ThaiPublica > ประเด็นร้อน > BCG in Action > รัฐมนตรีเอเปค ผลักดันเขตการค้าเสรี FTAAP และ Bangkok Goals on BCG Economy

รัฐมนตรีเอเปค ผลักดันเขตการค้าเสรี FTAAP และ Bangkok Goals on BCG Economy

18 พฤศจิกายน 2022


ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/photo/?fbid=199736332567817&set=pcb.199736505901133

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายจุรินทร์
ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ซึ่งเป็นเวทีที่รัฐมนตรีด้านการต่างประเทศและรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจของแต่ละเขตเศรษฐกิจมาหารือร่วมกันเพื่อสรุปผลงานสำคัญจากการขับเคลื่อนกระบวนการเอเปคตลอดทั้งปี และให้ข้อเสนอแนะต่อที่ประชุมผู้นำ เพื่อกำหนดทิศทางการทำงานของเอเปคต่อไป ถือเป็นความโดดเด่นของเวทีเอเปคที่สะท้อนความสำคัญของประเด็นการค้าการลงทุนและการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนวาระสำคัญของภูมิภาค

โดยที่ประชุมได้ร่วมกันหารือแนวทางความร่วมมือระหว่างเขตเศรษฐกิจเอเปคเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกเผชิญอยู่ในปัจจุบัน พร้อมถอดบทเรียนผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เพื่อมุ่งหน้าขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและส่งเสริมการเติบโตในระยะยาวที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง โดยมีแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เป็นหัวใจหลัก

ประเด็นหารือที่สำคัญของการประชุม สะท้อนหัวข้อหลัก “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล”

หลังการประชุม นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมแถลงข่าวผลการประชุม

นายจุรินทร์ กล่าวในการแถลงข่าวว่า ข้อสรุปสำคัญจากที่ประชุมมี 3 ประเด็น

ประเด็นที่หนึ่ง ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปค มีฉันทามติที่จะขับเคลื่อน “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” หรือ “Bangkok Goals on BCG Economy” ซึ่งจะนำเสนอต่อการประชุมระดับผู้นำในวันที่ 19 พฤศจิกายน ได้พิจารณาต่อไป

ประเด็นที่สอง ที่ประชุมเห็นพ้องที่จะขับเคลื่อนความร่วมมือเอเปคไปสู่เป้าหมายการจัดตั้งเขตการค้าเสรีเอเปค(FTAAP) ขึ้นในอนาคต

ประเด็นที่สาม คือ วาระการพิจารณาหัวข้อหลักใน 3 ประเด็นคือ เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” หรือ Open, Connect and Balance.ได้มีการแยกประชุมรายละเอียดแต่ละหัวข้อ โดยมีข้อสรุป แต่ละเรื่องดังต่อไปนี้

ในหัวข้อ Open มีข้อสรุปทั้งหมด 6 ประเด็น

  • ประเด็นที่ 1 ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคเห็นพ้องในการเปิดกว้างทั้งการค้าการลงทุนเพื่อให้ห่วงโซ่อุปทาน ห่วงโซ่การผลิต ทำงานได้
  • ประเด็นที่ 2 ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปค เห็นพ้องกันที่จะขับเคลื่อนความร่วมมือเศรษฐกิจเอเปคปไปสู่การจัดเขตการค้าเสรีเอเปคในอนาคต
  • ประเด็นที่ 3 ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปค สนัสนุนการค้าในระบบพหุภาคีโดยให้องค์กรการค้าโลก เป็นศูนย์กลางและเร่งหาข้อสรุปในประเด็นที่ยังค้างคาในที่ประชุม WTO ให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการประมง เรื่องที่เกี่ยวข้องที่ค้างคา รวมทั้งให้เสริมประเด็นในเรื่องใหม่ ในการขับเคลื่อน WTO ให้เกิดขึ้นต่อไป
  • ประเด็นที่ 4 ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปค เห็นพ้องที่จะเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านบริการของกลุ่มสมาชิกเอเปคไม่วาจะเป็น การท่องเที่ยว การขนส่งหรือ โลจิสติกส์
  • ประเด็นที่ 5 ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปค เห็นพ้องที่จะผลักดันและเปิดโอกาสให้สตรี MSMEs และกลุ่มเปราะบางได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัล
  • ประเด็นที่ 6 ที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปค เห็นพ้องในการสนับสนุนความยั่งยืนทั้งด้านสินค้าและบริการ สนับสนุนทั้งการผลิต การแปรรูป การตลาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ในภาพรวมที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคและผู้เข้าประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ ได้หารือในหัวข้อการประชุมปีนี้ Open. Connect. Balance รวมทั้งได้ให้แนวทางการทำงานในอนาคต และหารือถึงเส้นทางอนาคตของเอเปค ซึ่งผลการประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปคจะได้นำเสนอต่อที่ประชุมระดับผู้นำต่อไป

