
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th
“ประวิตร” ห่วงเงินบาทอ่อนค่า สั่งคลังติดตามใกล้ชิด – เตรียมจัดมาตรการเยียวยาน้ำท่วม – มติ ครม. ลดเงินสมทบประกันสังคม 3 เดือน เริ่ม ต.ค. นี้ – ไฟเขียว ธ.ก.ส. สำรองจ่ายค่าตัดอ้อยสด 8,320 ล้าน ลด PM 2.5 – เยียวยาเรือประมง 59 ลำ 287 ล้าน แก้ปม IUU เฟส 2 – จัดงบฯ 212 ล้าน หนุนต่างชาติถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย 6 เรื่อง – เพิกถอนพื้นที่อุทยานเขาพระวิหาร 42 ไร่ สร้างอ่างเก็บน้ำ
เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประวิตร ได้มอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ และตอบคำถามสื่อมวลชนแทนนายกรัฐมนตรี
ชื่นชมผลงาน สคบ. สั่งประชาสัมพันธ์ต่อเนื่อง
นายอนุชา กล่าวว่า ก่อนการประชุม ครม. วันนี้ นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้นำคณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เข้าพบ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เพื่อประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีดิจิทัลในการบริการประชาชน และระบุว่าการดำเนินการในสถานการณ์โควิด-19 ได้ดำเนินการไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีสถิติเป็นที่น่าพอใจ ทั้งการบังคับใช้กฎหมาย ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และแก้ไขปัญหาหนี้ต่างๆ รวมถึงการดำเนินงานเชิงรุก เพื่อแก้ปัญหาให้ผู้บริโภค
“พลเอก ประวิตรชื่นชมผลการดำเนินงาน ทำให้ประชาชนในวงกว้างได้รับประโยชน์ และมีข้อสั่งการเพิ่มเติมให้บูรณาการการทำงานร่วมกันของภาครัฐและเอกชน เพื่อป้องกันและแก้ปัญหา ถือเป็นการบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชน คุ้มครองสิทธิในด้านต่างๆ พร้อมเน้นย้ำให้ประชาสัมพันธ์ผลงานอย่างต่อเนื่อง สร้างการรับรู้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเป็นกำลังใจให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทุกคน”

ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th
เตรียมจัดมาตรการเยียวยาน้ำท่วม
นายอนุชา รายงานข้อสั่งการของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เรื่องสถานการณ์น้ำว่า ตั้งแต่วันนี้ถึง 24 กันยายน 2565 ยังคงมีฝนตกหนักต่อเนื่องหลายพื้นที่ โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อเตรียมแผนบริหารจัดการรองรับสถานการณ์น้ำอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นด้านกำลังคน เครื่องสูบน้ำ กระสอบทราย เครื่องเร่งระบายน้ำ รวมถึงยานพาหนะ และกำหนดมาตรการเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็ว
ปลื้มดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มสูงสุดในรอบ 8 เดือน
นายอนุชา กล่าวต่อว่า พลเอก ประวิตร ได้รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของเดือนกันยายน 2565 มีระดับที่เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม ทั้งนี้ในเดือนสิงหาคม 2565 นับว่ามีระดับความเชื่อมั่นสูงที่สุดในช่วง 11 เดือน
ขณะเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกันยายนก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ก็เป็นเดือนที่สาม นับว่าเป็นการเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 8 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยมีการปรับตัวดีขึ้นหลังจากโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง ทำให้การท่องเที่ยวในประเทศและจำนวนนักเดินทางต่างชาติปรับตัวดีขึ้น
ห่วงเงินบาทอ่อนค่า สั่งคลังติดตามใกล้ชิด
นายอนุชา กล่าวต่อว่า พลเอก ประวิตร มีข้อกังวลเรื่องราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงสถานการณ์เงินบาทมีการปรับตัวอ่อนค่าลง ดังนั้น ในการประชุมวันนี้จึงมีข้อสั่งการให้กระทรวงการคลังติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด ทั้งความผันผวนและการจัดประชุมต่างๆ เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อมูลจากทุกภาคส่วน และนำมาเป็นนโยบายการกำหนดเสถียรภาพต่างๆ
“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญและละเอียดอ่อน แต่ปัจจุบันเรื่องค่าเงินจะมีธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบ” นายอนุชา กล่าว
มติ ครม. มีดังนี้

ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/
ลดเงินสมทบประกันสังคม 3 เดือน เริ่ม ต.ค.นี้
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง กำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. …. ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 3 เดือน งวดเดือน ต.ค. – ธ.ค. 65 นี้ โดยลดอัตราเงินสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนตามมาตรา 33 โดยให้นายจ้างและผู้ประกันตนแต่ละฝ่ายจ่ายเงินร้อยละ 3 ของค่าจ้างผู้ประกันตน จากเดิมที่จ่ายอยู่ในอัตราร้อยละ 5 ในขณะที่กำหนดให้รัฐบาลจ่ายเงินในอัตราเท่าเดิมที่ร้อยละ 2.75 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และสำหรับผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ให้ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมจากเดิมในอัตราเดือนละ 432 บาทเป็นอัตราเดือนละ 240บาท ในช่วงระยะเวลา 3 เดือนด้วยเช่นกัน เพื่อบรรเทาภาระนายจ้างและผู้ประกันตนให้เหมาะสมสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและค่าครองชีพ
กรณีลดอัตราเงินสมทบงวดเดือน ต.ค. – ธ.ค. 65 นี้ จะส่งผลให้กองทุนประกันสังคมจัดเก็บเงินสมทบได้ลดลง 17,044 ล้านบาท โดยผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบลดลง 9,080 ล้านบาท และนายจ้างจ่ายลดลง 7,964 ล้านบาท เป็นการบรรเทาภาระ ของนายจ้างจากสภาวะเศรษฐกิจและการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทั่วประเทศ ให้นายจ้างมีสภาพคล่องเพิ่มและลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกันตน ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นด้วย
