ThaiPublica > เกาะกระแส > John Mearsheimer วิเคราะห์อย่างแหลมคม อันตรายของสงครามยูเครนที่ยืดเยื้อ

John Mearsheimer วิเคราะห์อย่างแหลมคม อันตรายของสงครามยูเครนที่ยืดเยื้อ

23 สิงหาคม 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

John Mearsheimer ที่มาภาพ : https://www.mearsheimer.com/photos/

เว็บไซต์ theguardian.com รายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและอดีตนายทหารของสหรัฐฯ เกือบ 20 คน ลงนามในแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลโจ ไบเดน เพิ่มความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครน ปัจจุบัน สหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครนแค่ในระดับพอที่จะทำให้การสู้รบอยู่ในภาวะคาราคาซังที่ไม่มีฝ่ายใดชนะหรือแพ้ แต่การช่วยเหลือไม่พอจะทำให้รัสเซียถอนตัวออกจากพื้นที่ยึดครองในยูเครน หากสหรัฐฯ ไม่เพิ่มความช่วยเหลือทางทหาร ก็เสี่ยงที่จะกลายเป็นฝ่ายแพ้โดยไม่ตั้งใจ จากสถานการณ์ที่ดูเหมือนจะเป็นฝ่ายชนะ

กำลังเล่นกับไฟ

ในเวลาเดียวกัน John J. Mearsheimer นักรัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐฯ เขียนบทความล่าสุดลงใน foreignaffairs.com ชื่อ Playing with Fire ก่อนหน้านี้เมื่อ 6 ปีที่แล้ว การบรรยายของเขาที่ถูกนำลงใน YouTube ชื่อ “>Why is Ukraine the West’s Fault? ที่ชี้ชัดว่า วิกฤติการณ์ในยูเครนเป็นความผิดพลาดของตะวันตก มีคนเข้าไปดูถึง 27 ล้านคน

ส่วนบทความล่าสุดของ John Mearsheimer วิเคราะห์เรื่อง ความเสี่ยงของสงครามยูเครน ที่จะขยายตัวบานปลายไปสู่หายนะภัย โดยกล่าวว่า ผู้นำตะวันตกดูเหมือนจะมีฉันทานุมัติเรื่องสงครามยูเครนแล้วว่า ความขัดแย้งจะไปลงเอยแบบคาราคาซัง (stalemate) ที่ไม่มีฝ่ายใดแพ้หรือชนะ โดยในที่สุด รัสเซียที่อ่อนแอลงก็จะยอมรับข้อตกลงสันติภาพ ที่เป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ พันธมิตรนาโต้ และยูเครน

เจ้าหน้าที่ตะวันตกยอมรับว่า ทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียอาจขยายความขัดแย้งออกไป เพื่อให้ตัวเองมีฐานะได้เปรียบ หรือเพื่อไม่ให้พ่ายแพ้ แต่ก็ถือว่าการขยายตัวที่จะกลายเป็นหายนะภัยนั้นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ มีคนเพียงไม่กี่คนที่คาดการณ์ว่า กำลังทหารสหรัฐฯ จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการสู้รบโดยตรง หรือว่ารัสเซียกล้าที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์

แต่ John Mearsheimer กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตะวันตกเองมองไม่เห็นถึงความร้ายแรงของสถานการณ์ แม้ว่าการขยายตัวของความขัดแย้งที่จะนำไปสู่หายนะภัยนั้นอาจเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ แต่ความสามารถของคู่กรณีในสงครามที่จะสามารถจัดการกับความเสี่ยงที่อันตรายนี้ยังเป็นเรื่องที่ไม่ชัดเจน ความเสี่ยงที่ว่านี้มีมากกว่าความเข้าใจที่มีอยู่ทั่วไป นั่นก็คือ ความเสี่ยงจากการที่สงครามจะพัฒนาขยายตัวออกไปจนกลายเป็นสงครามใหญ่ในยุโรป และอาจหมายถึงการทำลายล้างจากสงครามนิวเคลียร์ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะกังวลต่อความเสี่ยงนี้

พลวัตที่ทำให้สงครามบานปลาย

John Mearsheimer บอกว่า จะเข้าใจถึงพลังพลวัตของความขัดแย้ง ที่จะพัฒนาขยายตัวบานปลายออกไป ต้องเริ่มต้นจากเป้าหมายของแต่ละฝ่าย นับจากเกิดสงครามยูเครน ทั้งรัสเซียและสหรัฐฯ ได้ยกระดับเป้าหมายสูงขึ้น และทั้งสองฝ่ายต่างก็มุ่งมั่นอย่างลุ่มลึกที่จะชนะสงคราม ดังนั้น สองฝ่ายจึงมีแรงจูงใจมองหาหนทาง ที่จะทำให้ตัวเองเป็นฝ่ายชนะ และหลีกเลี่ยงการพ่ายแพ้

