ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup ผู้นำอาเซียนรับรองถ้อยแถลง 3 ฉบับ ตกลงในหลักการติมอร์-เลสเต สมาชิกรายที่ 11

ASEAN Roundup ผู้นำอาเซียนรับรองถ้อยแถลง 3 ฉบับ ตกลงในหลักการติมอร์-เลสเต สมาชิกรายที่ 11

13 พฤศจิกายน 2022


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 7-12 พฤศจิกายน 2565

  • ผู้นำอาเซียนรับรองถ้อยแถลง 3 ฉบับ ตกลงในหลักการติมอร์-เลสเต สมาชิกรายที่ 11
  • สหรัฐฯ ถอดเวียดนามออกจากประเทศบิดเบือนค่าเงิน
  • เวียดนามเล็งสร้างรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ
  • เวียดนาม-กัมพูชากระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ
  • เมียนมาคิดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเป็นศูนย์
  • กัมพูชาจ้างจีนสร้างทางด่วนสายที่สอง
  • ผู้นำอาเซียนรับรองถ้อยแถลง 3 ฉบับ ตกลงในหลักการติมอร์-เลสเต สมาชิกรายที่ 11

    ที่มาภาพ: https://www.thaigov.go.th/gallery/contents/details/9796
    วันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ที่กรุงพนมเปญ ผู้นำสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ได้รับรองถ้อยแถลงหลายฉบับในการประชุมสุดยอดที่กรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือเพิ่มเติมเพื่อการฟื้นฟูหลังการแพร่ระบาด และเพื่อจัดการกับความท้าทายที่สำคัญร่วมกัน

    การประชุมครั้งนี้มีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศเข้าร่วม ส่วนเมียนมาไม่เข้าร่วม

    ที่ประชุมสุดยอดครั้งที่ 40 ซึ่งมีสมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเป็นประธาน ได้รับรอง ถ้อยแถลง 3 ฉบับ ได้แก่ ถ้อยแถลงผู้นำอาเซียนในโอกาสครบรอบ 55 ปีอาเซียน ถ้อยแถลงวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วย ASEAN A.C.T: Addressing Challenges Together และถ้อยแถลงผู้นำอาเซียนว่าด้วยวาระความเชื่อมโยงของอาเซียนหลังปี 2025

  • ครบรอบ 55 ปีอาเซียน
  • ถ้อยแถลง ระบุว่า ผู้นำอาเซียนเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างหลักการของอาเซียนตามที่บัญญัติไว้ในกฎบัตรอาเซียน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของกลุ่มให้เป็นภูมิภาคที่สงบสุข มั่นคง มีความสามารถในการปรับตัว และแข่งขันทางเศรษฐกิจได้

    ผู้นำอาเซียนเห็นพ้องที่จะ “เสริมสร้างความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในกลไกที่นำโดยอาเซียนในการส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง และความเจริญรุ่งเรือง และสร้างสถาปัตยกรรมระดับภูมิภาคที่เปิดกว้าง โปร่งใส ครอบคลุม และยึดกฎหมายเป็นพื้นฐาน”

    ถ้อยแถลงระบุว่า บรรดาผู้นำให้คำมั่นว่าจะส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยผลักดันให้มีการดำเนินการตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีของอาเซียน (FTA) อย่างมีประสิทธิภาพ และข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม (CEPs) กับพันธมิตรภายนอก เช่น ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP)

    นอกจากนี้ยังเห็นพ้องที่จะ “เร่งพยายามจัดการผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดจากโควิด-19 อย่างครอบคลุมและเพื่อพื้นฟูจากวิกฤติด้วยเป้าหมายที่จะรักษาการเติบโตอย่างทั่วถึง ความสามารถในการปรับตัว แข่งขันได้และยั่งยืน” ถ้อยแถลงระบุ

    ผู้นำอาเซียนยังเรียกร้องให้ภาคีภายนอกทั้งหมดของอาเซียนแสดงให้เห็นถึงความพยายามร่วมกันเพื่อบรรลุสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคผ่านกลไกและกรอบการทำงานที่นำโดยอาเซียน

  • ASEAN A.C.T. รับมือความท้าทายไปด้วยกัน

  • บรรดาผู้นำเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือและความเป็นหุ้นส่วนภายในอาเซียนและกับพันธมิตรภายนอกผ่านกลไกที่นำโดยอาเซียน โดยยึดหลักการของการปรึกษาหารือและมติเอกฉันท์ ความเสมอภาค ความเป็นหุ้นส่วน และความเคารพซึ่งกันและกัน ถ้อยแถลงระบุ

