ThaiPublica > เกาะกระแส > ผู้ลงทุนจาก 76 สถาบันทั่วโลก ร่วมThailand Focus 2022 “ผู้ว่าธปท.”ย้ำเม็ดเงินต่างชาติยังไหลเข้า 4.8 พันล้านดอลล์

ผู้ลงทุนจาก 76 สถาบันทั่วโลก ร่วมThailand Focus 2022 “ผู้ว่าธปท.”ย้ำเม็ดเงินต่างชาติยังไหลเข้า 4.8 พันล้านดอลล์

24 สิงหาคม 2022


ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดงาน “Thailand Focus 2022 : THE NEW HOPE” ระหว่างวันที่ 24-26 สิงหาคม 2565 ตอกย้ำศักยภาพและชี้แนวทางขับเคลื่อนของตลาดทุนและเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้าต่อภายใต้บริบทใหม่ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงแวดวงเศรษฐกิจ ร่วมสร้างความเชื่อมั่นถึงความพร้อมของไทย ตั้งแต่ระดับยุทธศาสตร์ประเทศ สู่การขับเคลื่อนอย่างบูรณาการโดยภาคตลาดเงินตลาดทุน และการปรับกลยุทธ์ของธุรกิจและเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมอนาคตที่ยั่งยืน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) 124 บริษัท ร่วมให้ข้อมูลกับผู้ลงทุนสถาบัน 161 ราย จาก 76 สถาบันทั่วโลก สะท้อนการที่ผู้ลงทุนเห็นโอกาสและยังเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทย

วันที่ 24 สิงหาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเปิดงาน และปาฐกถาพิเศษ: “Thailand’s Economic Reopening and Enhancing Competitive”ว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยค่อย ๆ ปรับตัวและกำลังฟื้นตัวหลังจากวิกฤติโรคโควิด 19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหนัก หลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด ในปีที่แล้ว รัฐบาลได้เริ่มเปิดประเทศอีกครั้ง ผ่านโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และรัฐยังยกเลิกมาตรการจำกัดการท่องเที่ยวทั้งหมดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

เศรษฐกิจของไทย ได้รับผลกระทบหนักมากในช่วงสองปีที่ผ่านมา จากวิกฤติโรคโควิด และความไม่สงบทางด้านการเมือง ส่งผลลบต่อเศรษฐกิจของไทยในภาพรวม รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น แต่นายอาคมมองว่า เศรษฐกิจของไทยจะฟื้นตัวได้ในปีนี้ โดยตั้งเป้าจีดีพีไว้ที่ 3.5% จากมาตรการของรัฐบาลที่ช่วยเหลือทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะการออกพรบ.กู้เงินฉุกเฉิน ที่นำเงินมาช่วยทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ รวมถึงการจัดหาวัคซีนโรคโควิดให้ประชาชน

กลุ่มคนรายได้น้อยคือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมากที่สุด ดังนั้น รัฐจึงออกมาตรการช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือด้านราคาแก๊สหุงต้ม ก๊าซเอ็นจีวี และน้ำมันดีเซล รวมถึงการลดราคาค่าไฟฟ้า ในส่วนของภาคธุรกิจ ก็มีมาตรการช่วยในการจัดโครงสร้างหนี้ ประนอมหนี้ การออกเงินกู้พิเศษเป็นต้น

นายอาคมแสดงความมั่นใจว่าในปีนี้ เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับมาอย่างแน่นอน โดยย้ำอีกว่า การเก็บภาษีในปีนี้จะได้ตามเป้าที่ตั้งไว้

ในอนาคต ประเทศไทยหลังจากวิกฤติโควิด จะพุ่งเป้าไปที่การปรับเปลี่ยนทางเศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืนมากขึ้น เน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2065

เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต รัฐบาลได้เน้นไปยังการสนับสนุนการลงทุนในการก่อสร้างขนาดใหญ่ ภาคแรงงาน และนวัตกรรมใหม่ๆ ส่งเสริมภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม รวมถึงช่วยเหลือ SME กลุ่ม start up และรากหญ้า

นายอาคมกล่าวว่าถึงแม้ประเทศไทยจะประสบกับปัญหาจากโควิดมาเป็นเวลาสองปี แต่เศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่งและมีแนวโน้มในทางที่ดียิ่งขึ้น

