ThaiPublica > สู่อาเซียน > รายงาน DHL Trade Growth Atlas ชี้ ‘เอเชียตะวันออกเฉียงใต้-เอเชียใต้’ ศูนย์กลางการเติบโตทางการค้าแห่งใหม่

รายงาน DHL Trade Growth Atlas ชี้ ‘เอเชียตะวันออกเฉียงใต้-เอเชียใต้’ ศูนย์กลางการเติบโตทางการค้าแห่งใหม่

21 กันยายน 2022


ดีเอชแอลและ NYU Stern School of Business ได้เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ “DHL Trade Growth Atlas” ซึ่งเผยเทรนด์ที่สำคัญที่สุดทางการค้า และข้อมูลคาดการณ์เกี่ยวกับการค้าโลกในส่วนของสินค้า รายงานดังกล่าวครอบคลุม 173 ประเทศทั่วโลก โดยให้ข้อมูลเชิงลึกทางด้านธุรกิจสำหรับผู้กำหนดนโยบายและผู้นำอุตสาหกรรม รวมถึงมุมมองด้านบวกเกี่ยวกับการปรับตัวและความยืดหยุ่นของการค้าโลกแม้ว่ากำลังเผชิญวิกฤตการณ์ต่างๆ และสถานการณ์ตลาดที่ไม่เอื้ออำนวย

จอห์น เพียร์สัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส กล่าวว่า “จุดมุ่งหมายในการจัดทำรายงาน DHL Trade Growth Atlas ฉบับนี้คือเพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลในการทำความเข้าใจ และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของการค้าโลกที่เกิดขึ้น การค้าจะยังคงเป็นกลไกหลักสำคัญที่ขับเคลื่อนความเจริญรุ่งเรืองเหมือนที่เคยเป็นมาตลอดช่วงหลายศตวรรษที่ผ่านมา ในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของโลกปัจจุบัน ดีเอชแอลสามารถให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าในการปรับเปลี่ยนระบบซัพพลายเชนให้มีความสมดุลระหว่างต้นทุนและความเสี่ยงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัย ในฐานะผู้ให้บริการลอจิสติกส์ชั้นนำของโลก เรานำเสนอโซลูชั่นสำหรับทุกความต้องการด้านลอจิสติกส์ให้กับธุรกิจ และเป็นที่พิสูจน์แล้วว่าเราสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง และเชื่อถือได้แม้ท่ามกลางสภาพตลาดที่ผันผวน”

จอห์น เพียร์สัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส

การค้าระหว่างประเทศมีความสำคัญอย่างมากในบริบทปัจจุบัน เพราะมีศักยภาพในการช่วยเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงช่วยให้ประเทศและบริษัทต่างๆ สามารถเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบสำคัญได้หลากหลายมากขึ้น

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ศูนย์กลางการเติบโตทางการค้า

รายงาน DHL Trade Growth Atlas ได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงในเรื่องส่วนแบ่งการค้าโลกของภูมิภาคและประเทศต่างๆ โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้:

การระบาดของโควิด-19 ไม่ใช่อุปสรรคสำคัญสำหรับการค้าโลกเหมือนที่หลายคนคาดการณ์: การค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นสูงถึง 10% สูงกว่าก่อนเกิดการแพร่ระบาด แม้จะเผชิญกับปัญหาคอขวดด้านซัพพลายเชนที่รั้งการเติบโตก็ตาม การค้าสินค้าทั่วโลกลดลงในช่วงต้นปี 2020 แต่กลับมาอยู่เหนือระดับก่อนเกิดโรคระบาดก่อนสิ้นปี ภายในต้นปี 2564 มีการขนส่งสินค้าข้ามแดนมากกว่าเดิม