    นอกจากนี้ยังเห็นพ้องที่จะ “เสริมสร้างความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมระดับภูมิภาค มุ่งสู่สันติภาพ เสถียรภาพ ความปรองดอง และความเจริญรุ่งเรือง”

    ผู้นำอาเซียนยังให้คำมั่นว่าจะ “คงอาเซียนในฐานะภูมิภาคแห่งสันติภาพ เสรีภาพ เสถียรภาพและความมั่นคง ที่ซึ่งความแตกต่างและข้อพิพาทได้รับการแก้ไขโดยสันติวิธี และปราศจากอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธทำลายล้างสูงอื่น ๆ”

    ผู้นำเห็นพ้องกันที่จะเร่งการเปลี่ยนผ่านของอาเซียนไปสู่ภูมิภาคเศรษฐกิจที่มีการบูรณาการสูง แข่งขันได้ ยั่งยืน ทั่วถึง และมั่งคั่ง โดยส่งเสริมนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์

    นอกจากนี้ ยังเห็นพ้องที่จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของอาเซียนในเศรษฐกิจโลก โดยใช้ข้อตกลงการค้าเสรีที่มีอยู่ของอาเซียนอย่างเต็มที่ และเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคหลังการระบาดของโควิด-19 ถ้อยแถลงระบุ

  • ความเชื่อมโยงหลังปี 2025
  • ผู้นำเห็นพ้องที่จะผลักดัน “วาระความเชื่อมโยงของอาเซียนหลังปี 2025” โดยกล่าวว่า สิ่งสำคัญคือต้องส่งเสริมแนวทางที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง การพัฒนาที่ยั่งยืน การบูรณาการระดับภูมิภาค และนโยบายที่มุ่งเน้นอนาคต รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ทนทานต่อสภาพภูมิอากาศและยั่งยืน เมืองอัจฉริยะ การเปลี่ยนโฉมทางดิจิทัล การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน และการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

    ผู้นำ “ตั้งใจแน่วแน่ที่จะส่งเสริมประชาคมอาเซียนที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน สงบสุข มั่งคั่ง และเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ เพื่อให้เป็นอาเซียนที่พร้อมสำหรับอนาคต” ถ้อยแถลงระบุ

    ผู้นำ “เห็นพ้องว่าการพัฒนาวาระความเชื่อมโยงของอาเซียนหลังปี 2025 จะต้องดำเนินการด้วยแนวทางของประชาคมโดยรวม ในลักษณะที่ครอบคลุม ปฏิบัติได้ มีส่วนร่วม ทั่วถึง ตอบสนอง สอดคล้องกันและประสานกัน เพื่อประสานและส่งเสริมความพยายามในการเชื่อมต่อ ข้ามภาคส่วน” ถ้อยแถลงระบุ

    ผู้นำยังเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคเอกชน องค์กรระหว่างประเทศและระดับภูมิภาค ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง และพันธมิตรภายนอก เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามแผนแม่บทเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity-MPAC) ปี 2025 และการพัฒนาวาระความเชื่อมโยงของอาเซียนหลังปี 2025

    ทั้งนี้ได้มอบหมายให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียน(ASEAN Coordinating Council) ดูแลการพัฒนาวาระความเชื่อมโยงของอาเซียนหลังปี 2025 ซึ่งจะสอดคล้องกับการพัฒนาวิสัยทัศน์หลังปี 2025 ของประชาคมอาเซียน ถ้อยแถลงระบุ

    อาเซียนก่อตั้งในปี 2510 สมาชิกประกอบด้วย บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

  • ตกลงในหลักการรับติมอร์-เลสเต เป็นสมาชิกรายที่ 11

  • ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 40 และการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 41 ยัง ตกลงในหลักการที่จะรับติมอร์-เลสเตเป็นสมาชิกลำดับที่ 11 ของอาเซียน โดยในขั้นแรกได้ให้สถานะผู้สังเกตการณ์แก่ติมอร์-เลสเตและอนุญาตให้ติมอร์-เลสเตเข้าร่วมการประชุมอาเซียนทั้งหมด รวมทั้งในการประชุมสุดยอด

