ThaiPublica > เกาะกระแส > วิจัยกรุงศรี ประเมินไวรัสโคโรนาถ่วงเศรษฐกิจไทยครึ่งปี ท่องเที่ยวช้ำหนัก

วิจัยกรุงศรี ประเมินไวรัสโคโรนาถ่วงเศรษฐกิจไทยครึ่งปี ท่องเที่ยวช้ำหนัก

12 กุมภาพันธ์ 2020


ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/840301786162370/posts/1297960560396488/

เดือนมกราคม 2020 รัฐบาลจีนได้ดำเนินการมาตรการเด็ดขาดเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ 2019-nCoV ที่มีต้นทางจากเมืองอู่ฮั่น เป็นหนึ่งในบรรดาเมืองใหญ่ของจีนและเป็นศูนย์กลางการขนส่งภายในประเทศ แต่จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตยังเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่อยู่ที่จีน สร้างความวิตกถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจและเศรษฐกิจโลก และยิ่งกังวลมากขึ้นในช่วงวันหยุดตรุษจีนซึ่งเป็นช่วงที่ผู้คนเดินทางล้นหลามทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะมีผลกระทบให้เศรษฐกิจที่ขยายตัวในอัตราชะลอตัวอยู่แล้วแย่ลง

วิจัยกรุงศรีวิเคราะห์“Coronavirus Outbreak: Impact on Thai Economy” โดยมองว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน และผลกระทบที่เกิดขึ้นผ่าน 3 ช่องทาง คือ การท่องเที่ยว การขาดตอนของห่วงโซ่อุปทาน และผลกระทบต่อรายได้ (multiplier effect) ต่อเศรษฐกิจอื่น รวมทั้งประเทศไทยและเศรษฐกิจโลก

วิจัยกรุงศรีประเมินว่า กรณีฐานการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จะพีกสุดในเดือนมีนาคม หลังจากนั้นสถานการณ์จะดีขึ้น และจะสกัดการแพร่ระบาดได้ในเดือนพฤษภาคม เศรษฐกิจจีนจะลดลง 0.9 จุด (ppt) ในปี 2020 จากฐาน และผลกระทบจะเลวร้ายสุดในไตรมาสแรกของปีนี้ โดยจะจีดีพีจะลดลง 2.8 ppt และจะลดลงต่อเนื่อง 1.1 ppt ในไตรมาสสอง อย่างไรก็ตาม ความต้องการในประเทศจะช่วยดึงเศรษฐกิจขึ้นมาได้บางส่วนตลอดทั้งปี ผลกระทบต่อจีดีพีจึงจำกัดเพียง 0.27 ppt

ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยนั้นจะมีถึง 0.44 ppt เนื่องจากการค้าและการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับจีนมาก

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะบ่งบอกว่าการสกัดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีประสิทธิภาพ แต่จากการใช้แบบจำลอง SIR ที่นำมาประยุกต์ใช้พบว่า จะสกัดการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ได้ในเดือนพฤษภาคม

ในเดือนธันวาคมปีก่อน ในเมืองอู่ฮั่นของจีน มีผู้ป่วย 41 คนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคปอดอักเสบโดยไม่สามารถระบุต้นตอ แต่ต่อมาช่วงสิ้นปีสามารถระบุได้ว่ามาจากเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 และนับจากนั้นจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในจีน รัฐบาลได้นำมาตรการเข้มงวดหลายอย่างมาใช้เพื่อสกัดไม่ให้แพร่กระจายทั่วประเทศ แต่กลับมีผู้ติดเชื้อถึง 25 ประเทศ สร้างความตระหนกและวิตกทั่วโลก

เพื่อคาดการณ์ว่าการควบคุมการระบาดของโรคจะใช้เวลานานแค่ไหน วิจัยกรุงศรีจึงใช้แบบจำลองการแพร่กระจายของเชื้อโรค (Susceptible Infected Recovered model: SIR model) ด้วยลักษณะทางระบาดวิทยาของไวรัส ซึ่งได้ข้อสรุปว่า การแพร่ระบาดจะพีกในเดือนมีนาคมและจะสามารถสกัดการแพร่ระบาดได้ในเดือนพฤษภาคม โดยจากแบบจำลองการติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นเป็นราว 20,000 รายในหนึ่งสัปดาห์ในเดือนมีนาคมและลดลงเป็น 12,000 รายต่อหนึ่งสัปดาห์ในเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม

จากนั้นได้จำลองความรุนแรงของการแพร่ระบาด หรือการติดเชื้อ จากการคาดการณ์ข้างต้น พบว่าสถานการณ์จะรุนแรงมากในเดือนกุมภาพันธ์และเดือนมีนาคม มีอัตราการติดเชื้อและการเสียชีวิตสูง แต่จะลดระดับลงเป็นรุนแรงในเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม ซึ่งอัตราการเสียชีวิตจะลดลงอย่างมาก และหลังเดือนพฤษภาคมอัตราการติดเชื้อจะลดลงอย่างรวดเร็ว และจะสามารถสกัดการแพร่ระบาดได้ผล ซึ่งจากแบบจำลองนี้อัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จะลดลงต่ำกว่า 2% ในช่วงดังกล่าว

ข้อมูลที่มีการบันทึกไว้แสดงให้เห็นว่า การแพร่ระบาดของเชื้อโรคที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาไม่นานนั้นมีผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจ โรคระบาดที่เกิดขึ้นในปี 1994 ที่เมืองสุราต ประเทศอินเดีย ซึ่งมีผู้ป่วย 693 รายจากประชากรเกือบ 2 พันล้านคนนั้น ผลการศึกษาขององค์การอนามัยโลก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลก และสถาบันทางการแพทย์และสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ มีข้อสรุปว่า ผลกระทบต่อเศรษฐกิจนั้นสามารถประเมินได้หลายวิธี ทั้งค่าใช้จ่ายทางตรงและทางอ้อม พฤติกรรมที่ไร้เหตุผลเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ ผลิตภาพแรงงานที่สูญเสียไป กิจกรรมทางเศรษฐกิจในบางภาคธุรกิจชะลอตัว และมาตรการเชิงรุกในการป้องกันการแพร่ระบาด

ค่าใช้จ่ายทางตรงและทางอ้อมจากค่าใช้จ่ายการรักษาที่ไม่คาดคิดจะกระทบต่อกำลังซื้อ และจะผลกระทบต่อความต้องการโดยรวม การจ้างงานอาจจะลดลงหากธุรกิจต้องหยุดชะงักและผลิตภาพอาจจะลดลงหากแรงงานจำนวนมากป่วย และในที่สุดการระบาดของโรคจะเป็นภาระต่องบประมาณ เพราะรายจ่ายจะเพิ่มขึ้นและรายได้จากการจัดเก็บภาษีจะลดลง

พฤติกรรมที่ไร้เหตุผลเพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ องค์การอนามัยโลกได้นำความกลัว หรือ “fear factor” มาใช้เป็นตัวแปรที่อาจจะนำไปสู่การชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและซ้ำเติมผลกระทบทางลบ

ผลิตภาพแรงงานที่สูญเสีย อาจจะเกิดขึ้นหากจำนวนแรงงานที่ป่วยเพิ่มขึ้นหรือมีความเครียด

กิจกรรมทางเศรษฐกิจในบางภาคธุรกิจอาจชะลอตัว

  • ภาคเกษตรและอาหาร ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา การระบาดที่เกิดขึ้นหลายครั้งตรวจสอบพบว่า มีที่มาจากฟาร์มสัตว์เลี้ยง และจบลงด้วยการต้องฆ่าสัตว์ทิ้ง การระบาดของไข้หวัด H1N1 ปี 2009 ทำให้อุตสาหกรรมฟาร์มหมูเม็กซิโกเสียหาย 27 ล้านดอลลาร์
  • ภาคการท่องเที่ยวและการขนส่ง คนมักจะเลี่ยงการเดินทางที่ไม่จำเป็นในช่วงที่มีการระบาดของโรคซาร์สในปี 2002-2003 สิงคโปร์และฮ่องกงสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 70% ของรายได้การท่องเที่ยวทั้งหมดและธุรกิจการบินเสียหายมากกว่า 7 พันล้านดอลลาร์
  • ภาคการค้าและค้าปลีก ผู้บริโภคจะลดการใช้จ่ายและส่งผลต่อร้านอาหารและธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจอาหารในเกาหลีใต้มียอดขายลดลง 10% ในช่วงที่โรคเมอร์ส (MERS) ระบาด

