ThaiPublica > คนในข่าว > “ลิซ ทรัสส์” นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร

“ลิซ ทรัสส์” นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร

6 กันยายน 2022


ที่มาภาพ: https://www.conservatives.com

ลิซ ทรัสส์ ก้าวขึ้นสู่นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของสหราชอาณาจักร แทนนายบอริส จอห์นสันที่ลาออกไปก่อนหน้า

ลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศคนปัจจุบันของสหราชอาณาจักรคว้าชัยในการแข่งขันชิงผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยม(หรือที่มักเรียกว่า Tory ซึ่งเป็นชื่อเดิมของพรรค) จากการประกาศของคณะกรรมการ(1922 Committee)ของพรรคอนุรักษ์นิยมเมื่อวันจันทร์(5 ก.ย.) ในรายงานข่าว Liz Truss becomes UK’s 3rd female premier, replacing Boris Johnson

ทรัสส์ ได้รับคะแนนโหวตจากสมาชิกพรรค 81,326 เสียง ขณะที่ริชี ซูนัก คู่ต่อสู้ของเธอได้รับคะแนนเสียง 60,399 คะแนน

ทรัสจะเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศแทนนายบอริส จอห์นสัน และจะเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของสหราชอาณาจักรต่อจากนางมากาเร็ต แธตเชอร์และนางเทเรซา เมย์

ทั้งนางมากาเร็ต แธทเชอร์และนางเทเรซ่า เมย์ ต่างก็มาจากพรรคอนุรักษ์นิยม

ทรัสส์ จะเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เพื่อรับการแต่งตั้งเป็น นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ อย่างเป็นทางการในวันนี้

News18 รายงานว่า ลิซ ทรัสส์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 56 ของสหราชอาณาจักร เคยเป็นอดีตสมาชิกพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย

ทรัสส์เป็นส.ส.จากเขตเลือกตั้งทางตะวันตกเฉียงใต้ของนอร์โฟล์คและเป็นส.ส.มาตั้งแต่ปี 2010 ทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของสหราชอาณาจักรภายใต้การนำของอดีตนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน และยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสตรีและความเท่าเทียม

ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/conservatives/photos

วัยเรียนชอบสวมบทแธตเชอร์

เมื่อตอนที่เธอยังเป็นนักเรียน ทรัสส์ ชอบสวมบทบาทเป็นมากาเร็ต แธตเชอร์ ซึ่ง News18 ตั้งคำถามว่า ทรัสส์จะสามารถเป็นแบบแธตเชอร์ในการทำหน้าที่ ณ บ้านที่ 10 บนถนนดาวนิ่งได้หรือไม่

ทรัสส์ในวัย 47 ปีเกิดที่อ็อกซ์ฟอร์ด พ่อของเธอเป็นศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์ และแม่ของเธอเป็นพยาบาล ทรัสส์บอกว่าพ่อแม่ของเธอจัดอยู่ในกลุ่มฝ่ายซ้าย ครอบครัวของเธอไม่ได้มีส่วนร่วมของการเมืองอย่างแข็งขันนัก แต่เข้าร่วมชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ปลดอาวุธนิวเคลียร์ในช่วงที่อดีตนายกรัฐมนตรีมากาเร็ต แธตเชอร์อนุญาตให้ติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ที่กองทัพอากาศ Greenham Common ทางตะวันตกของลอนดอน

ทรัสส์รับบทเป็นมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ในการเลือกตั้งจำลองที่โรงเรียนแต่ก็แพ้ แต่จำได้ว่าหัวใจของเธอพองโตด้วยความปลื้มปริ่มเมื่อได้รับบทแธตเชอร์ ทั้งนี้ทรัสไปโรงเรียนที่กลาสโกว์และลีดส์

จากนั้นทรัสส์เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ในสาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ และร่วมกิจกรรมด้านการเมืองของนักศึกษาอย่างแข็งขัน

ทรัสส์แต่งงานในปี 2000 กับฮิวจ์ โอเลียรี่ นักบัญชี ซึ่งในการให้สัมภาษณ์ The Telegraph ทรัสส์บอกว่า เขาเป็นคนที่นิ่งๆ แต่เป็นสมาชิกที่แข็งขันของพรรคอนุรักษ์นิยมในระดับท้องถิ่น