    ขั้นตอนต่อไปติมอร์-เลสเตต้องจัดทำแผนงานเพื่อเข้าเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบ และมอบหมายให้คณะมนตรีประสานงานอาเซียน (ACC) จัดทำแผนงานและรายงานต่อการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 42 และให้ประเทศสมาชิกอาเซียนและพันธมิตรภายนอกทั้งหมดสนับสนุนติมอร์-เลสเตอย่างเต็มที่ เพื่อบรรลุเป้าหมาย ด้วยการส่งเสริมขีดความสามารถ และการสนับสนุนที่จำเป็นและเกี่ยวข้องอื่นๆในการเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบในอาเซียน

  • เรียกร้องผู้นำเมียนมาเดินหน้าแผนสันติภาพ
  • ผู้นำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ยังได้เรียกร้องให้ผู้นำทหารของเมียนมาดำเนินการตามแผนสันติภาพ โดยมุ่งเป้าไปที่การหยุดการนองเลือดในประเทศที่มีผู้เสียชีวิตหลายพันคนนับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจในการรัฐประหารเมื่อปีที่แล้ว

    วิกฤตการณ์เมียนมาเป็นประเด็นสำคัญในการประชุมวันแรกของการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้

    ผู้นำอาเซียนไม่ให้ ผู้นำทหารของเมียนมา พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย เข้าร่วมการประชุม อันเนื่องจากความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นในประเทศ และจากความไม่พอใจที่ผู้นำทหารเมียนมาไม่สนใจที่จะดำเนินการตามแผนสันติภาพ

    บรรดาผู้นำของกลุ่มอาเซียนได้เห็นชอบแผนสันติภาพ “ฉันทามติ 5 ข้อ” กับผู้นำเมียนมาเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว แต่จนถึงตอนนี้ กองทัพก็ยังเพิกเฉยต่อแผนดังกล่าว

    ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด อินโดนีเซีย กล่าวกับผู้สื่อข่าวนอกรอบการประชุมเมื่อวันศุกร์ ว่า เขาได้เสนอให้ขยายการห้ามผู้แทนทางการเมืองเมียนมาในกิจกรรมอาเซียน ซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนเรียกร้อง

    “อินโดนีเซียผิดหวังอย่างยิ่งกับสถานการณ์ในเมียนมาที่เลวร้ายลง” วิโดโด กล่าว

    เมื่อวันศุกร์ ผู้นำประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ออก “คำเตือน” ให้เมียนมาดำเนินการตามแผนสันติภาพที่วัดผลได้ มิฉะนั้นเสี่ยงที่จะถูกกันออกจากการประชุมของกลุ่ม ในขณะที่ความวุ่นวายทางสังคมและการเมืองทวีความรุนแรงขึ้นในประเทศ

    สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ระบุว่า หลังจาก “มีความคืบหน้าเล็กน้อย” เกี่ยวกับฉันทามติสันติภาพ 5 ข้อที่ตกลงร่วมกันเมื่อปีที่แล้ว ผู้นำได้สรุปว่าจำเป็นต้องมี “ตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม ปฏิบัติได้ และวัดผลได้โดยมีกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน”

    นอกจากนี้ อาเซียนจะทบทวนการเข้าร่วมของเมียนมาในการประชุมทุกระดับ หลังจากห้ามผู้นำทหารของเมียนมาจากการประชุมระดับสูงตั้งแต่ปีที่แล้ว ที่นั่งของเมียนมาจึงว่างในการประชุมสุดยอดที่กรุงพนมเปญเมื่อวันศุกร์

    เร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งในสัปดาห์ที่แล้วชี้ว่า ต้องตำหนิรัฐบาลทหารแต่เพียงผู้เดียวสำหรับกระบวนการสันติภาพที่ล้มเหลว ได้กล่าวว่าถ้อยแถลงของวันศุกร์นั้นเป็น “สารที่มีพลังหรือเรียกได้ว่าเป็นคำเตือนถึงรัฐบาลทหาร”

    กระทรวงต่างประเทศของรัฐบาลทหารออกมาคัดค้านแถลงการณ์ของอาเซียน โดยกล่าวว่าจะไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของอาเซียนที่ก่อนหน้านี้ได้วิจารณ์ว่า ไม่มีความคืบหน้าในการควบคุมการแพร่ระบาดและขัดขวางการเคลื่อนไหวต่อต้านด้วยอาวุธ