    ที่ประชุมยังได้รับฟังข้อเสนอแนะจากเลขาธิการ WTO ที่ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก และเลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) ผ่านการบันทึกเทป ที่ได้ร่วมแสดงความเห็นที่มีประโยชน์ ทั้งแนวโน้มการค้าโลก อนามัยโลก และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

    การหารือในวันนี้เน้นที่การขับเคลื่อนเอเปคในประเด็นสำคัญ คือ การส่งเสริมการค้า การลงทุน การเปิดกว้าง การเชื่อมโยงภูมิภาคเอเปคในทุกมิติอีกครั้ง และเดินหน้าอย่างสมดุลเพื่อบรรลุการเติบโตที่ยั่งยืน รวมทั้งเขตเศรษฐกิจเอเปคยังได้หารือเกี่ยวกับ การจัดการกับความท้าทายในปัจจุบัน ทั้งความมั่นคงด้านอาหาร ด้านความมั่นคงด้านพลังงาน เงินเฟ้อสูง การชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน ในขณะที่ขับเคลื่อนเอชียแปซิฟิกให้เติบโตอย่างยั่งยืนและทั่วถึง

    นอกจากนี้ยังได้หารือการขับเคลื่อนตามแนวทางได้กำหนดไว้ในเอเปคปุตราจายา 2040 (APEC Putrajaya Vision 2040) และแผนปฏิบัติการ Aotearoa

    สำหรับการหารือในหัวข้อ Connect และ Balanced นั้น มุ่งในประเด็น การเชื่อมโยงภูมิภาคเอเปคในทุกมิติอีกครั้ง(reconnect) ได้มีการแลกเปลี่ยนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการระบาดของโควิด-19 การตอกย้ำความร่วมมือในระดับนโยบาย เพื่อให้ประชาชนเดินทางข้ามพรมแดนระหว่างกันได้อย่างปลอดภัยไร้รอยต่อทั่วทั้งภูมิภาค และการเตรียมการด้านอาหารรับมือกับวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

    ที่ประชุมได้มีการรับรองความริเริ่มหลายด้าน ดังเห็นจากการใช้ วัคซีนพาสปอร์ต(vaccine certificate) และการจัดทำฐานข้อมูลเอเปค (APEC Portal) เพื่อรวบรวมข้อมูลมาตรการการเดินทางข้ามแดน อันเป็นผลจากการที่ไทยได้จัดการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจในเดือนมกราคมเพื่ออำนวยความสะดวกรื้อฟื้นการเดินทางข้ามพรมแดนในภูมิภาคอย่างปลอดภัยไร้รอยต่อ (APEC Safe Passage Taskforce) เพื่อหาแนวทางการส่งเสริมการเดินทางข้ามพรมแดนอย่างปลอดภัยไร้รอยต่อ (Safe Passage) ซึ่งงานด้านนี้ยังดำเนินการต่อเนื่องเพื่อความสามารถในการรับมือระยะยาว และมีเป้าหมายที่จะขยายขอบเขตของบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card: ABTC) ให้ครอบคลุมกลุ่มธุรกิจที่หลากหลายขึ้น เพื่อสนับสนุนการเดินระหว่างเขตเศรษฐกิจในระยะยาว และเปิดโอกาสให้กับธุรกิจ MSMEs

    การเชื่อมโยงภูมิภาคในทุกมิติยังเน้นไปที่ การขับเคลื่อนกิจกรรมทางดิจิทัล ซึ่งมีความสำคัญ ต่อการก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ที่มีโอกาสอันมหาศาล นอกจากนี้ยังเน้นไปที่การเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นดิจิทัล การเปิดให้ MSMEs มีส่วนร่วมมากขึ้นในเศรษฐกิจดิจิทัล และอี-คอมเมิร์ซ

    สำหรับด้านความสมดุล เน้นไปที่การเติบโตอย่างทั่วถึง ผ่านโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG) ที่ใช้เป็นกรอบแนวคิด เพื่อเร่งการก้าวสู่การเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคต

    โมเดล BCG เป็นแนวคิดที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่หลายประเทศแสวงหาความมั่นคงด้านพลังงาน และหันไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ที่ประชุมยังหารือเกี่ยวกับราคาอาหารสูงขึ้น เพื่อหาแนวทางรับมือกับวิกฤติอาหาร ส่งเสริมระบบเกษตรอาหารให้มีความสามารถในการปรับตัว

    ผลงานที่โดดเด่นของการประชุมครั้งนี้ คือ การที่รัฐมนตรีเอเปคเห็นชอบร่วมกันให้เสนอร่างเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ให้ที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปครับรอง ซึ่งจะเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการทำงานเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในเอเปคอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ถือเป็นความสำเร็จที่จะเป็นภาพจำสำคัญที่สุดของการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในครั้งนี้ นอกจากนี้ ไทยยังได้จัดตั้งรางวัล BCG เพื่อมอบให้แก่บุคคลและหน่วยงานที่นำแนวคิด BCG มาใช้ในการดำเนินชีวิตและประกอบธุรกิจ