ThaiPublica > Sustainability > Headline > วิกฤติ!!! ทะเลสาบ แม่น้ำหลายประเทศแห้งเหือด จีนเตือนภัยแล้งครั้งแรก

วิกฤติ!!! ทะเลสาบ แม่น้ำหลายประเทศแห้งเหือด จีนเตือนภัยแล้งครั้งแรก

21 สิงหาคม 2022


เรือขนส่งแล่นผ่านแม่น้ำไรน์ที่แห้งบางส่วนในเมืองบิงเง่น เยอรมนี วันที่ 9 ส.ค.2565 ที่มาภาพ:https://www.euronews.com/green/2022/08/11/in-pictures-europes-mighty-rivers-are-drying-up-in-the-climate-driven-drought

ทะเลสาบและแม่น้ำในเยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศส สเปน จีน และสหรัฐฯ แห้งเหือด ขณะที่ภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำคุกคามซีกโลกเหนือ

ทั่วโลกประกาศภัยแล้ง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ climate change ยังไม่ดีขึ้น ภัยแล้งรุนแรงเกิดขึ้นในประเทศทั่วยุโรป เช่นเดียวกับในจีนและสหรัฐอเมริกา

รายงานของสหประชาชาติเตือนว่าภัยแล้งยาวนานขึ้นและบ่อยขึ้นตั้งแต่ปี 2543 โดยปัจจัยหลักคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ระดับในทะเลสาบแม่น้ำสายสำคัญหลายสายในหลายประเทศยุโรปลดลงถึงขั้นวิกฤติ เนื่องจากประสบปัญหาภัยแล้งครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ จนนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า อาจเลวร้ายที่สุดในรอบ 500 ปี

ในเยอรมนี ระดับน้ำที่ลดลงของแม่น้ำไรน์ทำให้เรือหลายลำไม่สามารถเดินเรือได้ เรือต้องบรรทุกน้ำหนักเพียง 30-40% จากเดิมเพื่อไม่ให้ท้องเรือครูดพื้นดิน ในฐานะที่เป็นแม่น้ำสำคัญสายหนึ่งในยุโรป แม่น้ำไรน์มักจะเต็มไปด้วยเรือขนส่งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ไปและกลับจากโรงไฟฟ้าและโรงงานตลอดเส้นทางน้ำ

เยอรมนีเผชิญกับผลกระทบทางเศรษฐกิจครั้งใหม่หลังจากแม่น้ำไรน์ลดลงต่ำกว่าระดับวิกฤติ จนต้องระงับการสัญจรทางแม่น้ำจำนวนมาก

ในวันที่ 12 สิงหาคม แม่น้ำไรน์ลดลงสู่ระดับต่ำสุดใหม่ ส่งผลกระทบต่ออุปทานสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญต่อพื้นที่ส่วนต่างๆ ของทวีปยุโรปตอนบน ขณะที่ทวีปกำลังประสบกับวิกฤติด้านพลังงานครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ทั้งนี้มีการขนส่งน้ำมัน 400,000 บาร์เรลต่อวันผ่านแม่น้ำ ซึ่งทอดยาวจากภูมิภาค Amsterdam-Rotterdam-Antwerp ผ่านเยอรมนีไปยังสวิตเซอร์แลนด์

ระดับน้ำที่เมือง Kaub ซึ่งเป็นจุดอ้างอิงสำคัญทางตะวันตกของแฟรงก์เฟิร์ต ลดลงต่ำกว่าระดับวิกฤติ 40 เซนติเมตร และคาดว่าจะลดลงอีกอย่างต่อเนื่องในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

ระดับน้ำที่ 40 เซนติเมตร หมายความว่าน้ำไม่มากพอให้เรือบรรทุกจำนวนมากแล่น น้ำตื้นช่วยป้องกันไม่ให้เรือบรรทุกได้เต็มลำ ระดับน้ำที่ต่ำบางครั้งส่งผลกระทบต่อการจราจรบนแม่น้ำไรน์ แต่ปีนี้ลดลงถึงระดับที่ไม่เคยเห็นมาตั้งแต่ปี 1993

ในทางใต้ของสเปน กำลังเผชิญกับภัยแล้งครั้งเลวร้ายที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดยงานวิจัยบ่งชี้ว่าคาบสมุทรไอบีเรียอาจเป็นดินแดนที่แห้งแล้งที่สุดในรอบกว่า 1,000 ปี

ภัยแล้งในสเปนยังทำให้เห็นวงกลมหินยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่เรียกกันว่า “สโตนเฮนจ์ของสเปน” ซึ่งตั้งแต่ปี 2506 เห็นหินนี้เพียงสี่ครั้ง

