ThaiPublica > คนในข่าว > ‘วฤต รัตนชื่น’ กฟผ. รุก EV Ecosystem รองรับยานยนต์ไฟฟ้า-พัฒนาแพลตฟอร์มมุ่งลดคาร์บอนสู่เป้ายั่งยืน

‘วฤต รัตนชื่น’ กฟผ. รุก EV Ecosystem รองรับยานยนต์ไฟฟ้า-พัฒนาแพลตฟอร์มมุ่งลดคาร์บอนสู่เป้ายั่งยืน

28 กรกฎาคม 2022


วฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการ Project Management Office กฟผ.

หนึ่งในกระแสความยั่งยืนที่สร้างความท้าทายกับทุกคนคือภาวะโลกร้อน/ภาวะโลกรวน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เหตุการณ์เกิดขึ้นใกล้ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างคลื่นความร้อนที่ประสบกันอยู่ในยุโรปขณะนี้ เป็นแรงผลักดันให้แนวคิดการปรับเปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิล มาสู่การใช้พลังงานทางเลือก โดยเฉพาะพลังงานจากการผลิตไฟฟ้า ยิ่งเป็นพลังงานที่มาจากพลังงานหมุนเวียนยิ่งสนับสนุนโจทย์การรับมือโลกร้อนได้เป็นอย่างดี

ประกอบกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง จากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน สร้างปัญหาต่อต้นทุน ค่าใช้จ่ายให้กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ใช้รถทั่วไป และอุตสาหกรรมโลจิสติกส์

ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ถูกมองว่าจะเข้ามามีบทบาทแทนที่รถยนต์พลังงานน้ำมัน ด้วยเหตุผลพื้นฐานจากแนวคิดความยั่งยืน พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นมิตรต่อโลก ผนวกกับสถานการณ์น้ำมันแพง ก็ยิ่งทำให้ EV ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ดี

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะหน่วยงานหลักของภาครัฐที่มีหน้าที่โดยตรงในการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานสะอาดสำหรับ EV นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการ Project Management Office กฟผ. ได้เล่าที่มาและแนวคิดพันธกิจในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของ กฟผ.

ภารกิจในการผลักดัน EV ด้วย “EGAT Carbon Neutrality”

ภารกิจที่ กฟผ. ทำอยู่ คือ การเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมผลักดันเป้าหมายของประเทศไทยที่จะมุ่งสู่พลังงานสะอาด และตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065-2070 โดยนโยบายและเป้าหมายของ กฟผ. คือ “EGAT Carbon Neutrality” ภายในปี ค.ศ. 2050 ภายใต้หลักการสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนการผลิตไฟฟ้า ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ

เป็นการดำเนินการภายใต้กลยุทธ์ Triple S ซึ่งประกอบด้วย S 3 ตัว ได้แก่

S ตัวแรก คือ Source Transformation การปรับเปลี่ยนรูปแบบการผลิตไฟฟ้า การจัดการตั้งแต่ต้นกำเนิด นั่นคือ งานที่ กฟผ. ทำอยู่ คือ หน้าที่เป็นผู้ผลิต จัดหาและส่งไฟฟ้าให้กับ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ถือเป็นภารกิจหลักของ กฟผ. ซึ่งมีหน้าที่บริหารจัดการด้านความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ และทำให้โรงไฟฟ้าเป็นพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ผ่านการบูรณาการนวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียนให้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคนที่ผลิตไฟฟ้าได้ ไม่ได้มีแค่ กฟผ. แต่หมายรวมถึงคนที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามหลังคาบ้าน หรือผลิตในพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งภารกิจของ กฟผ. คือ ต้องทำระบบส่งไฟฟ้าให้เอื้ออำนวย เพราะในกลุ่มนี้ ไฟฟ้าที่ได้ จะพึ่งพาได้แค่บางช่วงเวลา ซึ่งระบบ Grid แบบเดิมๆ ไม่สามารถรองรับได้ กฟผ. จึงต้องทำ Grid Modernization เป็นการบริหารจัดการ มีระบบการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้า มีระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้สามารถนำพลังงานหมุนเวียนมาปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม

ส่วน S ตัวที่ 2 คือ Sink Co-creation การดูดซับเก็บกักคาร์บอนอย่างมีส่วนร่วม เพราะเราคงไม่สามารถทำให้คาร์บอนเป็นศูนย์ได้ โดยไม่ปล่อยเลย หากเราเปลี่ยนเป็นระบบไฟฟ้าทั้งหมดไม่ได้ในระยะสั้น และรถยนต์คงไม่ได้ใช้พลังงานจากไฟฟ้าทั้งหมด ขณะที่การใช้พลังงานก็ยังคงมีการเผาไหม้ในภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น จึงต้องมี Sink คือ การดูดซับกักเก็บคาร์บอน ซึ่งที่ผ่านมา กฟผ. ดำเนินโครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม เพื่อให้ช่วยดูดซับคาร์บอน กฟผ. เคยทำมา 2 แสนกว่าไร่ ทำต่อเนื่องมากว่า 20 ปี ต้องเร่งเป้าหมายเพิ่มเติมคือปลูกให้ได้ 1 ล้านไร่ ภายใน 10 ปี หรือให้ได้ปีละ 100,000 ไร่

แต่แน่นอน ถึงจะล้านไร่ก็ยังไม่สามารถดูดซับได้หมด กฟผ.จึงต้องทำเรื่อง Carbon Capture Utilization and Storage หรือ CCUS เป็นการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน โดยมีเป้าหมายเพื่อกักเก็บคาร์บอนปริมาณ 3.5-7 ล้านตัน ภายในปี พ.ศ. 2588

S ตัวที่ 3 คือ Support Measures Mechanism การสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อลดความต้องการใช้ไฟฟ้าและช่วยหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดย กฟผ. มีหน้าที่สนับสนุนให้เกิดขึ้นได้ สิ่งแรกคือ สนับสนุนให้คนมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โครงการที่ได้ดำเนินการมาแล้ว ได้แก่ โครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ซึ่งขณะนี้ คงไม่เพียงพอแล้ว อาจต้องมาทำเรื่องการบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management) นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงาน การจัดทำแพลตฟอร์ม มีการบริหารจัดการพลังงาน ทำอย่างไรให้ทุกคนใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ กฟผ. ก็จะเข้ามาช่วยดู ช่วยแก้ปัญหา

ซึ่งการสนับสนุนให้เกิด EV Ecosystem ก็เป็นหนึ่งใน Support Measures Mechanism เพื่อชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) อย่างเป็นรูปธรรม โดย กฟผ. ได้ร่วมมือกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชนในการเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย

ทั้งหมดนี้ คือ ภาพใหญ่ที่ กฟผ. ทำ เป็นเหตุผลว่า ทำไม กฟผ. ถึงทำเรื่องรถยนต์พลังงานไฟฟ้า นั่นก็คือ การทำเพื่อให้ต่อภาพของการดำเนินการให้ครบถ้วน และทำเพื่อให้คนสบายใจที่จะใช้รถ EV โดยแก้ปัญหาความไม่สะดวกสบายในการใช้ EV ซึ่งก่อนที่จะแก้ ก็ต้องมองในภาพรวม Ecosystem ของระบบ EV เสียก่อน

มุ่งมั่นวิจัยพัฒนา กฟผ. ร่วมสร้าง Ecosystem การใช้ EV

นายวฤตกล่าวว่าเรื่อง EV มีหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง

ส่วนแรก คือ ส่วนของรถ ซึ่ง กฟผ. ไม่ถนัดเรื่องรถมากนัก แต่ในส่วนนี้ กฟผ. เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนารถ คือ ในกรณีของรถเก่า อยากจะปรับเปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลมาใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งมีการลงทุนเพื่อทำวิจัยกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และอบรมให้ผู้ประกอบการ