ความหมายดังกล่าวในทางปฏิบัติการก็คือ สหรัฐฯ อาจเข้าร่วมสงคราม หากตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำยาก หรือป้องกันยูเครนไม่ให้แพ้ ส่วนรัสเซียอาจใช้อาวุธนิวเคลียร์หากตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากที่จะต้องชนะ หรือกำลังเผชิญกับการพ่ายแพ้

นอกจากนี้ ความมุ่งมั่นที่แต่ละฝ่ายต้องการจะบรรลุเป้าหมาย ทำให้มีโอกาสน้อยที่จะเกิดการประณีประนอม ทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียต่างก็คิดว่า การชนะในสนามรบจะทำให้ตัวเองได้เปรียบในการเจรจาสงบศึก จุดนี้ทำให้ทางออกทางการทูตขาดหายไป และทำให้สองฝ่ายต่างก็ปีนป่ายบันไดการขยายตัวของความขัดแย้งให้สูงขึ้น อันจะนำไปสู่หายนะ ที่ภัยร้ายแรงกว่าที่เคยเกิดขึ้นในสงครามโลกครั้งที่ 2

ต่างฝ่ายต่างตั้งเป้าหมายสูง

ในระยะแรก สหรัฐฯ กับพันธมิตรหนุนยูเครนเพื่อไม่ให้รัสเซียชนะ และหาทางเจรจาให้ยุติการสู้รบที่เป็นประโยชน์ต่อยูเครน แต่เมื่อทหารยูเครนเริ่มโจมตีขับไล่ทหารรัสเซีย โดยเฉพาะที่เข้ามาปิดล้อมกรุงเคียฟ รัฐบาลไบเดนก็เปลี่ยนนโยบาย โดยหันมาช่วยยูเครนเพื่อเอาชนะสงครามกับรัสเซีย ต้องการสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจรัสเซียโดยการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ในเดือนเมษายน Lloyd Austin รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ อธิบายเป้าหมายของสหรัฐฯ บอกว่า “เราต้องการเห็นรัสเซียอ่อนแอลง ในระดับที่ไม่สามารถกระทำการแบบเดียวกับที่บุกยูเครนได้อีก”

John Mearsheimer กล่าวอีกว่า สหรัฐฯ ยังเอาชื่อเสียงตัวเองไปผูกติดกับผลลัพธ์ของสงคราม ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เรียกสงครามรัสเซียในยูเครนว่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” และกล่าวหาปูตินว่าเป็น “อาชญากรสงคราม” การประกาศของประธานาธิบดีสหรัฐฯ แบบนี้ทำให้ยากที่สหรัฐฯ จะถอนคำพูด ถ้าหากรัสเซียเกิดชนะสงครามในยูเครน ฐานะของสหรัฐฯ ในโลกก็จะเสียหายมาก

เป้าหมายของรัสเซียเองก็ขยายตัวออกไปเช่นเดียวกัน ความคิดทั่วไปในตะวันตกมองว่า รัสเซียบุกยูเครนเพื่อให้ยูเครนเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรรัสเซีย แต่สิ่งที่รัสเซียกังวลมากที่สุดคือหาทางป้องกันไม่ให้ยูเครนเป็นแนวป้องกันของตะวันตกที่ติดพรมแดนรัสเซีย โดยเฉพาะการที่ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโต้ ปูตินเคยกล่าวก่อนการบุกยูเครนว่า การเป็นสมาชิกนาโต้ของยูเครน เป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อรัสเซีย

แต่นับจากเกิดสงครามยูเครน เป้าหมายการยึดครองดินแดนของรัสเซียขยายตัวออกไป ก่อนเกิดสงคราม รัสเซียยอมรับข้อตกลง Minsk II Agreement ที่พื้นที่ดอนบาส (Donbas) เป็นส่วนหนึ่งของยูเครน เมื่อเกิดสงครามขึ้น รัสเซียเข้ายึดพื้นที่ส่วนใหญ่ทางตะวันออกและทางใต้ของยูเครน มีประจักษ์พยานมากขึ้นว่า ปูตินต้องการผนวกดินแดนเหล่านี้เข้ากับรัสเซีย อันจะทำให้ดินแดนที่เหลืออยู่ของยูเครนกลายเป็นรัฐล้มเหลวหรือผิดเพี้ยนไป