ไฟเขียว ธกส.สำรองจ่ายค่าตัดอ้อยสด 8,320 ล้าน ลด PM 2.5
นายอนุชา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดี เพื่อลดฝุ่น PM25 ฤดูการผลิตปี 2564/2565 กรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 8,319.74 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตามโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM25 ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ในอัตรา 120 บาทต่อตัน โดยใช้แหล่งเงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 8,159.14 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยเหลือเฉพาะชาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานเท่านั้น โดย ธ.ก.ส. จะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจำนวน 160.60 ล้านบาท
แนวทางการดำเนินงาน จะช่วยเหลือเฉพาะชาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานเท่านั้น โดยมีอัตราเงินช่วยเหลือเท่ากับเงินส่วนต่างรายได้ค่าแรงต่อวันที่ชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดได้น้อยกว่าชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยไฟไหม้ที่อัตรา 120 บาทต่อตัน เท่ากับฤดูการผลิตปี 2563/2564 ซึ่งฤดูการผลิตปี 2564/2565 มีปริมาณอ้อยสดทั้งสิ้น 67.99 ล้านตัน โดย ธ.ก.ส. จะโอนเงินช่วยเหลือเข้าบัญชีธนาคารของชาวไร่อ้อยทุกรายที่ตัดอ้อยสดส่งโรงงานโดยตรง หลังปิดหีบของฤดูกาลผลิตปี 2564/2565 เพียงครั้งเดียว (ภายในเดือนธันวาคม 2565)
สำหรับหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในภาคอุตสาหกรรมที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานทุกรายนั้น กรณีชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยสดคุณภาพดีให้กับโรงงานน้ำตาล จะต้องเป็นชาวไร่อ้อยที่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 และได้จัดทำคู่สัญญาส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลก่อนเปิดหีบอ้อย กรณีชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยสดคุณภาพดีให้กับโรงงานผลิตเอทานอล จะต้องเป็นชาวไร่อ้อยที่ได้ทำสัญญาส่งอ้อยเข้าโรงงานผลิตเอทานอลหรือขึ้นทะเบียนเกษตรกรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรณีชาวไร่อ้อยที่ส่งอ้อยสดคุณภาพดีให้กับโรงงานผลิตน้ำตาลทรายแดง จะต้องเป็นชาวไร่อ้อยที่ได้ทำสัญญาส่งอ้อยเข้าโรงงานผลิตน้ำตาลทรายแดง หรือขึ้นทะเบียนเกษตรกรของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เช่นกัน
ทั้งนี้ โครงการฯ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยหันมาตัดอ้อยสดส่งโรงงานมากขึ้น และตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5
เห็นชอบงบลงทุน รสก.ปี’66 วงเงิน 1.36 ล้านล้าน
นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบกรอบและงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปี 2566 วงเงินดำเนินการ 1,363,938 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน 276,274 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) กรอบการลงทุนสำหรับงานตามภารกิจปกติและโครงการต่อเนื่อง วงเงินดำเนินการ 1,163,938 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน 226,274 ล้านบาท และ (2) กรอบการลงทุนสำหรับการเพิ่มเติมระหว่างปี วงเงินดำเนินการ 200,000 ล้านบาท และวงเงินเบิกจ่ายลงทุน 50,000 ล้านบาท และให้ สศช. ปรับวงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปี 2566 ให้สอดคล้องกับผลการจัดสรรงบประมาณ ตาม พ.ร.บ. งบประมาณ ปี 2566 รวมถึงงบกลาง หรือ งบที่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามหลักเกณฑ์และวิธีการงบหรือได้รับความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณแล้ว พร้อมมอบหมายให้สภาพัฒนาฯ (ประธานสภาพัฒนาฯ) เป็นผู้พิจารณา อนุมัติการเปลี่ยนแปลงงบลงทุนระหว่างปีในส่วนงบลงทุน เพื่อการดําเนินงาน ปกติและโครงการต่อเนื่องที่การเปลี่ยนแปลงไม่มีผลกระทบต่อสาระสำคัญ
นอกจากนี้ที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ระดับกระทรวง และระดับ รัฐวิสาหกิจ โดยให้กระทรวงเจ้าสังกัดและรัฐวิสาหกิจรับข้อเสนอแนะ ในส่วนที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการ และให้รัฐวิสาหกิจ (จำนวน 44 แห่ง ภายใต้สังกัด 15 กระทรวง) รายงานผลความก้าวหน้าของการดําเนินงานและการลงทุนปี 2566 ให้ สศช. ทราบ ภายในวันที่ 5 ของเดือน รวมทั้งรายงานผลการดําเนินงานตามข้อเสนอแนะ และความก้าวหน้าการดำเนินโครงการลงทุนทุกไตรมาส พร้อมรับทราบประมาณการงบทำการประจำปี 2566 กําไรสุทธิ ประมาณ 67,692 ล้านบาท โดยมีรายได้ 1,715,119 ล้านบาท และประมาณการแนวโน้มการดําเนินงานช่วงปี 2567 – 2569 ของรัฐวิสาหกิจในเบื้องต้น การลงทุนเฉลี่ยประมาณปีละ 383,970 ล้านบาท และผลประกอบการจะมีกําไรสุทธิเฉลี่ยประมาณปีละ 80,487 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 8 ด้าน ให้รัฐวิสาหกิจดำเนินการ ดังนี้
1. การเบิกจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจ โดยให้รัฐวิสาหกิจเร่งรัดการเบิกจ่ายลงทุนให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติเบิกจ่ายลงทุน
2. การปรับปรุงงบลงทุนระหว่างปี โดยเฉพาะการลดกรอบวงเงินลงทุนควรเป็นผลกระทบที่เกิดจากปัจจัยภายนอกหรือปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้หรือเป็นการดำเนินการตามนโยบายเท่านั้น
3. การทบทวนสถานการณ์เป็นรัฐวิสาหกิจ ให้กระทรวงการคลัง เร่งพิจารณาความจำเป็นของการคงสถานะองค์กรเป็นรัฐวิสาหกิจในภาวะการปัจจุบัน หรือ อาจปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กรเป็นหน่วยงานภาครัฐอื่นที่สามารถดำเนินงานได้ตามวัตถุประสงค์รวมทั้งการปรับบทบาทการดำเนินงานภารกิจให้สอดรับกับบริบทปัจจุบันให้มากขึ้น
