ThaiPublica > Sustainability > Headline > ‘ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์’ ชี้ 2 ปัจจัยทำให้ธุรกิจคู่ความยั่งยืนไปรอด แม้จะยาก! แต่ต้องลงมือทำวันนี้!

‘ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์’ ชี้ 2 ปัจจัยทำให้ธุรกิจคู่ความยั่งยืนไปรอด แม้จะยาก! แต่ต้องลงมือทำวันนี้!

17 กันยายน 2022


ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future)

“ถ้าอยากให้เศรษฐกิจประเทศไทยโตบนความยั่งยืน สามารถทำได้อย่างไร โจทย์นี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งแม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายแต่เป็นทิศทางที่จะต้องเดินไป”

ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future) กล่าวในงานเสวนา COLLABORATIVE PARTNERSHIP FOR SUSTAINABILITY ปลุกพลังความร่วมมือสู่เป้าหมายความยั่งยืน ทำอย่างไรให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตบนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน

ดร.ณภัทร ให้มุมมองของเศรษฐกิจมหภาคว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหากทำกันง่ายๆ ก็ทำไปแล้ว และปัญหาเรื่องโลกร้อน ปัญหานี้เกิดมานาน แต่ที่ผ่านมาเราได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจเราชะงักลง แต่เราจะรับมือโควิดอย่างไร และถ้าเราจะต้องเติบโตแบบเกาหลี หรือแบบประเทศอื่นๆ เราต้องเจอกับความท้าทายอย่างไร และถ้าเราเติบโตเราต้องคิดถึงอะไรบ้าง

ธุรกิจต้องโตบนฐานความยั่งยืน

ดร.ณภัทรกล่าวว่า หากพูดในทางเศรษฐศาสตร์ หากนึกถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในมุมมองของความความยั่งยืน ต้องดูในเรื่องของผลกระทบต่อโลก และของคนในอนาคต

นิยามความยั่งยืนที่เป็นสากลคืออัตราการเติบโตเศรษฐกิจกระทบโลกแค่ไหน และกระทบต่อคนรุ่นใหม่ เด็กๆ น้องๆ อย่างไร หรือสร้างปัญหาให้คนรุ่นใหม่ในอนาคตหรือไม่ ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจบนฐานความยั่งยืน จึงเป็นเรื่องของการทำอย่างไรให้ไม่เกิดกระทบ ซึ่งมีปัจจัยในเรื่องของโลกกับคนในอนาคตเข้ามาร่วมด้วย

ที่ผ่านมาเรามักจะมองว่า โลกร้อนเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริงๆ แล้วมันใกล้ตัวมาก ขณะที่การพัฒนาเศรษฐกิจจึงต้องเพิ่มขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง โดยต้องเป็นเศรษฐกิจยุคใหม่ หรือเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การทำธุรกิจยุคใหม่ ต้องทำให้สะอาด โปร่งใส คืออีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาประเทศ

“ผมอยากชี้ให้เห็นว่า การอยากให้ประเทศเติบโตบนฐานความยั่งยืน มีเรื่องของการใช้คน กับการใช้ทุน ซึ่งความยั่งยืนที่มีบทบาทในเวทีโลกมีกฎหมาย ผลกระทบกับปัจจัยเหล่านี้”

ดร.ณภัทรกล่าวว่า ในเรื่องผลกระทบต่อ “ทุน” มีมากเพราะในอนาคต การระดมเงินทุนอาจจะมีเรื่องของแรงงาน ที่ไม่ใช่แค่เรื่องพนักงานแรงงานในประเทศ เนื่องจากเรื่องความยั่งยืนเกี่ยวข้องกับเรื่อง governance หรือความยั่งยืนที่มีคุณภาพ มี diversity

“เรื่องเหล่านี้สำคัญมากแม้ว่าบางทีมันจับต้องไม่ได้ แต่ถ้าเราทำให้ธุรกิจโตใช้นวัตกรรม diversity ที่ดูจับต้องไม่ได้ แต่มันสำคัญมากกับการเติบโตของธุรกิจรูปแบบใหม่ ไม่ใช่ว่าเราจ้างคนเพิ่ม ใช้ทุนเดิมๆ มันไม่มีทางดีขึ้น มันต้องเป็นอะไรที่ค่อนข้างใหม่”

