ThaiPublica > ประเด็นร้อน > COVID-19 พลิกโลก > ประเทศไหนบ้าง “ฉีดวัคซีน 2 เข็มต่างชนิด”

ประเทศไหนบ้าง “ฉีดวัคซีน 2 เข็มต่างชนิด”

13 กรกฎาคม 2021


ที่มาภาพ: https://www.reuters.com/world/middle-east/countries-weigh-mix-match-covid-19-vaccines-2021-05-24/

หลายประเทศหันมา พิจารณาแนวทางการใช้วัคซีนโควิดต่างยี่ห้อในการฉีดวัคซีนเข็มที่สอง หรือเข็ม 3 เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน(booster shot )ท่ามกลางการส่งมอบวัคซีนล่าช้า และความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย ซึ่งมีผลให้การฉีดวัคซีนไม่คืบหน้ามากนัก

ผู้เชี่ยวชาญบางรายเชื่อว่า การสลับชนิดวัคซีนในเข็มที่สองจะกระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกัน ขณะนี้มีการทำการศึกษาทางการแพทย์เพื่อวิเคราะห์ว่าการสลับชนิดวัคซีนโควิดนั้น ส่งผลดีหรือไม่(Efficacy)

โดยผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดพบว่า การฉีดวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 หลังจากฉีดวัคซีนแอสตราเซเนก้าเป็นเข็มแรก สร้างแอนติบอดีสูงกว่าการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนก้าเพียงอย่างเดียว

ผลการทดลองการใช้วัคซีนต่างชนิดในวงจำกัด ในสหราชอาณาจักร พบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มแรกและวัคซีนแอสตราเซเนก้าเป็นเข็มที่สอง หรือกลับกัน มีการรายงานไม่แสดงอาการ หรือมีอาการรุนแรงจากการติดเชื้อน้อยกว่าการรับวัคซีนชนิดเดียวกันทั้งสองเข็ม

ในสเปนวันที่ 19 พฤษภาคม ได้ประกาศ อนุญาตให้ประชาชนอายุต่ำกว่า 60 ปีที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนก้าเป็นเข็มแรกแล้วสามารถ เลือกวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่สองได้ หลังจากสถาบันสุขภาพคาร์ลอสที่ 3 ได้ให้ความเห็นว่าการสลับชนิดวัคซีนมีความปลอดภัยและได้ผล

ส่วนเยอรมนีได้ออกคำแนะนำที่ดูเหมือนว่าจะเข้มข้นที่สุดมากกว่าประเทศในการสลับชนิดวัคซีนจากการประเมินประสิทธิภาพ

คณะกรรมการวัคซีน(Standing Committee on Vaccination:STIKO) ระบุเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมว่า ประชาชนที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนก้าเป็นเข็มแรก ควรได้รับวัคซีน mRNA เป็นเข็มที่สอง ไม่ว่าอายุเท่าไร

ส่งผลให้เยอรมนีเป็นประเทศแรกที่แนะนำชัดเจนว่าประชาชนที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนก้าเป็นเข็มแรก ควรรับวัคซีนไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาเป็นเข็มที่สอง

นายกรัฐมนตรีแองเกลา แมร์เคิล ได้รับวัคซีนโมเดอร์นาเป็นวัคซีนเข็มที่สอง หลังจากที่ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนก้าเป็นเข็มแรกเมื่อเดิอนเมษายน

สำหรับประเทศที่กำลังพิจารณา หรือหันมาใช้การฉีดวัคซีนสลับชนิดแล้วได้แก่

บาห์เรน วันที่ 4 มิถุนายน 2564 ประกาศว่า ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 เป็นไฟเซอร์หรือ ซิโนฟาร์ม ไม่ว่าได้รับวัคซีนอะไรมาก่อนหน้านี้

ภูฏาน นายกรัฐมนตรีโลเทย์ เชริง กล่าวเมื่อวันที 24 มิถุนายนว่า อุ่นใจกับการฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน 700,000 คนในประเทศ

แคนาดา คณะที่ปรึกษาแห่งชาติด้านภูมิคุ้มกันกล่าวเมื่อวันที่ 17 มิถุนายนว่า หลายเมืองควรฉีดวัคซีนแอสตราเซนเนก้าเป็นเข็มแรก ส่วนเข็มที่สองควรเป็นวัคซีนต่างยี่ห้อ

นอกจากนี้คณะกรรมการยังได้ให้ความเห็นก่อนหน้านี้ว่า ประชาชนที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซนเนก้าเป็นเข็มแรกควรจะเลือกได้ว่า วัคซีนเข็มที่สองจะเป็นยี่ห้อไหน

