“อาคม” รมว.คลัง เห็นแย้งคมนาคม กรณีโยกสนามบิน “อุดร-บุรีรัมย์-กระบี่” แหล่งรายได้หลักของ ทย. ที่ใช้ดูแลสนามบิน 26 แห่ง มาให้ AOT บริหาร หวั่นเป็นภาระงบประมาณในอนาคต กระทบแผนการลงทุน-ความสามารถในการชำระหนี้ของ ทอท.
ต่อจากตอนที่แล้ว ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2565 เห็นชอบในหลักการให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) หรือ “AOT” เป็นผู้รับผิดชอบดูแล และบริหารจัดการท่าอากาศยานอุดรธานี บุรีรัมย์ และกระบี่ แทนกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยให้นำความเห็นของกระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม จากนั้นให้รายงาน ครม. รับทราบก่อนดำเนินการต่อไป
หลายคนคงสงสัย กระทรวงการคลังเสนอความเห็นอะไร ทำไม ครม. สั่งให้กระทรวงคมนาคมกลับไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และให้นำเสนอ ครม. เพื่อทราบอีกครั้ง ก่อนดำเนินการต่อไป ทางสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจึงไปค้นหาข้อมูลที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พบว่า กระทรวงการคลังได้ทำหนังสือด่วนที่สุดที่ กค 0312/11606 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2565 ลงนามโดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส่งถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีซึ่งลงทะเบียนออกเลขรับหนังสือเวลา 9.20 น. ของวันเดียวกัน แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการให้ AOT เข้าไปบริหารจัดการ 3 สนามบินแทนกรมท่าอากาศยาน ส่งให้ที่ประชุม ครม. ประกอบการพิจารณาเรื่องนี้ ตามระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน
โดยกระทรวงการคลังได้กล่าวถึงที่มาของเรื่องนี้ว่า ในช่วงที่นายอาคมดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (ปี 2558-2562) เดิมทีนั้น พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561 ให้กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งพิจารณาโอนท่าอากาศยาน 4 แห่ง ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน อันได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี, สกลนคร, ตาก และชุมพร ไปให้ AOT บริหารแทน จึงแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำแนวทางการโอนท่าอากาศยาน 4 แห่ง โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานฯ
ต่อมา ในสมัยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ออกคำสั่งกระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ยกเลิกคณะกรรมการชุดก่อน พร้อมกับแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาพิจารณาแนวทางการโอนท่าอากาศที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน ไปให้ AOT บริหารแทน โดยคณะกรรมการชุดใหม่ได้มีมติเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 เห็นชอบให้ ทอท. เป็นผู้บริหารท่าอากาศยาน 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานอุดรธานี, บุรีรัมย์ และกระบี่ แทนกรมท่าอากาศยาน
หลังจากที่กระทรวงการคลังได้พิจารณาแนวทางการโอนสนามบินของกรมท่าอากาศยานไปให้ AOT บริหารแล้ว กระทรวงการคลังมีความเห็นว่า ข้อมูลที่กระทรวงคมนาคมนำเสนอต่อที่ประชุม ครม. นั้น ยังมีไม่เพียงพอ ขอให้กระทรวงคมนาคม และ ทอท. จัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้
ประเด็นแรก ข้อเสนอกระทรวงคมนาคมที่ให้ ทอท. เป็นผู้บริหารท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่งแทนกรมท่าอากาศยานนั้น ยังไม่ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ หรือวิเคราะห์เปรียบเทียบกรณีกรมท่าอากาศยานบริหารเอง กับให้ ทอท. เข้ามาบริหารจัดการแทนกรมท่าอากาศยาน เช่น ประมาณการจำนวนผู้โดยสาร, แผนพัฒนาท่าอากาศยาน, แผนการลงทุน, ประมาณการรายได้ และค่าใช้จ่าย, อัตราผลตอบแทนทางการเงิน, ผลกระทบต่อฐานทางการเงินของกรมท่าอากาศยานและ ทอท. รวมทั้งแผนบริหารความเสี่ยง กรณีที่การดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เป็นต้น
ประเด็นที่ 2 ทอท. ต้องตรวจสอบทรัพย์สินที่ใช้ประโยชน์ในที่ดินราชพัสดุของสนามบินแต่ละแห่ง เพื่อจัดทำรายการประเภททรัพย์สินส่งให้กรมธนารักษ์พิจารณา เช่น กลุ่มกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้เชิงพาณิชย์ (commercial), กลุ่มกิจกรรมที่ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้เชิงพาณิชย์ (non-commercial), เขตปลอดอากร (free zone) และพื้นที่พัฒนาโครงการใหม่ เพื่อกำหนดอัตราผลประโยชน์ตอบแทนกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างที่ ทอท. จะปลูกสร้างเพิ่มเติมในอนาคต และเงื่อนไขอื่นใด ให้ ทอท. ทำความตกลงกับกรมธนารักษ์ต่อไป
ทั้งนี้ ส่วนราชการที่ครอบครอง หรือใช้ประโยชน์ในที่ดินราชพัสดุดังกล่าว หากมีความประสงค์ที่จะให้ ทอท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม เป็นผู้บริหารจัดการท่าอากาศยานแทนกรมท่าอากาศยาน ส่วนราชการดังกล่าวสามารถส่งคืนที่ราชพัสดุ หรือให้ความยินยอมเป็นหนังสือให้กรมธนารักษ์นำที่ราชพัสดุไปจัดหาประโยชน์ได้ หาก ทอท. ประสงค์ที่จะขอใช้ประโยชน์ในที่ดินราชพัสดุจะต้องดำเนินการโดยการเช่า ตามมาตรา 4, มาตรา 19, มาตรา 24 และมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ 2564 ส่วนการใช้ประโยชน์ในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ หน่วยงานผู้ครอบครองใช้ประโยชน์ และ ทอท. ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกประการ
ประเด็นที่ 3 จากการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของ ทอท. ในปี 2564 จนทำให้ประสบปัญหาขาดทุน นอกจากนี้ ทอท. ยังมีแผนการลงทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่อีกหลายโครงการ จึงมีความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อนำเงินมาลงทุนและเสริมสภาพคล่อง ดังนั้น หาก ทอท. เข้าไปเป็นผู้บริหารท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง แทนกรมท่าอากาศยาน ก็จะต้องมีการลงทุนเพิ่มเติม ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการลงทุน และการชำระคืนเงินกู้ของ ทอท. ในอนาคต จึงควรพิจารณาความสามารถในการลงทุนในภาพรวมของ ทอท. ให้ชัดเจนด้วย
ประเด็นที่ 4 หากผลประกอบการของท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ ทอท. ไม่สามารถให้บริการ หรือลงทุนได้ตามแผนพัฒนาท่าอากาศยานที่กำหนดไว้ และเนื่องจาก ทอท. เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมีผู้ถือหุ้นรายอื่นร่วมถือหุ้นด้วย ดังนั้น จึงควรจัดทำข้อตกลง และกำหนดตัวชี้วัดในการมอบหมายให้ ทอท. ดูแลและบริหารจัดการท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่งให้ชัดเจน ทั้งในด้านการให้บริการ การกำหนดอัตราค่าบริการ การปฏิบัติงาน และการลงทุน รวมทั้งมีกลไกในการกำกับดูแลการดำเนินงานดังกล่าว ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
นอกจากนี้ ทอท. ในฐานะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องศึกษาและปฏิบัติตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 2535 และกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการเข้าไปบริหารจัดการท่าอากาศยานอุดรธานี, บุรีรัมย์ และกระบี่ แทนกรมท่าอากาศยานให้ครบถ้วน
ประเด็นที่ 5 เป็นเรื่องการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศ 2497 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเงิน หรือทรัพย์สินที่ส่งเข้าบัญชีเงินทุนหมุนเวียนของกรมท่าอากาศยาน (กองทุนหมุนเวียน) ทั้งกระทรวงคมนาคม และ ทอท. ต้องร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ทั้งแผนบริหารจัดการรายได้, แผนบริหารจัดการบุคลากร, แผนบริหารจัดการทรัพย์สิน รวมทั้งการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการเป็นเชิงพาณิชย์ ซึ่งอาจส่งผลทำให้อัตราค่าบริการที่เรียกเก็บสูงขึ้นกว่าที่กรมท่าอากาศยานเรียกเก็บ อาจส่งผลกระทบให้ประชาชนผู้ใช้บริการต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และมีผลกระทบต่อกองทุนหมุนเวียนของกรมท่าอากาศยานในภาพรวมได้ โดยคาดว่าจำนวนเงินหรือทรัพย์สินที่ต้องนำส่งกองทุนหมุนเวียนจะลดลงประมาณ 70% ทั้งนี้ เนื่องจากรายได้หลักของกองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานนั้นได้มาจากท่าอากาศยานกระบี่ 55.72% และท่าอากาศยานอุดรธานี 14.17% โดยรายได้ดังกล่าวนี้กรมท่าอากาศยานนำมาใช้พัฒนาและบริหารท่าอากาศยานทุกแห่งที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน ประกอบกับในช่วงไวรัสโควิดฯ แพร่ระบาด กองทุนหมุนเวียนกรมท่าอากาศยานประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง คาดว่า ณ วันที่ 30 กันยายน 2565 ประมาณการเงินสดคงเหลืออยู่ที่ 99.24 ล้านบาท ขณะที่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเป็นรายจ่ายประจำ (งบบุคลากร และงบดำเนินงาน) ประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี ส่วนท่าอากาศยานที่เหลืออยู่ในความรับผิดชอบของกรมท่าอากาศยาน (26 แห่ง) ก็ยังไม่มีศักยภาพเพียงพอในการเป็นแหล่งรายได้ของกองทุนหมุนเวียนของกรมท่าอากาศยาน ซึ่งจะเป็นภาระต่อเงินงบประมาณแผ่นดินในอนาคต
สุดท้าย ที่ประชุม ครม. จึงมีมติมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม นำความเห็นของกระทรวงการคลังไปพิจารณาจัดทำข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งนำความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณา จากนั้นให้รายงานผลให้ ครม. รับทราบ ก่อนดำเนินการต่อไป