ทรัส์มีลูกสาวที่อยู่ในวัยรุ่นสองคน คนโตชื่อฟรานเซสอายุ 16 ปี คนที่สองชื่อ ลิเบอร์ตี้ อายุ 13 ปี ซึ่งทั้งคู่เข้าร่วมการรณรงค์เพื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้เป็นแม่

ความทะเยอทะยานทางการเมืองของลิซ ทรัสส์ ปรากฏให้เห็นตั้งแต่สมัยที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด โดยเริ่มต้นจากการเป็นสมาชิกพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย และมีอยู่ช่วงหนึ่งเธอบอกว่าจะยกเลิกสถาบันกษัตริย์ในปี 1994

ทรัสส์หันมาเป็นสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมขณะเรียนอยู่ที่อ็อกซ์ฟอร์ด และลงแข่งขันการเลือกตั้งสองครั้งในปี 2001 และ 2005 ในเฮมส์
เวิร์ธและคาลเดอร์ แวลเล่ย์ ตามลำดับ แต่ก็แพ้เลือกตั้ง

เธอชนะการเลือกตั้งครั้งแรกจากเมืองกรีนิช ทางตะวันออกเฉียงใต้ของลอนดอน ในปี 2006 ซึ่งเธอได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภา ในปี 2010 นายเดวิด คาเมรอน หัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมและอดีตนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ต้องการให้ทรัสส์ติดอยู่ในรายชื่อผู้สมัครที่มีลำดับความสำคัญต้นๆหรือ A List และทรัสส์ก็คว้าชัยการเลือกตั้งในเขตตะวันตกเฉียงใต้ของนอร์โฟล์ค

สองปีหลังจากที่เธอเป็น ส.ส. ก็ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการในปี 2012 และในปี 2014 ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม

สัญญาอะไรไว้
ทรัสส์สัญญาว่าจะไม่ใช้นโยบายภาษีใหม่เพิ่ม และจะยกเลิกแผนการปรับขึ้นภาษีนิติบุคคล ซึ่งเดิมจะเพิ่มขึ้นจาก 19% เป็น 25% ในปี 2023 รวมทั้งจะส่งเสริมนวัตกรรมและกิจการด้วยการกำหนดโซนภาษีอัตราต่ำและโซนการกำกับดูแลที่ผ่อนปรน นอกจากนี้จะระงับการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมหรือที่รู้จักในชื่อ Green Levy ซึ่งสหราชอาณาจักรใช้เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายสำหรับโครงการเพื่อสังคมและโครงการสีเขียว

ที่มาภาพ: https://www.conservatives.com/

สื่อต่างประเทศเรียก Iron Weathercock

บรรดาผู้นำระดับโลกได้ส่งคำแสดงความยินดีไปยังลิซ ทรัสส์ แต่ในสื่อต่างประเทศก็มีคำพูดที่เย้ยหยันด้วยเช่นกัน จากรายงาน‘The Iron Weathercock’: World reacts to Truss winของบีบีซี

ในฝรั่งเศส เธอถูกขนานนามว่าไม่ใช่ไอรอน เลดี้(Iron Lady)หรือหญิงเหล็ก ซึ่งเคยเป็นสมญานามของนายกรัฐมนตรีมาร์กาเร็ต แธตเชอร์ของสหราชอาณาจักร แต่เป็น Iron Weathercock คนที่กลับไปกลับมา (Iron Weathercock คือเครื่องแสดงทางลม ซึ่งติดอยู่บนยอดหลังคาโดยมากทำเป็นรูปไก่ เมื่อเปรียบกับคนที่จัดว่าบุคคลที่เปลี่ยนแนวคิดกลับไปกลับมา)

โดยอ้างถึงการเปลี่ยนความคิดของทรัสส์ กับการที่สหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป เดิมก่อนลงประชามติในปี 2016 ทรัสส์อยู่ในฝ่ายสนับสนุนให้อยู่ต่อหรือ Remain โดยบอกว่า Brexit จะเป็น ‘โศกนาฏกรรมสามประการ’ สำหรับสหราชอาณาจักร แต่ทรัสส์กลับมาสนับสนุนให้แยกตัวหลังจากนั้น

