ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > ตลท. ประกาศ SET ESG Ratings 6 พ.ย. นี้ ให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลตัดสินใจลงทุนเพื่อความยั่งยืน

ตลท. ประกาศ SET ESG Ratings 6 พ.ย. นี้ ให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลตัดสินใจลงทุนเพื่อความยั่งยืน

1 พฤศจิกายน 2023


ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองกรรมการผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เมื่อโลกเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น รูปแบบธุรกิจก็เปลี่ยนไป นักลงทุนเองก็เปลี่ยน จากที่มุ่งผลตอบแทนทางการเงิน (financial return) ก็หันมองในมิติความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจึงได้พัฒนา SET ESG Ratings เพื่อช่วยให้นักลงทุนมีข้อมูลสำหรับการตัดสินใจลงทุนในบริษัทที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยจะประกาศผลการประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายนนี้

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและหัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดฯ จะประกาศผลการประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน เพื่อให้นักลงทุนได้มีทางเลือกในการลงทุนเพื่อความยั่งยืนมากขึ้น โดย SET ESG Ratings คือ ผลการประเมินหุ้นยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จัดทำขึ้น โดยประเมินจากข้อมูลผลการดำเนินงานต้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (environmental, social and governance หรือ esg) ของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเดิมคือ THSI (Thailand Sustainability Investment) แต่จากนี้จะเปลี่ยนชื่อเป็น SET ESG Ratings

“ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เปลี่ยนชื่อ ‘หุ้นยั่งยืน THSI’ เป็น ‘หุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings’ พร้อมทั้งประกาศผลการประเมินในรูปแบบ ‘รายชื่อบริษัท จดทะเบียน’ และ ‘ระดับ SET ESG Ratings’ เป็นปีแรก ซึ่งต่างจากเดิมที่ประกาศผลเป็นรายชื่อบริษัท จดทะเบียนเท่านั้น”

นายศรพลกล่าวว่า นอกจากการเปลี่ยนชื่อแล้ว ตลท. ยังยกระดับการให้ข้อมูลนักลงทุนเพิ่มขึ้น โดยจะมีการประกาศ ESG Ratings แบ่งเป็น 4 ระดับ คือ BBB, A, AA, AAA ตามผลคะแนนรวมจากการประเมิน

    โดยคะแนนรวมช่วง 90-100 จะจัดเป็น SET ESG Ratings ในระดับ AAA
    คะแนนรวมช่วง 80-89 จะจัดเป็น SET ESG Ratings ในระดับ AA
    คะแนนรวมช่วง 65-79 จะจัดเป็น SET ESG Ratings ในระดับ A
    คะแนนรวมช่วง 50-64 จะจัดเป็น SET ESG Ratings ในระดับ BBB

ทั้งนี้ ใน SET ESG Ratings จะมีปีกำกับไว้ด้วย เนื่องจากเป็นการประเมินรายปี

ตลท. จะติดตาม บจ. ที่ได้รับการประกาศผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ตลอดกระบวนการ หากบริษัทจดทะเบียนมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามเกณฑ์ด้านคุณสมบัติ จะตัดชื่อบริษัทออกจากผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings โดยกระบวนการคัดเลือก SET ESG Ratings จะเป็นกระบวนการเดียวกันกับ THIS คือ เปิดให้ บจ. ที่สมัครใจเข้าร่วมตอบแบบประเมินความยั่งยืน ต้องเป็นหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่น้อยกว่า 6 เดือน มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท มีสัดส่วนผู้ถือหลักทรัพย์รายย่อย (free-float) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 มีจำนวนหุ้นซื้อขายไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.5 ของจำนวนหุ้นจดทะเบียนของบริษัท เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 9 ใน 12 เดือน

