ThaiPublica > เกาะกระแส > การสกัดกั้น “ทุนนิยมแบบควบคุม” ของจีน ต้นเหตุของสงครามเย็นใหม่ สหรัฐฯกับจีน

การสกัดกั้น “ทุนนิยมแบบควบคุม” ของจีน ต้นเหตุของสงครามเย็นใหม่ สหรัฐฯกับจีน

22 กรกฎาคม 2020


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : opendemocracy.net

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า รัฐบาลสหรัฐอเมริกากำลังพิจารณมาตรการที่จะห้ามไม่ให้คนที่เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน เดินทางเข้ามายังสหรัฐฯ และจะเพิกถอนวีซ่าที่ออกให้กับสมาชิกพรรกและครอบครัว ที่ขณะนี้อยู่ในสหรัฐฯ มาตรการนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการร่าง ที่จะประกาศออกมาเป็นคำสั่งประธานาธิบดี แน่นอนว่าประเด็นดังกล่าวจะทำให้ความขัดแย้งระหว่างสองมหาอำนาจ รุนแรงมากขึ้น

การออกประกาศห้ามดังกล่าวจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ พรรคคอมมิวนิสต์จีนมีสมาชิก 92 ล้านคน มากกว่าประชากรของเยอรมนี ปี 2018 คนจีนเดินทางมาสหรัฐฯเกือบ 3 ล้านคน รัฐบาลสหรัฐฯไม่มีข้อมูลเรื่องฐานะภาพเกี่ยวกับการเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนของคนจำนวนมากเหล่านี้ การจะป้องกันไม่ให้เข้ามาหรือให้ออกจากสหรัฐฯ จึงเป็นเรื่องยาก

Jude Blanchette ผู้เชี่ยวชาญจีนของศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ CSIS กล่าวว่า “สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนส่วนใหญ่ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายของรัฐบาลปักกิ่ง การไปห้ามสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั้งหมด ไม่ให้เขามาสหรัฐฯ ก็เหมือนกับจีนห้ามสมาชิกพรรครีพับลิกัน ไม่ให้เดินทางเข้ามาจีน เพราะไม่พอใจโดนัลด์ ทรัมป์”

การทูตสร้างมนต์เสน่ห์ของจีน

บทความชื่อ A spectre is haunting the West ใน opendemocracy.net กล่าวว่า นับจากโคโรนาไวรัสไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จีนกำลังดำเนินนโยบาย ที่ก้าวล้ำหน้าประเทศตะวันตก นอกจากนี้ เพื่อหาแหล่งหลบภัยทางการเงินจากผลกระทบของโควิด-19 นักลงทุนแห่กันเข้าไปลงทุนในพันธบัตรของรัฐบาลจีน ที่สูงเป็นประวัติการณ์

สิ่งเหล่านี้จะหมายถึงอวสานแบบช้าๆของโมเดล “ทุนนิยมเสรี” (liberal capitalism) ของชาติตะวันตกหรือไม่

ปัจจุบันนี้ จีนได้ดำเนินนโยบายการทูตแบบสร้างเสน่ห์ไปทั่วโลก เช่น บริจาคหน้ากากอนามัย 2 ล้านชิ้น และอุปกรณ์ตรวจไวรัส 5 หมื่นชุด ให้แก่สหภาพยุโรป มูลนิธิแจ็ค หม่าจะมอบหน้ากาก 1 แสนชิ้น ชุดตรวจเชื้อ 2 หมื่นชุด และชุดป้องกัน 1 พันชุด แก่ประเทศในแอฟริกาทุกประเทศ

ตงกันข้ามกับสหรัฐฯ หลังจากที่รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์จัดการวิกฤติจากไวรัสที่ผิดพลาด เพราะปฏิเสธความร้ายแรงของการแพร่ระบาด สหรัฐฯก็กลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากสุดในโลก หลังจากนั้น ทรัมป์เองก็เริ่มหันมาเล่นงานจีน โดยบอกว่าโรคระบาดนี้คือ “ไวรัสจีน” พร้อมกับดำเนินมาตรการ “อเมริกาต้องมาก่อน”