ในส่วนของภาคราชการ ซึ่งอาจมีปัญหาเรื่องรถเช่า ที่จะทำเป็น Fleet กฟผ. ก็ทำให้เป็นตัวอย่าง ด้วยการปรับเปลี่ยนรถเช่าที่ใช้งานใน กฟผ. ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนมาเป็นรถ EV

รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า (EV Bike)

นอกจากนี้ ในชุมชนรอบๆ กฟผ. ดำเนินการในส่วนของวินมอเตอร์ไซค์ย่านบางกรวย ช่วยปรับเปลี่ยนมาเป็นรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า (EV Bike) รวมถึงให้บริการต่อเชื่อมการเดินทาง ด้วยรถรับส่ง (EV Bus) ไปยังสถานีรถไฟฟ้า

ทั้งหมดนี้เป็นการดำเนินการในเชิงต้นแบบ

ส่วนต่อไป คือ สถานีชาร์จไฟฟ้า ทำอยู่ 2 ส่วน คือ ในส่วนของหัวชาร์จ และตัวสถานีชาร์จ

ส่วนแรก คือ หัวชาร์จ ซึ่งจากการศึกษาดูจากตัวอย่างในต่างประเทศ พบว่า ผู้ใช้รถไฟฟ้าส่วนใหญ่ กว่า 70-80% นิยมชาร์จไฟฟ้าที่บ้าน กฟผ. จึงมีการดำเนินการติดต่อนำเข้าหัวชาร์จจากสตาร์ทอัพที่สเปน ยี่ห้อ Wallbox พร้อมกับให้บริการติดตั้งตามบ้านโดยผู้เชี่ยวชาญด้านระบบไฟฟ้า

อันนี้ ถือว่าเป็นการสร้าง Ecosystem เพื่อสร้างความสะดวกสบายในการใช้ EV คือ ทำให้การชาร์จเติมพลังงานที่บ้านมีความสะดวกสบาย มีคุณภาพ และเข้าถึงได้

ประเด็นต่อมา คือ ในส่วนของหัวชาร์จ กฟผ. มีการส่งเสริมให้มีการผลิตภายในประเทศได้ ซึ่งเราเจอ Pain Point คือ ประเทศไทยไม่มีแล็บทดสอบอุปกรณ์การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ากำลังวัตต์สูงๆ พร้อมรับรองตามมาตรฐานสากลได้ กฟผ.ไปหารือกับหน่วยงานของรัฐ คือ ศูนย์ทดสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้ สวทช. เพื่อร่วมกันดำเนินการด้านนี้ โดย กฟผ. จะสนับสนุนด้านงบประมาณ ที่สามารถรองรับการชาร์จได้ถึง 150 วัตต์ ซึ่งนักลงทุนที่สนใจเรื่องตู้ชาร์จ ก็สามารถนำสินค้าไปตรวจสอบตามมาตรฐานสากล เพื่อให้สามารถวางจำหน่ายได้

ในส่วนของสถานีชาร์จ คือ สถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า ทำอย่างไรให้คนมั่นใจว่า สามารถใช้รถ EV เดินทางได้ทั่วประเทศ ซึ่งเป้าหมายที่วางไว้คือ ภายในต้นปี 2566 คนจะสามารถเดินทางไปได้ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ด้วย รถ EV

“เราวางแผนการตั้งสถานีตามถนนสายหลัก (Highway) นอกจากนี้ เราพบว่า พฤติกรรมของคนน่าจะเปลี่ยน คนไม่น่าจะชาร์จไฟเฉพาะที่ปั๊มอย่างเดียว แต่จะมีการชาร์จระหว่างการทำกิจกรรมในสถานที่ต่างๆ เช่น ที่โรงพยาบาล ในห้าง สนามกอล์ฟ หรือ โรงแรม เราจึงร่วมมือกับสถานที่ต่างๆ เหล่านี้ด้วย”นายวฤตกล่าว