มาตรการเชิงรุกในการป้องกันการแพร่ระบาด การจำกัดการเดินทางโดยคำสั่งของรัฐบาลในหลายประเทศในช่วงการระบาดของโรค MERS ทำให้ซาอุดีอาระเบียมีค่าใช้จ่าย 5 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่เกิดการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จีนได้สั่งปิดหลายเมืองอย่างเข้มงวด ด้วยการระงับการเดินรถการคมนาคมทั้งขาเข้าและขาออก เพื่อป้องกันไม่ให้มีการติดต่อกันทั่วประเทศ ซึ่งมาตรการเข้มงวดนั้นจะมีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

จีนยังได้ขยายวันหยุดตรุษจีนออกไปเพื่อจำกัดการเดินทางที่ไม่จำเป็น แต่ก็มีผลให้ต้องปิดกิจการนานกว่าปกติที่ปิดเพียง 1 สัปดาห์ นอกจากนี้หลายประเทศเช่น สหรัฐฯ อิตาลี ออสเตรเลีย สั่งห้ามการเดินทางมายังและกีดกันผู้ต้องสงสัยที่เดินทางไปจีนเป็นเวลา 14 วัน ขณะที่สายการบินบริติชแอร์เวย์ ไลอ้อนแอร์ โซลแอร์ เจ็ตสตาร์ เอเชีย คาเธ่ย์แปซิฟิก ฟินแอร์ ยูไนเต็ดแอร์ไลน์ และเดลต้า ระงับเที่ยวบินขาเข้าและออกจากจีน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งแรกของปี 2020


จากแบบจำลอง SIR ที่ได้ว่าการแพร่ระบาดจะพีกในเดือนมีนาคม และจะสามารถสกัดการแพร่ระบาดได้ในเดือนพฤษภาคม ดังนั้นผลกระทบที่รุนแรงอย่างมากจะเกิดขึ้นในช่วงสองไตรมาสแรกของปี หลังจากด้วยเมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการและความเชื่อมั่นเริ่มฟื้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมา

วิจัยกรุงศรีคาดว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จะกระทบจีดีพีไตรมาสแรก 2.8 ppt และกระทบจีดีพีไตรมาสสอง 1.1 ppt จากฐานเดิม ในครึ่งหลังของปี เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวเป็นปกติ ประกอบกับความต้องการที่สูงขึ้น ก็จะมีช่วยบรรเทาผลกระทบทางลบต่อการเติบโตของจีดีพีจีน ดังนั้นจึงคาดว่าจีดีพีจะลดลงเพียง 0.91 ppt

การท่องเที่ยว การขนส่ง และการค้า จะได้รับผลกระทบรุนแรงสุด จากแบบจำลองทางเศรษฐกิจ ภาคสันทนาการจะลดลง 5.8 ppt การขนส่งและการค้าจะลดลง 2.3 ppt และ 2.1 ppt ตามลำดับจากประมาณการเดิม

เศรษฐกิจจีนชะลอเศรษฐกิจโลกชะลอตาม


เศรษฐกิจจีนมีส่วนทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวอย่างมาก ดังนั้นเมื่อเศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบก็จะส่งผลต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจโลก

โดยที่เศรษฐกิจจีนใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และมีส่วนในเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นจาก 8.7% ในปี 2003 เป็น 18.6% ในปี 2018 อีกทั้งยังมีสัดส่วน 19.8% ในตลาดท่องเที่ยวโลกในปี 2018 จากเพียง 2.7% ในปี 2003 และในช่วงเดียวกันนี้สัดส่วนเศรษฐกิจจีนในการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 2 เท่า

ดังนั้น ผลกระทบทางลบจากเศรษฐกิจจีนจะมีผลต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ผ่าน 3 ช่องทาง คือ การท่องเที่ยวที่อ่อนตัวลง การขาดตอนของห่วงโซ่อุปทาน และผลกระทบด้านรายได้หรือตัวคูณ

