ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ > นายกฯเยี่ยมชมบูธ 7 แบงก์รัฐ ร่วมจัดนิทรรศการโชว์ผลงานนโยบายรัฐ

นายกฯเยี่ยมชมบูธ 7 แบงก์รัฐ ร่วมจัดนิทรรศการโชว์ผลงานนโยบายรัฐ

19 พฤษภาคม 2022


ข่าวประชาสัมพันธ์

นายกฯเยี่ยมชมบูธ 7 แบงก์รัฐ ร่วมจัดนิทรรศการ-แสดงผลงานตามนโยบาลรัฐบาล ในงานเสวนา “Better Thailand Open Dialogue ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม”

เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 เวลา 9.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมในงานเสวนา “ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” และกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน อนาคต ของประเทศไทยที่ดีขึ้นกว่าเดิม” หรือ “Better Thailand Open Dialogue ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี , นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน , นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง , นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย , นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ , นางสาวณัฐฎ์จารี อนันตศิลป์ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี , นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี , นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และตัวแทนภาคเอกชน เข้าร่วมงานเสวนาครั้งนี้ ณ รอยัล พารากอนฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

หลังจากกล่าวปาฐกถาเสร็จเรียบร้อย พลเอกประยุทธ์ จันทร์อาชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้เกียรติเยี่ยมชมบูธของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มาจัดนิทรรศการในงานนี้ เริ่มจากบูธของธนาคารออมสิน โดยนายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้จัดแสดงนิทรรศการและผลการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์การเป็นธนาคารเพื่อสังคม ตามนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และผู้มีรายได้น้อย ผ่านมาตรการต่าง ๆ กว่า 41 โครงการ สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ถึง 12.9 ล้านราย อาทิ โครงการสร้างงานสร้างอาชีพ ที่ให้ประชาชนมีทักษะความรู้ มีเงินทุนหมุนเวียน และธุรกิจเดินหน้าต่อได้ภายใต้วิกฤตการณ์ในปัจจุบัน

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย

จากนั้นนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเยี่ยมชมบูธของธนาคารกรุงไทย โดยมี ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ให้การต้อนรับ ภายในบูธของธนาคารกรุงไทยได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ และผลงานของธนาคารที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและส่งเสริมนโยบายภาครัฐ ผ่านยุทธศาสตร์ X2G2X ต่อยอดธุรกิจจากคู่ค้าของลูกค้า และโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การสร้างระบบนิเวศทางเศรษฐกิจ “5 Ecosystems” ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมนำเสนอจุดแข็งการให้บริการทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ที่ครอบคลุมทั่วประเทศผ่านโครงการสำคัญๆ ของภาครัฐ

นอกจากนี้ ยังมีการประชาสัมพันธ์โครงการช่วยเหลือลูกค้าประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการ แพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งการแจกชุดตรวจโควิด-19 (ATK) ผ่านกระเป๋าสุขภาพบนแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” บริการคลินิกแก้หนี้ และมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างทั่วถึงและยั่งยืน

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)

ถัดมาเป็นบูธของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โดยมีนายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และนางสุดจิตตรา คำดี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร และผู้บริหารของธนาคารให้การต้อนรับที่บูธนิทรรศการ ธอส. ซึ่งนำเสนอผลงานการดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐบาล อาทิ โครงการบ้านล้านหลัง โครงการ ธอส. ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ โครงการ ธอส. รวมไทย สร้างชาติ และมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ งานดังกล่าวจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2565 ณ ชั้น 5 รอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK

ส่วนธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) มีดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ให้การต้อนรับ พร้อมกับกรรมการ EXIM BANK ได้แก่ นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล และนายฉันทานนท์ วรรณเขจร ภายในบูธได้มีการนำเสนอผลงานการดำเนินงานของกระทรวงการคลังร่วมกับ EXIM BANK ในการ “ซ่อม สร้าง เสริม สานพลัง” การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยรวมถึงการสร้างธุรกิจส่งออกของคนตัวเล็กหรือ SMEs ไทยสู่ตลาดโลกยุค Next Normal