แนวโน้มการเติบโตทางการค้าในอนาคตยังคงเป็นไปในเชิงบวก: การคาดการณ์การเติบโตของการค้าโลกถูกปรับลดลงเนื่องจากสงครามยูเครน อย่างไรก็ดีการค้าโลกยังคงเติบโตขึ้นเล็กน้อยในปี 2565 และ2566 ซึ่งมากกว่ารอบสิบปีที่ผ่านมา และยังคาดการณ์ว่าการค้าจะเติบโตของแซงหน้าการเติบโตของ GDP ปานกลาง และต่อเนื่อง รวมทั้งการค้าระหว่างประเทศจะมีบทบาทในเศรษฐกิจโลก

ยอดขายอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างมากในช่วงการแพร่ระบาด สร้างโอกาสมากขึ้นให้กับผู้ค้าในการเข้าถึงตลาดต่างประเทศแห่งใหม่ และคาดว่าอีคอมเมิร์ซระหว่างประเทศยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไป โดย McKinsey คาดการณ์ว่ายอดขายจะเพิ่มจาก 300 พันล้านดอลลาร์ในปี 2563 เป็น 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2573 และอาจจะสูงถึง 2 ล้านล้านในทศวรรษหน้า และยอดขายอีคอมเมิร์ซน่าจะเติบโตถึง 2 เท่า

การเติบโตของการค้ามีความสำคัญอย่างมากภายใต้ภาวะแวดล้อมขณะนี้ เพราะอำนาจการค้าเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดเงินเฟ้อ และช่วยให้ประเทศต่างๆสามารถกระจายความเสี่ยงได้ เพราะมีแหล่งปัจจัยการผลิตที่หลากหลาย และมีตลาดที่สามารถขายสินค้าได้ ในขณะเดียวกันการค้าสามารถยังส่งผ่านผลกระทบไปหลายประเทศได้

ศูนย์กลางการเติบโตทางการค้าแห่งใหม่เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ และการเติบโตทางการค้าคาดว่าจะเติบโตอย่างรวดเร็วในแอฟริกาใต้ซาฮารา (Sub-Saharan Africa)

การคาดการณ์ล่าสุดของ IMF บ่งชี้ว่า ส่วนแบ่งการค้าโลกของเอเชียจะยังคงขยายตัวต่อไปในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่มีศูนย์กลางการเติบโตทางการค้าเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ โดยคาดการณ์ว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเป็นผู้นำของโลกในด้านการเติบโตของการส่งออกในช่วง 5 ปีข้างหน้า

เอเชียใต้และกลางจะตามมาเป็นอันดับสอง (ภูมิภาคนี้ครอบคลุม อัฟกานิสถาน อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน บังคลาเทศ จอร์เจีย อินเดีย อิหร่าน คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน เนปาล ปากีสถาน ศรีลังกา ทาจิกิสถาน ตุรกี อุซเบกิสถาน)

ภูมิภาค Sub-Saharan Africa ตามมาเป็นอันดับสามจาก การเติบโตของการค้าที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นอย่างมาก

โดยรวมแล้วการค้ามีโอกาสเติบโตอย่างมากทั่วโลกตามระดับของการพัฒนาเศรษฐกิจ ในช่วงปี 2564- 2569 ประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าคาดว่าจะมีส่วนแบ่งทางการค้า 55% ในการเติบโตของการค้าโลก และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ 45%

การเติบโตทางการค้าขยายไปในหลายประเทศ โดยจีนมีผลต่อการทางการค้าถึงหนึ่งในสี่ในช่วงปี 2559-2564 และคาดว่าจะยังเติบโตสูงสุดต่อไป แต่ส่วนแบ่งทางการค้าของประเทศจีนมีแนวโน้มจะลดลงเหลือครึ่งหนึ่ง หรืออยู่ที่ 13%

ประเทศเวียดนาม อินเดีย และฟิลิปปินส์มีความโดดเด่นในด้านความเร็วและการขยายตัวทางการค้า โดยมีการคาดการณ์ว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2569 ซึ่งได้รับประโยชน์จากการที่บริษัทต่างๆ ขยายฐานการผลิตจากเดิมที่เน้นจีนเป็นหลักและกระจายแหล่งจัดหาสินค้า