ในเดือนมีนาคม มีข่าวว่าทรัมป์เสนอเงินจำนวนมากแก่บริษัทยาต่างประเทศ เพื่อผลิตวัคซีน “เฉพาะสำหรับสหรัฐฯ” เดือนเมษายน หน้ากากอนามัยของ 3M จำนวน 2 แสนชิ้นที่ผลิตในสิงคโปร์ เพื่อส่งไปยังเยอรมัน ถูกยึดที่กรุงเทพฯ แล้วถูกส่งไปสหรัฐฯแทน ทำให้เจ้าหน้าที่เยอรมันพูดว่าเป็น “โจรสลัดสมัยใหม่” และในปีหน้า สหรัฐฯก็ถอนตัวจากองค์การอนามัยโลก

โมเดลเศรษฐกิจของจีน

บทความของ opendemocracy.net กล่าวว่า ต้นตอความขัดแย้งระหว่าง 2 มหาอำนาจมาจาก กระบวนการที่สร้างโมเดลเศรษฐกิจจีนขึ้นมา ที่มีศักยภาพจะแข่งขันกับพลังการผลิตทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตก ที่เกิดจากโมเดลเศรษฐกิจแบบ “ทุนนิยมเสรี” และในที่สุดแล้ว โมเดลเศรษฐกิจจีนนี้ จะคุกคามต่อความเป็นใหญ่ทางเทคโนโลยี ที่เป็นรากฐานให้กับการเป็นมหาอำนาจของสหรัฐฯ

ในปี 2019 จีนฉลองการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจนครบ 70 ปี ช่วงปี 1952-1978 เศรษฐกิจจีนเติบโตปีละ 4% แต่ยังเกิดความปั่นป่วนทางการเมืองเป็นระยะๆ เช่น การปฏิวัติวัฒนธรรม ปี 1978 เติ้ง เสี่ยวผิงขึ้นมาเป็นผู้นำ และดำเนินนโยบายปฏิรูปกับเปิดประเทศ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่

ที่มาภาพ : opendemocracy.net2

ในปี 1981 ประชากรจีน 88% มีชีวิตอยู่อย่างยากจนสุดขั้ว คือมีรายได้ต่ำกว่า 1.9 ดอลลาร์ต่อวัน ภายในเวลาเกือบ 40 ปี ประชาชนกว่า 1 พันล้านคนหลุดพ้นจากความยากจนสุดขั้วดังกล่าว ช่วงเวลาเดียวกันนี้ เศรษฐกิจจีนมีมูลค่าเพิ่มจาก 195 พันล้านดอลลาร์ เป็น 14 ล้านล้านดอลลาร์ ธนาคารโลกบอกว่า จีนกลายเป็นประเทศสำคัญ ที่เศรษฐกิจขยายตัวรวดเร็วที่สุดอย่างต่อเนื่องที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์

ความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของจีน มาจากโมเดลเศรษฐกิจ “ทุนนิยมแบบควบคุม” (Authoritarian Capitalism) แต่ทางการจีนเรียกว่า “สังคมนิยมแบบลักษณะจีน” โมเดลเศรษฐกิจนี้เป็นการรวมสิ่งที่เป็น วิสาหกิจทางยุทธศาสตร์ของรัฐ การวางแผนเศรษฐกิจที่อาศัยแรงจูงใจจากกลไกตลาด ระบบการเมืองแบบพรรคเดียว ปัจจัยดังกล่าวทำให้เกิดโมเดลเศรษฐกิจแบบเฉพาะตัวของจีนขึ้นมา

