ThaiPublica > Sustainability > Social Change/Project > ศูนย์ ASESS มจธ. จุดประกาย ‘ความยั่งยืน’ ใช้ ‘มังคุด’ ตรวจรอยนิ้วมือ ไขคดี

ศูนย์ ASESS มจธ. จุดประกาย ‘ความยั่งยืน’ ใช้ ‘มังคุด’ ตรวจรอยนิ้วมือ ไขคดี

16 มิถุนายน 2022


ผศ. ดร.เขมฤทัย ถามะพัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ และหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์วิศวกรรมศาสตร์เพื่อคำตอบของสังคม (ASESS)

แนวคิดการนำวัสดุเหลือใช้มาเพิ่มมูลค่าเป็นหนึ่งในแนวทางความยั่งยืน (Sustainability) เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันคนให้ความสนใจกับการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ขณะเดียวกันแนวคิดการใช้วัสดุอย่างคุ้มค่าให้มากที่สุดยิ่งได้รับความนิยม เพราะเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ามากขึ้น และเพื่อลดปัญหาขยะที่กำลังบานปลาย

ล่าสุดมีการนำแนวคิดดังกล่าวไปประยุกต์กับ ‘มังคุด’ ในประเทศไทย ซึ่งแต่ละปีมีผลผลิตกว่า 3 แสนตัน จำนวนนี้เป็นมังคุดเพื่อการส่งออกถึง 70% และขายในประเทศอีก 30% และมีวัสดุเหลือทิ้งจากภาคเกษตรเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงมีการนำมังคุดไปใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุดในด้าน ‘นิติวิทยาศาสตร์’ 

ผศ. ดร.เขมฤทัย ถามะพัฒน์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ และหัวหน้าศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์วิศวกรรมศาสตร์เพื่อคำตอบของสังคม หรือ Applied Science and Engineering for Social Solution Research Center (ASESS) คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เล่าว่า ศูนย์ ASESS นำแนวคิดการนำวัสดุเหลือทิ้งจากธรรมชาติมาเพิ่มมูลค่านี้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ด้วยวิธีการนำมาสังเคราะห์เป็น “วัสดุนาโนสีเขียว (Green Nano Material)” เพื่อใช้ประโยชน์ ทั้งทางด้านการแพทย์ นิติวิทยาศาสตร์ เกษตร อาหาร สิ่งแวดล้อม ตลอดจนนิติวิทยาศาสตร์

ทั้งนี้ ศูนย์ ASESS ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2561 มีเป้าหมายเพื่อวิจัยองค์ความรู้เพื่อพัฒนาสังคม ภายในมีห้องปฏิบัติการสังเคราะห์และการใช้ประโยชน์จากเคมีสีเขียว (Green Synthesis and Application Laboratory) หรือ GSAL โดยนำวัสดุเหลือทิ้งจากธรรมชาติมาเพิ่มมูลค่า ที่ผ่านมาได้วิจัยผักตบชวามาทำเป็นวัสดุนาโนสีเขียว และล่าสุดคือมังคุด

ผสาน วิทยาศาสตร์-สิ่งแวดล้อม-ความยั่งยืน สู่ ‘วัสดุนาโนสีเขียว’

ผศ.ดร.เขมฤทัย กล่าวว่า ศูนย์วิจัยฯ ได้รับโจทย์จากสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ (สพฐ.ตร.) เรื่องการพิสูจน์หลักฐานรอยนิ้วมือในที่เกิดเหตุในพื้นที่เกิดเหตุต่างๆ รวมถึงพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ เนื่องจากวิธีการทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในปัจจุบันคือ ‘ผงฝุ่น’ มีข้อจำกัดหลานด้าน โดยเฉพาะด้านการพกพา ระยะเวลาในการพิสูจน์หลักฐานอย่างน้อย 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง ตลอดจนฃความคลาดเคลื่อนจากการตรวจ

ผศ.ดร.เขมฤทัย อธิบายว่า ร่างกายของมนุษย์จะมีสารคัดหลั่ง เมื่อนิ้วมือไปสัมผัสบนพื้นผิวต่างๆ สารคัดหรั่งจะไปติดกับพื้นผิวของวัตถุพยานผิวทำให้เกิด ‘รอยนิ้วมือ’ โดยวิธีการตรวจที่ใช้ในปัจจุบันคือนำผงฝุ่นไปปัดให้รอยนิ้วมือปรากฏ แต่ในบางกรณีหรือบางพื้นผิวจะมีรอยนิ้วมือแฝงที่ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ทางศูนย์วิจัยฯ จึงหาวิธีการใหม่ที่ทำให้พิสูจน์ลายนิ้วมือได้ในทุกสถานการณ์