4. แนวทางการลงทุนในระยะต่อไป ให้พิจารณาเสนอขออนุมัติงบลงทุนที่สอดคล้องกับกรอบการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 และแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจด้วย
5. การจัดตั้งและกำกับดูแลบริษัทลูกหรือบริษัทในเครือ ซึ่งการพิจารณาการจัดตั้งบริษัทลูกหรือบริษัทในเครือ ควรพิจารณารายละเอียดข้อจำกัดของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการอย่างรอบคอบ
6. การปรับกระบวนการภาครัฐที่มีผลต่อการดำเนินงาน และการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เร่งรัดพิจารณา หรือดำเนินการในส่วนที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานและการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ เช่นการตอบข้อวินิจฉัยหรือข้อหารือด้านกฎหมายให้มีความชัดเจนโดยเร็ว
7. การพัฒนาบุคลากรของรัฐวิสาหกิจ ให้รัฐวิสาหกิจให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและรองรับการเปลี่ยนแปลงองค์กรพิจารณาเพิ่มสัดส่วนพนักงานที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่
8. การบริหารจัดการปัจจัยเสี่ยงภายใต้ความผันผวนทางเศรษฐกิจ โดยให้ติดตามสถานการณ์ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก เพื่อจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงในการดำเนินงานและการลงทุนรองรับได้ทันต่อสถานการณ์
นอกจากนี้ ยังได้ให้กระทรวงและรัฐวิสาหกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน การให้บริการ การลดต้นทุน การผลิตและการบริหารจัดการที่เหมาะสม ของแต่ละรัฐวิสาหกิจด้วย
เยียวยาเรือประมง 59 ลำ 287 ล้าน แก้ปม IUU เฟส 2
ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้ออกมาตรการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ให้เป็นไปตามกฎระเบียบสากล ส่งผลให้มีเรือประมงจำนวนหนึ่งไม่สามารถทำประมงได้ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ทำให้เจ้าของเรือต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเรือ ประกอบกับปัจจุบัน ปี 2565 มีจำนวนเรือที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงมากถึง 9,608 ลำ ซึ่งเกินกว่าระดับที่เหมาะสม อาจส่งผลให้ปริมาณสัตว์น้ำลดลงและหมดไป เนื่องจากไม่สามารถเจริญเติบโตได้ทัน
ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาความสมดุลของจำนวนเรือประมงพาณิชย์กับปริมาณสัตว์น้ำ รวมทั้งชดเชยเยียวยาให้กับเจ้าของเรือที่ได้รับผลกระทบ ครม. จึงมีมติอนุมัติโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบ เพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน ระยะที่ 2 กรอบวงเงิน 287.18 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าชดเชยเยียวยาให้กับเจ้าของเรือประมงจากมาตรการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งผ่านเกณฑ์เข้าร่วมโครงการระยะที่ 2 จำนวน 59 ลำ โดยใช้จ่ายจากงบกลางฯ ปี 2565 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โครงการนี้เป็นโครงการต่อเนื่องจากระยะที่ 1 ซึ่งได้จ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้กับเจ้าของเรือประมงไปแล้วจำนวน 305 ลำ (จากทั้งหมด 570 ลำ) งบประมาณรวมทั้งสิ้น 764.45 ล้านบาท การจ่ายเงินชดเชยการทำลายเรือประมงยังคงใช้เกณฑ์ตามเดิม โดยแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด คือ งวดที่ 1 จ่ายเงินร้อยละ 30 ของจำนวนเงินค่าชดเชย เป็นค่าใช้จ่ายในการแยกชิ้นส่วนเรือหรือทำลายเรือประมง งวดที่ 2 จ่ายเงินร้อยละ 70 ของจำนวนเงินค่าชดเชย โดยจ่ายหลังจากเจ้าของเรือแยกชิ้นส่วนเสร็จหรือทำลายเรือประมงเรียบร้อยแล้ว
ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า โครงการนี้จะช่วยให้ไทยสามารถบริหารจัดการเรือประมงให้มีจำนวนเหมาะสมกับปริมาณสัตว์น้ำได้ และช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดการทำประมงผิดกฎหมายจากการใช้เรือประมงที่ไม่มีใบอนุญาตทาการประมงพาณิชย์ รวมถึงเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบของเจ้าของเรือจากมาตรการของรัฐในการแก้ไขปัญหาการทาประมงผิดกฎหมาย สำหรับกลุ่มเป้าหมายโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะดำเนินการในระยะต่อไป คือ กลุ่มเรือที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ที่ต้องการเลิกอาชีพทำการประมง ซึ่งมีอยู่จำนวน 2,513 ลำ
ดึง “ทรัสตี-คราวด์ฟันดิง” อยู่ภายใต้ กม.ฟอกเงิน
ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบหลักการร่างกฎกระทรวง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ออกตามความในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) เสนอ ร่างกฎกระทรวงนี้ฉบับ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ “ผู้ประกอบธุรกิจทรัสตี” ตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์ เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน และ “ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง” ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็น “สถาบันการเงิน” ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อให้การกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวต้องปฏิบัติต่อผู้ลงทุนอย่างเป็นธรรม และป้องกันการนำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดมาลงทุน เนื่องจากปัจจุบันการลงทุนผ่านกองทรัสต์และผ่านระบบคราวด์ฟันดิง ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเพิ่มขึ้น ทำให้มีโอกาสที่นักลงทุนจะอาศัยช่องว่างของการตรวจสอบ นำเงินที่ได้จากการกระทำความผิดเข้าซื้อหน่วยลงทุนเพื่อฟอกเงิน โดยที่บริษัทตัวกลางไม่ได้รายงานความผิดปกติของธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยให้สำนักงาน ปปง. ทราบ