ขณะที่บริษัทที่จะได้รับการประกาศผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ต้องผ่านเกณฑ์ 2 ด้าน คือ
1) ต้องมีคะแนนจากการตอบแบบประเมินตั้งแต่ 50% ของคะแนนเต็มในแต่ละมิติเศรษฐกิจและบรรษัทภิบาล สิ่งแวดล้อม และสังคม โดยมีการถ่วงน้ำหนักของคะแนนตามประเด็นที่เป็นสาระสำคัญตามกลุ่มอุตสาหกรรม (industry weightings) ในแต่ละมิติ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะถูกคำนวณน้ำหนักเพิ่มขึ้นในหมวดที่เกี่ยวข้องกับมิติสิ่งแวดล้อม

2) เกณฑ์ด้านคุณสมบัติ ต้องผ่านคุณสมบัติอื่นๆ เช่น ผลการประเมินคุณภาพการรายงานด้านบรรษัทภิบาล (corporate governance reporting หรือ CGR) ผลประกอบการด้านกำไรสุทธิและส่วนของผู้ถือหุ้น ผลการกำกับดูแลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของบริษัทจดทะเบียน การไม่ถูกลงโทษในประเด็นด้าน ESG การเป็นหลักทรัพย์ที่ไม่ถูกขึ้นเครื่องหมาย C เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ลงทุนสามารถดูผลประเมิน SET ESG Ratings ได้ที่

ได้ตั้งแต่ 6 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้นำรายชื่อบริษัทที่มีผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings มาใช้ในการจัดทำ SETESG Index โดยได้เปลี่ยนชื่อ “SETTHSI Index” เป็น “SETESG Index” (ตามการเปลี่ยนแปลงจาก “THSI” เป็น “SET ESG ratings”) ซึ่งจะเริ่มใช้ชื่อ SETESG Index บนเว็บไซต์ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน เช่นกัน โดยที่การจัดทำดัชนีความยั่งยืน SETESG Index ก็ยังคงใช้หลักการเดียวกับ SETTHSI Index คือ

SET ESG Ratings เป็นผลการประเมินหุ้นยั่งยืนที่แสดงข้อมูลในรูปแบบรายชื่อบริษัทและระดับ ratings ขณะที่ SETESG Index เป็นดัชนีที่สะท้อนการเคลื่อนไหวราคาของกลุ่มหลักทรัพย์ของบริษัทที่มีผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ซึ่งมีขนาดและสภาพคล่องผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนด

นายศรพลกล่าวว่า สำหรับ บจ. สามารถขอรับการประเมิน และนำแบบประเมินความยั่งยืนใปใช้เป็นเครื่องมือสำหรับปรับปรุงและพัฒนาการดำเนินธุรกิจให้ครอบคลุมประเด็นด้าน ESG เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงในกระบวนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และให้ได้รับผลคะแนนและเพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางปรับปรุงการบริหารจัดการธุรกิจให้ตอบสนองต่อประเด็นด้าน ESG ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเปรียบเทียบคะแนนประเมินผลการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัทเองกับ บจ. อื่น ช่วยสร้างโอกาสให้บริษัทเป็นที่สนใจจากผู้ลงทุนที่มีแนวคิดด้านการลงทุนอย่างยั่งยืน (sustainable investment) ทำให้สามารถเข้าถึงเงินทุนได้มากขึ้น นอกจากนี้ ทำให้บริษัททราบว่าปัจจุบันการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัทอยู่ในระดับใด สามารถตั้งเป้าหมายในการพัฒนาการดำเนินงานไปสู่ในระดับที่สูงขึ้นได้ ที่ผ่านมามีบางบริษัทที่เคยมารับการประเมินปีแรกไม่ผ่าน แต่ปีต่อไปสามารถทำได้ดีขึ้นจนผ่านเกณฑ์ ถือเป็นการยกระดับ

