ThaiPublica > คอลัมน์ > เกาหลีใต้ยุคใหม่เข้มข้นกว่าเดิม

เกาหลีใต้ยุคใหม่เข้มข้นกว่าเดิม

7 สิงหาคม 2022


กวี จงกิจถาวร

ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ “ยุนซ็อกยอล”(Yoon Suk Yeol) ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Yoon_Suk-yeol#/media/File

กรุงโซล — ในวินาทีนี้ เกาหลีใต้เหมือนนักวิ่งที่ฟิตเต็มที่ พร้อมจะพุ่งทะยานเข้าหลักชัยอย่างมั่นใจ ไม่ต้องห่วงเรื่องระยะทางเพราะมีพลังเต็มร้อย

รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของประธานาธิบดียุนซ็อกยอล (Yoon Suk Yeol) จากพรรคอนุรักษนิยม ได้ตอกย้ำอย่างอาจหาญว่า ตั้งแต่นี้ไป เกาหลีใต้ต้องเป็นประเทศที่มีบทบาทในเวทีการเมืองโลก สมกับเป็นประเทศที่มีอำนาจเศรษฐกิจใหญ่

น่าสนใจที่ผู้นำเกาหลีคนใหม่มาในแบบโลกตะวันตก กล่าวคือ เกาหลีต้องส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ และประชาธิปไตย

หลังวิกฤติเศรษฐกิจเอเชียในปี 1997 เกาหลีใต้ปฏิรูปทั้งเศรษฐกิจและการเมืองได้อย่างบูรณาการ ทำให้ประเทศนี้ทะยานไปอย่างหยุดยั้งไม่ได้ ไม่ต้องติดหลุมการเมืองแบบเก่าๆ ในสมัยประธานาธิบดีพักจุงฮี ผู้เขียนได้มีโอกาสมาเกาหลีหลายครั้ง สังเกตเห็นความเจริญและความทะเยอทะยานของประเทศนี้ ที่กระโดดออกมาเล่นการเมืองโลกอยู่เสมอ

ขณะนี้เกาหลีใต้มีเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่สิบของโลก (ใหญ่กว่ารัสเซียเสียอีก) ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ผู้นำเกาหลีคนใหม่จะออกมาประกาศว่า บัดนี้ เกาหลีจะเป็นประเทศจีพีเอส (GPS — global pivotal state) พูดง่ายๆ ก็คือ ประเทศที่มีพลังและบารมี ในเวทีนานาชาติเกาหลีใต้กำลังไต่อันดับสู้กับเพื่อนบ้านที่เป็นมหาอำนาจทางด้านเศรษฐกิจ คือ ญี่ปุ่นกับจีน

ช่วงหกปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีคนก่อน มุนแจอิน ได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศเชิงรุกโดยการเข้าหาประเทศในภูมิภาค คืออาเซียนและอินเดียภายใต้นโยบาย นิวเซาเทิน (New Southern Policy) คือเพิ่มความร่วมมือกับประเทศที่อยู่ทางใต้นั่นเอง เกาหลีถึงกับยกระดับการพัวพันกับอาเซียนให้เทียบเท่ากับสี่มหาอำนาจ คือสหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน และญี่ปุ่น ทั้งนี้ ต้องให้เครดิตรัฐบาลชุดก่อนเพราะทำให้บทบาทเกาหลีเด่นชัดมากๆ ในเวทีการเมืองในภูมิภาค

ขณะนี้รัฐบาลใหม่มีความทะเยอทะยานมากๆ ที่จะผลักดันให้เกาหลีเป็นประเทศที่มีประชาคมโลกยอมรับบทบาททั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และยุทธศาสตร์ เกาหลีใต้ยังมีอาวุธลับคือวัฒนธรรมเกาหลีที่ได้แพร่ขยายไปทั่วโลก ที่ใครๆ รู้กันในนามของเค-ป๊อป

ประธานาธิบดีสหรัฐและประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ที่มาภาพ : https://twitter.com/President_KR/status/1528565903931355136/photo/1

ประธานาธิบดียุนให้ความสำคัญต่อพันธมิตรทางความมั่นคงกับสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งต่างจากรัฐบาลชุดก่อนซึ่งมีท่าทีเย็นชากว่า

นอกจากนั้น รัฐบาลชุดใหม่ยังมีท่าทีแข็งกร้าวต่อเกาหลีเหนือมากๆ จนทำให้ผู้นำเกาหลีเหนืออกมาด่าทอประธานาธิบดียุนต่างๆ นานา พร้อมกับขู่ว่าจะทำลายเกาหลีใต้ให้ราบคาบเป็นหน้ากลอง (เป็นคำขู่ที่เกาหลีใต้คุ้นเคยดี)

เกาหลีใต้ยุคใหม่จึงมีความเข้มข้นกว่าที่คิด ทางรัฐบาลเกาหลีหลังเข้ามาปกครองประเทศ ได้แจ้งกับสมาชิกอาเซียนตั้งแต่วันแรกๆ โดยรัฐมนตรีต่างประเทศ พักจิน ได้พบปะกับทูตอาเซียนทั้งหมดที่ประจำในกรุงโซล และตอกย้ำว่าอาเซียนยังคงเป็นแกนหลักใหญ่ของการทูตเกาหลีใต้ ถึงแม้ว่า รัฐบาลชุดนี้อาจจะไม่อ้างอิงหรือใช้นโยบายนิวเซาเทินของรัฐบาลชุดก่อนก็ตาม

นโยบายใหม่ต่ออาเซียนจะมีแง่มุมทางด้านยุทธศาสตร์มากขึ้น เพราะเกาหลีกำลังร่างนโยบายอินโด-แปซิฟิกอยู่ โดยไม่ต้องการพาดพิงถึงกรอบความร่วมมืออินโดแปซิฟิกของประเทศอื่นๆ ที่มีมาก่อน ขณะนี้มีกรอบความร่วมมืออินโด-แปซิฟิกถึงเจ็ดกรอบ คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย สหภาพยุโรป ฝรั่งเศส เยอรมัน ออสเตรเลีย และอาเซียน

เกาหลีใต้รู้ดีถึงความไม่แน่นอนของภูมิยุทธศาสตร์ในเอเชียเหนือ เนื่องจากมีภัยอันตรายร้ายแรงจากเกาหลีเหนือที่ต้องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ พี่น้องคู่ปรับเก่า ช่วงสามเดือนที่ผ่านมา ความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือตึงเครียดมาก

นอกจากนั้น เกาหลียังมีจีนและญี่ปุ่นที่มีความสัมพันธ์ทวิภาคีไม่ค่อยสนิทใจ ถึงแม้ว่าเกาหลีใต้พยายามรักษาระยะห่างกับจีน เพื่อรักษาดุลยภาพ ความผูกพัน และผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจอันเหนียวแน่น จีนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของเกาหลี

ส่วนญี่ปุ่นก็ยังมีปัญหาเดิมที่คั่งค้างมานาน เกี่ยวกับเหตุการณ์หญิงเกาหลีที่ถูกบังคับให้เป็นทาสบริการทางเพศทหารญี่ปุ่นในยุคที่ญี่ปุ่นยึดครองเกาหลี (1910-1945) ซึ่งทางรัฐบาลเกาหลีเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นรับผิดชอบและจ่ายค่าทำขวัญ

ประเด็นนี้อาจจะมีการแก้ไขได้ในเร็วๆ นี้ ประธานาธิบดียุนได้พบปะกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ และได้ตกลงถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขปัญหานี้ให้ลุล่วง จะได้เสริมสร้างพันธมิตรที่เข้มแข็งภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา เพื่อต้านแสนยานุภาพที่เพิ่มขึ้นของจีน

ที่มาภาพ : https://twitter.com/President_KR/status/1541326542122668033/photo/1

ส่วนสัมพันธ์ไทยกับเกาหลีนั้น ต้องบอกว่ามีศักยภาพที่ดีมากๆ ไทยต้องชักจูงให้เกาหลีมาลงทุนในไทยแบบที่บริษัทใหญ่ๆ เช่น ซัมซุงและแอลจี ไปลงทุนในเวียดนาม ความร่วมมือทางความมั่นคงก็มีความสำคัญ และเริ่มมีความหลากหลาย ไทยเริ่มสนใจอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทำในเกาหลี รวมทั้งเครื่องบินขับไล่ของเกาหลี ตอนนี้อาวุธเกาหลีกำลังมาแรงมากและได้รับความนิยมในตลาดอาวุธยุโรป

ในอดีต เกาหลีใต้เห็นว่าไทยใกล้ชิดกับญี่ปุ่น ถือว่าพื้นที่นี้เป็นของญี่ปุ่น เลยไม่อยากเข้ามาแข่งบารมี ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว สถานการณ์เปลี่ยนแปลงเพราะเศรษฐกิจเกาหลีดีวันดีคืน โดยเฉพาะทางด้านดิจิทัล

สิ่งที่พิเศษสำหรับสองประเทศยังมีคือ การแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรม ที่ทั้งคนเกาหลีและไทยต่างคลั่งไคล้ซึ่งกันและกัน ประเด็นนี้น่าสนใจมากๆ คือวัยรุ่นไทยรวมทั้งในอาเซียนจะยอมรับเอาวัฒนธรรมเกาหลีเค-ป๊อปทั้งหลายได้ด้วยดี

รัฐบาลไทยควรจะต้องให้ความสำคัญเกาหลีเป็นพิเศษ เพื่อดึงเกาหลีเข้ามาร่วมเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์แบบบูรณาการให้เร็วที่สุด ไทยมีภาษีมากกว่าประเทศอื่นๆ เพราะไทยส่งทหารกองพันเสือน้อยไปรบในสงครามเกาหลี จนทุกวันนี้ประวัติศาสตร์เกาหลียังกล่าวถึงและชื่นชมอยู่เสมอ