ในวันที่ 12 กรกฎาคม แคนาดาได้ออกแถลงการณ์ยืนยันความเห็นเดิมในการฉีดวัคซีนสลับชนิด หลังจาก หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization) ออกคำเตือนเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จากผู้ผลิตที่แตกต่างกันโดยระบุว่า เป็น”แนวโน้มที่อันตราย” เนื่องจากมีข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพน้อยมาก

  • WHO เตือนการจับคู่ฉีดวัคซีนโควิดต่างยี่ห้อ แนะรอผลการศึกษา
  • โดยในแถลงการณ์คาร์ไล ลูอิส ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คริสตีน เอลเลียต กล่าวว่า ออนตาริโอจะยังคงใช้วิธีการสลับชนิดของวัคซีน

    “ออนตาริโอยังคงปฏิบัติตามคำแนะนำของคณะที่ปรึกษาแห่งชาติด้านภูมิคุ้มกัน ที่ระบุว่าการสลับชนิดวัคซีนมีความปลอดภัย โดยมีข้อมูลจากผลการศึกษาในอังกฤษ สเปน และเยอรมนี ซึ่งพบว่าการสลับชนิดวัคซีนมีความปลอดภัยและสร้างการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่ง ”

    จีน นักวิจัยของจีนกำลังเริ่มต้นทำการทดลองระยะแรกของการสลับชนิดวัคซีนและทำในวงจำกัด โดยข้อมูลในการทดลองทางคลีนิกเดือนเมษายน มีการใช้วัคซีนจากแคนซิโนไบโอโลจิกส์เป็นเข็มแรก ส่วนเข็มที่สองใช้จากฉงชิ่ง จื้อเฟย ไบโอโลจิคอล โปรดักส์ และยังทดลองใช้วัคซีนเข็มที่สามจากแคนซิโนไบโอโลจิกส์ เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกหรือครบสองเข็มแล้ว และเป็นวัคซีนเชื้อตาย

    อินโดนีเซีย กำลังพิจารณาที่จะฉีดเข็มที่สามเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคแล้ว เพราะมีหลายพันคนมีผลการตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นบวก

    อิตาลี สำนักงานยา AIFA ประกาศวันที่ 14 มิถุนายนว่า ประชาชนที่อายุต่ำกว่า 60 ปีซึ่งได้รับวัคซีนเข็มแรกเป็นแอสตราเซเนก้าสามารถรับซัคซีนเข็มที่สองเป็นยี่ห้ออื่นได้

    รัสเซีย อาจจะเริ่มการทดลองการใช้วัคซีนสปุตนิก V ร่วมกับวัคซีนของจีนหลายยี่ห้อในกลุ่มประเทศอาหรับ จากการเปิดเผยของกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของรัสเซีย RDIF เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน

    RDIF ยังระบุว่า ไม่มีผลข้างเคียงในด้านลบจากการทดลองทางคลีนิกในการใช้วัคซีนแอสตราเซเนก้าร่วมกับวัคซีนสปุตนิก V

    เกาหลีใต้ ประกาศเมื่อวันที่ 18 มิถุนายนว่าประชาชนจำนวน 760,000 รายที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกเป็นแอสตราเซเนก้าจะได้รับวัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่สอง เนื่องจากมีความล่าช้าในการส่งมอบวัคซีนภายใต้โครงการ COVAX

    สหรัฐอาหรับอมิเรตส์ กำหนดให้วัคซีนไฟเซอร์ เป็นเข็มสามเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้กับผู้ที่ได้รับการสร้างภูมิคุ้มกันรอบแรกไปแล้วด้วยวัคซีนซิโนฟาร์มของ ไชน่า เนชันแนล ฟาร์มาซูติคอล กรุ๊ป

    ผู้แทนจาก Mubadala Health ในสังกัดกองทุนแห่งชาติ กล่าวว่า จะจัดหาวัคซีนหลายยี่ห้อเป็นเข็มที่สามเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน แต่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ที่จะรับวัคซีนและยังไม่มีการแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข

    ประเทศไทย วันที่ 12 กรกฎาคม คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบในการให้ฉีดวัคซีนโควิดสลับ 2 ชนิด เข็ม 1 เป็นวัคซีนซิโนแวค และเข็ม 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า โดยห่างจากเข็มแรกนาน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลต้า ซึ่งจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสให้อยู่ในระดับที่สูงได้เร็วมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อผู้รับวัคซีน

    รวมทั้งให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Booster dose) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า โดยห่างจากเข็ม 2 นาน 3-4 สัปดาห์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันให้สูงและเร็วที่สุด

  • สธ.มีมติฉีดเข็ม 1 ซิโนแวค เข็ม 2 แอสตราเซเนก้า เร่งสร้างภูมิคุ้มกันสายพันธ์ุเดลต้า