ThaiPublica > สัมมนาเด่น > 2 กูรูพลังงานมองวิกฤติไฟฟ้า เรื่องจริงหรือมายา?

2 กูรูพลังงานมองวิกฤติไฟฟ้า เรื่องจริงหรือมายา?

12 มีนาคม 2013


งานเสวนา "วิกฤติไฟฟ้า วิกฤติพลังงาน เรื่องจริงหรืออิงมายา"
งานเสวนา “วิกฤติไฟฟ้า วิกฤติพลังงาน เรื่องจริงหรืออิงมายา”

แม้ล่าสุด ความตื่นตระหนกกับเรื่อง “ไฟดับ” ในวันที่ 5 เมษายน ที่เกิดจากการปิดปรับปรุงแท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติยาดานาและเยตากุนจะเบาบางลง

จนถึงขั้นที่ “พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานออกมาระบุว่า ประเทศไทยได้เสนอตัวเป็นศูนย์กลางการขายพลังงานไฟฟ้า สำหรับประเทศลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม และตอนใต้ของจีน

โดยจะต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อให้การกระจายไฟฟ้าเป็นไปอย่างสะดวก

เสมือนว่าเจ้ากระทรวงพลังงานลืมเลือนไปว่า ณ ขณะนี้ประเทศไทยเองก็ยังประสบปัญหาวิกฤติพลังงานตามที่กระทรวงพลังงานออกมาประกาศก่อนหน้านี้

หรือ “ภาวะฉุกเฉิน” ที่เคยเตรียมจะประกาศจะเป็นเพียงเรื่อง “ดราม่า” ที่สร้างขึ้นเพื่อ “เป้าประสงค์” บางอย่างตามที่นักวิชาการด้านพลังงานเคยตั้งข้อสังเกต?

ในการสัมมนาเรื่อง “วิกฤติไฟฟ้า วิกฤติพลังงานเรื่องจริงหรืออิงมายา” ที่มี 2 กูรูด้านพลังงานอย่าง “ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ “ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน นักวิชาการ” เป็นผู้ร่วมเสวนา โดยมี “อิศรินทร์ หนูเมือง” เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์ข่าวทีซีไอเจ มีคำตอบดังต่อไปนี้

ผู้ดำเนินรายการ : ความวิกฤติครั้งนี้ตกลงเป็นความปกติหรือมีคนที่ทำให้เกิดความไม่ปกติ

ชื่นชม : ที่บอกว่าไฟจะดับเพราะมีการซ่อมแท่นที่พม่านั้น จากข่าวที่ผ่านมา ตัวเลขหลักที่มีการนำเสนอก็คือว่ากำลังการผลิตจะหายไป 4,100 เมกะวัตต์ จึงเป็นที่มาว่ามีกำลังสำรองการผลิตมีไม่เพียงพอ เนื่องจากในช่วงเดือนเมษายนเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุด

เมื่อไปดูข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เราพบว่ามีข้อมูลที่ขัดแย้งกันเอง โดยในเว็บไซต์ของโรงไฟฟ้าพระนครเหนือใช้ก๊าซธรรมชาติจากทั้งอ่าวไทยและพม่า ซึ่งหมายความว่า ถ้าทางพม่าหยุดไป ก็น่าจะใช้ก๊าซจากอ่าวไทยด้วย เช่นเดียวกันกับโรงไฟฟ้าวังน้อย และยังมีน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงสำรองในการผลิตไฟฟ้าด้วย

ทีนี้ ในส่วนของโรงไฟฟ้า 3 โรง คือ โรงไฟฟ้าราชบุรี โรงไฟฟ้าราชบุรีเพาเวอร์ และโรงไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ในสัญญาระบุชัดเจนเลยว่าโรงไฟฟ้าเหล่านี้จะต้องมีคลังสำรองเชื้อเพลิงอย่างน้อย 3 วัน ถ้าเกิน 3 วันแล้ว กฟผ. สามารถผลิตเชื้อเพลิงอื่นได้ ดังนั้นตรงนี้มีการออกแบบแล้วในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ. กับโรงไฟฟ้าเอกชน ไฟจะไม่ขาด เพราะมีระบบรองรับไว้แล้ว

ประเด็นที่มีการบอกว่าเครื่องไม่ได้ใช้เชื้อเพลิงสำรองหรือน้ำมันดีเซลมานาน จึงไม่แน่ใจว่าจะใช้ได้หรือไม่ คำถามก็คือว่า จากวันนี้ไป เรายังมีเวลาอีกตั้งหลายวัน ทำไมไม่มีการทดลองเครื่องดู ถ้าทำไม่ได้ทำไมไม่ซ่อม ดังนั้น การที่จะมาอ้างว่าไฟไม่พอนี้ถือว่าเป็นการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพหรือไม่ หรือเป็นการจงใจที่จะก่อให้เกิดความกลัวจนนำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มหรือไม่

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของ กฟผ. เอง ทำให้เห็นว่ากระแสไฟฟ้าที่จะหายไปจริงๆ อยู่ที่ 670 เมกะวัตต์ ไม่ใช่ 4,100 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ เมื่อดูการผลิตสำรองจะเห็นได้ว่าเหลือ 4,000 เมกะวัตต์ ดังนั้น ที่บอกว่าไฟจะตกถือเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจากข้อเท็จจริง

อีกประเด็นหนึ่ง ทำไมคุณต้องหยุดช่วงนี้ด้วย ทั้งน้ำในเขื่อนน้อย และคนในประเทศต้องการใช้ไฟมากในหน้าร้อน ดังนั้น เรื่องวิกฤติพลังงานเป็นวิกฤติสร้างหรือวิกฤติจริง คำถามคือ ทำไมถึงไม่เลือกหยุดซ่อมในช่วงเดือนมกราคม ที่การใช้ไฟน้อยกว่าเดือนเมษายนมากกว่า 4,000 เมกะวัตต์