John Mearsheimer เห็นว่า ทุกวันนี้ สิ่งที่คุกคามต่อรัสเซียกลับมีมากกว่าในช่วงก่อนเกิดสงครามยูเครน เพราะรัฐบาลไบเดนมุ่งมั่นที่จะค่อยๆ กดดันให้รัสเซียถอนตัวจากดินแดนที่ยึดมาได้ รวมทั้งทำให้อำนาจรัสเซียอ่อนแอพิการลงไปตลอด สิ่งที่เลวร้ายต่อรัสเซียอย่างมากคือ ฟินแลนด์และสวีเดนเข้าร่วมกลุ่มนาโต้ และยูเครนที่มีอาวุธอย่างดีกลายเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับฝ่ายตะวันตก รัสเซียจึงไม่สามารถที่จะเสียยูเครนไปได้ และคงจะใช้ทุกวิธีเพื่อไม่ให้ตัวเองพ่ายแพ้ ปูตินก็ประกาศว่า จะดำเนินการให้บรรลุถึงเป้าหมายของปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน

ส่วนยูเครนเองก็มีเป้าหมายเดียวกันกับรัฐบาลไบเดน คือต้องการยึดคืนดินแดนที่เสียไปให้กับรัสเซีย รวมถึงแหลมไครเมีย รัสเซียที่อ่อนแอลงก็จะเป็นภัยคุกคามต่อยูเครนน้อยลง และยูเครนยังเชื่อมั่นว่าตัวเองสามารถเอาชนะรัสเซียได้

ดังนั้น ทั้งยูเครน สหรัฐฯ และรัสเซีย ล้วนมุ่งมั่นที่จะชนะสงคราม โดยแลกกับการที่ฝ่ายตรงกันข้ามพ่ายแพ้ จุดนี้ทำให้ไม่มีช่องว่างให้การประนีประนอม ทั้งยูเครนและสหรัฐฯ คงไม่ยอมรับฐานะที่ยูเครนจะเป็นกลาง ฝ่ายรัสเซียก็คงไม่คืนดินแดนทั้งหมดหรือส่วนใหญ่ที่ยึดจากยูเครน

อันตรายของสงครามยืดเยื้อ

จากผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกัน ทำให้นักวิเคราะห์มองไม่เห็นว่าการตกลงกันผ่านการเจรจาจะเกิดขึ้นได้ในเร็ววัน มองเห็นแต่การรบที่ยืดเยื้อคาราคาซัง จุดนี้คือสิ่งที่นักวิเคราะห์มองถูกต้อง แต่คนพวกนี้ก็ประเมินต่ำไปในประเด็นเรื่องการขยายตัวของสงครามที่จะนำไปสู่หายนะภัย ซึ่งสิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งภายในสงครามยูเครนที่เกิดขึ้นอย่างยืดเยื้อ

John Mearsheimer กล่าวว่า มีอยู่ 3 เส้นทางที่แอบแฝงอยู่ภายในของสงครามยืดเยื้อ ที่จะทำให้ความขัดแย้งขยายตัวบานปลายออกไป คือ (1) ฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่าย จงใจที่จะขยายสงครามออกไป เพื่อให้ฝ่ายตนเป็นฝ่ายชนะ (2) ฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายจงใจขยายสงคราม เพื่อไม่ให้ตัวเองพ่ายแพ้ และ (3) การสู้รบขยายตัวออกไปเองแบบไม่ตั้งใจ ในแต่ละเส้นทางการขยายตัวของความขัดแย้ง ล้วนมีโอกาสที่จะดึงสหรัฐฯ เข้ามาร่วมรบ หรือรัสเซียใช้อาวุธนิวเคลียร์

มีเหตุการณ์หลายกรณี ที่จะทำให้สหรัฐฯ เข้าไปแทรกแซงทางทหารโดยตรง กรณีที่เป็นได้มากสุดคือ กองทัพยูเครนเริ่มล้มพังลง และรัสเซียเริ่มชนะในการรบที่สำคัญๆ เนื่องจากรัฐบาลไบเดนแสดงพันธะหนักแน่น ที่จะไม่ได้ผลลัพธ์ของการรบออกมาเป็นแบบนี้ สหรัฐฯ จึงอาจเข้ามาแทรกแซงโดยตรง หรือเหตุการณ์ในกรณีเครื่องบินรบสหรัฐฯ กับรัสเซียเผชิญหน้ากันโดยตรง เหนือน่านฟ้าทะเลบอลติก

อีกกรณีหนี่งคือการรบทางภาคใต้ของยูเครน แล้วสร้างความเสียหายแก่โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ Zaporizhzhya ที่รัสเซียยึดครองอยู่ ทำให้กัมมันตภาพรังสีแพร่ออกไปทั่วภูมิภาค รัสเซียอาจตอบโต้แบบเดียวกัน Dmitry Medvedev อดีตประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีรัสเซียให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนสิงหาคมนี้ว่า “อย่าลืมว่า มีโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในสหภาพยุโรปเหมือนกัน และมีโอกาสเกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันนี้”