ดังนั้น เมื่อผู้ประกอบธุรกิจทรัสตีและผู้ประกอบธุรกิจให้บริการระบบคราวด์ฟันดิง เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแล้ว ผู้ประกอบการดังกล่าวจะต้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย อาทิ 1)การรายงานการทำธุรกรรม 2)การจัดให้ลูกค้าต้องแสดงตน 3)การกำหนดนโยบาย การรับลูกค้า การบริหารความเสี่ยงที่อาจเกี่ยวกับการฟอกเงินหรือการตรวจสอบ เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า เป็นต้น
ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า ครม. ได้เน้นย้ำให้การดำเนินการดังกล่าวต้องมีขั้นตอนที่ง่ายต่อการปฏิบัติ ไม่เป็นภาระมากเกินไป และต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ MSME พร้อมทั้งให้ สำนักงาน ปปง. พิจารณาข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และรับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
ปลดโควิดฯออกจากโรคต้องห้ามชาวต่างด้าวเข้า ปท.
ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดโรคต้องห้าม สำหรับคนต่างด้าว ซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร หรือ เข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎกระทรวงกำหนดโรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวฯ พ.ศ.2563 โดยยกเลิกโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ออกจากการเป็น โรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรตามมาตรา 12 (4) หรือเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามาตรา 44 (2) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ส่วนโรคต้องห้ามอื่นๆ ยังคงกำหนดไว้ตามเดิม ดังนี้ 1.โรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักร คือ 1)โรคเรื้อน 2)วัณโรคในระยะอันตราย 3)โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฎอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม 4)โรคยาเสพติดให้โทษ 5)โรคซิฟิลิสในระยะที่ 3 2.โรคต้องห้ามสำหรับคนต่างด้าวเข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร คือ 1)โรคเรื้อน 2)วัณโรคในระยะอันตราย 3)โรคเท้าช้าง 4)โรคยาเสพติดให้โทษ 5)โรคพิษสุราเรื้อรัง และ 6)โรคซิฟิลิสในระยะที่ 3 ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
แก้กฎ ก.พ.เพิ่ม “โรคจิต-อารมณ์ผิดปกติ” ห้ามรับราชการ
ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างกฎ ก.พ.ว่าด้วยโรค พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) เสนอ ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรคฉบับนี้ เป็นการปรับปรุงกฎ ก.พ. ว่าด้วยโรค พ.ศ. 2553 ที่กำหนดลักษณะต้องห้ามสำหรับผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือน ในการแก้ไขครั้งนี้ ได้ยกเลิก “โรควัณโรคในระยะแพร่กระจายเชื้อ” ออกจากลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะเข้ารับราชการพลเรือน เนื่องจากโรควัณโรคมีแนวโน้มที่ลดลงและใช้เวลาในการรักษาประมาณ 2 สัปดาห์ ก็สามารถหายได้ พร้อมกันนี้ ได้เพิ่มโรคจิต (Psychosis) หรือโรคอารมณ์ผิดปกติ (Mood Disorders) ที่มีอาการเด่นชัดรุนแรงหรือเรื้อรังและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ เป็นลักษณะต้องห้ามด้วย ส่วนโรคอื่นๆ ยังคงกำหนดเป็นลักษณะต้องห้ามตามเดิม ได้แก่ 1.โรคเท้าช้างในระยะที่ปรากฏอาการเป็นที่รังเกียจแก่สังคม 2.โรคติดยาเสพติดให้โทษ 3.โรคพิษสุราเรื้อรัง และ 4.โรคติดต่อร้ายแรงหรือโรคเรื้อรัง ที่ปรากฏอาการเด่นชัดหรือรุนแรงและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานในหน้าที่ ทั้งนี้ มีผลนับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ผ่านแผนรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์
นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบในร่างนโยบายและแผนปฏิบัติการว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2565-2570 ที่คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ได้จัดทำและเสนอมาเพื่อทำให้บริการที่สำคัญของประเทศไทยมีความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เพื่อความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคม โดยร่างนโยบายและแผนปฏิบัติการฯ นี้จะเป็นกรอบแนวทางการดำเนินการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ ที่มุ่งเน้นทั้งมิติการเสริมสร้างศักยภาพการป้องกัน มิติการรับมือและลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ และมิติการตอบสนองต่อเหตุภัยคุกคามและฟื้นฟูระบบให้กลับคืนสู่สภาวะปกติอย่างทันท่วงที
การจัดทำร่างนโยบายและแผนปฏิบัติการฯ นี้เป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติมาตรา 9 (1) และมาตรา 9 (3) พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 ที่จะทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติดังกล่าว นโยบายและแผนปฏิบัติการฯ จะใช้เป็นแผนแม่บทในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศไทย การพัฒนาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในภาพรวมที่ครอบคลุมในทุกมิติ และเพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ โดยกรอบแนวทางดำเนินการจะเป็นไปเพื่อเป้าหมายยุทธศาสตร์ 4 ด้านคือ
-
1. สร้างขีดความสามารถในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ด้านบุคลากร องค์ความรู้ และเทคโนโลยี (Capacity) ที่จะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่เป็นนวัตกรรมของประเทศ
2. บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ (Partnership) เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือและฟื้นคืนสู่สภาพปกติได้อย่างรวดเร็ว
3. สร้างบริการภาครัฐและโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศให้มีความมั่นคงปลอดภัยและฟื้นคืนสู่สภาพปกติได้ (Resilience)