โจทย์ข้างต้นนำไปสู่การพัฒนา ‘วัสดุนาโนสีเขียว’ เพื่อยกระดับการค้นหาคำตอบให้สังคม ผ่านประโยชน์ 3 ด้าน ได้แก่

1) นวัตกรรมด้านสังคม โดยนำวัสดุนาโนมาพัฒนาเป็นเครื่องตรวจหารอยนิ้วมือแฝง ตรวจการปลอมแปลงเอกสาร และตรวจพิสูจน์สารระเบิด ช่วยลดระยะเวลาและเพิ่มความสามารถในการตรวจพิสูจน์หลักฐาน อีกทั้งเพิ่มความมั่นใจของประชาชนต่อกระบวนการการทำงานของหน่วยงานภาครัฐ ลดค่าใช้จ่ายจากที่ต้องนำเข้าอุปกรณ์หรือสารเคมีราคาแพงจากต่างประเทศ

2) นวัตกรรมด้านการแพทย์และสาธารณสุข เช่น การผลิตผ้าก๊อซปิดแผลดูดซับสูงและต้านเชื้อแบคทีเรีย (Beyond Gauze) พัฒนาจากวัสดุนาโนสามารถดูดซับสารคัดหลั่งที่ออกมาจากบาดแผลได้มาก และมีราคาถูกกว่าท้องตลาด, สายสวนปัสสาวะป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ โดยนำเอาวัสดุนาโนที่มีสมบัติมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ไปใช้เคลือบพื้นผิวสายสวนปัสสาวะ เนื่องจากพบว่าการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะจากการคาสายสวนเป็นการติดเชื้อในโรงพยาบาลที่พบมากเป็นลำดับต้นๆ และสามารถนำไปสู่การเสียชีวิตได้ในที่สุด

3) นวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม อาหารและการเกษตร โดยพัฒนาเซ็นเซอร์สำหรับตรวจวัดการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ Salmonella ที่ปนเปื้อนอยู่ในไก่ โดยใช้วิธีการตรวจวัดแบบรวดเร็วเพื่อช่วยในการคัดกรองเบื้องต้นของกระบวนการผลิต เซ็นเซอร์สำหรับตรวจวัดปริมาณไซยาไนด์ในมันสำปะหลัง นอกจากนั้นยังมีการทำสเปรย์อินทรีย์เคลือบกันน้ำ

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ ASESS ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ

“สิ่งที่เราพัฒนาขึ้นจะต้องเกิดผลกระทบต่อสังคมและภาคอุตสาหกรรม เพราะเป้าหมายหลักของศูนย์วิจัยฯ คือ ต้องการแก้ปัญหาให้กับสังคม ชุมชน และภาคอุตสาหกรรม”

คำว่า ‘วัสดุนาโนสีเขียว’ จึงต้องเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน และช่วยเหลือสังคมไปพร้อมกัน จนกระทั่งพบว่าผลไม้ไทยอย่าง ‘มังคุด’ คือคำตอบของการช่วยเหลือสังคม

“ทำไมต้องเป็นมังคุด เพราะตอนแกะเปลือกมันจะเปื้อนมือ เราก็เอ๊ะ คิดว่ามีสารสำคัญบางอย่าง เพราะถ้ามันเปื้อนมือได้ มันต้องติดบนพื้นผิวที่มาจากสารคัดหลั่งบนวัตถุพยาน จนเราทดลองและพบว่า ผงจากเปลือกมังคุดสามารถใช้ตรวจหาลายนิ้วมือได้ทุกประเภท แถมลดการใช้สารเคมี และใช้เวลาตรวจเพียงแค่ 10 วินาที ที่สำคัญไม่ใช้สารเคมีที่เป็นผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจและสิ่งแวดล้อม”