อ่าน ความเห็นของกระทรวงการคลัง กรณีโอน 3 สนามบินให้ AOT บริหาร ที่นี่
อนึ่ง สำหรับแนวทางการให้บริษัทท่าอากาศยานไทยเป็นผู้รับผิดชอบดูแลและบริหารจัดการท่าอากาศยานอุดรธานี, บุรีรัมย์ และกระบี่ ตามข้อเสนอของกระทรวงคมนาคมนั้น มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดภาระงบประมาณภาครัฐในการลงทุนพัฒนาท่าอากาศยาน และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ห้วงอากาศ และโครงข่ายท่าอากาศยานของประเทศในภาพรวมให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเป็นไปตามแนวทางการเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาโครงข่ายระบบท่าอากาศยานของประเทศในภาพรวม และการดำเนินธุรกิจในรูปแบบคลัสเตอร์ด้านการขนส่งทางอากาศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยานของประเทศไทย สนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน รวมทั้งรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มศักยภาพและบทบาทของท่าอากาศยานในภูมิภาคของกรมท่าอากาศยาน ซึ่งปัจจุบันมีบทบาทเป็นท่าอากาศยานระดับจังหวัด (local airport) เพื่อยกระดับเป็นท่าอากาศยานระดับภาค (regional airport) และท่าอากาศยานศูนย์กลางรอง (secondary hub airport) ในอนาคต ทั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการที่มีความสอดคล้องกับแผนแม่บทการจัดตั้งสนามบินพาณิชย์ของประเทศ ในการเพิ่มศักยภาพของโครงข่ายระบบท่าอากาศยานของประเทศในภาพรวม และประสิทธิภาพของการใช้ประโยชน์ห้วงอากาศ ตามความเห็นของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)
ทั้งนี้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จะบริหารจัดการท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง ในรูปแบบคลัสเตอร์ด้านการขนส่งทางอากาศ ดังนี้
-
1. คลัสเตอร์ด้านการขนส่งทางอากาศภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบด้วยท่าอากาศยานอุดรธานีจะมีบทบาทหลักที่สามารถสนองตอบความต้องการในการเดินทางไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของไทย ซึ่งทำหน้าที่เป็นเกตเวย์ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ส่วนท่าอากาศยานบุรีรัมย์ทำหน้าที่เป็นท่าอากาศยานรองในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยว และเมืองสำคัญในภูมิภาคอาเซียน และอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยท่าอากาศยานอุดรธานีและท่าอากาศยานบุรีรัมย์มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นท่าอากาศยานภูมิภาค
-
2. คลัสเตอร์ด้านการขนส่งทางอากาศภาคใต้ ประกอบด้วย ท่าอากาศยานภูเก็ตและท่าอากาศยานกระบี่ ซึ่งมีบทบาทเป็นท่าอากาศยานที่ช่วยบรรเทาปัญหาความแออัดของท่าอากาศยานภูเก็ต ในระหว่างการพัฒนาท่าอากาศยาน โดยท่าอากาศยานกระบี่สามารถพัฒนาศักยภาพในการเป็น secondary hub airport จากการเติบโตของสายการบินแบบเช่าเหมาลำ
นอกจากนี้ ทอท. ได้กำหนดแผนพัฒนาท่าอากาศยานแต่ละแห่ง เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในอนาคตให้มีระดับมาตรฐานความปลอดภัย และการรักษาความปลอดภัยตามที่องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization — ICAO) กำหนด โดยได้วางแผนพัฒนาให้เกิดความต่อเนื่องจากที่กรมท่าอากาศยานได้ดำเนินการไว้ ซึ่งจะทำให้ ทอท. สามารถรักษาระดับการให้บริการของท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่งอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกสบาย ทั้งนี้ แผนพัฒนาท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง มีกรอบวงเงินลงทุนประมาณ 9,199.90 ล้านบาท (กรณีท่าอากาศยานพังงาเปิดให้บริการปี 2574) หรือประมาณ 10,471 ล้านบาท (กรณีท่าอากาศยานพังงาไม่เปิดให้บริการ) ซึ่งจะช่วยลดภาระงบประมาณการลงทุนของภาครัฐที่จะต้องจัดสรรให้กรมท่าอากาศยาน ตามความเห็นของสำนักงบประมาณในการลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานได้อย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับการดำเนินการเพื่อให้ ทอท. เข้าไปดูแล และบริหารจัดการท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง แทนกรมท่าอากาศยานนั้น ทอท. ได้กำหนดแนวทางดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งในเรื่องการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่อันเป็นที่ตั้งของท่าอากาศยาน การจัดการทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ (ครุภัณฑ์) การบริหารจัดการด้านบุคลากร การดำเนินการขอใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ และการดำเนินการเกี่ยวกับงบประมาณของกรมท่าอากาศยาน ที่ได้รับจัดสรรแล้ว โดยเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