    ความวุ่นวายทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจได้เกาะกุมเมียนมา นับตั้งแต่กองทัพโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งนำโดยออง ซาน ซูจีเมื่อปีที่แล้ว และเปิดฉากการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อผู้เห็นต่าง ซึ่งเป็นการขจัดการขับเคลื่อนไปสู่ประชาธิปไตย

    อาเซียนซึ่งมีประเพณีไม่แทรกแซงกิจการอธิปไตยของสมาชิกมานาน ไม่ได้ใช้การคว่ำบาตรแบบตะวันตกต่อเมียนมาหรือขับไล่ออกจากกลุ่มที่มีสามชิก 10 ประเทศ แม้จะประณามการกระทำที่รุนแรงมากขึ้นของคณะรัฐประหาร เช่น การประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย และการโจมตีทางอากาศที่คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 50 คน

    นักเคลื่อนไหวบางคนกล่าวว่าการตัดสินใจของอาเซียนเมื่อวันศุกร์ยังไม่เพียงพอ

    “ความจริงก็คือ อาเซียนยังไม่ได้ระงับการมีส่วนร่วมของรัฐบาลทหารผ่านระบบอาเซียนทั้งหมด แสดงถึงการขาดความเป็นผู้นำอย่างต่อเนื่องในประเด็นนี้ และถทอเป็นการอนุญาตโดยปริยายให้รัฐบาลทหารในการก่ออาชญากรรมต่อไป” แพทริก พงศธร จากFortify Rightsกล่าว

    สหรัฐฯ ถอดเวียดนามออกจากประเทศบิดเบือนค่าเงิน

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/business/data-speaks/vietnam-s-dong-falls-to-new-low-against-the-dollar-3920059.html
    เวียดนามถูกถอดออกจากการตรวจสอบและ รายชื่อประเทศที่มีการบิดเบือนค่าเงิน(monetary manipulation monitoring list)ของสหรัฐฯ จากการรายงานของธนาคารกลางเวียดนาม (State Bank of Vietnam)

    ธนาคารกลางกล่าวว่า การตัดสินใจดังกล่าวได้ประกาศในรายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ต่อสภาคองเกรส ว่าด้วยนโยบายเศรษฐกิจมหภาคและการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของประเทศคู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน

    ก่อนหน้านี้ เวียดนามได้ผ่านเกณฑ์ทั้งสามเกณฑ์ตามที่ระบุไว้ในรายงานเดือนธันวาคม 2564 เมษายน 2564 และธันวาคม 2563 ซึ่งกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ทำการวิเคราะห์เวียดนามอย่างละเอียด

    กระทรวงการคลังสหรัฐยังคงมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดกับ SBV เพื่อติดตามความคืบหน้าของเวียดนามในการจัดการกับข้อกังวล และยังคงพอใจกับความคืบหน้าของเวียดนาม

    จากข้อมูลของ SBV ตั้งแต่ต้นปี 2564 กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ดำเนินการยกระดับการติดต่อระดับทวิภาคีกับเวียดนาม และบรรลุข้อตกลงทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่อแก้ไขข้อกังวลของฝ่ายสหรัฐฯ เกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินและอัตราแลกเปลี่ยน

    ในรายงานนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐฯยังคงรับรู้ความก้าวหน้าของเวียดนาม ในคณะผู้แทนของกระทรวงการต่างประเทศเยือนเวียดนามเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565 ฝ่ายสหรัฐฯ ชื่นชมการบริหารนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนของ SBV ภายใต้ความยากลำบากและความท้าทายมากมายในระบบเศรษฐกิจโลก

    ในรายงาน กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุคู่ค้าที่บิดเบือนค่าเงิน โดยพิจารณาจากสัญญาณของการเกินดุลการค้าทวิภาคีที่มีนัยสำคัญกับสหรัฐฯ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีนัยสำคัญ และมีส่วนร่วมในการแทรกแซงฝ่ายเดียวอย่างต่อเนื่องในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

    เวียดนามเล็งสร้างรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ


    กระทรวงการวางแผนและการลงทุนและการขนส่งจะศึกษาความเป็นไปได้ใน การสร้างรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศเวียดนามเพื่อขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้า

    กระทรวงวางแผนกล่าวว่า รถไฟรางคู่ซึ่งออกแบบให้มีความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและมีความเร็วที่ทำได้จริง 180-225 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีความจำเป็น เนื่องจากรถไฟบรรทุกผู้โดยสารได้เพียง 6% และสินค้า 1.4% ในเส้นทางสายเหนือ-ใต้

    เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะเป็นตัวหลักในการขนส่งที่สามารถบรรทุกสินค้าปริมาณมาก เชื่อมศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญๆ และกระตุ้นการเติบโต

    กระทรวงฯเสนอให้สร้างทางรถไฟภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และใช้เงินทุนบางส่วนจากการประมูลที่ดินใกล้สถานี 50 แห่งตลอดเส้นทาง

    กลุ่มที่ปรึกษาที่ประกอบด้วยUniversity of Transport and Communications Consultancy and Construction, Evo mc ของเยอรมนี, Ove Arup & Partners Hong Kong และ Hung Phu Trading และ Construction Consultant แนะนำให้เลือกระดับความเร็วที่ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมงมากกว่า 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งสามารถขนส่งผู้โดยสารได้เท่านั้น แม้ต้นทุนการก่อสร้างจะสูงขึ้น แต่ก็มีโอกาสสูงที่จะได้เงินลงทุนคืนจากการขนส่งสินค้า โดยมูลค่าลงทุนจะอยู่ที่ 62.7-64.8 พันล้านดอลลาร์และ 58.7 พันล้านดอลลาร์ตามลำดับ

    กระทรวงฯได้ศึกษาการสร้างรถไฟทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2019 เนื่องจากมีการใช้ถนนและสนามบินเพื่อขนส่งสินค้ามากเกินไป

    เวียดนาม-กัมพูชากระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

    ที่มาภาพ: https://tuoitrenews.vn/news/politics/20221110/vietnam-cambodia-agree-to-strengthen-economic-linkage/69966.html

    เวียดนามและกัมพูชาตกลงที่จะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างพื้นฐาน สถาบัน และนโยบาย

    เมื่อวันพุธ(9 พ.ย.) ทั้งสองประเทศออกแถลงการณ์ร่วมภายหลังการเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ของเวียดนามเป็นเวลา 2 วัน และเป็นการเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ หลังจากเข้ารับตำแหน่ง นอกจากนี้ยังตรงกับวันครบรอบ 55 ปีของความสัมพันธ์ทางการฑูตของทั้งสองประเทศ

    ในระหว่างการหารือ นายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ และสมเด็จ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชายินดีกับความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของทั้งสองฝ่ายในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ตลอดจนในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

    ผู้นำสองประเทศเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีต่อไปภายใต้คำขวัญที่ว่า ‘เพื่อนบ้านที่ดี มิตรภาพดั้งเดิม ความร่วมมือที่ครอบคลุม และความยั่งยืนในระยะยาว’‘good neighborliness, traditional friendship, comprehensive cooperation and long-term sustainability’

    นอกจากนี้ยังชื่นชมความสำเร็จของการจัดกิจกรรมที่มีความหมายอย่างมากในช่วงปีแห่งมิตรภาพกัมพูชา-เวียดนาม ในปี 2565

    ทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สนับสนุนซึ่งกันและกันในการสร้างเศรษฐกิจที่เป็นอิสระและพึ่งพาตนเอง ในขณะเดียวกันก็ต้องให้มีการบูรณาการระหว่างประเทศในวงกว้างและมีประสิทธิภาพ

    โดยต้องส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศในด้านโครงสร้างพื้นฐาน สถาบัน และนโยบาย ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมให้เสร็จสิ้นก่อนกำหนดของแผนแม่บทเพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจเวียดนาม – กัมพูชาภายในปี 2030 แถลงร่วมเน้นย้ำ

    ทั้งสองฝ่ายแสดงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการค้าทวิภาคีต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าชายแดน ผ่านการดำเนินการตามข้อตกลงที่ลงนามใหม่ว่าด้วยการค้าชายแดน และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาและเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานการค้าชายแดนอย่างมีประสิทธิภาพ

    ในด้านความร่วมมือด้านการป้องกันและความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในหลักการที่จะไม่ยอมให้กองกำลังที่เป็นศัตรูใช้อาณาเขตของทั้งสองประเทศเป็นภัยต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ของแต่ละประเทศ

    โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือในการคุ้มครองทางกงสุลในการจัดการกับอาชญากรรมข้ามพรมแดน เช่น การค้ามนุษย์และยาเสพติด ตลอดจนการปกป้องความมั่นคงทางไซเบอร์

    ทั้งสองฝ่ายยังตกลงที่จะส่งเสริมและปรับปรุงประสิทธิภาพของความร่วมมือในด้านอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น กฎหมายและตุลาการ แรงงานและสังคม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร พลังงานทดแทน เกษตรกรรมอัจฉริยะ การศึกษาและการฝึกอบรม การดูแลสุขภาพ วัฒนธรรม ท่องเที่ยว กีฬา และการคมนาคมขนส่ง เป็นต้น

    ทั้งสงประเทศให้ความยินยอมที่จะส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานอย่างใกล้ชิดและมีประสิทธิภาพภายในกรอบพหุภาคี เช่น สหประชาชาติและอาเซียนเพื่อจัดการกับความท้าทายระดับโลกและระดับภูมิภาค

    เมียนมาคิดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าเป็นศูนย์

    ที่มาภาพ: https://www.worldbank.org/en/country/myanmar/publication/urban-transport-in-yangon-and-mandalay-review-of-sector-institutions-expenditures-and-funding
    กระทรวงการวางแผนและการคลัง ประกาศว่า รถยนต์ไฟฟ้า (EVs) จะมีอัตราภาษีศุลกากรเป็นศูนย์

    เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ใช้ EV และยกระดับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อัตราภาษีของรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) ที่นำเข้าภายใต้ Completely Built Up (CBU หรือรถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศ และนำเข้ามาทั้งคัน), Completely Knocked Down (CKD หรือรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ ไม่ว่าอะไหล่ที่นำมาประกอบจะเป็นอะไหล่นำเข้าหรืออะไหล่ที่ผลิตในประเทศ) และ Semi-Knocked Down (SKD หรือ บางส่วนมีการประกอบมาจากต่างประเทศแล้ว แล้วนำเข้ามาประกอบให้เต็มคันในประเทศ ) ในภาษีศุลกากรของเมียนมา ปี 2565 ลดลงเหลือ 0% จากการพิจารณาของรัฐบาล

    โดยประเภทของ BEV ได้แก่ รถลากสำหรับรถกึ่งพ่วง รถประจำทางหรือรถตู้สำหรับขนส่งคนตั้งแต่สิบคนขึ้นไป รวมทั้งผู้ขับขี่ รถบรรทุก ยานยนต์สำหรับใช้ส่วนตัว รถยนต์สามล้อสำหรับขนส่งบุคคล ยานพาหนะสามล้อสำหรับ การขนส่งสินค้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานไฟฟ้า รถพยาบาล รถตู้เรือนจำ และรถบรรทุก

    ตามประกาศคำสั่งนี้ การนำเข้าชิ้นส่วนอะไหล่ (เช่น อุปกรณ์สถานีชาร์จและอุปกรณ์) โดยคำแนะนำของกระทรวงการไฟฟ้าและชิ้นส่วนอะไหล่ ตามที่เสนอโดยกรมอุตสาหกรรม สามารถทำได้ในระหว่างวันที่ 2 พฤศจิกายน 2022 ถึง 31 มีนาคม 2023

    ปัจจุบัน รถยนต์ไฟฟ้าของจีนกำลังเตรียมเข้าสู่ตลาดรถยนต์ในเมียนมา เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม Hozon Auto Company ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับ Grand Sirius Limited (GSE) เพื่อทำการตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ตามข้อตกลง Hozon Auto จะนำแบรนด์ Neta U และ Neta V เข้าสู่ตลาดรถยนต์ของเมียนมาด้วยมาตรฐานสากลสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

    Hozon Auto ได้ลงทุนในอิสราเอล ลาว และเนปาล

    ในขณะเดียวกัน Dongfeng Motor Myanmar วางแผนที่จะนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อ BYD ที่ผลิตในประเทศจีนในช่วงปลายปี 2565 โดยได้รับอนุญาตให้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้ายี่ห้อ BYD แล้ว

