ThaiPublica > เกาะกระแส > วิกฤติหนี้ต่างประเทศของศรีลังกา จะเป็นประกายไฟไหม้ลามทุ่งหรือไม่

วิกฤติหนี้ต่างประเทศของศรีลังกา จะเป็นประกายไฟไหม้ลามทุ่งหรือไม่

12 สิงหาคม 2022


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ผลกระทบจากวิกฤติหนี้ในศรีลังกา ที่มาภาพ: https://en.wikipedia.org/wiki/2019%E2%80%93present_Sri_Lankan_economic_crisis#

เว็บไซต์ dw.com รายงานว่า คนบังกลาเทศจำนวนมาก กำลังวิตกว่าบังกลาเทศอาจประสบชะตากรรมแบบเดียวกับศรีลังกา เนื่องจากการขาดดุลการค้าเพิ่มมากขึ้น และภาระหนี้สินเงินกู้ต่างประเทศ ใน 9 เดือนของปีงบประมาณ 2021-2022 การนำเข้ามีมูลค่า 61.5 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 43.9% ส่วนการส่งออกเพิ่มน้อยกว่าที่ 32.9% รายได้จากแรงงานส่งเงินกลับประเทศลดลง 20% ในช่วง 4 เดือนแรก นักเศรษฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยจิตตะกองให้ความเห็นว่า การนำเข้าปีนี้ของบังกลาเทศจะสูงถึง 85 พันล้านดอลลาร์ ส่วนการส่งออกคงไม่เกิน 50 พันล้านดอลลาร์ การขาดดุล 35 พันล้านดอลลาร์ไม่สามารถอาศัยการชดเชยจากการส่งเงินกลับประเทศของแรงงานต่างประเทศอย่างเดียว ปีนี้บังกลาเทศจะติดลบ 10 พันล้านดอลลาร์ ในช่วง 8 เดือน เงินสำรองลดลงจาก 48 พันล้านดอลลาร์ เหลือ 42 พันล้านดอลลาร์ ทำให้บังกลาเทศแจ้งต่อ IMF ว่าต้องการเงินกู้ 4.5 พันล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ก็ยังวิตกกังวลเรื่องเงินกู้ต่างประเทศของบังกลาเทศ ที่นำมาใช้ในโครงการ “ช้างเผือก” ซึ่งเป็นโครงการลงทุนและดำเนินการ แทบไม่มีผลกำไร เช่น โครงการไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่กู้เงินจากรัสเซีย 12 พันล้านดอลลาร์ ระยะผ่อนชำระ 20 ปี

ประกายไฟของภูมิภาค

บทความใน foreignaffairs.com ชื่อ Is the Sri Lanka Debt Crisis a Harbinger? เขียนไว้ว่า ศรีลังกากำลังอยู่ทามกลางวิกฤติเศรษฐกิจเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ 74 ปีของประเทศ การขาดแคลนเงินตราต่างประเทศทำให้อุปทานด้านอาหาร พลังงานและยารักษาโรค ลดน้อยลง ประชาชนต่อแถวที่สถานีน้ำมันนานเป็นวัน การปล่อยกระแสไฟฟ้าเหลือวันหนึ่ง 8-10 ชั่วโมง ส่วนสินค้าที่ยังมีขายอยู่ ราคาพุ่งสูงขึ้นมาก เงินเฟ้ออยู่ในอัตรา 50% เมื่อรัฐบาลประกาศว่าอาจผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศมูลค่า 51 พันล้านดอลลาร์ ค่าเงินรูปีของศรีลังกาตกลงมาถึง 75%

คำถามสำคัญของกรณีวิกฤติของศรีลังกาอยู่ที่ว่า เป็นวิกฤติที่จะเกิดขึ้นกับประเทศรายเดียว เนื่องจากความผิดพลาดของการบริหารด้านเศรษฐกิจ หรือว่าเป็นตัวบ่งชี้ถึงวิกฤติที่จะเกิดขึ้นในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก ก่อนหน้านี้ วิกฤติหนี้สินที่ประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถชำระหนี้จะเกิดเป็นระลอกคลื่น เช่น วิกฤติการเงินช่วงทศวรรษ 1980 ในลาตินอเมริกา และช่วงทศวรรษ 1990 ในเอเชียตะวันออก

