross border payment connectivity ซึ่งอาจจะยังไม่กว้างขวางเท่ากับ APEC Travel Card แต่ก็มีโอกาสที่จะเติบโตต่อไป จากตัวอย่างความเชื่อมโยงที่อาเซียนได้ผลักดันในกลุ่ม และมีศักยภาพที่จะขยายผลต่อในวงกว้างขึ้น

การประชุมกลุ่ม G20 ที่ถือกำเนิดขึ้นจากความร่วมมือทางด้านการเงินการคลังเป็นหลัก จะเน้นหัวข้อความร่วมมือด้านการเงิน การคลัง การยกระดับมาตรฐาน (standard setter) การกำกับดูแลสถาบันการเงิน ตลาดการเงิน ระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ รวมทั้งการติดตามความเสี่ยงต่างๆ ได้แก่ ความเสี่ยงทางด้านเสถียรภาพการเงิน (financial stability risks) ในปี 2019 ที่ญี่ปุ่นเป็นประธาน G20 ได้หยิบยกหัวข้อเรื่อง สังคมผู้สูบอายุและภาระการคลัง เป็นต้น

การประชุมกลุ่ม G20 เกิดขึ้นในปี 1999 หลังวิกฤติเศรษฐกิจเอเซียและวิกฤติหนี้ของรัสเซีย หัวข้อการหารือจึงเน้นเรื่องการสอดส่องดูแลเศรษฐกิจการเงินของสมาชิก การพัฒนากลไกความช่วยเหลือเพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงิน (financial safety net) เพื่อเป็นกลไกจัดหาสภาพคล่องยามฉุกเฉินให้กับสมาชิกที่ประสบภาวะเงินทุนไหลออกเฉียบพลัน ต่อมาเกิดวิกฤติแฮมเบอรเกอร์ในปี 2008 (Global Financial Crisis) จึงเกิดการยกระดับการกำกับดูแลธุรกรรมทางการเงินขนานใหญ่ G20 ก็ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปภาคการเงิน พร้อมๆ กับการยกระดับเวทีการประชุม G20 ให้เป็นการประชุมระดับผู้นำ

ไม่ว่าจุดกำเนิดของแต่ละเวทีการประชุมทั้งสองจะมาอย่างไร การหารือระดับผู้นำก็คงหนีไม่พ้นความท้าทายของเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์โลก การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ข้อติดขัดในเรื่องห่วงโซ่อุปทาน ฯลฯ แต่ที่สำคัญ การหารือระดับเจ้าหน้าที่คงจะเดินหน้าต่อในเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลและความยั่งยืน ซึ่งเป็นความท้าทายของประชาคมโลกที่จะต้องทำงานร่วมกัน

และโดยที่สหรัฐฯ จะรับเป็นเจ้าภาพเอเปคต่อจากประเทศไทยในปีหน้า การสานต่อวาระต่างๆ ที่ประเทศไทยได้หยิบยกขึ้นในภาคการเงินในปีนี้คงจะได้ยกยอดไปคุยกันต่อในปีหน้า โดยเฉพาะ เรื่องการเงินดิจิทัล ที่สหรัฐฯ จะมีผลสรุปของรายงาน Presidential Executive Order ด้าน Digital Asset มาสื่อสารให้สมาชิกได้อภิปรายแลกเปลี่ยนความเห็นกัน และเรื่องการเงินเพื่อความยั่งยืน จะยังคงเป็นหัวข้อสำคัญของความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศต่อไป

สมาชิก APEC ประกอบด้วยเขตเศรษฐกิจ 21 แห่ง ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดเนเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย จีนไทเป ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย และเวียดนาม

สมาชิก G20 ประกอบด้วย 19 ประเทศ ได้แก่ กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้น นำ 8 ประเทศ (กลุ่ม8) คือ อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เยอรมนี รัสเซีย และสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศระบบเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดใหญ่อีก 11 ประเทศ ประกอบด้วย อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล จีน อินเดีย อินโดเนเซีย เม็กซิโก ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ และตุรกี