ในขณะที่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มีส่วนแบ่งการค้าโลกเพิ่มจาก 24% เป็น 40% ในปี 2543- 2555 โดยครึ่งหนึ่งของการเติบโตนั้นมาจากจีนเพียงประเทศเดียว ส่วนแบ่งเหล่านี้แทบไม่เปลี่ยนแปลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ยังคงแข่งขันกันต่อไปจากความสามารถในการเชื่อมต่อ (connectivity) รวมถึงนวัตกรรม และบริษัทชั้นนำที่เกิดขึ้นในประเทศเหล่านี้ ซึ่งได้กลายเป็นผู้ส่งออกที่สำคัญของผลิตภัณฑ์ที่อาศัยความเชี่ยวชาญในการผลิตซึ่งมีการแข่งขันสูงทั้งด้านการลดต้นทุน นวัตกรรม และคุณภาพสินค้า

ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เชี่ยวชาญในใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการผลิต ส่งผลให้การค้าที่ขยายตัวของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จึงไม่ใช่เรื่องของต้นทุนที่ต่ำและขายสินค้าในปริมาณมากอีกต่อไป แต่ยังมาจากคุณภาพของสินค้าและนวัตกรรมอีกด้วย

การค้าสินค้าที่หลากหลายระหว่างประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เปลี่ยนแปลงไป โดยประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่กลายเป็นผู้นำเข้าวัตถุดิบและผู้ส่งออกสินค้าทุนขั้นสูง ขั้นกลางและสินค้าอุปโภคบริโภค

เข้าใจเกี่ยวการค้าโลกและโอกาสทางการค้า

รายงาน DHL Trade Growth Atlas สำรวจแนวโน้มการเติบโตของการค้าโลก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิศาสตร์ ผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ ที่มีการซื้อขาย และการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในวงกว้าง โดยวิเคราะห์การซื้อขายสินค้าทั่วโลกแยกตามภูมิภาค และมีการเปรียบเทียบตลาดที่พัฒนาแล้วกับตลาดเกิดใหม่ครอบคลุม 173 ประเทศ รายงานดังกล่าวประกอบด้วยบทสรุปข้อมูลหนึ่งหน้าสำหรับแต่ละประเทศ โดยประเทศเหล่านี้ครองสัดส่วนมากกว่า 99% ของการค้าโลก จีดีพี และจำนวนประชากร

สตีเว่น อัลท์แมน นักวิชาการอาวุโสด้านการวิจัย และผู้อำนวยการโครงการของดีเอชแอลเกี่ยวกับโลกาภิวัตน์ ประจำศูนย์ศึกษาการจัดการในอนาคตของ NYU Stern กล่าวว่า “เราพยายามกลั่นกรองข้อมูลที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับสถานะและทิศทางการค้าโลก และนำเสนอข้อมูลดังกล่าวในรูปแบบของแผนที่ แผนภูมิ และวิช่วลคอนเทนต์ ผลลัพธ์ที่ได้แสดงให้เห็นว่าการค้าโลกยังคงมีโอกาสการเติบโตอีกมากทั้งในตลาดที่พัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่ในทุกภูมิภาคทั่วโลก สถานการณ์การค้าโลกมีการเปลี่ยนแปลงและมีความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรายงานฉบับนี้ปฏิเสธการคาดการณ์เรื่องการค้าโลกที่ถดถอย”

DHL Trade Growth Atlas เป็นรายงานเสริมของ DHL Global Connectedness Index โดยรายงาน DHL Trade Growth Atlas ให้ข้อมูลพิเศษแบบเจาะลึกเกี่ยวกับการค้าโลกในส่วนของสินค้าต่างๆ ขณะที่รายงาน DHL Global Connectedness Index ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่อย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา มุ่งเน้นการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ของโลกาภิวัตน์ในวงกว้าง โดยครอบคลุมการค้าทั้งในส่วนของสินค้าและบริการ รวมถึงกระแสการไหลเวียนของทุน แรงงาน และข้อมูล รายงานทั้งสองฉบับชี้ให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจ และสนับสนุนการใช้ข้อเท็จจริงในการอ้างอิงเกี่ยวกับการค้าและโลกาภิวัตน์