  • การท่องเที่ยว ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนมีสัดส่วน 30-60% ในหลายประเทศของเอเชีย ภาคการท่องเที่ยวในประเทศเหล่านี้จะได้รับผลกระทบเพราะจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวลดลงมาก
  • การขาดตอนของห่วงโซ่อุปทาน การผลิตที่ลดลงมากจะกระทบห่วงโซ่อุปทานทั้งการผลิตไปข้างหน้าและไปข้างหลัง การผลิตและการค้าที่ชะลอตัวในจีน อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนทิศของการค้า (trade diversion) และบางประเทศอาจจะส่งออกได้มากขึ้น ดังนั้นการขาดตอนของห่วงโซ่อุปทานจะได้รับผลจากระดับการผลิตและผลจาก trade diversion
  • ผลกระทบด้านรายได้ (multiplier effects) อาจจะมาจากความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง ทำให้การใช้จ่ายโดยรวมลดลง ซึ่งจะกระทบต่อธุรกิจในภาคท่องเที่ยวและคู่ค้าหรือ ธุรกิจที่ต่อเนื่อง และจะลดการจ้างงาน ซึ่งหมายความว่ารายได้จะลดลงในที่สุด เศรษฐกิจโดยรวมจะได้รับผล เพราะ multiplier effect ในกรณีนี้เป็น reverse multiplier effect ไม่มีการใช้เงิน

วิจัยกรุงศรีได้ทำการวัดการส่งผ่านของผลกระทบ (spillover effect) ด้วยแบบจำลองดุลยภาพทั่วไป (computable general equilibrium model) ก็ได้ผลว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียบางประเทศจะลดลง 0.26-0.50 ppt จากประมาณการเดิม โดยเกาหลีใต้และมาเลเซียการเติบโตของเศรษฐกิจจะลดลงมากที่สุด 0.27 ppt

ไทยได้รับผลกระทบอย่างมากในครึ่งแรกของปี 2020

  • เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากรายได้ท่องเที่ยวที่ลดลง
  • การขาดตอนของห่วงโซ่อุปทานในจีนและผลกระทบด้านรายได้เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้าน การเติบโตเศรษฐกิจไทยจะลดลง 0.4 ppt ในปี 2020 โดยภาคการท่องเที่ยวฉุดจีดีพี 0.23 ppt และการค้ากระทบจีดีพี 0.16 ppt แบบจำลองประเมินว่าผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยวจะรุนแรงสุดในไตรมาสแรกของปี ส่วนผลจากการขาดตอนห่วงโซ่อุปทานจะมีผลในไตรมาสสอง

  • ภาคการท่องเที่ยวไทยจะได้รับกระทบอย่างหนัก
  • เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จะมีผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง 30.8% และ 13.1% ในสองไตรมาสแรกของปีตามลำดับ และทั้งปีจำนวนนักท่องเที่ยวจะลดลง 9.0 ppt จากประมาณการเดิม

  • การส่งออกของไทยจะลดลง 0.8 ppt
  • จากประมาณการเดิม น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน การส่งออกไปจีนจะชะลอตัวมากกว่าที่คาด แต่การที่บางภาคธุรกิจของจีนระงับการผลิต ไทยอาจจะได้รับผลดีจาก trade diversion ภาคการผลิตของไทยบางประเภท ได้แก่ เครื่องจักร อิเล็กทรอนิกส์ โลหะ และเกษตร

การประเมินด้วยแบบจำลองบ่งชี้ว่า เกือบทุกภาคธุรกิจของไทยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน แต่บางภาคธุรกิจได้รับผลดีจาก trade diversion และอาจจะขยายตัว ซึ่งผลิตภัณฑ์โลหะเป็นหนึ่งในนั้น ภาคการค้าและเครื่องจักร ขณะเดียวกันภาคธุรกิจเคมี สันทนาการ และสิ่งทอ อาจจะได้รับผลกระทบหนัก เพราะมีธุรกิจเกี่ยวข้องกับจีนมาก

โดยสรุปวิจัยกรุงศรีคาดว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จะพีกสุดในเดือนมีนาคม หลังจากนั้นจะสกัดการแพร่ระบาดได้ในเดือนพฤษภาคม การติดเชื้อที่ง่ายจะนำไปสู่การติดต่อในวงกว้าง แม้การเสียชีวิตไม่รุนแรงเท่าโรคซาร์สหรือเมอร์สผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการป่วยและเสียชีวิตจะเพิ่มขึ้น และมีผลต่อทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยจีดีพีไทยจะลดลง 0.44 ppt จากประมาณการเดิม ซึ่งผลกระทบจะรุนแรงมากสุดในไตรมาสแรก ในภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจเคมี สันทนาการ และสิ่งทอ