ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้(29 กันยายน 2565) ที่ระดับ 37.93 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 38.30 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทยมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 37.90-38.20 บาท/ดอลลาร์
นายนายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า บรรยากาศในตลาดการเงินพลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงได้อีกครั้ง หลังจากที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ได้ประกาศเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษระยะยาวแบบไม่จำกัดจำนวน เพื่อลดความผันผวนในตลาดบอนด์อังกฤษ ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี อังกฤษ (Gilt-10y) ปรับตัวลดลงกว่า 50bps สู่ระดับ 4.01% และยังส่งผลให้บอนด์ยีลด์ระยะยาวทั่วโลกต่างปรับตัวลดลงตาม โดยในฝั่งสหรัฐฯ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ปรับตัวลงกว่า 28bps สู่ระดับ 3.73% ซึ่งการปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ ผู้เล่นในตลาดกลับเข้าซื้อหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อีกครั้ง (Meta +5.4%, Amazon +3.2%, Alphabet +2.6%) ทำให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq พุ่งขึ้นกว่า +2.05% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.97%
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวผันผวน ก่อนที่จะอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) พลิกกลับมาปรับตัวลดลงสู่ระดับ 112.6 จุด (-1.8%) หลังจากที่ตลาดการเงินพลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยง ทำให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรเงินดอลลาร์ออกมาบ้าง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังถูกกดดันจากการแข็งค่าขึ้นของเงินปอนด์อังกฤษ (GBP) รวมถึงเงินยูโร (EUR) กว่า +1.5% หลังจากที่ BOE ประกาศเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษแบบไม่จำกัดจำนวนและช่วยฟื้นความเชื่อมั่นให้กับตลาดการเงิน

อย่างไรก็ดี Krungthai GLOBAL MARKETS มองว่า ควรติดตามผลกระทบของมาตรการดังกล่าว ควบคู่ไปกับท่าทีของรัฐบาลอังกฤษว่าจะมีการปรับเปลี่ยนแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและแผนการลดภาษี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลอังกฤษให้กลับมาได้หรือไม่ เพราะหากรัฐบาลอังกฤษยังยืนกรานใช้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าว ก็มีโอกาสที่มาตรการลดความผันผวนของตลาดการเงินโดย BOE อาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะหยุดการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์อังกฤษและหยุดการอ่อนค่าลงของเงินปอนด์ได้ ทั้งนี้ การปรับตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้น +2.6% กลับสู่ระดับ 1,666 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งหากราคาทองคำสามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ใกล้โซนแนวต้านแถว 1,680-1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก็อาจเริ่มเห็นแรงขายทำกำไรการรีบาวด์ออกมาบ้าง ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรดังกล่าวก็มีส่วนที่จะช่วยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทได้
นอกเหนือจากผลการประชุม กนง. ตลาดจะรอจับตา ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดโดยเฉพาะประธานเฟด Powell (รวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อย่าง Bostic, Bowman และ Daly) เพื่อประเมินมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดท่านอื่นๆ อาทิ Bullard ได้ออกมาสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าจะคุมปัญหาเงินเฟ้อได้ในวันก่อนหน้า (ซึ่งเป็นปัจจัยที่กดดันให้ตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงและผันผวนต่อเนื่อง)
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท Krungthai GLOBAL MARKETS ประเมินว่า จุดกลับตัวของเงินดอลลาร์ยังคงไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ หากตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ทำให้เงินบาทมีโอกาสผันผวนในฝั่งอ่อนค่าและอาจทดสอบโซนแนวต้าน 38.00 บาทต่อดอลลาร์ โดยประเมินว่า มีโอกาสที่ในวันนี้ เงินบาทอาจอ่อนค่าทะลุระดับ 38.00 บาทต่อดอลลาร์ ขึ้นไปทดสอบโซนแนวต้านถัดไปแถว 38.20 บาทต่อดอลลาร์ได้ หาก กนง. มีมติขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่เราคาด ในขณะที่ผู้เล่นในตลาดเริ่มคาดหวังให้ กนง. เร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท
กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets) ประเมินค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 38.00-38.30 บาท/ดอลลาร์
ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลัง กนง. มีมติเอกฉันท์ ปรับดอกเบี้ยขึ้น 25 bps เป็น 1% โดย ธปท.ให้น้ำหนักเรื่องการฟื้นตัวเศรษฐกิจในประเทศ และมองว่าการทยอยปรับดอกเบี้ยเหมาะสมแล้ว และจะติดตามดูแลค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด
เมื่อวานนี้ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีทำจุดสูงสุดที่ 4% ก่อนย่อตัวลงมาหลังจากอังกฤษประกาศเข้าซื้อพันธบัตรชั่วคราวเพื่อสร้างเสถียรภาพต่อเศรษฐกิจ ดัชนีดอลลาร์ย่อลงมาที่ 112.66 หลังจากแตะ 114.78 สูงสุดในรอบ 20 ปี
ดอลลาร์อาจปรับฐานหากเฟดขึ้นดอกเบี้ยน้อยกว่า 0.75%

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 23 กันยายน นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยได้กล่าวในงานสัมมนา “ดอกเบี้ยขาขึ้น Recession และการรับมือกับตลาดที่ผันผวน” ว่า แรงซื้อเงินดอลลาร์ที่มีอย่างต่อเนื่องหลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)ขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้เงินหลายสกุลอ่อนค่าลง
ความเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์เทียบเงินบาทก็มีลักษณะเดิมนับตั้งแต่สงครามยูเครน มาจากเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับเงินยูโรและสกุลอื่น หรือดัชนีดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น และส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยภายในของไทยเอง แต่โดยรวมปัจจัยที่ขับเคลื่อนค่าเงินทั่วโลกคือ เฟด ผ่านการขึ้้นดอกเบี้ย
สำหรับเงินบาทเทียบดอลลาร์มาจากส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐที่ห่างขึ้น โดยทุกดอกเบี้ยที่เฟดหนีไปจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย 0.25% ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 38 สตางค์
การขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้นก็ยิ่งทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น ก็มีผลกระทบต่อสหรัฐฯเอง เมื่อประเมินจากปัจจัยพื้นฐาน บริษัทสหรัฐฯได้ขยายธุรกิจออกไปต่างประเทศจำนวนมาก แต่ละปีจากธุรกิจในต่างประเทศทำกำไรประมาณ 2.1 ล้านล้านเหรียญ การที่เงินดอลลาร์ดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุลจะมีแรงกดดันเมื่อนำเงินกลับเข้าสหรัฐ ทำให้กำไรที่ส่งกลับในรูปดอลลาร์อาจจะไม่มีจำนวนสูงนัก
แต่ก็มีโอกาสที่ค่าเงินดอลลาร์อาจจะปรับฐานได้ เมื่อประเมินจากสถานะของนักค้าเงิน เพราะนักค้าเงินส่วนใหญ่มีสถานะซื้อดอลลาร์ขายเงินสกุลท้องถิ่น เช่น ซื้อดอลลาร์ขายหยวน ขายวอน ขายสิงคโปร์ ที่สะท้อนภาพว่ามีการตุนดอลลาร์ไว้เยอะมาก และหากเฟดเริ่มขึ้นดอกเบี้ยไม่ถึง 0.75% ต่างจาก 3 ครั้งแรกที่ขึ้นครั้งละ 0.75% ก็อาจจะเป็นสัญญานที่เทขายทำกำไรระดับหนึ่ง และอาจจะมีการปรับฐานของเงินดอลลาร์
สำหรับแนวโน้มเงินดอลลาร์เทียบกับบาทในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน อาจจะเบ้สูงขึ้นรับการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด 0.75% เป็นครั้งที่ 3 และภายใน 1 เดือนอาจจะทดสอบ 36.50 และทดสอบระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์ได้ แต่ในช่วงสิ้นปีอาจจะอยู่ในช่วง 35-37 บาทต่อดอลลาร์
บาทอ่อนค่าเร็วกันยายน
ไทยพับลิก้าสำรวจความเคลื่อนไหวค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์จากอัตราอ้างอิงตั้งแต่ต้นปีพบว่า ในช่วงเดือนมกราคม จนถึงมีนาคมเคลื่อนไหวในระดับ 33-34 บาทต่อดอลลาร์
ในการประชุมเดือนมกราคมนัดแรกปี 2565 ของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC)ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.0%-0.25% แต่การประชุมเดือนมีนาคม มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 0.25-0.50%
เงินบาทอ่อนตัวลงมาแตะระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์ในวันที่ 21 เมษายน ตามทิศทางนโยบายดอกเบี้ยขาขึ้นซึ่งที่นักลงทุนคาดกันว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างมาก และก็เป็นไปตามคาดการประชุมเดือนพฤษภาคมเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.5% มาที่ระดับ 0.75% – 1%
หลังจากนั้นเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องมาที่ 35.0790 ในวันที่ 1 มิถุนายน ก่อนหน้าที่เฟดจะมีมติขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.75% สู่ระดับ 1.50-1.75% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดในรอบ 28 ปี
ค่าเงินบาทยังอ่อนค่าลงในวันที่ 6 กรกฎาคมที่ 36.0170 บาทต่อดอลลาร์ และลงมาที่ 37.0110 บทต่อดอลลาร์ในวันที่ 16 กันยายน และอ่อนค่าอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของเดือนจนทะลุ 38 บาทต่อดอลลาร์ในวันที่ 28 กันยายน
ทั้งนี้เฟดได้ขึ้นดอกเบี้ยถึงครั้งละ 0.75% ในการประชุมเดือนกรกฎาคมและเดือนกันยายน