ใช้ผงเปลือก ‘มังคุด’ ตรวจรอยนิ้วมือภายใน 10 วินาที

จุดเริ่มต้นจากปัญหาการตรวจหารอยนิ้วมือบนวัตถุพยาน ผู้ตรวจหาต้องพิจารณาพื้นผิวของวัตถุพยานว่าเป็นพื้นผิวประเภทมีรูพรุน ไม่มีรูพรุน หรือกึ่งรูพรุน รวมถึงร่องรอยของลายนิ้วมือลายนิ้วมือแฝง เพื่อเลือกวิธีการที่เหมาะสมมาใช้เพิ่มความคมชัดของลายนิ้วมือแฝง นอกจากจะต้องอาศัยความชำนาญแล้ว บางวิธียังมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ใช้เวลานาน อีกทั้งยังใช้สารเคมีอันตราย ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ต้นทุนสูง และบางกรณีต้องทำถึง 2 วิธีร่วมกันจึงจะเห็นรอยนิ้วมือปรากฏชัดเจน

ผศ.ดร.เขมฤทัย กล่าวต่อว่า ชุดตรวจหาลายนิ้วมือแฝงอย่างรวดเร็ว โดยใช้ผงเปลือกมังคุด เป็นผลงานชิ้นแรกๆ ของศูนย์วิจัยฯ ตั้งแต่ปี 2559 ถือเป็นผลงานที่โดดเด่นอีกชิ้นหนึ่งของการสังเคราะห์เคมีสีเขียวจากธรรมชาติที่ได้นำไปประยุกต์ใช้ โดยผลงานชิ้นนี้ได้รับการการันตีรางวัลมากมายทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ

“พอทดลองกับวัสดุอื่นที่ไม่ใช่กระดาษ ก็พบว่าสามารถใช้ตรวจหาลายนิ้วมือได้กับวัสดุทุกพื้นผิวและผงเปลือกมังคุดทดแทนผงฝุ่นดำ โดยไม่ต้องปัดฝุ่นออก เพียงแค่ทาบหรือกลิ้งผงเปลือกมังคุดลงบนพื้นที่วัสดุที่ต้องการตรวจ เป่าผงที่ติดอยู่ออกก็จะเห็นรอยลายนิ้วมือปรากฏขึ้นชัดเจน”

ในด้านการทำงาน ชุดตรวจหาลายนิ้วมือแฝงอย่างรวดเร็วโดยใช้ผงเปลือกมังคุด ประกอบด้วย อุปกรณ์ที่ใช้ในการกลิ้ง ภาชนะบรรจุผงเปลือกมังคุด อุปกรณ์กดทับวัตถุพยาน สามารถใช้งานได้ 2 วิธี

  • วิธีที่ 1 โรยผงเปลือกมังคุดลงในภาชนะ นำกระดาษหรือวัตถุพยานวางตามลงไป จากนั้นนำอุปกรณ์กดทับวางทับลงบนวัตถุพยาน เพียง 10 วินาที ยกอุปกรณ์ออก เป่าหรือเคาะผงส่วนเกินที่ติดอยู่ออกจากกระดาษหรือวัตถุพยานออก จะปรากฏลายนิ้วที่มีสีน้ำตาลขึ้น หากต้องการให้ลายนิ้วมือชัดมากขึ้นก็มากลับเป็นสีขาวดำได้ 
  • วิธีที่ 2 การใช้อุปกรณ์ลูกกลิ้ง เพื่อตรวจหาลายนิ้วมือแฝงบนวัตถุพยานที่เคลื่อนไม่ได้  เช่น ประตู กระจก หรือวัตถุอื่นๆ เช่น ขวด กระป๋อง ก็สามารถตรวจหารอยลายนิ้วมือแฝงได้เช่นกัน

“วิธีนี้ช่วยลดขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ลงได้มาก และถ้าเทียบระหว่างผงเปลือกมังคุด กับการใช้สารละลายนินไฮดริน (Ninhydrin) ที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ตัวสารละลายนี้ปกติจะไม่ทำในที่เกิดเหตุ ต้องนำหลักฐานกลับไปทำในห้องแล็บเท่านั้น โดยใช้วิธีการพ่นหรือจุ่มแช่ลงในสารละลายนินไฮดรินแล้วนำขึ้นมาตากไว้ข้ามวัน ขณะที่ผงเปลือกมังคุดใช้เวลาเพียง 10 วินาที หรือแม้จะใช้ผงฝุ่นดำก็สามารถใช้ได้แค่พื้นผิวที่ไม่มีรูพรุนเท่านั้น” 

ทั้งนี้ ชุดตรวจหาลายนิ้วมือแฝงโดยใช้ผงเปลือกมังคุด ได้มีการทดสอบร่วมกับกองพิสูจน์หลักฐานและได้รับการยืนยันว่าสามารถใช้งานได้จริง หลังจากนี้ทางศูนย์ฯ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าวให้แก่ภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการที่สนใจนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ต่อไป

ใช้ 3D Printer พัฒนาเครื่องตรวจปลอกกระสุน ต้นทุนเหลือ 6,000 บาท

“ปลอกกระสุนปืนเป็นวัตถุพยานหนึ่งที่มักพบอยู่เป็นจำนวนมากในที่สถานที่เกิดเหตุ โดยเฉพาะการก่อเหตุความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่าการก่อเหตุแต่ละครั้ง “รอยลายนิ้วมือแฝง” มักจะปรากฏบนปลอกกระสุนปืนและเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่สามารถเชื่อมโยงไปหาตัวผู้กระทำผิดได้”

แต่ข้อจำกัดด้านการพิสูจน์หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยคือ ต้องนำเข้าเทคโนโลยี-นวัตกรรมจากต่างประเทศ ต้นทุนสูง หรือหากเป็นการพิสูจน์หลักฐานด้วยเทคโนโลยีที่มีก็ต้องใช้ระยะเวลานานและมีความคลาดเคลื่อน

ผศ. ดร.เขมฤทัย อธิบายว่า ปัจจุบันกระบวนการตรวจหารอยลายนิ้วมือแฝงบนปลอกกระสุนปืนตามหลักสากล มี 3 ขั้นตอน ได้แก่ (1) นำวัตถุพยานมาอบไอกาว (Super Glue Fuming) ใช้เวลาอย่างน้อย 30 นาที (2) ย้อมด้วยสีย้อมเรืองแสงโรดามีน 6 จี (Rhodamine 6G) (3) นำมาดูภายใต้แสงด้วยเครื่องโพลีไลท์ (Polilight) เพื่อดูรอยลายนิ้วมือ และถ่ายภาพนำมาชี้จุดลักษณะสำคัญพิเศษเปรียบเทียบกับลายพิมพ์นิ้วมือเพื่อการยืนยันตัวบุคคล ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ใช้เวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมง ในการตรวจสอบวัตถุพยาน

ดังนั้น ศูนย์ ASESS จึงพัฒนา “เครื่องตรวจหารอยลายนิ้วมือแฝงบนปลอกกระสุนปืน” ที่ราคาไม่แพงแต่มีประสิทธิภาพสูง ส่งเสริมการทำงานของหน่วยงานภาครัฐให้ประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่ต้องสูญเสียเงินจากการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ โดยตัวเครื่องมี 2 รูปแบบในรองรับการใช้งานตามบริบทที่แตกต่างกัน คือ

  • เครื่องตั้งโต๊ะสำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการ สามารถตรวจปลอกกระสุนปืนได้ครั้งละ 10 ปลอก ราคาต้นทุนประมาณ 20,000 บาท
เครื่องตรวจปลอกกระสุนแบบตั้งโต๊ะ
  • เครื่องแบบพกพาใช้ในสถานที่เกิดเหตุ ราคาต้นทุนไม่เกิน 6,000 บาท ใช้งานได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียบปลั๊ก ตรวจปลอกกระสุนปืนได้ครั้งละ 1 ปลอก
เครื่องตรวจปลอกกระสุนแบบพกพา

“เราใช้เครื่อง 3D ปริ้นเตอร์ในการปริ้นตัวเครื่องตามแบบที่ได้ปรับปรุงพัฒนาจากเครื่องต้นแบบ ตามข้อแนะนำจากทางสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจที่ได้นำเครื่องต้นแบบรุ่นก่อนไปใช้งานจริง ทำให้เรานำมาพัฒนารูปแบบการใช้งานให้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และแม่นยำมากยิ่งขึ้น”

ผศ.ดร.เขมฤทัย กล่าวต่อว่า คุณสมบัติของเครื่องฯ คือสะดวก รวดเร็ว และลดระยะเวลาการตรวจหาจาก 1 ชั่วโมงเหลือเพียง 20 วินาที ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถเห็นจุดลักษณะพิเศษบนรอยลายนิ้วมือที่ปรากฏนำไปสู่พิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลผู้กระทำผิดได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ ASESS ได้ส่งมอบเครื่องตรวจปลอกกระสุนแบบตั้งโต๊ะจำนวน 3 เครื่องให้สำนักงานพิสูจน์หลักฐานฯ แล้ว และส่งมอบเครื่องประเภทพกพา 9 เครื่องให้กับกลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 ที่มีความรับผิดชอบหลักครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และหลังจากนี้จะมีการสำรวจความต้องการและของบประมาณสนับสนุนในการผลิตเครื่องให้เพียงพอต่อการใช้งานทั่วประเทศ

ต่อยอดนวัตกรรมจากวัสดุธรรมชาติ

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยฯ ยังพัฒนานวัตกรรมด้านการปลองแปลงเอกสาร เพราะข้อจำกัดของวิธีการเดิมมักจะใช้การเปรียบเทียบชนิดของหมึกและชนิดเอกสาร หลักการคือดูว่าหมึกปากกาที่คาดว่าเขียนเพิ่ม-ปลอมแปลงเป็นหมึกชนิดเดียวกันกับหมึกก่อนหน้าหรือไม่ ซึ่งวิธีการนี้ต้องอาศัยผู้ตรวจที่มีความชำนาญมองผ่านกล้องจุลทรรศน์แบบสเตอริโอ (stereo microscope) หรือใช้เครื่องตรวจเอกสาร VSC (video spectral comparator หรือ VSC) ที่อาศัยหลักการดูดกลืนแสงและการเปล่งแสงฟลูออเรสเซนต์ที่แตกต่างกันในหมึกปากกาแต่ละชนิด

อีกวิธีการที่ใช้คือ เทคนิครามานสเปกโทรสโกปี (Raman Spectroscopy – RS) สาระสำคัญคือวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีหมึกปากกา และเปรียบเทียบค่าพันธะทางเคมีในหมึกปากกา แม้วิธีการนี้จะมีข้อดีคือไม่ทำลายวัตถุพยาน ไม่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ แต่วิธีการนี้อาจมีข้อเสียในกรณีที่สารจากหมึกปากกามีความเข้มข้นน้อย สุดท้ายก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการนำเข้า ‘สารขยายสัญญาณ’ จากต่างประเทศที่มีราคาแพงและมีอายุการใช้งานเพียง 2 เดือนหลังผลิต ซึ่งเมื่อรวมกับระยะเวลาในการสั่งซื้อแล้ว สารจะมีอายุการใช้งานได้เพียง 1 เดือน

ศูนย์ ASSESS จังพัฒนานวัตกรรม “Green colloidal SERS” สำหรับจำแนกหมึกปากกาในงานตรวจพิสูจน์เอกสารต้องสงสัย ที่มีราคาถูก สามารถผลิตขึ้นเองได้อย่างง่ายและรวดเร็ว โดยใช้วัสดุจากธรรมชาติที่มีภายในประเทศไทย และมีอายุการใช้งานนานกว่า 6 เดือน ประสิทธิภาพเทียบเท่าวิธีการที่ใช้อยู่ ที่สำคัญคือนวัตกรรมใหม่นี้สามารถจำแนกได้ถึงชนิดของหัวปากกาตั้งแต่ ปากกาลูกลื่น ปากกาหมึกซึม และปากกาโรลเลอร์บอล

“นวัตกรรมนี้เป็นสารที่ผลิตในประเทศ ลดปัญหาเรื่องอายุการเก็บ อีกทั้งใช้วัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ จึงมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ในระดับสูง ซึ่งขณะนี้ได้รับทุนสนับสนุนเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการตรวจพิสูจน์การปลอมแปลงเอกสารให้กับกองพิสูจน์หลักฐานกลาง และศูนย์พิสูจน์หลักฐานทั้ง 10 ศูนย์ทั่วประเทศ”

ทั้งนี้ ผลงาน “นวัตกรรมวัสดุนาโนสีเขียว สำหรับตรวจพิสูจน์การปลอมแปลงเอกสาร” (Green colloidal SERS) ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น สาขาวิทยาศาสตร์เคมีและเภสัช ประจำปี 2564 รวมถึงได้รับทุนอุดหนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม การยกระดับศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2565

จากการพัฒนา “สารขยายสัญญาณ” ศูนย์ ASESS ยังได้นำองค์ความรู้นี้ไปต่อยอดพัฒนาเป็น “นวัตกรรมการพิสูจน์หลักฐานจากวัตถุระเบิดหรือสะเก็ดระเบิด” เพื่อค้นหาสารตั้งต้นวัตถุระเบิดและสะเก็ดระเบิดในที่เกิดเหตุ

ปัจจุบันศูนย์ ASESS ได้มีการถ่ายทอดเทคนิคการตรวจสอบดังกล่าวให้กับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการของหน่วยงานภายใต้สังกัดของศูนย์พิสูจน์หลักฐานทั่วประเทศแล้ว