เรามีบทเรียนจากปีที่แล้วที่มีการซ่อมแหล่งก๊าซที่แหล่งเยตากุน ทำให้ค่าไฟขึ้นอีก 5 สตางค์ เพราะต้นทุนเพิ่มขึ้น ตอนนั้นเรามีบทเรียนแล้วว่า การซ่อมในเดือนเมษายนจะนำมาสู่การพึ่งพาน้ำมันเตาและน้ำมันเชื้อเพลิงค่อนข้างมาก ซึ่งทำไมไม่มีการสรุปบทเรียน และ ปตท. เองก็ชี้แจงแล้วว่าทางพม่าแจ้งมาอย่างน้อย 1 ปีแล้ว คำถามคือ คุณมีเวลาทราบล่วงหน้า 1 ปี ก่อนที่จะถึงช่วงนี้ ทำไมไม่เจรจาเลื่อน และทำไมนิ่งเงียบมากว่า 10 เดือน แต่จู่ๆ มาประกาศภาวะฉุกเฉิน พร้อมกับงบประชาสัมพันธ์ 65 ล้านบาท

ผู้ดำเนินรายการ : แรงจูงใจข้อเท็จจริงที่ทำให้ข้อมูลผิดปกติไป ในฐานะที่เคยเป็นรัฐมนตรีพลังงาน ช่วยไขข้อข้องใจในกรณีดังกล่าว

ปิยสวัสดิ์ : ต้องไปถามรัฐมนตรีปัจจุบันว่าทำไมให้ประเด็นนี้เป็นประเด็นใหญ่ ทั้งที่เรื่องการซ่อมท่อก๊าซ แท่นขุดเจาะก๊าซ มันเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นมาประจำอยู่แล้ว เราพึ่งพาก๊าซ 70 เปอร์เซ็นต์ ในการผลิตกระแสไฟฟ้า ตัวเลขเป็นอย่างนี้มาเป็นเวลา 10 ปีแล้ว และที่ผ่านมามีการซ่อมบำรุงรักษาแหล่งก๊าซต่างๆ ต่อเนื่องตลอดเวลาแต่ไม่มีปัญหาอะไร แม้แต่ที่เกิดปัญหาวิกฤติขึ้นมาจริงๆ ก๊าซถูกตัดแต่ระบบไฟฟ้าก็สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ตามปกติโดยที่ประชาชนไม่รับรู้เลยว่าไฟตกไฟดับ การหยุดซ่อมที่รู้ล่วงหน้าเป็นเวลา 1 ปี ยิ่งสามารถที่จะเตรียมการได้ เพราะโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซทั้งหลายสามารถที่จะใช้น้ำมันดีเซลหรือน้ำมันเตาเข้ามาทดแทนได้ ถ้าเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมสามารถใช้น้ำมันดีเซลได้ ถ้าเป็นโรงไฟฟ้าที่เป็นโรงไฟฟ้าความร้อนสามารถที่จะน้ำมันเตาได้

ในกรณีของโรงไฟฟ้าราชบุรีส่วนหนึ่งประมาณ 1,400 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน ซึ่งสาเหตุที่สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนเพราะจงใจ เพื่อว่าในกรณีที่เกิดอะไรขึ้นมากับก๊าซจากพม่า เราจะสามารถเอาน้ำมันเตามาทดแทนการผลิตไฟฟ้าได้ ตอนสร้างโรงไฟฟ้าราชบุรีนั้นเราไม่ได้เป็นห่วงเรื่องการซ่อมบำรุงรักษาประจำปี แต่เป็นห่วงว่าจะเกิดการก่อการร้าย หรือมีใครไประเบิดท่อก๊าซระหว่างไทย-พม่า เลยทำให้โรงฟ้าส่วนหนึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อน

ดังนั้น ทุกครั้งที่เกิดปัญหาขึ้นมา ถ้าเผื่อก๊าซไม่พอก็ใช้น้ำมันเตาได้ แต่ที่ผ่านมาไม่เกิดขึ้นเท่าไหร่ เพราะวางแผนดี แต่เท่าที่จำได้ ตอนเกิดไต้ฝุ่นเกย์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อแท่นขุดเจาะที่อ่าวไทย พนักงานขุดเจาะตายเกือบ 100 ศพ ตอนนั้นก๊าซขาดกะทันหัน โรงไฟฟ้าทั้งหลายเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเตาน้ำมันดีเซลได้ ไฟไม่ตกไม่ดับ ทุกอย่างสามารถผ่านมาอย่างเรียบร้อย แต่ประเด็นเรื่องผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ดังนั้นผมจึงไม่เห็นประเด็นอะไรที่ต้องหยิบยกขึ้นมาให้ประชาชนตกใจ

ทีนี้ ถ้าไฟหายไปจริงๆ ซึ่งเคยเกิดเหตุการณ์เป็นครั้งคราวเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่เกิดกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าสำรองไม่พอ เช่น ในปี 2530-2531 กำลังไฟฟ้าสำรองไม่พอจริง และความต้องการสูงขึ้นมากจริงๆ ซึ่งต่างจากครั้งนี้ที่มีกำลังสำรองมีอยู่พอสมควร ก็มีมาตรการจะหยิบขึ้นมาได้เลยอยู่แล้วที่ เป็นมาตรการปกติที่ดำเนินการอยู่แล้ว ที่จะให้ผู้ใช้ไฟรายใหญ่ลดการใช้ มีหลายแห่งที่เขาสามารถหยุดการใช้ไฟได้ กระบวนการผลิตก็ไม่ได้เสียหายอะไร เช่น โรงงงานโซดาไฟ ประหยัดได้เป็นร้อยๆ เมกะวัตต์

หรือมีมาตรการให้ประชาชนหรือโรงงานอุตสาหกรรมที่มีเครื่องผลิตไฟฟ้าสำรอง สามารถเดินเครื่องไฟฟ้าสำรอง มันมีมาตรการที่เตรียมไว้แล้วแต่ไม่เคยใช้เลย เพราะไม่เคยเกิดวิกฤติครั้งไหนที่ต้องใช้มาตรการเหล่านี้ ดังนั้น ถ้ามีวิกฤติจริงๆ สามารถใช้มาตรการเหล่านี้โดยที่ไม่ต้องใช้วิธีการดับไฟเป็นเขตๆ ซึ่งตนไม่เคยเห็นที่ไหนทำ เห็นแต่ที่ประเทศพม่า ซึ่งเขามีปัญหาเรื่องการผลิตไฟฟ้าสำรองไม่เพียงพอ

โดยสรุปก็คือว่า เหตุผลในการหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาก่อนเกิดเหตุการณ์เพียง 2 เดือน ทั้งๆ ที่รู้ล่วงหน้าไปเป็นปี ต้องไปถามรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานว่า ตกลงเรื่องราวมันเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่เกิดจากการบริหารจัดการไม่ดี หรือเป็นเรื่องเรื่องที่รัฐมนตรีเพิ่งจะรู้ในไม่กี่วัน ทั้งที่คนอื่นเขารู้กันหมดแล้ว ที่จริงมีอีกประเด็นหนึ่ง เป็นทางเลือกอื่นที่ถูกการปิดกั้นหรือสกัดเอาไว้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องพูดคุยต่อไป

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทนื อดีตรมว.พลังงาน
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีต รมว.พลังงาน

ผู้ดำเนินรายการ : ประเด็นที่ถูกเปิดขึ้นมาใน 2 เดือนนี้ มีเบื้องหลังของวาระนี้คืออะไร

ปิยสวัสดิ์ : ไม่รู้ ต้องไปถามรัฐมนตรี เรื่องนี้ใครๆ ก็รู้นานแล้ว แม้แต่เรกูเลเตอร์ยังรู้เลยว่าต้องบวกค่าน้ำมันดีเซล ค่าน้ำมันเตา เขาเก็บค่าไฟเพิ่มจากเราตั้งแต่มกราคมแล้ว

ผู้ดำเนินรายการ : ปัญหาที่เกิดขึ้นคือการบริหารจัดการต้นทุนของการบริหารจัดการครั้งนี้ ทั้งในการประชาสัมพันธ์และอื่นๆ ต้นทุนตรงนี้ใครต้องร่วมจ่ายบ้าง

ปิยสวัสดิ์ : คำตอบก็ชัดอยู่แล้วว่าการบริหารจัดการที่เกิดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไร เป็นประเด็นที่ประชาชนรับอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าเอฟที การลดการใช้ไฟ ผู้ใช้ไฟเป็นคนรับ ถ้าเป็นเรื่องของการประชาสัมพันธ์ ประชาชนก็รับอยู่แล้วในทางอ้อมแต่เราไม่รู้เท่านั้น เพราะมันอาจจะน้อยถ้าไปเทียบกับ 2.2 ล้านล้านบาท

ผู้ดำเนินรายการ : วาระนี้กลายเป็นวิกฤติลวง แต่ถ้ามีวิกฤติจริงเกิดขึ้น จะมาจากสาเหตุอะไรบ้าง

ชื่นชม : ขอตอบคำถามเมื่อสักครู่ คนที่จะรับผิดชอบวาระนี้ คงหนีไม่พ้นที่ประชาชนที่ต้องรับ แต่คำถามคือจริงๆ แล้วประชาชนควรจะต้องรับไหม วิกฤติที่เราเผชิญอยู่ไม่ใช่วิกฤติไฟไม่พอ แต่เป็นวิกฤติธรรมาภิบาลมากกว่า เป็นการสมยอมกันทั้งระบบ ผลักให้ผู้บริโภคเป็นผู้รับต้นทุน จริงๆ แล้วผู้บริโภคไม่ได้มีส่วนในการรับผิดชอบต่อการดำเนินงานที่ไร้ประสิทธิภาพที่จะต้องมารับต้นทุนตรงนี้

ถ้าเราไปดูในส่วนของสัญญาในเรื่องของความผิดพลาดแต่ละขั้นตอน จริงๆ แล้ว มันมีการรองรับในเรื่องนี้อย่างไร ในส่วนของสัญญา ตั้งแต่ต้นทางแหล่งก๊าซยาดานา ผู้รับสัมปทานจากยาดานาจะขายก๊าซให้ ปตท. ทีนี้มีสัญญากำกับเรื่องของเงื่อนไข คุณภาพการบริการ ปริมาณ อะไรต่างๆ ซึ่งสัญญาซื้อขายไฟฟ้าตรงนี้ ถ้าเราไปเจาะดูกรณีที่แหล่งหยุดก๊าซ 100 เปอร์เซ็นต์ และทำให้เกิดต้นทุนในส่วนของประเทศไทย ตรงนี้การพูดถึงเรื่องของการดูแลหรือชดเชยอย่างไร

เท่าที่ศึกษาดู มีการระบุชัดเจนเลยในเรื่องของการหยุดซ่อม ซึ่งการหยุดซ่อมเป็นไปได้ทั้ง 3 กรณี คือ 1. การหยุดซ่อมโดยวางแผนล่วงหน้าเพื่อไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นในอนาคต อย่างเช่น กรณีนี้เรารู้ล่วงหน้าเป็นปี ซึ่งมีการกำหนดเงื่อนไขชัดเจน แต่ หนึ่งเงื่อนไขที่น่าสนใจคือ ถ้าหยุดซ่อม แต่คุณยังต้องนำส่งก๊าซอย่างน้อย 50 เปอร์เซ็นต์ของการส่งปกติ (ข้อ6.14)

2. กรณีนี้เป็นไปได้สองลักษณะ คือ หยุดเพื่อเชื่อมต่อท่อ ถือเป็นการหยุดซ่อมแบบพิเศษซึ่งการหยุดซ่อมในเดือนเมษายน ไม่ได้เข้าข่ายกรณีนั้น

3. การหยุดซ่อมกรณีเกิดเหตุสุดวิสัย มีการระบุละเอียดเลยว่าอะไรบ้าง ตั้งแต่ภัยธรรมชาติถึงสงครามการเมือง

ดังนั้นจึงเป็นที่ชัดเจนว่า ตามสัญญาแล้วอันนี้เข้าข่ายเรื่องการการหยุดซ่อมตามปกติ ซึ่งหมายความว่าปริมาณการส่งก๊าซยังคงต้องอยู่ที่ 50 เปอร์เซ็นต์ต่อปริมาณการส่งปกติ ซึ่งถ้าหยุดซ่อมเลยโดยไม่สามารถที่จะส่งก๊าซให้ได้เลย มีสัญญาที่ระบุว่ามีคนที่จะต้องรับผิดชอบค่าเสียหาย ชดเชย ในกรณีที่ทางผู้รับสัมปทานไม่สามารถที่จะส่งก๊าซได้ไม่ว่าจะกรณีไหน ปตท. มีสิทธิที่จะได้รับส่วนลดราคาก๊าซในส่วนที่ขาดหายไปในราคาที่ต่ำกว่าปกติ 25 เปอร์เซ็นต์ (ข้อ 15.2)

ฝากประเด็นไปยังสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน ให้ช่วยดูแลตรวจสอบในส่วนนี้ด้วย มีการออกมาตอบโต้ว่าการที่แจ้งล่วงหน้าถือว่าไม่ผิดสัญญาแต่อย่างใด ก็อยากจะถามว่าได้อ่านสัญญาแล้วหรือยัง เพราะสัญญาไม่มีการระบุว่าเป็นกรณีใด และต้องแจ้งล่วงหน้าหรือไม่ ตอนนี้ค่อนข้างผิดหวัง ส่วนใหญ่จะเป็นตรายาง ทำไม กฟผ. ไม่เลือกช่วงที่เสี่ยงน้อยกว่า ทำไม ปตท. ปิดเงียบเรื่องส่วนลด 25 เปอร์เซ็นต์ ทำไมกระทรวงพลังงานออกมาสร้างกระแสว่าไฟจะตกไฟจะดับ ซึ่งจริงๆ แล้วสามารถที่จะออกมาตรการตั้งแต่ปีที่แล้ว ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของวิกฤติการสมยอม วิกฤติการขาดธรรมาภิบาล

ผู้ดำเนินรายการ : เป็นไปได้ไหม เกมนี้ ปตท., กระทรวงพลังงาน, เรกูเลเตอร์ เหมือนรู้ข้อมูลทุกอย่างล่วงหน้า แต่สิ่งที่พูดต่อสาธารณะเป็นข้อมูลอีกชุดหนึ่ง แรงจูงใจที่ทำให้เรื่องเล็กเป็นเรื่องใหญ่คืออะไร

ปิยสวัสดิ์ : ไม่ทราบ สมมุติฐานไม่รู้ ไปคาดการณ์เอาเอง อย่าให้ผมไปคาดการณ์เลย จะให้ผมไปเดาใจรัฐมนตรีคงตอบไม่ถูก

ผู้ดำเนินรายการ : วิกฤติก็ดูไม่จริง สิ่งที่ชดเชยก็มี เรื่องนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป โรงไฟฟ้าหรือไม่

ปิยสวัสดิ์ : สิ่งที่ชดเชยได้ก็ไม่ถูกนำมาชดเชย ถูกสกัดกั้นไว้ ผมคิดว่าน่าผิดหวังมากที่สุด เวลาที่มีการหยิบยกเรื่องพลังงานหมุนเวียนขึ้นมา ทางรัฐบาลออกมาตอบโต้ว่ามันไม่ดี มีหลายสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้พลังงานหมุนเวียน นี่เป็นสิ่งที่น่าตกใจ ทั้งที่ความจริงแล้วรู้ๆ กันอยู่ว่ามันมีอุปสรรคเยอะมากในการสกัดกั้นพลังงานหมุนเวียน ไอ้ด่านต่างๆ ที่ขึ้นมานี่มันเพิ่งขึ้นมาในเวลานี้นะ

โดยเฉพาะการรับซื้อไฟฟ้าจ่ายผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (เอสพีพี) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (วีเอสพีพี) ที่ประสบปัญหาในขั้นตอนการอนุญาตเยอะมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ที่จริงเอสพีพีและวีเอสพีพีมีมานานแล้ว หลักการก็คือว่าใครทำได้ก็ทำไป ขายไฟฟ้าเข้าระบบในราคาที่รัฐบาลประกาศ และตอนหลังมีการให้ส่วนเพิ่มค่าไฟสำหรับไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน มันทำให้มีการลงทุนขึ้นมาเยอะ พอลงทุนขึ้นเยอะขั้นตอนการขออนุญาตเลยกลายเป็นสิ่งที่ยากขึ้นมา เป็นเรื่องปกติของการเมืองไทยที่อะไรที่น่าสนใจ จะต้องทำขั้นตอนที่มันยุ่งยาก สลับซับซ้อน เมื่อมีขั้นตอนเยอะก็ไปวิ่งเต้นกันเยอะ ไม่อย่างนั้นแล้วทุกอย่างจะดูราบรื่นเกินไป

ผู้ดำเนินรายการ : การวิ่งเต้นมีในระดับไหนบ้าง

ปิยสวัสดิ์ : ถ้าย้อนหลังไป เดิมทีเดียว มีเอสพีพีอย่างเดียวคือการขายไฟฟ้าเข้าระบบตั้งแต่ 0-90 เมกะวัตต์ เกิดขึ้นตามระเบียบในปี 2534 ขายไฟฟ้าเข้าระบบตามราคาที่ประกาศ ใครมาก่อนได้ก่อน ไม่มีการกำหนดโควตา ทุกอย่างก็เดินเรียบร้อยดี โครงการที่เข้ามาจะเป็นไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิง และโครงการที่เป็นพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะชีวมวลเข้ามาเยอะ ชานอ้อย เศษไม้ แต่ไม่มีพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม เพราะว่าต้นทุนของโครงการพวกนี้ยังแพง มองย้อนไปตอนนั้น ผลิตกระแสไฟฟ้าแสงอาทิตย์ต้นทุนประมาณ 16 บาทต่อหน่วย แต่การไฟฟ้ารับซื้อประมาณ 2 บาทต่อหน่วย เพราะฉะนั้นจึงไม่คุ้มที่จะผลิตด้วยแสงอาทิตย์และลม

พอมาประมาณปี 2543 มีการออกระเบียบแยกเอสพีพีและวีเอสพีพีออกจากกัน โดยวีเอสพีพีคือ 0-10 เมกะวัตต์ เอสพีพีก็คือ 10-90 เมกะวัตต์ เอสพีพีใช้ระเบียบคล้ายเดิม วีเอสพีพีจะใช้ระเบียบง่ายขึ้นมาหน่อย เจตนารมณ์คือเพื่อต้องการส่งเสริมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมากที่มีไฟฟ้าเหลือขายเข้าระบบ หลังๆ เริ่มมีโครงการขนาดเล็กเข้ามา พวกฟาร์มหมูที่มีระบบไบโอแก๊ส เป็นต้น

จากนั้นปี 2549-2550 มีให้ส่วนเพิ่มค่าไฟเพื่อจูงใจให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า จึงเกิดโซลาร์ฟาร์มขึ้นมา ทำให้ค่าตอบแทนมันสูง จูงใจที่จะทำให้ลงทุน เพราะถ้าไม่ให้ส่วนเพิ่มก็จะไม่เกิดการพัฒนาไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย เพราะนั้นตอนนั้นโซลาร์ฟาร์มจะได้ประมาณ 10 บาท ถ้าเทียบกับประเทศอื่นที่มีการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนในระดับเดียวกัน ซึ่งจะรับซื้อโซล่าร์ฟาร์มได้ประมาณ 20 บาทต่อหน่วย

โครงการวีเอสพีพีจึงเริ่มเกิดขึ้นมา ต่อมารัฐบาลเกิดเห็นว่ามีคนสนใจลงทุนมากเหลือเกิน จึงมีการกำหนดเป้าหมายพลังงานหมุนเวียนประเภทต่างๆ ขึ้นมา เช่น พลังงานแสงอาทิตย์อย่างน้อย 2,000 เมกะวัตต์ แต่ 2,000 เมะวัตต์ นี้กลายเป็นเป้าหมายขั้นสูงหรือเป็นเพดานขึ้นมา อันนี้คือความสามารถของระบบราชการไทย ที่ทำให้เป้าหมายของสิ่งที่ส่งเสริมกลายเป็นเพดาน และโควตาขึ้นมา

เพราะฉะนั้น ใครทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าไปแล้วและไม่ต้องการพัฒนาโครงการ ก็มีสิทธิที่จะเอาสัญญานั้นไปขายได้ส่วนเพิ่มขึ้นมาอีก ดังนั้น การขายการเปลี่ยนแปลงสัญญาต้องไปขออนุญาตกรรมการที่ตั้งขึ้นมาใหม่เหมือนกัน คือ กรรมการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน จึงกลายเป็นด่านที่สำคัญขึ้นมา ด่านที่ทำให้ต้องมีการวิ่งเต้นเจรจาเพื่อให้สามารถที่จะเปลี่ยนสัญญาได้เลย ทำให้ชื่อเสียงพลังงานแสงอาทิตย์นี่ค่อนข้างที่จะเสียไป

บางคนเปลี่ยนสัญญาได้ บางคนเปลี่ยนสัญญาไม่ได้ มีการเลือกปฏิบัติที่นำไปสู่การฟ้องร้อง คณะกรรมการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนถูกฟ้องในคดีอาญาว่าเลือกปฏิบัติที่ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนสัญญาได้ทุกราย และคนที่ได้สัญญาไปแล้วไม่ทำก็กลายเป็นการกลั่นแกล้งคนที่สามารถทำได้ให้ไม่สามารทำได้

ต่อมามีด่านเกิดขึ้นมาอีกที่กระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องของ รง.4 (ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน) โดยจะต้องได้ตัว รง.4 ก่อนที่จะไปขอใบประกอบกิจการพลังงานโดยเรกูเลเตอร์ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ตอนหลังเริ่มเป็นปัญหาพอสมควร ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับโรงไฟฟ้าเท่านั้น แต่เป็นปัญหาสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไปด้วย ทำให้ต้องมีการวิ่งเต้นกันพอสมควร

ใน รง. 4 กำหนดว่า ถ้าเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเกิน 5 แรงม้าต้องขอ รง.4 ซึ่งจำนวน 5 แรงม้า เมื่อคิดออกมาแล้วประมาณ 3.6 กิโลวัตต์ เพราะฉะนั้น ถ้าผมมีเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาบ้าน ถ้าหลังคาบ้านผมใหญ่มันก็เกิน 3.6 กิโลวัตต์ ก็ต้องขอ รง. 4 ก็ติดอุปสรรคเหมือนกัน ทีนี้ปัญหาอีกอันหนึ่งของพลังงานหมุนเวียน ที่ไปกำหนดโควตา 2,000 เมกะวัตต์ เพราะอ้างว่าเป็นห่วงว่าค่าไฟจะแพง แต่ 2,000 เมกะวัตต์ของท่านนี่ ไปกำหนดเอาไว้สำหรับแสงอาทิตย์ทุกอย่าง

คิดดูง่ายๆ ประเทศไทยมีบ้านอยู่ 15 ล้านครัวเรือน ถ้าเราได้เซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านแค่ 1 ล้านครัวเรือน ครัวเรือนละ 20,000 กิโลวัตต์ ได้ 2,000 เมกะวัตต์เข้าไปแล้ว ถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ ปัญหาวิกฤติไฟฟ้าครั้งนี้จะไม่รุนแรงแบบนี้เลย

เอสพีพีและวีเอสพีพีที่ขายเข้าระบบแล้ว ตอนนี้เกือบ 2,000 เมกะวัตต์ต่อวันที่มาจากพลังงานหมุนเวียน ที่ติดอยู่พร้อมที่จะเดินหลายโครงการก่อสร้างจะเสร็จแล้วแต่ทำต่อไม่ได้เพราะว่าติด รง. 4 หรือติดปัญหาจากเรกูเลเตอร์ เพราะฉะนั้น มีโครงการยอดรวม 4,000 เมกะวัตต์ 600 โครงการที่ติดปัญหาเรื่องการขอใบอนุญาต ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องการตั้งด่านต่างๆ ในรัฐบาลนี้ ในช่วงนี้เราควรจะมีไฟฟ้าอีก 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะบรรเทาทุกข์ไฟฟ้าในครั้งนี้ได้

เรื่องหลังคาบ้านก็น่าสนใจมาก ถ้าสกัดด่านเหล่านี้โครงการก็จะเดินหน้าได้ ตอนนี้มีการลงทุนมากขึ้นในโซลาร์ฟาร์ม ต้นทุนลงเร็วมาก เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วมีระดับ 16 บาทต่อหน่วยตอนนี้ลงมาเหลือ 5-6 บาทต่อหน่วย ซึ่งเท่ากับการผลิตไฟฟ้าโดยก๊าซธรรมชาติเหลว แต่ถ้าถามว่ามันแพงกว่าการผลิตก๊าซจากอ่าวไทยไหม มันแพงกว่าแน่ แต่สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของก๊าซธรรมชาติเหลวจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และอีก 10 ปี ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในประเทศไทยจะเป็นแอลเอ็นจี ราคาก๊าซที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจะอยู่ที่ 300 บาทต่อล้านบีทียู แต่ราคาแอลเอ็นจีที่นำเข้ามาบวกค่าท่อเข้าไปประมาณ 560 บาทต่อล้านบีทียู เพราะฉะนั้นความแตกต่างสูงพอสมควร

ดังนั้น ที่มีบอกว่าถ้าใช้ก๊าซเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ค่าไฟจะเพิ่มขึ้นเยอะ อันนั้นก็มีส่วนจริง ถ้าเป็นไปตามแผนที่เราจะให้ก๊าซธรรมชาติเหลวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ท่านก็สรุปว่าต้องไปถ่านหิน ซึ่งจริงๆ แล้วตัวที่สำคัญคือต้องไปดูพลังงานหมุนเวียน ที่ต้นทุนลงเร็วมากและมีโอกาสที่จะลงต่อไป เพราะว่าตอนนี้โซลาร์เซลล์พัฒนาไปไกลมาก และจะมีการเพิ่มประสิทธิภาพต่อไปเรื่อยๆ อย่างแน่นอน ตอนนี้ถ้าทำโซลาร์ฟาร์มใหม่ผมว่างบประมาณน่าจะอยู่ที่ 70 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ มีความคุ้มค่า

น.ส.ชื่นชม สง่าศรี กรีเซ่น นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน
น.ส.ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน

ผู้ดำเนินรายการ : ด่านที่เกิดในขึ้นกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรม ใครเป็นผู้ได้ประโยชน์

ปิยสวัสดิ์ : ไปถามคนดูแลกระทรวงทั้งสองกระทรวงว่าใครได้ประโยชน์ เวลาที่จะเปลี่ยนแปลงสัญญา เวลาที่ขออนุญาตทำให้เรื่องมันเดิน ต้องไปถามว่าเขาไปคุยกับใคร เจรจากับใคร ที่ไหน บ้านเลขที่อะไร ผมเข้าใจว่าคงไม่ได้คุยที่กระทรวงอุตสาหกรรม แต่เป็นบ้านอะไรหลังหนึ่งที่อยู่ใกล้กระทรวง

ชื่นชม : ในกรณีของไฟฟ้าไม่ใช่แค่ต้นทุนสูง แต่ประตูมันปิด ไม่ใช่แค่เรื่องของการปิดกั้น แต่เป็นปัญหาของธรรมาภิบาลด้วย บางทีระบบมันดีอยู่แล้ว มีคุณสมบัติที่ชัดเจนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ก็สามารถที่จะมาผลิตได้ แต่ตอนนี้มาตั้งด่านและกฎเกณฑ์ไม่มีความชัดเจน ดังนั้น ส่วนตัวขอเรียกร้องให้ยกเลิกคณะกรรมการบริหารมาตรการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาอนุญาตโรงงานบางประเภทที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม ขอให้ยกเลิกสองคณะกรรมการนี้จะดีกว่า พลังงานหมุนเวียนจะได้เกิด

นอกจากนี้ยังมีประเด็นการประมูลไอพีพีที่มีการล็อคสเปค เรากำลังพูดถึงเรื่องการใช้ก๊าซผลิตมากเกินไป แต่ปรากฏว่าการประมูลไอพีพี 5,400 เมกะวัตต์ ล็อคสเปคว่าจะต้องเป็นก๊าซทั้งหมดอีก ทำให้ต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวอย่างที่ ดร.ปิยสวัสดิ์บอก ปัญหาก็คือ ทำไมคุณต้องล็อคสเปคแบบนั้นด้วย ทำไมไม่ชะลอการประมูลไอพีพีไว้ก่อน เอาให้ชัดเจนว่าเราจะเดินไปทางไหนแล้วค่อยเปิดประมูลใหม่ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่มีการล็อคสเปคว่าต้องใช้ก๊าซธรรมชาติอย่างเดียว

ผู้ดำเนินรายการ : คุณชื่นชมมีข้อมูลไหมว่ามีใครไปลงทุนก๊าซธรรมชาติเหลว

ชื่นชม : อันนี้ชัดเจนว่าเป็นระบบผูกขาด คนที่ได้ประโยชน์จากการจัดหาหนีไม่พ้น ปตท. ขอตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วเราจำเป็นไหมว่าจะต้องมีการผูกขาดในการจัดหาก๊าซ แต่เดิมที ปตท. เป็นรัฐวิสาหกิจ ก็ไม่แปลกที่จะมอบหมายอำนาจสาธารณะให้กับรัฐวิสาหกิจในการบริหาร แต่ตอนนี้ไม่ใช่องค์กรของรัฐต่อไป เป็นองค์กรที่มุ่งหวังกำไร รายได้ส่วนหนึ่งเข้ากระเป๋าเอกชน ดังนั้น ผูกขาดแบบนี้ไร้ประสิทธิภาพในเรื่องของก๊าซที่มีปัญหาซ้ำซาก คุณทำธุรกิจไม่ว่า แต่การทำธุรกิจต้องอยู่บนฐานที่มีความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคด้วย เราอาจจะต้องมีการทบทวนว่าจำเป็นหรือไม่ที่จะให้ ปตท. ผูกขาดในเรื่องของการจัดหาก๊าซต่อไป

ที่ผ่านมา ปตท. ได้กำไรเยอะมาก แต่ทำไมปัญหาในเรื่องของการขัดข้องเยอะนัก จริงๆ ค่าผ่านท่อไม่ใช่ถูกๆ ถามว่า ปตท. ได้มีการจัดสรรงบที่เพียงพอมาใช้ในเรื่องการดูแลมาตรฐานคุณภาพท่อมากน้อยเพียงใด ทำไมเกิดเหตุทุกปีจนกระทบต่อค่าไฟ จริงๆ แล้วความรับผิดชอบอยู่ที่ไหน อย่างเรื่องส่วนลด 25 เปอร์เซ็นต์ ทำไมไม่มีการเอาออกมาพูดเลย ที่ผ่านๆ มาการผิดพลาดในอดีต รวมๆ แล้วอาจจะเป็นพันล้านอาจถึงหมื่นล้านด้วย จริงๆ อยากให้มีการเช็คบิลย้อนหลังด้วย

ผู้ดำเนินรายการ : วิกฤติครั้งนี้มีความเชื่อมโยงกับทิศทางการลงทุนของ ปตท. ที่จะขยายกิจการ

ชื่นชม : เรื่องของการขยายตอนนี้นี่เหมือนกับว่าก๊าซในสวนของไอพีพี ปตท. ได้โควตาก๊าซแล้วเต็มๆ เลย แต่ขณะเดียวกัน ปตท. ไม่ได้หยุดอยู่แค่ธุรกิจก๊าซ แต่ขยายการลงทุนในเรื่องของถ่านหินและการสร้างเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหนีไม่พ้นที่จะขายกลับมายังบริษัทในประเทศไทยให้กับ กฟผ. อยู่ดี ซึ่งตรงนี้แสดงให้เห็นว่าการวางแผนนโยบายพลังงานของประเทศถูกกำหนดโดยแผนการขยายธุรกิจบริษัทพลังงานต่างๆ โดยที่ไม่มีการถ่วงดุลที่เพียงพอ

ผู้ดำเนินรายกการ : การลงทุนของ กฟผ. ในโรงไฟฟ้าราชบุรี เกี่ยวข้องกับวิกฤติครั้งนี้หรือไม่

ชื่นชม : อาจจะมีส่วนแบ่งบ้างนิดหน่อย อย่างกรณีของราชบุรี เป็นบริษัทที่ กฟผ. เข้าไปถือหุ้น 45 เปอร์เซ็นต์ กรณีที่ก๊าซขาด จำเป็นที่จะต้องมีการใช้เชื้อเพลิงสำรอง กฟผ. บอกว่าในส่วนพลังงานร่วมอาจจะใช้ไม่ได้ เดินเครื่องไม่ได้ ซึ่ง กฟผ. ก็ยอมให้มันเป็นอย่างนั้น จริงๆ แล้ว กฟผ. ในฐานะที่เป็นคนดูแลผลประโยชน์ของประเทศต้องมีความชัดเจน เพราะถ้าปฏิบัติไม่ได้อาจจะต้องมีค่าปรับหรืออะไร แต่ด้วยความที่เป็นบริษัทลูกของ กฟผ. ทำเกิดการบริหารสัญญาแบบเอื้ออาทร ภายใต้ระบบแบบนี้น่าเป็นห่วงนะ

ผู้ดำเนินรายการ : ถ้ามีการตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นกับดักอุปสรรคมากที่จะออกจากวิกฤติพลังงานในครั้งนี้ จะเข้าทางโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือนิวเคลียร์ในที่สุดหรือไม่