    โดยมีแผนจะนำเข้าภายในสิ้นปีนี้ และคาดว่าจะเริ่มจำหน่ายได้ในช่วงต้นปี 2566

    กระทรวงพลังงานไฟฟ้าออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ว่า จะมีการก่อสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า 5 แห่งบนทางด่วนย่างกุ้ง-มัณฑะเลย์เป็นโครงการนำร่อง แต่ละสถานีชาร์จสามารถชาร์จรถEVs ได้ 50 คัน และจะดำเนินการให้สถานีชาร์จชาร์จไฟฟ้าบริการได้สูงสุด 250 คัน กระทรวงฯระบุ

    กัมพูชาจ้างจีนสร้างทางด่วนสายที่สอง

    ที่มาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/national/cambodia-china-sign-16b-deal-second-expressway

    นายสุ่น จันทอล รัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและการขนส่ง เปิดเผยว่า โครงการทางด่วนแห่งที่ 2 ของกัมพูชา ซึ่งจะวิ่งจากกรุงพนมเปญไปยังเมืองบาเวตในจังหวัดสวายเรียงที่ชายแดนติดกับเวียดนาม มีมูลค่าประมาณกว่า 1.6 พันล้านดอลลาร์

    สัญญาการก่อสร้างได้มีการลงนามเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ระหว่างกระทรวงกับ China Road and Bridge Corporation (CRBC) ซึ่งเป็นบริษัทเดียวกันที่อยู่เบื้องหลังทางด่วนสายเมืองหลวง-สีหนุวิลล์ โดยมีนายจันทอลเป็นประธานในพิธี

    นายจันทอลกล่าวว่า ทางด่วนพนมเปญ-บาเวตจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และจะแล้วเสร็จในปลายปี 2569 หรือต้นปี 2570 ด้วยมูลค่าประมาณ 1.638 พันล้านดอลลาร์

    “ทางด่วนจะมีความยาว 138 กิโลเมตร พร้อมสร้างสะพานยาว 1 แห่ง และทางเบี่ยงรวม 5 กิโลเมตร ค่าใช้จ่ายโดยประมาณนั้นน้อยกว่าทางด่วนสายพนมเปญ-สีหนุวิลล์เพียงเล็กน้อย แม้ว่าระยะทางจะสั้นกว่าก็ตาม”

    นายจันทอลกล่าวอีกว่า การก่อสร้างทางด่วนพนมเปญ-บาเวต จะดำเนินการควบคู่ไปกับการก่อสร้างทางด่วนในเวียดนามจากโฮจิมินห์ซิตี้ไปยังม็อก บ่าย

    เมื่อทางด่วนทั้งสองเสร็จแล้ว ก็จะมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงจีน เมียนมา ไทย กัมพูชา และเวียดนามผ่านทางหลวงสายเอเชียสายใหม่ 1 (AH1)

    “ทางด่วนในเวียดนามจะวิ่งไปตามถนนหมายเลข 22 ที่เชื่อมต่อกับทางด่วนของเราที่หลักกิโลเมตรที่ 164 เราจะจัดทำแผนเป็นลายลักษณ์อักษรพร้อมทั้งเตรียมแผนที่ของทางด่วน”

    นายจันทอลกล่าวว่ากัมพูชา กำลังขยายทางหลวงเอเชีย AH1 จากสองเลนแต่ละข้างเป็นสี่เลน ทางหลวงจะวิ่งจากปอยเปตไปยังพนมเปญ จากนั้นต่อไปยังบาเวตเพื่อเชื่อมต่อกับทางหลวง และอำนวยความสะดวกในการส่งออกและขนส่งผู้โดยสารไปและกลับจากจีนและเวียดนาม

    ทางด่วนพนมเปญ-สีหนุวิลล์ ซึ่งเป็นทางด่วนสายแรกในกัมพูชา ได้มีการใช้ในปริมาณมาก เนื่องจากทำให้สามารถเดินทางไปถึงจังหวัดสีหนุวิลล์ที่เป็นเมืองชายทะเลได้ในเวลาเพียงสองชั่วโมง เมื่อเทียบกับห้าชั่วโมงกับการเดินทางบนถนนทางหลวงเส้นเดิมก่อนหน้านี้ โดยมีรถยนต์มากกว่า 440,000 คันในช่วงเดือนแรกที่เปิดให้ใช้ฟรีในเดือนตุลาคม

    ในช่วง 9 วันแรกของเดือนพฤศจิกายน มีการเรียกเก็บค่าผ่านทางในอัตราส่วนลด 20% ซึ่งมีรถยนต์มากกว่า 100,000 คันใช้ทางด่วน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนตุลาคม