ตลาดหลักทรัพย์ฯ จับมือเครือข่ายการศึกษาทั่วไปแห่งประเทศไทย (Thai GE Network) สร้างผู้ประกอบการทางสังคม ผ่านมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเป็นครั้งแรก
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายการศึกษาทั่วไปแห่งประเทศไทย (Thai GE Network) ร่วมผลักดันวิชา “ผู้ประกอบการทางสังคม” ให้เป็นหมวดวิชาศึกษาทั่วไปในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ในปีการศึกษา 2566 ภายใต้โครงการสร้างผู้ประกอบการทางสังคมในระดับอุดมศึกษา Social Enterprise (SE) @General Education (GE) เพื่อปูพื้นฐานการเป็นผู้ประกอบการทางสังคมให้นักศึกษา ปลูกฝังความเข้าใจในคุณค่าของความยั่งยืน สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงในอนาคต สอดรับกับกระทรวงอุดมศึกษาที่เปิดให้เอกชนร่วมมหาวิทยาลัยพัฒนาหลักสูตร สร้างคลังหน่วยกิตแห่งชาติเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
ดร. ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวในการแถลงข่าววันที่ 3 ตุลาคม 2565 ว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งพัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ภายใต้วิสัยทัศน์ “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” โดยในมิติของการพัฒนาและดูแลสังคม ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทางการเงินสำหรับคนไทยทุกกลุ่ม ควบคู่ไปกับการพัฒนาความรู้และศักยภาพผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก ไม่ว่าจะเป็น startup SME รวมถึงผู้ประกอบการทางสังคมหรือ social enterprise สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ SDG4: Quality Education เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาที่มีคุณภาพ
โดยในปี 2564 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับเครือข่ายการศึกษาทั่วไปแห่งประเทศไทย (Thai GE Network) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนภาคสังคม ร่วมยกร่างวิชา “ผู้ประกอบการทางสังคม” บรรจุให้เป็นหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (General Education) ในระดับอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อขยายองค์ความรู้ด้านการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมให้กับคนรุ่นใหม่ในระบบการเรียนรู้ สร้างจุดตั้งต้นความคิดในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปลูกฝังทัศนคติให้ความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นรากฐานของการประกอบธุรกิจ สร้างศักยภาพการเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงแห่งอนาคต
ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในโลกที่มีการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษาไม่สามารถจำกัดอยู่แค่ช่วงวัยใดวัยหนึ่ง หากต้องมีการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพราะนั้นการศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญในระดับโลก โดยสหประชาชาติได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Quality Education เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาที่มีคุณภาพและการพัฒนาคล นำไปสู่การลดปัญหาความยากขน ความอดยาก สุขภาวะที่ดี เพื่อพัฒนาด้านการศึกษา
การเปิดหลักสูตรวิชา “ผู้ประกอบการทางสังคม” หรือ Social Enterprise (Se101) บรรจุให้เป็นหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (General Education) ในระดับอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อขยายองค์ความรู้ด้านการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมให้กับคนรุ่นใหม่ในระบบการเรียนรู้ สร้างจุดตั้งต้นความคิดในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปลูกฝังทัศนคติให้ความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นรากฐานของการประกอบธุรกิจ สร้างศักยภาพการเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงแห่งอนาคต
ดร. จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประธานเครือข่ายการศึกษาทั่วไปแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วิชา “ผู้ประกอบการทางสังคม” ถือเป็นอีกหนึ่งวิชาสำคัญของการพัฒนาสมรรถนะเยาวชนคนรุ่นใหม่ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งตรงกับคุณลักษณะของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ที่ส่งเสริมด้านความรู้ ทักษะ เจตคติ และจริยธรรม เนื้อหาวิชาจัดทำเป็น 2 หน่วยกิต 15 สัปดาห์ เน้นการเรียนการสอนแบบ active learning ประกอบด้วยหัวข้อหลักได้แก่ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับความยั่งยืน ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคม การออกแบบโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม การวัดผลลัพธ์ทางสังคมเบื้องต้น และการสร้างแผนธุรกิจเบื้องต้น โดยวิชาผู้ประกอบการเพื่อสังคมจะนำไปเป็นรายวิชาต้นแบบในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปให้กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศได้นำไปใช้หรือปรับใช้ให้เข้ากับอัตลักษณ์ของแต่ละมหาวิทยาลัย ในปีการศึกษา 2566 ต่อไป
จุดประกายธุรกิจเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม
ในวันเดียวกันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ยังได้จัดเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นต่อการสร้างผู้ประกอบการทางสังคม โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์พิสุทธ์ พวงนาค คณะกรรมการเครือข่ายการศึกษาทั่วประเทศแห่งประเทศไทย (Thai GE Network) กล่าวว่า อยากให้มหาวิทยาลัยนำ หลักสูตร “ผู้ประกอบการทางสังคม”เข้าไปใช้ในมหาวิทยาลัยเนื่องจากเห็นว่าเป็นหนึ่งวิชาสำคัญของการพัฒนาสมรรถนะเยาวชนคนรุ่นใหม่ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งตรงกับคุณลักษณะของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ที่ส่งเสริมด้านความรู้ ทักษะ เจตคติ และจริยธรรม เนื้อหาวิชาจัดทำเป็น 2 หน่วยกิต 15 สัปดาห์
เน้นการเรียนการสอนแบบ active learning ประกอบด้วยหัวข้อหลักได้แก่ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับความยั่งยืน ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคม การออกแบบโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม การวัดผลลัพธ์ทางสังคมเบื้องต้น และการสร้างแผนธุรกิจเบื้องต้น โดยวิชาผู้ประกอบการเพื่อสังคมจะนำไปเป็นรายวิชาต้นแบบในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปให้กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศได้นำไปใช้หรือปรับใช้ให้เข้ากับอัตลักษณ์ของแต่ละมหาวิทยาลัย ในปีการศึกษา 2566 ต่อไป
ด้านนางสาวนพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลักสูตร SE101 แม้จะมีแค่ 2 หน่วยกิต และมีหลักการเรียนรู้ 5 บทหลัก แต่ถือเป็นการจุดประกายให้เกิดการทำธุรกิจเพื่อสังคม และเป็นจุดเริ่มต้นในการเป็นเครื่องมือทางธุรกิจและเป็นโมเดลในการเปลี่ยนแปลงสังคมในอนาคต
ภายใต้ความร่วมมือนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จัดทำคู่มือและสื่อประกอบการสอนในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้มหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชนนำไปปรับใช้และถ่ายทอดความรู้ต่อ รวมทั้งจัดอบรมเนื้อหาวิชาและเทคนิคการถ่ายทอดที่เน้นการสอนแบบลงมือปฏิบัติ ให้นักศึกษาได้คิดและนำเสนอในรูปแบบกลุ่มหรือ Team base teaching แก่อาจารย์ เพื่อนำความรู้ไปถ่ายทอดต่อ ในโครงการ Train the Trainer เป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายนนี้ด้วย โดยมีแผนร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเดินสายให้การส่งเสริมการออกแบบหลักสูตร และเรียนรู้เนื้อหาที่เกี่ยวข้องตลอดปี 2566
อุดมศึกษา ปฏิรูปเพื่อเรียนรู้ตลอดชีวิต
ศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษา ระดับอุดมศึกษาตลอดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ได้ดำเนินการ 3 ประเด็น เพื่อการขับเคลื่อนการศึกษาไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เนื่องจากมหาวิทยาลัยในอนาคตไม่ใช่สำหรับคนอายุ 18-22 ปี หรือระดับปริญญาตรี อีกต่อไป แต่มหาวิทยาลัยต้องสนับสนุนการเรียนรู้ของคนทุกคนทุกช่วงวัยให้สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ในระดับมหาวิทยาลัยได้