ปิยสวัสดิ์ : พลังงานหมุนเวียนไม่มีอะไร แก้ปัญหาง่ายนิดเดียว ยกเลิกกรรมการ 2 ชุด และต้องยกเลิกมติต่างๆ ที่จะกำหนดโควตาด้วย เปิดเสรีไปเลย ใครทำได้ก็ทำ ใครทำไม่ได้ก็ยกเลิกสัญญาและริบเงินประกันไปเลย ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะเดินไปได้เพราะมีมาตรการส่งเสริมที่เพียงพอแล้ว แต่ขออย่างเดียว อย่ามาสร้างอุปสรรคเท่านั้นเอง อุปสรรคที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาขอให้ยกเลิกทั้งหมด และอาจจะเดินไปได้ขนาดที่ว่าแผนไอพีพีจะสามารถทบทวนได้ มาตรการส่งเสริมการประหยัดพลังงานสามารถที่จะทำได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
จุดเริ่มต้นที่สำคัญ เห็นว่าคือการลดการใช้ เราจ่ายเงินอุดหนุนให้ผู้ใช้ไฟน้อยกว่าการไปสร้างโรงไฟฟ้า มาตรการเพิ่มเติมจากภาครัฐ หลอดไฟ การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า เทศบัญญัติก่อสร้างที่ทำให้เข้มข้นมากขึ้น หรือการออกแบบอาคาร หากสร้างให้ดีจะสามารถประหยัดพลังงานได้มาก มาตรการเหล่านี้สามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้เงินเลย เพียงแต่ใช้อำนาจรัฐในการกำหนด

ในส่วนของไอพีพี ถ้าเราเปิดให้มีการใช้พลังงานอย่างอื่นที่ใช้ก๊าซแต่เพียงอย่างเดียวตามที่มีการกำหนดไว้นั้น จะทำให้เงื่อนไขในเรื่องของราคาที่เราซื้อดีขึ้นด้วย ทั้งนี้ รัฐมีอำนาจมหาศาลที่สามารถเปลี่ยนแปลงกฎกติกาต่างๆ ได้ ซึ่งถ้าเรกูเลเตอร์อยากให้มีการแข่งขันก๊าซก็สามารถทำได้อยู่แล้ว เพราะตอนนี้ ปตท. ไม่ได้มีอำนาจผูกขาดทางกฎหมายอีกต่อไป

ผู้ดำเนินรายการ : วิกฤติที่มีการโฆษณากันอยู่ตรงนี้เป็นการเปิดด้านโรงฟ้าถ่านหินหรือนิวเคลียร์ในอนาคตหรือไม่

ชื่นชม : ส่วนตัวไม่ได้ค้านโรงไฟฟ้าหรืออะไร แต่ว่าทุกอย่างจะต้องอยู่บนพื้นฐานของการวิเคราะห์ต้นทุนที่ต่ำที่สุด และจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลด้วยความโปร่งใส มีการใช้ธรรมาภิบาลมากำกับ จริงๆ แล้วอยากใช้วิกฤติครั้งนี้เป็นโอกาสในการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม เป็นไปได้ไหมที่จะทำให้เราเกิดปัญญาในสังคม จริงๆ แล้วไม่ว่าจะเป็นก๊าซ ถ่านหิน หรืออะไรก็ไม่กลัว แต่ขอให้มีการเปิดเผยข้อมูลบนฐานที่เป็นธรรม เปิดโอกาส อย่าล็อคสเปค ทั่วโลกพิสูจน์มาแล้วว่าพลังงานหมุนเวียนเป็นการลงทุนที่ถูกที่สุด แต่ไทยปิดกั้น

ปิยสวัสดิ์ : อ่านหนังสือพิมพ์เห็นประกาศว่า จะทำให้การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นวาระแห่งชาติ ฟังดูแล้วตลก โรงไฟฟ้าควรจะมีโรงไฟฟ้าที่หลากหลาย แต่ถ้านิวเคลียร์คงนาน เป็นไปไม่ได้ ถ้าเป็นถ่านหินคงมีการเข้ามาประมูลแข่งขันด้วย ทีนี้ถ่านหินเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมแต่ก็มีเทคโนโลยีที่จะจัดการได้ แม่เมาะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ซึ่งถ้าจะทำโรงไฟฟ้าถ่านหินจริงๆ สิ่งแรกที่จะทำก็ควรที่จะไปแก้ปัญหาที่แม่เมาะก่อน เลิกเลี้ยงเสียที แก้ปัญหาให้ชาวบ้านให้มันจบลงไป และที่สำคัญที่ควรพิจารณาคือภาวะโลกร้อน ถ่านหินทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เชื่อไหมว่าทั่วโลกจะมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2593 ดังนั้นโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ๆ จะต้องมีอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะช่วยกำจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หมายความว่าต้นทุนก็จะสูงขึ้นอีก ฉะนั้นการจะทำอะไรในอนาคตก็ควรจะต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย โดยเฉพาะรัฐบาลนี้ที่เอะอะก็เออีซี เอะอะก็มาตรฐานต่างชาติ เพราะฉะนั้นก็คงจะต้องดูในเรื่องของมาตรฐานต่างชาติและมาตรฐานสากลในเรื่องของการใช้พลังงานด้วย

ผู้ดำเนินรายการ : ข่าววิกฤติพลังงานครั้งนี้จะทำให้ระบบพลังงานของไทยเสียไปหรือไม่ และกระทบกับเรื่องเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง

ปิยสวัสดิ์ : ในเมื่อไม่วิกฤติจริงก็ไม่ดับ คนที่จุดพลุขึ้นมาก็กลายเป็นตัวตลกมากกว่า ที่ทำให้ความน่าเชื่อถือของพลังงานหายไป

ผู้ดำเนินรายการ : ในระยะยาวเราจะรับมืออย่างไรในเรื่องของพลังงานที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน

ปิยสวัสดิ์ : จะทำให้ยั่งยืนอย่างไร ผมว่าการผลิตไฟฟ้าต้องมีเชื้อเพลิงหลากหลาย พลังงานหมุนเวียนเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาก

ชื่นชม : แผนอนุรักษ์พลังงานเป็นแผนที่ดีมาก มีการอนุมัติงบไปแล้ว 29,599 ล้านบาท ไม่ใช่น้อยๆ เลย หวังว่าตรงนี้จะสามารถทำได้จริง ซึ่งจะติดตามต่อไป