ThaiPublica > คนในข่าว > “ฉัตรชัย ศิริไล” เต็งหนึ่ง! ชิงเก้าอี้ผู้จัดการ ธ.ก.ส.

“ฉัตรชัย ศิริไล” เต็งหนึ่ง! ชิงเก้าอี้ผู้จัดการ ธ.ก.ส.

20 พฤศจิกายน 2022


ศึกชิงเก้าอี้ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คนใหม่แทนนายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการคนปัจจุบันที่กำลังจะเกษียณ เนื่องจากอายุครบ 60 ปี ในวันที่ 26 มีนาคม 2566 รอบนี้ไม่ธรรมดา ตามประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดกันมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งธนาคาร การสรรหาผู้จัดการ ธ.ก.ส. คนใหม่จะคัดเลือกจากคนในแบงก์หรือ “ลูกหม้อ” เท่านั้น แต่รอบนี้แตกต่างจากอดีตที่ผ่านมา และถือเป็นครั้งแรกที่ธนาคารเปิดกว้างให้บุคคลภายนอกมาสมัครชิงตำแหน่งผู้จัดการ ธ.ก.ส. ได้ด้วย การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมขององค์กรครั้งนี้จึงกลายเป็นประเด็นที่คนในแวดวงการเงินการคลังกำลังจับตามองว่า สุดท้ายแล้ว เอ็มดี ธ.ก.ส. จะเป็น “คนใน” หรือ “คนนอก” กันแน่

หลังจากที่นายจำเริญ โพธิยอด อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาผู้จัดการ ธ.ก.ส. คนใหม่ ลงนามในประกาศเปิดรับสมัครผู้จัดการ ธ.ก.ส. คนใหม่ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2565 จนถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ปรากฏมีผู้ที่สนใจยื่นใบสมัครเข้ามาทั้งหมด 5 คน ในจำนวนนี้เป็นคนใน 2 คน คือ นายเสกสรรค์ จันทร์ขวาง รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กับนายณรงค์ ขันติวิริยะกุล รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. และคนนอกอีก 3 คน แต่ที่น่าสนใจมากที่สุด คือ นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มรามาลงสมัครขอรับการสรรหาครั้งนี้ด้วย ถัดมาเป็นนายวุฒิพงษ์ ภิรมยาภรณ์ รองผู้อำนวยการ กลุ่มบริหารหนี้และกฎหมาย ธนาคารออมสิน และ ดร.นันทวัน วงศ์ขจรกิตติ รองผู้จัดการ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)

คนในแวดวงการเงินการคลังจึงเกิดข้อสงสัยตามมาว่า ทำไมการสรรหาผู้จัดการ ธ.ก.ส. รอบนี้เปิดกว้างให้คนนอกลงสมัครได้ด้วย คำถามที่ 2 คือ อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้นายฉัตรชัยมั่นใจยอมทิ้งเก้าอี้เอ็มดี ธอส. มาลงสมัครขอรับการสรรหาครั้งนี้ แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเล่าให้ฟังถึงสภาพปัญหาของ ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นโจทก์ใหญ่รอเอ็มดีคนใหม่เข้ามาแก้ปัญหาว่าคือเรื่องการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ หรือ “NPLs” หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะเกษตรกร ทำให้ ธ.ก.ส. ต้องจัดมาตรการเข้าไปช่วยเหลือลูกค้า ตามนโยบายของรัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีทั้งพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ปรับโครงสร้างหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย และจัดวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเข้าไปเสริมสภาพคล่องให้กับลูกค้าที่ยังพอมีศักยภาพ

