ThaiPublica > Sustainability > Headline > จีนเจอคลื่นความร้อนเลวร้ายสุดรอบ 60 ปี ต้องระงับจ่ายกระแสไฟฟ้า

จีนเจอคลื่นความร้อนเลวร้ายสุดรอบ 60 ปี ต้องระงับจ่ายกระแสไฟฟ้า

18 สิงหาคม 2022


ที่มาภาพ: https://www.globaltimes.cn/page/202208/1272803.shtml

จีนเผชิญพบคลื่นความร้อนแรงที่สุดในรอบ 6 ทศวรรษ และอุณหภูมิที่สูงขึ้นยาวนานต่อเนื่องจะกลายเป็น New Normal ในอนาคต

หลายภูมิภาคในจีนกำลังประสบกับอากาศร้อนอบอ้าวจากอุณหภูมิที่สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส เจ้าหน้าที่อุตุนิยมวิทยาจึงได้ออกประกาศเตือนเรื่องอุณหภูมิสูงต่อเนื่องติดต่อกันเวลา 25 วันแล้ว และนักอุตุนิยมวิทยาเชื่อว่าฤดูร้อนปี 2022 เผชิญคลื่นความร้อนที่รุนแรงที่สุดในรอบ 6 ทศวรรษ ตลอดจนยังคาดการณ์ว่าคลื่นความร้อนที่ยาวนานจะกลายเป็น “ความปกติใหม่” ในอนาคตอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้น

สำนักข่าว Global Timesของจีนรายงานว่า อุณหภูมิที่ร้อนจัดต่อเนื่องส่งผลให้เกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่ของจีน รวมไปถึงเหอหนาน ซึ่งเป็นพื้นที่ผลิตธัญพืชแหล่งใหญ่ และส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าแตะขีดจำกัด ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า คลื่นความร้อนจะเป็นแรงกระตุ้นให้รัฐบาลจีนเตรียมพร้อมรับมือ “ความปกติใหม่” โดยการเร่งยกระดับอุตสาหกรรม ใช้พลังงานใหม่และพลังงานหมุนเวียน และเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการเกษตรสมัยใหม่

สำนักอุตุนิยมวิทยาจีน (China Meteorological Administration:CMA) ออกประกาศเตือนระดับสีแดง ซึ่งสูงที่สุดในระบบเตือนภัยสภาพอากาศ 4 ระดับของจีนเรื่องความร้อนจัด ในพื้นที่บางส่วนของเขตซินเจียง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน มณฑลส่านซีทางเหนือของจีน และมณฑลเจียงซูทางตะวันออกของจีน ติดต่อกันเป็นวันที่ 25 แล้ว ณ วันที่ 14 สิงหาม

จูซาน เมืองในมณฑลหูเป่ย ทางตอนกลางของจีน ได้รับการบันทึกว่าเป็นเมืองที่ร้อนที่สุดในจีน โดยมีอุณหภูมิเกิน 44 องศาเซลเซียสเมื่อวันเสาร์(13 ส.ค.) มณฑลเจียงซูออกคำเตือนเมื่อวันอาทิตย์ว่า อุณหภูมิพื้นผิวดินในบางพื้นที่ของมณฑลจะเกิน 72 องศาเซลเซียส

จากการประเมินของสื่อ ภูมิภาคระดับมณฑลมากกว่า 10 แห่ง รวมทั้งมณฑลเจ้อเจียง เจียงซู และอันฮุย ต่างต้องใช้ชีวิตอยู่กับอุณหภูมิตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียส ถึง 42 องศาเซลเซียสในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

สถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งปิดทำการเนื่องจากอุณหภูมิสูง สำนักงานบริหารพระพุทธรูปยักษ์สูง 71 เมตรแห่งเล่อซาน ซึ่งเป็นหนึ่งในสมบัติทางวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุดของจีน ในมณฑลเสฉวน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ประกาศเมื่อวันอาทิตย์ว่าจะปิดบริเวณฐานของพระพุทธรูปไม่รับนักท่องเที่ยว เนื่องจากอุณหภูมิสูง

ด้านหน่วยงานที่รับผิดชอบดูและน้ำตกฉื้อสุ่ย ในเมืองจุนอี้ มณฑลกุ้ยโจว ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนกล่าวเมื่อวันเสาร์ว่า ได้ปิดน้ำตกแล้วเนื่องจากกระแสน้ำตอนบนของน้ำตกแห้งเนื่องจากอุณหภูมิสูง ไม่ได้ระบุว่าจะเปิดอีกเมื่อไร

เจ้าหน้าที่ที่ทำการตรวจหาเชื้อโควิดในฉงชิ่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งมีอุณหภูมิราว 40 องศาเซลเซียสในช่วงนี้ บอกกับ Global Times ว่า ขณะนี้พวกเขาเปลี่ยนเวรกันบ่อยขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้สัมผัสกับคลื่นความร้อนนานเกินไป