บทความของ foreignaffairs.com กล่าวว่า ข่าวดีก็คือ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลกและ IMF หันมาใช้วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติหนี้สินจากเดิมที่ใช้การตั้งรับเพื่อแก้ปัญหา แต่ข่าวร้ายก็คือ ความขัดแย้งระหว่างจีนกับประเทศตะวันตกทำให้ประเทศกำลังพัฒนาประสบความยากลำบากมากขึ้นในการเจรจาเรื่องปรับโครงสร้างหนี้ เพราะจีนไม่ต้องการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่หนี้ของสถาบันการเงินเอกชนสหรัฐฯ และยุโรป ส่วนประเทศตะวันตกก็ไม่ต้องการเข้าไปช่วยเหลือหนี้ที่เป็นของสถาบันการเงินจีน

วิกฤติเศรษฐกิจที่ “มนุษย์สร้าง” ก่อนหน้าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ศรีลังกาเป็นประเทศรายได้ปานกลางที่ประสบความสำเร็จประเทศหนึ่ง หลังเลือกตั้งปี 2019 ตระกูลราชปักษาที่ได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียง 52% เข้ามาบริหารประเทศ ใช้นโยบายผิดพลาดในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ความผิดพลาดสำคัญคือการลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 15% มาเหลือ 8% ภาษีนิติบุคคลจาก 28% เหลือ 24% ยกเลิกการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย (pay as you earn) และหันมาใช้ภาษีอัตรา 2% เรียกว่าภาษีสร้างชาติ นำไปใช้ในโครงการการพัฒนา ทั้งหมดนี้ทำให้รายได้ภาษีต่อ GDP ของศรีลังกาอยู่ที่ 8.3% อัตราต่ำสุดของโลก

ปี 2020 หน่วยงานจัดอันดับสินเชื่อระหว่างประเทศ ลดอันดับความน่าเชื่อถือของศรีลังกา ให้มาใกล้ระดับไม่สามารถชำระหนี้สิน ทำให้ศรีลังกาไม่สามารถกู้เงินจากตลาดทุนต่างประเทศ เมื่อเผชิญกับสถานการณ์แบบนี้ ประเทศต่างๆ จะหันมาเจรจาขอความสนับสนุนจาก IMF และเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ แต่รัฐบาลศรีลังกาเกรงว่าตัวเองจะต้องยอมรับเงื่อนไขของ IMF และก็ไม่อยากให้ภาพลักษณ์ประเทศเสียหายในเรื่องการชำระเงินกู้ จึงเลี่ยงไม่ดำเนินการทั้งสองแนวทางนี้ แต่หันไปใช้วิธีการพิมพ์ธนบัตรมากขึ้น มาชดเชยงบประมาณขาดดุล และเจรจาเงินกู้ก้อนใหม่จากธนาคารพัฒนาของจีน มูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์

ที่มาภาพ: indiatoday.in

วิกฤติหนี้ต่างประเทศ

บทความของเว็บไซต์ puirj.com ชื่อ Sri Lanka’s Economic Crisis: A Brief Overview (2022) กล่าวว่า จากปี 2010-2020 หนี้ต่างประเทศศรีลังเพิ่มขึ้นเท่าตัว ปี 2019 มีสัดส่วน 42% ของ GDP แต่ในปี 2021 เพิ่มสูงเป็น 119% ของ GDP ขณะเดียวกัน ปลายปี 2022 ศรีลังกาต้องชำระหนี้ต่างประเทศ 4 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่เมษายน 2022 รัฐบาลมีเงินทุนสำรองเหลือเพียง 2.3 พันล้านดอลลาร์ ทำให้รัฐบาลประกาศว่าไม่สามารถชำระหนี้ต่างประเทศ ที่มีอยู่ทั้งหมด 51 พันล้านดอลลาร์

นักวิเคราะห์มักจะวิจารณ์ว่า จีนเป็นต้นเหตุวิกฤติหนี้สินของศรีลังกา แต่สถาบัน LowyInstitute ของออสเตรเลียชี้ว่า ศรีลังกาไม่ได้ติดกับดักหนี้สินจีน ในจำนวนหนี้ต่างประเทศทั้งหมดของศรีลังกา 51 พันล้านดอลลาร์ จีนเป็นเจ้าหนี้เพียง 10% ตลาดทุนระหว่างประเทศเป็นเจ้าหนี้ 47% ธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ 22% และญี่ปุ่น 10%

ที่มาภาพ: https://www.srilanka.travel/culinary-tourism/

วิกฤติการเกษตร

เดือนเมษายน 2021 รัฐบาลศรีลังกาดำเนินนโยบายผิดพลาดอีกเรื่องหนึ่งเมื่อประกาศว่า จะอนุญาตการให้ทำการเกษตรอินทรีย์เท่านั้น ห้ามการใช้ปุ๋ยเคมีทั้งหมด รัฐบาลคิดว่าจะเป็นผลประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่นักวิเคราะห์มองว่า รัฐบาลต้องการรักษาเงินทุนสำรอง เพราะไม่มีเงินตราต่างประเทศพอที่จะนำเข้าปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช

นโยบายดังกล่าวส่งผลประทบต่อการผลิตสินค้าเกษตร การผลิตชาที่ลดลงส่งผลเสียหายเป็นเงินหลายล้านดอลลาร์ การผลิตข้าวในช่วง 6 เดือนแรกลดลง 20% ทำให้ศรีลังกาต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ เกษตรกรผู้ปลูกชาบอกว่าประสบปัญหาขั้นวิกฤติเพราะเกษตรอินทรีย์ทำให้มีต้นทุนเพิ่ม 10 เท่า แต่ผลผลิตได้แค่ 50% ของการเกษตรแบบที่เป็นอยู่เดิม นโยบายนี้ได้สร้างวิกฤติที่ทำให้ประชาชนขาดรายได้และขาดอาหาร



ที่มาภาพ: https://www.srilanka.travel/culinary-tourism/

วิกฤติธุรกิจท่องเที่ยว

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประเทศทั่วโลกปิดพรมแดน การเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวหายไปหมด เป็นผลให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวศรีลังกาไม่มีรายได้เลย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของศรีลังกามีสัดส่วน 5% ของ GDP ปี 2018 ศรีลังกามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา 2.3 ล้านคน มีรายได้ 4.3 พันล้านดอลลาร์ ปี 2020 มีนักท่องเที่ยวแค่ 173,000 คน การท่องเที่ยวเป็นแหล่งที่มาของเงินตราต่างประเทศใหญ่อันดับ 3 ของศรีลังกา รองจากการส่งออกและการส่งเงินกลับประเทศของแรงงาน

ตลาดนักท่องเที่ยวสำคัญคือ อินเดีย สหราชอาณาจักร และจีน วิกฤติเศรษฐกิจที่เลวร้ายลงส่งส่งผลกระทบด้านลบต่อการท่องเที่ยว อังกฤษ แคนาดา และอินเดีย ประกาศเตือนประชาชนของตัวเองให้ระมัดระวังเรื่องการขาดแคลนอาหาร น้ำดื่ม และยารักษาโรค

วิกฤติจะแพร่ระบาดหรือไม่

ที่ผ่านมา วิกฤติทางการเงินและการไม่สามารถชำระหนี้ มักจะเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาแบบเป็นละลอกคลื่น เช่น ในปี 1997 เมื่อประเทศไทยลดค่าเงิน นักลงทุนก็ถอนเงินออกจากหลายประเทศในเอเชีย ทำให้วิกฤติการเงินแพร่ระบาดออกไปยังฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเกาหลีใต้

บทความของ foreignaffairs.com กล่าวว่า ลักษณะเฉพาะตัวของกรณีศรีลังกาอาจทำให้วิกฤติของประเทศนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะราย ศรีลังกามีประวัติการบริหารหนี้ต่างประเทศอย่างรับผิดชอบมานาน 70 ปี หลังจากที่เลือกผู้นำที่มีนโยบายประชานิยม ภายใน 3 ปี ประเทศนี้ก็เผชิญวิกฤติที่ร้ายแรงที่สุด มีประเทศกำลังพัฒนาไม่กี่ประเทศที่มีการบริหารที่ผิดพลาดขนาดใหญ่โตแบบศรีลังกา โดยมีหนี้ต่างประเทศต่อ GDP อยู่ในระดับสูงที่อันตรายมาก

แต่ก็มีปัจจัยบางอย่างในปัจจุบัน ที่ทำให้การแก้ไขปัญหาหนี้ของประเทศกำลังพัฒนายากลำบากมากขึ้น คือ เรื่องความขัดแย้งที่มากขึ้นระหว่างจีนกับตะวันตก สถาบันการเงินที่ตะวันตกหนุนหลังไม่ต้องการให้การช่วยเหลือทางการเงินไม่ว่าจะเป็นเงินกู้ผ่อนปรนหรือการบรรเทาหนี้ ให้กับหนี้ที่เป็นเงินกู้จากจีน

ขณะเดียวกัน ฝ่ายจีนก็ไม่ต้องการที่จะไปช่วยแก้ปัญหาหนี้ที่เกิดจากตราสารหนี้ถือครองโดยนักลงทุนหรือธนาคารพาณิชย์ของตะวันตก ผลกระทบจากความขัดแย้งจีนกับตะวันตกอาจจะยังไม่สร้างปัญหาใหญ่ต่อแก้ปัญหาวิกฤติหนี้สินของศรีลังกา เนื่องจากสัดส่วน 90% ของหนี้ต่างประเทศ เป็นเจ้าหนี้ตะวันตก แต่อาจสร้างปัญหาแก่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ แต่ปากีสถานอาจเป็นแบบอย่างในการแก้ปัญหาหนี้สินก่อนเกิดวิกฤติ โดยการขอความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศก่อนที่จะสายเกินไป จากนั้นก็มาสร้างการสนับสนุนจากคนในประเทศ ในการปฏิรูปเศรษฐกิจที่จำเป็นและการที่ต้องดำเนินนโยบายปฏิรูปที่นานหลายปี

ส่วนประเทศเจ้าหนี้ ทั้งจีน อเมริกา และยุโรป ก็ต้องไม่ให้เรื่องภูมิรัฐศาสตร์เข้ามามีอิทธิพลต่อเรื่องการสนับสนุนทางการเงินให้แก่ประเทศลูกหนี้ในช่วงที่กำลังดำเนินการปฏิรูป วิกฤติหนี้ของศรีลังกาให้บทเรียนว่าเกิดจากนโยบายเศรษฐกิจผิดพลาด รัฐบาลที่ไม่กล้าตัดสินใจเด็ดขาด ในการแก้ปัญหาในระยะต้นๆ และความขัดแย้งจีนกับตะวันตก ประเทศกำลังพัฒนาล้วนมีความเสี่ยงจากปัจจัยดังกล่าว หากพร้อมที่จะดำเนินการปฏิรูปที่จำเป็น เจรจากับสถาบันการเงินเพื่อขอการสนับสนุน และใช้การเจรจากับเจ้าหนี้ด้วยวิธีการเที่ยงตรง ก็จะสามารถฟันผ่าวิกฤติไปได้

เอกสารประกอบ
Is Bangladesh heading toward a Sri Lanka-like crisis? dw.com
Is the Sri Lanka Debt Crisis a Harbinger? August 04, 2022, foreignaffairs.com
Sri Lanka’s Economic Crisis: A Brief Overview, puirj.com