  • นับถอยหลัง Brexit …อังกฤษจะออกแบบไร้ข้อตกลงหรืออยู่ต่อ สภายึดอำนาจรัฐบาลเริ่มกระบวนการลงมติชี้อนาคต
  • Brexit หรือ Break It? -โค้งสุดท้ายสุดสะบักสบอมของเบรกซิต (1 )
  • Brexit หรือ Break It? :โค้งสุดท้ายสุดสะบักสบอมของ Brexit (ตอน2)
  • Brexit หรือ Break It? : โค้งสุดท้ายสุดสะบักสบอมของ Brexit (3)
  • ด้านสื่อ Corriere della Sera ของอิตาลีเปรียบเทียบทรัสส์กับแธตเชอร์ แต่เปรียบเปรยสุนทรพจน์ของผู้นำคนใหม่ว่า ทื่อเหมือนหุ่นยนต์มากกว่า

    ผู้นำคนแรกที่แสดงความยินดีต่อทรัสส์คือโอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี

    “ในช่วงเวลาที่ท้าทายเหล่านี้” นายกรัฐมนตรีเยอรมนีใช้ภาษาอังกฤษ ลอนดอนและเบอร์ลินจะร่วมมือกันในฐานะ “หุ้นส่วนและเพื่อน”

    แต่เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ ลีเยน ประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปแสดงความยินดีด้วยถ้อยคำที่อบอุ่นกว่า แต่ก็ไม่วายเอ่ยถึงข้อกำหนดที่เกี่ยวกับไอร์แลนด์เหนืออันเนื่องจาก Brexit โดยทวีตว่า “หวังว่าจะมีความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ ในแง่ของข้อตกลงของเรา”

    นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดีของอินเดียส่งความปราถนาดีมายังลิซ ทรัสส์ ส่วน มาแตอุช มอราวีแยตสกี นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ กล่าวว่า “พอใจเป็นอย่างมาก” กับคำมั่นของเธอที่มีต่อยูเครน

    ส่วนปฏิกิริยาจากรัสเซียเป็นไปตามคาด คือ ออกแนวเชิงลบมากขึ้น โดยพิธีกร NTV ของก๊าซพรอมกล่าวว่า การเลือกทรัสส์เป็น “หายนะ” สำหรับสหราชอาณาจักร

    กระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียซึ่งก่อนหน้านี้ไม่สนใจทรัสส์เสียเลย ยังไม่ได้การเคลื่อนไหวอย่างเป็นทางการ

    ในเดือนกุมภาพันธ์นายเซอร์เก้ ราลอฟนักการทูตระดับสูงของมอสโกฉายภาพการพบกับเธอว่าเป็นการ “การสนทนาระหว่างคนหูหนวกกับคนใบ้”

    อย่างไรก็ตาม ชัยชนะของทรัสส์ได้รับการต้อนรับจากบางส่วนในรัสเซีย นายเลโอนิด โวลคอฟ หัวหน้าคณะทำงานของนายอเล็กซี นาวาลนี หัวหน้าฝ่ายค้านที่ถูกจำคุกกล่าวว่า “เป็นข่าวที่ดีเยี่ยม” โดยทวีตในภาษารัสเซียว่า “ในเครมลิน พวกเขากำลังเปิดแชมเปญตอนที่จอห์นสันลาออก แต่ไม่มีเหตุใดที่จะบอกได้ว่าทรัสส์จะอ่อนลง”

    ประเทศจีนยังไม่มีการตอบสนองอย่างเป็นทางการ แต่นักข่าวจีนที่มีชื่อเสียงเสนอมุมมองในเชิงลบในทำนองเดียวกันต่ออนาคตของสหราชอาณาจักรภายใต้การนำของทรัสส์

    หู สีจิ้น จาก Global Timesซึ่งเป็นสื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทวีตว่า “ทรัสน่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่ธรรมดาที่สุดคนหนึ่งของอังกฤษ”

    “ทรัสต้องการที่จะเป็น “สตรีเหล็กคนใหม่” ของอังกฤษ แต่เธออาจไม่โชคดีเหมือนแธตเชอร์”