ปรากฏว่ายอด NPLs ของ ธ.ก.ส. เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2564 ธ.ก.ส. มีหนี้ด้อยคุณภาพประมาณ 57,826 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.71% ของยอดสินเชื่อคงค้าง 1.56 ล้านล้านบาท พอถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2565 หนี้ด้อยคุณภาพเพิ่มเป็น 106,054 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6.63% ของยอดสินเชื่อคงค้าง 1.59 ล้านล้านบาท และล่าสุด ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 หนี้ด้วยคุณภาพของ ธ.ก.ส. เพิ่มเป็น 166,965 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 10.55% ของยอดสินเชื่อคงค้าง 1.58 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขสูงมาก เมื่อเทียบกับ NPLs ของแบงก์รัฐทั้งระบบที่มีสัดส่วนเฉลี่ยอยู่ที่ 3.3% ของยอดสินเชื่อคงค้าง แม้ธนาคารจะพยายามแก้ปัญหามาแล้วเกือบ 2 ปี แต่ก็ยังแก้ไขไม่ได้ ตัวเลขหนี้เสียของธนาคารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการ ธ.ก.ส. เกิดความหวาดวิตก เกรงหนี้เสียของธนาคารจะไหลไม่หยุด จึงสั่งให้ผู้บริหารของ ธ.ก.ส. และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารหนี้ไปศึกษาดูงาน การแก้ปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพของธนาคารออมสิน ซึ่งมี NPLs แค่ 2.7% ของยอดสินเชื่อคงค้าง เรื่องปัญหาหนี้เสีย จึงกลายเป็นโจทก์ใหญ่ของธนาคารในขณะนี้

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)

นอกจากเรื่องแก้ปัญหาหนี้เสียแล้ว เข้าใจว่าเจ้ากระทรวงคงอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เกิดขึ้นใน ธ.ก.ส. ตอนนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมีคนหนุ่มรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นคนนอกเข้าไปนั่งเป็นเอ็มดีอยู่หลายแห่ง อย่างที่ธนาคารออมสินก็มีนายวิทัย รัตนากร เป็นผู้อำนวยการ ส่วนธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ก็มี ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร เป็นกรรมการผู้จัดการ และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ก็มีนายสิทธิกร ดิเรกสุนทร เป็นต้น ขณะที่ภายใน ธ.ก.ส. เองก็มีปัญหาบุคลากรขาดช่วง จึงมีตัวเลือกเหลือไม่มากนัก ทั้งหมดจึงเป็นเหตุให้เจ้ากระทรวงต้องตัดสินใจ เปิดกว้างให้บุคคลจากภายนอกเข้ามาลงสมัครขอรับการสรรหาในครั้งนี้ด้วย

ส่วนคำถามที่ว่าทำไมนายฉัตรชัยตัดสินใจทิ้งเก้าอี้เอ็มดี ธอส. มาสมัครชิงตำแหน่งผู้จัดการ ธ.ก.ส. ครั้งนี้ แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า หลังจากที่นายฉัตรชัยผิดหวังจากการลงสมัครชิงตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสินในช่วงต้นปี 2563 นายฉัตรชัยจึงต้องกลับมาสมัครขอรับการสรรหาในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธอส. อีกครั้ง จนกระทั่งได้รับการคัดเลือกกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธอส. ต่อเป็นสมัยที่ 2 มีผลตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2563 จนถึงปัจจุบัน นายฉัตรชัยยังเหลือวาระในการดำรงตำแหน่งอยู่อีก 1 ปี กับ 6 เดือน

หากรอไปจนใกล้ครบวาระ 8 ปี แล้วค่อยกลับไปลงสมัครชิงตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสินอีกครั้ง ก็มีความไม่แน่นอน ตรงที่กระทรวงการคลังอาจพิจารณาแต่งตั้ง หรือ ต่อสัญญาจ้างนายวิทัย รัตนากร เป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสินต่ออีก 1 วาระ ก็มีความเป็นไปได้ ส่วนธนาคารกรุงไทย ซึ่งตอนนี้พ้นจากการเป็นรัฐวิสาหกิจไปแล้ว บอร์ดของธนาคารกรุงไทยจะพิจารณาต่อสัญญาจ้างนายผยง ศรีวณิช เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กี่ครั้งก็ได้ ดังนั้น เมื่อมีผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังไปทาบทามให้นายฉัตรชัยมาสมัครชิงตำแหน่งผู้จัดการ ธ.ก.ส. นายฉัตรชัยจึงไม่พลาดโอกาสนี้ ตัดสินใจยื่นใบสมัครขอรับการสรรหาผู้จัดการ ธ.ก.ส.ในวันสุดท้ายก่อนปิดรับสมัคร