ขณะที่ ผู้ลงทุนและนักวิเคราะห์ สามารถใช้ SET ESG Ratings เป็นข้อมูลเบื้องต้นเปรียบเทียบการดำเนินงานด้าน ESG ของแต่ละบริษัท รวมถึงใช้ในการประกอบการวิเคราะห์ ประเมินมูลค่าหุ้นเพื่อประกอบการลงทุน เป็นข้อมูลเบื้องต้นเพื่อการพัฒนา investment products หรือใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการติดตามและสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมให้บริษัทคำนึงถึง ESG

SET ESG Ratings จะช่วยให้ผู้ลงทุนจะมีข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ฯ เปลี่ยนแปลงจากการประกาศเพียงรายชื่อบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในหุ้นยั่งยืน เป็นการประกาศรายชื่อบริษัทจดทะเบียนพร้อมระดับ SET ESG Ratings

กระบวนการประเมินหุ้นยั่งยืนของตลาดหลักทรัพย์เริ่มขึ้นในเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม และประกาศผลรายชื่อหุ้นยั่งยืน THSI ในเดือนตุลาคมของทุกปี

อย่างไรก็ตาม นายศรพลกล่าวว่า “SET ESG Ratings เป็นการประเมินผลการดำเนินงานด้าน ESG เท่านั้น และนำมาจัดระดับ rating ตามคะแนนรวมของบริษัท ไม่ใช่การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้น ผู้ลงทุนที่ต้องการใช้งาน SET ESG Ratings ยังต้องพิจารณาข้อมูลด้านการเงินและข้อมูลอื่นๆ ประกอบการตัดสินใจลงทุนด้วยทุกครั้ง”

นายศรพลกล่าวว่า ปัจจุบันเรื่องความยั่งยืนกำลังเป็นกระแสหลักของโลก รวมทั้ง ตลท. ต้องการให้เรื่องของความยั่งยืนซึมซับเข้าไปในการปฏิบัติงานของทุกคนในตลาดทุน จึงมี 4 เรื่องสำคัญที่อยากจะชวนให้ตระหนักและรับรู้ คือ

เรื่องแรก การพัฒนาการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน (sustainable business) ไม่ว่าบริษัทจะจัดทำแผน มีการดำเนินงาน ให้คำนึงถึงสิ่งที่มากกว่ากำไร คือ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมทั้งบุคลากรภายในองค์กร และบุคลากรที่อยู่นอกองค์กรด้วย เช่น ชุมชน ภาพรวมของประเทศ สิ่งที่ตลท.ทำคือการให้ความรู้ ให้ไกด์ไลน์

เรื่องที่สอง การทำให้เกิดการลงทุนในบริษัทที่ยั่งยืน (sustainable investment) ตลท. ในฐานะคนกลางระหว่างบริษัทกับนักลงทุน ถ้าบริษัททำอะไรที่ยั่งยืนแล้ว ก็อยากให้ผู้ลงทุนให้ความสำคัญ ให้ความสนใจ ให้รางวัล ซึ่งต้องส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความตระหนักรู้ หรือให้นักลงทุนสามารถพินิจพิเคราะห์ว่า ความยั่งยืนที่บริษัททำมีผลหรือสามารถสะท้อนกลับเข้าสู่ bottom line ของบริษัท กับสังคม สิ่งแวดล้อม อย่างไร รวมถึงพยายามทำให้กองทุน หรือนักลงทุนสถาบัน สามารถผนวกเรื่องความยั่งยืนเข้าไปสู่กระบวนการการตัดสินใจการลงทุน ฉะนั้น การที่กลุ่มนักลงทุนจะให้ความสำคัญกับความยั่งยืน จึงเป็นคีย์สำคัญให้บริษัทก็มีกำลังใจจะทำ

เรื่องที่สาม คือโครงสร้างพื้นฐานด้านความยั่งยืน ซึ่งมีหลายอย่าง แต่หลักๆ ที่จะโฟกัส คือโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล ทั้งการมีข้อมูลที่ถูกต้องว่า บริษัทได้ดำเนินการเรื่องต่างๆ ไปถึงไหน อย่างไร ผลกระทบขนาดไหน การมีข้อมูลที่เชื่อถือได้ ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลที่ทันสถานการณ์ เป็นสิ่งจำเป็นมาก ตลท. จึงเน้นการสร้างฐานข้อมูล โดยมีการให้บริการระบบ ESG Data Platform ตั้งแต่ปี 2565

เรื่องที่สี่ คือ คน เพราะไม่ว่าจะมีข้อมูลดีอย่างไร ถ้าไม่มีคนที่เข้าประชุมแล้วถามได้ถูกต้องกับบริษัทที่เข้าประชุม หรือคนที่ใส่ใจให้ความสนใจกับรายละเอียดในเรื่องเหล่านี้จริงๆ ก็ไม่มีความหมายอะไร ตลท. จึงพยายามสร้างความตระหนักรู้ แล้วทำให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นจริง โดยโครงการหนึ่งที่สำคัญที่เชื่อมธุรกิจยั่งยืนกับการลงทุนที่ยั่งยืน คือ SET ESG Ratings เป็นส่วนต่อยอดจากการมีข้อมูล โดยนำข้อมูลมาประมวลทำ rating

นายศรพลกล่าวว่า สำหรับบริษัท การที่ต้องนำเรื่องความยั่งยืนมาบูรณาการเข้ากับการทำงาน เพราะโลกเปลี่ยนไป มีการพูดถึงหลายประเด็นที่เกี่ยวกับความยั่งยืนมากขึ้น ประเด็นที่เคยเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหรือบริษัทเลย กลับกลายเป็น 10 อันดับแรกที่ส่งผลประทบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง climate change ปัจจุบันการประชุมในฟอรัมใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น World Economic Forum หรืออื่นๆ จะพบว่า climate change อยู่ในหัวข้อแรกๆ ตลอด ทั้งเรื่องผลกระทบต่อภูมิอากาศ การทำมาหากิน รวมถึง business model ที่ได้รับผลกระทบหมด นอกจากนี้ยังมีเรื่อง biodiversity หรือความหลากหลายทางชีวภาพ เรื่องสิทธิมนุษยชน (human right) ที่สังคมการลงทุนเริ่มพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึง geopolitics ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่พูดถึงมากขึ้น

“ขณะเดียวกัน การที่โลกเปลี่ยน นักลงทุนก็เปลี่ยน ในฐานะนักลงทุนต้องหา financial return แต่เริ่มเห็นกระแสที่นักลงทุนเริ่มมองในมิติอื่นๆ นอกเหนือจาก financial return เริ่มมองเรื่องความยั่งยืน และความยั่งยืนเป็นเรื่องการบริหารความเสี่ยงด้วย เพราะบริษัทที่ทำเรื่องความยั่งยืน มีโอกาสที่จะประสบปัญหา มิติความเสี่ยงต่างๆ ลดลง เช่น ความเสี่ยงเรื่องการใช้แรงงานอย่างไม่ถูกต้อง ความเสี่ยงที่ผลิตภัณฑ์ถูกแบนเนื่องจากไม่มีมาตรฐานเรื่องสิ่งแวดล้อม ถ้าบริษัททำเรื่องความยั่งยืน เหมือนเป็น checklist ที่ทำให้นักลงทุนสบายใจได้ระดับหนึ่งว่า อย่างน้อยมีความตระหนักรู้ และสามารถติดตามว่าได้มีการดำเนินการมากน้อยเพียงไร ทำให้การติดตามได้ง่ายขึ้น”

นอกจากโลกเปลี่ยน ผู้ลงทุนเปลี่ยน หน่วยงานกำกับดูแล (regulator) ก็เปลี่ยน ปัจจุบันหน่วยงานกำกับดูแลทั้งโลกได้นำเรื่องความยั่งยืนมาใช้ไม่มากก็น้อย เห็นได้จากหลายประเทศให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความยั่งยืน สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ก็ได้มีการปรับแบบรายงาน 56-1 มีคำถามเรื่องความยั่งยืน เช่น เปิดเผยปริมาณการปล่อยคาร์บอน ในบางประเทศเริ่มมีการให้รายงานความเสี่ยง เช่น เปิดเผยข้อมูลความเสี่ยงทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-related Financial Disclosures : TCFD) เห็นได้ว่าสถาบันการเงินมีการพูดถึงเรื่องนี้มากขึ้น และยังมีมาตรฐานอื่นๆ มากขึ้น ทำให้ต้องมีการทำรายงาน มีข้อบังคับมากขึ้น

“ประเด็นเหล่านี้ ตลท. จะอำนวยความสะดวกได้อย่างไร ทำอย่างไรให้สิ่งที่บริษัทต้องทำเพิ่มเติมจะนำไปสู่ประโยชน์ที่นักลงทุนเห็นแล้วลงทุน ขณะที่ data ที่แม้จะมีมาก แต่ถ้าไม่มีทักษะความชำนาญในการวิเคราะห์ก็ไม่มีประโยชน์ จะทำอย่างไรให้สามารถนำ data ที่มากขึ้นไปใช้ได้ และมีการวิเคราะห์ให้เป็นผลมากขึ้น”

นายศรพล กล่าวว่า การที่ตลท. พูดเกี่ยวกับ sustainable business เพื่อให้บริษัทเกิดการเปลี่ยนมุมมองแบบเดิมที่กำไรต้องมาก่อน ถ้ามีส่วนเกินก็มาทำเรื่องสังคม สิ่งแวดล้อม แต่บริษัทในยุคสมัยใหม่ต้องมอง 3 เรื่อง (tripple bottom line) คือ profit, people และ planet ต้องดำเนินงานโดยคิดไปพร้อมกันทั้งสามเรื่อง

มีตัวอย่างของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่งใน ตลท. เช่น บริษัท TFMAMA ที่มีวิสัยทัศน์ที่จะนำเรื่องความยั่งยืนเข้าไปอยู่ในกระบวนการของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผลิตภัณฑ์ หรือกระบวนการต่างๆ อย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาจจะคิดไม่ออกว่าเกี่ยวกับความยั่งยืนอย่างไร แต่ถ้ามองไปลึกๆ จะมีเรื่องแพคเกจจิ้งที่ใช้พลาสติกน้อยลงได้หรือไม่ ทำอาหารที่มีโซเดียมต่ำได้หรือไม่ เพราะคนเริ่มพูดกันมากเกี่ยวกับเรื่องโซเดียมกับสุขภาพ หรือทำอาหารที่มีไฟเบอร์สูงได้หรือไม่ จะเห็นว่า TFMAMA ไม่ได้เน้นการขายของอย่างเดียว แต่ใส่ใจในสิ่งที่ผู้บริโภคได้รับด้วย เบื้องต้น จึงต้องไปดูว่า ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีมิติเรื่องพวกนี้อย่างไร อย่างเรื่องสิ่งแวดล้อมบริษัทฯ ก็มีเป้าลดการใช้พลังงาน เวลาส่งรายงานมาให้ ตลท. ประเมินก็จะมีข้อมูลพวกนี้ เช่น ลดการใช้ไฟฟ้ากี่เปอร์เซ็นต์ หรือลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่าไหร่ หรือเรื่องสังคม เช่น ความพึงพอใจของพนักงาน หรือคนในองค์กร ส่วนคนนอกองค์กรก็คือ สิทธิมนุษยชนทั้งหลาย บรรษัทภิบาล เรื่องทุจริต คอร์รัปชัน เรื่องคู่ค้าในท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้น อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ บริษัท S & J ผู้ผลิตเครื่องสำอางทุกประเภท ความยั่งยืนในเรื่องผลิตภัณฑ์ ก็จะเห็นการใช้ผลิตภัณฑ์จากแหล่งธรรมชาติมากขึ้น ใช้ coral safe มากขึ้น ใช้น้ำมันปาล์มที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ หรือใช้น้ำน้อยลง แพคเกจจิ้งก็เป็นรีไซเคิลมากขึ้น หรือตั้งเป้า net zero ที่สอดคล้องหรือเร็วกว่าประเทศ นี่เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้นเทียบกับอีกหลายร้อยบริษัทใน ตลท.

ในด้านนักลงทุน ตลท. พบว่า การลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนมีหลายความเข้มข้น มีตั้งแต่ conventional investment คือ ลงทุนเพื่อผลตอบแทนอย่างเดียว ที่เป็นแนวคิดแบบเดิม แต่อีกขั้วหนึ่ง เป็นการลงทุนที่เรียกว่า philanthropy investment คือไม่ได้ลงทุน แต่ลงเงินให้บริษัทไปทำ โดยไม่ได้หวังผลตอบแทนอะไร แต่สิ่งที่ตลท.พูดถึงคือ การลงทุนที่อยู่ตรงกลาง มีการพูดคุยกับนักลงทุนหลายประเทศที่บอกว่า จะไม่ลงทุนใน sector นั้น sector นี้ เขียนชัดเลย เป็นนโยบาย หรือบางแห่งเอาข้อมูลเรื่อง ESG มาใช้ในการตัดสินใจลงทุน

การมีข้อมูล ESG Ratings จึงอาจจะเข้ามาช่วยเป็นข้อมูลเสริมได้ จากเดิมที่ดูข้อมูลด้านการเงินแล้ว ตอนนี้มีข้อมูลด้าน ESG Ratings มาเสริมเพิ่ม ทำให้นักลงทุนมองภาพที่มากกว่าผลตอบแทนมากขึ้น หรืออาจจะเน้นลงทุนแบบ positive screening คือลงทุนในบริษัทที่ยอดเยี่ยมมากเรื่อง gender บริษัทที่ยอดเยี่ยมมากเรื่อง carbon neutral เป็นต้น หรือจะเป็น thematic investment หลายกองทุนช่วงหลังไม่ใช่กองทุนยั่งยืนอีกแล้ว เป็นกองทุน blue economy คือเน้นบริษัทที่ทำให้ท้องทะเลใสสะอาดขึ้น หรือลงทุนที่ส่งผลต่อโครงการแบบเฉพาะเจาะจง เช่น ในอังกฤษที่ลงทุนบริษัทที่จ้างคนที่ออกจากคุก แล้ววัดผลเลยว่า คนเหล่านี้ไม่กลับไปติดคุกอีก ฉะนั้น sustainable investment จึงเป็นสเปคตรัมหนึ่งที่อยู่ตรงกลาง แต่ไม่ว่าจะลงทุนแบบใดต้องใช้ข้อมูลหมด

ทั้งนี้ ถ้าเปรียบเทียบปี 2012 กับปัจจุบัน พบว่า กองทุนทั่วโลกที่อยู่ใน PRI Signatory ของสหประชาชาติ หรือการลงทุนที่มีความรับผิดชอบมีจำนวนสูงขึ้น 5 เท่า มูลค่าจากเดิม 30 ล้านล้านดอลลาร์ ตอนนี้สูงขึ้น 4 เท่า เป็น 120 ล้านล้านดอลลาร์ เทียบกับจีดีพีไทยที่ 4.5 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1% ของจีดีพีโลก ฉะนั้น 120 ล้านล้านดอลลาร์ใหญ่กว่าจีดีพีโลก