ซุน เส้า นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันวิทยาศาสตร์อุตุนิยมวิทยาจีน(Chinese Academy of Meteorological Sciences) บอกกับ Global Times ว่า คลื่นความร้อนในปีนี้เป็นคลื่นที่ร้ายแรงที่สุดและยาวนานที่สุดในประเทศจีน นับตั้งแต่จีนเริ่มบันทึกข้อมูลอุตุนิยมวิทยาในปี 2504

เมื่อเทียบกับคลื่นความร้อนปี 2013 ที่ทำลายสถิติในประเทศจีนนั้น กินเวลา 62 วัน แต่คลื่นความร้อนในปีนี้เริ่มค่อนข้างเร็ว “เราเจอคลื่นความร้อนมาแล้ว 62 วันถ้านับถึงวันอาทิตย์ ทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นและอุณหภูมิแตะระดับสูงสุดนั้นแซงหน้าปี 2013 แล้ว” ซุนเส้ากล่าว โดยชี้ว่าคลื่นความร้อนมีแนวโน้มที่จะต่อเนื่องออกไปอีกหนึ่งสัปดาห์

ซุนเส้าชี้ว่า สาเหตุของสภาพอากาศที่ผิดปกติมาจากรูปแบบการหมุนเวียนของบรรยากาศ โดยเฉพาะความผิดปกติบริเวณความกดอากาศสูงกึ่งเขตร้อนในแปซิฟิกตะวันตก (ซึ่งมีอิทธิพลสำคัญต่อสภาพอากาศและสภาพอากาศที่ผิดปกติในภูมิภาคมรสุมเอเชียตะวันออก)

ภัยแล้งผลกระทบต่ออาหาร พลังงาน

อุณหภูมิที่สูงขึ้นยังส่งผลให้เกิดภัยแล้งในหลายพื้นที่ของจีน รวมถึงเหอหนาน พื้นที่ผลิตอาหารรายใหญ่ที่สุดในประเทศ และหลายจังหวัดที่อยู่ติดกับแม่น้ำแยงซี มีรายงานของสื่อว่า ประมาณ 20% ของมณฑลหูเป่ยกำลังประสบกับภัยแล้ง

รัฐบาลมณฑลเหอหนานได้ออกประกาศเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา โดยขอให้รัฐบาลท้องถิ่นติดตามภัยแล้งอย่างใกล้ชิด และเปลี่ยนเส้นทางน้ำในลักษณะทางวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังขอให้เจ้าหน้าที่หาแหล่งน้ำใหม่ ๆ ให้กับประชาชนในพื้นที่แห้งแล้ง

รายงานของกระทรวงเกษตรของจีนในปี 2564 ระบุว่า เหอหนานเป็นแหล่งปลูกข้าวสาลีในอันดับต้น ๆ ของจีน โดยมีสัดส่วนการผลิต 1ใน 4 ของการผลิตโดยรวมของประเทศ

CMA จัดการประชุมทางวิดีโอในวันอาทิตย์เพื่อปรับการทำงานในการรับมือกับภัยแล้งในภาคใต้ และการป้องกันน้ำท่วมในภาคเหนือของจีน

ซุน เส้า เตือนว่า คลื่นความร้อนที่เริ่มขึ้นเร็วในปีนี้ ผลผลิตธัญพืชในบางพื้นที่ เช่น มณฑลเสฉวน อาจเสียหายหนักกว่าในปี 2013 และสถานการณ์ภัยแล้งในลำธารตอนล่างของภูมิภาคแม่น้ำแยงซีอาจเลวร้ายลงเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นอีก

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ปรับอุณหภูมิของพื้นที่เพาะปลูกด้วยน้ำ และมีการจ่ายน้ำเพื่อให้เมล็ดพืชได้รับน้ำเพียงพอ

ในระดับโลก อุณหภูมิที่ร้อนจัดทำให้การผลิตอาหารลดลง ขณะที่ทั่วทั้งยุโรป คลื่นความร้อนในเดือนกรกฎาคมเกิดขึ้นระหว่างช่วงเวลาการผสมเกสรที่สำคัญของข้าวโพด ซึ่งจะกระทบการเก็บเกี่ยวโดยรวมและต้องนำเข้าเพิ่มขึ้น

Grist สิ่งพิมพ์ข่าวสิ่งแวดล้อมรายงานว่า”ภาวะเงินเฟ้อจากความร้อน” อาจส่งผลให้ราคาอาหารโลกสูงขึ้น

แต่ผู้เชี่ยวชาญของจีนยืนยันว่าไม่กังวลเรื่องการขาดแคลนอาหารในจีน โดยกล่าวว่าจีนมีปริมาณธัญพืชสำรองที่มั่นคง และเป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ที่พึ่งพาอาหารในประเทศ