บทความของ opendemocracy.net กล่าวว่า จีนจะเรียกตัวเองว่าประเทศสังคมนิยมหรือไม่ ไม่ใช่สิ่งสำคัญ เพราะทุกวันนี้ การผลิต การจ้างงาน และการตัดสินใจด้านการลงทุน หรือการกำหนดราคาสินค้า มาจากภาคเอกชนเป็นส่วนใหญ่ แต่ “ทุนนิยมแบบควบคุม” ของจีนก็แตกต่างจาก “ทุนนิยมเสรี” ของตะวันตก เพราะรัฐบาลจีนยังควบคุมเศรษฐกิจ โดยผ่านตัวแสดงที่เป็นสถาบันสำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีบทบาทเป็นตัวประสานงานธุรกรรมทางเศรษฐกิจ

ตัวอย่างเช่น หน่วยงานที่ชื่อว่า “คณะกรรมาธิการบริหารและกำกับสินทรัพย์ที่รัฐเป็นเจ้าของ” หรือ SASAC (State-owned Assets Supervision and Administration Commission) หน่วยงาน SASAC ขึ้นกับคณะรัฐมนตรีจีน มีฐานะเป็นเจ้าของและกำกับดูแลอุตสาหกรรมต่างๆของจีน บริษัทจีนที่อยู่ใต้การควบคุมของ SASAC มีทรัพย์สินมูลค่า 26 ล้านล้านดอลลาร์ รายได้ปีหนึ่ง 3.6 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่ามูลค่าเศรษฐกิจของอังกฤษ ทำให้ SASAC กลายเป็นนิติบุคคลที่ใหญ่ที่สุดของโลก

นาย Mark Wu จาก Harvard Law School ก็เขียนไว้ในบทความ The “China, Inc.” Challenge to Global Trade Governance ว่า “ลองจินตนาการดูว่า มีหน่วยงานหนึ่งในสหรัฐฯ ที่ควบคุมบริษัทต่างๆ เช่น General Electric, General Motors, Ford , Boeing, U.S. Steel, DuPont, AT & T, Verizon, Honeywell, United Technology ยิ่งไปกว่านั้น ลองคิดดูว่า หน่วยงานนี้ไม่ได้ทำตัวเป็นผู้ถือหุ้นเฉยๆ แต่สามารถจ้างหรือปลดผู้บริหาร ถ่ายโอนทรัพยากรระหว่างบริษัทในเครือ และสร้างความสำเร็จ ที่มาจากการร่วมมือในหมู่บริษัทเหล่านี้”

แม้ในบริษัทของจีนที่รัฐไม่ได้ถือหุ้นใหญ่ ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับรัฐ ก็ยังมีอิทธิพลสำคัญในจีนในปัจจุบัน เส้นแบ่งไม่ชัดเจนระหว่างรัฐกับบริษัทเอกชน เหตุผลหนึ่งเป็นเรื่องบทบาทของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กับเศรษฐกิจจีน หน่วยงานต่างๆ ที่มีสมาชิกพรรค 3 คนขึ้นไป ต้องจัดตั้งหน่วยพรรคในองค์กรนั้น ไม่ว่าจะเป็นองค์กรรัฐ บริษัทเอกชน หรือบริษัทต่างชาติ

ความแตกต่างจากตะวันตกอีกอย่างก็คือ รัฐบาลจีนมีอำนาจควบคุมธุรกิจภาคการเงิน บริษัท Holding ของรัฐชื่อ Central Huijin Investment เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในธนาคารพาณิชย์ยักษ์ใหญ่ 4 แห่งของจีน รวมทั้งธนาคาร China Development Bank

ขณะเดียวกัน Central Huijin Investment เป็นบริษัทในเครือของกองทุนความมั่งคั่งของจีนชื่อ China Investment Corporation ส่วนธนาคารกลางของจีนคือ The People’s Bank of China ก็ดำเนินงานต่างจากธนาคารกลางในตะวันตก เพราะควบคุมเข้มงวดด้านอัตราดอกเบี้ย ปริมาณเงิน ค่าเงินหยวน และเงินไหลเข้าออกประเทศ