สำหรับ ตลท. ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) 800 บริษัท มีการประเมินโดยสมาคมส่งเสริมกรรมการไทย หรือ IOD จำนวน 706 บริษัท มีคะแนน 3 ดาวขึ้นไป แต่ IOD ปัจจุบันประเมินเฉพาะตัว G (governance) เป็นหลัก โดยบจ. 800 บริษัท อยู่ใน THSI list จำนวน 166 บริษัท ในจำนวนนี้ 144 อยู่ใน SET THSI Index เพราะบางบริษัทมีเรื่องมาร์เก็ตแคป หรือปริมาณการซื้อขาย นอกจากนี้บจ.ไทย 26 แห่ง อยู่ใน Dow Jones Sustainability Index ถือว่าเป็นจำนวนสูงสุดในอาเซียน อีก 42 บริษัทอยู่ใน FTSE 4 Good รวมถึง MSCI ที่ทำเรื่อง ESG โดยไทยมี 41 บริษัท สูงสุดในอาเซียนเช่นกัน ที่น่าภูมิใจ คือ มีบริษัทไทย 12 แห่ง อยู่ใน Sustainability Yearbook ปี 2023 ที่ S&P Global จัดทำ และเป็นจำนวนสูงสุดในโลก สูงกว่าสหรัฐที่มี 11 บริษัท

ขณะที่กองทุนของไทยในปี 2012 มีเพียง 2 กองทุนที่เกี่ยวกับเรื่องของ CG (corporate governance) และ ESG ปัจจุบัน ณ เดือนกันยายน 2013 มีจำนวน 86 กองทุน ขนาดประมาณ 26,000 ล้านบาท และมีศักยภาพที่จะขยายมากขึ้น นอกจากนี้ ไทยยังมี bond 115 รุ่นที่ลงทุนในเรื่องของความยั่งยืน มูลค่า 653,000 ล้านบาท เป็น green bond ประมาณ 64% เป็น social bond จำนวน 12% อีก 21% เป็น sustainability bond และ 18% เป็น sustainability link bond

นอกจากนี้ นักลงทุนกว่า 79% มีการลงทุนในหุ้นยั่งยืน สำหรับไทยมูลค่าการซื้อขายหุ้นยั่งยืนต่อหุ้นทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 40% ถือว่าไม่เลว บริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งเริ่มมีบทวิเคราะห์เฉพาะเกี่ยวกับ บจ. ว่ามีการดำเนินการเพื่อความยั่งยืนอย่างไร ฉะนั้น ต่อไปนักลงทุนจะเห็นบทวิเคราะห์ 2 ฉบับ ฉบับหนึ่ง คือ บทวิเคราะห์ด้านการเงิน ข้อมูลสถิติทางการเงินทั้งหลาย รวมถึงเครดิตเรทติ้งที่ให้เห็นความเสี่ยงทางการเงิน อีกฉบับจะเป็นเรื่องความยั่งยืน มีบทวิเคราะห์ SET ESG Rating ที่มุ่งเฉพาะการดำเนินงานของบริษัทในเรื่องของความยั่งยืนเท่านั้น ถือเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของนักลงทุนที่ ตลท. เสริมให้

นายศรพลกล่าวว่า ที่ผ่านมามีกองทุนที่เกี่ยวกับความยั่งยืนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในและต่างประเทศ การเปิดเผยรายละเอียดมากขึ้น ก็คาดหวังว่านักลงทุนในหรือต่างประเทศตัดสินใจโดยมีรายละเอียดข้อมูลมากขึ้น นอกจากนี้ บริษัทที่กำลังจะเข้าจดทะเบียนใน ตลท. ยังไม่ต้องมาประเมิน ESG Rating ทันที แต่สามารถใช้ ESG เป็นเช็คลิสต์ทำขั้นแรกไปก่อน มีความพร้อมเมื่อไหร่ก็มาขอรับการประเมิน ถ้าพร้อมมากอย่างบริษัทบางแห่งก็อาจเข้าไปสู่ดัชนีของต่างประเทศ ซึ่งตลท.สามารถให้การช่วยเหลือสนับสนุนได้ แต่ยังไม่บังคับ เพราะขึ้นกับความพร้อมของบริษัทด้วย และนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นยั่งยืนมากขึ้น จะเป็นตัวขับเคลื่อน