สำนักงานบริหารอาหารและยุทธศาสตร์แห่งชาติของจีน(National Food and Strategic Reserves Administration)เปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ว่า พื้นที่การผลิตหลักของจีนรับซื้อข้าวสาลีมากกว่า 46 ล้านตัน และสามารถซื้อได้แล้วรวมเกิน 70%

อุณหภูมิสูงยังส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าแตะขีดจำกัด จากสถิติของ State Grid Corporation of China ยอดขายไฟฟ้าในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งเป็นมหานครที่มีประชากร 24 ล้านคน เพิ่มขึ้น 38.41% ในเดือนกรกฎาคม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้นเป็น 40.24% ในสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม

ในหลายพื้นที่ รวมถึงมณฑลเจ้อเจียงทางตะวันออกของจีนเพิ่งประกาศแผนการจำกัดการใช้พลังงานขององค์กรที่ใช้พลังงานสูง

โดยโรงภาพยนตร์ในหางโจว เมืองหลวงของเจ้อเจียง ได้รับคำสั่งให้ปิดเครื่องปรับอากาศเพื่อจำกัดการใช้ไฟฟ้าในวันอาทิตย์

“เราได้รับแจ้ง [ให้ปิดเครื่องปรับอากาศ] พร้อมกับโรงภาพยนตร์อื่นๆ อีกหลายแห่ง” พนักงานของโรงภาพยนตร์กล่าว โดยชี้ว่ามีคำสั่งจำกัดการใช้พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมหลายแห่ง เพื่อให้ย่านที่พักอาศัยมีไฟฟ้าใช้

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเนื่องจากอุณหภูมิสูง ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงในช่วงเวลาเร่งด่วน มาตรการของรัฐบาลในการแนะนำผู้ใช้ให้เปลี่ยนจากการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาสูงสุด สามารถบรรเทาแรงกดดันจากความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดได้

5 ล้านคนในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเผชิญกับการตัดไฟเนื่องจากคลื่นความร้อน หลังมณฑลเสฉวนเริ่มจำกัดการจ่ายไฟฟ้าสำหรับบ้านที่อยู่อาศัย สำนักงาน และห้างสรรพสินค้า

น้ำในแม่น้ำแยงซีในอวิ๋นหยาง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฉงชิ่งลดลงจนเห็นพื้นดิน ที่มาภาพ:https://www.channelnewsasia.com/asia/china-heatwave-drought-sichuan-limits-power-homes-offices-2885626

มณฑลเสฉวนตัดไฟสั่งโรงงานหยุดผลิต 6 วัน

ผู้คนมากกว่า 5 ล้านคนในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนต้องเผชิญกับการตัดไฟในวันพุธ (17 ส.ค.) เนื่องจากคลื่นความร้อนทำให้เกิดวิกฤติด้านไฟฟ้าซึ่งทำให้โรงงานต่างๆ ต้องหยุดการผลิต

อุณหภูมิทั่วมณฑลเสฉวนพุ่งเกิน 40 องศาเซลเซียสในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ทำให้ความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศพุ่งสูงขึ้น อีกทั้งภูมิภาคนี้ยังอาศัยเขื่อนในการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำถึง 80% แต่ความร้อนทำให้อ่างเก็บน้ำแห้ง ส่งผลให้การขาดแคลนพลังงานรุนแรงขึ้น

เสฉวนเริ่มจำกัดการจ่ายไฟฟ้าสำหรับบ้าน สำนักงาน และห้างสรรพสินค้าในวันพุธ ตามรายงานของสื่อของรัฐและบริษัทพลังงานแห่งหนึ่ง

บริเวณที่อยู่อาศัย สำนักงาน และห้างสรรพสินค้าในต้าโจว เมืองที่มีประชากร 5.4 ล้านคน ได้รับแจ้งถึงการดับไฟแบบหมุนเวียนในแต่ละช่วงที่กินเวลาหลายชั่วโมงตลอดวันพุธ จากบัญชี WeChat อย่างเป็นทางการของต้าโจว พาวเวอร์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นกิจการของรัฐ

โดยปกติแล้วการตัดไฟในย่านที่พักอาศัยของจีนเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากจีนมักจำกัดการจ่ายไฟในภาคอุตสาหกรรมก่อน เพราะให้ความสำคัญของที่อยู่อาศัยและย่านธุรกิจเป็นลำดับต้นๆในการตัดการจ่ายไฟฟ้า

นอกจากนี้มณฑลเสฉวนได้สั่งให้โรงงานทั้งหมดระงับการผลิตเป็นเวลา 6 วันเพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าในภูมิภาค อันเนื่องจากคลื่นความร้อนที่แผดเผาทั่วประเทศ