The People’s Bank of China ธนาคารกลางของจีน ที่มาภาพ : opendemocracy.net

การควบคุมระบบการเงินอย่างเข้มงวด ทำให้รัฐบาลจีนสามารถประสานงานธุรกรรมทางเศรษฐกิจ ในแบบที่ชาติตะวันตกทำไม่ได้ เพราะภาคเอกชนในตะวันตก มีอิสระในธุรกิจด้านการเงินดังกล่าว จุดนี้ยังทำให้จีนสามารถปกป้องผลกระทบ ที่เกิดจากความปั่นป่วนทางการเงินของต่างประเทศ ที่จะมีต่อเศรษฐกิจภายในของจีน

แต่องค์กรนิติบุคคลที่มีอำนาจมากที่สุดของจีนก็คือ คณะกรรมาธิการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Commission) ที่ดูแลแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 5 ปี รวมถึงการกำกับดูแลนโยบายอุตสาหกรรม นโยบายพลังงาน และการกำหนดราคาสินค้าสำคัญ ที่ไม่ได้เป็นไปตามกลไกตลาด เช่น ค่าไฟฟ้า น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และน้ำประปา รวมทั้งมีอำนาจการอนุมัติโครงการใหญ่ๆ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน

สงครามเย็นครั้งใหม่

ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นว่า การพัฒนาของจีนจะเดินตามรอยเส้นทางของประเทศที่มีเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลาง เศรษฐกิจแบบนี้สามารถระดมทรัพยากรได้รวดเร็ว โดยรัฐมีบทบาทเป็นตัวนำ ทำให้เศรษฐกิจเติบโตในช่วงแรกในอัตราที่สูง แต่สภาพแบบนี้ จะดำเนินไปได้ไม่ยั่งยืน เพราะเป็นการเติบโตที่เกิดจากใช้ปัจจัยการผลิตมากขึ้น เช่น แรงงานและทุน ไม่ใช่การเติบโตที่มาจากผลิตภาพการผลิตสูงขึ้น แต่ความสำเร็จของจีนที่ผ่านมา พิสูจน์แล้วว่า ความคิดนี้ผิดพลาด

บทความของopendemocracy.net กล่าวว่า สิ่งที่สร้างความวิตกกังวลแก่สหรัฐฯ คือนโยบายด้านอุตสาหกรรมในอนาคตของจีน ที่จะทำให้สหรัฐฯสูญเสียความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะนโยบายของจีน ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2015 เรียกว่า Made in China 2025 ซึ่งเป็นแผนงาน 10 ปีของจีน ที่จะพึงตัวเองในด้านเทคโนโลยีทางยุทธศาสตร์ เช่น เทคโนโลยีข้อมูลที่ก้าวหน้า หุ่นยนต์ อากาศยาน ยานยนต์ไร้มลพิษ และไบโอเทคโนโลยี

นักวิเคราะห์ในสหรัฐฯบอกว่า Made in China 2025 คือภัยที่คุกคามความเป็นความตายต่อฐานะการเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีของสหรัฐฯ

เดือนมิถุนายน 2018 เมื่อรัฐบาลทรัมป์เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนสูงขึ้นเป็นครั้งแรก สินค้าส่วนใหญ่ที่ถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น จะเกี่ยวข้องกับนโยบาย Made in China 2025 สหรัฐฯยังเรียกร้องให้จีนตัดการอุดหนุนแก่อุตสาหกรรมไฮเทค ยุติการบังคับบริษัทต่างชาติให้ถ่ายโอนเทคโนโลยี และเลิกนโยบาย Made in China 2025 เป็นต้น

ดังนั้น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน จึงไม่ใช่เรื่องประเด็นการค้าที่สหรัฐฯขาดดุลมาตลอด แต่เป็นเรื่องการสกัดกั้นการพัฒนาของจีน ไม่ให้ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศคู่แข่งทางเทคโนโลยี

เอกสารประกอบ
U.S. Weighs Sweeping Travel Bam on Chinese Communist Party Member, July 15, 2020, nytimes.com
A spectre is haunting the West – the spectre of authoritarian capitalism, Laurie Macfarlane, 16 April 2020, opendemocracy.net