“ผู้ว่าธปท.”ย้ำเม็ดเงินต่างชาติยังไหลเข้า


ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษ: “Normalizing Policy to Ensure a Smooth Take-off” โดยชี้ว่าการดำเนินนโยบายการเงินจะทยอยปรับเข้าสู่ภาวะปกติ สอดรับกับเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนและต่อเนื่องหลังจากวิกฤตโควิด 19 คลี่คลาย จากการใช้จ่ายในประเทศและภาคท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ช้าไป และตั้งแต่ต้นปีเม็ดเงินต่างชาติยังไหลเข้าไทยสุทธิ 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงต่อไปจะทยอยปรับกลับเข้าสู่ภาวะปกติ (Policy normalization) เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจการเงินและสมดุลความเสี่ยงใหม่ที่ให้น้ำหนักกับเงินเฟ้อมากขึ้น โดยเน้นให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง ไม่สะดุด (Smooth takeoff) ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงินของแต่ละประเทศขึ้นกับวัฏจักรเศรษฐกิจ ซึ่งมีความแตกต่างกัน กุญแจสำคัญของการดำเนินนโยบายของไทย คือ การควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ และไม่ผันผวน (เสถียรภาพด้านราคา) และระบบการเงินทำหน้าที่ได้อย่างปกติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างราบรื่น

ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่ผ่อนปรนมากในช่วงสถานการณ์โควิด 19 มีความจำเป็นลดลง แต่มาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางอย่างธุรกิจ SMEs หรือกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ ยังมีความจำเป็น เพราะการฟื้นตัวแต่ละกลุ่มยังไม่เท่าเทียมกัน เช่น มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ยังดำเนินต่อจนถึงสิ้นปี 66 เป็นอย่างน้อย โดย ธปท. พร้อมปรับเปลี่ยนมาตรการให้ยืดหยุ่น ตามสถานการณ์และบริบทของลูกหนี้

นอกจากนี้ ดร. เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า การปรับทิศทางนโยบายการเงินจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจไทย (gradual and measured) ซึ่งล่าสุด การประชุมวันที่ 10 ส.ค. 65 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% จาก 0.50% เป็น 0.75% ต่อปี

โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น และคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ประมาณ 3% และปีหน้าประมาณ 4% จากอุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่งขึ้นชัดเจน โดยในไตรมาสที่ 1 และ 2 ปี 65 ขยายตัว 3.5% และ 7% ตามลำดับ ซึ่งมาจากรายได้ของแรงงานทั้งในและนอกภาคเกษตรที่ดีขึ้น รวมทั้งจากภาคท่องเที่ยวที่มีสัดส่วน 12% ของจีดีพี และ 20% ของการจ้างงานรวม โดยเบื้องต้นคาดว่า ปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 8 ล้านคน เพิ่มจาก 400,000 คนในช่วงที่โควิด 19 แพร่ระบาด แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด 19 ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติกว่า 40 ล้านคนต่อปี

สำหรับสถานการณ์เงินเฟ้อ แม้จะมีแรงกดดันสูงขึ้นแต่ยังมาจากปัจจัยด้านอุปทาน (supply side) เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจับตา คือ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นติดต่อกันหลายเดือน ขณะที่ระบบการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ เงินกองทุนและสภาพคล่องยังสูง

ด้านปัจจัยความเสี่ยง ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ช้าไป โดยแต่ละประเทศจะมีวัฏจักรเศรษฐกิจแตกต่างกัน ซึ่งเห็นว่าหลายประเทศได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกหลังจากที่เศรษฐกิจฟื้นกลับสู่ระดับก่อนโควิด 19 แล้ว ขณะที่ประเทศไทยได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ได้ฟื้นตัวกลับไปเท่ากับระดับก่อนโควิด 19 (คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิดภายในสิ้นปีนี้) นอกจากนี้ ภาวะเงินเฟ้อมาจากปัจจัยอุปทาน (supply side) เป็นหลัก และความเสี่ยงของการปรับขึ้นค่าจ้างต่อเงินเฟ้อเป็นวัฏจักรต่อเนื่อง (Wage-price spiral) ในไทยค่อนข้างต่ำ ซึ่งต่างจากหลายประเทศที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง

ดร. เศรษฐพุฒิ เสริมว่า ข้อกังวลความเสี่ยงเรื่องส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไทยกับต่างประเทศ ที่จะส่งผลต่อเงินทุนไหลออกและเงินบาทอ่อนค่า ไม่ได้ให้น้ำหนักเป็นความเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากเงินบาทอ่อนค่าเพราะเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเป็นหลัก สอดคล้องกับเงินสกุลอื่นในภูมิภาค โดยตั้งแต่ต้นปีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า 13% ส่วนเงินบาทอ่อนค่า 8% อ่อนค่ากว่าค่าเงินริงกิตมาเลเซีย แต่ดีกว่าค่าเงินเปโซฟิลิปปินส์ ขณะที่ตั้งแต่ต้นปี ยังมีเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าไทยสุทธิ 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนความเสี่ยงบอนด์ยีลด์พุ่งสูงไม่น่ากังวล เพราะระบบเศรษฐกิจไทยทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือนพึ่งพาเงินทุนจากระบบธนาคารเป็นหลัก นอกจากนี้ ความกังวลว่าเศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น (Stagflation) มีความเป็นไปได้น้อย แม้สถานการณ์เงินเฟ้อไทยยังสูง แต่เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องจากภาคท่องเที่ยวเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกบ้าง แต่ไม่ถึงกับจะทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัว

ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่าปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยยังให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวมากที่สุด และความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์โลก เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับภาคการท่องเที่ยว

ชูธุรกิจขนาดเล็กในเศรษฐกิจยุคใหม่


ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า Thailand Focus 2022 งานสำคัญประจำปีของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อสร้างความมั่นใจกับนักลงทุนทั่วโลกได้ กลับมาสู่การจัดแบบปกติอีกครั้ง หลังจาก 2 ปีที่ได้จัดทางออนไลน์ในช่วงการสถานการณ์โรคระบาดโรคโควิด-19

สำหรับงานในปีนี้กลับมาด้วยแนวคิด New Hope เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยกลับมาฟื้นตัวได้ด้วยความยืดหยุ่นเอาชนะความท้าทายต่างๆในช่วงสถานการณ์โรคระบาด นอกจากเศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวสถานการณ์โควิด ยังสามารถปรับตัวให้เข้ากับโอกาสใหม่ๆ และ สร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ให้เข้ากับกระแสนิวนอร์มอล ประเทศไทยกลับมาเป็นน่าสนใจของนักลงทุนทั่วโลก เช่น อุตสาหกรรมเทคโนโลยีอาหารซึ่งจะเป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต อุตสาหกรรมอนาคตกำลังก้าวสู่เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ เช่น อาหารในกลุ่มโปรตีนทางเลือก และ อาหารทางการแพทย์ สำหรับการท่องเที่ยว ก้าวใหม่สู่ ธุรกิจเพื่อสุขภาพ และการพำนักอาศัยระยะยาว กำลังเติบโตซึ่งสอดคล้องกับจุดแข็งภาคการท่องเที่ยวไทย

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาเกิดธุรกิจใหม่ เช่น ธุรกิจดิจิทัล และ New S-Curve เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สะท้อนศักยภาพของธุรกิจไทย และ บ่งชี้ว่านักลงทุนให้ความสนใจธุรกิจขนาดเล็กในเศรษฐกิจยุคใหม่มากขึ้น

ทั้งนี้ในช่วงวิกฤติและความท้าทาย ภาคธุรกิจตระหนักว่าต้องมุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนพร้อมกับความยืดหยุ่น และคล่องแคล่วด้านการสื่อสารและพัฒนาอยู่เสมอ เพื่อเตรียมพร้อมรับโอกาสและ ความท้าทายใหม่ๆในอนาคต ทั้งหมดนี้จะทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น และ เห็นโอกาสการลงทุนในประเทศไทย

ในการเสวนาตัวแทนภาครัฐ ภาคธุรกิจ ตลาดเงิน ตลาดทุน ยังร่วมนำเสนอจุดแข็งของประเทศไทย รวมถึงความสามารถและศักยภาพของภาคเอกชนไทยที่สอดรับกับบริบทใหม่ในอนาคต

“Thailand Focus 2022 : THE NEW HOPE เป็นอีกหนึ่งบทบาทที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ สื่อสารความน่าสนใจของประเทศไทย และเชื่อมโยงโอกาสการลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนสถาบันทั่วโลก โดยงานปีนี้จัดงานในรูปแบบ Hybrid โดยมีผู้ลงทุนสถาบันที่เดินทางมาร่วมงานในประเทศไทยและที่รับฟังข้อมูลผ่าน virtual conference เพื่อเปิดโอกาสให้เข้าถึงผู้ลงทุนทั่วโลกสามารถเข้าถึงข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนได้ในรูปแบบที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ ขณะเดียวกันยังตอบสนองความต้องการพบปะแบบส่วนตัวได้ โดยมีผู้ลงทุนจากกลุ่มประเทศหลัก ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา สวีเดน โดยผู้ลงทุนสถาบันให้ความสนใจในอุตสาหกรรมและธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเป็นหัวหอกขับเคลื่อนการเติบโตในอนาคต รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจของภาครัฐทั้งระยะสั้นและระยะยาว” ดร.ภากรกล่าว

นอกจากงานนี้ ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มีการจัดกิจกรรม “Digital Roadshow” สำหรับผู้ลงทุนสถาบัน ซึ่งนำเสนอผ่านระบบ VDO Conference เพื่อให้ผู้ลงทุนต่างชาติได้ติดตามข้อมูลผลประกอบการ บจ. ไทยและมุมมองผู้บริหารต่อทิศทางธุรกิจในแต่ละไตรมาส