เปลี่ยน STRATEGY ให้เป็นสีเขียว

ดร.ณภัทร ชวนคิด ว่าจะทำให้ธุรกิจเติบโตบนฐานความยั่งยืนต้องเป็นเรื่องบูรณา โดยธุรกิจต้องทำให้ STRATEGY ใหม่ เป็นสีเขียวมากขึ้น มองด้านการใช้แรงงานและทุน ในมุมมองที่เป็นผลดีทั้งคู่ ไม่ควรดำเนินการเพียงแค่ทำตามกฎหมายหรือระเบียบของยุโรป แต่ควรให้ความสำคัญตั้งแต่ระดับผู้บริหาร ระดับบอร์ด ไปถึงกระบวนการผลิต และซัพพลายเชน ว่าจะต้องเปลี่ยนใหม่อย่างไร

“ผมไม่อยากให้เป็นอะไรที่ฉาบฉวย ทำ แค่ได้ทำ แต่อยากให้มันเป็น STRATEGY ที่ต้องเปลี่ยนเปลง”

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงการทำธุรกิจแบบใหม่ อาจต้องใช้เวลานาน หรืออยู่ดีๆ อยากเปลี่ยนนั่นเปลี่ยนนี่ แต่การเปลี่ยนต้องเปลี่ยนทั้งหมด และต้องให้ความสำคัญ และดำเนินการอย่างจริงจัง

“ผมคิดว่าสำคัญที่สุดคือต้องเริ่มตอนนี้เลย เรื่องความยั่งยืนต้องเป็นส่วนหนึ่งของ STRATEGY แต่จะทำอย่างไรให้ธุรกิจรอด เพราะลำพังแค่ทำให้เติบโต โดยไม่ต้องพูดเรื่องความยั่งยืน ก็เป็นเรื่องยากแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้มันง่าย เพราะทุกคนเห็นตรงกันแล้วว่า แค่ทำไป เฉยๆ ไม่ได้แล้ว ต้องทำให้รอดหรือสำเร็จด้วย”

ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future)

2 ปัจจัยทำให้ธุรกิจคู่ความยั่งยืนไปรอด

ดร.ณภัทรมองว่า การทำธุรกิจคู่ความยั่งยืนให้รอดอาจจะต้องใช้ 2 ปัจจัย คือ 1. เทคโนโลยี 2. นโยบายสาธารณะ ซึ่งทั้ง 2 อย่างต้องอยู่ในภาพเดียวกัน เพราะหากดำเนินการเปลี่ยนทุกอย่าง ต้องมีต้นทุนที่เป็นความเสี่ยงของบริษัท ต้องลงทุนมหาศาล ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จึงต้องได้รับการสนับสนุน หรือมีการตั้งกติกาที่ชัดเจนจากภาครัฐ

“ความชัดเจนของกติกา ต้องไม่ใช่แค่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง เพราะว่าหลายปัญหาในโลกนี้มีความเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง เนื่องจากความยั่งยืนไม่ใช่แค่เรื่องทรัพยากรอย่างเดียว มันเป็นเรื่องหลายๆ เรื่องที่มีผลกระทบกับหลายหน่วยงาน”

ดร.ณภัทรเห็นว่าดิจิทัลดาตาเป็นเรื่องสำคัญมาก เช่น เรื่อง traceability มีความสำคัญมาก เช่น ซัพพลายเชนของบริษัทใหญ่ อาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่า อะไรอยู่ตรงไหน เพราะฉะนั้นการมีดาตา หรือเทคโนโลยีบางอย่างมาช่วยเชื่อมข้อมูล จะทำให้เห็นภาพใหญ่และรู้ว่าตรงไหนมีปัญหาอะไร และต้องเสริมอะไรตรงไหนบ้าง

สุดท้ายนอกจากดิจิทัลดาตาแล้ว ภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุน เช่น การตั้งทีมตรวจสอบ ทุกครั้งบริษัทนี้ทำอะไร เอาเทคโนโลยีมาช่วยเปลี่ยนแปลง ถ้าทำดี ภาครัฐให้รางวัลได้ดีขึ้น เช่น เรื่องในการลดคาร์บอน ควรจะมีระบบมาตรฐาน เพื่อพิสูจน์ว่าบริษัทไหนดำเนินการเป็นอย่างไร เนื่องจากกรรมการตัดสินเป็นเรื่องสำคัญ ที่ไม่สามารถใช้แค่วิจารณญาณ ในการพิจารณาอย่างเดียว แต่ต้องมีเทคโนโลยีช่วย เพื่อไม่ให้การพัฒนาที่ยั่งยืนดำเนินการแค่ทำไป แบบนั้นเอง แต่ต้องเป็นการดำเนินการที่เกิดผลอย่างจริงจัง