สโตนเฮนจ์ของสเปน ที่มาภาพ: https://www.abc.net.au/news/2022-08-21/northern-hemisphere-drought-germany-italy-france-photos/101341444

ขณะที่ ฝรั่งเศสประเทศเพื่อนบ้านติดกันกำลังประสบกับภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกในปี 1958 หน่วยงานสภาพอากาศแห่งชาติกล่าว โดยเฉลี่ยแล้ว ฝรั่งเศสมีฝนตกน้อยกว่า 1 เซนติเมตร ในเดือนกรกฎาคม และหลายหมู่บ้านต้องพึ่งพาน้ำจากรถบรรทุกน้ำเนื่องจากน้ำประปาเริ่มไม่มีน้ำจ่าย

กระทรวงเกษตรของฝรั่งเศสระบุว่า มีการจำกัดการใช้น้ำในหลายพื้นที่ของประเทศ และการเก็บเกี่ยวข้าวโพดคาดว่าจะลดลงเกือบ 20% จากปี 2564

ส่วนอิตาลี ประสบกับความแห้งแล้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ระดับน้ำในทะเลสาบการ์ดา ซึ่งเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ลดลงใกล้ระดับต่ำสุดที่เคยบันทึกไว้

แม่น้ำสายหนึ่งใน Le Broc ฝรั่งเศสแห้ง ที่มาภาพ:https://www.bbc.com/news/world-europe-62436468

ทางตอนเหนือของอิตาลีไม่มีฝนตกหนักมาหลายเดือนแล้ว และปริมาณหิมะในปีนี้ก็ลดลง 70% ทำให้แม่น้ำสายสำคัญๆ เช่น แม่น้ำโปซึ่งไหลผ่านพื้นที่ภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของอิตาลีแห้งแล้ง

ในต้นเดือนกรกฎาคม อิตาลีประกาศภาวะฉุกเฉินในพื้นที่ภาคเหนือ 5 แห่ง รอบแม่น้ำโป ท่ามกลางภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 70 ปี

รายงานของสหภาพเกษตรกรรม Coldiretti พบว่าความแห้งแล้งคุกคามผลผลิตทางการเกษตรของอิตาลีมากกว่า 30%

นอกจากนี้เทศบาลหลายแห่งได้ประกาศการปันส่วนน้ำแล้ว

ระดับน้ำใน Lake Garda ลดต่ำจนเห็นแผ่นหินใต้น้ำ ที่มาภาพ: https://www.abc.net.au/news/2022-08-21/northern-hemisphere-drought-germany-italy-france-photos/101341444

สภาพอากาศที่ร้อนผิดปกติและปริมาณน้ำฝนที่ต่ำตลอดช่วงฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิ ทำให้ภาคเหนือของอิตาลีขาดแคลนน้ำ และทำให้เกิดความวิตกมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ระดับน้ำในแม่น้ำและทะเลสาบหลายแห่งของสวิตเซอร์แลนด์ก็ลดลงสู่ระดับที่ต่ำมากเช่นกัน

ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมากกว่า 70% ของที่ดินทั้งหมดประสบกับภาวะแห้งแล้งที่รุนแรงหรือร้ายแรง มีคำเตือนเกี่ยวกับปริมาณน้ำ โดยอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำโคโลราโด ได้แก่ ทะเลสาบมี้ด และทะเลสาบพาวเวลล์ มีระดับน้ำต่ำเป็นประวัติการณ์

  • จีนเจอคลื่นความร้อนเลวร้ายสุดรอบ 60 ปี ต้องระงับจ่ายกระแสไฟฟ้า
  • แม่น้ำเจียหลิงในฉงชิ่งลดต่ำลง ณ วันที่ 17 ส.ค. 2565 ที่มาภาพ: http://en.people.cn/n3/2022/0820/c90000-10137592.html

    จีนประกาศภาวะฉุกเฉินภัยแล้งครั้งแรก

    ขณะเดียวกัน ในจีนซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามของอีกซีกโลก และเป็นภูมิภาคที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำแยงซี กำลังต้องใช้เครื่องสูบน้ำและเครื่องบินทำฝนเทียม เนื่องจากภัยแล้งทำให้ระดับน้ำลดลงและคุกคามพืชผล และยังเกิดคลื่นความร้อนต่อเนื่องอีกสองสัปดาห์

    ศูนย์เฝ้าระวังแห่งชาติของจีนในวันพฤหัสบดี(18 ส.ค.)ได้ออกคำเตือนภัยแล้งระดับสีเหลือง นับเป็นการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านภัยแล้งครั้งแรกในปีนี้ เนื่องจากคลื่นความร้อนที่ทำลายสถิติแผดเผาแผ่ไปทั่วพื้นที่กว้างใหญ่ของประเทศ และทำให้แม่น้ำแยงซีแห้งแล้ง

