ThaiPublica > เกาะกระแส > ไทยใช้งบการศึกษาสูงกว่ากลุ่ม OECD ระบุปี’59 เกือบ 9 แสนล้าน จัดสรรไม่มีประสิทธิภาพ เด็กยากจนออกกลางคัน-ไม่เรียนต่อ

ไทยใช้งบการศึกษาสูงกว่ากลุ่ม OECD ระบุปี’59 เกือบ 9 แสนล้าน จัดสรรไม่มีประสิทธิภาพ เด็กยากจนออกกลางคัน-ไม่เรียนต่อ

11 ตุลาคม 2018


วันที่ 11 ตุลาคม 2561 โครงการพัฒนาระบบการจัดการทรัพยากรเพื่อพัฒนาสุขภาพและการศึกษาของนักเรียน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และธนาคารโลก (World Bank) จัดเสวนา “เจาะลึกรายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศไทย”

รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญสวัสดิ์สุทธิ์ หัวหน้าโครงการพัฒนาระบบการจัดการทรัพยากรเพื่อพัฒนาสุขภาพและการศึกษาของนักเรียน อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โครงการฯ ร่วมกับ กสศ.และ สสส.จัดทำข้อมูลรายจ่ายด้านการศึกษา ปี 2551-2559 พบว่า ประเทศไทยใช้งบประมาณลงทุนด้านการศึกษาปี 2559 มากถึง 878,878 ล้านบาท คิดเป็น 6.1% ของจีดีพี สูงกว่าประเทศกลุ่ม OECD ที่ลงทุนเพียง 5.2% ของจีดีพี ขณะที่งบประมาณด้านการศึกษาต่องบประมาณแผ่นดิน คิดเป็น 1 ใน 4 ของงบประมาณแผ่นดิน (รวมส่วนกลางและท้องถิ่น) ถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก และกลุ่ม OECD

ในภาพรวมประเทศไทยมีการลงทุนด้านการศึกษาสูง 9 แสนล้าน แสดงว่าไม่ได้ขาดแคลนทรัพยากร แผนงานด้านการศึกษาได้รับงบประมาณแผ่นดินสูงสุดกว่าร้อยละ 20 เฉพาะรายจ่ายในส่วนของภาครัฐกว่า 6 แสนล้านบาทถูกนำไปใช้จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 70% อุดมศึกษา 19% เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ไทยใช้จ่ายสูงในระดับประถมศึกษา แต่ต่ำเกินไปในระดับอาชีวะที่มีอยู่ราว 4%

พร้อมย้ำว่า “งบประมาณเพียงพอแต่จัดสรรทรัพยากรไม่ดี เหตุกระจายงบต่อพื้นที่เหลื่อมล้ำ 3 เท่า ครอบครัวจน แบกรายจ่ายสูงกว่า ครอบครัวรวย 4 เท่า”

รศ.ดร.ชัยยุทธ์ กล่าวต่อว่า หากมองไปที่ครัวเรือนไทยร่วมจ่ายเกือบ 2 แสนล้านบาท เฉลี่ยปีละ 11,330 บาทต่อคน โดยครัวเรือนยากจนจะแบกรับอยู่ที่ 22% ของรายได้ สูงกว่าครัวเรือนที่มีฐานะร่ำรวยที่รับภาระเพียง 6 % ของรายได้เท่านั้น หรือสูงกว่า 4 เท่า ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในปีงบประมาณ 2559 มีมูลค่ารวม 28,000 ล้านบาท พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 70 เป็นงบบุคลากร งบลงทุน งบดำเนินงาน และงบรายจ่ายอื่น โดยมีงบเงินอุดหนุนอยู่เพียงร้อยละ 30 เท่านั้น ซึ่งในจำนวนนี้คิดเป็นงบประมาณเพื่อช่วยเหลือเด็กยากจน ลดปัญหาการออกกลางคัน เงินอุดหนุนเด็กยากจนและพักนอนในระบบโรงเรียนอยูที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8 ของเงินอุดหนุนทั้งหมด โดยสามารถจัดสรรให้เด็กยากจนที่จำนวน 1.6 ล้านคน

รศ.ดร.ชัยยุทธ์กล่าวเพิ่มเติมว่าปัญหาคือภาครัฐใช้จ่ายสูง แต่ประสิทธิภาพการใช้งบประมาณต่ำ ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสและด้านคุณภาพ เช่น เด็กจากครอบครัวยากจนออกกลางคัน ลูกคนรวยเรียนต่อในระดับสูงได้มากกว่าคนจนทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอุดมศึกษา คุณภาพการจัดการศึกษาที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างเมืองและชนบท ขณะที่รูปแบบการอุดหนุนส่วนใหญ่ยังเป็นลักษณะการอุดหนุนแนวราบ คือ เด็กนักเรียนได้รับเงินอุดหนุนเท่ากันทุกคน แม้ว่าจะมีความขัดสนต่างกันมาก ดังนั้นเด็กที่มีฐานะยากจนกว่าเด็กคนอื่นๆ จึงมีปัจจัยเสี่ยงที่จะหลุดออกนอกระบบการศึกษามากกว่า หรือไม่เรียนต่อ รูปแบบการอุดหนุนเพื่อสร้างความเท่าเทียมกันจึงควรมีลักษณะการอุดหนุนในแนวดิ่งมากกว่า คือ มีการจัดสรรตามความจำเป็นของผู้เรียนที่มีสภาพแตกต่างกัน