ทั้งนี้ EXIM BANK ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย “ซ่อม” อุตสาหกรรมที่ประสบวิกฤตแต่มีศักยภาพ อาทิ สายการบินและที่เกี่ยวเนื่องกว่า 7,200 ล้านบาท ธุรกิจพาณิชยนาวี 8,500 ล้านบาท และอุตสาหกรรมเหล็ก “สร้าง” อุตสาหกรรมสู่อนาคตและธุรกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green) ของไทย โดยสนับสนุนอุตสาหกรรม BCG ไปแล้วกว่า 40,000 ล้านบาท สยายปีกพลังงานทดแทนของไทยให้เติบโตทั่วโลกได้เพิ่มขึ้น 51% จากปีก่อน สร้างธุรกิจใหม่ เช่น เรือโดยสารอัจฉริยะไฟฟ้า รถยนต์ไฟฟ้า พลาสติกชีวภาพ “เสริม” ประสิทธิภาพธุรกิจด้วยนวัตกรรมทางการเงิน อาทิ สินเชื่อ Solar Orchestra และ EXIM Biz Transformation Loan และ “สานพลัง” พันธมิตร ช่วย SMEs ฝ่าวิกฤต สร้างนักรบเศรษฐกิจใหม่ โดยช่วยเหลือ SMEs สู้วิกฤตโควิด-19 ได้กว่า 14,200 ราย คิดเป็นวงเงินสะสม 76,700 ล้านบาท และสร้างผู้ส่งออกหน้าใหม่ได้ 1,700 ราย เพิ่มขึ้น 20% คิดเป็นวงเงิน 17,600 ล้านบาท

นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

ส่วนบูธของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ “บสย.” ก็จะมีนายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร บสย. ให้การต้อนรับ ภายในบูธมีการแสดงผลงาน “ค้ำประกันสินเชื่อ” ในมิติต่าง ๆ ตลอดระยะเวลา 30 ปี (ปี 2535 – 2565) โดยนำเสนอข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณรัฐ ที่ช่วยผู้ประกอบการ SMEs และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ดังนี้

    1. ยอดค้ำประกันสินเชื่อสะสม 1.28 ล้านล้านบาท
    2. ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้สินเชื่อ 727,858 ราย หรือ คิดเป็น 23% ของ SMEs ทั้งประเทศ แบ่งเป็นช่วยผู้ประกอบการ SMEs 226,444 ราย หรือ 31% และรายย่อย (Micro) 501,414 ราย หรือ 69% ก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบกว่า 1.72 ล้านล้านบาท
    3. รักษาการจ้างงาน 11 ล้านตำแหน่ง
    4. ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ 5.3 แสนล้านบาท

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อ ยังได้สะท้อนความสำเร็จในมิติ ประสิทธิภาพการใช้งบประมาณภาครัฐที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบทวีคูณ โดยงบประมาณรัฐ 1 ล้านบาท สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ถึง 28 เท่า เกิดวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ จำนวน 7 ล้านบาท สร้างสินเชื่อในระบบให้ SMEs ได้ 9.45 ล้านบาท ช่วย SMEs เข้าถึงแหล่งทุน 1.3 ราย ช่วยการจ้างงาน 54 ตำแหน่ง