อีกกลุ่ม คือ รถบรรทุก ซึ่งโจทย์ไม่เหมือนกัน กลุ่มนี้ เป็น Commercial Fleet กำลังไฟฟ้าต้องแรง ไฟต้องต่อเนื่องและมีความเสถียร โดยกำลังคุยกันเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน เป็นการหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ คนทำสถานีชาร์จ คือ กฟผ. ผู้ผลิตรถ และผู้ใช้บริการ

เหล่านี้คือ ส่วนของฮาร์ดแวร์

ในส่วนของซอฟแวร์ คือ เวลาคนมาใช้บริการชาร์จไฟฟ้า จะไม่เหมือนเติมน้ำมัน จะต้องใช้แอปพลิเคชันในการควบคุม ซึ่งสิ่งที่ กฟผ. ทำก็คือ การทำแอปพลิเคชันในมือถือ ชื่อ EleXA เพื่อให้บริการ โดยมีจุดเด่นตรงที่เป็น Post Paid คือ ชาร์จเสร็จแล้วค่อยจ่าย เวลาจ่ายก็สามารถตัดยอดเงินจากบัญชีธนาคาร หรือ ตัดผ่านบัตรเครดิตก็ได้

นอกจากนี้กฟผ.ยังมีระบบบริหารจัดการหลังบ้าน BackEN ซึ่งผู้ประกอบการต่างๆ ที่ต้องการให้บริการชาร์จไฟฟ้า เช่น มหาวิทยาลัย โรงงาน ออฟฟิศ โชว์รูมรถยนต์ รีสอร์ท สามารถมาใช้บริการระบบของเราได้ เชื่อว่าการติดตั้งหัวชาร์จให้บริการลูกค้าของกิจการต่างๆ จะได้รับความนิยมแพร่หลาย เพราะลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้าไม่กี่หมื่นบาท แต่จะได้ประโยชน์ คือ ให้ความสะดวกกับลูกค้า ทำให้เป็นจุดขายดึงลูกค้าให้เข้าใช้บริการ

“คนใช้รถ EV วันนี้ อาจเจอปัญหาว่า มีแอปพลิเคชันหลายตัว เราก็ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV แห่งชาติ) ร่วมกับอีก 2 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และเอกชนอีก 2 ราย คือ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR และบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ในการทำโรมมิ่งคือ การทำระบบมาตรฐานในการเชื่อมโยงระหว่างกันของระบบชาร์จเจอร์ ซึ่งตอนนี้ทีมเทคนิคพัฒนาอยู่ คาดว่าเดือนสิงหาคมนี้น่าจะเสร็จ ซึ่งต่อไปไม่ว่าจะใช้แอปพลิเคชันตัวไหน ก็จะเห็นแผนที่ที่เป็นเรียลไทม์ แสดงสถานะของแต่ละสถานีในบริเวณนั้นๆ ว่า สามารถเข้าใช้บริการได้หรือไม่ ซึ่งผู้ให้บริการสถานีชาร์จทั้ง 5 ราย ถือว่า ครอบคลุมการให้บริการสถานีชาร์จ 70-80% ของทั้งหมดทั่วประเทศ”

ในระยะต่อไป ก็คือ จะทำให้ระบบการชาร์จรถ EV เหมือนเอทีเอ็ม (ATM) คือ ไม่ว่าใช้แอปพลิเคชันของผู้ให้บริการใด ก็สามารถชาร์จได้ ซึ่งจะเริ่มเห็นในปี 2566

พัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าเพื่ออนาคต

กฟผ. มีภารกิจในการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้า ต้องดูแลให้มีไฟฟ้าเพียงพอ ซึ่งขณะนี้แม้ว่า กฟผ. จะมีปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่เพียงพอที่จะรองรับไปได้ 5-10 ปี แต่ในส่วนของการใช้ไฟฟ้าในบางจุด บางพื้นที่ บางหมู่บ้าน ที่อาจมีประเด็นว่า มีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนหม้อแปลง หรือขยายสายไฟให้พร้อมรองรับ