เพื่อสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต กระทรวงอุดมศึกษาได้เริ่มปฏิรูปใน 3 เรื่องคือ การปรับเกณฑ์หลักสูตรผลิตกำลังคน เพื่อตอบโจทย์ประเทศ โดยกำหนดให้การพัฒนาหลักสูตรไม่ใช่เรื่องของมหาวิทยาลัยอย่างเดียว แต่ต้องมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและชุมชนด้วย
ดังนั้น เกณฑ์ในการพัฒนาหลักสูตรปี 2565 ที่ประกาศใช้ เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2565 โดยให้การพัฒนาหลักสูตรเป็นการสร้างร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัย เอกชน ชุมชน พร้อมทั้งเป็นการพัฒนาคนที่ต้องตอบโจทย์ความต้องการและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกและเทคโนโลยี
เกณฑ์หลักสูตร ปี 2565 ได้ให้อำนาจสภามหาวิทยาลัยกำหนดองค์กรร่วมผลิต กับมหาวิทยาลัย โดยหากสภามหาวิทยาลัยเห็นว่าจะให้องค์กรนี้ร่วมผลิตหลักสูตร บุคลกรขององค์กรดังกล่าวสามารถที่จะเข้ามาร่วมในมหาวิทยาลัยได้ เช่น วิชา SE101 หรือ Social enterprise หากมหาวิทยาลัยนำไปสอน สามารถใช้บุคลากรจากตลาดหลักทรัพย์ เข้าไปเป็นอาจารย์ประจำได้ ทำให้คนนอกมหาวิทยาลัยเข้าไปในมหาวิทยาลัยได้และเกิดการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆร่วมกัน
นอกจากนี้ กระทรวงอุดมศึกษาได้การสร้าง “Sandbox” ทางการศึกษา เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างเร่งด่วน โดยเริ่มให้ภาคเอกชนภาคอุตสาหกรรมหรือสถาบันอุดมศึกษาร่วมมือกันพัฒนาหลักสูตรแบบนอกกรอบอย่างเร่งด่วน นำไปสู่การใช้งานจริงสนองนโยบายของประเทศโดยตรง เช่นหลักสูตร AI หลักสูตรการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งภาคเอกชนได้เข้ามาร่วมพัฒนาหลักสูตร
ศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย กล่าวด้วยว่า เกณฑ์หลักสูตรใหม่จะไม่มีการกำหนดเวลาเช่น 2 ปี 4 ปี แต่สามารถกำหนดเวลาตามที่สภามหาวิทยาลัยกำหนดได้
คลังหน่วยกิตแห่งชาติ เพื่อเรียนรู้ตลอดชีวิต
นอกจากนี้ยังได้ พัฒนาระบบที่เรียกว่า “คลังหน่วยกิตแห่งชาติ” ซึ่งเริ่มประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมา โดยคลังหน่วยกิตแห่งชาติเพื่อเป็นนวัตกรรมการศึกษาที่สร้างสังคมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมหาวิทยาลัยไทยต้องเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต ของคนทุกช่วงวัย
“คลังหน่วยกิตแห่งชาติ คือ ทุกวิชาในมหาวิทยาลัย สามารถเรียนเป็นคลังหน่วยกิตได้ และใครก็สามารถเข้ามาเรียนในระบบทุกช่วงวัย ตัวอย่างเช่น เด็กม.3 อยากเรียนวิชาการเขียนโปรแกรม โดยไปเลือกเรียนในมหาวิทยาลัยและสามารถสะสมเป็นคลังหน่วยกิตเอาไว้ได้”
ศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย บอกว่า หลังจากประกาศกระทรวงอุดมศึกษาบังคับใช้แล้ว มหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องสร้างระบบคลังหน่วยกิต เพื่อให้คนทุกช่วงทุกวัยเข้ามาเรียนรู้ได้ สะสมหน่วยกิต โดยสามารถนำเอาหน่วยกิตเหล่านี้ไปขอรับปริญญาได้ตามระเบียบมหาวิทยาลัยนั้น แต่ถ้าไม่ต้องการรับปริญญาสามารถนำเอาหน่วยกิตที่ฝากเอาไว้ไปรับรองเพื่อสมัครงานได้
“ต่อไปอาจจะไม่จำเป็นต้องมีปริญญาตรี หรือ อาจจะไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป แต่หมายถึง ความเชี่ยวชาญ หรือ Skill ของผู้ที่เรียนเป็นคำตอบในการทำงานมากกว่า”
นอกจากนี้ หน่วยกิตที่จะเข้ามาในระบบคลังหน่วยกิต มาจาก 3 แห่งคือ 1. หน่วยกิตมาจากมหาวิทยาลัย หรือ หลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงอุดมศึกษา 2. มาจาก Training provider เช่น หลักสูตรจากตลาดหลักทรัพย์ แล้วหลักสูตรนั้นได้รับการรับรองจากกระทรวงอดุมศึกษา สามารถสะสมเป็นหน่วยกิต เพียงแต่ต้องฝากไว้กับมหาวิทยาลัย 3. ประสบการณ์ทำงาน
เช่นคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมและทำงานเรื่อง ออโตเมชั่น มาตลอดชีวิต สามารถนำมาสะสมเป็นหน่วยกิตได้ แต่ต้องขึ้นกับมหาวิทยาลัย โดย ระบบคลังหน่วยกิต ไม่มีเรื่องเกรด แต่สามารถสะสมเป็นเครดิตได้
ศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย กล่าวว่า การปฏิรูปอุดมศึกษาเพื่อให้สอดรับการความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี นวัตกรรม ที่ในอนาคตการเรียนจะไม่จำกัดอยู่เพียงแค่ช่วงวัยหากต้องเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น