ขณะที่โครงการ Micro งบประมาณรัฐ 1 ล้านบาท ก่อให้เกิดวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ 5 ล้านบาท สร้างสินเชื่อในระบบให้ผู้ประกอบการ SMEs 5 ล้านบาท ช่วยให้เข้าถึงแหล่งทุน 40 ราย ช่วยการจ้างงาน 122 ตำแหน่ง และก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบบทวีคูณถึง 18 เท่า โดยในช่วง 8 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2558-2565) บสย. ได้ช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงสินเชื่อได้ถึง 668,232 ราย หรือราว 91% ของจำนวนผู้ประกอบการ SMEs ที่ บสย.ให้ความช่วยเหลือทั้งหมด (ซึ่งส่วนมากเป็นการช่วยเหลือรายย่อย) เป็นวงเงินกว่า 8.9 แสนล้านบาท หรือราว 70% ของยอดอนุมัติวงเงินทั้งหมด และช่วยผู้ประกอบการ SMEs เฉลี่ยปีละ 83,000 ราย และวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ เฉลี่ยปีละ 1.12 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ภายในบูธ บสย. ยังได้แนะนำโครงการค้ำประกันสินเชื่อ ซึ่งกำลังเปิดให้บริการผู้ประกอบการ SMEs ได้แก่

    (1) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ พ.ร.ก. สินเชื่อฟื้นฟู ระยะที่ 1-2 สำหรับผู้ประกอบการ SMEs รวม 200,000 ล้านบาท วงเงินค้ำประกันสูงสุด 150 ล้านบาทต่อราย
    (2) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Soft Loan Extra วงเงิน 90,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการที่มีสินเชื่อ พ.ร.ก. Soft loan และ
    (3) โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. PGS 9 สร้างชาติ วงเงินรวม 150,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SMEs วงเงินค้ำประกันสูงสุด 100 ล้านบาทต่อราย

พร้อมกันนี้ ยังได้จัดแสดงผลงานความสำเร็จแนวคิดการจัดตั้ง ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน บสย. F.A. Center ซึ่งเป็นแนวนโยบายที่กระทรวงการคลังต้องการให้ บสย. ขยายบทบาทให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งมอบหมายให้ บสย. เป็นด่านหน้าในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยนำ Model ศูนย์ให้บริการแบบญี่ปุ่น โดยให้ผู้เชี่ยวชาญที่เกษียณอายุมาให้คำปรึกษากับ SMEs ทั้งนี้ ยังไม่เคยมีหน่วยงานใดทำมาก่อน โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานพันธมิตร อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาพันธ์ต่าง ๆ ร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยยังได้ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดตั้งโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน เพื่อให้คำแนะนำ ความรู้ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาหนี้ครบวงจร ผ่านศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน บสย. F.A. Center ซึ่งมีผู้สนใจ ลงทะเบียน 7,955 ราย เข้ารับคำปรึกษา 1,775 ราย เข้ารับการอบรม 4,832 ราย และต้องการสินเชื่อรวมกว่า 10,792 ล้านบาท โดย บสย. ได้เตรียมขยายศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน เพิ่มเป็นอีก 11 แห่ง ในเร็ว ๆ นี้

ขณะเดียวกัน บสย. ยังได้เผยแพร่ผลงานการช่วยเหลือกลุ่มลูกหนี้ ที่ผ่านโครงการมาตรการแก้ไขหนี้ ปี 2565 เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เร่งด่วน โดยให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ บสย. สำเร็จแล้ว 129 ราย วงเงิน 300 ล้านบาท รวมถึงมีการประนอมหนี้ ลูกหนี้แล้วกว่า 5,340 ราย วงเงินรวม 10,573 ล้านบาท สำหรับมาตรการแก้ไขหนี้ ภายใต้แนวคิด “บสย. พร้อมช่วย” บสย.ได้แบ่งการช่วยเหลือเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) ลูกหนี้ดี มีวินัย (2) ลูกหนี้ ผ่อนดีมี บสย.ช่วยเหลือ และ (3) ลูกหนี้ดี ไม่มีแรงผ่อน โดย บสย.ให้ความช่วยเหลือตามศักยภาพการชำระหนี้ของลูกหนี้ในแต่ละกลุ่มเพื่อให้สามารถประคองธุรกิจต่อไปได้ สอบถามรายละเอียด ที่ Call Center 02-890-9999

นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ SME D Bank

ด้านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ก็จะมีนางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ SME D Bank ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรี โดยนางสาวนารถนารี กล่าวว่า SME D Bank ขานรับนโยบายรัฐบาล ช่วยเหลือดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน โดยยึดแนวทางสนับสนุน “เงินทุน” ควบคู่ “การพัฒนา” ช่วยให้ผู้ประกอบการ กลับมาเดินหน้าธุรกิจได้ดีอีกครั้ง ซี่งแนวทางดังกล่าว ส่งผลดีต่อการดำเนินภารกิจของ SME D Bank ดีขึ้นในทุก ๆ ด้าน โดยปี 2564 พาผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 49,331 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 16.3% และสร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 225,936 ล้านบาท

ทั้งนี้ ไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ปี 2565 ธนาคารให้การสนับสนุนผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแล้วจำนวน 4,250 ราย วงเงินกว่า 14,910 ล้านบาท และสร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 68,288 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วกว่า 46%

ขณะเดียวกัน ช่วยผู้ประกอบการพัฒนายกระดับธุรกิจ ปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ก้าวผ่านสถานการณ์โควิด-19 ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการเติมความรู้ ขยายตลาด จับคู่ธุรกิจ พาเข้าถึงโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เป็นต้น ปี 2564 มีผู้ประกอบการเข้าร่วม 20,806 ราย เพิ่มขึ้นกว่า 155% และไตรมาสแรก ปี 2565 จำนวน 4,273 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วกว่า 43%

นอกจากนั้น SME D Bank ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างใกล้ชิดตามนโยบายของรัฐบาล ผ่านมาตรการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ และปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถประคับประคองธุรกิจ และรักษาการจ้างงานไว้ได้ โดยปี 2564 ช่วยเหลือจำนวน 37,953 รายวงเงิน 66,000 ล้านบาท และไตรมาสแรก ปี 2565 ช่วยเหลือไปแล้ว 8,087 ราย วงเงิน 14,550 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ประมาณ 23%

อีกทั้ง สามารถบริหารจัดการควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ โดยปี ปี 2564 อยู่ที่ 14,271 ล้านบาท และ ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2565 ลดเหลือ 13,967 ล้านบาท รวมถึง ธนาคารได้นำมาตรการแก้หนี้อย่างยั่งยืนตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาใช้ ทำให้สามารถบริหารจัดการหนี้เป็นไปอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ

นางสาวนารถนารี กล่าวเสริมว่า ปีนี้ (2565) ธนาคารกำหนดเป้าหมายจะสนับสนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนไม่ต่ำกว่า 53,000 ล้านบาท ควบคู่ “งานพัฒนา” ส่งเสริมเข้าสู่ BCG Model ตามนโยบายรัฐบาล นอกจากนั้น จัดตั้งทีม “SME D-Coach” ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่ธนาคาร และจากหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและเอกชน มาทำหน้าที่พี่เลี้ยงช่วยเหลือดูแลให้คำปรึกษาแก่เอสเอ็มอีในแต่ละด้าน เช่น การตลาดออนไลน์ การสร้างมาตรฐาน การผลิต จับคู่ธุรกิจ เทคโนโลยี-นวัตกรรม บัญชี-การเงิน สนับสนุนเงินทุน และบ่มเพาะผู้ประกอบการ พร้อมกระบวนการติดตามผลหลังจากได้รับคำปรึกษา ตั้งเป้าช่วยพัฒนากว่า 20,000 ราย

ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เกียรติเยี่ยมชมบูธนิทรรศการของ SME D Bank ที่มาร่วมในงาน“Better THAILANDฯ” เพื่อให้บริการ “เติมทุนคู่พัฒนา” สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคงยั่งยืน โดยมีผู้บริหาร และพนักงานธนาคารให้การต้อนรับ จัดระหว่างวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2565 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน

นายสุรชัย รัศมี และนายเสกสรรค์ จันทร์ขวาง รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรี

สุดท้ายเป็น บูธของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นายสุรชัย รัศมี และนายเสกสรรค์ จันทร์ขวาง รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ

ป้ายคำ :