กรณีนี้ทั้ง 3 การไฟฟ้าก็มีการติดตาม มีการพยากรณ์การใช้ไฟฟ้า และหารือร่วมกันอยู่ มีการเสนอว่า อาจจะทำแพลตฟอร์มที่จะทำเป็นระบบจัดเก็บข้อมูลการใช้ไฟฟ้าในส่วนของการชาร์จตามบ้าน เพื่อติดตามในกรณีที่มีการใช้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็จะสามารถขยายอุปกรณ์รองรับให้ทัน รวมทั้งใช้แพลตฟอร์มนี้ในการบริหารจัดการ ส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าในแต่ละช่วง เช่น ช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้ามาก ก็จะส่งสัญญาณให้คนหลีกเลี่ยงการชาร์จในเวลานั้นๆ ซึ่งจะช่วยให้เราประหยัดในแง่การลงทุนเพื่อรองรับการให้บริการประชาชน เพราะการลงทุนเพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าในช่วงพีคแค่ช่วงเดียว เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า อีกทั้งยังมีส่วนที่ทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นด้วย ในทำนองเดียวกัน คือ จะส่งเสริมให้มีการกระจายการใช้ไฟฟ้า โดยเสนออัตราค่าไฟฟ้าที่ถูกลง สำหรับช่วงเวลาที่คนใช้ไฟฟ้าน้อย เป็นต้น

การผลิตไฟฟ้ากับเป้าหมายลดคาร์บอนอย่างยั่งยืน

‘วฤต’ เล่าต่อว่า แค่เราเปลี่ยนจากน้ำมันมาใช้ไฟฟ้า จะช่วยลดคาร์บอนได้ทันที 40% ขณะที่การใช้ไฟฟ้าตามบ้านก็ช่วยลดคาร์บอนอยู่แล้ว และถ้าเราปรับโครงข่ายไฟฟ้าให้มีพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ก็จะยิ่งช่วยลดคาร์บอนมากขึ้นไปอีก นอกจากนี้ เราต้องทำให้พลังงานหมุนเวียนมีมากขึ้น

โซลาร์เซลล์ลอยน้ำ เขื่อนสิรินธร

เรามีพื้นที่อ่างเก็บน้ำ หากสามารถนำมาใช้ประโยชน์ ติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำแบบไฮบริดที่ใช้ทั้งพลังงานน้ำและพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกัน เพื่อเพิ่มพลังงานสะอาด ซึ่งไม่ได้แย่งพื้นที่อาหาร อีกทั้งยังช่วยบังแดด ลดการระเหยของน้ำให้น้อยลง เรามองว่า เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ สามารถเพิ่มพลังงานได้ถึงหมื่นเมกะวัตต์ เราก็เสนอรัฐบาลไป นอกเหนือจากแผนพีดีพีที่มอบหมายมาแล้ว 2,725 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ ในเรื่องของ Grid Modernization จะช่วยให้คนทั่วไปสามารถผลิตไฟได้เอง มีแหล่งพลังงานหมุนเวียนได้มากขึ้น กฟผ. ได้หารือกับองค์กรระดับโลก หรือทบวงพลังงานโลกอย่าง International Energy Agency (IEA) เบื้องต้นได้ให้คำแนะนำว่า เราควรมีศูนย์พยากรณ์พลังงานหมุนเวียน ซึ่งขณะนี้เสร็จแล้ว มีการใช้งานอยู่ เพื่อติดตามดูการผลิตพลังงานหมุนเวียนว่า จะมีผลกระทบกับโครงข่ายไฟฟ้าอย่างไร

“ถัดมา คือ ต้องเพิ่มความยืดหยุ่นให้ระบบไฟฟ้า ต้องมีระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งจริงๆ มีใช้มานานแล้ว แต่เป็นการกักเก็บในรูปของพลังงานน้ำ โดยการปั๊มน้ำจากที่ต่ำไปที่สูง ซึ่งถ้าขับรถไปเขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา ซ้ายมือจะเป็นเขื่อนลำตะคอง ขวามือ คือ เขายายเที่ยง บนเขาจะมีอ่างเก็บน้ำเล็กๆ อยู่ เราสูบน้ำขึ้นไป เวลาปล่อยลงมาจะเป็นพลังงานไฟฟ้า อีกทั้งเราติดตั้งแบตเตอรี่ด้วย ก็จะเป็นระดับ Grid Scale ที่ จ.ลพบุรี และ จ.ชัยภูมิ ขนาดรวม 37 เมกะวัตต์ชั่วโมง ส่วนที่เราเริ่มนำมาใช้”

อันที่ 3 ก็คือ การทำโรงไฟฟ้าให้ยืดหยุ่นขึ้น โรงไฟฟ้าที่ออกแบบในตอนหลังๆ จะสามารถลดกำลังการผลิตขั้นต่ำได้ต่ำลง มีความสามารถในการสตาร์ตได้เร็วขึ้น สามารถปลดเครื่องได้ในช่วงที่มีพลังงานจากโซลาร์เซลเยอะ

คุ้มไหม ถ้าเปลี่ยนมาใช้ EV?

ผู้บริโภคที่สนใจใช้รถ EV จะต้องลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ชาร์จไฟฟ้าประมาณ 50,000-60,000 บาท แต่ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะ EV มีต้นทุนพลังงานที่ถูกกว่า หากคำนวณเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายพลังงาน กรณี EV จะตกประมาณกิโลเมตรละ 80 สตางค์ ขณะที่น้ำมันกิโลเมตรละ 3 บาท หรือถ้าชาร์จด้วยไฟบ้าน ในช่วงเวลากลางคืน ที่มีการใช้ไฟฟ้าน้อย ด้วย TOU (Time of Use Tariff) ก็จะถูกลงอีก เหลือกิโลเมตรละ 50 สตางค์ หากชาร์จตามสถานี ตกไม่เกิน 1.50 บาท/กิโลเมตร เพราะสถานีจะมีค่าลงทุนติดตั้งรวมอยู่ด้วย แสดงว่า ผู้ใช้รถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจะสามารถประหยัดต้นทุนค่าพลังงานได้ถึง 2 บาทต่อกิโลเมตร ปีนึงหากขับรถอยู่ประมาณ 20,000 กิโลเมตร ก็จะประหยัดได้ถึงปีละ 40,000 บาท

ทางเลือกที่ดีที่สุด คือ เราควรชาร์จไฟฟ้าที่บ้าน เพราะสะดวกที่สุด อีกทั้งการชาร์จไฟบ้าน จะช่วยถนอมแบตเตอรี่ได้ดีกว่า ในกรณีที่ชาร์จเกิน 80% ของความจุแบตเตอรี่ เพราะไฟบ้านเป็นการชาร์จแบบช้า ระบบจัดการแบตเตอรี่จะล็อกเอาไว้ ดังนั้น เราจะได้ยินเวลาไปชาร์จตามสถานี จะมีคำแนะนำให้ชาร์จเพียง 80-85% ก็พอ เพราะหากเติมยาวกว่านั้นจะใช้ระยะเวลานาน

“พฤติกรรมการใช้ ก็จะเหมือนมือถือ คือ กลับบ้านก็ชาร์จช่วงตอนนอน จะมีแอปพลิเคชันสำหรับตั้งเวลาได้ โดยใช้เวลาชาร์จ 6-7 ชั่วโมง เพื่อสำหรับใช้งานในวันรุ่งขึ้น”

สถานีชาร์จยังไม่หวังกำไร เพราะการสร้างความพร้อมให้ Ecosystem เป็นสิ่งจำเป็น

ปัจจุบันผู้ประกอบการสถานีชาร์จไฟฟ้าทุกรายยังไม่สามารถทำกำไรได้ เนื่องจากปริมาณรถ EV ยังน้อยอยู่ สเกลยังไม่ได้ แต่การสร้างความพร้อมของ Ecosystem ให้เกิดความสะดวกสบายกับผู้ใช้งานเป็นสิ่งจำเป็นในช่วงการเปลี่ยนผ่าน เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต

ตอนนี้สถานีเริ่มพร้อม เริ่มมีมากพอ สถานการณ์เริ่มดีขึ้น จำนวนรถ EV มีอัตราการเพิ่มเกินเท่าตัว ปีที่แล้วยอดจดทะเบียนรถเก๋ง EV สะสมราว 4,000 คัน ขณะที่ครึ่งแรกของปีนี้สะสม 7,000 กว่าคัน ปีนี้น่าจะโตเกือบ 3 เท่า ของปีที่แล้ว (ยอดปีก่อน 1,935 คัน ปีนี้ 6 เดือนแรก 3,097 คัน ภายใต้สถานการณ์ที่ส่งมอบรถไม่ได้ด้วยซ้ำ ถ้าทำได้ทัน ก็น่าจะโตถึง 400% เนื่องจากผู้ผลิตมีปัญหาเรื่องชิป ประกอบกับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ผลิตรถส่งมอบได้ล่าช้า

ส่วนรัฐบาลจะต้องคิดว่า จะทำอย่างไรกับอุตสาหกรรมรถยนต์โครงสร้างเดิม ต้องไม่ลืมว่า ประเทศไทยผลิตรถยนต์เพื่อส่งออก การเปลี่ยนจากฟอสซิล ไปเป็น EV จะทำอย่างไรกับคนในอุตสาหกรรมยานยนต์เดิม คนอาจตกงาน รวมถึงอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนในรถยนต์ ซึ่งชิ้นส่วนกว่า 80% ในตัวรถ เป็นการผลิตในประเทศ จะมีการดูแลแรงงานส่วนนี้อย่างไร เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐต้องคิด ต้องมีมาตรการจัดการที่ดี มีแผนช่วยเหลือรองรับ

บทบาท กฟผ. พร้อมรับโจทย์ที่เปลี่ยนไป ด้วยปัจจัยบริบทที่เปลี่ยนแปลง

กฟผ. มีวัตถุประสงค์ชัดเจนตั้งแต่ 50 ปีที่แล้วจนถึงวันนี้ว่า ทำหน้าที่ผลิต จัดหามา และส่งจ่ายกระแสไฟฟ้า เป็นภารกิจหลัก ในส่วนอื่น อาจจะมีบริบทที่เปลี่ยนไป การผลิตอาจจะเปลี่ยนรูปแบบการผลิต การส่งจ่ายอาจจะต้องปรับ เพื่อให้รองรับกับรูปแบบการผลิตและการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไป ซึ่ง EV ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การใช้ไฟฟ้าเปลี่ยนไป

ดังนั้น กฟผ. ก็ต้องทำภารกิจให้สอดรับกับสิ่งที่เปลี่ยนไป แต่หน้าที่ก็ยังไม่ได้ต่างไปจากเดิม คือ ผลิต จัดหาและส่งจ่ายกระแสไฟฟ้า

ในกรณีที่การใช้ EV มีจำนวนมากขึ้น กฟผ. ยืนยันได้ว่า กระแสไฟฟ้าก็ยังมีเพียงพอรองรับ แต่เพียงพอในที่นี้คือภายใต้การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ต้องมีการมอนิเตอร์ มีการบริหารให้มีการชาร์จในช่วงเวลาที่เหมาะสม ต้องมีการวางแผนพัฒนาแหล่งพลังงาน โครงข่ายไฟฟ้าให้สอดรับ ต้องมีข้อมูลที่ถูกต้องด้วย