John Mearsheimer กล่าวว่า รัสเซียเองก็สามารถเป็นฝ่ายขยายความขัดแย้งเช่นเดียวกัน การพยายามที่จะหยุดยั้งเส้นทางช่วยเหลือทางทหารแก่ยูเครน อาจทำให้รัสเซียโจมตีสมาชิกนาโต้ เช่น โปแลนด์และโรมาเนีย หรือโจมตีทางไซเบอร์ครั้งใหญ่ต่อประเทศยุโรปที่ช่วยยูเครน ทำความเสียหายแก่โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภค สหรัฐฯ ก็อาจตอบโต้แบบเดียวกันต่อรัสเซีย

ปัญหาอาวุธนิวเคลียร์

ที่ผ่านมา รัสเซียสร้างความเสียหายมากต่อยูเครน แต่ยังลังเลจะขยายสงครามเพื่อเอาชนะ ปูตินยังไม่ได้สั่งระดมพลครั้งใหญ่ หรือโจมตีระบบการจ่ายไฟฟ้าของยูเครน คำถามมีอยู่ว่า ปูตินจะมีท่าทีอย่างไรต่อรูปแบบสูงสุดของการขยายสงครามยูเครนด้วยอาวุธนิวเคลียร์

John Mearsheimer วิเคราะห์ว่า มีสถานการณ์ 3 อย่าง ที่ปูตินอาจใช้อาวุธนิวเคลียร์ สถานการณ์ที่เป็น ฉากทัศน์ที่ 1 (first scenario) หากกลุ่มนาโต้และสหรัฐฯ เข้าสู่สงคราม ทำให้ดุลทางทหารของรัสเซียเสียเปรียบ รัสเซียจะตกอยู่ในสภาพที่ทำสงครามกับมหาอำนาจ ตามพรมแดนของตัวเอง ที่การสู้รบอาจจะแพร่เข้าไปยังดินแดนในรัสเซีย การใช้อาวุธนิวเคลียร์จึงเป็นวิธีการเพื่อกอบกู้สถานการณ์

ฉากทัศน์ที่ 2 คือกองทัพยูเครนสามารถรบได้เปรียบด้วยตัวเอง โดยสหรัฐฯ ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงโดยตรง หากกองทัพยูเครนเอาชนะกองทัพรัสเซีย และเอาดินแดนที่เสียไปคืนมาได้ รัสเซียจะมองเหตุการณ์นี้ว่าเป็นภัยคุกคามต่อความเป็นความตาย ที่ต้องตอบโต้ด้วยอาวุธนิวเคลียร์ การใช้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียจะไม่ถูกตอบโต้แบบเดียวกัน เพราะยูเครนไม่มีอาวุธนิวเคลียร์ และสหรัฐฯ ก็ไม่มีผลประโยชน์อะไรที่จะเริ่มต้นสงครามนิวเคลียร์

ฉากทัศน์ที่ 3 คือภาวะที่สงครามมีสภาพคาราคาซัง ที่หาทางออกทางการทูตไม่ได้ และสร้างภาระต้นทุนมากมายแก่รัสเซีย ความต้องการที่จะยุติสงคราม ที่เป็นประโยชน์ต่อทางฝ่ายรัสเซีย ปูตินอาจใช้การขยายการสู้รบด้วยอาวุธนิวเคลียร์มาเอาชนะสงคราม เช่น ใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี โจมตีที่ตั้งทางทหารยูเครน

John Mearsheimer สรุปว่า สงครามนั้นมีตรรกะเรื่องเหตุและผลในตัวมันเอง คนที่คิดว่าตัวเองรู้เส้นทางของสงครามยูเครนว่าจะพัฒนาไปในทิศทางไหนคือคนที่คิดผิด พลวัตที่สงครามจะขยายตัวบานปลาย เป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ หรือจะควบคุมสิ่งนี้ เพราะเหตุนี้ โลกเรามีแรงจูงใจใหญ่หลวง ที่จะหาทางออกทางการทูต แต่ในเมื่อทุกฝ่ายยังมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายสงคราม ทำให้การประณีประนอมเป็นไปไม่ได้

เราจึงได้แต่หวังว่า ผู้นำของสองฝ่ายจะดำเนินสงคราม โดยหลีกเลี่ยงการขยายตัวที่เป็นหายนะภัย

เอกสารประกอบ
19 retired generals and ex-officials urge US to increase arms supplies to Ukraine, August 17, 2022, theguardian.com
Playing with Fire in Ukraine, John J Mearsheimer, August 1, 2022, foreignaffairs.com