4. สร้างศักยภาพของหน่วยงานระดับชาติให้มีคุณภาพและมาตรฐาน (Standard) เพื่อให้การบริหารจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากเรื่อง ความปลอดภัยไซเบอร์ ที่ส่งผลถึงประชาชนแล้วนั้น ตัวชี้วัดความปลอดภัยไซเบอร์ระดับโลก 2563 (Global Cybersecurity Index 2020) ที่จัดทำโดย ITU องค์การชำนาญพิเศษเฉพาะเรื่องด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารขององค์การสหประชาชาติได้ให้คะแนนประเทศไทย ค่าชี้วัดรวม 86.50 เป็นอันดับ 9 ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีค่าตัวชี้วัดด้านมาตรการทางกฎหมายของไทย อันเป็นจุดแข็งของประเทศ คือคะแนน 19.11 จาก 20 ซึ่งมีปัจจัยจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562
ในขณะที่ค่าตัวชี้วัดด้านอื่นๆ ได้แก่ มาตรการด้านองค์กร มาตรการด้านความร่วมมือ การพัฒนาศักยภาพขีดความสามารถ และมาตรการทางเทคนิคได้คะแนนลดหลั่นมาคือ 17.64, 17.34, 16.84 และ 15.57 ตามลำดับ ซึ่งเมื่อมีการจัดทำร่างนโยบายและแผนปฏิบัติการฯ และบังคับใช้เป็นกรอบแนวทางการดำเนินการแล้วจะทำให้คะแนนค่าตัวชี้วัดด้านอื่นๆ มีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มมากขึ้น อันจะสะท้อนถึงภาพลักษณ์ เสถียรภาพความมั่นคงทางไซเบอร์ สุดท้ายจะนำมาซึ่งเศรษฐกิจและประเทศในทางที่ดีขึ้น
รับเงินสนับสนุนจากกองทุนแม่โขง-ล้านช้าง 4.4 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ
นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบในร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ประจำปี 2565 ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย
เพื่อสร้างรายได้และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย เสริมสร้างสมรรถนะด้านความมั่นคงทางอาหารด้านอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและการทวนสอบผลิตภัณฑ์เศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับบรรจุภัณฑ์พลาสติกในห่วงโซ่อุปทาน
ประเทศไทยจึงตกลงรับความช่วยเหลือจากจีนภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ประจำปี 2565 ซึ่งจะเป็นกลไกในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างกันและเป็นการสร้างเครือข่าย เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงานปฏิบัติที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพการผลิตในอนุภูมิภาคนี้
ภายหลังจากที่ไทยได้รับทุนของกองทุนดังกล่าวแล้ว งบประมาณที่ได้รับจะมี 3 หน่วยงานนำไปจัดกิจกรรมโครงการเพื่อเสริมสร้างสมรรถนะของไทยตามวัตถุประสงค์ของกองทุนเพื่อให้เกิดสันติภาพและความมั่งคั่งต่อประเทศสมาชิกกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง
โดย “สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม” และ “สถาบันอาหาร” จะรับผิดชอบดำเนินโครงการเสริมสร้างสมรรถนะด้านความมั่นคงทางอาหารในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูประหว่างประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยงบประมาณ 225,600 ดอลลาร์สหรัฐฯ ระยะเวลาดำเนินโครงการ 18 เดือน
“สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (ISO)” จะรับผิดชอบกิจกรรมโครงการเสริมสร้างสมรรถนะด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง: การทวนสอบผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์พลาสติกในห่วงโซ่อุปทาน ด้วยงบประมาณ 215,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ระยะเวลาดำเนินโครงการ 12 เดือน
“ทั้ง 2 โครงการสอดคล้องเป็นอย่างดีกับการส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของรัฐบาลไทย ที่เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม โดยที่อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าเกษตร จะช่วยให้เกษตรกรสามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นจากผลผลิตทางการเกษตร ด้วยการนำผลผลิตทางการเกษตรมาเพิ่มลักษณะพิเศษ หรือ จุดเด่นบางอย่างให้ต่างไปจากเดิม เพื่อให้ตรงต่อความต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น” นางสาวทิพานัน กล่าว
นางสาวทิพานัน กล่าวย้ำว่า ตรงนี้รวมถึง การพัฒนาสินค้าเกษตรแปรรูปเพื่อความมั่นคงทางอาหาร และในส่วนของโครงการการทวนสอบผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์พลาสติกในห่วงโซ่อุปทานนั้น จะทำให้มีส่วนสำคัญที่จะทำให้มาตรฐานบรรจุภัณฑ์พลาสติกของสินค้าไทยทัดเทียมสากล เป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะในประเด็นลดผลกระทบด้านขยะพลาสติกที่จะทำให้เกิดการดำเนินการเพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
จัดงบฯ 138 ล้าน เก็บดีเอ็นเอคนพ้นโทษจากเรือนจำ
นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ภายในกรอบวงเงิน 137.94 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับจัดทำโครงการจัดเก็บข้อมูลดีเอ็นเอของบุคคลพ้นโทษ พักโทษ จากเรือนจำและทัณฑสถาน เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มีฐานข้อมูลดีเอ็นเอของบุคคลพ้นโทษและพักโทษเพื่อใช้ในการสืบสวนสอบสวนและเชื่อมโยงคดี และเพื่อให้ตช.เป็นศูนย์กลางฐานข้อมูลดีเอ็นเอแห่งชาติ สามารถสืบค้นหาผู้กระทำความผิดทางคดีอาญาและอาชญากรรมในประเทศและระหว่างประเทศ และเพื่อเพิ่มศักยภาพระบบฐานข้อมูลดีเอ็นเอให้สามารถรองรับฐานข้อมูลดีเอ็นเอซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเชื่อมโยงฐานข้อมูลกลางและฐานข้อมูลส่วนภูมิภาคด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง
สำหรับงบประมาณในกรอบวงเงิน 137.94 ล้านบาท จะนำไปดำเนินการดังนี้คือ จัดหาวัสดุในการจัดเก็บดีเอ็นเอและวัสดุหรือน้ำยาในการตรวจดีเอ็นเอ จำนวน 45 รายการ สำหรับเก็บข้อมูลดีเอ็นเอจำนวน 100,000 ราย เช่น ก้านสำลีพันปลายไม้ชนิด Sterile, ถุงมือไนโตรชนิดไม่มีแป้ง, น้ำยาโพลีเมอร์หรือสารละลายแอโนดบัฟเฟอร์สำหรับเครื่องวิเคราะห์สารพันธุกรรมแบบอัตโนมัติ และชุดน้ำยาตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลสำหรับจัดทำฐานข้อมูลดีเอ็นเอ เป็นต้น วงเงิน 89.82 ล้านบาท และปรับปรุงระบบเทคโนโลยีฐานข้อมูลดีเอ็นเอ สำหรับจัดหาครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ รวม 68 รายการ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย อุปกรณ์กระจายสัญญาณ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแบบภายนอก อุปกรณ์ป้องกันเครือข่าย เป็นต้น วงเงิน 48.11 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ เดือนกรกฎาคม -กันยายน 2565
นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องและอัตราการกระทำผิดและการกระทำผิดซ้ำจะลดลง
เพิกถอนพื้นที่อุทยานเขาพระวิหาร 42 ไร่ สร้างอ่างเก็บน้ำ
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบในหลักการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร บางส่วนเนื้อที่ประมาณ 42 ไร่ 51 ตารางวา เพื่อก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำลำห้วยบอนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งนี้เมื่อ ครม. เห็นชอบแล้ว จะแจ้งให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ในการตราพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารบางส่วน เพื่อก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำลำห้วยบอน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดอุบลราชธานี ต่อไป
สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำลำห้วยบอนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากความแห้งแล้งเนื่องจากฝนแล้งในตำบลโชง และตำบลสีวิเชียร อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้เกิดประโยชน์ระยะยาวต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เพื่อเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงในเขตอีสานตอนล่าง บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อดำเนินการจัดหาแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุน มีปริมาณน้ำรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค การเกษตร เป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปา เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และเพื่อภารกิจเสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำ รวมทั้งการบรรเทาอุทกภัยด้านท้ายน้ำที่จะเกิดขึ้นในฤดูน้ำหลาก ซึ่งจะทำให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในระยะยาว
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำแห่งนี้สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 6 ล้านลูกบาศก์เมตร บรรเทาอุทกภัยทางด้านท้ายน้ำ รวมทั้งส่งน้ำสนับสนุนให้ประชาชนตามลำน้ำในพื้นที่อำเภอน้ำยืน อำเภอน้ำขุ่น อำเภอนาจะหลวย อำเภอเดชอุดม อำเภอนาเยีย อำเภอสว่างวีระวงศ์ อำเภอพิบูลมังสาหาร และอำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี โดยสามารถส่งน้ำสนับสนุนการเพาะปลูกในฤดูฝนประมาณ 5,000 ไร่ ส่งน้ำสนับสนุนการเพาะปลูกในฤดูแล้งประมาณ 1,500 ไร่ และยังเป็นแหล่งเพาะและขยายพันธุ์ปลาน้ำจืดเพื่อการประมงของประชาชนได้ด้วย
จัดงบฯ 212 ล้าน หนุนต่างชาติถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย 6 เรื่อง
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นประจำปี 2565 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร จำนวน 6 เรื่อง เป็นเงินงบประมาณรวม 212.102 ล้านบาท การขอรับจัดสรรงบประมาณครั้งนี้ เนื่องจากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายในการดูแลการดำเนินมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย (Incentive Measures) คงเหลืองบประมาณไม่เพียงพอ เนื่องจากในปี 2565 ได้รับการจัดสรรงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการนี้จำนวน 167.612 ล้านบาท โดยวงเงินดังกล่าวได้มีการเบิกจ่ายและผูกพันงบประมาณแล้ว 154.940 ล้านบาท และในไตรมาสที่4/65 อีก 7.957 ล้านบาท จึงคงเหลือเงินในโครงการดังกล่าวเพียง 4.715 ล้านบาท ไม่เพียงพอกับการใช้จ่ายเพื่อคืนเงินตามมาตรการส่งเสริมแก่ผู้ถ่ายทำภาพยนตร์ 6 เรื่อง ที่ต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น 216.818 ล้านบาท จำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติม
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2560 โดยให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้สร้างภาพยนตร์ที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป ในรูปแบบการคืนเงิน (Cash Rebate) ร้อยละ 15-20
ตั้งแต่เริ่มโครงการ ได้มีภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยแล้ว 43 เรื่อง เกิดรายได้หมุนเวียนในเศรษฐกิจประมาณ 8,560 ล้านบาท ดำเนินการคืนเงิน Cash Rebate แก่ผู้ประกอบการแล้ว 22 เรื่อง รวม 541.497 ล้านบาท ซึ่งนับว่าเป็นมาตรการที่เกิดประโยชน์ต่อประเทศและคุ้มค่า โดยเงินลงทุนจากผู้สร้างภาพยนตร์ทั้งหมดได้กระจ่ายไปยังพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นสถานที่ถ่ายทำทั่วประเทศ
ขณะที่ภาพยนตร์ 6 เรื่อง ที่มีการของบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติม 212.102 ล้านบาทในครั้งนี้ ดำเนินการถ่ายทำเสร็จในช่วงปี 2564 เป็นภาพยนตร์จาก สหรัฐฯ 4 เรื่อง ฝรั่งเศส 1 เรื่อง และสิงคโปร์ 1 เรื่อง ทั้งหมดมีกำหนดฉายภายในปี 2565 การถ่ายทำทั้ง 6เรื่อง มีการนำเงินเข้ามาใช้จ่ายในประเทศไทย 1,193.84 ล้านบาท มีการจ้างงานทีมงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง 12,000 คน ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจอัตราทวีคูณ รวม 2,384 ล้านบาท