    จังหวัดทางตอนกลางและทางใต้ของจีนต้องเผชิญกับความร้อนจัดเป็นเวลาหลายสัปดาห์ โดยอุณหภูมิในเมืองต่างๆ หลายสิบแห่งสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส คลื่นความร้อนมีผลกระทบต่อการเติบโตของพืชผล ปศุสัตว์ และทำให้อุตสาหกรรมบางประเภทต้องปิดตัวลงเพื่อประหยัดพลังงานสำหรับบ้านเรือน

    ศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติระบุว่าตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม พื้นที่ทางตอนใต้ ภาคกลาง และตะวันตกเฉียงใต้ของจีนประสบกับภัยแล้งอันเป็นผลมาจากฝนน้อยและอุณหภูมิสูง

    ศูนย์ฯ ยังชี้ว่า ความแห้งแล้งที่อยู่เหนือระดับปานกลางขณะนี้ยังคงปกคลุมในบางพื้นที่ของมณฑลเจียงซู อานฮุย หูเป่ย เจ้อเจียง เจียงซี หูหนาน กุ้ยโจว ฉงชิ่ง เสฉวน และทิเบต

    ศูนย์ฯแนะนำให้ภูมิภาคเหล่านี้จับตาดูการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างใกล้ชิดและทำฝนเทียมเมื่อจำเป็น นอกจากนี้ยังเตือนถึงความเสี่ยงของไฟป่า

    ประเทศจีนมีระบบเตือนภัยสภาพอากาศสี่ระดับด้วยการใช้สี โดยสีแดงแสดงถึงการเตือนที่รุนแรงที่สุด รองลงมาคือสีส้ม สีเหลือง และสีน้ำเงิน

    มณฑลเสฉวนของจีนซึ่งมีประชากร 94 ล้านคน สั่งให้โรงงานทั้งหมดปิดตัวลงเป็นเวลา 6 วันในสัปดาห์นี้เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าในภูมิภาค หลังจากระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำลดลงและความต้องการเครื่องปรับอากาศพุ่งสูงขึ้นท่ามกลางความร้อน

    ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำแยงซีก็ลดลงเช่นกันประมาณ 45% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากข้อมูลกระทรวงทรัพยากรน้ำ สถานีโทรทัศน์ CCTV รายงานว่า แม่น้ำ 66 สายใน 34 มณฑลทางตะวันตกเฉียงใต้ของฉงชิ่งแห้งเหือด

    ส่วนหนึ่งของแม่น้ำเจียหลิงในฉงชิ่งแห้ง ที่มาภาพ:http://en.people.cn/n3/2022/0820/c90000-10137592.html

    เขตเป่ยเป่ยทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนประสบอุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 45 องศาเซลเซียส ในวันพฤหัสบดี ศูนย์อุตุนิยมวิทยาแห่งชาติ ระบุ

    เจ้าหน้าที่ของจีนในสัปดาห์นี้ได้เปิดเผยมาตรการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบของภัยแล้ง ซึ่งรวมถึงการทำฝนเทียม มีการใช้เงิน 44 ล้านดอลลาร์ในการบรรเทาภัยพิบัติสำหรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด และการปิดพื้นที่บางส่วนที่ใช้พลังงานมาก

    ต้าน หวัง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Hang Seng Bank China ให้สัมภาษณ์รายการ “Squawk Box Asia” ของสถานีโทรทัศน์ CNBC เมื่อวันพฤหัสบดีว่า ความร้อนอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจของจีน และอุตสาหกรรมเหล็ก เคมี และปุ๋ยของประเทศกำลังประสบกับภาวะการผลิตที่ชะลอตัว

    “มันจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้พลังงานมาก และจะมีผลกระทบทั่วทั้งเศรษฐกิจและแม้กระทั่งในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก” หวางกล่าว

    ในเดือนกรกฎาคม อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นมากทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยตรง 2.73 พันล้านหยวน หรือ 400 ล้านดอลลาร์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชน 5.5 ล้านคน ตามข้อมูลที่เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดีจากกระทรวงฉุกเฉินของจีน

    เรียบเรียงจาก:

  • China issues first national drought emergency amid scorching temperatures
  • Hunger stones, wrecks and bones: Europe’s drought brings past to surface
  • Lakes and rivers in Germany, Italy, France, Spain, China and US run dry as drought and water shortages grip Northern Hemisphere
  • China issues yellow alert for drought
  • Drought emergency declared in northern Italy
  • 5 unexpected impacts of drought in Europe
  • Blow for Germany as Rhine falls below critical water level