“กสศ.เสนอเปลี่ยนวิธีจัดสรรงบประมาณประเทศ แบบเสมอภาค มุ่งเน้นปัญหา ความต้องการของพื้นที่-ผู้เรียน แก้เหลื่อมล้ำและช่วยรัฐประหยัดงบได้จริง” รศ.ดร.ชัยยุทธ์กล่าว

ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ปัจจุบันการจัดสรรทรัพยากรด้านการศึกษาของประเทศไทยยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำอยู่ แม้ว่าการจัดสรรจะใช้หลักการจัดสรรเงินรายหัวเท่ากันและมีการจัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มเติมแก่นักเรียนยากจนด้อยโอกาส แต่ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าในสภาพความเป็นจริงการกระจายงบประมาณในแต่ละพื้นที่ยังคงมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก โดยงบประมาณเฉลี่ยต่อนักเรียนในแต่ละจังหวัดมีความแตกต่างกันมากถึง 3 เท่าตัว โดยหากนักเรียนเรียนอยู่ในบางจังหวัดจะได้รับงบประมาณรายจ่ายด้านการศึกษาอยู่ที่ 27,145 ในขณะที่นักเรียนที่อยู่ในอีกจังหวัดอาจได้รับงบประมาณสูงถึง 74,757 บาทต่อคนต่อปี โดยความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรนี้กลับมิได้สอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละพื้นที่

“จังหวัดที่มีฐานะทางเศรษฐกิจครัวเรือนยากจนที่สุดกลับได้งบอุดหนุนต่อหัวน้อยกว่าจังหวัดฐานะปานกลาง และเมื่อศึกษาเชิงลึกลงด้วยเครื่องมือทางภูมิสารสนเทศแล้วจะพบว่าปัญหาการขาดแคลนครูของโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารและการกระจุกตัวของครูในพื้นที่ราบเขตเมืองเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรด้านค่าใช้จ่ายครูและบุคลากรทางการศึกษาระหว่างพื้นที่ยากจนและพื้นที่ในเมือง” ดร.ไกรยสกล่าว

ดร.ไกรยสกล่าวต่อว่า ผลการวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่าหากจะลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเราจำเป็นต้องมีเครื่องมือสนับสนุนการปฏิรูประบบการจัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาให้มุ่งเน้นความเสมอภาคมากขึ้น (Equity-based Budgeting) ซึ่งไม่ใช่การจัดสรรด้วยสูตรเดียวกันทั้งประเทศ แต่ใช้หลักการนำข้อมูลความจำเป็นของผู้เรียน และสถานศึกษา รวมทั้งบริบทเฉพาะในแต่ละพื้นที่ มาคิดคำนวณอยู่ในสูตรการจัดสรรงบประมาณด้วย สิ่งนี้จะช่วยให้ระบบการศึกษาไทยสามารถบรรลุเป้าหมายทั้งด้านประสิทธิภาพ และความเสมอภาคไปพร้อมกันได้ (Equity & Efficiency Gain) เพราะนอกจากผู้เรียน โรงเรียนจะได้รับการจัดสรรทรัพยากรที่สอดคล้องกับความจำเป็นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาแล้ว รัฐบาลจะสามารถประหยัดเงินงบประมาณได้จำนวนมากจากรายจ่ายที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการได้ด้วย

ด้านนายสนิท แย้มเกษร ผู้ช่วยเลขาธิการ สพฐ. กล่าวว่า สพฐ.ร่วมกับ กสศ.ใช้ข้อมูลจากงานวิจัยนี้ พัฒนารูปแบบการอุดหนุนเงินปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจน ตามสภาพความยากจนของแต่ละพื้นที่ พัฒนาวิธีการคัดกรองด้วยวิธีการให้คะแนนความยากจนโดยการวัดรายได้ครัวเรือนนักเรียน ควบคู่กับสถานะของครัวเรือน วิธีการดังกล่าวนี้จะสามารถจำแนกระดับความยากจนว่าเด็กนักเรียนคนใดสมควรได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน คาดว่าจะช่วยลดอัตราการออกกลางคันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นก้าวแรกของการปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณเพื่อสร้างความเสมอภาคอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นนโยบายที่ทางกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญ