ThaiPublica > คนในข่าว > “กนก อินทรวิจิตร” นายกสมาคมธรณีวิทยา อาสาเล่าเรื่องธรณีวิทยา จากตำนานด้วยวิทยาศาสตร์ ความจริงที่ใกล้ตัว

“กนก อินทรวิจิตร” นายกสมาคมธรณีวิทยา อาสาเล่าเรื่องธรณีวิทยา จากตำนานด้วยวิทยาศาสตร์ ความจริงที่ใกล้ตัว

29 กรกฎาคม 2022


นายกนก อินทรวิจิตร นายกสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย

เปิดแนวคิด“กนก อินทรวิจิตร” นายกสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทยคนใหม่ ทำอย่างไรให้สังคมไทยเข้าใจ ความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติผ่านการบอกเล่าของงานธรณีวิทยา ที่ชั้นหิน ชั้นดินบันทึกประวัติศาสตร์ธรรมชาติ เพื่อเตือนภัย ป้องกันการหลอกหลวงจากความเชื่อผิดจำคำอธิบายแบบเป็นวิทยาศสาตร์

หลายคนอาจจะไม่เคยรู้เลยว่าผืนดินและก้อนหินที่เราเหยียบย่ำอยู่ทุกวันบอกอะไรเราบ้าง ก่อนมนุษย์จะบันทึกประวัติศาสตร์ ชั้นหิน ชั้นดิน ได้ทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงมานับล้านๆปี

ถ้าเราอยากรู้ว่าธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ชั้นหิน ชั้นดินของโลกบอกอะไรเราบ้าง เราอาจต้องทำความรู้จักผ่านงานธรณีวิทยา ซึ่งธรรมชาติได้สอนว่าแม้ความเปลี่ยนแปลงจะเป็นนิรันดร์แต่ความเข้าใจก็สร้างความยั่งยืนได้

“ไทยพับลิก้า” มีโอกาสได้พูดคุยเรื่องราวประวัติศาสตร์ ผ่านชั้นหิน ชั้นดิน กับ “กนก อินทรวิจิตร” นายกสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทยคนใหม่ ซึ่งถือเป็นนายกสมาคมฯคนแรกที่ไม่ใช่ข้าราชการ หรือมาจากกรมทรัพยากรธรณี แต่มาจากภาคเอกชน

“เดิมผมทำงานที่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.)ทำหน้าที่ในการทำสำรวจหาแหล่งก๊าซธรรมชาติ พอเกษียณจากการทำงาน คุณสมหมาย เตชวาล อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และอดีตนายกสมาคมธรณีแห่งประเทศไทยทาบทามให้มาช่วยงานสมาคม ฯ ”

‘กนก’ จึงเป็นนายกสมาคมธรณีวิทยาคนแรกที่มาจากภาคเอกชน เนื่องจากที่ผ่านมา นายกสมาคมธรณีเป็นข้าราชการกรมทรัพยากรธรณี หรือเป็นอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ทำให้การทำงานของสมาคมฯเป็นเนื้อเดียวกับงานราชการ

สิ่งแรกของการเป็นนายกสมาคมธรณีวิทยา จึงเป็นเรื่องของการมองนอกกรอบ ด้วยการสร้างความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญธรณีทั่วประเทศเข้ามาช่วยงานสมาคมธรณี ทั้งด้านงานวิชาการและอื่นๆ ด้วยงานธรณีวิทยาเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ และสังคมไทยยังขาดความรู้เรื่องนี้

“การเข้ารับตำแหน่งก็ถือว่าเป็นความท้าทายในการชวนพี่ๆน้องนักธรณีมาช่วยกันทำงาน ผมก็ชวนนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ อดีตนายกสมาคมฯ รวมแล้วประมาณ 30 คนมาช่วยงานสมาคมฯทุกด้าน ตอนนี้สมาคมฯมีผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีถ้ำ และความเชี่ยวชาญทุกด้าน เพื่อใช้ความรู้กับประชาชน”

หลังจากระดมนักวิชาการด้านธรณีวิทยาแล้ว ‘กนก’ บอกว่าจะนำเอาความรู้เหล่านี้ออกไปสู่สังคมโดยเป้าหมายแรกคือ สถาบันการศึกษา โรงเรียน ที่จะเข้าไปร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาหลักสูตรด้านธรณี โดยเริ่มจาก จังหวัดที่มีพื้นที่มีอุทยานธรณีทั่วประเทศ

รอยเลื่อนหินสองยุค-สะพานข้ามกาลเวลา-หมู่เกาะเภตรา จ.สตูล
แนวหิน-สาหร่ายสโตรมาโตไลต์-ป่าพน อุทยานธรณีโลกสตูล

สำหรับอุทยานธรณี (Geopark) ของประเทศไทย ประกอบด้วย

1.”อุทยานธรณีโลกสตูล” ซึ่งได้นับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก เป็นอุทยานธรณีโลกเป็นแห่งที่ 5 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากบันทึกหลักฐานของโลกใต้ทะเลเมื่อ 500 ล้านปีก่อน

2.”อุทยานธรณีโคราช” โคราชจีโอพาร์ค โดยเตรียมเสนอเป็นอุทยานธรณีโลกของ UNESCO แห่งที่ 2 ในประเทศไทย เนื่องจากพบ ซากดึกดำบรรพ์ช้างโบราณมากที่สุดถึง 10 สกุล, ค้นพบฟอสซิลสัตว์สกุล/ชนิดใหม่ของโลก หลายชนิด อาทิ จระเข้ แรด ไดโนเสาร์ เต่า และลิงไร้หาง และแหล่งไดโนเสาร์ มีการพบฟอสซิลมากกว่า 1,000 ชิ้น ฟัน มากกว่า 300 ชิ้น พบไดโนเสาร์สายพันธุ์ใหม่ของโลก 3 สกุล

3.”อุทยานธรณีขอนแก่น” ซึ่งถือเป็นแหล่งค้นพบซากไดโนเสาร์ ดึกดำบรรพ์สายพันธุ์ใหม่ของโลก 5 สายพันธุ์ ได้แก่ สยามโมซอรัส สุธีธรนี, ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน, สยามโมไท-รันนัสอีสานเอนซิส, กินรีมิมัส ขอนแก่นเอนซิส,ภูเวียงเวเนเตอร์ แย้มนิยมมิ

4. “อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย-ไม้กลายเป็นหิน (เตรียมการ )” อ.บ้านตาก จังหวัดตาก พึ่งได้รับการบันทึกสถิติโลก Guinness World Records ซากดึกดำบรรพ์ ไม้กลายเป็นหินยาวที่สุดในโลก ยาว 69.70 เมตร อายุราว 1.2 แสนปี

บันทกสถิติโลก ไม้ทองบึ้ง ไม้กลายเป็นหิน ยาว 69.70 เมตร อายุราว 1.2 แสนปี ที่อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย-ไม้กลายเป็นหิน (เตรียมการ ) อ.บ้านตาก จังหวัดตาก

  • เปิดโลกธรณีวิทยากับ “สมหมาย เตชวาล” เรื่องเล่าใต้ผืนดิน และการพลิกโฉม “อุทยานธรณีสตูล” ผ่านโลกออนไลน์
  • “ไม้กลายเป็นหิน” ยาวที่สุดในโลก จ.ตาก — บันทึก “ประวัติศาสตร์” ความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • ‘กนก’ บอกว่า อุทยานไม้กลายเป็นหิน ที่อ.บ้านตากไม่เพียงเราจะเข้าไปผลักดันในเรื่องของหลักสูตรในสถาบันการศึกษาเท่านั้น แต่เราคาดว่าจะผลักดันให้พื้นที่นี้ เป็นอุทยานธรณีแห่งนี้เป็นแห่งที่ 4 ของประเทศไทย

    ที่ผ่านมา สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทยได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความร่วม มือกับภาคเอกชน อย่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และวิศวกรอาสาจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สาขาภาคตะวันตก) ในการบันทึกสถิติโลก Guinness World Records ซากดึกดำบรรพ์ ไม้กลายเป็นหินยาวที่สุดในโลก ยาว 69.70 เมตร อายุราว 1.2 แสนปี ที่อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย-ไม้กลายเป็นหิน (เตรียมการ) อ.บ้านตาก จังหวัดตาก

    การนำเอางานด้านธรณีวิทยาเข้าหาสังคมยังรวมถึงเรื่องของงานเตือนภัย หรือการให้ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ เช่น แผ่นดินไหว หรือ สึนามิ โดยหากมีเหตุการณ์ สมาคมธรณีจะออกแถลงการณ์ เพื่อให้ความรู้ด้านธรณีอย่างถูกต้อง

    “ผมคิดว่างานธรณีวิทยา เป็นเรื่องที่คนในสังคมต้องเรียนรู้ เพราะว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความจริงและการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ เช่น ใครจะรู้ว่า ผืนดินภาคอีสานเคยเป็นทะเลมาก่อน และบางพื้นที่เป็นทะเลทรายที่สวยงาม ธรรมชาติบันทึกประวัติศาสตร์เอาไว้ทั้งหมดเพียงแต่นักธรณีจะล่าเรื่องราวเหล่านั้นให้คนในสังคมไทยได้รับรู้”

    การนำเอาความรู้เรื่องธรณีวิทยาออกมาสู่สังคม จะช่วยเตือนภัยและป้องกันการหลอกหลวง และนำเอาความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์มาอธิบาย เช่นเรื่องของถ้ำนาคา เรื่องในตำนาน ความเชื่อก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องของงานธรณีวิทยาก็อธิบายได้ว่าทำหินถึงมีลักษณะรูปร่างเป็นเหมือนพญานาค

    “ความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ งานธรณีสามารถอธิบายได้หมดเลยเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าชาวบ้านจะเชื่อเรื่องตำนานก็เชื่อได้ แต่ในทางธรณีวิทยาก็อธิบายไปด้วยกันได้ เพราะทุกอย่างงานเป็นวิทยาศาสตร์ได้”

    ‘กนก’ บอกว่า ความตั้งใจในการนำเอาความรู้เรื่องธรณีวิทยาออกไปหาสังคม เพราะอยากให้สังคมเรียนรู้ความจริงจากธรรมชาติ หลายอย่างเป็นเรื่องน่าทึ่งมากว่า…

    คุณรู้หรือเปล่าว่า ภาคอีสานเคยเป็นทะเลมาก่อน ผมคิดว่าการอธิบายอะไรที่เป็นวิทยาศาสตร์อย่างน้อยไม่ทำให้ประชาชนถูกหลอหลวงจากความเชื่อได้

    นอกจากนี้ภารกิจของสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย ยังหมายถึงเรื่องของการเตือนภัยเพื่อไม่ให้เกิดความตระหนก เช่น กรณีการเกิดแผ่นดินไหว ในบางพื้นที่ หรือการเกิดแผ่นดินไหวในอันดามันมีโอกาสเกิดคลื่นสึนามิหรือไม่

    “สมาคมฯมีนักวิชการจำนวนมากที่เชี่ยวชาญในเรื่องธรณีทุกด้าน สามารถออกมาให้ความรู้หรืออธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้เพื่อให้ประชาชน ตระหนักมากกว่าตระหนก”

    นอกจากนี้ ‘กนก’ บอกว่า สมาคมฯจะเข้ามาดูแลเพื่อนร่วมวิชาชีพ ที่ขณะนี้มีนักธรณีวิทยากระจายการทำงานในองค์กรต่างๆจำนวนมากกว่า 3,000 คน แต่เป็นสมาชิกสมาคมฯเพียงแค่ 1,200 คน โดยจะทำงานในการคุ้มครองสมาชิกมากขึ้นเพื่อให้สมาชิกเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกในสมาคมฯมากขึ้น

    บทบาทใหม่ของสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย จึงไม่ใช่เพียงการทำหน้าที่ทางวิชาการ หากหมายร่วมไปถึงการนำเอาความรู้เรื่องธรณีวิทยาออกสู่สังคมไทย ให้คนไทยได้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติมากขึ้น

    “ผมอยากให้คนไทยได้เรียนรู้ธรณีวิทยาในเชิงอนุรักษ์ เพราะที่ผ่านมาคนจะเข้าใจว่างานธรณีเป็นงานสำรวจหาทรัพยากร และนำมาใช้แบบเผาผลาญ แต่ในแง่มุมของการอนุรักษ์ของงานธรณีก็เป็นเรื่องน่าทึ่งที่จะเรียนรู้”

    ‘กนก’บอกในท้ายที่สุดว่า อยากให้คนเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติผ่านการเรียนรู้ธรณีวิทยา เพราะว่าชั้นหิน ชั้นดิน บอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ได้