รัฐบาลประจำมณฑลเสฉวนและโครงข่ายไฟฟ้าของรัฐออก”ประกาศด่วน”เมื่อวันอาทิตย์(14 ส.ค.)แจ้ง 19 เมืองจากทั้งหมด 21 เมืองในภูมิภาคนี้ ให้ระงับการผลิตในโรงงานทุกแห่งทั้งผู้ผลิตลิเธียม ปุ๋ย และโลหะอื่น ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันเสาร์ เพื่อให้ย่านที่อยู่อาศัยมีไฟฟ้าพอใช้

เสฉวนเป็นที่ตั้งการผลิตที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และแผงโซลาร์เซลล์ และการปันส่วนพลังงานจะส่งผลกระทบต่อโรงงานของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกบางแห่ง รวมถึง Foxconn และ Intel ซัพพลายเออร์ของ Apple

มณฑลแห่งนี้ยังเป็นศูนย์กลางการทำเหมืองลิเธียมของจีน ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า และการปิดโรงงานอาจทำให้ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น นักวิเคราะห์กล่าว

เสฉวน เดลี่ สื่อของรัฐบาลประจำมณฑล รายงานในหน้าหนึ่งว่า ได้มีการขอให้หน่วยงานของรัฐตั้งเครื่องปรับอากาศให้ไม่ต่ำกว่า 26 องศาเซลเซียส และใช้บันไดมากขึ้นแทนการใช้ลิฟต์ เพื่ออนุรักษ์การใช้ไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้จะระงับการเปิดน้ำพุ การแสดงแสงสี และกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในช่วงเวลากลางคืน

อุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นและฝนตกเล็กน้อยในฤดูร้อนนี้(โดยเฉลี่ยฝนตกลดลง 51% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ข้อมูลจากบทความที่เผยแพร่ในเว็บไซต์รัฐบาล) ทำให้การผลิตไฟฟ้าพลังน้ำในมณฑลที่มีประชากร 83.75 ล้านคนลดลง ในขณะที่ความต้องการพลังงานสำหรับเครื่องปรับอากาศก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

นักวิเคราะห์กล่าวว่าหากคลื่นความร้อนยังคงต่อเนื่อง วิกฤติไฟฟ้าอาจกระจายไปยังจังหวัดทางตะวันออก เช่น เจ้อเจียงและเจียงซู ซึ่งอาศัยการซื้อไฟฟ้าบางส่วนจากเสฉวน

เตรียมรับมือ “new normal”

นักอุตุนิยมวิทยายังคาดการณ์ว่าคลื่นความร้อนที่ต่อเนื่องจะกลายเป็น “ความปกติใหม่” ในอนาคต เฉิน ลี่จวน ผู้เชี่ยวชาญจาก National Climate Center กล่าวกับสื่อเมื่อวันเสาร์ว่า ไม่ใช่แค่ปัญหาสภาพอากาศเท่านั้น “ท่ามกลางภาวะโลกร้อน คลื่นความร้อนจะเป็น ‘ความปกติใหม่’ อุณหภูมิที่สูงจะเริ่มขึ้นเร็ว และลดลงช้าและอยู่นาน ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต” เฉินกล่าว

เถียน อวิ้น อดีตรองผู้อำนวยการ Beijing Economic Operation Association กล่าวกับ Global Times ว่า “ความปกติใหม่” ดังกล่าวก่อให้เกิดความท้าทายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน เช่น อุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องพึ่งพาพลังงานอย่างมาก และทำให้เริ่มมีปัญหาเงินเฟ้อมากขึ้น เนื่องจากความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านั้น รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งดำเนินการเพื่อยกระดับอุตสาหกรรม พลังงานใหม่และพลังงานหมุนเวียน และเพิ่มการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เถียนเสนอแนะ

จาง เจี้ยนฮวา หัวหน้าสำนักงานพลังงานแห่งชาติกล่าวเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมว่า การพัฒนาพลังงานที่ไม่ใช่ฟอสซิลของจีนยังคงเดินหน้า โดยชี้ว่าส่วนแบ่งของพลังงานที่ไม่ใช่ฟอสซิลในการใช้พลังงานทั้งหมดของจีนคาดว่าจะเติบโตที่อัตราเฉลี่ย 1% ต่อปีนับจากนี้จนถึงปี 2030

นอกจากนี้เสนอให้นำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในด้านการเกษตร เช่น การสร้างระบบชลประทานใต้ผิวดิน สิ่งอำนวยความสะดวกในการบรรเทาภัยแล้ง และการผสมผสานการเกษตรเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น บิ๊กดาต้าและ AI เพื่อลดผลกระทบของสภาพอากาศต่อพืชผล