ThaiPublica > Native Ad > SET Social Business Matching ผนึกพลังธุรกิจ เพื่อสังคมที่ยั่งยืน

SET Social Business Matching ผนึกพลังธุรกิจ เพื่อสังคมที่ยั่งยืน

9 มีนาคม 2022


ธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE)เป็นธุรกิจที่เปลี่ยนโลกให้ดีขึ้น แม้ทำกำไรเช่นเดียวกับธุรกิจแบบดั้งเดิม แต่ SE ต่างจากธุรกิจแบบเดิม ตรงที่นำผลกำไรที่ได้นั้นกลับมาลงทุนในธุรกิจหรือชุมชนในท้องถิ่น ที่มีส่วนสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในเชิงบวก เช่น มีการจ้างงานในชุมชน ช่วยแก้ไขปัญหาสังคม ยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คน เพิ่มโอกาสในการฝึกอบรมและโอกาสในการดำรงชีวิต ตลอดจนดูแลสิ่งแวดล้อม

กิจการเพื่อสังคม คือ กิจการที่มีจุดมุ่งหมายหลักในการแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยใช้กลไกการบริหารจัดการที่ดีของภาคธุรกิจมาบวกกับความรู้และนวัตกรรมสังคม มีความยั่งยืนทางการเงินจากรายได้หลักที่มาจากสินค้าหรือบริการโดยไม่ต้องพึ่งพาเงินบริจาค และมีการนำผลกำไรที่เกิดขึ้นไปลงทุนซ้ำเพื่อขยายผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้น

ธุรกิจเพื่อสังคมมีอยู่ทั่วไป ทั้งในชุมชนของเรา บนถนนสายหลัก ถนนสายรอง สินค้าอุปโภคบริโภคไปจนถึงการดูแลสุขภาพ ตั้งแต่ร้านกาแฟ ร้านอาหาร เกษตรอินทรีย์ ธุรกิจพัฒนาสินค้าจากวัฒนธรรมการผลิตงานหัตถกรรมของชาวเขา ไปจนถึงธุรกิจจัดการขยะ

ในประเทศไทยมีธุรกิจเพื่อสังคมที่จดทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) จำนวน 162 กิจการทั่วประเทศ

ธุรกิจเพื่อสังคมกำลังทำให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นจริง อย่างไรก็ตามธุรกิจเพื่อสังคมจะดำเนินการเพื่อสังคม สิ่งแวดล้อม ได้ดียิ่งขึ้นไปอีกหากมีพันธมิตรที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญทางธุรกิจเข้ามาสนับสนุน และร่วมกันก้าวสู่ความยั่งยืนไปด้วยกัน

SET Social Business Matching Day:พลังธุรกิจแก้ไขปัญหาสังคมอย่างยั่งยืน

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งขับเคลื่อนการพัฒนาความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ได้ขยายผลลัพธ์ทางสังคมให้ทวีคูณผ่านการทำหน้าที่ขยายเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจ ด้วยการจับมือพันธมิตร สมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย จัดงาน Social Business Matching Day : The Impact Opportunity#1 ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเชื่อมโยงภาคธุรกิจที่มีประสบการณ์กับผู้ประกอบการทางสังคม ได้ขยายร่วมมือทางธุรกิจ (Business Co-Creation ) ที่นำไปสู่การพัฒนาธุรกิจร่วมกัน (Business Partner) และขับเคลื่อนพลังธุรกิจร่วมแก้ไขปัญหาสังคมอย่างยั่งยืน

“ตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งเชื่อมโยงความร่วมมือกับภาคสังคมและภาคธุรกิจ ด้วยการสร้างพื้นที่แห่งโอกาสให้ธุรกิจเพื่อสังคม นำเสนอแผนธุรกิจในการแก้ไขปัญหาสังคมแก่ภาคธุรกิจ ในงาน “Social Business Matching Day: The Impact Opportunity#1 เพราะตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อว่า ผู้ประกอบการทางสังคม คือ นักธุรกิจของยุคหน้าในการแก้ไขหรือหาทางออกให้แก่สังคมผ่านการออกแบบนวตกรรมทางสังคมที่ยั่งยืนด้วยกลไกทางธุรกิจ” นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าว

ตลาดหลักทรัพย์ฯได้คัดเลือกธุรกิจเพื่อสังคมใน SET Social Impact Platform ที่อยู่ในขั้น Growth Stage หรือผู้ประกอบการทางสังคมที่ได้สร้างรากฐานมั่นคงและพร้อมที่จะเดินหน้าขยายกิจการที่สามารถสร้างผลลัพธ์ทางสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม จาก 3 ภาคส่วนได้แก่ ด้านพัฒนาเกษตรกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านพัฒนานวัตกรรมบริการแก่ผู้สูงวัย มานำเสนอแผนธุรกิจ แผนการทำงาน ให้แก่ภาคธุรกิจที่สนใจซึ่งประกอบด้วยบริษัทจดทะเบียน หน่วยงานภาคเอกชน และสถาบันการศึกษารวมถึงหน่วยงานที่สนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อนำไปสู่แนวทางการหาทางออกร่วมกันในการแก้ไข และพัฒนาสังคม

ภายในงานมีการนำเสนอแผนธุรกิจของผู้ประกอบการทางสังคมที่ดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมด้านพัฒนาเกษตรกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านพัฒนานวัตกรรมบริการแก่ผู้สูงวัย รวม 8 ราย และมีอีก 14 ราย ได้นำเสนอสินค้าบริการแก่บริษัทจดทะเบียนและภาคธุรกิจที่สนใจ

ทั้งนี้มีตัวแทนจากบริษัทจดทะเบียน หน่วยงานภาคเอกชน และสถาบันการศึกษารวมถึงหน่วยงานที่สนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคม สนใจเข้ารับฟังการนำเสนอจำนวนร่วม 80 รายจาก 58 องค์กร ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯคาดว่าภายในงานจะเกิดการเชื่อมโยงทางธุรกิจ และการดำเนินงานแก้ไขปัญหาสังคมร่วมกัน ไม่น้อยกว่า 30% จากจำนวนองค์กรภาคธุรกิจที่เข้าร่วมทั้งหมด

การสร้างเครือข่ายลักษณะนี้ยังตอบโจทย์ความต้องการของบริษัทจดทะเบียนที่ปัจจุบันเห็นความสำคัญของการดำเนินงานโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environment, Social, Governance:ESG) และบริษัทที่ต้องการสร้างพันธมิตรใหม่ รวมถึงบริษัทที่สนใจในการประกอบธุรกิจเพื่อสังคมด้วย

สำหรับผู้ประกอบการทางสังคม 8 รายได้ที่นำเสนอแผนธุรกิจประกอบด้วย บริษัท ยังแฮปปี้ จำกัด, บริษัท บางกอกแนนนี่เซ็นเตอร์ จำกัด, บริษัท ธัญญโอสถ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด,บริษัท แดรี่โฮม วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด,บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด

ยังแฮปปี้ สร้างเครือข่ายสังคม Active Aging

ธนากร พรหมยศ Co-founder & CEO บริษัท ยังแฮปปี้ จำกัด

บริษัท ยังแฮปปี้ จำกัด ธุรกิจเพื่อสังคมที่มุ่งเน้นการจัดกิจกรรมและเชื่อมโยงการบริการให้ผู้สูงอายุมีสุขภาวะที่ดี ไม่เป็นภาระสังคม รู้เท่าทันเทคโนโลยียุคใหม่ ทันสมัยอยู่ในโลกปัจจุบันได้อย่างมีความสุข

ธนากร พรหมยศ Co-founder & CEO มองว่า การที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปไม่ได้หมายความว่า เป็นภาระสังคมต้องการการช่วยเหลือจากคนอื่นตลอดเวลา ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยัง Active มีพลังในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อีกมาก ซึ่งหากช่วยให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยลดปัญหาด้านสุขภาพ ป้องกันภาวะซึมเศร้า ไม่สิ้นเปลืองค่ารักษาพยาบาล

“การเป็นผู้สูงอายุ ไม่ได้แปลว่าแก่แล้วน่ากลัว แต่โจทย์คือแก่แล้วดูแลตัวเองไม่ได้เป็นภาระคนอื่นต่างหาก อันนี้คือสิ่งที่เป็น Challenge แนวโน้มของหลายประเทศในเอเชียกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย องค์การอนามัยโลก (WHO) ขับเคลื่อนในการป้องกันปัญหาสังคมสูงวัย หนึ่งในแกนสำคัญคือการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุ Active และ Healthy Aging ในช่วง 10 ปีนี้ให้มากขึ้น”

เทคโนโลยีการสื่อสารเป็นปัญหาที่ผู้สูงอายุมักจะตามไม่ทัน ยังแฮปปี้ จึงเริ่มต้นด้วยการจัดคอร์สอบรมการใช้ Smart Phone การเล่น Social Media ให้ผู้สูงอายุสื่อสารกับลูกหลานได้โดยสะดวก จากนั้นจึงพัฒนาหลักสูตร การบริการ และเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่าง ๆ มากขึ้น รวมทั้งมีการสอนออนไลน์ในยุคโควิด-19 ที่มีชุดวิชาความรู้ที่หลากหลาย เช่น เรื่องการเงินและสุขภาพ, การร่วมมือกับพันธมิตรจัดหลักสูตรให้ความรู้เฉพาะทาง เช่น การขายของออนไลน์, วัยเก๋าติดเกราะ Cyber, การใช้ Zoom, การจัดทำหนังสือที่มีตัวหนังสือชัดเจนสีสันสวยงาม เพื่อใช้เป็นตำราแจกฟรีให้กับผู้สูงอายุ สร้างเครือข่ายการสื่อสารผ่าน Social Media อย่าง Facebook Fanpage, กลุ่ม LINE และ Application โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้สูงอายุในเขตเมือง ซึ่งปัจจุบันมีผู้สูงอายุในเครือข่ายมากกว่า 100,000 คน

ยังแฮปปี้ มีเป้าหมายที่จะขยายเครือข่ายและทำให้เครือข่ายสังคม Active Aging แข็งแรงมากขึ้น ทั้งการจัด Event, การผลิตสื่อ, และการเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงกิจกรรมเพื่อผู้สูงอายุ โดยจะขยายไปในจังหวัดต่าง ๆ ให้ครอบคลุมผู้สูงอายุทั่วประเทศ จากเดิมที่จัดอยู่ในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และชลบุรี เป็นหลัก

Go MAMMA บริการแท็กซี่ผู้สูงวัย ใช้ชีวิตนอกบ้าน

รสรี ซันจวน CEO & Co-founder บริษัท บางกอกแนนนี่เซ็นเตอร์ จำกัด

บริษัท บางกอกแนนนี่เซ็นเตอร์ จำกัด ผู้ออกแบบ Go MAMMA (โกว-มาม่า) บริการแท็กซี่สำหรับผู้สูงอายุ ที่พาผู้สูงอายุเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ โดยคนขับรถจะได้รับการอบรมเรื่องการดูแลผู้สูงอายุตามมาตรฐานที่กำหนด โดยที่ลูกหลานไม่ต้องเป็นกังวล

ปัจจุบันยังคงมีผู้สูงอายุที่ยังสามารถดูแลช่วยเหลือตัวเองได้ ยังอยากไปใช้ชีวิตนอกบ้าน เดินทางไปไหนมาไหนเอง แต่ลูกหลานมักติดงานหรือภาระกิจอื่น ไม่สามารถพาไปเที่ยว ช้อปปิ้ง พบปะเพื่อนฝูง หรือพบแพทย์ได้ตามที่ผู้สูงอายุต้องการ หากปล่อยให้ผู้สูงอายุเดินทางไปเองตามลำพัง ลูกหลานก็จะเป็นห่วง หากต้องจ้างผู้ดูแลหรือคนขับรถก็จะเสียค่าใช้จ่ายสูง อาจทำให้ผู้สูงอายุกังวลว่าตนเองกลายเป็นภาระ

บริษัท บางกอกแนนนี่เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจพี่เลี้ยงเด็กและจัดอบรมดูแลเด็ก โดยที่ลูกหลานไม่ต้องเดินทางไปด้วย ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน Go MAMMA บริการแท็กซี่รับส่งผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ที่ตอบโจทย์ความปลอดภัยของตัวรถที่ติดตั้งฉากกั้นระหว่างคนขับกับผู้โดยสาร สามารถตรวจสอบตำแหน่งของรถขณะเดินทาง

รสรี ซันจวน CEO & Co-founder กล่าวว่า “Go MAMMA ไม่ใช่แค่การพาผู้สูงอายุจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง แต่สร้างโอกาสในการออกไปใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ทำกิจกรรมในสังคม ลดภาระให้กับลูกหลาน สร้างความมั่นใจ ปลอดภัยและอุ่นใจ”

Go MAMMA ต่างจากรถแท็กซี่ทั่วไป โดยมีการบันทึกประวัติคนขับรถ และอบรมเรื่องการช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการปฐมพยาบาลเบื้องต้นหากเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งผู้ใช้สามารถเลือกบริการได้ 3 แบบ ทั้งการไปส่งเที่ยวเดียว การไปส่งพร้อมรอรับกลับ หรือการให้มีผู้ดูแลร่วมเดินทางหรือพยาบาลวิชาชีพเดินทางไปด้วยกัน โดยจะคิดค่าบริการเริ่มต้นที่ 289 บาท บวกด้วยค่าเดินทางตามมิเตอร์หรือระยะทาง ให้บริการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ซึ่งผู้ใช้บริการราว 80% มีความประทับในบริการและกลับมาใช้บริการซ้ำอีก

Go MAMMA มีแผนที่จะขยายพื้นที่การบริการไปในส่วนภูมิภาค การเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานแอปพลิเคชัน เช่น บริการเติมเงินใน E-Wallet ตลอดจนขยายช่องทางในการประชาสัมพันธ์ไปยังหน่วยงานและชุมชนต่าง ๆ มากขึ้น พร้อมกับมองหาพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น ห้างสรรพสินค้าที่สามารถทำแผนการตลาดร่วมกันในการพาผู้สูงอายุไปใช้บริการ หรือองค์กรต่าง ๆ สามารถซื้อบริการของ Go MAMMA เพื่อเป็นสวัสดิการให้กับพนักงาน ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องลางานเพื่อไปดูแลผู้สูงอายุ แต่ให้ Go MAMMA ทำหน้าที่นี้แทนให้

Go MAMMA เป็นบริการที่ได้รับรางวัล รองชนะเลิศอันดับที่ 2 ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2564

ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าเพื่อผู้พิการขอแรงทุกคนก้าวที่สอง

ชยุตม์ ศรีเพียร ผู้ก่อตั้ง บริษัท พาวเวอร์ อัพ (ประเทศไทย) จำกัด

บริษัท พาวเวอร์ อัพ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตรถตุ๊กตุ๊กพัทธ์ รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าเจ้าแรกของโลกที่ออกแบบให้สามารถเข็นรถวีลแชร์ (Wheelchair) สำหรับผู้พิการหรือผู้สูงอายุขึ้นบนตัวรถได้ ไม่ต้องยกหรืออุ้มผู้โดยสารสะดวกต่อผู้ใช้งาน

ชยุตม์ ศรีเพียร ผู้ก่อตั้ง กล่าวว่า “ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง การทำธุรกิจไม่ได้คิดถึงแค่ Profit แต่ต้องคิดถึง People และ Planet ไปพร้อมกัน ตอนนี้ พัทธ์ นับก้าวที่หนึ่งแล้ว ขอแรงทุกคนช่วยนับก้าวที่สองที่สามต่อ ๆ กันไป”

โดยบริษัทเปิดกว้างที่จะหาพันธมิตรทางธุรกิจ ที่เป็นหน่วยงาน หรือองค์กรต่าง ๆ เพื่อมาร่วมกันพัฒนาให้เกิดการเดินทางที่เท่าเทียมของผู้คนในสังคมและช่วยลดมลพิษไปพร้อมกัน

รถตุ๊กตุ๊กพัทธ์ผ่านการดัดแปลง ทดสอบ ครั้งแล้วครั้งเล่า และได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งเรียบร้อยแล้วกว่าจะจะสามารถใช้งานได้ ส่งผลให้รถตุ๊กตุ๊กพัทธ์ที่ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยข้อมูลจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) ระบุว่า รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า 1 คันสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ปีละ 4.18 ตัน

รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าสามารถทำความเร็วได้ตามที่กฎหมายกำหนดคือ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ชาร์ตแบตเตอรี่ 1 ครั้งใช้เวลา 4 ชั่วโมง กินไฟประมาณ 50 บาท สามารถวิ่งได้ระยะทางไกลประมาณ 100 กิโลเมตร รวมทั้งยังได้ออกแบบให้ส่วนของการบรรทุกกว้าง รับน้ำหนักได้มากกว่ารถตุ๊กตุ๊กทั่วไป โดยสารพร้อมกันได้ 4-6 คน ใช้ขนของหนักได้มากกว่าปกติ บรรทุกรถวีลแชร์ได้

รถตุ๊กตุ๊กพัทธ์สามารถช่วยแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นควันมลภาวะ ช่วยให้การเดินทางจากซอยตันทั่วกรุงเทพมหานครมายังถนนใหญ่ทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ผู้พิการ หรือผู้สูงอายุสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้สะดวก

รถตุ๊กตุ๊กพัทธ์มีราคาเริ่มต้นที่ 400,000 บาท สามารถใช้งานได้ 3 รูปแบบ คือแบบแรก เป็นรถเวียน (Shuttle) บรรทุกผู้โดยสาร วิ่งแทนรถกระบะเล็กหรือรถสองแถว ในเส้นทางเข้าออกซอยตัน แบบที่สอง เป็นรถขนของ (Logistic) ใช้แทนรถมอเตอร์ไซค์ หรือรถกระบะแบบรถพุ่มพวง เป็นบริการเพื่อสังคมลงไปในพื้นที่ที่รถขนาดใหญ่เข้าถึงลำบาก และแบบที่สาม เป็นรถเพื่อการท่องเที่ยว (Eco Tourism) สำหรับวิ่งในสถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม

ธัญญโอสถพัฒนาเกษตรวิถีใหม่ปลูก “ข้าวหอมยั่งยืน”

พลรชฏ เปียถนอม บริษัท ธัญญโอสถ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด

บริษัท ธัญญโอสถ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ส่งเสริมการพัฒนาข้าวหอมมะลิของไทยในรูปแบบของ “ข้าวหอมยั่งยืน” อย่างเป็นระบบครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการปลูก การเก็บเกี่ยว การสีข้าว การบรรจุ การพัฒนาสินค้าตามมาตรฐานสากล ให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพเพื่อส่งต่อให้กับผู้บริโภคชาวไทย และส่งออกไปต่างประเทศ

ประเทศไทยสูญเสียแชมป์การเป็นผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิอันดับหนึ่งของโลก เพราะขาดการพัฒนาคุณภาพข้าวอย่างต่อเนื่อง มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตส่งผลถึงคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ที่ส่วนใหญ่ยังยากจน มีหนี้สิน

ธัญญโอสถ สร้างวิถีเกษตรแนวใหม่สร้างความหลากหลายในพื้นที่ ด้วยส่งเสริมและสร้างเครือข่ายให้เกษตรกรไทยปรับเปลี่ยนวิธีคิดจากการทำนาเชิงเดี่ยว มาเป็นการทำนาสวนผสม มีการขุดบ่อเพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำ ทำสวนผลไม้ควบคู่ไปกับการปลูกข้าว ทำคันนา และปลูกไม้เบญจพรรณล้อมรอบ ให้ความรู้เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ แบบประณีต พัฒนาการผลิต “ข้าวหอมยั่งยืน”

พลรชฏ เปียถนอม ผู้ก่อตั้ง มองว่า คุณภาพของข้าวหอมมะลิที่ดีต้อง “หอม ยาว ขาว นุ่ม อร่อย” เป็นข้าวออร์แกนิก ที่ไม่ได้ให้น้ำหนักกับค่าความชื้น แต่ให้ความสำคัญกับค่าความหอม (ppm) ทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ ค่าแป้งต่ำ เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ

เครือข่ายเกษตรกรที่ได้รับการส่งเสริมจากธัญญโอสถ จะเก็บเกี่ยวในระยะข้าวเม่า อายุ 22 -25 วันหลังจากดอกข้าวบาน รับซื้อข้าวเปลือกเขียว มีการประกันราคาเอาไว้ล่วงหน้าที่กิโลกรัมละ 19 – 22 บาท นำมาผ่านการอบ การสีข้าว เก็บ และบรรจุด้วยห่วงโซ่ความเย็นที่ต่างจากการสีข้าวทั่วไป ลดการสูญเสีย ทำให้ได้ข้าวที่ยังคงค่าความหอม (ppm) วิตามินและแร่ธาตุในระดับสูง โดยสินค้า “ข้าวหอมยั่งยืน” มีด้วยกันสองแบบคือ ข้าวกล้องหอมมะลิออร์แกนิกสำหรับนำไปหุง และข้าวต้มพร้อมรับประทาน

ธัญญโอสถ ตั้งเป้าที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยให้มีรายได้ 300,000 บาทต่อปี สร้างเครือข่ายเกษตรกรปลูก ข้าวหอมยั่งยืน ให้ได้ 4,000 ครอบครัวใน 22 จังหวัดภายในปี พ.ศ. 2573 จากปัจจุบันที่มีเกษตรกรในเครือข่ายอยู่ประมาณ 380 ครัวเรือน ผลผลิตประมาณ 700 ตัน ส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดสุรินทร์ และบุรีรัมย์ ซึ่งการเปลี่ยนวิถีการทำนาต้องใช้เวลาในการให้ความรู้ ปรับเปลี่ยนพื้นที่ และทดลองทำ ที่ต้องใช้เวลานานอาจจะถึง 3 ชั่วอายุคน

พลรชฏกล่าวว่า “ในการทำธุรกิจก็เพื่อหวังให้มีความมั่งคั่ง ส่วนทำการเกษตรก็อยากเห็นความยั่งยืน สิ่งที่เราต้องมีเหมือนกันคือ สินค้าที่ทำให้เราไม่เป็นโรคปลอดภัย เราต้องการพัฒนาข้าวคุณภาพไปส่งออกทั่วโลก ให้ได้มาตรฐานต่างประเทศ เป็นข้าวหอมยั่งยืน ข้าวหอมมะลิที่ประเทศไทยเคยเป็นอันดับหนึ่งของโลก”

บริษัท ธัญญโอสถ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ยังคงมองหาพันธมิตรทางธุรกิจที่จะมาช่วยสนับสนุนเงินทุน ช่องทางการจัดจำหน่าย ตลอดจนพัฒนาแนวทางการอบรมเกษตรกรในเครือข่าย ที่จะต้องใช้เวลาในการสร้างให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว

พลรชฏ ยังมีโครงการที่ร่วมกับพันธมิตรรายอื่น พัฒนาพื้นที่แดนเนรมิตเก่าบริเวณถนนพหลโยธิน ในการพัฒนาเกษตรแม่นยำ ใช้เทคโนโลยีสร้างมูลค่าสูง ในเมือง ทำการเกษตรแนวตั้ง ไม่เน้นพื้นที่กว้าง แต่ควบคุมคุณภาพ ปลอดสารเคมี ปลูกพืชเมืองหนาวในอากาศร้อนอย่าง สตรอเบอร์รี่ เมลอน มะเขือเทศ จากญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์ ในโรงเรือนแบบปิดควบคุมอุณหภูมิ ตลอดจนปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง โดยไม่ต้องลงดิน ภายใต้แนวคิดปลูกพืชตามเทศกาลไม่ใช่ฤดูกาล สามารถกำหนดผลผลิตและเวลาที่จะเก็บเกี่ยวได้ เป็นผลผลิตที่มีคุณภาพและมูลค่าสูง โดยหวังที่จะให้เป็นต้นแบบสำหรับคนรุ่นใหม่ หรือผู้ที่สนใจทำการเกษตร แต่มีพื้นที่ไม่มาก อาจเป็นที่ดินรอการพัฒนา ใช้เงินทุน และเทคโนโลยี เป็นส่วนประกอบหลักในการทำการเกษตร ซึ่งจะเปิดให้ศึกษาดูงานและเก็บเกี่ยวผลผลิตในระยะถัดไป

แดรี่โฮมผลิตนมบน Circular Economy

พฤฒิ เกิดชูชื่น กรรมการและผู้จัดการ บริษัท แดรี่โฮม วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด

บริษัท แดรี่โฮม วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ทำฟาร์มและผลิตนมออร์แกนิกรายแรกของประเทศ พัฒนาสินค้าเพื่อสุขภาพของผู้บริโภค ช่วยเหลือให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และจริงจังกับการใส่ใจสภาพแวดล้อม ปรับปรุงกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่องตามแนวทาง Circular Economy

พฤฒิ เกิดชูชื่น กรรมการและผู้จัดการ ที่นำเสนอแผนธุรกิจยกระดับเกษตรกรไทยและธุรกิจ Circular Economy ให้ข้อมูลว่า อาชีพเลี้ยงโคนมและการรีดนมวัวเป็นงานที่เหน็ดเหนื่อย ใช้เวลาต่อเนื่องตลอดทั้งวัน ทั้งการหาอาหารให้กับโคนม ทำความสะอาดฟาร์ม และการรีดนมวัววันละ 2 ครั้ง แต่ได้รับผลตอบแทนน้อย ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่อยากเข้ามาทำงานนี้ อายุเฉลี่ยของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมอยู่ที่ 65 ปี ซึ่งเท่ากับว่าผู้ประกอบอาชีพนี้เป็นผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ ขาดแคลนผู้สืบทอด

แดรี่โฮมเป็นผู้ผลิตน้ำนมออร์แกนิกแห่งแรกของประเทศไทย เริ่มทำฟาร์มโคนมออร์แกนิกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ปราศจากการใช้สารเคมีเจือปนในทุกขั้นตอนการผลิต และกลายเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมเต็มรูปแบบในปี พ.ศ. 2562

แดรี่โฮมยกระดับรายได้เกษตรกรโคนมไทย ด้วยการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมและการรีดนมวัวตามวิถีเกษตรอินทรีย์ให้กับเกษตรกรเครือข่าย ให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ พัฒนาอาหารที่มีคุณภาพสำหรับโคนม และรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรในราคามาตรฐาน ทำกำไรให้กับเกษตรกรในราคาลิตรละ 3-4 บาท

ในปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา สามารถยกระดับรายได้เกษตรกรในเครือข่ายมาสู่ระดับขั้นต่ำ 340,000 บาทต่อปี และมีเครือข่ายฟาร์มโคนมออร์แกนิกรวม 25 ฟาร์ม ทำรายได้กว่า 56 ล้านบาท กำไรรวมกว่า 15 ล้านบาท จูงใจให้เกษตรกรที่เป็นคนรุ่นใหม่เข้าสู่อาชีพนี้มากขึ้น

แดรี่โฮม ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ศึกษาวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง อาทิ นมเปรี้ยวและนมอัดเม็ดโปรไบโอติกส์ ป้องกันฟันผุ, นมเบดไทม์ดื่มก่อนนอนที่อุดมไปด้วยเมลาโทนิน และการพัฒนาถุงบรรจุนมที่ลดการใช้พลาสติกลง 7 เท่า

แดรี่โฮมได้พัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy ต่อเนื่อง โดยนอกจากมีการจัดการด้านพลังงานด้วยการติดตั้งโซลาร์เซลล์ กังหันลม และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ (Solar Thermal) แล้ว พฤฒิ ซึ่งมองว่า “ถ้าขยะมีที่ไปก็ไม่เรียกว่าขยะ” ได้ทำให้การกำจัดน้ำเสียของ แดรี่โฮมเป็นแบบ Zero Waste ทั้งการรีไซเคิลน้ำ การบำบัดน้ำเสีย Upcycling นำน้ำมาเลี้ยงจุลินทรีย์ และสาหร่าย เพื่อนำมาเป็นอาหารในการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามอีกด้วย

แดรี่โฮมตั้งเป้าที่จะขยายเครือข่ายฟาร์มโคนมอินทรีย์ให้ได้ 1% ของฟาร์มโคนมทั่วประเทศหรือราว 150 ฟาร์ม จากปัจจุบันมีฟาร์มออร์แกนิกเครือข่ายอยู่ 25 ฟาร์ม และยกระดับให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 400,000 บาท พร้อมกับขยายช่องทางการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เปิดรับหุ้นส่วนทางธุรกิจที่จะช่วยกันพัฒนาต่อยอดธุรกิจเพื่อสังคมร่วมกัน

พฤฒิกล่าวว่า “สิ่งที่แดรี่โฮมกำลังทำคือ อยากจะเปลี่ยนวิธีคิดของเกษตรกร และชักจูงเกษตรกรรุ่นใหม่ให้กลับมา แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้เกษตรกรพ้นขีดความยากจน การทำธุรกิจเพื่อสังคมต้องได้รับการสนับสนุนกิจกรรมจากคนทั่วไปและองค์กรขนาดใหญ่ ต้องให้เกิด Impact ต่อสภาพชุมชนจึงจะสามารถแก้ปัญหาสังคมได้”

SC GRAND วางอนาคตธุรกิจสิ่งทอ สู่ Sustainable Textile

จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด

บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด ธุรกิจเพื่อสังคมที่มุ่งแก้ปัญหาการสร้างมลภาวะของอุตสาหกรรมแฟชั่น ด้วยการพัฒนาธุรกิจนำเศษด้าย เศษผ้าจากกระบวนการตัดเย็บ และเสื้อผ้าเก่า มาแปรสภาพให้เป็นเส้นใยเพื่อผลิตเสื้อผ้าใหม่ โดยไม่มีของเสียจากกระบวนการผลิต สร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอ

จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ กรรมการผู้จัดการเปิดเผยว่า ในแต่ละปีอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าสร้างขยะให้กับโลกถึง 92 ล้านตัน และการผลิตเสื้อ 1 ตัวต้องใช้น้ำในกระบวนการผลิตเท่ากับที่เราดื่มอย่างน้อย 2 ปี ยิ่งมีการออกแบบ ผลิตเสื้อผ้า หรือก้าวให้ทันแฟชั่นมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งเป็นการใช้ทรัพยากรและสร้างมลภาวะให้กับโลกตามไปด้วย

SC GRAND เป็นธุรกิจเพื่อสังคมของทายาทรุ่นที่ 3 ของครอบครัวที่อยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่เดิมมีส่วนงานของการรับซื้อเศษด้ายจากการทอผ้า และเศษผ้าจากการตัดเย็บมาคัดแยกและขายต่ออยู่ก่อนแล้ว ได้พัฒนาสู่การนำมารีไซเคิล ให้เป็นเส้นใยไฟเบอร์ใหม่ ที่อาจผสมวัสดุเพิ่มเติมบางส่วน แล้วผลิตเป็นผ้า เพื่อนำไปทำเป็นสินค้าใหม่ และยังมีการนำใช้ในงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเป็นการร่วมมือทั้งกับแบรนด์แฟชั่นทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวคิดและอุดมการณ์ตรงกัน ในการใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยเนื้อผ้าและสีสันที่ได้แม้จะไม่สม่ำเสมอกัน แต่ก็ดูมีความสวยแบบธรรมชาติ เพราะไม่ผ่านการฟอกย้อม

Sustainable Textile อนาคตของธุรกิจสิ่งทอ:

SC GRAND ยังขยายธุรกิจเพื่อสังคมในแบรนด์ CIRCULAR ที่จำหน่ายเสื้อผ้าที่ได้จากการรีไซเคิลซึ่งเป็นเสมือนโชว์รูมในการนำเสนอตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่อาจเป็นได้ทั้ง เสื้อ กางเกง ถุงเท้า กระเป๋าผ้า เชือกรองเท้า เพื่อให้คนทั่วไปที่สนใจได้เข้าใจแนวคิดเรื่อง Sustainable Textile ให้มากขึ้น โดยการผลิตสินค้าของ CIRCULAR จะอยู่ภายใต้แนวทางของ Zero Waste ที่จะไม่มีของเสียจากกระบวนการผลิต เช่น มีการส่งต่อไปยังอุตสาหกรรมก่อสร้าง
บริษัทยังเปิดกว้างที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในด้านนี้ พร้อมกับการตั้งเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางทางด้านนี้ในภูมิภาคอาเซียน หรือ Recycle Hub แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

CIRCULAR ยังมีบริการรับจ้างผลิตเสื้อพนักงานให้กับองค์กรต่าง ๆ โดยนำเสื้อเก่าของพนักงานที่ไม่ใช่แล้วจำนวนมาก มาเข้าสู่กระบวนการผลิตแปลงสภาพให้ได้ออกมาเป็นเสื้อใหม่ที่เกิดจากการรีไซเคิล เป็นความร่วมมือที่มี story สามารถนำไปบอกต่อ สร้างผลกระทบและความเข้าใจให้กับสังคมได้รับรู้ถึงการบริโภคสินค้าแฟชั่นอย่างยั่งยืน ไม่สร้างขยะให้กับสิ่งแวดล้อม

จิรโรจน์ มองว่า “สิ่งที่เรา SC GRAND หรือ CIRCURAR ทำ คือ เราต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจ ให้ทุก ๆ คนหันมาช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เราเน้นในด้าน Recycle Textile สิ่งที่เราทำน่าจะสามารถตอบโจทย์บางอย่างในการลดผลกระทบที่ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อมได้ เทคโนโลยีด้านนี้ในโลกนี้ยังมีอีกเยอะมาก เราไม่ได้ยิ่งใหญ่ เราเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น”

ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลธุรกิจเพื่อสังคมอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ www.setsocialimpact.com