รับทราบจัดผ้าป่าหนุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบเกี่ยวกับการจัดพิธีทอดผ้าป่าสนับสนุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ประจำปี 2565 เพื่อเป็นการเผยแพร่การดำเนินงานของโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ในการสนับสนุนและส่งเสริมพระภิกษุและสามเณร ให้ได้มีโอกาสศึกษาพระปริยัติธรรมและพระธรรมอย่างลึกซึ้ง โดยจะเริ่มดำเนินการในส่วนกลางในวันที่ 13 ตุลาคม 2565 ณ วัดบวรนิเวศวิหาร และส่วนภูมิภาคและคณะหนทั้ง 4 หน ในระหว่างวันที่ 14 ตุลาคม-15 พฤศจิกายน 2565 ณ วัดที่กำหนด
โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา มียอดเงินบริจาคในพิธีทอดผ้าป่า เพื่อสนับสนุนโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย จำนวน 102 ล้านบาท แยกเป็นส่วนกลาง 38 ล้านบาท และส่วนภูมิภาค 64 ล้านบาท
นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า โครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทยเป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดพิธีทอดผ้าป่าเพื่อสนับสนุนและเผยแพร่การดำเนินงานของโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ประกอบกับ มหาเถรสมาคมได้มีมติให้คณะสงฆ์สนับสนุนและขอความร่วมมือจากจังหวัดต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ โดยจัดพิธีทอดผ้าป่าฯวันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงพระราชทานจัดตั้งโครงการฯ
ขยายเวลาต่างชาติพำนักไทย ฟื้นฟูท่องเที่ยว
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การเพิ่มระยะเวลาการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้ มีสาระสำคัญเป็นการขยายระยะเวลาในการพำนักในราชอาณาจักรสำหรับคนต่างด้าวบางจำพวกที่เดินทางเข้าประเทศไทย ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565-31 มีนาคม 2566 ดังนี้
-
1) คนต่างด้าวที่ขอรับการตรวจลงตรา Visa on Arrival ขยายระยะเวลาจากเดิมพำนักได้ไม่เกิน 15 วัน เป็นไม่เกิน 30 วัน
2) คนต่างด้าวผู้ถือหนังสือเดินทางของประเทศที่รัฐบาลของประเทศนั้น ได้ทำความตกลงระหว่างกันกับรัฐบาลไทย กรณีการยกเว้นการตรวจลงตรา ขยายจากเดิมไม่เกิน 30 วัน เป็นไม่เกิน 45 วัน
3) คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรชั่วคราวซึ่งได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา ประเภท ผ.30 ซึ่งเป็นมาตรการที่ไทยให้ฝ่ายเดียว ขยายจากเดิมไม่เกิน 30 วัน เป็น ไม่เกิน 45 วัน
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า การออกประกาศกระทรวงมหาดไทยข้างต้นนี้ สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์โควิด19 หรือ ศบค. ครั้งที่ 11/65 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2565 ได้เห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการเกี่ยวกับการขยายระยะเวลาการพำนักของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และเพิ่มค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวระหว่างที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19
ต่อมาตรการจ่ายชดเชยน้ำมันชีวภาพอีก 2 ปี
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบการขยายระยะเวลาดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพออกไป 2 ปี จนถึงวันที่ 24 กันยายน 2567
ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลได้ดำเนินการตามแนวทางสนับสนุนการใช้น้ำมันจากพืชเป็นเชื้อเพลิงในเครื่องยนต์ดีเซล รวมถึงการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจากเอทานอลและไบโอดีเซล โดยมีการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิงเป็นกลไกในการรักษาระดับค่าการตลาดของน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยการสร้างส่วนต่างราคาขายปลีก ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในวันที่ 24 กันยายน 65 นี้ และตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 กำหนดให้สามารถขยายระยะเวลาสำหรับโครงการที่มีการจ่ายเงินชดเชยแก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 2 ปี โดยครั้งนี้จะเป็นการขยายระยะเวลาครั้งแรก
“ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในกฎหมายในการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลงที่มีส่วนผสมชองเชื้อเพลิงชีวภาพจะครบกำหนดในวันที่ 24 กันยายน 2565 นี้ โดยกระทรวงพลังงานพิจารณาแล้วยังคงมีความจำเป็นต้องจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวต่อไป เพื่อเป็นกลไกในการรักษาระดับค่าการตลาดของน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยการสร้างส่วนต่างราคาขายปลีก จูงใจให้เกิดการใช้พลังงานชีวภาพ และยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้จากการขยายพืชผลทางเกษตรจึงเสนอให้ ครม. อนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินการในครั้งนี้” นางสาวไตรศุลี กล่าว
ปรับการทำงานของหน่วยงานรัฐ 3 รูปแบบ รับ New Normal
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแนวทางการปฏิบัติราชการที่รองรับชีวิต และการทำงานวิถีใหม่ พร้อมคู่มือ เพื่อให้ส่วนราชการใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไป และมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐพิจารณานำแนวทางและคู่มือดังกล่าว ไปปรับใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการตามความเหมาะสม ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามแผนปฏิรูปประเทศ ฉบับปรับปรุง ด้านการบริหารราชการแผ่นดินในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เนื่องจากในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -19 ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการดำรงชีวิตและการปฏิบัติงานในภาครัฐอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐจึงมีความจำเป็นต้องปรับตัวและปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติงานและการให้บริการประชาชน ตลอดจนการบริหารจัดการภายในหน่วยงานให้มีความเหมาะสมและยืดหยุ่น คล่องตัว ให้สอดคล้องกับฐานวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) และตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ทันท่วงที