การสรรหาผู้บริหารสูงสุดของ ธ.ก.ส.รอบนี้ คนในแวดวงการเงินการคลัง มองว่านายฉัตรชัยน่าจะมา “เต็งหนึ่ง” หากไปดูคุณสมบัติทั่วไปของผู้สมัคร ตามที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการสรรหาผู้จัดการ ธ.ก.ส. ที่ระบุว่า ผู้สมัครต้องมีสัญชาติไทย อายุไม่เกิน 58 ปีบริบูรณ์ ในวันที่ยื่นใบสมัคร และไม่มีลักษณะต้องห้าม ตาม พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คาดว่าผู้สมัครทุกคนคงจะสอบผ่านกันทั้งหมด

แต่พอมาดูที่คุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง ตั้งแต่ข้อ 2.2 ไปจนถึงข้อ 2.5 จะเห็นได้ว่านายฉัตรชัยค่อนข้างได้เปรียบผู้สมัครท่านอื่นๆ เกือบทุกข้อ เนื่องจากนายฉัตรชัยมีสถานะเป็นเบอร์ 1 ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ จึงมีผลงานเชิงประจักษ์ด้านการบริหารจัดการองค์กรตามที่ระบุในประกาศคณะกรรมการสรรหาฯ อยู่หลายโครงการ ที่สำคัญๆ ได้แก่ โครงการบ้านล้านหลัง, โครงการ ธอส. ช่วยคนไทย ร่วมสร้างชาติ, ด้าน Banking Technologies ก็มีการพัฒนาระบบปฏิบัติการหลักของแบงก์ หรือที่เรียกว่า “GHB System”, ปรับปรุงช่องทาง Digital Service และโครงการ Payment Gateway อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าด้วยแอปพลิเคชัน GHB ALL, GHBank Smart NPA, GHBank Smart Booth, GHB Mobile Deposit หรือ เครื่องฝากเงินประชารัฐ เป็นต้น

นอกจากนี้ นายฉัตรชัยยังได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐต่อ เป็นวาระที่ 2 ซึ่งเป็นสมาคมมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาล ตลอด 6 ปีที่ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธอส. นายฉัตรชัยได้รับรางวัลเกี่ยวกับการบริหารจัดการองค์กรดีเด่นมากมาย เช่น รางวัลประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ “ITA Awards” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6, รางวัลองค์กรยอดเยี่ยมในกลุ่มอุตสาหกรรมการเงิน (Corporate Excellence Category), รางวัลผู้นำองค์กรดีเด่นในกลุ่มอุตสาหกรรมการเงิน (Master Entrepreneur Category), รางวัล Asia Responsible Enterprise Awards (AREA) 2022 ด้านความยั่งยืน เป็นต้น

ส่วนความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษนั้น นายฉัตรชัยเป็นนักเรียนทุนรุ่นแรกของ ธอส. ถูกส่งไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ จนสำเร็จการศึกษาปริญญาโท สาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (Master of Computer Science) จากประเทศสหรัฐอเมริกา

หลังจากปิดรับสมัครผู้จัดการ ธ.ก.ส. ไปแล้วเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ก็จะเป็นขั้นตอนของการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครว่าถูกต้อง ตามประกาศของคณะกรรมการสรรหาฯ หรือไม่ ซึ่งจะพิจารณาจากข้อมูลใบสมัครและหลักฐานที่ผู้สมัครยื่นเข้ามา และประกาศรายชื่อผู้สมัครที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกเบื้องต้นที่สำนักงานใหญ่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จากนั้นคณะกรรมการสรรหาฯก็จะเชิญผู้สมัครที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกในเบื้องต้นมาสัมภาษณ์ และแสดงวิสัยทัศน์ และนำรายชื่อผู้ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกรอบสุดท้ายส่งให้ที่ประชุมบอร์ดของ ธ.ก.ส. พิจารณาคัดเลือก และเจรจาต่อรองเงินเดือนก่อนเสนอให้ที่ประชุม ครม. เห็นชอบเป็นขั้นตอนสุดท้าย คาดว่ากระบวนการสรรหาทั้งหมดจะแล้วเสร็จในช่วงต้นปี 2566

การสรรหารอบที่แล้ว นายฉัตรชัยย้ายไปนั่งแบงก์สีชมพูไม่สำเร็จ รอบนี้จะกระโดดข้ามห้วย ย้ายจากเอ็มดีแบงก์สีส้มมานั่งเป็นเอ็มดีแบงก์สีเขียวได้หรือไม่ ต้องติดตามต่อไป อีกไม่กี่เดือนรู้ผล…