สำหรับแนวทางการปฏิบัติราชการที่รองรับชีวิตและการทำงานวิถีใหม่ มีหลักการสำคัญคือ ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐปรับตัวได้อย่างสอดคล้องกับบริบท และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างคล่องตัว และทันการณ์ โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพและผลสัมฤทธิ์ของงานภาครัฐ และประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการรับบริการเป็นสำคัญ ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการปรับรูปแบบการบริหารส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐในภาพรวมทุกมิติ เช่น ระบบและขั้นตอนการทำงานและการให้บริการประชาชน การบริหารทรัพยากรบุคคล และการปรับปรุงด้านเทคโนโลยีในการปฏิบัติงาน
นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ สามารถส่งเสริมให้เกิดการปรับวิธีคิดและกรอบความคิด (Mindset) ของผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ เพื่อให้พร้อมปรับตัวเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตลอดจนให้มีความพร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดเวลาเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป และยังเปิดโอกาสให้ส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐ สามารถพิจารณากำหนดรูปแบบวิธีการปฏิบัติราชการให้สอดคล้องกับภารกิจและลักษณะงาน เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคำนึงถึงคุณภาพชีวิตในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานและวิถีการดำเนินชีวิตเพื่อการสร้างสมดุลที่เหมาะสมกับการปฏิบัติงาน
สำหรับรูปแบบการปฏิบัติงาน แบ่งเป็น 3 รูปแบบคือ รูปแบบที่ 1 การปฏิบัติงานในที่ตั้งโดยการเหลื่อมเวลาทำงาน เช่น กำหนดช่วงเวลาการเข้างานและเลิกงานเป็น 4 ช่วง ตั้งแต่ 07.30-15.30น., 08.00-16.00 น., 08.30-16.30น. และ09.30-17.30 น. รูปแบบที่ 2 การปฏิบัติงานในที่ตั้งโดยการนับชั่วโมงการทำงาน เช่น กำหนดให้สามารถเลือกเวลาเข้างานได้ตามความเหมาะสมกับรูปแบบการดำรงชีวิต โดยไม่กระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน โดยเมื่อนับเวลาปฏิบัติงานรวมกันแล้วต้องไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และรูปแบบที่ 3 การปฏิบัติงานนอกที่ตั้ง โดยกำหนดให้สอดคล้องกับร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิบัติงานนอกที่ตั้งของส่วนราชการ พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอ ครม. ตรวจพิจารณาแล้วเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2565
ทั้งนี้การกำหนดรูปแบบการปฏิบัติงานอ้างอิงจากประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง การกำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ(ฉบับที่ 12 ) พ.ศ. 2502 ซึ่งกำหนดไว้ดังนี้คือ เวลาทำงานเริ่มตั้งแต่ 08.30-16.30 น. หยุดกลางวัน 12.00-13.00 น. รวมระยะเวลาทำงาน 8 ชั่วโมง วันหยุดราชการประจำสัปดาห์คือวันเสาร์และอาทิตย์ หากส่วนราชการใดจะกำหนดวันและเวลาในการทำงานเพื่อความสะดวกสามารถทำได้แต่เมื่อคำนวณแล้วแล้ว ต้องไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ตั้งกลุ่มสามมิตร รักษาการ รมต.แทนกันเอง 2 กระทรวง
นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติในเรื่องแต่งตั้ง-โยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีรายละเอียดดังนี้
1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้ง นายอัครุตม์ สนธยานนท์ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้ง นายวัชระ เสือดี วิศวกรชลประทานเชี่ยวชาญ กรมชลประทาน ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) (วิศวกรชลประทานทรงคุณวุฒิ) กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
3. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงคมนาคม)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงคมนาคม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้
-
1. นางสาวลักษณวดี ธนามี ผู้อำนวยการศูนย์ (ผู้อำนวยการระดับสูง) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศการขนส่งและจราจร สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ดำรงตำแหน่ง นักวิชาการขนส่งทรงคุณวุฒิ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2565
2. นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ (ผู้อำนวยการระดับสูง) ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมทางหลวงชนบท ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการขนส่งทางบก (นักวิชาการขนส่งทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2565
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
4. การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป็นหลักการ มอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หรือ มีแต่ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ตามความในมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จำนวน 2 ราย ตามลำดับ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ดังนี้
-
1. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
2. นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2565 เป็นต้นไป
5. การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการ มอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ชุดใหม่ จำนวน 2 ราย ตามลำดับ ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ดังนี้
-
1. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
2. นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2565 เป็นต้นไป
อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 20 กันยายน 2565 เพิ่มเติม